หลักสิทธิมนุษยชนในอิสลาม
อัลกุรอาน คือ ธรรมนูญสำหรับมนุษยชาติ ประเด็นหลักที่บรรจุใน อัลกุรอานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับมนุษย์ เช่น อัลกุรอานได้เรียกร้องมนุษย์ว่า يا أيها الناس (โอ้ มวลมนุษยชาติทั้งหลาย) โดยที่คำนี้จะถูกเรียกซ้ำในอัลกุรอาน ถึง 28 ครั้ง ในขณะที่คำว่า الناس (มนุษย์) ปรากฏในอัลกุรอานถึง 280 ครั้ง ส่วนคำว่า إنسان (คำเอกพจน์ของมนุษย์) ปรากฏในอัลกุรอาน 63 ครั้ง และคำว่า بني آدم(ลูกหลานอาดัม) ปรากฏใน อัลกุรอานถึง 7 ครั้ง และเพื่อเป็นการยืนยันว่าอัลกุรอานได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับมนุษย์มากที่สุด จะสังเกตได้จากโองการแรกที่ถูกประทานแก่นบีมูฮัมมัดที่ได้กล่าวซ้ำคำว่า มนุษย์ ถึง 2 ครั้งทีเดียว ในขณะที่ซูเราะฮ์ลำดับสุดท้ายในอัลกุรอานคือซูเราะฮ์ الناس (อันนาส) ซึ่งหมายถึงมนุษย์เช่นเดียวกัน นอกจากนี้เนื้อหาโดยรวมในอัลกุรอานเป็นการเชิญชวนและเรียกร้องมนุษย์ให้รู้จักรากเหง้าและต้นกำเนิดอันแท้จริงของตน รับทราบคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย เชิญชวนมนุษย์ให้มีความเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการอยู่บนโลกนี้ ชี้แนะให้รู้จักและยึดมั่นบนเส้นทางการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ พร้อมทั้งให้รำลึกถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตสู่ความสุขอันนิรันดร์ เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าอัลกุรอานคือคัมภีร์แห่งมนุษชาติโดยแท้จริง
มนุษย์คือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร มาอยู่ในโลกนี้เพื่อเป้าหมายอันใดและอะไรจะเกิดขึ้นกับเขาหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ?
มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งซึ่งมีเกียรติยิ่งกว่าสัตว์โลกอื่น ๆทั้งหลายที่อัลลอฮ์ทรงสร้างในรูปลักษณ์อันสมบูรณ์มาตั้งแต่เดิม (มิใช่อาศัยทฤษฎีวิวัฒนาการ) มีสรีระร่างกาย ใบหน้า หูตา จมูก และอวัยวะส่วนต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมและสวยงามยิ่ง
มนุษย์คนแรกที่ถูกบังเกิดขึ้น หลังจากจักรวาลนี้ถูกสร้างขึ้นมาคืออาดัม ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอ่านระบุว่าท่านถูกสร้างมาจากดินเหนียว อาดัมได้ใช้ชีวิตครั้งแรกอยู่ในสวรรค์เพียงลำพัง ต่อมาอัลลอฮ์ก็สร้างมนุษย์คนที่สองเป็นเพศหญิงคือ “เฮาวาอ์” ซึ่งพระองค์ทรงสร้างนางมาจากกระดูกซี่โครงของอาดัมซึ่งเป็นอวัยวะที่มีลักษณะโค้งงอและอยู่ใกล้กับหัวใจที่สุดเพื่อเป็นคู่ครองของเขา ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
อัลกุรอานระบุว่ามนุษย์ถูกสร้างและใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ เพื่อรับการทดสอบจากพระเจ้าในบทบาทของบ่าวที่พึงแสดงการเชื่อฟังและเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงผู้เดียวตลอดการดำเนินชีวิต โดยไม่ทรยศและยึดสิ่งอื่นใดมาเป็นภาคีกับพระองค์
หลังจากที่มนุษย์เสียชีวิตไปแล้วแต่ละคนจะถูกนำกลับสู่พระเจ้าและฟื้นคืนชีพอีกครั้งในปรโลกเพื่อทำการพิพากษาและตอบแทนในผลงานความดี ความชั่วทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เคยกระทำไว้ขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลก หากผู้ใดเชื่อฟังอัลลอฮ์และทำความดีใด ๆ ไว้แม้จะน้อยนิดเพียงธุลีดินเขาก็จะได้เห็นมันและได้รับการตอบแทนตามนั้น และหากผู้ใดทรยศต่ออัลลอฮ์และกระทำความชั่วใด ๆ ไว้แม้จะน้อยนิดเพียงธุลีดินเขาก็จะได้เห็นมันและได้รับการตอบแทนตามนั้นเช่นกัน คนดีจะได้พำนักอย่างมีความสุขในสวนสวรรค์ชั้นต่าง ๆ อันสถาพร ส่วนคนชั่วก็จะถูกลงโทษอย่างสาสมในนรกขุมต่าง ๆ ตามผลกรรมที่ก่อไว้…
