เราเป็นทั้งพี่น้อง สหายร่วมเดินทาง และเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน

ด้วยการเสนอของอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา (ขณะนั้น) ต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ในคราวประชุมครั้งที่ 37(2/2010) วันที่ 13/2/2011 โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัย ได้มีมติอย่างเอกฉันท์มอบ ปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ Y.A. Bhg. Tun Dr. Mahathir bin Mohammad ตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรี ประเทศ มาเลเซีย (ในขณะนั้น) ด้วยเห็นว่า Y.A.Bhg. Tun Dr. Mahathir bin Mohammad (ในขณะนั้น) ได้สร้างคุณประโยชน์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติอย่างอเนกอนันต์

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสานสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสองตำนานที่ยังมีชีวิตที่คนหนึ่งเคยเป็นเบอร์ 1 ของประเทศมาเลเซียกับอีกคนในฐานะนักวิชาการศาสนาตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ในวัย 94 ปี ท่านกุมบังเหียนประเทศมาเลเซียอีกครั้งชนิดหักปากกาเซียนทั้งโลก Yang Amat Berhormat Tun Dr. Mahathir bin Mohammad ในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดกัวลาลัมเปอร์ ซัมมิต 2019 ระหว่าง 18-31 ธันวาคม 2562 จึงเรียนเชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา เข้าร่วมประชุมร่วมกับนักวิชาการ 400 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลก พร้อมให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติตลอดระยะเวลาของการประชุม

“ในฐานะเพื่อนบ้าน ถ้าหากเขาเชิญเราไปเยี่ยมบ้านเขา แล้วเราปฏิเสธ ถือเป็นการเสียมารยาทอย่างรุนแรง เพราะอิสลามสอนให้เราให้เกียรติกับเพื่อนบ้าน ถึงแม้จะเป็นชนศาสนิกก็ตาม” อธิการบดีหรืออบีของชาว มฟน. กล่าวเบื้องหลังของการเข้าร่วมประชุมเคแอลซัมมิตในครั้งนี้

“เราจะต้องเรียนรู้จากผู้นำคนนี้ให้มากที่สุด” สิ่งที่อบีย้ำอยู่เสมอ

Yang Amat Berhormat Tun Dr. Mahathir bin Mohammad คือผู้สร้างแรงบันดาลใจสถาปนาเมืองการบริหารจัดการยุคใหม่ครบวงจรที่ Putra Jaya ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ในนามรัฐบาล

ในขณะที่ รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา คือผู้สร้างแรงบันดาลใจสำคัญสร้างมะดีนะตุสสลาม ภายใต้โครงการปัตตานี จายา ซึ่งกำลังดำเนินโครงการไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคง บางโครงการก็ได้สำเร็จลุล่วงอย่างสมบูรณ์แล้ว ที่สำคัญคือเป็นโครงการวากัฟที่อาสาโดยเอกชนเป็นหลัก

ความเหมือนที่ต่างกันระหว่างทั้งสองท่านคือ การแข่งขันทำความดีในฐานะผู้บุกเบิก และความมุ่งมั่นที่จะเห็นสังคมเจริญไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โดยอาศัยทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะพลังเยาวชนมาเป็นตัวขับเคลื่อนสู่สังคมสันติอย่างแท้จริงตลอดไป

เพียงแต่คนหนึ่ง มีความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ในขณะที่อีกคน เป็นเพียงปุถุชนที่ระดมสรรพกำลังความรู้และความสามารถทางวิชาการ นำเสนอความดีงามให้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

“เราจะต้องเรียนรู้จากผู้นำคนนี้ให้มากที่สุด”

ขออัลลอฮ์ตอบแทนท่านทั้งสองด้วยความดีงาม

เขียนโดย : ผศ.มัสลัน มาหะมะ