(14 ธันวาคม) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนีคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันโครงการเยาวชนกล้าคิด สะกิดสังคม หรือ Generation Unlimited (Gen-U) ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยโครงการ Gen-U เป็นความร่วมมือระดับนานาชาติ นำโดยองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนจากทั่วโลกที่มีอายุระหว่าง 14-24 ปี ได้นำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวของพวกเขา
.
ล่าสุดที่การแข่งขัน Gen-U ในปี 2020 ทีมมูอัลลิม (Muallim) จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนีสามารถคว้าชัยเป็น 1 ใน 8 ทีมผู้ชนะเลิศระดับโลก ซึ่งคัดเลือกจาก 180 ทีมจาก 36 ประเทศ โดยพวกเขาได้นำเสนอไอเดีย ‘บอร์ดเกมบันไดงู’ ที่ออกแบบมาเพื่อให้ความรู้แก่เด็กๆ ชั้นประถมศึกษาเกี่ยวกับการรังแก หรือการบูลลี่ (Bully) รวมถึงผลเสียของการบูลลี่ พร้อมสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างสันติ ตลอดจนปลูกฝังทัศนคติให้เด็กๆ รู้จักเห็นอกเห็นใจและเคารพผู้อื่น
.
โครงการ Gen-U เปิดตัวครั้งแรกในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในปี 2018 มีวัตถุประสงค์ให้เยาวชนทั่วโลกได้เข้าถึงการศึกษา การพัฒนาทักษะ การจ้างงานที่เหมาะสมกับวัย และเรียนรู้ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ โดยปีนี้โครงการ Gen-U ได้เข้าถึงเด็กและเยาวชนกว่า 15 ล้านคนทั่วโลก การประกาศผลปีนี้จัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้บริหารสูงสุดจากองค์การ UNICEF, โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP), องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล (Plan International) และองค์การลูกเสือโลก (World Organization of the Scout Movement) ร่วมงานผ่านช่องทางออนไลน์
.
‘มูอัลลิม’ เป็นภาษาอาหรับ หมายถึง ‘ครู’ เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ในจังหวัดปัตตานี โดยมีสมาชิก 3 คน คือ นิสมา ฆอแด๊ะ, นาดีเราะห์ เวาะแห และ นูรไลลา ดอคา ที่ชนะประกวดระดับโลกครั้งนี้ พวกเขาจะได้รางวัลเป็นเงินทุนราว 470,000 บาท (15,000 ดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อนำไอเดียไปขยายผลให้เป็นรูปธรรมและสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนต่อไป
.
โดยบอร์ดเกมบันไดงูของพวกเขามีชื่อว่า ‘DAWN’ หรือ ‘รุ่งอรุณ’ เปรียบเหมือนเด็กๆ ที่บริสุทธิ์ พวกเขากล่าวว่า “บอร์ดเกมนี้ออกแบบจากเรื่องราวการบูลลี่ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง พวกเราเติบโตขึ้นในพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้งมาอย่างยาวนาน ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องสอนเด็กๆ ตั้งแต่อายุยังน้อยถึงเรื่องคุณค่าของสันติสุข ความสามัคคีกันในสังคม และการเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงบวก และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่”
.
บอร์ดเกม DAWN ได้ถูกนำไปทดลองเล่นกับเด็กๆ ในโรงเรียนผ่านสมาคมเครือข่ายโรงเรียนคุณภาพอัสสลาม (Assalam Smart School Association of Thailand) และ TK park หลังจากนี้ทีมมูอัลลิมมีแผนจะเชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในด้านบอร์ดเกม เพื่อนำเกมไปขยายผลในโรงเรียนอื่นๆ พร้อมต่อยอดให้ครอบคลุมเด็กในบริบทที่หลากหลายมากขึ้น เช่น อายุ ภาษา และสถานะที่แตกต่างกัน
“เราเชื่อว่าด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี บอร์ดเกมนี้จะสามารถพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชันได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กๆ สามารถเล่นได้ไม่ว่าจากที่ใดในโลก เราหวังว่าโครงการของเราจะมีส่วนช่วยสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้แก่คนในรุ่นต่อๆ ไป”
.
ปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่ทีมเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลกมาครอง โดยเมื่อปีที่แล้ว ทีม Fantastic Four ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านอุเบกขา จังหวัดนครปฐม สร้างชื่อเสียงด้วยการคว้ารางวัลชนะเลิศจากโครงการ Gen-U 2019 ที่จัดขึ้นเป็นปีแรก ปัจจุบันพวกเขาได้พัฒนาเว็บไซต์จัดหางาน https://www.choose.in.th/ เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่เคยกระทำผิดและป้องกันการกระทำผิดซ้ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ให้การสนับสนุนอื่นๆ
.
