อัลลอฮฺตรัสว่า
وَحُشِرَ لِسُلَیۡمَـٰنَ جُنُودُهُۥ مِنَ ٱلۡجِنِّ وَٱلۡإِنسِ وَٱلطَّیۡرِ فَهُمۡ یُوزَعُونَ ، حَتَّىٰۤ إِذَاۤ أَتَوۡا۟ عَلَىٰ وَادِ ٱلنَّمۡلِ قَالَتۡ نَمۡلَةࣱ یَـٰۤأَیُّهَا ٱلنَّمۡلُ ٱدۡخُلُوا۟ مَسَـٰكِنَكُمۡ لَا یَحۡطِمَنَّكُمۡ سُلَیۡمَـٰنُ وَجُنُودُهُۥ وَهُمۡ لَا یَشۡعُرُونَ ، فَتَبَسَّمَ ضَاحِكࣰا مِّن قَوۡلِهَا وَقَالَ رَبِّ أَوۡزِعۡنِیۤ أَنۡ أَشۡكُرَ نِعۡمَتَكَ ٱلَّتِیۤ أَنۡعَمۡتَ عَلَیَّ وَعَلَىٰ وَ ٰلِدَیَّ وَأَنۡ أَعۡمَلَ صَـٰلِحࣰا تَرۡضَىٰهُ وَأَدۡخِلۡنِی بِرَحۡمَتِكَ فِی عِبَادِكَ ٱلصَّـٰلِحِینَ
ความว่า
“และไพร่พลของเขา(นบีสุลัยมาน)ที่เป็นญิน มนุษย์และนก ได้ถูกให้มาชุมนุมต่อหน้าสุลัยมาน และพวกเขาถูกจัดให้เป็นระเบียบ จนกระทั่งเมื่อพวกเขาได้มาถึงทุ่งที่มีมดมาก (ณ เมืองชาม) มดตัวหนึ่งได้พูดว่า “โอ้พวกมดเอ๋ย! พวกเจ้าจงเข้าไปในรังของพวกเจ้าเถิด เผื่อว่าสุลัยมานและไพร่พลของเขาจะได้ไม่บดขยี้พวกเจ้า โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว เขา (สุลัยมาน) ยิ้มแกมหัวเราะต่อคำพูดของมันและกล่าวว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ขอพระองค์ทรงโปรดประทานแก่ข้าพระองค์ เพื่อให้ข้าพระองค์ขอบคุณต่อความโปรดปรานของพระองค์ท่าน ซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงโปรดปรานแก่ข้าพระองค์ และบิดามารดาของข้าพระองค์ และให้ข้าพระองค์กระทำความดีเพื่อให้พระองค์ทรงพอพระทัยมัน และทรงให้ข้าพระองค์เข้าอยู่ในความเมตตาของพระองค์ ในหมู่ปวงบ่าวของพระองค์ที่ดีทั้งหลาย”(อันนัมลุ 27,17-19)
อายัตข้างต้นได้อธิบายบทหนึ่งในซูเราะฮฺอันนัมลุ (มด) ที่ได้ระบุว่า ไพร่พลของนบีสุลัยมานซึ่งประกอบด้วยมนุษย์ ญินและสิงสาราสัตว์รวมทั้งนกชนิดต่างๆ ได้ถูกเกณฑ์เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญ เหล่าทหารจึงเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบและเดินทางตามคำสั่งของนบีสุลัยมาน จนกระทั่งพวกเขาได้เดินทางถึงบริเวณทุ่งที่มีมดมากมายอาศัยอยู่ หัวหน้ามดจึงรู้อันตรายที่จะเกิดขึ้น เลยออกคำสั่งให้ประชากรมดหลบเข้าไปในรัง เพื่อความปลอดภัยและไม่ถูกนบีสุลัยมานและไพร่พลของเขาบดขยี้โดยที่พวกเขาไม่รู้สึกตัว ซึ่งหัวหน้ามดทราบดีว่า กองทัพนี้มีมารยาทอันสูงส่ง และไม่เคยสร้างความเดือดร้อนใดๆ แม้ต่อมดตัวเดียวก็ไม่เคยทำร้าย แต่กลัวว่า พวกเขาไม่รู้ตัวว่าอยู่ในบริเวณทุ่งมด เลยอาจเหยียบมดโดยไม่ตั้งใจก็ได้ นบีสุลัยมานได้ฟังคำสนทนาของหัวหน้ามดนี้ก็อมยิ้มอย่างมีความสุข พร้อมขอดุอาต่ออัลลอฮฺให้พระองค์ชี้นำเขาสู่เส้นทางอันเที่ยงตรง อย่าให้อำนาจอันล้นฟ้าที่อัลลอฮฺประทานให้เป็นสาเหตุให้เขาเหิมเกริม เย่อหยิ่งลำพองตนไปเลย
