ข่าว ข่าวโลกอิสลาม

ตุรกี เส้นแบ่งระหว่าง 2 ยุค (ตอนที่ 1)

คะมาล อะตาร์เตอร์กหรือบิดาแห่งตุรกี หุ่นเชิดยิวและประเทศมหาอำนาจยุคนั้น ได้ปฏิวัติล้มล้างระบอบคิลาฟะฮฺอิสลามได้สำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 1923 พร้อมกับขจัดอิสลามชนิดถอนรากถอนโคนและเปลี่ยนโฉมตุรกีจากการยึดมั่นในอารยธรรมอิสลามสู่การเลื่อมใสอารยธรรมโลกยุคใหม่ภายใต้ปรัชญาโลกาวิสัย(แซคิวล่าร์)อย่างเต็มรูปแบบ สลัดประเทศจากการภักดีต่อพระผู้อภิบาลสู่การภักดีพญาหมีขาว ผลักไสประชาชนให้ออกจากมัสยิดสู่สถานเริงรมย์ ผับบาร์และเหล้าเบียร์ ห้ามประกาศเสียงอะซาน เปลี่ยนอะซานเป็นภาษาตุรกี ห้ามสอนอัลกุรอานและหะดีษ ปิดโรงเรียนศาสนา ยกเลิกการใช้กฎหมายอิสลาม ห้ามใส่หมวกตุรกีและผ้าสัรบ่าน ห้ามสตรีใส่หิญาบ รณรงค์การแต่งกายแบบสากลนิยม เริ่มใช้ปฏิทินคริสต์ศักราชแทนฮิจเราะฮฺศักราช ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เลียนแบบรัฐธรรมนูญสวิสเซอแลนด์ และในปีค.ศ. 1928 ตุรกีได้ออกกฎหมายห้ามเขียนหนังสือด้วยอักษรอาหรับ ทั้งนี้เพื่อตัดเยื่อใยความผูกพันระหว่างตุรกีกับโลกอิสลาม

หลังจากนั้นอะตาร์เตอร์กและวงศ์วานได้นำตุรกีถลำลึกเข้าไปในวังวนแห่งวิกฤติชาติทั้งสังคมและเศรษฐกิจ ตุรกีต้องพึ่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาโดยตลอด จนติดหนี้สินล้นพ้น ช่วงที่นายกรมต.ออร์โดกานขึ้นบริหารประเทศใหม่ๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตุรกีติดหนี้ IMF จำนวน 23,000 ล้านดอลล่าร์ หลังจากนั้นแกนนำรัฐบาลภายใต้พรรคยุติธรรมและพัฒนาของนายออร์โดกานนี้ค่อยๆพัฒนะซ่อมแซมประเทศ จนทำให้ปัจจุบัน ตุรกีกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจรุ่งเรืองที่สุดเป็นลำดับที่ 8 ของโลก เมื่อเดือนที่ผ่านมา(พค. 2013) รัฐบาลเพิ่งประกาศปลดหนี้ IMF และอาจได้รับการคัดเลือกเป็นประเทศสมาชิกของคณะกรรมการบริหารกองทุน IMF อีกด้วย ซึ่งหากเป็นความจริง ตุรกีจะเปลี่ยนสถานะจากประเทศลูกหนี้ในอดีตมาเป็นประเทศบริหารหนี้แทน

นอกจากนี้ ออร์โดกานยังสามารถเพิ่มกองทุนสำรองในธนาคารแห่งชาติจาก 27,000 ล้านดอลล่าร์เมื่อปีค.ศ. 2002 เป็น 130,000 ล้านดอลล่าร์ในปัจจุบัน เพิ่มรายได้เฉลี่ยประชากรจาก 3,000 ดอลล่าร์ : คน : ปี เป็น 11,000 ดอลล่าร์ : คน : ปี ภาคธุรกิจมีอัตราการขยายตัวจาก 250,000 ล้านดอลล่าร์ เป็น 900,000 ดอลล่าร์ในช่วงเวลาเดียวกัน

ส่วนวิกฤติสังคม ตุรกีไม่ต่างไปจากประเทศยุโรปทั่วไปที่จมปลักในคูคลองอบายมุขจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว ร้านขายเหล้า ผับบาร์มีอยู่เกลื่อนเมือง และตั้งอยู่เพียงไม่กี่เมตรจากมัสยิดหรือสถานศึกษา หนุ่มสาวสามารถพลอดรักอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะโดยไม่มีกฎหมายหวงห้าม ประมาณกันว่าสตรีมุสลิมทั่วประเทศที่มีใบอนุญาตประกอบอาชีพเป็นโสเภณีมีจำนวน 300,000 คน นายออร์โดกานเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ช่วงการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งครั้งแรก เราได้มีแบบสอบถามความคิดเห็นประชาชนที่ละหมาดวันศุกร์ตามมัสยิดต่างๆทั่วประเทศว่า ท่านต้องการให้รัฐบาลปกครองด้วยกฎหมายอิสลามหรือไม่ ปรากฏว่า 95% ตอบว่าไม่ต้องการ เราสอบถามเฉพาะผู้ละหมาดวันศุกร์เท่านั้น ไม่ใช่ผู้คนที่อยู่ตามผับบาร์หรือโรงแรม นี่คือผลพวงของการโฆษณาชวนเชื่อของระบอบแซคิวล่าร์ที่ได้หยั่งลึกเข้าไปในแนวคิดของประชาชน”