เซเวอรีน เลโอนาร์ดี รักษาการผู้แทนองค์การ UNICEF ประเทศไทย ได้แสดงความยินดีกับทีมมูอัลลิมและเยาวชนทั้ง 466 คนจากประเทศไทยที่ได้ร่วมนำเสนอไอเดียความคิดสร้างสรรค์ แม้ต้องเผชิญอุปสรรคจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ก็ตาม พร้อมย้ำถึงความสำคัญของการสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่
.
“UNICEF รู้สึกยินดีที่เยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับโลกได้ติดต่อกันเป็นปีที่สอง เด็กและเยาวชนล้วนมีไอเดียและความสามารถ และพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาสามารถสร้างนวัตกรรมทางสังคมให้เกิดขึ้นได้จริงเมื่อได้รับโอกาสและการสนับสนุน ยูนิเซฟขอแสดงความยินดีกับทีมมูอัลลิมและทุกทีมจากทั่วโลกและประเทศไทยในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ที่ใส่ใจกับปัญหาต่างๆ ในสังคมทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการหยุดเรียนกลางคัน เพศศึกษา ปัญหาสุขภาพจิต และปัญหาสิ่งแวดล้อม”
.
ทางด้าน เรโนลด์ เมเยอร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “UNDP ขอแสดงความยินดีกับน้องๆ ทีมมูอัลลิม จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยอิสลามเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้เป็นแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนสังคม และขอแสดงความยินกับทีมผู้ชนะจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก นอกจากทุกทีมจะได้แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้นในการพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นแล้ว เรายังได้เห็นถึงการปรับตัวผ่านการคิดหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนของโลก นวัตกรรมทางสังคมและทักษะการประกอบธุรกิจนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก UNDP จะเดินหน้าให้การสนับสนุนเด็กและเยาวชนพร้อมกับรอชื่นชมความสำเร็จของพวกเขาในการดำเนินโครงการเพื่อสังคม”
.
ขณะที่ สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Saturday School หรือ โรงเรียนวันเสาร์ กล่าวว่า “โครงการ Gen-U ไม่ใช่เพียงแค่เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบวิธีแก้ปัญหาในสังคม แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น โครงการ Gen-U ได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เข้ามาสร้างแรงบันดาลใจ สร้างการเปลี่ยนแปลง และสร้างคุณค่าให้กับสังคม เพื่อนำไปสู่การมีสังคมที่ดีขึ้นตามที่เราต้องการ ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ทาง Saturday School ได้เชื่อมั่นมาโดยตลอด”
.
โครงการ Gen-U เยาวชนกล้าคิด สะกิดสังคม ถือเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเยาวชน ปีนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเป็นพี่เลี้ยงและเป็นกรรมการคัดเลือกทีมจากประเทศไทยเพื่อเข้าแข่งขันในเวทีระดับโลกรอบสุดท้าย ซึ่งประกอบด้วย UNICEF, UNDP, Saturday School, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, Global Compact, สมาคมธุรกิจไทยรุ่นใหม่ภาคใต้ (YES) และตัวแทน UNICEF NextGen Group โดยทีมมูอัลลิมเป็นหนึ่งในเยาวชน 466 คนจากจังหวัดชายแดนใต้ที่ส่งไอเดียเข้าประกวดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
.
นอกจากทีมมูอัลลิมจากประเทศไทยแล้ว อีก 7 ทีมเยาวชนที่ชนะเลิศระดับโลก ประกอบด้วย มาซิโดเนียเหนือ – เทคโนโลยีการพิมพ์แขนกล 3 มิติ, เม็กซิโก – แพลตฟอร์มการศึกษาเพื่อแก้ไขช่องว่างระหว่างเพศ, ซีเรีย – ศูนย์สร้างเสริมพลังแก่เยาวชนผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย, เคนยา – โครงการเพื่อสังคมด้านพลังงานสะอาด, นิการากัว – โครงการรีไซเคิล, ไนจีเรีย – การจัดศูนย์ฝึกและพัฒนาเยาวชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา และอินเดีย – การจัดการเรียนทางไกลโดยประยุกต์ใช้คลื่นวิทยุ
ภาพ / อ้างอิง: UNICEF ประเทศไทย