บทความ บุคคลสำคัญ

เอกอัครราชทูตตุรกีคนใหม่ประจำกาตาร์

Dr. Mahmet Mustafa Goksu

เอกอัครราชทูตตุรกีคนใหม่ล่าสุดประจำกาตาร์ ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มขณะอายุ 11 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮ์ ปี 1994  จบปริญญาโทและเอกจาก Sakarya University มหาวิทยาลัยทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกี เขาเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อศึกษาเพิ่มเติมด้านอิสลามศึกษาและธุรกิจ เคยโลดแล่นในแวดวงธุรกิจที่ประเทศเยอรมันและซาอุดิอาระเบีย เคยรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันการลงทุนในประเทศอ่าวอาหรับ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สถานทูตตุรกีประจำซาอุดิอาระเบีย

รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตตุรกีประจำกรุงโดฮา เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 และให้สัมภาษณ์แก่อัลจาซีร่าห์ เผยแพร่โดย aljazeera.net เมื่อวันที่ 25/11/2020 ซึ่งได้พูดถึงประเด็นสำคัญต่างๆที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้

            ⁃          การที่ท่านได้รับตำแหน่งนี้ในสถานการณ์เช่นนี้สื่อถึงอะไรบ้าง?

ผมมีประสบการณ์ในภูมิภาคนี้มาค่อนข้างนานพอสมควร ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาและทำงานในภาคธุรกิจ ตลอดจนเคยรับผิดชอบด้านการลงทุนในประเทศอ่าวอาหรับ น่าจะเป็นคุณสมบัติที่เพียงพอที่ทำให้ท่านประธานาธิบดีไว้วางใจผม ให้รับตำแหน่งนี้

            ⁃          หลายคนมองว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีอันแน่นแฟ้นระหว่างตุรกีกับกาตาร์เป็นความสัมพันธ์ชั่วคราว

ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันยาวนานตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เรามีจุดร่วมทางการเมืองและวิสัยทัศน์ที่เหมือนกัน เราอยู่บนแถวเดียวกันเรื่องการผดุงสัจธรรมแล้วยุติธรรมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชาติ และเราได้ถูกทดสอบมากมายบนเส้นทางนี้ แต่เราสามารถผ่านพ้นอย่างสำเร็จลุล่วงด้วยดีมาโดยตลอด

โดยเฉพาะช่วงเกิดรัฐประหารล้มเหลวที่ตุรกีปี 2016 ซึ่งประเทศกาตาร์ได้แสดงจุดยืนอยู่เคียงข้างกับรัฐบาลตุรกีตั้งแต่วินาทีแรก และช่วงที่กาตาร์เผชิญวิกฤตรุนแรงที่ถูกปิดล้อมโดยชาติเพื่อนบ้านตุรกีเป็นประเทศแรกที่ปฏิเสธการปิดล้อมครั้งนี้ พร้อมยื่นมือคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

            ⁃          ตุรกีและกาตาร์มีการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง?

ปี 2014 ทั้งสองประเทศร่วมก่อตั้งสถาบันยุทธศาสตร์สูงสุดแห่งกาตาร์และตุรกีซึ่งได้มีการประชุมไปแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นในวันที่ 26/11/2020 ที่อังการ่า และมีการประชุมย่อยอีก 28 ครั้ง ได้บรรลุข้อตกลงในด้านต่างๆ กว่า 50 ฉบับ  ในปี 2010 ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนทางการค้าจาก 340 ล้านดอลล่าร์ เป็น 2 พันล้านดอลล่าร์ ในปี 2019

            ⁃          บรรยากาศทางธุรกิจในกาตาร์สอดคล้องกับการลงทุนในตุรกีหรือไม่?

ปัจจุบันมีบริษัทกาตาร์ที่เข้าไปลงทุนในตุรกีจำนวนกว่า 179 บริษัทและมียอดลงทุนมากกว่า 22 พันล้านดอลล่าร์ ในขณะเดียวกันมีบริษัทตุรกีที่ลงทุนที่กาตาร์มากกว่า 500 บริษัท มียอดการลงทุนตั้งแต่ปี 2002 จำนวนกว่า 18 พันล้านดอลล่าร์ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงบรรยากาศทางธุรกิจ ของทั้งสองประเทศที่ลงตัวที่สุด

            ⁃          ตุรกีไม่เห็นด้วยกับประเทศอาหรับที่ฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างปกติกับอิสราเอล ในขณะเดียวกันตุรกีมีสถานทูตประจำเทลอาวีฟ

