ตุลาคม 1924 อังกฤษบีบให้ชารีฟหุสเซ็น ลงจากตำแหน่งสุลต่านแห่งหิจาซ และมอบอำนาจให้ชะรีฟอาลี บุตรชาย แล้วเนรเทศไปอยู่เกาะไซปรัส ภายใต้การควบคุม จนกระทั่งเสียชีวิต
เป็นจุดจบของประมุขแห่งมักกะฮ์ผู้มีความใฝฝันทะเยอทะยานที่จะรวบรวมดินแดนอาหรับเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ปกครองของตนเอง อันเป็นการสิ้นสุด ‘การปฏิวัติอาหรับ’ ในแคว้นหิจาซ ต่อต้านอาณาจักรออตโตมัน
● เกมส์ปั่นหัวครั้งนี้มีความเป็นมาอย่างไร
อังกฤษปั่นหัวชะรีฟหุสเซ็น ผ่านแมคมาฮอน ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษประจำอียิปต์ หลังจากทราบมาว่า เขาต้องการเป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นหิจาซ และแยกตัวออกจากออตโตมัน
อังกฤษสนับสนุนการณ์ครั้งนี้ทุกอย่าง ทั้งคน เงินทองและสรรพาวุธ
ในขณะที่แมกมาฮอน ส่งสาส์นติดต่อกับชะรีฟหุสเซ็น สนับสนุนการสถาปนาสหรัฐอาหรับ
ในวันที่ 30 สิงหาคม 1915 แมกมาฮอนส่งสาส์นไปยังชารีฟหุสเซ็น ระบุ พร้อมที่จะสนับสนุนให้เป็นคอลีฟะฮ์และนำระบอบคอลีฟะฮกลับคืนสู่หิจาซ
แมคมาฮอนกล่าวในสาส์นนั้นว่า
“บริเตนใหญ่ยินดีกับการฟื้นคืนคอลีฟะฮ์อิสลามให้อยู่ในมือของชาวอาหรับที่แท้จริงจากสายสกุลศาสนทูตผู้ทรงเกียรติ”
แต่กลับส่งหนังสือส่วนตัวไปยังเจ้าหน้าที่อังกฤษว่า
“ฉันไม่เคยถือว่าเรื่องการเกิดรัฐอาหรับเอกราชในอนาคตที่มีความเข้มแข็งเป็นเรื่องจริงจัง เพราะเงื่อนไขในคาบสมุทรไม่เปิดช่องให้เป็นเช่นนั้น เรื่องทำนองนี้ไม่เกิดขึ้นกับโลกอาหรับมานานแล้วและจะไม่เกิดขึ้นอีก
สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คือพยายามดึงดูดให้ชาวอาหรับมาถูกทาง แยกพวกเขาออกจากศัตรู และนำพวกเขามาอยู่เคียงข้างเรา ในตอนนี้มันเป็นเรื่องของคำพูด และเพื่อให้สำเร็จ เราต้องใช้คำพูดที่โน้มน้าวใจ”
ลอร์เรนซ์ อาระเบีย กล่าวพรรณนาถึงสถานการณ์ในปี 1916 ว่า
“มีประโยชน์กับเรา เพราะมันเป็นไปตามเป้าหมายปัจจุบันของเราในการทำลายความเป็นกลุ่มก้อนของอิสลาม ตลอดจนการปราบและโค่นล้มจักรวรรดิออตโตมัน และเพราะชารีฟฮุสเซนมุ่งสู่ชัยชนะ พวกเติร์กจะไม่สามารถทำร้ายเราได้อีก
ชาวอาหรับมีความมั่นคงน้อยกว่าพวกเติร์ก ถ้าเราจัดการอย่างระมัดระวัง พวกเขาก็จะอยู่ในสถานะ
แตกแยกทางการเมือง เป็นความบาดหมาง [คู่แข่ง] ที่ไม่สามารถหลอมรวมกันได้”
● ตำนานจอมต้มตุ๋นปะทะไก่อ่อน
ในขณะที่อังกฤษตกลงกับชารีฟ หุสเซ็น ที่เข้าร่วมขบวนการโค่นออตโตมันว่า จะมอบดินแดนอาหรับเพื่อจัดตั้งสหภาพอาหรับ แต่แอบทำสัตยาบันลับๆ ข้อตกลงเซคส์-ปิโกต์ Sykes-Picot Agreement วันที่ 16 พฤษภาคม 1916 แบ่งดินแดนปกครองกันเอง ไม่ได้ให้กับชารีฟหุสเซ็นตามสัญญาลวงๆ
ข้อตกลง Sykes-Picot ได้รับการลงนามระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษเกี่ยวกับการแบ่งสรรประเทศอาหรับในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก ในปี 1916 ถึงระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมของปีนั้น ในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนเอกสารระหว่างกระทรวงต่างประเทศของทั้งสามประเทศ ( ฝรั่งเศส อังกฤษ และซาแห่งร์รัสเซีย)
ข้อตกลงไตรภาคีที่เรียกว่า Sykes-Picot Agreement เพื่อกำหนดขอบเขตอิทธิพลของแต่ละประเทศดังต่อไปนี้
– ฝรั่งเศสยึดครองซีเรียตะวันตก เลบานอนและรัฐอาดานา
– อังกฤษยึดครองอิรักทางตอนใต้และตอนกลาง รวมถึงเมืองแบกแดด ท่าเรือเอเคอร์และไฮฟาในปาเลสไตน์
– รัสเซียยึดครองดินแดนอาร์เมเนียในตุรกี และเคอร์ดิสถานตอนเหนือ
– สิทธิของรัสเซียในการปกป้องผลประโยชน์ของนิกายออร์โธดอกซ์ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในปาเลสไตน์
