ถึงแม้ทั้งตุรกีและกรีซเป็นสมาชิกขององค์การนาโต้ แต่ทั้งสองก็มีข้อพิพาทกระทบกระทั่งกันมาโดยตลอด ชนวนความขัดแย้งสรุปได้ดังนี้
1. เกาะไซปรัส
ไซปรัสเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันออก อยู่ทางตอนใต้ของประเทศตุรกีราว 64 ไมล์ ห่างจากเกาะโรดส์และเกาะคาร์ปาทอสของกรีซราว 240 ไมล์ สมัยยุคกลางเคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไบเซนไทน์ ต่อมาถูกจักรวรรดิอุสมานียะฮ์เข้ายึดครอง หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษได้เข้ายึดครองจนกระทั่งประกาศเอกราชเมื่อปี 1960 แล้วจัดตั้งเป็นประเทศอย่างเป็นทางการชื่อว่าสาธารณรัฐไซปรัส
ถึงเเม้โดยนิตินัย ไซปรัสเป็นประเทศเดียว แต่โดยพฤตินัย ประเทศนี้ถูกแบ่งเป็นไซปรัสส่วนใต้ มีเนื้อที่ 5,895 ตร. กม. หรือ 65%ของพื้นที่ทั้งหมด ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวกรีซ นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกส์ และไซปรัสเหนือ มีเนื้อที่ 3,355 ตร. กม. หรือ 35%ของพื้นที่ทั้งหมด ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เชื้อสายตุรกี
กรีซและสหประชาขาติให้การรับรองกรีซส่วนใต้ ในขณะที่ตุรกีเพียงประเทศเดียวที่ให้การรับรองกรีซส่วนเหนือ
ปัญหาเกาะไซปรัสเป็นปัญหาที่เปราะบางที่สุดระหว่างตุรกีกับกรีซ ซึ่งในอดีตได้เป็นชนวนทำให้เกิดสงครามกลางเมืองมาแล้ว
2. ปัญหาพรมแดน
ปัญหาพรมแดนระหว่างตุรกีกับกรีซนับเป็นระเบิดเวลาที่กำหนดโดยข้อตกลงในสนธิสัญญาโลซาน ทั้งนี้ในทะเลอีเจียนซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างสองประเทศนี้ ประกอบด้วยหมู่เกาะมากมายกว่า 2,000 เกาะ โดยหมู่เกาะเหล่านี้เกือบทั้งหมดตกเป็นของกรีซ ถึงแม้บางเกาะจะอยู่ติดชายฝั่งของตุรกีเพียง 2 กม. ก็ตาม สถานการณ์ยิ่งตึงเครียด เมื่อกรีซยกประเด็นการครอบครองเขตน่านน้ำห่างจากชายฝั่งของตน 12 ไมล์ แทน 6 ไมล์ตามข้อตกลงสากล ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลอีเจียนเป็นกรรมสิทธิ์ของกรีซโดยปริยาย และทำให้ตุรกีประสบปัญหา ไม่มีเส้นทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนฝั่งตะวันออกเลย ซึ่งตุรกีถือว่า ประเทศอียูโดยเฉพาะฝรั่งเศสและอิตาลี พยายามให้ท้ายกรีซคิดการใหญ่เข่นนี้ ซึ่งตุรกีถือว่าเป็นการประกาศสงครามในภูมิภาคทีเดียว
3. ปัญหาผู้อพยพ
วิกฤติซีเรียและอิรักทำให้ประชาชนหลั่งไหลอพยพหนีตายเข้าไปในตุรกีกว่า 4 ล้านคน บางส่วนได้อพยพเข้าในประเทศสหภาพยุโรปไปแล้วกว่า 1 ล้านคน ทำให้ประเทศอียูได้ทำข้อตกลงกับตุรกีว่าให้ระงับการอพยพของชาวซีเรียเข้าไปในยุโรป โดยที่ประเทศอียูให้สัญญาว่าจะมอบความช่วยเหลือด้านงบประมาณแก่ตุรกี แต่ในความเป็นจริงประเทศอียูไม่เคยปฏิบัติตามสัญญา โดยปล่อยให้เป็นภาระของตุรกีตามลำพัง ทำให้ตุรกีขู่ว่าจะปล่อยผู้อพยพบางส่วนเข้าไปในประเทศยุโรปโดยเฉพาะประเทศกรีซ จนเกิดภาวะความตึงเครียดระหว่างชายแดนของทั้งสองประเทศมาโดยตลอด
4.มัสยิดอายาโซเฟีย