อิสลามให้เกียรติและยกย่องมนุษย์โดยถือว่ามนุษย์คือผู้ถูกสร้างที่สมบูรณ์และเพียบพร้อมที่สุด มนุษย์จึงถูกแบกภาระให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพระเจ้าในการจรรโลงและพัฒนาโลกนี้ให้ถูกต้องตามครรลองและสอดคล้องกับสัญชาตญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์ ขณะเดียวกันอัลลอฮ์ได้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ในการทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
อัลลอฮ์ได้กำหนดบทบัญญัติให้มนุษย์ยึดปฏิบัติเป็นวิถีดำเนินชีวิต บทบัญญัติและคำสอนของอิสลามล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองปัจจัยสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์ทั้ง 5 ประการ นั่นคือ การคุ้มครองศาสนา ชีวิต สติปัญญา สายตระกูลหรือศักดิ์ศรี และทรัพย์สิน
ดังนั้น สิทธิมนุษยชนในอิสลามจึงเป็นส่วนหนึ่งของหลักความเชื่อที่มีความเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้า และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเพื่อนร่วมโลก ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม โดยไม่มีการจำกัดด้านสัญชาติ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม
สิทธิมนุษยชนในอิสลาม คือพฤติกรรมที่เป็นข้อเท็จจริงที่คงอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์และพร้อมแสดงออกมาในภาคปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการน้อมรับคำบัญชาของอัลลอฮ์ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจทางกฎหมายหรือข้อตกลงทางสังคมบังคับใช้
ในฮัจญ์อำลา นบีมูฮัมมัด พร้อมด้วยบรรดาเศาะฮาบะฮ์กว่า 100,000 คนได้พร้อมกันประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮ์ ท่าน ได้กล่าวเทศนาธรรมอำลา เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของอิสลามที่ครอบคลุมหลักพื้นฐานของการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ ความรับผิดชอบในหน้าที่ การยอมรับสิทธิส่วนบุคคล การใช้ชีวิตในครอบครัว ฐานะของสตรีในอิสลามและบทบาทของนางต่อการสร้างครอบครัวเปี่ยมสุข หลักการยึดมั่นในอัลกุรอานและซุนนะฮ์โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาชีวิต เลือด ทรัพย์สินและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ดังปรากฏในส่วนหนึ่งของเทศนาธรรมความว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเลือด ทรัพย์สมบัติและศักดิ์ศรีของท่านจะได้รับการปกป้องและห้ามมิให้เกิดการล่วงละเมิด จนกว่าท่านทั้งหลายจะกลับไปสู่พระเจ้าของท่าน เฉกเช่นกับการห้ามมิให้มีการล่วงละเมิดในวันนี้ เดือนนี้และสถานที่แห่งนี้”
หลักการปฏิสัมพันธ์กับคนต่างศาสนิกในอิสลาม
อิสลามคือศาสนาแห่งความเมตตา ศาสนาแห่งสันติภาพ อิสลามได้สอนมารยาทต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติต่อตนเอง ครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนมนุษย์ทุกคน ทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม
