หลายสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้อาวุโสท่านหนึ่งที่ผมเคารพส่งข้อความสั้นๆทางไลน์แต่สะกิดใจมาก
ท่านฝากข้อความว่า
“ ตักที่ใส ไสที่ขุ่น”
เป็นครั้งแรกที่ได้ยินสำนวนนี้ ทำให้นึกถึงสำนวนมลายูที่ว่า
“Ambil yang jernih, buang yang keruh”
พอไปดูสำนวนอังกฤษพบสำนวนว่า
“Take clear, clear clouds”
สำนวนอาหรับที่มีความหมายคล้ายกันคือ
خذ ما صفا ودع ما كدر
เข้าใจว่า สมัยก่อน วิถีชีวิตชาวบ้านต้องบริโภคน้ำจากบ่อน้ำหรือบึง ซึ่งอาจมีน้ำขุ่นผสมอยู่ด้วย ภูมิปัญญาชาวบ้านจึงสอนว่า เมื่อเจอแหล่งน้ำที่มีทั้งขุ่นและใส เราควรตักที่ใส แล้วไสที่ขุ่น เพื่อสามารถนำมาดื่มได้ ไม่ใช่ปฏิเสธและไม่ใช้ประโยชน์จากบ่อนั้นเลย
ทักษะการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันก็เช่นกัน เรามีบ่อทางปัญญา แหล่งข้อมูลและองค์ความรู้มากมายที่ผสมปนเปกันทั้งที่ใสสะอาดและขุ่นมัว โดยเฉพาะกับพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และมีสติ เราจำเป็นต้องแยกแยะว่าอันไหนใสสะอาดที่สามารถใช้ประโยชน์ได้และอันไหนที่ขุ่นที่อาจสร้างอันตรายถึงชีวิตได้
เช่นเดียวกันกับการคบเพื่อน การทำงานในองค์กร การใช้ชีวิตในครอบครัวและอื่นๆ เราจะใช้ความสามารถในการแยกแยะระหว่างน้ำใสและน้ำขุ่นได้อย่างไร
เช่นเดียวกันกับระบอบประชาธิปไตยในบริบทสังคมมุสลิมที่มีสถานะเป็นชนกลุ่มน้อยและไม่ใช่เป็นแกนรัฐบาล ในเมื่อยังไม่มีแหล่งน้ำอันบริสุทธิ์ เราจึงมีความจำเป็นต้องเลือกส่วนที่เป็นน้ำใส และพยายามไสส่วนที่เป็นน้ำขุ่น หากเราปฏิเสธทั้งระบบ เราจะขาดน้ำจนเป็นอันตรายแก่ขีวิตได้
ขอบคุณท่านอาวุโสที่ฝากข้อคิดนี้ครับ