– พื้นที่ที่อยู่ระหว่างดินแดนที่ฝรั่งเศสได้รับและพื้นที่ที่อังกฤษได้รับ จะเป็นสหภาพรัฐอาหรับหรือสหรัฐอาหรับ
อย่างไรก็ตามพื้นที่นี้ยังแบ่งออกเป็นเขตอิทธิพลของอังกฤษและฝรั่งเศส อิทธิพลของฝรั่งเศสครอบคลุมถึงลิแวนต์ตะวันออกและโมซุล
ในขณะที่อิทธิพลของอังกฤษแผ่ขยายไปถึงทรานส์จอร์แดนและทางตอนเหนือของรัฐแบกแดดจนถึงชายแดนอิหร่าน
– ดินแดนส่วนที่เหลืออยู่ภายใต้การบริหารระหว่างประเทศ อันได้แก่ดินแดนของปาเลสไตน์
– ท่าเรือ Iskenderun กลายเป็นอิสระ
ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการเปิดเผยเมื่อคอมมิวนิสต์เข้ามามีอำนาจในรัสเซียในปี 1917 ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับตระกูลชารีฟ หุสเซ็น และชาวอาหรับที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากข้อตกลงดังกล่าวและทำให้ฝรั่งเศสและอังกฤษกระอักกระอ่วน และปฏิเสธอย่างด้านๆว่า ไม่เป็นความจริง
ในปี 1917 พวกบอลเชวิคได้เผยแพร่เอกสารลับที่พวกเขาพบที่สำนักงานใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียในเมืองหลวงเปโตรกราด รวมทั้งเอกสารข้อตกลงเซคส์-ปิโกต์ Sykes-Picot Agreement ซึ่งถูกอธิบายโดยวิงเกต ข้าหลวงใหญ่อังกฤษ ในจดหมายถึงรัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1918 ว่า:
“กษัตริย์แห่งฮิญาซได้ส่งโทรเลขที่รุนแรงไปยังตัวแทนของเขา แนะนำให้เขาดำเนินการสืบสวนข้อตกลงแองโกล-ฝรั่งเศสและขอบเขตของข้อตกลง
ให้บอกไปว่ากษัตริย์ไม่ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับข้อตกลงไซคส์-ปิโกต์ ฉันแนะนำให้บอกตัวแทนว่า ที่พวกบอลเชวิคที่พบในกระทรวงการต่างประเทศเปโตรกราด เป็นบันทึกการเจรจาฉบับเก่าและข้อตกลงชั่วคราว ไม่ใช่สนธิสัญญาที่เป็นทางการระหว่างอังกฤษฝรั่งเศสและรัสเซีย”
ชารีฟหุสเซ็นเชื่อในเหตุผลของอังกฤษ และด้วยความไร้เดียงสา ยังแสดงความยินดีกับพวกเขาที่ควบคุมกรุงเยรูซาเล็มโดยกล่าวว่า: “ข่าวนี้ทำให้มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง” โดยเข้าใจไปว่าเมืองอัลกุดส์จะตกอยู่ในขอบเขตอาณาจักรของตน
หลังจากนั้น ก็ร่วมกระบวนการโค่นออตโตมันต่อไป
ภูมิภาคนี้ถูกแบ่งออกตามข้อตกลง ฝรั่งเศสจึงได้ครอบครองส่วนที่ใหญ่ที่สุดของเลแวนต์ และส่วนใหญ่ของอานาโตเลียตอนใต้และภูมิภาคโมซุลในอิรัก
ในขณะที่อังกฤษขยายพื้นที่ควบคุมจากเลแวนต์ทางใต้ ขยายไปทางตะวันออก รวมถึงแบกแดด บาสรา และพื้นที่ทั้งหมดระหว่างอ่าวเปอร์เซียและภูมิภาคภายใต้ปกครองของฝรั่งเศส
นอกจากนี้ยังตัดสินใจที่จะจัดการพื้นที่ซึ่งต่อมาได้รับการตัดแยกจากทางใต้ของซีเรีย คือดินแดน “ปาเลสไตน์” ให้อยู่ภายใต้การบริหารระหว่างประเทศ ตามที่จะตกลงกันในการปรึกษาหารือระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศส (ต่อมาตามปฏิญญาบัลโฟร์ ได้ตกลงส่งมอบให้กับชาวยิว ให้ชาวไซออนิสต์สร้างรัฐอิสราเอล)
อย่างไรก็ตามข้อตกลงดังกล่าวระบุว่าอังกฤษจะได้รับท่าเรือไฮฟาและเอเคอร์ โดยมีเงื่อนไขว่าฝรั่งเศสจะมีอิสระในการใช้ท่าเรือไฮฟา และฝรั่งเศสได้ตอบแทนอังกฤษโดยการให้ใช้ท่าเรือIskenderun ซึ่งจะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของตน
ชัดเจนแจ่มชัดถึงขนาดนี้ แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ตำนานจอมต้มตุ๋นกับไก่อ่อน ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง
พิสูจน์ว่า แท้จริงแล้ว เหตุผลของเรื่องทั้งหมดไม่ใช่ความไร้เดียงสาไม่ทันเกมส์ มากไปกว่าความโลภหลงไหลในโลกดุนยา ไม่สนใจหลักการถูกผิด…
ที่มา:
– Al Jazeera
– Meem Magazine
โดย Ghazali Benmad