ซินเจียงไม่ได้มีเพียงอูยกูร์ แต่คือ แหล่งพลังงานอันมหาศาลที่แผ่นดินใหญ่จีนต้องครอบครอง
รถบัสขนาด 50 ที่นั่ง พาพวกเราออกจากโรงแรมที่พักเมืองเคอลามาอี้ (Karamay) มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดินทางที่จัดว่าเป็นหนึ่งใน Highlights ของทริปนี้ นั่นคือ หมู่บ้านคานาสือ (Kanas, قاناس) เพื่อเจาะรายละเอียดของ Kanas Lake ที่มีตอนหนึ่งของลำน้ำมองคล้ายจันทร์เสี้ยว
ระหว่างทาง เราผ่านจุดแวะน่าสนใจคือ แพะเมืองผีแห่งเมืองเคอลามาอี้ (Ghost City, Wuerhe (Urho), Karamay) ทีมเราผ่านจุดสแกนเข้าประตูตามปกติ ระหว่างที่กำลังรวมพลจะเข้าไปชมด้านใน ฮิญาบสิบกว่าผืนจากมุสลีมะห์ในทีมทั้งหมดถูกจับตาเพ่งเล็งจากกลุ่มชายชุดดำ สองสามนาย ในมือถือโล่และกระบองขนาดยาว เสื้อด้านหลังสกรีนข้อความ POLICE เข้ามาพูดคุย และบอกผ่านล่ามว่า ถ้าใส่แบบนี้จะเข้าชมด้านในไม่ได้ เพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย ทำเอาทีมใจเสียพอสมควร เราสอบถามถึงทางผ่อนปรน ล่ามอธิบายว่า ให้ปิดผมแต่เปิดคอ ซึ่งทีมก็ยังงงๆกับคำตอบ แต่สุดท้าย ตำรวจขอตรวจเข้มโดยให้เปิดผ้าคลุมเพื่อดูว่ามีอะไรซุกซ่อนใต้ผืนผ้าคลุมศีรษะนั้นหรือไม่ เราร้องขอผ่านล่ามว่า จะให้ตรวจได้แต่ขอให้เจ้าหน้าที่สุภาพสตรีเป็นคนตรวจค้นและขอเป็นมุมมิดชิดเฉพาะสุภาพสตรีเท่านั้น ซึ่งทางตำรวจยินยอมโดยดี มุสลีมะห์ทุกคนผ่านการเปิดผ้าคลุมจนครบ เราจึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปรอรถนำเที่ยวในเขตอุทยานแพะเมืองผีได้
รถนำเที่ยวแวะจุดชมวิวน่าสนใจ 4 สถานี โดยรวมหากมองจากมุมการจัดการท่องเที่ยวถือว่าชาติจีนจัดการได้ค่อนข้างดี (ถ้าไม่นับรวมกับกรณีการตรวจค้นอันแสนวุ่นวาย) แพะเมืองผีเมืองอู๋เฮ่อ เคอลามาอี้ อยู่ห่างจากเมืองเคอลามาอี้ประมาณ 100 กิโลเมตร เป็นพื้นที่กึ่งทะเลทราย มีเนินเขาทรงแปลก ๆ มากมาย ทั้งปราสาท เต่า นกอินทรีย์ ม้า สิงโต และอื่น ๆ จากอิทธิพลการกัดเซาะของลมและน้ำ เราได้มีโอกาสชมกระโจมและวิถีชีวิตในกระโจมของชาวท้องถิ่นที่ตั้งสาธิตในพื้นที่แห่งนี้ และบางท่านยังได้สัมผัสประสบการณ์การขี่อูฐ สัตว์พาหนะแห่งแพะเมืองผีอีกด้วย หลังจากใช้เวลาพอสมควร ทีมเราได้เวลาอาหารเที่ยง และเช่นเคยคือ เอาน้ำละหมาดเพื่อเตรียมละหมาดบนรถบัสเหมือนเช่นทุกวันที่ผ่านมา
เส้นทางจากเคอลามาอี้เพื่อไปสู่หมู่บ้านคานาสือ ใช้เวลาเดินทางอีก 6-7 ชั่วโมงทีเดียว ทั้งนี้เพราะบัสจะพาพวกเราผ่านเส้นทางในหุบเขาสูงแถบเทือกเขา Altay เหนือสุดของ Xinjiang ตลอดระยะทางจึงเป็นทิวทัศน์หน้าตาแปลกตา ตั้งแต่เนินเขาหิน เหมือนตะวันออกกลาง หุบเขาหิน สลับที่ราบ ผ่านทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ที่เวลานี้อาจไม่ใช่สีเขียวขจีดั่งที่เรารับรู้ เส้นทางบนเขาที่เลี้ยวลดคดเคี้ยว ทำเอาหวาดเสียวได้ในระดับหนึ่ง รถต้องปีนขึ้นเขา ลงที่ราบ และปีนขึ้นลงอีกสองสามครั้ง เราผ่านหมู่บ้านในที่ราบที่มีเทือกเขา Altay โอบล้อม สองถึงสามที่ราบ กว่าจะถึงโรงแรมในหุบเขา ณ หมู่บ้านคานาสือ
