บทความ บทความวิชาการ

ประชาธิปไตยหลุดพ้นจากอิสลามหรือไม่ ? [ตอนที่ 4]

โดย ชีคดร. ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์

อดีตประธานสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ [ International Union for Muslim Scholars-IUMS  ] และประธานสภาฟัตวาและการวิจัยแห่งยุโรป [ European Council for Fatwa]

จุดเด่นของระบอบประชาธิปไตย

จุดเด่นของระบอบประชาธิปไตยคือ เป็นการค้นพบสูตรและวิธีการที่ถือเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดในการปกป้องประชาชนจากการกดขี่ของเหล่าจักรพรรดิและกษัตริย์ทรราช หลังการต่อสู้อันยาวนานเพื่อให้ได้มาสิ่งนี้

ไม่มีข้อห้ามสำหรับมนุษยชาติ นักคิดและผู้นำในการคิดหาสูตรและวิธีการอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่สิ่งที่สมบูรณ์และเป็นอุดมคติมากกว่านี้ แต่จนกว่าสิ่งนี้จะเป็นไปได้และประสบความสำเร็จในความเป็นจริง เราคิดว่าจำเป็นต้องอ้างอิงจากวิธีการของประชาธิปไตยในการบรรลุสู่ความยุติธรรม การปรึกษาหารือการเคารพสิทธิมนุษยชน ในการเผชิญกับการกดขี่ข่มเหงของทรราชในโลกนี้

ในบรรดากฎชะรีอะห์ดังกล่าวได้แก่

– สิ่งที่สิ่งวายิบ(ข้อบังคับ)ไม่อาจบรรลุผลได้โดยไม่มีสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็ถือสิ่งวายิบ(ข้อบังคับ)

– วัตถุประสงค์ใดๆ ทางกฎหมายที่ไม่อาจสัมฤทธิ์ผลได้นอกจากด้วยเหตุปัจจัยใดๆ ปัจจัยดังกล่าวก็จะมีสถานะเดียวกับเป้าหมาย 

ศาสนาอิสลามไม่ห้ามอ้างอิงความคิดเชิงทฤษฎีหรือวิธีการแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริงจากผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม  เพราะศาสดา – ขอพระเจ้าอวยพรและมอบสันติสุขให้ท่าน – รับแนวคิด“ ขุดร่องลึก” ในช่วงสงครามอะห์ซาบ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งของเปอร์เซีย

และท่านใช้ประโยชน์จากนักเชลยศึกในสงครามบัดร์ เพื่อสอนหนังสือให้แก่เด็กๆที่ไม่รู้วิธีอ่านและเขียน

เพราะสติปัญญาเป็นสิ่งของที่ผู้ศรัทธาที่ทำหล่นหายไป หากเขาพบมันที่ใด เขาก็มีสิทธิได้รับเป็นเจ้าของมากกว่าผู้อื่น

ข้าพเจ้าได้ระบุไว้ในหนังสือบางเล่มว่า เป็นสิทธิ์ของเราที่จะอ้างแนวคิดและวิธีการที่เป็นประโยชน์ต่อเราจากผู้อื่น ตราบใดที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการที่ชัดเจน หรือกฎชะรีอะฮฺที่ตายตัว

เราต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรานำมาอ้างอิง และเติมเต็มจิตวิญญาณที่จะทำให้สิ่งที่นำมานั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา และทำให้สิ่งนั้นเสียอัตลักษณ์แรกไป

การเลือกตั้งถือเป็นการทำหน้าที่เป็นพยานลักษณะหนึ่ง

ระบบการเลือกตั้งหรือระบบการลงคะแนน ในมุมมองของศาสนาอิสลาม ก็คือ “การทำหน้าที่เป็นพยาน” ของความถูกต้องเหมาะสมของผู้สมัคร

