สองคนศิษย์อาจารย์เดินทางผ่านไร่สวนแห่งหนึ่ง ระหว่างทาง ทั้งสองพบรองเท้าเก่าๆ คู่หนึ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นของคนสวนที่ลืมทิ้งไว้
ศิษย์จึงเสนออาจารย์ว่า หากเราแกล้งเจ้าของรองเท้า ด้วยการซ่อนรองเท้าคู่นั้น แล้วเราคอยดูว่า เจ้าของรองเท้าจะมีท่าทีอย่างไร ทำได้ไหมครับ
อาจารย์จึงตอบว่า เราไม่จำเป็นต้องสนุกสนานบนความโศกเศร้าของคนอื่นเลย เจ้ามาจากครอบครัวที่ร่ำรวย เจ้าควรเนรมิตความสุขให้แก่เขา ด้วยการวางเงินในรองเท้าคู่นั้น แล้วเราคอยแอบดูว่า เขาจะมีปฏิกิริยาอย่างไร
ศิษย์จึงทำตามข้อเสนอของอาจารย์ สักครู่ ก็มีชายแก่คนหนึ่งมาหารองเท้าของเขา
ชายแก่คนนั้น สวมใส่รองเท้า แต่เขาต้องประหลาดใจที่พบเงินจำนวนหนึ่งในรองเท้า เขาจึงมองรอบๆด้วยความแปลกใจ เขาร้องให้ด้วยความดีใจ เเละก้มสุญูดขอบคุณอัลลอฮ์ในความกรุณาครั้งนี้ พร้อมรำพันว่า ขอบคุณพระองค์ที่ทรงรับรู้ว่า ขณะนี้ ภรรยาข้ากำลังป่วยหนัก ลูกๆของข้ากำลังร้องให้ด้วยความหิวโหย พระองค์ได้ช่วยเหลือข้าและครอบครัวของข้าแล้ว
ณ ต้นไม้ใหญ่ที่ทั้งสองซ่อนตัว อาจารย์สอนศิษย์ว่า บัดนี้ หัวใจของเจ้าพองโตอย่างเบิกบาน ซึ่งมันจะไม่มีทางเกิดขึ้น หากเจ้าปฏิบัติตามข้อเสนอของเจ้าในครั้งแรก
ศิษย์ก้มศีรษะอย่างยอมรับว่า นี่คือบทเรียนที่ฉันไม่มีวันลืมเลือน และรู้ซึ้งถึงประโยคที่ฉันไม่เคยรู้เลยว่า “เมื่อท่านให้ ท่านจะเป็นผู้ที่เบิกบานดีใจยิ่งกว่าที่ท่านรับ”
อาจารย์จึงแทรกบทเรียนว่า
ศิษย์รัก พึงรู้ว่า การให้ มีหลายประเภท
⁃ อภัยในขณะที่มีความสามารถตอบโต้คือ “ให้”
⁃ ดุอาต่อพี่น้องลับหลัง คือ “ให้”
⁃ มองโลกในแง่ดีคือ “ให้”
⁃ ไม่ซ้ำเติมเพื่อนที่กำลังถูกนินทาคือ “ให้”
⁃ ซับน้ำตาและสร้างรอยยิ้มแก่ผู้ที่กำลังเดือดร้อนคือ “ให้”
⁃ ช่วยเหลือพี่น้องยามตกทุกข์ได้ยากคือ “ให้”
และ “ให้” ที่ง่ายที่สุด ที่แทบไม่ต้องลงทุนอะไรเลยคือ “ปันรอยยิ้มแก่พี่น้อง”
“ให้” คือการรับที่ไม่สิ้นสุด
“ให้” คือการเพิ่มพูนอันนิรันดร์
เล่าโดย Mazlan Muhammad