ในคัมภีร์อัลกุรอ่านมีคำสั่งใช้มากมายที่สั่งให้บรรดามุสลิมทำความดีแก่คนต่างศาสนิก อาทิคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
“อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าทำดีต่อชนต่างศาสนิกที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และไม่ได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนและถิ่นที่พำนัก และอัลลอฮฺสั่งให้พวกเจ้ามีความยุติธรรมต่อพวกเขา เพราะอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม”
หมายความว่า อัลลอฮฺไม่ได้ห้ามชาวมุสลิมทำความดีกับคนต่าง ศาสนิกที่อาศัยอยู่ร่วมกับพวกเขา ตราบใดที่ชนต่างศาสนิกเหล่านั้นไม่ทำตัวเป็นศัตรูกับอิสลามและชาวมุสลิม ไม่ได้รุกรานหรือทำลายศาสนาอิสลามและไม่ได้ทำร้ายชาวมุสลิม และอัลลอฮฺสั่งให้ชาวมสุลิมมีความยุติธรรมแก่ชนต่างศาสนิก โดยเฉพาะหากพวกเขาเหล่านั้นเป็นเครือญาติของพวกเขา
ท่านนบีมูฮัมมัดได้อาศัยร่วมกับชาวยิวที่เมืองมาดีนะห์ ท่านได้ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความอ่อนโยน และให้เกียรติ ไม่เคยบังคับพวกเขาให้เข้ารับอิสลาม หนึ่งในนั้นคือเด็กชายชาวยิวคนหนึ่งที่คอยรับใช้ท่านนบี ในบางกิจการ แต่ทว่าท่านนบีกลับให้สิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพวกเขา ตราบใดที่พวกเขาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม รัฐอิสลามก็จำเป็นต้องปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติของทุกคนไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ให้ความยุติธรรมแก่พวกเขาในคดีความต่าง ๆ ที่มีการพิพาทระหว่างพวกเขากับชาวมุสลิม
คำสอนของอิสลามล้วนเป็นคำสอนที่วางอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมทุกสีผิว ทุกภาษา และทุกศาสนา ขณะเดียวกันอิสลามได้ห้ามด่าทอ ดูถูก และเหยียดหยามศาสนาผู้อื่น รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขากราบไหว้บูชา และถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดโดยปราศจากความรู้ เพราะการกระทำดังกล่าวจะนำมาซึ่งการเป็นศัตรู และบั่นทอนความสงบสุข และความปรองดองของสังคม
หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งที่อิสลามได้กำหนดไว้สำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ คือ ความสงบสุข ความศานติ และความมั่นคง ในชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สิน และสังคม ดังนั้น ความสัมพันธ์ของชาวมุสลิมกับต่างศาสนิก ไม่ว่าในระดับปัจเจกบุคคล ระดับสังคม หรือระดับประเทศล้วนวางอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ในรูปของการทำความรู้จัก การมีไมตรีต่อกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การเผยแผ่ความดี ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในรูปของการเป็นศัตรู การต่อสู้ และทำลายล้างกัน
หากผู้ใดได้พิจารณาคำสอนอิสลามอย่างไตร่ตรอง ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าพื้นฐานแห่งคำสอนอิสลาม คือการเชิญชวนมวลมนุษยชาติสู่การสร้างความผาสุก และสันติภาพที่แท้จริงบนโลกนี้และโลกหน้า ในโลกนี้คือความสงบสันติและความมั่นคงในชีวิต และในโลกหน้าคือความผาสุกในสวนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่พำนักที่มีแต่ความสันติอันถาวร
