ข่าว ข่าวต่างประเทศ

วันรำลึกมุสตะฟาเคมาล

นอกจากวันสาธารณรัฐ 29 ตุลาคมของทุกปีแล้ว ประเทศตุรกียังมีวันสำคัญอีกวันหนึ่งคือวันที่ 10 พฤศจิกายน

เวลา 09.05 น. ในวันที่ 10 พฤศจิกายนทุกปี ชาวตุรกีทั้งประเทศจะยืนไว้อาลัยนาน 1 นาทีเพื่อรำลึกถึงผู้สถาปนาสาธารณรัฐตุรกีฉายาบิดาแห่งตุรกี (อะตาร์เตอร์ก) ซึ่งได้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 1938 หลังมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือตุรกีนาน 16 ปี

ผู้เขียนยังจดจำวินาทีนี้ได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก การเดินทางครั้งแรกไปยังตุรกีในปี 2012 ตรงกับวันที่ 10 พ.ย. และกำลังเยี่ยมชมวังโดลมาบาห์เชพอดี 

ช่วงเวลา 1 นาทีนี้ ทั่วตุรกีคล้ายถูกมนต์สะกด เพราะทั้งประเทศวจะต้องแน่นิ่งเงียบสงบ  ทั้งเสียงผู้คน รถราที่สัญจรบนท้องถนน เรือในทะเล ฝูงชนที่เดินเหินตามที่ต่าง ๆ แม้กระทั่งนักเรียนที่อยู่ตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศจะต้องร้องไห้ ถึงแม้จะเป็นการร้องไห้ที่ถูกบังคับหรือเสแสร้งก็ตาม เด็ก ๆ จะต้องร้องเพลงที่มีเนื้อหาว่า “ในวังโดลมาบาห์เช บิดาของเราได้เสียชีวิตเวลา 09.05 น. ท่านได้ปิดดวงตา โลกทั้งใบได้ร่ำไห้สุดอาดูร”

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองตุรกีนางโอซลาม อัลเบรัก เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ Yeni Safak Turki ประจำวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 ในหัวข้อ “อะตาร์เตอร์กยังไม่ตาย เขายังมีชีวิตอยู่ในใจของเรา” นางอัลเบรักเล่าว่า ในอดีตครูดนตรีจะฝึกซ้อมให้นักเรียนทุกคนจดจำประโยคดังกล่าว นักเรียนคนไหนที่ไม่จำ ทางโรงเรียนจะเรียกผู้ปกครองมาปรับทัศนคติ พร้อมตักเตือนว่าลูกของตนอาจถูกไล่ออกจากโรงเรียน

นางอัลเบรักย้อนความทรงจำเล่าว่า เรานึกว่า โลกทั้งใบจะยืนร่วมไว้อาลัยพร้อมกับเรา แต่เมื่อโตขึ้น เราจึงทราบว่า แม้กระทั่งตุรกี ก็ยังไม่ยืนไว้อาลัย นับประสาอะไรกับโลกทั้งใบ ฉันไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แทนที่จะใช้เวลา 1 นาทีนี้อ่านอัลฟาติหะฮ์ มอบผลบุญให้กับผู้ตาย แต่กลับเลือกยืนนิ่งเหมือนศพที่มีลมหายใจ ทำให้ฉันรู้ว่าในตุรกีจะมีคนสองกลุ่ม คือกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ยืนไว้อาลัยทั้งด้วยความสมัครใจหรือถูกบังคับเหมือนสมัยเรายังเป็นเด็กนักเรียน ซึ่งฉันเชื่อว่าคนที่ยืนไว้อาลัยด้วยความสมัครใจ มีจำนวนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ส่วนกลุ่มที่สองคือกลุ่มที่ไม่ยืนไว้อาลัยแม้แต่วินาทีเดียวซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่

