บทความ บทความวิชาการ

เออร์โดกาน & กุเลน จุดแตกหักแห่งสัมพันธภาพ [ตอนที่ 4]

ทั้งสองฝ่ายเลือกใช้คำว่า “พวกเขา” ตามมารยาททางการเมืองสไตล์ตุรกี และเลี่ยงที่จะระบุกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน แต่สังคมตุรกีและผู้สังเกตุการณ์ต่างก็รู้อยู่เต็มอกแล้วว่า “พวกเขา” ที่แต่ละฝ่ายหมายถึง คือใคร

มีเหตุการณ์หลายเรื่องที่ก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ฝ่าย ยังรักษาระดับความขัดแย้งเป็นคลื่นใต้น้ำ ก่อนจะก่อตัวเป็นคลื่นสึนามิ ที่ถาโถมเสถียรภาพของรัฐบาลอย่างบ้าคลั่งขณะนี้ ผู้อ่านลองศึกษาคลื่นใต้น้ำทั้ง 7 ลูกนี้ก่อนว่า มีวิวัฒนาการก่อตัวเป็นคลื่นยักษ์ได้อย่างไร

  • คลื่นลูกแรก คือเหตุการณ์สะเทือนโลกเมื่ออิสราเอลเปิดฉากโจมตีกองเรือลำเลียงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและวัสดุก่อสร้างไปยังฉนวนกาซ่าที่นำโดยกองเรือ Mavi Marmara ในวันที่ 31/05/2010เป็นเหตุให้ลูกเรือ 9 คน ซึ่งเป็นชาวตุรกีเสียชีวิต และอีกหลายร้อยคนบาดเจ็บ

ในขณะที่ทั่วโลกตื่นตะลึงกับก่อการร้ายนี้และพากันประณามประเทศอิสราเอล จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอิสราเอลสั่นคลอนอย่างหนัก ถึงขั้นตุรกีประกาศขับไล่ทูตอิสราเอลประจำอังการ่า แต่กุเลนกลับให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งที่อเมริกาว่า ตุรกีเป็นฝ่ายผิดที่ไม่ขออนุญาตจากผู้มีอำนาจก่อนเข้าฉนวนกาซ่าและตุรกีได้ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ทั้ง ๆ ที่เมื่อวันที่ 22/3/2013 นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นายเบ็นจามิน เนทันยาฮู ได้ยกโทรศัพท์กล่าวขอโทษเป็นทางการต่อเออร์โดกาน โดยอ้างว่า เป็นความผิดพลาดทางภาคปฏิบัติ และมีความยินดียินดีชดใช้ค่าเสียหายแก่เหยื่อที่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนที่เราไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนักกับรัฐบาลอิสราเอล

  • คลื่นลูกที่ 2 หลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรม Mavi Marmara นายเออร์โดกานได้แต่งตั้งนาย Hakan Fidan ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดและได้รับความไว้วางใจจากเออร์โดกานมากที่สุด ให้เป็นผู้บัญชาการสำนักข่าวกรองแห่งชาติคนใหม่ และปลดคนเก่าที่เออร์โดกานจับได้ว่ามีส่วนพัวพันกับองค์กรสายลับ Mossad ของอิสราเอลและเป็นคนใกล้ชิดกุเลน เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่ใกล้ชิดกับกุเลน ใช้ความพยายามกดดันให้เออร์โดกานปลด Fidan ออกจากตำแหน่ง แต่ไม่ได้รับความสนใจจากเออร์โดกาน Fidan ยังคงรักษาเก้าอี้ของตนอย่างเหนียวแน่นจนกระทั่งปัจจุบัน รอยปริร้าวระหว่างกุเลนและเออร์โดกานเริ่มปรากฏเด่นชัดขึ้น
  • คลื่นลูกที่ 3 Hakan Fidan ได้ทำการเจรจาลับกับกลุ่มกบฏชาวเคิร์ดที่เมืองออสโลว์ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นการปูทางกระบวนการสานสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดที่มีปัญหาระดับชาติอันยาวนาน แต่แล้วการเจรจานี้ ล้มเหลวไม่เป็นท่า เมื่อแผนลับนี้ถูกเปิดโปงสู่สาธารณชนว่า Fidan กำลังจะขายชาติและปฏิบัติข้อราชการเกินอำนาจหน้าที่ ที่อาจทำให้ตุรกีอาจเสียดินแดน Fidan ถูกฟ้องร้องให้ดำเนินคดีในชั้นศาล จนกระทั่งเออร์โดกานต้องออกมาปกป้องและกล่าวว่า Fidan คือ ” ผู้กุมความลับของฉัน และทุกความเคลื่อนไหวของเขา เป็นไปตามคำบัญชาของฉันทุกประการ ” จนกระทั่ง Fidan หลุดคดีนี้ พร้อม ๆ กับการจับกุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงในวงการทหารและตำรวจ หลายคนถูกสั่งย้ายให้ไปประจำการตามส่วนภูมิภาค ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่มีความสนิทสนมกับกุเลนแทบทั้งสิ้น 
  • คลื่นลูกที่ 4 การตัดสินคดีจำคุกเดี่ยวตลอดชีวิตผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ. Ilkar Basbug ด้วยข้อหาก่อกบฏล้มล้างรัฐบาล และพัวพันกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล แต่กุเลนกลับให้สัมภาษณ์ที่สหรัฐอเมริกาว่า “หากฉันมีอำนาจ ฉันจะปล่อยอิสรภาพ Basbug ทันที” พร้อมกล่าวหาผู้ที่อยู่เบื้องหลังจับกุมนายทหารระดับสูงคนนี้ว่า เป็นกลุ่มมุนาฟิก (ผู้กลับกลอก)
  • คลื่นลูกที่ 5 การประท้วงที่จัตุรัสตักซีมเมื่อ 28/5/2013 ที่เริ่มต้นด้วยการประท้วงเรื่องต้นไม้และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ลงเอยด้วยเรื่องเหล้า

