โดย ศ.ดร.ยูซุฟ อัลเกาะเราะฎอวีย์ อดีตประธานสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ
- อัลกุรอานรณรงค์ต่อต้านผู้ปกครองที่สถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้า
อัลกุรอานได้วิพากษ์อย่างรุนแรงต่อผู้ปกครองที่สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าในโลกนี้ และถือเอามนุษย์เป็นข้าทาส เฉกเช่น กษัตริย์นัมรูด ( แห่งดินแดนเมโสโปเตเมียในบรรพกาล ) รวมถึงท่าทีของนัมรูดต่อนบีอิบริอฮีม และท่าทีของอิบรอฮีมต่อนัมรูด ว่า
أَلَمْ تَرَ إِلَى الَّذِي حَاجَّ إِبْرَاهِيمَ فِي رَبِّهِ أَنْ آتَاهُ اللَّهُ الْمُلْكَ إِذْ قَالَ إِبْرَاهِيمُ رَبِّيَ الَّذِي يُحْيِي وَيُمِيتُ قَالَ أَنَا أُحْيِي وَأُمِيتُ ۖ قَالَ إِبْرَاهِيمُ فَإِنَّ اللَّهَ يَأْتِي بِالشَّمْسِ مِنَ الْمَشْرِقِ فَأْتِ بِهَا مِنَ الْمَغْرِبِ فَبُهِتَ الَّذِي كَفَرَ ۗ وَاللَّهُ لَا يَهْدِي الْقَوْمَ الظَّالِمِينَ
“ท่าน (มุฮัมมัด) มิได้พิจารณาดูผู้ที่โต้แย้งต่ออิบรอฮีมในเรื่องพระเจ้าของเขาเนื่องจากการที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานอำนาจแก่เขาดอกหรือ ขณะที่อิบรอฮีมได้กล่าวว่า “พระเจ้าของฉันนั้นคือผู้ที่ให้ชีวิตและให้ความตาย” เขากล่าวว่า “ข้าก็ให้ชีวิตและให้ความตายได้” อิบรอฮีมกล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮ์นั้นนำดวงอาทิตย์มาจากทิศตะวันออก ท่านจงนำมันมาจากทิศตะวันตกเถิด” แล้วผู้ที่ปฏิเสธศรัทธานั้นก็อับจนปัญญา และอัลลอฮ์นั้นจะไม่ประทานแนวทางอันถูกต้องแก่ผู้อธรรมทั้งหลาย” ( อัลบะกอเราะห์ : 258 )
ทรราชนี้อ้างว่าเขาให้ชีวิตและหยิบยื่นความตายได้เช่นเดียวกับที่พระเจ้าของอิบรอฮีม – ผู้ซึ่งเป็นพระเจ้าของโลก – ให้ชีวิตและความตาย ดังนั้นผู้คนควรนับถือเขาเหมือนกับการที่พวกเขานับถือต่อพระเจ้าของอิบรอฮีม และเขาก็อวดดีถึงขั้นอ้างว่าให้ชีวิตและให้ความตาย โดยการนำชายสองคนจากท้องถนนและตัดสินประหารชีวิตโดยไม่มีความผิด และดำเนินการลงโทษคนหนึ่งในนั้นทันที พร้อมกล่าวว่า “ดูเถิดคนนี้ข้าให้ความตาย และยกโทษให้อีกคนหนึ่ง แล้วพูดว่า “ดูเถิด ข้าให้ชีวิตเขาแล้ว ! ฉันไม่ได้ให้ชีวิตและความตายกระนั้นหรือ!