การตั้งชื่อซูเราะฮฺอันนัมลุ ซึ่งมีความหมายว่ามดนี้ ทำให้เราทราบว่า อัลกุรอานให้ความสำคัญต่อสัตว์ตัวเล็กๆนี้ได้เป็นอย่างดี และเป็นการส่งสัญญาณแก่ศรัทธาชนให้ศึกษาสัตว์ประเภทนี้ เพื่อนำเป็นอุทาหรณ์เตือนใจสำหรับการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จต่อไป
มดเป็นหนึ่งในสัญญาณของอัลลอฮฺที่เป็นปรากฏการณ์ (آيات الله الكونية) ในขณะที่อัลกุรอานคือสัญญาณของอัลลอฮฺที่เป็นลายลักษณ์ (آيات الله المقروءة) ดังนั้นทั้ง 2 สัญญาณนี้ไม่มีทางขัดแย้งกัน เพราะล้วนมาจากแหล่งอันเดียวกันคืออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
เราลองมาดูความมหัศจรรย์ของ 2 สัญญาณนี้ว่ามีความสอดคล้องกันอย่างไรบ้าง
1. อัลกุรอานได้ฟันธงว่า หัวหน้ามดที่ออกคำสั่งให้ประชากรมดหลบเข้ารังนั้นเป็นเพศเมีย (قالت نملة) ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาปัจจุบันพบว่า มดนางพญาเป็นมดที่มีอิทธิพลที่สุดเป็นเสมือนราชินีที่มีหน้าที่คอยบงการประชากรมดทั้งหมดตามที่ได้เขียนในบทความก่อนหน้านี้
2. มดมีภาษาเฉพาะที่ใช้สื่อสารระหว่างกัน (قالت نملة) หมายถึง “หัวหน้ามดกล่าวว่า” ซึ่งสอดคล้องกับการค้นพบในปัจจุบันว่า สัตว์แต่ละประเภทมีภาษาเฉพาะของมัน โดยเฉพาะมดที่มีระบบสื่อสารอันยอดเยี่ยมตามที่ได้กล่าวมาแล้ว
3. ประชากรมดมีบ้านประจำของมัน (مساكنكم)หมายถึง “บ้านอันมากมายของเจ้า” ซึ่งการศึกษาปัจจุบันพบว่า ประชากรมดจะอาศัยเป็นอาณาจักรใหญ่ บางชนิดมีรังต่างๆที่เชื่อมโยงติดต่อกันถึง45,000 รังทีเดียว
4. อาณาจักรมดมีอาณาบริเวณที่กว้างมาก บางชนิดคลุมเนื้อที่กว่า 2.7 ตร.กม. ซึ่งศัพท์
อัลกุรอานใช้คำว่า(وادي النمل) อันหมายถึงทุ่งหรือลานกว้างภายในอาณาจักรนี้มีห้องหับมากมายแยกเป็นสัดส่วน อาทิ ประตูเข้าชั้นนอก ประตูเข้าชั้นใน โรงเก็บอาหาร ห้องกินอาหาร ศูนย์ยามรักษาความปลอดภัย ห้องประทับราชินี ห้องวางไข่ ห้องปฐมพยาบาลลูกอ่อน ห้องฝังศพมด ห้องพักผ่อน และอื่นๆอีกมากมาย
5. อัลกุรอานยังบอกถึงความเฉลียวฉลาดของมดที่สามารถพยากรณ์เหตุการณ์ร้ายต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแม่นยำโดยในอายัตนี้นางพญามดได้แจ้งให้ประชากรมดทราบถึงภยันตรายของกองทัพนบีสุลัยมานที่อาจเหยียบพวกมันโดยไม่รู้ตัว แสดงว่ามดสามารถคาดเดาเส้นทางของกองทัพนบีสุลัยมานว่า จะผ่านเส้นทางที่เป็นที่สร้างของอาณาจักรของมันได้อย่างถูกต้อง มดจึงเป็นหนึ่งในจำนวนสัตว์ที่สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ธรรมชาติได้อย่างแม่นยำ และพวกมันสามารถหามาตรการในการรับมือกับเหตุร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