คุณสมบัติของ “เจ้าของคะแนนเสียง” จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของพยาน คือจะต้องมีความยุติธรรมและประพฤติดี ดังที่อัลลอฮ์ผู้ทรงอำนาจกล่าวว่า

وأشهدوا ذوي عدل منكم

“และจงให้พวกท่านผู้ที่มีความยุติธรรม จำนวน 2 คน เป็นพยาน” (อัลกุรอาน : อัตตอล้าก-การหย่าร้าง: 2)

ممن ترضون من الشهداء

 “จากบรรดาผู้ที่พวกท่านยอมรับในหมู่พยาน”  (Al-Baqarah: 282)

ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็นพยานโดยทุจริต ก็ถือว่าได้กระทำการเป็นพยานเท็จ ซึ่งอัลกุรอานได้เชื่อมโยงกับการตั้งภาคีต่อพระเจ้า โดยกล่าวว่า

فاجتنبوا الرجس من الأوثان واجتنبوا قول الزور

 “ดังนั้นจงหลีกเลี่ยงสิ่งที่น่ารังเกียจจากบรรดารูปเคารพและหลีกเลี่ยงคำพูดเท็จ (อัลฮัจญ์: 30)

 ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็นพยานให้ผู้สมัครเพียงเพราะเขาเป็นญาติหรือคนในท้องถิ่นของตน หรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวที่แสวงหาจากผู้สมัคร แสดงว่าเขาได้ฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงอำนาจ ที่บัญชาว่า

وأقيموا الشهادة لله

“และจงเป็นพยานเพื่ออัลลอฮ์” (อัลกุรอาน : อัตตอล้าก-: 2)

และผู้ใดที่ล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้งของตน จนเป็นเหตุทำให้คนดีมีความสามารถสอบตก และผู้ไม่สมควรหรือเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงตามบทบัญญัติอิสลามที่ว่าต้องเป็น”คนเก่งและดี” กลายเป็นผู้พ่ายแพ้ ถือว่าเขามีความผิดฐานปกปิดการให้การเป็นพยาน ในเรื่องที่มีความจำเป็นต่อสังคมมากที่สุด

และผู้ทรงอำนาจตรัสว่า:

ولايأب الشهداء إذا ما دعوا

 “และพยานจะไม่ปฏิเสธหากพวกเขาถูกร้องขอ” (Al-Baqarah: 282)

ولا تكتموا الشهادة ومن يكتمها فإنه آثم قلبه

 “และอย่าปิดบังพยานหลักฐาน และผู้ใดปกปิดมัน ถือว่าเขาเป็นคนใจบาป” (Al-Baqarah: 283)

คุณสมบัติและเงื่อนไขอื่นๆ ของผู้สมัครก็เช่นเดียวกัน ถือเป็นคุณสมบัติที่ควรให้ความสำคัญยิ่งกว่า 

เมื่อรวมถึงเงื่อนไขและแนวทางเหล่านี้ในระบบการเลือกตั้งแล้ว เราจึงถือว่า การเลือกตั้งเป็นระบบอิสลาม แม้ว่าจะมีการนำมาจากผู้อื่นก็ตาม

ระหว่างอำนาจอธิปไตยของประชาชน และอำนาจอธิปไตยของอัลลอฮ์

สิ่งที่เราต้องการมุ่งเน้น ณ ที่นี่คือสิ่งที่เราได้กล่าวไว้ในตอนต้นซึ่งก็คือ : แก่นแท้ของประชาธิปไตยสอดคล้องกับแก่นแท้ของศาสนาอิสลามอย่างแน่นอน  หากเราอ้างอิงแหล่งที่มาดั้งเดิมของอิสลาม และนำมาจากแหล่งที่มาอันบริสุทธิ์ ได้แก่ อัลกุรอานและซุนนะห์ และผลงานของบรรดาคอลีฟะฮ์ผู้อาวุโสไม่ใช่จากประวัติศาสตร์ของผู้นำมุสลิม  ความอยุติธรรมกษัตริย์ทรราช หรือจากฟัตวาของนักปราชญ์ของสุลต่าน หรือกัลยาณชนผู้ไม่ศึกษาในศาสตร์อย่างลึกซึ้งถ่องแท้

