หลังจาก ฏอลิบานเข้ายึดครองอัฟกานิสถานและยึดเมืองหลวงคาบูล ที่ลงเอยด้วยการหลบหนีของอดีตประธานาธิบดีอัชราฟ กานี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เส้นทางใหม่ของกลุ่มนี้ได้เริ่มขึ้น โดยเปลี่ยนสถานภาพจากกลุ่มติดอาวุธเป็นกลุ่มที่ได้รับการคาดหวังว่าจะเข้ายึดบังเหียนอำนาจในอัฟกานิสถาน ที่ถูกทำลายล้างด้วยสงครามและอุดมด้วยความแตกแยกภายใน
ซึ่งแน่นอนว่า มีความแตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างกลุ่มที่วันวาน ยังเป็นกลุ่มต่อสู้ติดอาวุธที่มีเป้าหมายเฉพาะเจาะจงและเน้นสงครามภาคสนาม แต่มาวันนี้คือขบวนการที่ต้องสวมหมวกในนามรัฐบาล ซึ่งประชาชนและประชาคมโลกต่างเฝ้ารอดูผลงานทางการบริหารจัดการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในทุกด้านของการพัฒนา
เห็นได้ชัดว่าในขั้นตอนนี้ กลุ่ม ฏอลิบานจะต้องเผชิญกับความรับผิดชอบและความท้าทายมากมายที่ต้องใช้ความตระหนักรู้ ความเข้าใจและความแน่วแน่ในการจัดการกับความเป็นจริง
โมลา อับดุลกานี บาราดาร์ รองหัวหน้าฝ่ายกิจการการเมืองของฏอลิบาน ได้พูดถึงข้อเท็จจริงนี้ เมื่อเขากล่าวในสุนทรพจน์ หลังจากฏอลิบานยึดเมืองคาบูล “จากวันนี้ การทดสอบที่แท้จริงของกลุ่มได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว”
ความท้าทายหลักที่ ฏอลิบานต้องเผชิญ หลังจากเข้าควบคุมอัฟกานิสถานในสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถสรุปได้ในประเด็นต่อไปนี้ :
1- ความสมานฉันท์แห่งชาติ
ทันทีหลังจากเข้ายึดครองกรุงคาบูล ฏอลิบานได้เริ่มโครงการสร้างความปรองดองระดับชาติและทำความเข้าใจกับฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายต่อต้าน ด้วยการประกาศนิรโทษกรรม เพื่อสร้างรัฐที่เข้มแข็ง ขจัดความเป็นไปได้ของสงครามกลางเมืองและความขัดแย้ง พร้อมนำประเทศสู่เสถียรภาพทางการเมือง
การสร้างอัฟกานิสถานใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจ หากไม่มีความมั่นคง เสถียรภาพก็ไม่อาจบรรลุได้
ความหลากหลายด้านเผ่าพันธุ์และความเชื่อ เป็นสมการที่มีความสลับซับซ้อนที่สุดที่รอ ฏอลิบานแก้ให้ลงตัวอย่างรอบคอบและเต็มด้วยวิทยปัญญา
รัฐบาล ฏอลิบานต้องตื่นรู้ตลอดเวลาว่า สิ่งที่ช่วยให้ต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นล้ม หาใช่ลำพังแค่ขวานอันคมกริบ แต่คือด้ามที่ทำมาจากกิ่งไม้ต่างหาก ธนูที่สามารถยิงนกได้อย่างแม่นยำที่สุดคือปีกธนูที่ทำจากขนนกนั่นเอง
“สิ่งที่ช่วยให้ต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นล้ม หาใช่ลำพังแค่ขวานอันคมกริบ แต่คือด้ามที่ทำมาจากกิ่งไม้ต่างหาก ธนูที่สามารถยิงนกได้อย่างแม่นยำที่สุดคือปีกธนูที่ทำจากขนนกนั่นเอง”
2- วาระแห่งความปลอดภัย
การรักษาความปลอดภัย คือวาระเร่งด่วนที่จะต้องให้เกิดขึ้นในทุกส่วนของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงคาบูล เมืองหลวง เนื่องจากความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับพลเมืองอัฟกัน ที่พวกเขาถูกปฏิเสธมาตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความสำเร็จของ ฏอลิบานในการรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชนจะเป็นกุญแจดอกสำคัญสู่ความสำเร็จอื่น ๆ ที่จะนำไปสู่การรวมตัวของชาวอัฟกันและเพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชน
ถือเป็นการบ้านสุดหินของรัฐบาล ฏอลิบานโดยเฉพาะการกลับมาของ IS-KP ( Islamic State Khorasan Province) และกลุ่มชีอะฮ์ที่ปักหลักอยู่ทางภาคเหนือของประเทศ
3- การจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล
การจัดตั้งรัฐบาลที่บริหารประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่านที่กำลังเพลิดเพลินกับชัยชนะและเป็นตัวแทนของสังคมอัฟกัน ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์และนิกายความเชื่อ จะต้องไม่ถูกจำกัดเฉพาะกลุ่ม ฏอลิบานเท่านั้น
รัฐบาล ฏอลิบานต้องตระหนักรู้ถึงความต้องการร่วมสมัยของประชาชน ที่ให้ความสำคัญกับการรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งวัฒนธรรม การศึกษาและธรรมเนียมประเพณี และการยอมรับของสังคมระหว่างประเทศ ที่เน้นเรื่องสิทธิและการเปิดกว้างในสังคมที่มีความหลากหลาย ซึ่ง ฏอลิบานต้องรักษาน้ำหนักให้เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการจากทั้งสองฝ่ายอย่างจริงใจและจริงจัง
4. รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ ฏอลิบานควรร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อสร้างหลักประกันรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และปิดประตูความแตกแยกในสังคม ที่อบอวลด้วยภาวะสงครามที่ยืดเยื้อนานกว่า 40 ปี พร้อมๆกับการกำหนดยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศในด้านต่างๆ การเตรียมพร้อมในการรับความช่วยเหลือจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากโลกอาหรับและอิสลาม เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง
5. การเปลี่ยนแปลงของสังคมอัฟกานิสถานในปัจจุบัน
อัฟกานิสถานในปัจจุบันมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีสถิติที่ไม่เป็นทางการระบุว่า วัยหนุ่มสาวชาวอัฟกันมีอัตราสูงถึง 60 %ของจำนวนประชากรทั้งประเทศที่มีเกือบ 40 ล้านคน กลุ่มนี้มีชีวิตท่ามกลางเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์อันหลากหลายที่ต่างจากอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างสิ้นเชิง กลุ่มนี้อาจไม่สามารถบีบบังคับด้วยกองกำลังทางทหาร แต่ต้องปล่อยให้เป็นการตัดสินใจอันอิสระของพวกเขาต่างหาก
เหตุการณ์ในวันที่ 18-19 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่หนุ่มสาวชาวอัฟกันลุกฮือประท้วงที่กรุงคาบูล ไม่เห็นด้วยที่ กลุ่ม ฏอลิบาน ยกธงสัญลักษณ์ของกลุ่มตนเอง โดยไม่ใช้ธงประจำชาติ ก็น่าจะเป็นสัญญาณอันตราย ที่กลุ่ม ฏอลิบาน ต้องรีบกลับไปทบทวน
6.ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
สิ่งที่ท้าทายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของรัฐบาล ฏอลิบาน ยุค 2.0 นี้ คือ การสร้างความยอมรับบนเวทีนานาชาติทั้งในระดับประเทศและองค์กรสากล รัฐบาล ฏอลิบานต้องกำหนดนโยบายที่นานาชาติไม่สามารถสร้างเงื่อนไขที่จะโดดเดี่ยวกลุ่ม ฏอลิบาน เหมือน 20 ปีที่แล้ว ที่มีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นคือปากีสถาน ซาอุดิอาระเบียและยูเออี ที่ให้การรับรอง
นายกรัฐมนตรีอังกฤษนายบอริส จอห์นสัน ได้กล่าวในรัฐสภาเพื่อถกเหตุการณ์อัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า “เราจะตัดสินที่การกระทำ ไม่ใช่คำพูด”