6.คำว่า لا يحطمنكم سليمان وجنوده หมายถึง เผื่อว่าสุลัยมานและไพร่พลของเขาจะได้ไม่บดขยี้พวกเจ้า
คำว่า “ไม่บดขยี้” ฟังอย่างผิวเผินแล้วเหมือนกับมดแตกเป็นเสี่ยงๆ คล้ายกับการแตกของวัสดุประเภทคริสตัลหรือกระจก ทั้งๆที่มดก็เป็นสัตว์ธรรมดา ซึ่งตามความเข้าใจเบื้องต้นอาจพูดได้ว่า อัลกุรอานน่าจะใช้คำที่มีความหมายว่า “ไม่ถูกเหยียบ” มากกว่า “ไม่บดขยี้” แต่ผลจากการวิจัยพบว่า องค์ประกอบส่วนใหญ่ของมดเป็นส่วนผสมของสารเคมีที่มีลักษณะคล้ายคริสตัลหรือกระจก ดังนั้นคำที่เหมาะสมในที่นี้คือ “ไม่บดขยี้” มากกว่า
นี่คือ 6 ประการสำคัญที่อัลลอฮฺพูดถึงเกี่ยวกับมดในอายัตเดียว คืออายัตที่ 18 ของซูเราะฮฺอันนัมลุ ซึ่งอาจดูเหมือนเป็นการกล่าวที่น้อยไปหากเปรียบเทียบกับชื่อซูเราะฮฺ แต่ในเมื่ออายัตนี้เป็นของผู้ทรงรอบรู้และปรีชาญาณ นั่นหมายถึงทุกถ้อยคำที่บรรจงเลือกให้เป็นส่วนประกอบของอายัตนี้จึงเต็มสะพรั่งไปด้วยความหมายอันลึกซึ้งที่ยิ่งค้นไปเท่าไหร่ก็ยิ่งพบเจอองค์ความรู้อันมากมายมหาศาล
สำหรับผู้ศรัทธาและผู้ถวิลหาสัจธรรม อายัตเดียวก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับใช้เป็นอุทาหรณ์เตือนใจ
ก่อนจากกัน ขอตั้งคำถามที่ไม่จำเป็นต้องตอบดังนี้ครับ
– พี่น้องเคยอ่านชีวประวัติของนบีมูฮัมมัดว่า นบีเคยศึกษาเรื่องมดจากใครที่ไหนมาบ้าง หากตอบว่านบีไม่เคยศึกษาเรื่องนี้มาก่อน แล้วท่านสามารถอธิบายความลี้ลับเหล่านี้ได้อย่างไร
– ชาร์ล ดาร์วิน เคยพูดถึงมดบ้างไหม คาร์ล มาร์กซ์ เลนิน หรือ เพลโต โซเครติส หรือแม้กระทั่ง เหมา เจ๋อ ตุง เคยเขียนตำราว่าด้วยมดบ้างหรือเปล่า หากมีตำรา เนื้อหาเป็นอย่างไรบ้าง หากไม่มี แล้วบังอาจมาจัดระเบียบให้กับมนุษย์และสร้างทฤษฎีสังคมอันจอมปลอมให้มนุษย์ปฏิบัติได้อย่างไรทั้งๆที่ตนเองไม่มีความรู้แม้กระทั่งเรื่องมด
– สุดท้าย อ่านเรื่องมดแล้ว พี่น้องได้บทเรียนอะไรบ้างและมีแนวทางพัฒนาตนเองโดยใช้หลักปรัชญามดได้อย่างไร วัสสลาม
والله أعلم وهو الموفق والهادي إلى سواء السبيل
เขียนโดย Mazlan Muhammad
แหล่งอ้างอิง
http://midad.com/article/197775/الإعجاز-العلمي-للقرآن-في-النمل
https://www.masrawy.com/islameyat/others-e3gaz/details/2014/10/7/361535/معجزة-النمل-في-القرآن-الكريم