อัลกุรอานได้เชิญชวนมนุษย์ทุกคนสู่การตอบรับอิสลาม อันเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ และเป็นหนทางสู่การสร้างสันติภาพร่วมกันทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แต่ด้วยประสงค์แห่งองค์อภิบาล เราพบว่ามีมนุษย์บางส่วนได้ปฏิเสธคำเชิญชวนนี้ และไม่ยอมรับหลักการร่วมมือเพื่อให้เกิดสันติภาพแห่งอิสลามที่ครอบคลุมทั้งสองโลก กระนั้นก็ตาม อิสลามก็ยังเชิญชวนผู้ที่ไม่ได้เลื่อมใสและยอมรับอิสลามสู่การทำความรู้จัก การสร้างมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนคุณประโยชน์แห่งความดีงาม และการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกัน เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพ ความมั่นคงในชีวิต และความสงบสุขในสังคม
อิสลามได้วางเงื่อนไขของการให้ความช่วยเหลือว่า ต้องวางบนหลักของการทำดีด้วยความบริสุทธิ์ใจและการยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า ทั้งสองหลักนี้เป็นจุดรวมของความดีงามและสันติภาพสำหรับมวลมนุษย์ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ในขณะที่การช่วยเหลือกันในการกระทำความผิดและการละเมิดเป็นที่ต้องห้ามในอิสลาม เพราะทั้งสองประการคือมูลเหตุแห่งความชั่วร้ายและหายนะที่นำไปสู่การแตกแยก การจุดไฟแห่งการปะทะ และสงครามที่บ่อนทำลายสันติภาพและความสงบสุขของมนุษยชาติ
จากที่กล่าวมา จึงสรุปได้ว่า พื้นฐานเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับต่างศาสนิก คือสันติภาพ ส่วนสงครามและการต่อสู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภายหลัง เนื่องจากการรุกรานและละเมิดของผู้อื่นต่อพวกเขาและศาสนาของพวกเขา
ในประวัติศาสตร์อิสลาม ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัฐอิสลามมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่จะเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์อิสลามอันยาวนานว่ามีการบังคับขู่เข็ญให้ชาวยิว ชาวคริสต์ หรือคนอื่น ๆ ให้หันมานับถืออิสลาม ข้อเท็จจริงนี้เป็นที่ยอมรับกัน แม้แต่ในหมู่ศาสนิกอื่น อาทิเช่น โธมัส อาร์โนลด์ นักบูรพาคดีชาวอังกฤษผู้หนึ่งที่ได้กล่าวว่า “เราไม่เคยได้ยินว่ามีความพยายามใด ๆ ที่เป็นแผนการเพื่อใช้บังคับผู้อื่นที่ไม่ใช่มุสลิมให้ยอมรับอิสลาม หรือว่ามีการบังคับข่มขู่โดยมีจุดหมายเพื่อกำจัดศาสนานั้น ๆ”
สถานภาพของสตรีในอิสลาม
อัลลอฮฺทรงสร้างมนุษย์ทั้งชายและหญิงโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือให้ ทําหน้าที่เป็นบ่าวที่ดี ดังนั้นทั้งผู้ชายและผู้หญิงจำเป็นต้องเกื้อกูลและอุดหนุนระหว่างกันเพื่อทําหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ให้สมบูรณ์ที่สุด หากปราศจากหรือปฏิเสธเพศใดเพศหนึ่ง มนุษย์ก็จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะบ่าวของอัลลอฮฺได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ถ้าเราสังเกตถึงสภาพของสตรีในสังคมอาหรับยุคอนารยชนอันงมงายเราจะพบว่าสตรีจะถูกปฏิบัติอย่างไร้ซึ่งศีลธรรม สตรีถูกอธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ บางสังคมถึงกับฝังบุตรสาวทั้งเป็นทันทีที่นางถูกคลอดออกมา เพียงเพราะกลัวว่าพวกนางจะสร้างความอับยศต่อวงศ์ตระกูล ในขณะที่บางสังคมปล่อยให้พวกเธอมีชีวิตอย่างต่ำต้อยไร้เกียรติไม่ต่างอะไรกับทาส
