● บทความโดย ดร.มุฮัมมัด ซอฆีร
กรรมการสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ International Union of Muslim Scholars
● อ่านบทความต้นฉบับ
http://iumsonline.org/ar/ContentDetails.aspx?ID=12505
ยุคอาณานิคมที่ผ่านมา อังกฤษและฝรั่งเศสจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ ของประเทศมหาอำนาจที่ยึดครองประเทศอื่น ๆ และสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ด้วยความมั่งคั่งและการกดขี่ประชาชน
แต่การยึดครองของฝรั่งเศสแตกต่างจากอังกฤษ ที่ไกลกว่าระดับการปล้นชิงความมั่งคั่งและความพยายามในการควบคุมความเข้มแข็งไปสู่ความพยายามเพื่อเปลี่ยนอัตลักษณ์และรื้อโครงสร้างทางสังคม และบังคับใช้วัฒนธรรมฝรั่งเศสในทุกมิติ โดยเฉพาะภาษา ฝรั่งเศสเปิดตัวสงครามที่ดุเดือดกับภาษาอื่น ๆ บังคับใช้ภาษาฝรั่งเศสในการติดต่อสื่อสารและการศึกษา บุกขยี้สังคมเพื่อเปลี่ยนขนบธรรมเนียมประเพณีและวิธีคิด
ในขณะที่อังกฤษ มักเพียงพอกับการมีกองกำลังทหารอยู่รอบๆ เพื่อให้มั่นใจว่า สามารถควบคุมทางการเมืองและเศรษฐกิจได้เท่านั้น
ประวัติศาสตร์ยังบันทึกอาชญากรรมและการสังหารโหดในประวัติศาสตร์ในอาณานิคมของฝรั่งเศส ที่ประเทศอื่นไม่สามารถทัดเทียมได้ ไม่ว่า ณ ที่ใดก็ตาม โดยที่ฝรั่งเศสเองเป็นผู้บันทึกการก่ออาชญากรรมเหล่านี้ผ่านพิพิธภัณฑ์ “มานุษยวิทยา” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในกรุงปารีส ซึ่งมีการจัดแสดงกะโหลกศีรษะและกระดูกของผู้นำการปฏิวัติและกลุ่มต่อต้านที่ฝรั่งเศสได้ทรมาน สังหารและทำร้ายศพพวกเขา และนำศพของพวกเขามาจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพื่ออวดอำนาจและข่มขู่ฝ่ายต่อต้าน
และเมื่อไม่นานมานี้ แอลจีเรียได้นำกะโหลกศีรษะของผู้พลีชีพบางส่วนคืนไป เป็นกะโหลกผู้เสียชีวิตจากการปฏิวัติแอลจีเรียที่ต่อต้านการยึดครองของฝรั่งเศสที่นานกว่า 130 ปี ฝรั่งเศสก่ออาชญากรรมในแอลจีเรีย เทียบเท่ากับอาชญากรรมในทุกประเทศที่ฝรั่งเศสยึดครอง
เพียงแค่ในวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 ฝรั่งเศสได้สังหารผู้พลีชีพไป 45,000 คนจากเมืองเซติฟและบริเวณรายรอบ
จำนวนชาวแอลจีเรียทั้งหมดที่ฝรั่งเศสสังหารมีถึง 7 ล้านคน รวมถึงผู้พลีชีพมากกว่าหนึ่งล้านคนในช่วงการปฏิวัติปลดปล่อย 7 ปี
เมื่อฝรั่งเศสจะจากไป ก็ทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ในทะเลทรายแอลจีเรีย ทิ้งผลกระทบและความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่ยังคงต้องทนทุกข์ทรมานจนถึงปัจจุบัน
อคติและการเหยียดเชื้อชาติที่ถูกฝังลึก
จากนั้นประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ก็ได้แถลงเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางอารยธรรมของสาธารณรัฐฝรั่งเศสและความกลัวอิสลามที่มีต่ออนาคตและองค์ประกอบหลักของฝรั่งเศส รวมทั้งการแสดงออกถึงความเกลียดชังที่ซ่อนเร้น และเปิดเผยการเหยียดเชื้อชาติอย่างลึกซึ้งด้วยการโจมตีอิสลามในฐานะศาสนา โดยอธิบายว่าอิสลามอยู่ในช่วงวิกฤต
[ ทั้งนี้ ในการแถลงดังกล่าว มาครงนอกจากจะโจมตีกลุ่มหัวรุนแรงแล้ว ยังได้โจมตีหลักการอิสลามในเรื่องการแบ่งแยกชายหญิง ตลอดจนการคลุมหิญาบ การแยกกิจกรรมเฉพาะศาสนาอิสลาม การแยกสระว่ายน้ำชายหญิง และการละหมาดในสถาบันของรัฐ ไม่เพียงเฉพาะในฝรั่งเศส แต่ยังลามไปถึงมุสลิมทั่วโลก- ผู้แปล ]
https://m.youtube.com/watch?feature=emb_rel_end&v=VrkF50Ye86U
นี่คือพัฒนาการที่อันตรายและเป็นการดูหมิ่นศาสนาโดยตรง ไม่ใช่มุสลิมบางคนที่เชื่อในศาสนานี้หรือเป็นศาสนิกของศาสนา และเป็นการใช้สำนวนที่แสดงถึงการเหยียดศาสนาที่ขัดแย้งกับลัทธิฆราวาสของฝรั่งเศสที่พูดถึงการแยกศาสนาออกจากรัฐ ซึ่งในความเป็นจริง กลับเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับปรัชญาการเมืองฝรั่งเศส
