บทความ ประวัติศาสตร์

อัฟกานิสถาน ฏอลิบานรีเทิร์นและแนวโน้มในอนาคต [ตอนที่5]

7 เหตุผลที่ทำให้ ฏอลิบานยึดอัฟกานิสถานได้อย่างง่ายดาย

หลังจากการสู้รบนานเกือบ 20 ปี สูญเสียชีวิตทหารและพลเมืองอเมริกันกว่า 6,000 คน และสังเวยชีวิตชาวอัฟกันกว่า 100,000 ชีวิต ผลาญงบประมาณของสหรัฐฯ ไปกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์

ถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญในภูมิภาคจะคาดการณ์อยู่แล้วว่า วันนี้จะต้องมาถึงในที่สุด แต่ไม่มีใครคาดคิดว่ามันจะเกิดขึ้นรวดเร็วขนาดนี้ โดยแทบไร้แรงต้านทานจากรัฐบาลและกองทัพอัฟกานิสถาน ที่ว่ากันมามีจำนวน 3 แสนนาย

อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์เชื่อว่า 7 เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ ฏอลิบานยึดอัฟกานิสถานได้รวดเร็วและง่ายดายมีดังนี้

1.ความผิดพลาดด้านข่าวกรอง

การที่ฏอลิบานสามารถยึดเมืองหลวงและทำเนียบประธานาธิบดีได้อย่างรวดเร็วแสดงให้เห็นว่าหน่วยข่าวกรองทหารสหรัฐฯ ล้มเหลวในการประเมินสถานการณ์  ฏอลิบานจัดเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ วางแผน และเดินหน้าการโจมตีครั้งใหญ่มาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม ก่อนเริ่มการ “การจู่โจมครั้งสุดท้าย” ขณะที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลและกองทัพอัฟกันน่าจะสามารถยื้อได้นาน 6 เดือนถึง 1 ปี

รอยเตอร์รายงานว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ คนหนึ่งคิดว่า กรุงคาบูลน่าจะถูกยึดในอีก 90 วัน มีกองกำลังที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี 3 แสนนายพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่แล้วมันเป็นแค่ความจริงในเอกสารการรายงาน ส่วนในภาคสนาม กลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม

2.ความไม่มีใจคิดสู้ของทหารรัฐบาล

กลุ่ม ฏอลิบานแทบไม่ต้องเสียเลือดเนื้อเพื่อการยึดครองเมืองหลวงของจังหวัดต่างๆ ที่ผ่านมาเลย แต่เป็นการเจรจาเพื่อให้ยอมแพ้เสียมากกว่า นอกเหนือจากการลอบสังหารบรรดาแกนนำของรัฐบาล กว่า2-3 ปีที่ผ่านมา ฏอลิบานสามารถควบคุมพื้นที่ประมาณ 50 % ของประเทศได้ด้วยการยึดพื้นที่ชนบทต่างๆ และเมื่อเคลื่อนกำลังเข้าสู่เมืองใหญ่ ทหารอัฟกันจำนวนมากก็ปล่อยให้พวกเขาผ่านไป เพราะคิดว่า รัฐบาลในคาบูลคงไม่ส่งกำลังช่วยเหลือพวกเขา

พวก ฏอลิบานจะแทรกซึมเข้าสู่เขตเมืองก่อน เจรจา โน้มน้าวและข่มขู่บรรดาผู้บังคับบัญชาทหารให้ยอมแพ้ มิเช่นนั้นจะสูญเสียครอบครัว เมื่อบวกกับความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลอยู่แล้วและคำขาดของไบเดนที่จะถอนกำลังทั้งหมดภายในวันที่ 11 กันยายน พวกเขาจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อสู้จนตัวตายอย่างไร้ประโยชน์

3.อุบายปิดล้อมทางทหารและจูงใจประชาชน

ฏอลิบานโอบล้อมกรุงคาบูลและตัดเส้นทางเสบียงที่จำเป็นสำหรับกองทัพอัฟกัน พร้อมกันนั้น ก็สั่งสมกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คิดค้นยุทวิถีใหม่ๆ  พวกเขาใช้โซเชียลมีเดียแบบเดียวกับที่ใช้ปืนไรเฟิลซุ่มยิง โดยสร้างแรงกดดันต่อเหล่าหัวหน้าชนเผ่าท้องถิ่น  รวมทั้งใช้ข้อความเรียบง่าย แต่เห็นผลเพื่อข่มขู่ชาวอัฟกันที่ทำงานให้กับสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ ภายใต้แผน “สงครามจิตวิทยา”

พวกเขาหยิบยื่นทางเลือกในการตัดสินใจให้กับเหล่าผู้บังคับบัญชาท้องถิ่น และชักชวนประชาชนเข้าสู่พื้นที่ยึดครองและจัดสรรบริการสังคมบางส่วนให้กับผู้อยู่อาศัย พวกเขาใช้ทั้งการอ้อนวอน ให้ทางเลือก และข่มขู่ประชาชนให้สนับสนุน หรือไม่ก็ “อย่าต่อต้านพวกเขา”

4.การคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและกองทัพ

กองทัพอัฟกานิสถานเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นแทบทุกส่วน ถึงแม้มีการต่อสู้กันอย่างเต็มรูปแบบ พวกเขาก็จะแพ้อยู่ดี เพราะว่าพวกเขาไม่รู้เลยว่าสามารถสั่งการและควบคุมใครได้บ้าง ไม่รู้ว่ามีทหารที่ใช้งานได้ในมือกี่คน  ยุทโธปกรณ์เกือบทั้งหมดถูกแยกส่วน ถูกขโมย และลักลอบขาย ทหารจำนวนมากไม่ได้รับค่าจ้าง อาหาร และสวัสดิการอย่างเหมาะสมจากส่วนกลาง แม้กระทั่งน้ำดื่มก็ยังขาดแคลน