อ่านเพิ่มเติม http://anuchamas.blogspot.com/2013/06/2.html

ซึ่งเหตุการณ์บานปลายไปทั่วตุรกีและหลายประเทศในยุโรป จนกระทั่งนายเออร์โดกานได้เรียกการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ว่า เป็นแผนการณ์สากลเพื่อล้มล้างรัฐบาล

ท่ามกลางวิกฤติประเทศเช่นนี้ สื่อต่าง ๆ ในสังกัดของกุเลน กลับโหมโรงวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติการสลายผู้ชุมนุมประท้วงว่า ทำเกินกว่าเหตุ โดยไม่ยอมแตะต้องเบื้องหน้าเบื้องหลังของการชุมนุมประท้วงในครั้งนี้เลย 

  • คลื่นลูกที่ 6 นโยบายจัดระเบียบหอพัก ที่รัฐบาลมุ่งมั่น ดำริจัดระเบียบใหม่ด้วยการผลักดันกฎหมายห้ามหนุ่มสาวเช่าหอพักอย่างอิสระ ยกเว้นต้องมีเอกสารยืนยันความสัมพันธ์ทางครอบครัวเสียก่อน แต่แผนการณ์นี้ถูกเปิดเผยออกสู่สาธารณชนตามสื่อต่าง ๆ ในสังกัดกุเลน พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลกำลังยุ่งเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป ทำให้เกิดกระแสต่อต้านใหญ่โตในสังคมตุรกีที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายที่พวกเขาเห็นว่า เป็นเรื่องส่วนตัว 
  • คลื่นลูกที่ 7 ถือเป็นคลื่นลูกใหญ่ที่สุดที่กลายเป็นสึนามิ ซัดโถมนาวารัฐบาลตุรกีขณะนี้ คือนโยบายรัฐบาลที่จะปิดโรงเรียนกวดวิชา ที่เออร์โดกานเห็นว่า นอกจากผู้ปกครองต้องรับภาระเสียค่าใช้จ่ายที่แพงลิ่ว ซึ่งเงินส่วนนี้น่าจะเป็นรายได้ของรัฐบาลที่สามารถนำเป็นกองทุนพัฒนาการศึกษาของประเทศ แล้ว ยังส่งผลให้คุณภาพทางการศึกษาไม่มีมาตรฐานอีกด้วย รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการเรื่องการประกันคุณภาพทางการศึกษา เพราะไม่มีหลักสูตรใด ๆ ที่ผ่านการรับรองจากรัฐบาลเลย 

กลุ่มที่กระทบกับนโยบายนี้มากที่สุดคือกลุ่มของกุเลน เพราะเป็นที่ทราบดีว่า กุเลนมีโรงเรียนกวดวิชาในสังกัดหลายร้อยแห่งทั่วตุรกี ซึ่งนอกจากกุเลนใช้ช่องทางนี้ในการพัฒนาสังคมผ่านระบบการศึกษาแล้ว เขายังสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจการศึกษาควบคู่กันไปอย่างลงตัวอีกด้วย โรงเรียนในเครือข่ายเหล่านี้ถือเป็นช่องทางรายได้อันมหาศาลของกลุ่มเลยทีเดียว 

กุเลนจึงประเคนหมัดใส่รัฐบาลว่า “พวกเขาต้องการปิดทุกอย่าง แม้กระทั่งประตูสวรรค์ก็ตาม ปล่อยให้เราเปิดประตูสวรรค์อย่างเสรีกันเถอะ” “เมื่อไหร่ก็ตามที่ท่านอยู่ตรงกันข้ามกับฟิรเอาว์นและกอรูน ท่านจงมั่นใจเลยว่า ท่านเป็นฝ่ายที่ถูกต้อง”

เออร์โดกานจึงสวนหมัดทันควันว่า ” พวกเขาพยายามกดดันให้เราทบทวนและยกเลิกนโยบายนี้ จงรู้ว่า เราไม่มีทางยกเลิกแน่นอน”

นี่คือคลื่น 7 ลูกที่ก่อตัวเป็นสึนามิที่กำลังโถมใส่นาวาของเออร์โดกานขณะนี้ 

และอาการ After shock ลูกแรกก็ตามมาติดๆ ในเช้าตรู่ของวันที่ 17ธันวาคม 2013 ที่ผ่านมา ที่ถือได้ว่า สั่นคลอนนาวาของรัฐบาลเออร์โดกานมากที่สุดในรอบ 11 ปี ของการเป็นผู้นำสูงสุดของตุรกี เลยทีเดียว

และอะไรคือสาเหตุที่นายเออร์โดกานกล้าฟันธงว่า “เรากำลังต่อสู้เพื่อให้ได้รับเอกราชรอบ 2 “

ติดตามตอนต่อไป


โดย Mazlan Muhammad