ระบอบแซคิวล่าร์อะตาร์เตอร์ก ยังได้มอมเมาสติปัญญามุสลิมะฮฺว่า การแต่งกายโป๊เปลือยคือความอิสรภาพและแสดงถึงการมีศักดิ์ศรี ในขณะที่การสวมใส่หิญาบคืออาชญากรรมและเป็นสิ่งผิดกฎหมาย นักเรียนและนักศึกษามีความผิดถึงขั้นโดนไล่ออกจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยหากยังใส่หิญาบ แม้กระทั่งสส.หญิงที่ใส่หิญาบเข้าไปในรัฐสภาก็ยังถูกตัดสินคดีกระทำผิดกฎหมายมาแล้ว

ภายในเวา 10 ปี ที่พรรคยุติธรรมและพัฒนาบริหารประเทศ รัฐบาลสามารถเชิญชวนมุสลิมะฮฺตุรกีกว่า 65% ใส่หิญาบ สามารถชำระประเทศจากอารยธรรมไร้ศีลธรรมให้กลับอยู่ในสภาพปกติ โดยเฉพาะปัญหาโสเภณีที่รัฐบาลพยายามทดแทนด้วยการสร้างอาชีพใหม่ที่สุจริตให้แก่กลุ่มนี้

ตุรกีใหม่จึงเป็นตุรกีที่เปลี่ยนสถานะจากมือล่างเป็นมือบนอย่างเต็มภาคภูมิ ตุรกีไม่ใช่จำกัดการพัฒนาภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ที่ประสบภัยพิบัติ ทั้งซึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประเทศที่ประสบภัยอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศที่เจริญแล้วทีเดียว

หลังการปฏิวัติประชาชนอิยิปต์ ตุรกีให้ความช่วยเหลือรัฐบาลอิยิปต์จำนวน 2,000 ล้านดอลล่าร์ และในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังสมทบให้อีก 250 ล้านดอลล่าร์ ทำให้ตุรกีได้ให้ความเหลือแก่อิยิปต์ไปแล้ว 2,250 ล้านดอลล่าร์ ปัจจุบันตุรกีได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในนามองค์กรต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เกือบ 200 ประเทศทั่วโลก

การให้ความสำคัญกับการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นหนึ่งในผลงานอันโดดเด่นของตุรกียุคปัจจุบัน

ศ.ดุรมุส ฆูนาย หนึ่งในคณะกรรมการการอุดมศึกษาตุรกีเปิดเผยว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตุรกีสามารถเปิดมหาวิทยาลัยใหม่จำนวน 100 แห่ง ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียง 70 แห่งเท่านั้น ในจำนวนมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเปิดใหม่นี้เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐจำนวน 50 แห่ง และเป็นมหาวิทยาลัยวากัฟที่อยู่ในกำกับของรัฐบาลอีก 50 แห่ง

ศ. ฆูนาย ยังเปิดเผยอีกว่า ในปี 1981 มี นศ.ที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาโดยเฉลี่ย 6.2 % มีนศ.จำนวน 237,269 คน มีอาจารย์จำนวน 21,000 คน และมหาวิทยาลัยเพียง 19 แห่งเท่านั้น ปัจจุบันเรามีมหาวิทยาลัย 170 แห่งทั่วประเทศ มีนศ.ที่ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา 4.5 ล้านคน มีอาจารย์ 119,000 คน อัตราการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มเป็น 71.11 % ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าอัตราการศึกษาในประเทศอังกฤษด้วยซ้ำ นอกจากนี้มีนศ.ที่ศึกษาในมหาวิทยาลัยเปิดจำนวน 2 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากรองจากประเทศจีนเท่านั้น

โครงการสาธารณกุศลและกิจการวากัฟ ถือเป็นจุดเด่นของตุรกียุคอุษมานียะฮฺที่ได้รับการสานต่อโดยรัฐบาลยุคนี้อย่างลงตัวที่สุด ช่วง 6-7 ปีหลังนี้ ในประเทศไทยโดยเฉพาะในสังคม 3 จังหวัดภาคใต้ เรามักได้ยินโครงการสาธารณกุศลต่างๆ มากมายเช่น ก่อสร้างสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า โรงเรียน มัสยิด โครงการละศีลอด เชือกุรบ่านที่ดำเนินการโดยองค์กรเอกชนจากตุรกี ทั้งที่ก่อนหน้านี้โครงการในลักษณะนี้ เป็นการผูกขาดโดยองค์กรสาธารณกุศลที่มาจากประเทศในตะวันออกกลางเท่านั้น

นี่คือความสำเร็จอันน่าทึ่งชนิดชั่วข้ามคืนของรัฐบาลพรรคยุติธรรมและพัฒนาภายใต้การนำของผู้นำตุรกียุคใหม่อย่างนายออร์โดกาน ซึ่งไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจของชาวตุรกีอย่างเดียวเท่านั้น แต่มุสลิมทั่วโลกก็ยังแอบปลื้มและหวังลึกๆ ว่านี่คือสัญญาณเชิงบวกของการหวนกลับของตุรกีที่พร้อมถือธงนำประชาชาติโลกอีกครั้ง

แต่แล้ว ภารกิจการเดินหน้าพัฒนาประเทศของรัฐบาลชุดนี้ เกิดสะดุดลงด้วยการประท้วงของปชช.ที่ถือเป็นความท้าทายอำนาจของรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดหลังจากบริหารประเทศมานาน 10 ปี และถือได้ว่าเป็นการประท้วงที่แปลกประหลาดที่สุดในประวัติศาสตร์การประท้วงอีกด้วย

เรื่องราวจะเป็นเช่นไร

เชิญติดตามภาค 2 ครับ >> https://www.theustaz.com/?p=477