และในทำนองเดียวกัน ฟาโรห์ผู้ซึ่งประกาศก้องในหมู่ประชาชนของเขาว่า أَنَا رَبُّكُمُ الْأَعْلَىٰ
“ ฉันคือพระเจ้าผู้สูงสุดของพวกท่าน” (อันนาซิอาต : 24)
และกล่าวด้วยความองอาจว่า :
يَا أَيُّهَا الْمَلأُ مَا عَلِمْتُ لَكُمْ مِنْ إِلَهٍ غَيْرِي
โอ้ผู้คนทั้งหลาย ฉันไม่รับทราบว่ามีพระเจ้าอื่นของจากฉัน” ( อัลกอศ็อศ : 38)
คัมภีร์กุรอานได้เปิดเผยขั้วพันธมิตรสามานย์ 3 ฝ่าย ได้แก่
ฝ่ายแรก คือผู้ปกครองที่สถาปนาตนเองเป็นพระเจ้า มีอำนาจบาตรใหญ่เหนือประชาชน ฝ่ายนี้มีฟาโรห์เป็นตัวแทน
ฝ่ายที่ 2 คือนักการเมืองผู้แสวงผลประโยชน์ ซึ่งทุ่มเทสติปัญญาและประสบการณ์ของเขา เพื่อรับใช้และพิทักษ์รักษาฐานอำนาจของทรราช และทำให้ผู้คนเชื่องยอม พร้อมถวายความจงรักภักดีต่อฟาโรห์ ฝ่ายนี้มีฮามานเป็นตัวแทน
และฝ่ายที่ 3 คือกลุ่มนายทุนหรือกลุ่มอำมาตย์ผู้ได้รับประโยชน์จากการปกครองของทรราช พวกเขาสนับสนุนทรราชด้วยการใช้จ่ายเงินของตนบางส่วนเพื่อกอบโกยผลประโยชน์จากหยาดเหงื่อและเลือดของประชาชน ฝ่ายนี้มีกอรูนเป็นตัวแทน
คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวถึงขั้วพันธมิตรของทั้ง 3 กลุ่มนี้ในเรื่องการฝ่าฝืนศีลธรรมและการล่วงละเมิด ตลอดจนการเผชิญหน้ากับสาส์นของมูซา จนกระทั่งอัลลอฮ์จัดการกับฟาโรห์อย่างน่าสมเพช
وَلَقَدْ أَرْسَلْنَا مُوسَىٰ بِآيَاتِنَا وَسُلْطَانٍ مُبِينٍ * إِلَىٰ فِرۡعَوۡنَ وَهَٰمَٰنَ وَقَٰرُونَ فَقَالُواْ سَٰحِرٞ كَذَّابٞ
“และแน่นอน เราได้ส่งมูซามาพร้อมด้วยสัญญาณต่าง ๆ ของเราและหลักฐานอันชัดแจ้ง ไปยังฟาโรห์ และฮามาน และกอรูน แล้วพวกเขาก็กล่าวว่า (มูซาเป็น) มายากลนักโกหกตัวฉกาจ” (ฆอฟิร : 23, 24)
وَقَٰرُونَ وَفِرۡعَوۡنَ وَهَٰمَٰنَۖ وَلَقَدۡ جَآءَهُم مُّوسَىٰ بِٱلۡبَيِّنَٰتِ فَٱسۡتَكۡبَرُواْ فِي ٱلۡأَرۡضِ وَمَا كَانُواْ سَٰبِقِينَ
และ (เราได้ทำลาย) กอรูน ฟาโรห์และฮามาน และโดยแน่นอนมูซาได้มายังพวกเขาพร้อมด้วยหลักฐานอันชัดแจ้ง แต่พวกเขาหยิ่งผยองในแผ่นดิน และพวกเขาก็หาได้รอดพ้นไปจากเราไม่ ( อัลอังกะบูต : 39)
สิ่งที่น่าแปลกก็คือ กอรูนมีเชื้อชาติเดียวกับมูซา และคนละเชื้อชาติกับฟาโรห์ แต่เขากลับทรยศต่อชนเชื้อชาติเดียวกัน และเข้าร่วมกับฟาโรห์ ซึ่งเป็นศัตรูของพวกเขา โดยฟาโรห์ก็ยอมรับเขา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลประโยชน์ทางวัตถุเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามารวมกันได้แม้จะแตกต่างกันทางเชื้อชาติและเชื้อสายก็ตาม
