บทความ ประวัติศาสตร์

การสังหารหมู่อำเภอชาเตียน ที่มาของชะฮีด 1,600 ชีวิต

.

นับแต่กลางศตวรรษที่ 19 จนเกือบสิ้นศตวรรษที่ 20 นับเป็นกลียุคของแผ่นดินจีน ด้วยปัญหานานัปการที่รุมเร้าเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนแอภายในราชสำนัก ภัยคุกคามจากต่างชาติ อุดมการณ์ทางการเมืองที่หลากหลาย ตลอดจนการแก่งแย่งชิงความเป็นใหญ่ในหมู่ผู้มีอำนาจ ยังความระส่ำระสายไปทั่วทุกหัวระแหง ไม่เว้นแม้แต่มณฑลยูนนาน หรือ หยวินหนาน (云南) ที่อยู่ชิดติดพรมแดนอุษาคเนย์

.

แม้เมื่อจีนรวมกันเป็นหนึ่งภายใต้ระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 เคราะห์กรรมของพี่น้องชาวจีนก็ยังไม่หมดสิ้นเพียงเท่านั้น เนื่องจากการขึ้นสู่อำนาจของ “แก๊ง 4 คน” ซึ่งมีแนวคิดซ้ายตกขอบในปี ค.ศ.1966 ทำให้เกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมโค่นล้างวัฒนธรรมประเพณีเก่าอยู่นานนับสิบปี มีผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของคนเหล่านี้อย่างเหลือคณานับ

.

มีอยู่หนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์กระแสหลักของชาติ คือการสังหารหมู่ที่อำเภอชาเตียนในปี ค.ศ.1975

.

.

ชาเตียน (沙甸) เป็นอำเภอหนึ่งในมณฑลยูนนาน ขึ้นกับเมืองเก้อจิ้ว (个旧) จังหวัดหงเหอ (红河) ประชาชนเกือบทั้งหมดเป็นชนชาติหุย คือมุสลิมที่มีเชื้อสายและวัฒนธรรมแบบจีนตามนิยามของรัฐบาลจีนแดง

.

ในยุคที่ “แก๊ง 4 คน” เรืองอำนาจ ศาสนาทั้งหมดถูกตราหน้าในฐานะยาเสพติดที่มอมเมาประชาชน ถ่วงรั้งความก้าวหน้าของชาติ รัฐจึงใช้อำนาจในการกำจัดศาสนา บีบคั้นให้ผู้คนสมาทานความเชื่อแบบลัทธิเหมาแทน

.

อำเภอชาเตียนได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากนโยบายดังกล่าว มัสยิดทุกแห่งถูกสั่งปิด ประชาชนไม่มีสิทธิ์ละหมาด อัลกุรอานถูกเผาทิ้ง มิหนำซ้ำชาวหุยจำนวนมากยังถูกบีบบังคับให้กินเนื้อหมู มีรายงานว่ามัสยิดแห่งหนึ่งถูกใช้เป็นโรงเชือดหมู กระดูกหมูที่ถูกเชือดแล้วก็โยนทิ้งลงบ่อน้ำที่ใช้สำหรับอาบน้ำละหมาด

.

นั่นเป็นพฤติกรรมที่ชาวอำเภอชาเตียนยากจะยอมรับ ในปี ค.ศ.1974 ชาวหุยในชาเตียนและพื้นที่ข้างเคียงรวม 1,000 คนจึงขึ้นรถไฟไปปักกิ่งเพื่อรายงานปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ปัญหายังคงยืดเยื้อต่อไป

.

ปลายปีเดียวกัน ชาวหุยมากกว่า 800 คนเดินทางไปยังนครคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลยูนนาน เพื่อเรียกร้องเสรีภาพในการนับถือศาสนาในรัฐธรรมนูญ พร้อมกันนั้น พวกเขาได้จัดตั้งกองกำลังของตนเองเพื่อคุ้มกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นด้วย

.

ท่าทีที่แข็งกร้าวของกองกำลังชาวหุยสร้างความหวาดระแวงแก่รัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง คำเรียกร้องเหล่านั้นไม่เพียงได้รับการเมินเฉยแทนคำตอบ หากพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังมองว่านั่นคือการแข็งข้อต่อระบอบการปกครอง

.

กรกฎาคม ค.ศ.1975 ความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายก็ดำเนินมาถึงจุดแตกหัก ประธานเหมา เจ๋อตง ลงนามมอบฉันทะให้กองทัพปลดปล่อยประชาชน (PLA) ให้เข้าปราบปรามกองกำลังชาวหุย

.