คำพูดที่กล่าวว่า : ประชาธิปไตยหมายถึงการปกครองประชาชนโดยประชาชน  เป็นการขัดแย้งกับหลักการที่ว่า “อำนาจเป็นของอัลลอฮ์”  ถือว่าเป็นคำพูดที่ไม่มีเหตุผลรองรับ เพราะไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยว่า จะต้องปฏิเสธอำนาจของพระเจ้าเหนือมวลมนุษย์ เนื่องจากผู้ที่สนับสนุนประชาธิปไตยส่วนใหญ่ไม่ได้คิดถึงสิ่งนี้ แต่สิ่งที่พวกเขาหมายถึงอย่างกระตือรือร้นคือ การปฏิเสธการปกครองแบบเผด็จการ  การปฏิเสธการปกครองของผู้นำทรราชที่อ้างประชาชนมากกว่า

ระบอบประชาธิปไตยที่คนเหล่านี้หมายถึง เป็นเรื่องที่ประชาชนเลือกผู้ปกครองตามที่พวกเขาต้องการ โดยให้มีการตรวจสอบการกระทำของผู้ปกครองเหล่านั้น  รวมถึงปฏิเสธคำสั่งของผู้นำหากพวกเขาละเมิดรัฐธรรมนูญของประเทศ  ที่ในวลีของอิสลามเรียกว่า  “การปฏิเสธคำสั่งหากผู้นำสั่งให้ทำบาป” และมีสิทธิ์ถอดถอนพวกเขา ออกหากพวกเขาเบี่ยงเบนและไม่ยุติธรรม  และไม่ตอบรับคำแนะนำหรือคำเตือน

หลักการของ “อัลหุกม์ ลิลลาฮ์-อำนาจอธิปไตยเป็นของอัลลอฮ์” หมายความว่าอะไร ?

ข้าพเจ้าอยากจะย้ำเตือนก่อน ณ ตรงนี้ว่า หลักการ “อัลหุกม์ ลิลลาฮ์-อำนาจอธิปไตยเป็นของอัลลอฮ์” เป็นหลักการของศาสนาอิสลามที่แท้จริง  ที่นักวิชาการด้านอุศูลุลฟิกฮ์ – ศาสตร์ว่าด้วยการวินิจฉัยบทบัญญัติอิสลาม – ทั้งหมดต่างยอมรับหลักการนี้ ในการอภิปรายเกี่ยวกับ “บทบัญญัติกฎหมายอิสลาม-หุกุ่มชัรอีย์” และในกรณีอภิปรายเกี่ยวกับ “ผู้ปกครอง” พวกเขาเห็นพ้องกันว่า“ ผู้ปกครอง” คือพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพ  และศาสดาเป็นผู้สื่อสารของพระเจ้า  โดยที่อัลลอฮ์ผู้ทรงฤทธานุภาพเป็นผู้สั่งใช้ และผู้สั่งห้าม อนุญาตและไม่อนุญาต ตลอดจนบัญญัติกฎเกณฑ์ต่างๆ

และคำกล่าวของกลุ่มคอวาริจญ์-กลุ่มกบฏในยุคคอลีฟะฮ์แรกๆ- ที่ว่า  “ลาหุกม์ อิลลา ลิลลาฮ์-ไม่มีอำนาจปกครองใด ยกเว้นเป็นสิทธิสำหรับพระเจ้าเท่านั้น ” เป็นคำกล่าวที่ถูกต้องในตัวของมันเอง แต่สิ่งที่ไม่ถูกต้องคือการใช้ผิดที่ผิดทาง  โดยที่พวกเขาใช้เพื่อปฏิเสธคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการที่เป็นมนุษย์ในข้อพิพาท ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติของอัลกุรอานที่ยอมรับการอนุญาโตตุลาการในหลายๆที่ 