ทั้งที่ ที่นี่ 21.00 น. ยังคงเห็นแสงอาทิตย์อยู่ แต่ความมืดที่มาเยือนหลังจากนั้น กลบเลือนทิวทัศน์อันน่ามหัศจรรย์ของเทือกเขาสูงสลับทุ่งปศุสัตว์ ทิวสน ต้นหญ้า และกระโจมของชาวท้องถิ่นไปจนหมดสิ้น
อิ่มหนำจากอาหารมื้อค่ำที่ทานกลางดึก (ถ้าเทียบกับวิถีการกินแบบบ้านเรา) ตบท้ายด้วยเมลอนพันธุ์คานาสือที่แสนหอมหวานและกรอบอร่อย ทำให้มื้อเย็นมื้อนี้เป็นมื้อสุดประทับใจอีกมื้อหนึ่ง เท่านั้นยังไม่พอ บริเวณนอกอาคารห้องอาหาร มีจำหน่ายแกะย่างเสียบไม้ ในราคาที่จับต้องได้ ซึ่งไม่พลาดที่ทีมจะออกไปจับจ่ายซื้อชิม กินกันอย่างเอร็ดอร่อย
อากาศยามนี้มีความหนาวที่สัมผัสได้ ทุกคนต้องสวมเสื้อกันหนาวอีกชั้นปกคลุมร่างกาย พรุ่งนี้เช้า ถ้าตามพยากรณ์เดิมที่ไกด์ท้องถิ่นส่งข้อมูลในใบเตรียมตัวคือ 6 องศา ก็ไม่รู้ว่าความรู้สึกตอนนั้นจะรู้สึกแค่ 6 หรือบวกลบแค่ไหน
ความอิ่มบวกกับความหนาวและความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง ทำให้เราต้องรีบกลับห้องพักสูงสองชั้น อาคารทรงยุโรป (ประเมินจากสภาพภายนอกเท่าที่แสงจะพอให้มองเห็น)
เรามีไฟฟ้าใช้ เพื่อชาร์ตแบตเตอรี่อุปกรณ์ electronics ที่พกมา ขณะที่ชาวพื้นเมืองในกระโจมอาศัยหลบกายใต้ความมืดมิด ตัดขาดเรื่องราวจากโลกภายนอก เขาอาจไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าเหล่าผู้มาเยือนเช่นเราคือใครมาจากไหน
คืนนี้คงหลับอย่างเหน็ดเหนื่อย เพื่อรอพบสิ่งยิ่งใหญ่ของการรังสรรค์จากองค์ผู้อภิบาลในวันรุ่งขึ้น
#บันทึก ณ โรงแรมเล็ก ๆ ในหมู่บ้านกลางหุบเขา นาม “คานาสือ”
—————————————
เรามาที่นี่ สิ่งหนึ่งเพื่อตามหาอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของชาวซินเจียง อูยกูร์ แต่ต้องยอมรับว่า สามวันที่ผ่านมา เราแทบจะยังไม่เจอหรือเจอน้อยมาก
วัฒนธรรมอูยกูร์ถูกกลืนหายไป หรือเพราะความโหดร้ายของนโยบายกลืนวัฒนธรรมจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ทำให้คุณค่าที่เราตามหา ยังหาไม่เจอ
ป.ล. ความเดิมจากตอนที่ 2 ที่บอกว่า ระหว่างทาง เจอแท่นขุดเจาะน้ำมันใต้ดินหลายสิบแท่น พอมาถึงบริเวณแพะเมืองผี ต้องเปลี่ยนจากหลายสิบแท่น เป็นหลายร้อยพันแท่น ไม่เพียงเท่านั้น กังหันลมที่ติดตั้งมากมาย เพื่อแปลงพลังงานลมเป็นพลังงานไฟฟ้าก็มีเต็มพื้นที่กว้างอีกด้วย ที่นี่จึงเป็นแหล่งพลังงานมหาศาล นี่กระมังคือเหตุผลที่ทำให้อูยกูร์เป็นอย่างไรตามข่าวที่เรารับรู้มา
เขียนโดย ลาตีฟี