บทความ ประวัติศาสตร์

อุตสาหกรรมผลิตผู้นำจอมปลอม

Ahmad Shouqi ยอดนักกวีนามอุโฆษแห่งอียิปต์เสียชีวิตปีค.ศ.1932 ผู้มีฉายาว่าเจ้าชายแห่งนักกวี เคยร่ายบทกลอนสดุดียกย่องมุสตะฟา เคมาล อะตาร์เตอร์ก ผู้สถาปนาสาธารณรัฐตุรกียุคใหม่อย่างยาวเหยียด โดยเริ่มต้นด้วยประโยคทองว่า

الله أكبر كم في الفتح من عجب

يا خالد الترك جدد خالد العرب

อัลลอฮ์ ผู้ยิ่งใหญ่ ชัยชนะในสมรภูมิมักมีสิ่งมหัศจรรย์เสมอ

โอ้คอลิดแห่งตุรกี จงรื้อฟื้นคอลิดแห่งอาหรับอีกครา

Ahmad Shouqi น่าจะเป็นตัวแทนของชาวมุสลิมทั่วโลกขณะนั้น ที่เสพข่าวคราวความเคลื่อนไหวของอาณาจักรอุษมานียะฮ์ที่เพิ่งล่มสลายด้วยหัวใจอันหดหู่ อาศัยความเป็นนักกวีและการเสพข่าวจากสื่อกระแสหลักเพียงสำนักเดียวในยุคนั้น ที่สามารถเสกขาวเป็นดำและดำเป็นขาวตามใจนึก แน่นอนที่สุดคนระดับ Ahmad Shouqi จะต้องคล้อยตามอารมณ์ของกระแสข่าวยุคนั้นอย่างหนีไม่พ้น ถึงขนาดเขาเปรียบเปรยมุสตะฟา เคมาลเป็นคอลิด บินอัลวะลีด ผู้ได้รับฉายาจากนบีฯว่า”ดาบแห่งอัลลอฮ์ที่ถูกชักออกจากฝัก”ผู้ไม่เคยปราชัยในทุกสมรภูมิที่เข้าร่วม ถึงแม้ก่อนเสียชีวิต Ahmad Shouqi ได้รับทราบความจริง เขาจึงเขียนบทกลอนสะท้อนถึงความผิดหวังและเสียใจกับผลงานสุดอัปยศของคนที่เขาเคยยกย่องเป็นคอลิดแห่งตุรกีก็ตาม เขาได้รำพึงผ่านบทกลอน ความตอนหนึ่งว่า
ضجت عليك مآذن ومنابر وبكت عليك ممالك ونواح
หออะซานและแท่นมิมบัรได้คร่ำครวญถึงการจากไปของเธอ แม้กระทั่งบรรดากษัตริย์และผู้โหยไห้ต่างร่ำไรรำพัน
والشام تسأل والعراق وفارس أمحا من الأرض الخلافة ماح
ทั้งเมืองชาม อิรักและเปอร์เซียต่างถามไถ่ คิลาฟะฮ์ถูกลบล้างจากแผ่นดินนี้แล้วหรือ
(ดู https://www.aljazeera.net/blogs/2018/11/10/بين-أحمد-شوقي-وأتاتورك-خيبة-أمل)

สื่อกระแสหลักระดับโลกเมดอินอังกฤษในขณะนั้น ได้ประโคมข่าวกรอกหูโลกมุสลิมตลอดเวลาว่า โลกอิสลามที่อยู่ภายใต้การปกครองของระบอบสุลตานอุษมานียะฮ์ขณะนั้น กำลังสิ้นเนื้อประดาตัว ถึงขั้นตั้งฉายาสุลตานอับดุลฮามิดที่ 2 ว่าเป็นชายชราจอมขี้โรค มีกองกำลังทหารที่อ่อนแอและเฉื่อยชา บริหารบ้านเมืองล้มเหลวจนประสบภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ประชาชนยากจนและไม่มีการศึกษา ยึดติดกับประเพณีและคำสอนศาสนาที่คร่ำครึ จนกระทั่งหนุ่มชื่อมุสตะฟา เคมาล ปรากฏตัวพร้อมแสดงบทฮีโร่มากอบกู้ตุรกี