หนึ่งในสิ่งที่ทราบกันดีที่สุดคือ กรณีอนุญาโตตุลาการระหว่างคู่สมรสหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างพวกเขา

นั่นคือเหตุผลที่ท่านคอลีฟะฮ์อาลีผู้ซื่อสัตย์ – ขอให้พระเจ้าพอใจกับเขา – ตอบโต้ต่อชาวคาริจโดยกล่าวว่า “คำพูดแห่งความจริง แต่ใช้เพื่อสนองความเท็จ” ท่านอาลีตำหนิที่พวกเขาใช้หลักการนี้ไปคัดค้านหลักการอื่นของอัลลอฮ์ ( หมายถึง กรณีอนุญาโตตุลาการที่ท่านอาลีทำกับท่านมุอาวียะฮ์ เพื่อยุติข้อพิพาท แตคอวาริจญ์ไม่ยอมรับ – ผู้แปล )

จะไม่ใช่คำพูดแห่งความจริงได้อย่างไร เพราะหลักการนี้นำมาจากคัมภีร์อัลกุรอานที่ชัดเจน  อัลลอฮ์กล่าวว่า

إن الحكم إلا لله

“ไม่มีการพิพากษา/ปกครอง นอกจากมีไว้เพื่ออัลลอฮ์เท่านั้น” (ยูซุฟ : 40)

 ดังนั้น การปกครองของพระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์เหนือมนุษย์นั้นเป็นความจริงแท้แน่นอน และแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1 – อำนาจปกครองจักรวาล ซึ่งหมายความว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้จัดการบริหารจักรวาล ผู้บริหารกิจการของพระองค์ ซึ่งเป็นไปตามลิขิตของพระองค์  ตามกฎเกณฑ์ที่ไม่มีผันแปร ไม่ว่าเป็นสิ่งที่รู้และไม่รู้  ดังเช่นในคำพูดนั้นพระผู้ทรงฤทธานุภาพว่า

أو لم يروا أنا نأتي الأرض ننقصها من أطرافها والله يحكم لا معقب لحكمه وهو سريع الحساب

“หรือพวกเขาไม่เห็นว่าเรามาถึงโลกที่เราลดหลั่นมันลงมาจากชายขอบ และอัลลอฮ์ทรงปกครอง และไม่มีการปกครองหลังจากการปกครองของพระองค์ และพระองค์เป็นผู้ตัดสินอย่างรวดเร็ว” ( อัรเราะด์ : 41)

สิ่งที่ปรากฎมาในความเข้าใจทันทีคือ การปกครองในที่นี้หมายถึง การปกครองในเชิงบริหารจัดการจักรวาล ไม่ใช่การปกครองในเชิงนิติบัญญัติในเรื่องกฎหมาย

2- การกำกับดูแลด้านกฎหมายเชิงบทบัญญัติ  ซึ่งเป็นอำนาจปกครองด้วยงานคำสั่งใช้และข้อห้าม ข้อผูกมัดและการใช้สิทธิเลือก  และเป็นสิ่งที่ปรากฏในคำสั่งที่พระเจ้าส่งผู้ส่งสารมา และพระองค์ทรงส่งคัมภีร์มา เพื่อใช้การกำหนดภาระหน้าที่ ข้ออนุญาตและข้อต้องห้าม .. สิ่งนี้ไม่ได้ถูกปฏิเสธโดยมุสลิมที่ยอมรับอัลลอฮ์ในฐานะองค์พระผู้เป็นเจ้า และอิสลามเป็นศาสนา และมูฮัมหมัด – ขอพระเจ้าอวยพรเขาและประทานสันติสุขแก่เขา – เป็นศาสดาและศาสนทูต