อายาโซเฟียในอดีตคือโบสถ์คริสต์ที่ใหญ่ที่สุดยุคจักรวรรดิไบเซนไทน์ นิกาย ออร์โธดอกส์และเป็นสัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของกรุงคอนสแตนติโนเปิลนานกว่า 900 ปี ต่อมาหลังการล่มสลายของอาณาจักรนี้ ก็ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นมัสยิดเป็นเวลานานเกือบ 500 ปี ในยุคอุสมานียะฮ์ หลังการล่มสลายของอาณาจักรอุสมานียะฮ์ ถูกเปลี่ยนสถานะเป็นพิพิธภัณฑ์นาน 86 ปี จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 เดือนกรกฎาคม 2020 ประธานาธิบดีแอร์โดอานแห่งตุรกี ได้ลงนามประกาศอายาโซเฟียเป็นมัสยิดอีกครั้ง ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสภาคริสตจักรสากลและผู้นำนานาชาติหลายประเทศที่ถือว่าเป็นการสร้างชนวนความขัดแย้งทางศาสนาที่เปราะบางที่สุด แต่ก็ไม่ทำให้ตุรกีเปลี่ยนจุดยืนแม้แต่น้อย พร้อมตอบกลับอย่างเด็ดเดี่ยวว่า นี่คือกิจการภายในของตุรกี ที่มีอิสระตัดสินใจกระทำตามกระบวนการทางกฎหมายต่างชาติไม่มีสิทธิ์ก้าวก่ายกิจการภายในของตุรกี พร้อมยืนยันว่าตุรกียุคใหม่ไม่ใช่ตุรกียุคเก่าที่คอยปฏิบัติตามคำสั่งของชาติตะวันตกอีกแล้ว
จุดยืนของตุรกีครั้งนี้ สร้างความปิติยินดีเเก่ชาวมุสลิมและผู้ใฝ่หาความยุติธรรมทั่วโลก แต่ในขณะเดียวกัน ได้ทิ่มแทงแผลเก่าที่เจ็บลึกให้แก่ชาติยุโรป โดยเฉพาะประเทศกรีซ
อายาโซเฟียคือคือชีพจรที่เป็นตัวชี้วัดการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ระหว่างชาติตุรกีกับชาติตะวันตกที่นำโดยประเทศกรีซ
5.ชนกลุ่มน้อย
ตุรกีกล่าวหากรีซว่ารัฐบาลกรีซล้มเหลวในการจัดการปัญหาชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาวตุรกีมุสลิมในประเทศกรีซ โดยเฉพาะปัญหาทางการศึกษาและความอิสระในการปฏิบัติตนตามความเชื่อ ประธานาธิบดีแอร์โดอานกล่าวว่า กรุงเอเธนส์ซึ่งเป็นเมืองหลวงกรีก คือเมืองหลวงแห่งเดียวในสหภาพยุโรปที่ไม่มีมัสยิด ในขณะเดียวกันกรีซก็กดดันตุรกีให้เปิดโรงเรียนสอนศาสนานิกายออร์โธดอกส์ที่อิสตันบูล นอกเหนือจากโบสถ์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งตุรกียังไม่อนุญาต
6.รัฐประหารล้มเหลว
ในค่ำคืนรัฐประหารล้มเหลวที่อิสตันบูลเมื่อปี 2016 มีนายพลจำนวน 8 นายที่หลบหนีไปกบดานที่เกาะกรีซที่อยู่เรียงรายชายฝั่งตุรกี ซึ่งรัฐบาลตุรกีได้ทำหนังสือเรียกร้องให้กรีซส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนทั้ง 8 คนมาดำเนินคดีที่ตุรกี แต่จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่ได้รับความร่วมมือใดๆจากสมาชิกนาโต้ประเทศนี้เลย
ทั้ง 6 ประเด็นนี้ คือระเบิดเวลาที่เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ซึ่งหลายฝ่ายวิตกกังวลว่าอาจบานปลายนำไปสู่สงครามในภูมิภาคโดยเฉพาะหลังการตรวจพบแหล่งพลังงานอันมหาศาลทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันของประเทศตุรกี
โดย Mazlan Muhammad
ดูเพิ่มเติมที่ https://www.aljazeera.net/news/politics/2020/8/29/تركيا-واليونان-تاريخ-طويل-من