บทความ บทความวิชาการ

เล่าเรื่อง “ปาเลสไตน์” ผ่านแผนที่ [ ตอนที่ 2 ]

หากดูตามเนื้อหาภาษาอังกฤษที่ปรากฏในแผนที่ข้างใต้บทความนี้ เพื่อน ๆ ก็คงเห็นเหมือนผมว่ามันมี 2 เรื่องสำคัญที่เราควรต้องทำความเข้าใจ เรื่องแรกคือคำว่า British Mandate หรือ “ดินแดนใต้อาณัติของอังกฤษ” ซึ่งในที่นี้ก็คือ ‘ปาเลสไตน์’ อีกเรื่องก็คือคำว่า “Jewish Immigration from Europe” หรือชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรป

ขออธิบายเรื่อง “ดินแดนใต้อาณัติของอังกฤษ” ก่อนครับ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำข้อตกลงและสัญญาเกี่ยวกับอาณาเขตดินแดนภายในอาณาจักรออตโตมันกับหลายฝ่าย ถึงแม้ว่าทุกข้อตกลงจะมีจุดร่วมคือการแบ่งแยกดินแดนภายในของอาณาจักรออตโตมันเดิม ทว่าแต่ละชาติต่างไม่ลงรอยกันในเรื่องรูปแบบการปกครองของพื้นที่ดังกล่าว

ดังจะเห็นได้จากกรณีการตัดสินเรื่องดินแดนปาเลสไตน์ว่าจะให้ฝ่ายใดครอบครอง สนธิสัญญาที่ลงนามโดย เซอร์เฮนรี่ แม็กมาฮอน (Sir. Henry McMahon) ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษที่ทำกับชารีฟ ฮุสเซน เจ้าผู้ครองดินแดนฮิยาซ ระบุว่า อังกฤษจะให้เอกราชแก่ชาวอาหรับในดินแดนหลายส่วนซึ่งรวมถึงปาเลสไตน์ หากชาวอาหรับช่วยอังกฤษทำสงครามรบกับเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1

ในขณะเดียวกันเมื่อปี ค.ศ.1917 ลอร์ด อาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ (Lord Arthur James Balfour) รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษในสมัยนั้น ก็เป็นผู้ลงนามใน “คำประกาศบัลโฟร์” มอบดินแดนปาเลสไตน์ให้เป็นที่พักพิงถาวรของชาวยิว

แต่ในข้อตกลงไซคส์ – พิโกต์ (Sykes – Picot Agreement) อังกฤษและฝรั่งเศสตกลงกันว่าจะให้ดินแดนปาเลสไตน์เป็น “ดินแดนสากล” (international zone)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ก่อนที่จะเกิดการจัดตั้งรัฐอิสราเอล เขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซ่าในปัจจุบัน ดินแดนปาเลสไตน์ได้เป็นประเด็นที่ชาติมหาอำนาจถกเถียงกันในเรื่องของกรรมสิทธิ์ครอบครองดินแดน โดยที่เสียงส่วนใหญ่ของชาวอาหรับไม่เคยได้รับรู้เรื่องราวความเป็นไปดังกล่าว

ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสต้องการรักษาอำนาจอิทธิพลทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วยการรักษาดินแดนอาณานิคมของตน สหรัฐอเมริกาที่เริ่มเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1917 กลับสนับสนุนให้ดินแดนอาณานิคมมีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (self-determination) ตามหลักการ 14 ข้อของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วูดโรล์ วิลสัน

แนวคิดที่ขัดแย้งกันของชาติมหาอำนาจได้คลี่คลายลงหลังการประชุมสันติภาพที่ปารีส (Paris Peace Conference) ในปี ค.ศ. 1919 ซึ่งรัฐบาลต่าง ๆ ตกลงกันบริหารอาณาบริเวณเหล่านี้ในนามของสันนิบาตชาติ เรียกว่า “ดินแดนใต้อาณัติ” (mandate) ซึ่งได้รับการรับรองจากมาตรา 22 (Article 22) ของกติกาสันนิบาตชาติ (The Covenant of the League of Nations) โดยมีคณะกรรมการจัดการดินแดนใต้อาณัติเป็นผู้ดูแล

ต่อมาได้มีการทำสนธิสัญญาแซฟร์ (Treaty of Sèvres) ขึ้น โดยกำหนดให้อังกฤษได้รับมอบดินแดนปาเลสไตน์และเมโสโปเตเมียให้ไปอยู่ใต้อาณัติ ส่วนฝรั่งเศสได้รับมอบดินแดนซีเรีย (ซึ่งรวมเลบานอนด้วย) มาอยู่ภายใต้อาณัติของตนตามมาตรา 22 ของกติกาสันนิบาตชาติและมติในที่ประชุมซาน รีโม (San Remo Conference) ของปี ค.ศ. 1920

อันที่จริงแล้ว ดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติก็คือข้อตกลงระหว่างประเทศในการบริหารดินแดนหนึ่งในฐานะตัวแทนของสันนิบาตชาติก่อนที่ดินแดนเหล่านั้นจะมีความพร้อมในการเป็นรัฐเอกราช ดังนั้นอังกฤษจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะยกดินแดนปาเลสไตน์ (ซึ่งอยู่ในอาณัติของอังกฤษขณะนั้น) ไปให้ใคร