เช่นตัวอย่างกรณีผ้าคลุมศีรษะ จะเห็นว่าฝรั่งเศสใช้ความสามารถทั้งหมดในการต่อต้านการคลุมศีรษะและถือว่าผ้าคลุมเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนาที่บ่งบอกถึงศาสนาอิสลาม ไม่ใช่ความปรารถนาที่จะสงวนเนื้อสงวนตัวปกปิดไม่ให้ประเจิดประเจ้อ และถือว่าเป็นหลักคำสอนทางศาสนา ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล
เราได้เห็นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สมาชิกรัฐสภาฝรั่งเศสลุกขึ้นและออกจากห้องประชุม เนื่องจากการมีสตรีมุสลิมจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งคลุมศีรษะเข้าร่วมประชุม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยืนยันว่า ความอคติต่ออิสลาม ยังสถิตอยู่ในความคิดและในจิตวิญญาณของพวกเขา และวิกฤตที่แท้จริงอยู่ที่ความรู้สึกเหยียดหยามเผ่าพันธุ์ในตัวของพวกเขา และความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่มาพร้อมกับมาครงตั้งแต่เริ่มต้นการบริหารประเทศของเขา และความพยายามของมาครงที่จะเอาใจชาวฝรั่งเศสสุดโต่งด้วยการนำเสนอประเด็นที่น่ารังเกียจนี้ ตลอดจนความพยายามที่จะยึดโยงกับความสำเร็จปลอมๆ แม้จะอยู่นอกดินแดนฝรั่งเศสก็ตาม ดังที่เราเห็นในเหตุระเบิดท่าเรือเบรุต ซึ่งมาครงยืนกรานที่จะเป็นผู้นำในสถานการณ์ในเลบานอน ที่ทั้งจูบและกอดสตรี เพื่อให้ลืมปัญหากลุ่มเสื้อเหลืองและความล้มเหลวซ้ำซากในฝรั่งเศส
อิสลามและเเอร์โดฆาน
นอกจากนั้น มาครงยังสับสนระหว่างศาสนาอิสลามและแอร์โดฆาน เป็นที่รู้จักกันดีว่า ประธานาธิบดีตุรกีสร้างความปวดหัวอย่างต่อเนื่องให้กับมาครง เพราะทุกการเผชิญหน้าที่ต่อสู้กับแอร์โดฆาน มาครงไม่ประสบความสำเร็จ และถอยกลับมาอย่างน่าสมเพช ตั้งแต่ในลิเบีย ปัญหาเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและข้อพิพาทกับกรีซ และล่าสุดก็ในอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน
ดังนั้น คำตอบของประธานาธิบดีตุรกีจึงรุนแรงและเหมาะสมกับการโจมตีของมาครงต่อศาสนาอิสลาม แอร์โดฆานอธิบายว่า คำพูดของมาครงหยาบคายและไร้มารยาท
นอกจากคำตอบโต้ของเเอร์โดฆาน เราไม่ได้ยินเสียงของผู้นำอาหรับคนใดอีก มีแต่กระบอกเสียงของพวกเขาพากันกล่าวว่า เเอร์โดฆานเล่นกับอารมณ์ของมวลชน ราวกับว่าผู้นำของพวกเขาไม่มีอารมณ์ความรู้สึก
ส่วนในระดับมวลชนนั้น ปฏิกิริยาแสดงมาอย่างกรี้ยวโกรธสะเทือนในโลกไซเบอร์และสื่อออนไลน์ ในการประณามคำพูดของมาครง และการเหยียดเชื้อชาติของเขา และคนหนุ่มสาวได้อธิบายวิกฤตที่แท้จริงของมาครงด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ
รวมถึงนักวิชาการ หน่วยงานและสถาบันทางวิชาการต่างพากันติดตามเหตุการณ์ดังกล่าว พวกเขาได้นำเหตุผลมาหักล้างข้อสงสัยเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชัยค์อัซฮัร และสภาอุลามาอ์อาวุโสของอัลอัซฮัร พวกเขาเน้นย้ำว่าข้อความเหล่านี้เป็นข้อกล่าวหาที่โมเมและสับสน ถูกนำมาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต่ำช้า
สหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ International Union of Muslim Scholars รวมถึง ศ.ดร.อาลี กอเราะฮ์ดาฆี เลขาธิการสหพันธ์ฯ ยืนยันว่า มาครงตกอยู่ในภาวะวิกฤติทางศีลธรรม และอิสลามไม่แบกรับความผิดพลาดของผู้นำจอมปลอมที่สร้างวิกฤตด้วยการช่วยเหลือของพวกเขา
ชัยค์อะหมัด คอลีลีย์ มุฟตีแห่งรัฐสุลต่านโอมานยังได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าสิ่งที่มาครงพูดเป็นผลของความอคติที่มาจากความเกลียดชังในใจเขา
สิ่งเหล่านี้เป็นจุดยืนที่น่ายกย่อง แต่มีเพียงน้อยนิดและไม่เหมาะสม เมื่อเทียบกับในโลกอิสลามที่กว้างใหญ่ไพศาลที่ถูกกล่าวหาในด้านความเชื่อ ปฏิกิริยาตอบสนองยังไม่เหมาะสมกับความผิดที่ได้ก่อไว้ มุสลิมน่าจะออกมาปกป้องศาสนาของพวกเขา เช่นดังการปกป้องในยามที่ธงของรัฐถูกเผา หรือบิดเบือนเหยียดหยามภาพของผู้นำ
บรรดาผู้ที่ไม่ได้สนใจและเมินเฉยต่อเรื่องนี้ พวกเขาจะต้องทบทวนความสัมพันธ์ของพวกเขากับอิสลาม และตรวจสอบดูว่าสมาชิกภาพของเขาที่มีต่ออิสลาม มีความชอบธรรมหรือไม่
แปลสรุปโดย
Ghazali Benmad