- คัมภีร์อัลกุรอานเชื่อมโยงการปกครองแบบเผด็จการและการทุจริต
ในบรรดาความโดดเด่นของคัมภีร์อัลกุรอาน คือการเชื่อมโยงการกดขี่กับการแพร่กระจายของการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชาติล่มสลาย
พระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพกล่าวว่า:
أَلَمْ تَرَ كَيْفَ فَعَلَ رَبُّكَ بِعَاد (6) إِرَمِ ذَاتِ الْعمَادِ (7) الَّتِى لَمْ يُخْلَقْ مِثْلُهَا فِى الْبِلَـدِ (8) وَثَمُودَ الَّذِينَ جَابُواْ الصَّخْرَ بِالْوَادِ (9) وَفرِعَوْنَ ذِى الأَوْتَادِ (10) الَّذِينَ طَغَوْا فِى الْبِلَـدِ (11) فَأَكْثَرُواْ فِيهَا الْفَسَادَ (12) فَصَبَّ عَلَيهِمْ رَبُّكَ سَوْطَ عَذَاب (13) إِنَّ رَبَّكَ لَبِالْمِرْصَادِ (14)
“เจ้าไม่เห็นดอกหรือว่า พระเจ้าของเจ้ากระทำต่อพวกอ๊าดอย่างไร
อิรอม มีเสาหินสูงตระหง่าน
ซึ่งไม่มีสิ่งก่อสร้างที่เทียบเท่าได้ตามหัวเมืองต่าง ๆ
และพวกซะมูดผู้สกัดหิน ณ หุบเขา
และฟิรเอานฺ เจ้าแห่งหมุดต่างๆ
พวกเขาได้กดขี่ทั่วแว่นแคว้นต่าง ๆ
แล้วก่อความเสียหายอย่างมากมายในหัวเมืองเหล่านั้น
ดังนั้นพระเจ้าของเจ้าจึงกระหน่ำการลงโทษนานาชนิดบนพวกเขา
แท้จริงพระเจ้าของเจ้านั้นทรงเฝ้าดูอย่างแน่นอน” [อัลฟัจร์ : 6-14]
คัมภีร์อัลกุรอานอาจแทนคำว่า “ทรราช” الطغيان ด้วยคำว่า “การเหิมเกริม” العلو ซึ่งหมายถึง ความเย่อหยิ่งและการใช้อำนาจเหนือสรรพสิ่ง ด้วยการสร้างความอัปยศอดสูและการกดขี่ข่มเหง
ดังที่อัลลอฮ์กล่าวถึงฟาโรห์ว่า
إِنَّهُۥ كَانَ عَالِيٗا مِّنَ ٱلۡمُسۡرِفِينَ
“แท้จริงเขาเป็นหนึ่งที่ใฝ่สูงในบรรดาผู้ละเมิด” (อัดดุคอน: 31)
إِنَّ فِرۡعَوۡنَ عَلَا فِي ٱلۡأَرۡضِ وَجَعَلَ أَهۡلَهَا شِيَعٗا يَسۡتَضۡعِفُ طَآئِفَةٗ مِّنۡهُمۡ يُذَبِّحُ أَبۡنَآءَهُمۡ وَيَسۡتَحۡيِۦ نِسَآءَهُمۡۚ إِنَّهُۥ كَانَ مِنَ ٱلۡمُفۡسِدِينَ
“แท้จริง ฟาโรห์ได้เหิมเกริมในแผ่นดิน และแบ่งแยกประชาชนออกเป็นกลุ่มๆ ทำให้กลุ่มหนึ่งอ่อนแอ ฆ่าลูกชายของพวกเขา และไว้ชีวิตผู้หญิงของพวกเขา เขาเป็นหนึ่งในผู้สร้างความเสื่อมเสีย” (อัลกอศ๊อศ : 4)
ดังนั้นเราจึงเห็น “ความเหิมเกริม” และ “การสร้างความเสื่อมเสีย” จะอยู่คู่กัน
- คัมภีร์อัลกุรอานได้ตำหนิอย่างรุนแรงต่อชนชาติที่เชื่อฟังทรราช
คัมภีร์อัลกุรอานไม่ได้ตำหนิเฉพาะกลุ่มทรราชแต่เพียงผู้เดียว แต่ยังรวมถึงประชาชนและผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของพวกเขา ยอมคุกเข่าให้กับพวกเขา โดยถือว่า เป็นการร่วมรับผิดชอบกับพวกเขาด้วย
อัลลอฮ์ผู้ทรงอำนาจกล่าวถึงกลุ่มชนของนบีนุห์ว่า