[*** ซึ่งหมายถึง การวินิจฉัยบทบัญญัติศาสนาต่อกรณีต่างๆ ก็ถือเป็นกระทำของมนุษย์ แต่ทุกฝ่ายล้วนยอมรับ ไม่มีใครปฏิเสธว่าทำไม่ได้ แต่พอจะใช้หลักการเรื่องอนุญาโตตุลาการ กลุ่มคอวาริจญ์กลับอ้างว่า เป็นการตัดสิน/พิพากษาของมนุษย์ ขัดแย้งกับอัลกุรอานที่ยอมรับหลักอนุญาโตตุลาการ – ผู้แปล   ]

มุสลิมที่เรียกร้องประชาธิปไตย เป็นเพียงการเรียกร้องโดยถือว่ารูปแบบหนึ่งของการปกครองโดยใช้หลักการทางการเมืองของศาสนาอิสลามในการเลือกผู้ปกครอง การนำหลักการชูรอ-การปรึกษาหารือและคำแนะนำ การกำชับในสิ่งที่ดีและห้ามมิให้ทำสิ่งที่ผิด  ต่อต้านความอยุติธรรมและปฏิเสธการละเมิดฝ่าฝืนบทบัญญัติศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการ “ไม่เชื่ออย่างชัดเจน” ตามหลักการที่พิสูจน์ได้

สิ่งที่ยืนยันสิ่งนี้คือ : รัฐธรรมนูญระบุ – ในขณะที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย – ว่า ศาสนาของรัฐคือศาสนาอิสลาม และกฎหมายอิสลามเป็นที่มาของกฎหมาย และนี่คือการยืนยันอำนาจอธิปไตยของพระเจ้า  นั่นคือหลักนิติธรรมของพระองค์และวจนของอัลลอฮ์มีสถานะสูงสุด เป็นไปได้ที่จะเพิ่มมาตราที่ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่า กฎหมายหรือระบบทุกระบบ ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดของชะรีอะฮ์ถือว่าเป็นโมฆะ  ดังนั้นจึงไม่จำเป็นสำหรับการเรียกร้องประชาธิปไตยว่า จะต้องเป็นการปกครองของประชาชนแทนที่การปกครองของพระเจ้า เนื่องจากไม่มีความขัดแย้งระหว่างกัน

และหากสิ่งนั้นจำเป็นในข้อกำหนดของระบอบประชาธิปไตยคำกล่าวที่ถูกต้องของผู้ตรวจสอบในหมู่นักวิชาการของศาสนาอิสลาม: หลักคำสอนนั้นจำเป็นไม่ใช่หลักคำสอนและไม่อนุญาตให้ผู้คนปฏิเสธศรัทธาหรือปฏิเสธศรัทธาโดยปฏิบัติตามข้อกำหนดของหลักคำสอนของพวกเขาพวกเขาอาจไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้และพวกเขาอาจไม่ได้คิดถึงพวกเขาเลย

ถึงกระนั้น แม้ว่าบางครั้ง ระบอบประชาธิปไตยจะมีเจตนาให้มนุษย์มีอำนาจปกครองเหนือศาสนา แต่ทัศนะที่ถูกต้องของนักวิชาการอิสลามเห็นว่า  องค์ประกอบทุกอย่างของแนวคิดสำนักหนึ่ง ไม่จำเป็นจะต้องครบถ้วนสมบูรณ์เสมอไป  ดังนั้น จึงไม่อนุญาตให้ตีตราว่า ผู้ที่ถือแนวคิดของสำนักใดๆ หลุดพ้นจากศาสนาอิสลามเพียงแค่ยึดถือแนวคิดของสำนักนั้น เพราะบางครั้งผู้ที่ยึดถือแนวคิดนั้น อาจไม่ยึดถือตามทั้งหมด บางครั้งอาจไม่คาดคิดด้วยซ้ำไป


แปลสรุปโดย Ghazali Benmad