ยิ่งไปกว่านั้น หลายหน่วยเลือกขายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับ ฏอลิบาน มีกรณีการหนีทัพจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกรายงานหรือบันทึก ทำให้จำนวนทหารที่แท้จริงน้อยกว่าตัวเลขของทางการ

5.คนอเมริกันไม่เคยเข้าใจ ‘อัฟกานิสถาน’ เลย

“ไม่เคยมีรัฐบาลกลางในอัฟกานิสถานมาตั้งแต่แรกแล้ว ความคิดที่ว่าเราสามารถตั้งรัฐบาลได้นั้นเป็นความคิดที่โง่มาก …การตกตะลึงในความเร็วของการยึดอำนาจของ ฏอลิบานยิ่งแสดงให้เห็นว่า แทบไม่มีชาวอเมริกันคนไหน จากบนสุดถึงล่างสุด เข้าใจอัฟกานิสถานเลย” อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐฯ และทหารผ่านศึกอัฟกานิสถานคนหนึ่ง กล่าว

อัฟกานิสถานเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยชนเผ่า ภาษา ชาติพันธุ์ และศาสนา แต่วอชิงตันกับพันธมิตรนาโตกำลังพยายามเปลี่ยนมันให้เป็นประเทศประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์บนค่านิยมแบบตะวันตก โดยเข้าใจเองว่า ยึดคาบูลได้ ก็ยึดอัฟกานิสถานทั้งประเทศได้ ซึ่งผิดถนัด

“มีความเข้าใจผิดโดยรากฐานเกี่ยวกับสิ่งที่ชาวอัฟกันต้องการ” แซกชี ซึ่งเคยฝึกกองกำลังอิรักเมื่อปี 2004 กล่าว “เราคิดเอาเองว่า พวกเขาต้องการสิ่งที่พวกเรามี เสรีประชาธิปไตย ค่านิยมแบบยิว–คริสต์ และคิดว่า พวกเขาแค่ต้องการเวลาปรับตัว แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย”

ความเป็นพันธมิตรทางชนเผ่าในอัฟกานิสถานสำคัญมากกว่าความเป็นชาติ   และความภักดีมักขึ้นอยู่กับเงินและอำนาจ และความเข้มแข็งส่วนหนึ่งของ ฏอลิบาน คือพวกเขาเป็น ‘ปาทาน’ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในอัฟกานิสถาน

“ที่เราทำก็แค่ยกหางชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์แบบมั่วซั้วขึ้นมากลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีความสามารถที่จะรวมประเทศนี้เป็นหนึ่งได้เลย”

6. รัฐบาลที่อ่อนแอและไม่ปฏิบัติตามสัญญา

ความสิ้นหวังของประชาชนต่อคำสัญญาของรัฐบาลที่เคยยืนยันจะพัฒนาประเทศด้วยงบประมาณหมื่นๆล้านโดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน ความยากจนและช่วยเหลือปัจจัยพื้นฐานทางสาธารณูปโภค ที่แทบค้นหาแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ยังไม่ได้ งบประมาณอันมหาศาลก็ถูกจัดสรรและผลาญโดยองค์กรสากลที่รัฐบาลกลางแทบไม่มีส่วนใดๆเกี่ยวข้องเลย แต่ประชาชนตาดำๆ ก็ยังต้องดิ้นรนหาน้ำ อาหาร ไฟฟ้า ที่อยู่อาศัยและยารักษาเหมือนเดิม

7. การสนับสนุนจากภายนอก

โดยเฉพาะปากีสถานทั้งเป็นทางการและไม่ทางการ เพราะตามที่ทราบกันว่า  พรมแดนทางทิศตะวันออกและทางตอนใต้ที่ติดกันระหว่างอัฟกานิสถานและปากีสถานซึ่งยาว 2,430 กม. บวกกับประวัติศาสตร์อันยาวนานที่หลอมรวม 2 ประเทศนี้ให้เป็นหนึ่ง ที่ถึงแม้จะถูกแบ่งเส้นตามพรมแดนของลัทธิอาณานิคมยุคใหม่ แต่ในความรู้สึกของประชาชนก็ยังไม่สามารถแบ่งกั้นได้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางเผ่าพันธุ์ที่มีความเข้มข้นเหนือความเป็นรัฐชาติของประชาชนในบริเวณนี้ ถึงแม้รัฐบาลปากีสถานจะเอาใจรัฐบาลอัฟกานิสถานและสหรัฐอเมริกาด้วยการให้ความร่วมมือทางด้านความมั่นคงและข่าวกรอง แต่ก็เป็นไปได้แค่บนโต๊ะเจรจาหรือภาคปฏิบัติในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง เรื่องราวจะสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งกว่าซีรีย์แอร์ทูรูล

โดยผู้เขียนไม่แตะต้องปัจจัยที่ 8 ซึ่งคือปฐมปัจจัยของเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ก็ล้วนเป็นผลพวงของปัจจัยนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น นั่นคือแผนการแห่งการอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงกระชากอำนาจจากผู้ใดที่พระองค์ทรงต้องการ ทรงยกย่องให้เกียรติกับผู้ใดที่พระองค์ทรงประสงค์ ทรงย่ำยีและลดเกียรติให้กับผู้ใดที่พระองค์ทรงพอใจ ซึ่งล้วนมีวิทยปัญญา(หิกมะฮ์) อันมากมายสำหรับมนุษย์เรืองปัญญา

credit

มีการแปลสรุปเป็นภาษาไทยและเผยแพร่ทางไลน์ในประเด็น 5 ข้อแรก

https://www.cnbc.com/…/how-afghanistan-fell-to-the…


โดย Mazlan Muhammad