قَالَ نُوحٌ رَبِّ إِنَّهُمْ عَصَوْنِي وَاتَّبَعُوا مَنْ لَمْ يَزِدْهُ مَالُهُ وَوَلَدُهُ إِلَّا خَسَارًا
นุห์กล่าวว่า โอ้พระเจ้าของฉัน พวกเขาไม่เชื่อฟังฉันและทำตามผู้ที่ทรัพย์สินและลูกชายของเขาไม่ได้เพิ่มพูนอะไรนอกจากการสูญเสียเท่านั้น ( นุห์ : 21)
และอัลลอฮ์มหาบริสุทธิ์กล่าวถึงชนเผ่าของนบีฮูดว่า
وتلك عاد جحدوا بآيات ربهم وعصوا رسله واتبعوا أمر كل جبار عنيد
และชาวเผ่าอ๊าดเหล่านี้ปฏิเสธสัญญาณของพระเจ้าของพวกเขา และฝ่าฝืนศาสนทูตของเขา และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้มีอำนาจผู้ดื้อรั้นทุกคน “(ฮูด: 59)
และกล่าวถึงชนชาติของฟาโรห์ว่า
فَٱسۡتَخَفَّ قَوۡمَهُۥ فَأَطَاعُوهُۚ إِنَّهُمۡ كَانُواْ قَوۡمٗا فَٰسِقِينَ
เขา(ฟาโรห์) ก็พาลกับชนชาติของเขา และพวกเขาก็เชื่อฟังต่อเขา พวกเขาเป็นคนชั่วช้าสามานย์(อัซซุครุฟ : 54)
فَاتَّبَعُوا أَمْرَ فِرْعَوْنَ ۖ وَمَا أَمْرُ فِرْعَوْنَ بِرَشِيدٍ
يَقۡدُمُ قَوۡمَهُۥ يَوۡمَ ٱلۡقِيَٰمَةِ فَأَوۡرَدَهُمُ ٱلنَّارَۖ وَبِئۡسَ ٱلۡوِرۡدُ ٱلۡمَوۡرُودُ
ดังนั้น พวกเขาได้ปฏิบัติตามคำสั่งของฟาโรห์ ทั้งๆสิ่งที่ฟาโรห์ทำนั้นไม่มีเหตุผล เขา(ฟาโรห์)จะนำหน้ากลุ่มชนของเขาในวันกิยามะฮฺ และนำพวกเขาลงในไฟนรก และมันเป็นทางลงที่ชั่วช้าที่พวกเขาได้ลงไป (ฮูด : 97 – 98 )
การที่คนทั่วไปถูกถือว่าเป็นผู้ร่วมรับผิด หรือเป็นส่วนหนึ่งของความผิดดังกล่าว เพราะพวกเขาเป็นผู้สร้างทรราชขึ้นมาเอง ดังวลีที่กล่าวว่า มีคนถามฟาโรห์ว่า ท่านเป็นฟาโรห์ได้เพราะอะไร ฟาโรห์ตอบว่า เพราะฉันไม่พบใครขัดขวางฉัน
- ทหารและเครื่องมือของทรราชร่วมรับผิดชอบเช่นกัน
ผู้ที่แบกรับความรับผิดชอบกับทรราชคือ“ เครื่องมือแห่งอำนาจ” ที่อัลกุรอานเรียกว่า“ ทหาร” ซึ่งหมายถึง“ กำลังทหาร” อันเป็นเขี้ยวเล็บของอำนาจทางการเมือง ที่คอยเป็นแส้คอยลงโทษและคุกคามมวลชน หากพวกเขาก่อกบฏหรือคิดจะกบฏ
คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า
إِنَّ فِرۡعَوۡنَ وَهَٰمَٰنَ وَجُنُودَهُمَا كَانُواْ خَٰطِـِٔينَ
“แท้จริงฟาโรห์และฮามาน และไพร่พลของเขาทั้งสองเป็นพวกที่มีความผิด” (อัลกอศ๊อศ : 8 )
فَأَخَذۡنَٰهُ وَجُنُودَهُۥ فَنَبَذۡنَٰهُمۡ فِي ٱلۡيَمِّۖ فَٱنظُرۡ كَيۡفَ كَانَ عَٰقِبَةُ ٱلظَّـٰلِمِينَ
“ดังนั้น เราได้ลงโทษเขาและไพร่พลของเขา เราได้โยนพวกเขาลงไปในทะเล จงพิจารณาเถิด บั้นปลายของพวกอธรรมเป็นเช่นไร” (อัลกอศ๊อศ : 40 )
บทความต้นฉบับ https://www.al-qaradawi.net/node/3775
แปลสรุปโดย Ghazali Benmad