นักประวัติศาสตร์มีความเห็นต่างกันว่าหนุ่มคนนี้มาจากไหน บรรพบุรุษของเขาคือใคร แต่ด้วยความสามารถและความเก่งกาจเหนือมนุษย์ของเขา ทำให้เขาได้รับฉายาว่า อะตาร์เตอร์ก (บิดาแห่งชาวตุรกี) เขาเป็นคนเดียวที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ เป็นบุคคลที่ห้ามแตะต้องและห้ามวิพากษ์วิจารณ์ เขาเป็นคนเดียวที่มีรูปในธนบัตรและเหรียญตุรกี ถึงแม้ประเทศตุรกีจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำหลายคนหลังจากการเสียชีวิตของเขาก็ตาม ยังไม่รวมถึงอนุสาวรีย์รูปจำลองของรัฐบุรุษผู้นี้ ซึ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นทั่วประเทศ และถูกออกแบบเป็นรูปที่เขากำลังขี่ม้าพร้อมชูดาบแห่งชัยชนะที่สามารถปราบมารร้าย ซึ่งถูกสลักไว้ข้างล่างของอนุสาวรีย์

ท่านผู้อ่านพอเดาออกไหมว่า มารร้ายที่อยู่ใต้เท้าของคอลิดแห่งตุรกีคนนี้ มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

ท่านอย่าเพิ่งตกใจหากทราบว่ามารร้ายคนนี้คือชายชรามีเคราและสวมใส่ผ้าสัรบั่น

ท่านผู้อ่านลองตั้งคำถามดูว่า เด็กหนุ่มผู้กำเนิดและเติบโตที่เมืองซาโลนิก (เป็นเมืองที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรอุษมานียะฮ์ระหว่างปีค.ศ.1867-ค.ศ. 1913 ปัจจุบันคือพื้นที่ที่ครอบคลุมบางส่วนของประเทศกรีซ มาชิโดเนียและบัลแกเรีย ในอดีตเมืองนี้เป็นดินแดนที่ชาวยิวได้อพยพมาจากยุโรปเข้ามาตั้งถิ่นฐานและยอมสวามิภักดิ์ต่อสุลตานอุษมานียะฮ์) ผู้นี้แม้กระทั่งหน้าตาของเขา ก็ไม่มีเค้าโครงละมัายคล้ายคลึงเหมือนชาวตุรกีทั่วไป แต่อยู่ๆถูกเชิดชูถึงขั้นบูชา และกลายเป็นบิดาของชาวเตอร์กได้อย่างไร

ผู้อ่านลองตั้งคำถามดูว่า ประเทศอังกฤษและบรรดาประเทศพันธมิตรที่ประกอบด้วยกรีซ ฝรั่งเศส อิตาลี ไซปรัสที่เพิ่งได้รับชัยชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่ต้องมาพ่ายแพ้อย่างราบคาบต่อกองทัพเล็กๆของหนุ่มที่มาจากเมืองซาโลนิกนี้ได้อย่างไร

หากไม่ใช่เป็นละครระดับฮอลลีวูดยังต้องชิดซ้ายแล้ว มันก็คืออภินิหารครั้งยิ่งใหญ่ที่เหนือกว่ามุอฺญิซัต(อภินิหารที่เกิดขึ้นเฉพาะนบี)สมัยสงครามบัดร์หรือสงครามอะห์ซาบอย่างแน่นอน

นายมุสตาฟา เคมาล สามารถขับไล่กองกำลังต่างชาติที่ยึดครองตุรกี โดยเฉพาะจากฝั่งอานาโตเลียได้อย่างเบ็ดเสร็จ เขายังสามารถขับไล่กองกำลังอังกฤษที่ยึดครองอิสตันบูลและกองกำลังต่างชาติอีก 4-5 ประเทศในคราวเดียวกัน เขาได้นำกองกำลังไล่ล่าชัยชนะอย่างต่อเนื่อง พร้อมโบกสะบัดทิวธงแห่งอิสลามเหนือแผ่นดินตุรกีท่ามกลางเสียงตักบีรดังกระหึ่มไปทั่วประเทศและโลกอิสลาม ชาวมุสลิมทั่วโลกชื่นชมและสดุดีผู้นำคนนี้จนกระทั่งพร้อมใจกันตั้งฉายาเป็นคอลิดแห่งตุรกี

ตามข้อเสนอของ Ahmad Shouqi

ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในครั้งนั้นได้ส่งผลอะไรให้แก่ชาวตุรกีและโลกอิสลามบ้าง

หลังจากโค่นล้มระบบคิลาฟะฮ์ได้สำเร็จพร้อมสถาปนาระบอบสาธารณรัฐตุรกีและแต่งตั้งตัวเองเป็นประธานาธิบดี ทุกอย่างจึงได้ประจักษ์ชัดแจ้ง

