นายฟัครุดดีน อัลทูน ผู้อำนวยการสำนักงานการสื่อสารสำนักประธานาธิบดีแห่งตุรกี ประณามการอ่านอัลกุรอานด้วยภาษาตุรกีในงานที่จัดโดยสำนักงานเทศมนตรีประจำกรุงอิสตันบูล เมื่อวันจันทร์ที่ 21/12/2020 โดยกล่าวว่า “ตุรกีไม่มีทางหวนกลับสู่อดีตอันมืดมนอีกแล้ว”
นายฟัครุดดีน กล่าวว่า การอ่านด้วยภาษาตุรกีสื่อความหมายที่ห่างไกลกับแกนภาษาอาหรับ ทุกคนไม่สามารถกระทำสิ่งนี้ด้วยข้ออ้างการเปิดใจกว้าง
สำนักงานเทศมนตรีประจำกรุงอิสตันบูล โดยนายอักร็อมอิมาม โอฆลู นายกเทศมนตรีนครอิสตันบูลในนามพรรคประชาชนสาธารณรัฐ ได้จุดกระแสความไม่พอใจให้แก่ชาวตุรกีทั่วประเทศด้วยเปิดพิธีอ่านอัลกุรอานในภาษาตุรกี ในงานคล้ายวันครบรอบ 747 ปีแห่งการเสียชีวิตของชัยค์ญะลาลุดดีน อัรรูมี ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “ เมาลานา” ในงานดังกล่าวยังมีการอาซานด้วยภาษาตุรกีและมีการปะปนระหว่างชายหญิงอย่างอิสระอีกด้วย
นายนูฮ์ อัลเบรัก นักเขียนตุรกีกล่าวว่าพรรคประชาชนสาธารณรัฐคือภาพแห่งความสะพรึงกลัวของอิสลามที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ผู้ที่เลือกสนับสนุนนายอักร็อม อิมามโอฆลูหลังจากที่เขาอ่านซูเราะฮ์ยาซีนที่มัสยิดอัยยูบ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งคราวก่อน พวกเขาต้องรับผิดชอบต่อการกระทำอันน่าละอายนี้
มุร็อด บาร์กาซี นักประวัติศาสตร์ตุรกีเขียนบทความตอนหนึ่งว่า เราเคยชินกับพิธีการที่เป็นการดูถูกเมาลานาในรูปแบบต่างๆมาเป็นระยะเวลานานแล้ว แต่ในรอบ 747 ปีที่ผ่านมา เราไม่เคยถูกหยามเหยียดถึงขนาดนี้ ทุกคนต้องให้เกียรติประเพณีอันดีงามที่บรรพบุรุษของเราได้ปฏิบัติเป็นธรรมเนียมอยู่แล้วแต่ไม่จำเป็นต้องดูหมิ่นศาสนาถึงระดับนี้
ชาวตุรกีมีความทรงจำที่ปวดร้าวกับอาซานด้วยภาษาตุรกี ซึ่งทำให้พวกเขารำลึกถึงยุคมืดของชาติตุรกีในปี 1932 อันเป็นปีแรกที่มีการห้ามอะซานด้วยภาษาอาหรับ และในปี 1941 ประธานาธิบดี อิศมัต อิโนโน ทายาทของนายเคมาล อะตาร์เตอร์กได้ออกกฏหมายสั่งห้ามประชาชนทั่วประเทศตุรกีอาซานด้วยภาษาอาหรับ ชาวตุรกีถูกบังคับอาซานด้วยภาษาตุรกีเป็นเวลานานถึง 18 ปีจนกระทั่งเมื่อปี 1950 นายกรัฐมนตรีนายอัดนาน แมนเดรีส ได้อนุญาตให้อาซานเป็นภาษาอาหรับอีกครั้งตราบจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนายแมนเดรีส ถูกทหารก่อปฏิวัติและลงโทษด้วยการแขวนคอในปี 1961 แมนเดรีสได้รับฉายาจากชาวตุรกีเป็นซะฮีดแห่งอาซาน
ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นเพราะบรรดาแกนนำพรรคประชาชนสาธารณรัฐได้รณรงค์ให้ชาวตุรกีอาซานและอ่านอัลกุรอานด้วยภาษาตุรกีมาแล้วในปี 2018 โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้ชาวตุรกีมีความเข้าใจเนื้อหามากขึ้น ทั้งนี้พวกเขาเห็นว่า การอ่านอัลกุรอานและอาซานด้วยภาษาอาหรับ ถือเป็นการดูถูกภาษาตุรกี ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ
อ้างอิงจาก
โดยทีมงานต่างประเทศ