ตะกอนความคิด บทความ

เป้าหมายของนาศีฮัต

นะศีฮัต มาจากรากศัพท์ในภาษาอาหรับว่า نصح ซึ่งมีความหมายว่าความบริสุทธิ์ ความใสสะอาด ไร้สิ่งเจือปนใดๆ เหมือนคนที่กรองน้ำผึ้งให้ใสสะอาดอย่างหมดจดพร้อมทานได้ไร้กังวล

ดังนั้น นะศีฮัต จึงต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดคือความบริสุทธิ์ทั้งเป้าหมายและวิธีการ ใสสะอาดทั้งกาย ใจ วาจาและกริยาท่าทาง ผู้ที่ให้นะศีฮัตจะต้องรำลึกอยู่เสมอว่า เขาเพียงทำหน้าที่นำเสนอสิ่งดีๆเท่านั้น ส่วนผลจะเป็นประการใด ก็เป็นการตัดสินของอัลลอฮ์ ผู้ให้นะศีฮัตจึงไม่มีวันที่จะรู้สึกเครียดหรือว้าวุ่นใจ จะไม่คล้อยตามอารมณ์อันแปรปรวนของผู้ถูกนะศีฮัตและคนรอบข้าง เพราะเขารู้ดีว่า เขาไม่มีอำนาจใดๆที่จะไปบีบบังคับให้ผู้คนทำตามคำพูดของเขา นอกจากด้วยเตาฟิกจากพระองค์เท่านั้น ดังที่พระองค์กล่าวว่า

لَّسْتَ عَلَيْهِم بِمُصَيْطِرٍ (الغاشية/٢٢)

“เจ้าไม่ได้มีหน้าที่บังคับพวกเขา(ให้ทำตามและเชื่อศรัทธาตามคำสอนของเจ้า)”

نَّحْنُ أَعْلَمُ بِمَا يَقُولُونَ ۖ وَمَا أَنتَ عَلَيْهِم بِجَبَّارٍ ۖ فَذَكِّرْ بِالْقُرْآنِ مَن يَخَافُ وَعِيدِ (ق /٤٥)

“เรารู้ดียิ่งถึงสิ่งที่พวกเขากล่าว และเจ้ามิได้เป็นผู้มีอำนาจเหนือพวกเขา ดังนั้นเจ้าจงตักเตือนด้วยอัลกุรอ่านนี้แก่ผู้กลัวต่อสัญญาร้ายของข้า”

หากองค์ประกอบที่สำคัญนี้มีความบกพร่องหรือมีสิ่งอื่นเจือปน มันจะแปรเปลี่ยนจากนะศีฮัตเป็นการโต้เถียง ทะเลาะเบาะแว้ง ต้องการเอาชนะคะคานไม่จบสิ้น แถมด้วยการด่าทอ เสียดสี การดูถูก จาบจ้วง ตั้งฉายาที่มีเจตนาดูหมิ่นดูแคลน

ผู้ให้คำนะศีฮัต มักจะอ้างว่าทำเพื่ออัลลอฮ์และรอซูล แต่เขาพึงสังวรณ์ว่า อัลลอฮ์ ไม่ได้สั่งใช้ในสิ่งที่เป็นความยุติธรรมและเอี้ยะห์ซาน(ทำดี)เท่านั้น แต่พระองค์ยังห้ามปรามสิ่งลามกและมุนกัร(ความชั่วร้าย)อีกด้วย

ในขณะที่นบีมูฮัมมัด صلى الله عليه وسلم ได้กล่าวว่า

إنِّي لَمْ أُبْعَثْ لَعَّانًا، وإنَّما بُعِثْتُ رَحْمَةً (صحيح مسلم/٢٥٩٩)

“แท้จริงฉันไม่ได้ถูกส่งมาเพื่อสาปแช่งทว่าเพื่อประทานความปรานี”

إِنَّ اللَّعَّانِين لا يَكُونُونَ شُفَعَاءَ وَلا شُهَداءَ يَوْمَ القِيَامةِ ( صحيح مسلم/٢٥٩٨)

แท้จริงผู้ด่าทอไม่สามารถเป็นผู้ประกันตนให้ผู้อื่นและไม่สามารถเป็นสักขีพยานในวันกิยามะฮ์

سِبَابُ المُسْلِمِ فُسُوقٌ، وقِتَالُهُ كُفْرٌ ( صحيح البخاري/٤٨ ومسلم/٦٤)

การด่าทอมุสลิมด้วยกันถือเป็นการทำบาป (ฟาสิก)และการสังหารมุสลิมเป็นการกระทำของผู้ปฏิเสธ(กุฟุร์)

ผู้นาศีฮัตทุกท่าน ลองเอาวิธีการ แนวทาง คำพูดคำจา การโต้ตอบและการถกเถียงของเขา แล้วนำไปเทียบเคียงกับคำสอนของอัลลอฮ์ว่า นาศีฮัตของเขาเป็นที่พอใจของอัลลอฮ์มากน้อยแค่ไหน

หรือให้เขาลองจินตนาการดูว่า หากนบี صلى الله عليه وسلم ได้ยิน ได้อ่านเนื้อหาคำนาศีฮัตของเขา ถามว่านบีจะภูมิใจและดีใจหรือไม่

หากบรรดาเศาะฮาบะฮ์ ชาวสะลัฟศอลิห์และบรรดาอิมามมัซฮับต่างๆได้ยินการแลกเปลี่ยนและการสนทนาของผู้ให้นะศีฮัต พวกเขาจะยกนิ้วโป้งพร้อมกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่แหละใช่เลย บ้างหรือเปล่า

หรือแม้กระทั่งบรรดาผู้รู้ในปัจจุบัน มีใครบ้างที่เห็นดีเห็นงามกับวิธีการของผู้นะศีฮัต ถามว่าผู้นะศีฮัตเคยไปขอคำแนะนำวิธีนะศีฮัตจากผู้รู้จริงมากน้อยแค่ไหน และได้รับคำแนะนำอย่างไรบ้าง

หาไม่แล้ว ผู้ให้นะศีฮัตนั่นแหละ คือบุคคลที่จะต้องรับนะศีฮัตแทน

#หาใช่ใครอื่น

أُبَلِّغُكُمْ رِسَالَاتِ رَبِّي وَأَنَا لَكُمْ نَاصِحٌ أَمِينٌ ( الأعراف / 68)


โดย Mazlan Muhammad