กองทัพนายทหารที่ผ่านการฝึกฝนอย่างดีนับ 10,000 นาย ยกพลเข้าล้อมอำเภอชาเตียนอย่างแน่นหนาก่อนเช้ามืดวันที่ 29 กรกฎาคม ส่งผลให้เกิดการปะทะกันระหว่างชาวบ้านที่มีอาวุธกับเจ้าหน้าที่รัฐ

.

หนึ่งสัปดาห์แห่งการต่อสู้ผ่านไปพร้อมกับคราบเลือดและเขม่าปืนที่เพิ่มร่องรอยมากขึ้นทุกขณะ PLA ใช้ทั้งปืน ปืนใหญ่วิถีโค้ง เครื่องพ่นไฟ และระเบิดทางอากาศในการโจมตี เป็นเหตุให้ชาวหุยนับร้อย ๆ คนล้มตาย บ้านเรือนกว่า 4,400 หลังถูกทำลาย ความเสียหายลามไปสู่อำเภอข้างเคียงด้วย

.

รัฐบาลระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตไว้ที่ 130 คน ในขณะที่บรรดาอิหม่ามหรือผู้นำชาวหุยในชาเตียนประมาณผู้เสียชีวิตไว้ที่ 1,600 คน เป็นเด็ก 300 คน ซึ่งนั่นเป็นจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของผู้คนทั้งหมดในอำเภอที่มีอยู่ในเวลานั้น

.

.

ครั้นเมื่อประธานเหมาถึงแก่อสัญกรรมในปีถัดมา แก๊ง 4 คนก็พลอยหมดอำนาจ ทั้ง 4 ถูกจับกุมและพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนคนใหม่เร่งดำเนินการเยียวยาผู้เสียหายและออกแถลงขอโทษพี่น้องหุยในอำเภอชาเตียนอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1979 พร้อมทั้งประณามเหตุการณ์สังหารหมู่ครั้งนั้นว่า “เป็นการกระทำที่เลวร้ายและรุนแรงที่สุดในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม”

.

ตั้งแต่นั้นมา ชาเตียนก็ได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากรัฐ กองทัพหน่วยที่เคยทำลายได้รับคำสั่งให้กลับมาสร้างเมืองนี้ใหม่ พร้อม ๆ กับที่เติ้ง เสี่ยวผิง เริ่มต้นเปิดประเทศ รัฐบาลได้เอื้อให้ธุรกิจของอำเภอชาเตียนเข้าถึงตลาดมาเลเซียและชาติตะวันออกกลางได้ง่ายดาย ทั้งยังส่งนักเรียนนักศึกษาชาวหุยไปเล่าเรียนภาษาและศาสนาในต่างแดนเป็นจำนวนมาก

.

ส่วนผู้ที่จากไปในเหตุการณ์นองเลือดเมื่อปี 1975 คนรุ่นหลังและผู้รอดชีวิตได้ยกย่องพวกเขาเป็น “ชะฮีด” หรือผู้พลีชีพเพื่อยืนหยัดความศรัทธาต่ออิสลาม รัฐบาลจีนยุคใหม่สร้างอนุสรณ์สถานเป็นเสาสูง จารึกข้อความฟาติฮะห์ (บทแรกในอัลกุรอาน) เอาไว้เพื่อรำลึกถึงเหล่าชะฮีด ที่ภาษาจีนเรียกทับศัพท์ว่า ชาซีเต๋อ (沙希德)

.

ปัจจุบัน ชาเตียนมีชื่อเสียงในฐานะเมืองท่องเที่ยวเชิงฮาลาล สิ่งปลูกสร้างหลังใหญ่สุดของที่นี่คือ มัสยิดกลางชาเตียน (沙甸大清真寺) อันโดดเด่นเป็นสง่าด้วยยอดโดมสีเขียวและหออะซาน 4 มุมซึ่งประยุกต์มาจากมัสยิดอันนะบะวีย์ซึ่งเป็นที่ฝังศพศาสดามุฮัมมัดในนครมะดีนะฮ์ มีความจุมากถึง 10,000 คน เป็นมัสยิดที่ใหญ่และงามที่สุดแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนาน

.

อย่างไรก็ดี อดีตที่เคยเกิดขึ้นก็ไม่มีวันลบเลือนได้หมด มัสยิดกลางอันงดงามหลังนี้ก็ได้รับการขนานนามว่า เป็นอนุสรณ์สถานแห่งการไถ่บาปที่ถือกำเนิดขึ้นบนรอยเลือดและคราบน้ำตาของชาวชาเตียนเอง


เครดิตภาพ @Zhu Yi Qing
เครดิตภาพ @Zhu Yi Qing

เครดิตข้อมูล : Pattadon Kijchainukul

https://www.facebook.com/pattadon.kijchainukul/posts/pfbid025wN6u4hNpoz4wYTgBJNNzt592huFPEKLbMfD1heD4Era39cSwMW4aSzjgaPM9iCBl