หน้าที่อังกฤษตามมาตรา 22 ของสันนิบาตชาติคือการส่งมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้กับเจ้าของดินแดนเมื่อเขาพร้อมที่จะจัดตั้งรัฐชาติสมัยใหม่ ดังนั้น การที่อังกฤษยกดินแดนปาเลสไตน์ให้ชาวยิวผ่านคำประกาศบัลโพร์จึงเป็นเรื่องผิดกฏหมายมาตั้งแต่ต้น

เรื่องที่ 2 คือ “Jewish Immigration from Europe” หรือชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรป

อย่างที่ได้เรียนรับใช้ไปก่อนหน้านี้ ปาเลสไตน์ไม่ใช่ดินแดนที่ว่างเปล่า แต่เป็นดินแดนที่มีชาวอาหรับปาเลสไตน์อาศัยอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก พวกเขามีพื้นที่ทำเกษตรกรรม มีตลาดร้านค้า มีเมือง มีหมู่บ้าน มีถนนหนทาง มีการค้าขายและการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในส่วนอื่น ๆ ของโลก

ตามสถิติที่มีการศึกษาไว้ ในปี 1878 ชาวปาเลสไตน์มีจำนวนประชากรมากถึง 462,465 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 96.8 คือชาวอาหรับที่เป็นมุสลิมและคริสเตียน มีชาวยิวอาศัยอยู่เพียงร้อยละ 3.2 เท่านั้น

แต่ระหว่างปี ค.ศ. 1882-1914 ชาวยิวจากยุโรปจำนวน 65,000 คนเริ่มอพยพเข้ามา ชาวยิวเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และต่อมาอังกฤษได้ออกคำประกาศบัลฟอร์ซึ่งให้สัญญาจะจัดตั้งดินแดนของชาวยิวขึ้นในปาเลสไตน์

มาตรการดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับคำสัญญาก่อนหน้านั้นของอังกฤษที่ทำขึ้นในปี ค.ศ. 1915 ซึ่งอังกฤษสัญญาว่าจะมอบสิทธิในการปกครองตนเองให้ชาวอาหรับที่อยู่ในภูมิภาคนั้นทั้งหมดหากอาหรับให้ความร่วมมือกับอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1

ในปี 1922 ประชากรอาหรับมุสลิมและคริสเตียนมีจำนวน 757,182 หรือคิดเป็นร้อยละ 87.6 ของประชากรทั้งหมด ส่วนชาวยิวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11 ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ชาวปาเลสไตน์เริ่มเห็นว่าแผ่นดินของพวกเขาถูกฉกชิงไปโดยชาวยุโรป การปะทะกันครั้งแรกระหว่างชาวปาเลสไตน์และชาวยิวจึงเริ่มต้นขึ้นและยังเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา

ระหว่างปี ค.ศ. 1920-1931 ชาวยิวจำนวน 108,825 คนได้อพยพเข้ามาในดินแดนปาเลสไตน์ จนกระทั่งช่วงต้นของทศวรรษ 1930 จำนวนประชากรยิวในปาเลสไตน์ยังอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 17 (จำนวนประชากรทั้งหมดในปาเลสไตน์ในปี 1930 อยู่ที่ 1,035,154 คน คิดเป็นชาวอาหรับมุสลิมและคริสเตียนจำนวนร้อยละ 81.6 และชาวยิวจำนวนร้อยละ 16.9)

แต่การขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์ในเยอรมันได้ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

ในเวลาเพียง 5 ปี ระหว่างปี 1932-1936 ชาวยิวจำนวน 174,000 คนได้หลั่งไหลกันเข้ามาในปาเลสไตน์ ทำให้จำนวนชาวยิวเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ระหว่างปี ค.ศ. 1937-1945 ชาวยิวอพยพเข้ามาอีก 119,800 คน ในขณะที่ชาวโลกพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความน่าสะพรึงกลัวของการฆ่าล้างชาวยิวของนาซีเยอรมัน ความพยายามที่จะทำให้ปาเลสไตน์กลายเป็นดินแดนของชาวยิวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ในปี 1947 ก่อนที่รัฐอิสราเอลจะถูกสถาปนาขึ้น โครงสร้างประชากรในดินแดนปาเลสไตน์ได้เปลี่ยนไปมาก จากแต่ก่อนตอนปี 1918 ชาวยิวมีจำนวนเพียงแค่ร้อยละ 6 ของประชากรทั้งหมด แต่ถัดมาอีกเพียงแค่ 29 ปี หรือในปี 1947 ประชากรชาวยิวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33 (ดูแผนที่ข้างใต้)

นี่แหละครับผลจากการที่ดินแดนปาเลสไตน์ตกเป็นดินแดนใต้อาณัติของอังกฤษอยู่นานหลายปี

ติดตามตอนต่อไป


โดย Srawut Aree