น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้รัฐบาล ฏอลิบาน รับทราบถึงท่าทีของชาติตะวันตกที่มีต่อ ฏอลิบาน ยุค 2.0 อย่างไร
7. บทบาทสื่อและการแสดงออกทางความคิดเห็น
ปัจจุบันมีช่องโทรทัศน์ดาวเทียมและสื่อท้องถิ่นกว่า 100 ช่อง วิทยุชุมชนกว่า 150 สถานี หนังสือพิมพ์และนิตยสารนับสิบกว่าฉบับ และสื่อออนไลน์ต่างๆมากมายที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดทั่วอัฟกานิสถาน ยังไม่รวมโทรศัพท์มือถือที่ชาวอัฟกันใช้นับสิบล้านเครื่อง ที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมอัฟกันยุคใหม่ ซึ่งถือเป็นผลพวงของกระแสยุคโลกาภิวัฒน์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ต่างจากเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ที่รัฐบาล ฏอลิบานอนุญาตเปิดสถานีโทรทัศน์เพียงช่องเดียว คือช่องทางการของรัฐบาล ปิดสื่อวิทยุแห่งอัฟกานิสถานและเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยุเสียงแห่งชะรีอะฮ์ ห้ามสตรีมีบทบาทในทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยเฉพาะบทบาทด้านสื่อสารมวลชนทุกประเภท แต่ปัจจุบัน บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวกับสื่อนับหมื่นคนทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นสตรี
8. ยาเสพติด
รายงานฉบับหนึ่งที่ชวนขนลุกของสังคมอัฟกันคือ อัฟกานิสถานมีรายได้จากการปลูกยาเสพติดชนิดต่างๆ สูงถึง 3,000 ล้านดอลล่าร์ ตามรายงานระบุว่าอัฟกานิสถานสามารถผลิตเฮโรอีนจำนวน 6,700 ตันต่อปี (ข้อมูล 2006) คิดเป็น 92% ของการผลิตเฮโรอีนทั่วโลก
นี่คือฝันร้ายของชาวอัฟกันที่เป็นสิ่งท้าทายอันยิ่งใหญ่ของรัฐบาล ฏอลิบาน ที่สื่อต่างชาติได้โฆษณาชวนเชื่อให้ชาวโลกเคลิ้มอย่างหัวปักหัวปำว่า เบื้องหลังของ ฏอลิบานคือธุรกิจค้ายาเสพติด ทั้งๆที่สมัย ฏอลิบานปกครองอัฟกานิสถานยุคแรก ถือเป็นยุคที่ธุรกิจการค้ายาเสพติดซบเซามากที่สุดในประวัติศาสตร์อัฟกานิสถานทีเดียว
โดยหารู้ไม่ว่า ปรากฏการณ์อันน่ากลัวชวนขนลุกเรื่องธุรกิจยาเสพติด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มีความคึกคักและบูมสุดขีดช่วง 20 ปี หลังจากรัฐบาล ฏอลิบาน ยุค 1.0 ล่มสลาย และสหรัฐอเมริกาเข้ายึดครองอัฟกานิสถานแทน
9. ปัญหาด้านเศรษฐกิจและความยากจน
อีกรายงานหนึ่งที่ชวนขนลุกไม่แพ้กันคือสถิติปัญหาว่างงานสูงถึง 40% (ข้อมูลปี 2005) และประชาชนอยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน 53% (ข้อมูลปี 2003) เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่ มีอัตราว่างงานสูงสุดในเดือนตุลาคม 2563 อยู่ที่ 4.5% ในขณะที่คนจนมีจำนวน ทั้งสิ้น 5.40 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.79% ของประชากรทั้งประเทศ (ข้อมูล 2019)
การปฏิรูปทางเศรษฐกิจ การพัฒนาด้านระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ การแก้ปัญหาการว่างงานและความยากจน การอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานทั้งการศึกษา การสาธารณสุข ไฟฟ้า น้ำ ถือเป็นความท้าทายที่หนักอึ้งของรัฐบาลฏอลิบาน
ภูเขาหิมะทั้ง 9 ลูกนี้ รัฐบาล ฏอลิบานจะข้ามผ่านพร้อมชาวอัฟกันจำนวน 40 ล้านคนได้อย่างไร คงต้องดูกันยาวๆต่อไปครับ
ผู้เขียนขอเป็นหนึ่งคนที่ให้กำลังใจ หวังดี และดุอาให้ฟ้าหลังฝนของอัฟกานิสถานที่มีแต่ความงดงามและปลอดโปร่งตราบนานเท่านาน
โดย Mazlan Muhammad