มุสตาฟา เคมาลจึงเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา ท่ามกลางโลกมุสลิมต้องตะลึงตกใจจนตาค้าง

คอลิดแห่งตุรกี หาใช่เป็นคอลิดแห่งอาหรับตามที่ได้คาดหวังไว้ แต่เป็นคอลิดที่เกลียดชังทุกอย่างที่เป็นมรดกของอาหรับและอิสลาม ตุรกีที่เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอิสลามนานเกือบ 6 ศตวรรษ กลับกลายเป็นตุรกีที่หันหลังและตัดขาดกับอิสลามอย่างไม่มีเยื่อใย พร้อมกับอ้าแขนต้อนรับทุกอย่างที่เป็นวิถีตะวันตกอันไร้ศีลธรรมและจรรยาบรรณ นายมุสตะฟา เคมาลเคยกล่าวถึงอัลกุรอานว่า “เราไม่ต้องการหนังสือที่พูดถึงต้นมะกอกและต้นมะเดื่ออีกแล้ว” ก่อนเสียชีวิต เขาได้เรียกทูตอังกฤษประจำอิสตันบูลมาพบเป็นการส่วนตัว  พร้อมยื่นข้อเสนออย่างจริงจังว่า “หากฉันเสียชีวิต ประธานาธิบดีคนต่อไปของตุรกีต้องเป็นท่าน”

นับตั้งแต่นั้นมา อิสลามในตุรกีจึงตก

สภาพยิ่งกว่าเด็กกำพร้าพ่อแม่ ซึ่งนอกจากไร้ผู้ปกป้องดูแลแล้ว ยังมีคนใจทรามคอยเป็นยามเฝ้าระวังปิดกั้นไม่ให้เติบโตแข็งแรงอีกด้วย อิสลามในตุรกีจึงพิกลพิการมาอย่างยาวนาน

อุตสาหกรรมการผลิตผู้นำจอมปลอมมีอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน

พวกเขาถูกสร้างให้ดูเหมือนเป็นความหวังของประชาชาติอิสลาม  มีความดุดันและห้าวหาญต่อศัตรูอิสลาม แต่ในความเป็นจริง ทันทีที่มีโอกาส เหยื่อของการทำลายล้างไม่พ้นประเทศอิสลามและประชาชาติมุสลิม

ยะม้าล นัสเซอร์แห่งอิยิปต์ ยัสเซอร์ อาราฟัตแห่งปาเลสไตน์ โคมัยนีแห่งอิหร่าน หะซันนัศรุลลอฮ์แห่งหิสบุลลอฮ์เลบานอน แม้กระทั่งนายบัฆดาดีแห่งรัฐอิสลามที่โมซุล คือบรรดารายขื่อที่ดูเหมือนเป็นวีรบุรุษผู้เป็นความหวังของประชาขาติอิสลาม

ผู้อ่านลองสำรวจอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนดูว่า อะไรคือผลงานของพวกเขา นอกจากความเศร้าสลดและความอัปยศของประชาชาติอิสลาม

แต่เรามักจะสรุปบทเรียน เมื่อละครได้แสดงจนถึงบทอวสานอยู่เสมอ

แถมมีบางคน ยังอินกับละครยอดฮิต ถึงแม้เขาปิดฉากตั้งนานแล้วก็ตาม

อุตสาหกรรมผลิตผู้นำจอมปลอมไม่หยุดเพียงแค่นี้ แต่พวกเขาพยายามขุดคุ้ยผู้นำอิสลามที่แท้จริง และทำลายความน่าเชื่อถือของผู้นำเหล่านั้นด้วยคำใส่ร้ายและการโกหกต่างๆนานา จนกระทั่งโลกอิสลามเป็นโลกที่ขาดผู้นำที่น่าเชื่อถือและควรแก่การยกย่อง แม้แต่เพียงคนเดียว

Malcolm x มุสลิมผิวสีชาวอเมริกันเคยกล่าวว่า “ผู้ใดที่รู้ไม่เท่าทันสื่อ เขาอาจโกรธแค้นผู้ถูกอธรรม และชื่นชมสดุดีจอมวายร้ายเผด็จการก็ได้”

ดูเพิ่มเติม

https://www.aljazeera.net/blogs/2019/6/17/كيف-صنعت-المخابرات-البريطانية-البطل


โดย ทีมงานวิชาการ