อัลเบรักตั้งคำถามว่า เพราะอะไรที่ชาวตุรกีส่วนใหญ่ไม่ยืนไว้อาลัยให้กับรัฐบุรุษผู้นี้ ซึ่งนางได้ค้นพบสาเหตุอันมากมาย ส่วนหนึ่งคือ เพราะอะตาร์เตอร์กได้สังหารนักวิชาการทางศาสนามากมาย เขาได้เปลี่ยนอักษรเขียนจากอักษรอาหรับเป็นอักษรตุรกีเมื่อปีค.ศ. 1928 จนกระทั่งในปัจจุบัน ชาวตุรกีไม่สามารถอ่านภาษาบรรพบุรุษของตนเอง เขายังเปลี่ยนอาซานจากภาษาอาหรับเป็นภาษาตุรกีซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกทำกัน อะตาร์เตอร์กยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีนานถึง 16 ปี ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 1921 กำหนดว่า วาระประธานาธิบดีเพียง 7 ปีเท่านั้น นอกจากนี้อะตาร์เตอร์กยังยุบพรรคฝ่ายค้านและบริหารประเทศด้วยพรรคเดียวคือพรรคสาธารณรัฐ

และเหตุผลอีกมากมายที่ประชาชนชาวตุรกีโดยส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า บุรุษผู้มีเค้าโครงใบหน้าที่ไม่ใช่ชาติพันธุ์ของตุรกีคนนี้ ไม่สมควรได้รับการยกย่อง ถึงแม้จะมีฉายาว่าบิดาแห่งชาวเตอร์กก็ตาม

นางอัลเบรักยังระบุอีกว่า ลัทธิเคมาลิสต์ที่ได้ยึดมั่นแนวคิดเซคิวล่าร์และวัตถุนิยม ได้สร้างนรกทั้งเป็นให้แก่ชาวตุรกีที่กว่า 85 % เป็นชาวมุสลิมที่ยึดมั่นในศาสนา หลังการเสียชีวิตของเขาจนถึงปี 2002 พวกเขาได้จับและซ้อมทรมานทุกคนที่มีข้อความภาษาอาหรับในบ้านแม้กระทั่งคำเดียวคนที่เขียนกลอนวิพากษ์ลัทธินี้แม้เพียงบทเดียวก็จะถูกซ้อมทรมาน หรือถูกดำเนินคดีพวกเขายังห้ามสตรีมมุสลิมใส่ผ้าคลุมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ยังไม่รวมการปฏิวัติที่นองเลือดประชาชนผู้บริสุทธิ์เพียงเพื่อปกป้องลัทธิเคมาลิสต์

ผลงานของมุสตะฟา เคมาล และทายาทของเขาได้สร้างบาดแผลอันร้าวลึกให้แก่ประชาชนชาวตุรกีนานกว่า 6 ทศวรรษ ทำให้ประชาชนครั่นคร้ามและเข็ดหลาบกับลัทธินี้เป็นอย่างมาก การที่พวกเขาปฏิเสธให้เกียรตินายมุสตะฟา เคมาล ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่มีความชอบธรรมอยู่บ้าง

ความจริงมุสตะฟา เคมาลและพรรคพวก ไม่ใช่ผู้กอบกู้เอกราชตุรกีเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมีกองทัพอุษมานียะฮ์ที่มาจากปากีสถานและอินเดียที่กู่ร้อง”อัลลอฮุอักบัร” (อัลลอฮ์ผู้ยิ่งใหญ่) เข้าสมทบทำสงครามกอบกู้เอกราชในปี 1922 อีกด้วย แต่หลังจากได้รับชัยชนะแล้ว มุสตะฟา เคมาลได้รวบรวมแกนนำทหารเซคิวล่าร์และได้สร้างความมั่นใจให้ชาติตะวันตกว่า ตนเองและพรรคพวกสามารถปกป้องและอารักขาระบอบเซคิวล่าร์และทุนนิยมในตุรกี จนกระทั่งชาติตะวันตกไว้วางใจและประกาศสถาปนาสาธารณรัฐตุรกีภายใต้สนธิสัญญา “โลซาน”

และด้วยสัญญาทาสฉบับนี้ พวกเขาได้สถาปนารัฐเซคิวล่าร์ที่คลั่งไคล้ พร้อมทำลายและเหยียบย่ำสิทธิพื้นฐานของประชาชนในด้านต่าง ๆ ทั้งสังคมวัฒนธรรม การศึกษาและศาสนา ไม่เว้นแม้กระทั่งศักดิ์ศรีของบรรพบุรุษที่เคยปกครองโลกอิสลามมานานกว่า 6 ศตวรรษ 

อ่านเพิ่มเติม

https://www.turkpress.co/node/15008


โดย Mazlan Muhammad