นักเรียนปอเนาะจะนะเรียกร้องปกป้องสิ่งแวดล้อมท่ามกลาง นร.นศ.ส่วนกลางเรียกร้องประชาธิปไตยอุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)
ผู้ประสานงานกลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม(ปอเนาะ) จะนะ : รายงานจากจะนะ
[email protected]
ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก
ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
16 สิงหาคม 2563 และก่อนหน้านี้นักเรียน นักศึกษาส่วนกลางกรุงเทพมหานคร กำลังเรียกร้องรัฐบาล 3 ข้อหรือยกระดับ10ข้อ เกี่ยวกับการปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้สู่ประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล และบางเรื่องบางประเด็นที่เป็นเรื่องใต้พรมสู่เวทีสาธารณะจนเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้แกนนำสามคนโดนจับและปฏิเสธไม่ได้ว่า กำลังทำให้เกิดข้อถกเถียงในวงกว้างจนนำความแตกแยกสองฝากสองฝั่งของคนในชาติ ในขณะที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตัวแทนนักเรียน ครู อุสตาส โต๊ะครูและผู้บริหารจาก
โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม(ปอนาะ)กว่า 1,000 คน ออกมาแสดงพลัง ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้ทบทวนนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เพื่อหยุดยั้งความขัดแย้งในชุมชนแม้บางฝ่ายมองว่า “เป็นการเมืองเพราะออกมาเคลื่อนไหวตรงกับเวทีนักศึกษาที่กรุงเทพมหานครที่สำคัญการปราศรัยของนักศึกษาชายแดนภาคใต้ที่ปัตตานีและกทม.ก็มีการพูดถึงจะนะเมืองอุตสาหกรรมในข้อเรียกร้องด้วย”
กล่าวคือ
“วันนี้ 16 สค.63 (10.00 น.) .ณที่ว่าการอำเภอจะนะจังหวัดตัวแทนนักเรียน ครู อุสตาส โต๊ะครูและผู้บริหารจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม(ปอเน๊าะ)กว่า 1,000 คน ออกมาแสดงพลัง ยื่นหนังสือผ่านนายอำเภอจะนะ..ถึงนายกรัฐมนตรี…และเลขาธิการศูนย์อำนายการจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต)…#ให้ทบทวน”#โครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมต้นแบบ”..ที่ ศอ.บต.ผลักดันให้มีนิคมอุตสาหกรรมจะนะขนาดใหญ่.ซึ่งอาจกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และสังคมวัฒนธรรมของประชาชนทุกภาคส่วนในอำเภอจะนะ..
ใน 6 ข้อเสนอแนะโดยเริ่มกระบวนการใหม่อย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในอำเภอจะนะ…ตั้งแต่ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ..จึงเป็นทางออกที่จะนำมาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของอำเภอจะนะในที่สุด…
ทำไมต้องออกมาขย่มรัฐนี้ช่วงนี้
โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แห่งที่ 4 ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่นำพื้นที่ของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มาพัฒนาเป็น ‘เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ชุมชน เนื้อที่การพัฒนา 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนกว่า 18,680 ล้านบาท กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนสร้างความแตกแยกของชุมชนตามปรากฎในหน้าสื่ออีกครั้ง หลังข่าวโควิดโดยเฉพาะหลังเวที วันที่11 กรกฎาคม 2563
แม้แต่กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร ชี้ชัด “ศอ.บต.” นำงบฯ ประจำไปจัดเวที 11 ก.ค.ดัน “จะนะเมืองอุตฯ ก้าวหน้าแห่งอนาคต” ต้องการเปลี่ยนสีผังเมืองแบบคลุมเครือ ทำผิดทั้งรัฐธรรมนูญปี’60 และขัดระเบียบสำนักนายกฯ มากมายเงื่อนงำ ซับซ้อน ความพิลึกพิลั่น ยันประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ส่อเอื้อแต่ “ทีพีไอ” ยักษ์ใหญ่พลังงานและปิโตรเคมี
(โปรดดู >> https://mgronline.com/south/detail/9630000075633)