รัฐบาลแอร์โดอานบริหารประเทศหลังจากที่ตุรกีเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับอิสราเอลนานกว่า 8 ทศวรรษแล้ว แต่ยุคนี้เราขอยืนยันว่า เราไม่เคยลดบทบาทและหน้าที่ของเราที่มีต่อพี่น้องปาเลสไตน์ ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี-อิสราเอลไม่ได้หมายความว่า เราเพิกเฉยกับอธรรมที่เกิดขึ้นที่แผ่นดินปาเลสไตน์ ชาวปาเลสไตน์เป็นพยานในเรื่องนี้ดี ชาวตุรกีเคยสังเวยเลือดและชีวิตบนเรือมาร์มาร่า เพื่อช่วยเหลือพี่น้องปาเลสไตน์มาแล้ว เราต้อนรับกลุ่มฟาตะฮ์และฮามาส เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันที่อิสตันบูล จุดยืนของตุรกีสอดคล้องกับประเทศสมาชิกสันนิบาตอาหรับที่ไม่เห็นด้วยกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างปกติกับอิสราเอล เพราะเราเขื่อมั่นว่า สิทธิของชาวปาเลสไตน์จะต้องได้รับการปกป้องอย่างสมบูรณ์ และไม่มีใครมีสิทธิ์ผ่อนปรนในเรื่องนี้

            ⁃          ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับซาอุดิอาระเบียเป็นอย่างไรบ้าง?

รัฐบาลตุรกีมีเอกอัครราชทูตประจำที่กรุงริยาด ท่านเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์และเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะตอบในประเด็นนี้ แต่ผมขออนุญาตพูดในฐานะประชาชนและสมาชิกหนึ่งในสังคมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผมใช้ชีวิตในซาอุดิอาระเบียทั้งในฐานะนักศึกษาและผู้ทำงาน ผมได้ซึมซับธาตุแท้ของชาวซาอุดิอาระเบีย ที่ทำให้ผมมั่นใจว่า ทั้งสองประเทศจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติปัญหาต่างๆที่ประสบร่วมกัน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนานความร่วมมือระหว่างสองประเทศจึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาของประชาชาติและเป็นสิ่งที่ประชาชาติมุสลิมทั่วโลกรอคอยด้วยความหวังดีเสมอมา

            ⁃          ตุรกีปัจจุบันแตกต่างกับตุรกีเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างไรบ้าง?

เทียบกันไม่ได้เลยครับ เมื่อ 20 ปีที่แล้วรัฐบาลจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพียง 8.7 พันล้านดอลล่าร์ แต่ปัจจุบันเป็น 131 พันล้านดอลล่าร์ ปัจจุบันตุรกีสร้างเมืองศูนย์กลางทางการแพทย์ 15 เเห่ง สร้างศูนย์เยาวชนจาก 9 แห่งเป็น 336 แห่งทั่วประเทศ สร้างศูนย์กีฬาจาก 1,575 แห่งเป็น 4,000 แห่ง ในปี 2013 ตุรกีสามารถจ่ายหนี้ IMF มูลค่า 22.5 พันล้านดอลล่าร์  เพิ่มมูลค่า GDP จาก 236 พันล้านดอลล่าร์เป็น 754 พันล้านดอลล่าร์ ในขณะที่รายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มจาก 3,500 ดอลล่าร์ต่อปี เป็น 9,000 ดอลล่าร์ต่อปี ปัจจุบันตุรกีกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพผลิตอาวุธ รถยนต์และผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศมากมาย จากประเทศที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาภายในมากมาย แต่ปัจจุบันตุรกีก้าวขึ้นมีบทบาทในเวทีโลกอย่างเต็มภาคภูมิ

บทสัมภาษณ์ยังได้แตะประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจในระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอียิปต์ ตุรกีกับปัญหาซีเรียและอิรัก ตุรกีกับสหภาพยุโรป ตุรกีกับสหรัฐอเมริกา และตุรกีกับรัสเซีย ซึ่งบอกได้เลยว่า ชายคนนี้ไม่ธรรมดาและขอย้ำทิ้งท้ายว่าขอให้จำชื่อคนนี้ให้ดี

ไม่แน่ ในอนาคตอันใกล้ ตุรกีอาจมีประธานาธิบดีที่เคยศึกษาที่เมืองรอซูลุลลอฮ์ที่ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มก็ได้

إن شاء الله


โดย Mazlan Muhammad

อ้างจาก

https://www.aljazeera.net/news/2020/11/25/%d8%ad%d8%a7%d9%81%d8%b8-%d9%84%d9%84%d9%82%d8%b1%d8%a2%d9%86-%d9%88%d8%aa%d8%ad%d8%af%d8%ab-%d8%b9%d9%86-%d8%a7%d9%84%d8%b3%d8%b9%d9%88%d8%af%d8%a8%d8%a9-%d9%88%d9%85%d8%b5%d8%b1