สตรีในยุคอนารยชนจะไม่มีสิทธิ์ได้รับการสืบทอดมรดกยิ่งกว่านั้น สังคมในสมัยนั้นยังกำหนดให้นางเป็นส่วนหนึ่งจากกองมรดกที่ได้รับการสืบทอดสู่ทายาทเจ้าของมรดกหลังจากที่เขาได้เสียชีวิตไปแล้ว
หลังจากอิสลามได้รับการเผยแผ่ อิสลามก็มีบัญญัติยกเลิกการเอารัดเอาเปรียบต่อสตรีเพศในทุกมิติ พร้อมกับคืนสิทธิที่พวกนางควรจะได้รับอย่างครบถ้วน ทั้งยังกำหนดให้พวกนางได้รับผลตอบแทนและสิทธิต่าง ๆ อย่างยุติธรรมที่สุด ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ได้ประกอบคุณงามความดีไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง หากเขาเป็นผู้ศรัทธา อัลลอฮฺก็จะประทานชีวิตที่ดีแก่เขา และจะประทานผลตอบแทนที่ดียิ่งจากการปฏิบัติของพวกเขา อัลลอฮฺจะไม่ทำให้การงานของคนใดสูญหาย ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง
อิสลามไม่ได้มองว่าสตรีคือทรัพย์มรดก ดังที่เป็นประเพณีปฏิบัติของกลุ่มชนในยุคอนารยชน ขณะเดียวกัน อิสลามได้ยกระดับพวกนางด้วยการมอบสิทธิ เสรีภาพและอิสรภาพ และได้กำหนดสัดส่วนสิทธิอันพึงได้รับจากมรดกแก่พวกนาง
จะอย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอคติต่อศาสนาอิสลามได้กล่าวโทษให้ร้ายต่ออิสลามว่าอิสลามเป็นศาสนาที่เอารัดเอาเปรียบต่อเหล่าสตรี บังคับให้นางอยู่แต่ในบ้าน และกีดกันอิสรภาพของพวกนาง นำกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มาควบคุมพวกนาง เป็นต้น
ซึ่งความจริงแล้ว การที่เหล่าสตรีไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านและคอยทำหน้าที่เป็นศรีภรรยาที่ดี เป็นแม่บ้านแม่เรือน และคอยเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนบุตรนับเป็นภารกิจและหน้าอันมีเกียรติที่นางได้รับความไว้วางใจและมอบหมายให้ปฏิบัติ ในขณะที่ผู้ชายก็ต้องทำหน้าที่ออกจากบ้านไปหาปัจจัยเลี้ยงชีพมาจุนเจือครอบครัว ซึ่งเท่ากับเป็นประสานความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายชายผู้เป็นบิดากับฝ่ายหญิงผู้เป็นมารดาในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณธรรมออกสู่สังคมโลก
ดังนั้นการที่อิสลามกำหนดให้เพศชายเป็นผู้คอยดูแล ปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของสตรี และกำหนดให้นางทำหน้าที่ในฐานะแม่ศรีเรือนจึงไม่เข้าข่ายการกีดกันอิสรภาพของพวกนาง เพราะโดยธรรมชาติแล้วผู้ชายมีความเข้มแข็ง มีพละกำลัง และความกล้าหาญ และมีความเป็นผู้นำมากกว่าสตรี
ในฐานะที่สตรีเป็นสมาชิกหนึ่งของสังคม นางจึงเป็นส่วนสําคัญยิ่งต่อการพัฒนาและรังสรรค์สังคมสันติสุขให้เกิดขึ้นบนโลกนี้
การที่อิสลามกำหนดให้สตรีพำนักอยู่ในบ้านและมอบหมายให้นางแบกรับภาระและทำหน้าที่หน้าที่เลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนลูก ไม่ได้หมายความว่านางถูกลิดรอนสิทธิ อิสรภาพ และสกัดกั้นมิให้พวกนางออกทำหน้าที่นอกบ้านโดยปริยาย และห้ามไม่ให้พวกนางมีบทบาทด้านประชาสังคม และมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกระแสความเปลี่ยนแปลง โลกปัจจุบันที่สังคมกําลังต้องการสตรีที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนกิจการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสังคมสงเคราะห์และกิจกรรมบําเพ็ญประโยชน์ที่เหมาะสม ตราบใดที่พวกนางสามารถทำหน้าที่หลักของพวกนางได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
โดยทีมวิชาการ