อะไรคือบทเรียน
อันเนื่องมาจากชาวจะนะได้บทเรียนโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งคณะนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสันติสุข สถาบันพระปกเกล้าหรือที่เรียกว่า 4 ส รุ่นที่ 8 นำโดยนายแพทย์นันทวัช สิทธิรักษ์ได้สรุป ว่า
1. แก่นหลักที่นำมาสู่ความขัดแย้งและความแข็งขืนต่อต้านโครงการนี้ในนภาพรวมคือ ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน (no trust) ประเด็นหลักที่พบได้แก่ ชุดข้อมูลที่ฝ่ายรัฐและแนวร่วมรัฐหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการมีอยู่มักถูกเผยแพร่สู่สาธารณะในวงจำกัด ไม่เป็นปัจจุบัน และมีการตัดทอนหรือเซ็นเซอร์ ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน หรืออาจให้ข้อมูลไม่ตรงตามเอกสารจริง ในขณะที่อีกฝ่ายที่เป็นองค์กรเอกชนถูกอีกฝ่ายอ้างด้วยเช่นกันว่าข้อมูลด้านตรงกันข้ามรวมทั้งมีการใช้วาทกรรมสร้างความแตกแยก
2. การไม่ยอมรับผลการประเมิน EIA (Environmental Impact Assessment) คือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม” EHIA (Environment and Health Impact Assessment) คือการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ โดยให้มีส่วนร่วมและรับฟังเสียงจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียจากหลายเหตุผล
3. กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่รวบรัด ดำเนินการโดยฝ่ายรัฐหรือบริษัทที่ได้รับอนุญาตดำเนินโครงการแต่เพียงฝ่ายเดียว
4. ความไม่ยืดหยุ่นของเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์โครงการที่สอดรับกับความต้องการของประชาชน
5. กระบวนการลดผลกระทบเชิงลบและการเยียวยาของโครงการที่มีต่อประชาชนที่มิได้ศึกษามิติต่างๆ ทั้งระดับปัจเจก ชุมชน สังคม และจิตวิญญาณ ทั้งที่สามารถตีค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้ (tangible) และมีคุณค่าที่ไม่สามารถตีค่าเป็นตัวเลขได้ชัดเจน (intangible) อย่างรอบด้าน
6. ไม่มีกระบวนการติดตามโครงการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ในส่วนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สถาบันสอนศาสนาอิสลามในอำเภอจะนะ ซึ่งมีผู้เรียนประมาณ 20,000 คน ผู้นำศาสนา ครูศาสนาและสามัญ ประมาณ 2,000 คน กำลังกังวลผลกระทบของสถานศึกษา บุคคากร และผู้เรียน วิถีวัฒนธรรมอิสลามอันดีงาม ซึ่งยังมิได้รับการประเมินรวมทั้งมิสามารถประเมินตีค่าเป็นตัวเลขได้ชัดเจน (intangible) อย่างรอบด้าน
ขนาดโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังไม่ลง มีแหล่งบันเทิง และมีการนำมโหรสพวงดนตรี มาแสดงในชุมชนมุสลิม 100%
อะไรคือทางออก
จากเหตุดังกล่าวข้างต้น
หากจะเดินหน้าทำตาม ปณิธาน “จะนะเมืองน่าอยู่ มั่งคั่ง ยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ กันความไม่ไว้ใจ
ดังนั้น ทางออกที่วินๆ(ชนะ)ทุกฝ่าย ถ้าจะเชื่อใจ บริสุทธิ์ว่า เพื่อประชาชน จึงขอเรียกร้องและเสนอแนะดังนี้
1. ให้มีการทบทวนโครงการนี้ (มติ ครม.เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 และ 21 มกราคม 2563 ) เนื่องจากเป็นมติที่อนุมัติโดยรัฐบาล คสช.โดยขาดข้อมูลทางวิชาการ และไม่ได้ฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการมาก่อน
2. ไม่นำผลของการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน(11 กรกฎาคม 2563)เพื่อเปลี่ยนแปลงผังเมือง อันเนื่องมาจากเวทีดังกล่าว มีข้อครหาในความโปร่งใสในการจัดเวที
3. เปิดพื้นที่กลางปลอดภัยการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี
4. ไม่คุกคามผู้เห็นต่างจากรัฐ
5. ไม่นำอบายมุข มโหรสพ เช่นดนตรีและอื่นๆที่หมิ่นแหม่ผิดหลักศาสนาเข้ามาในชุมชนมุสลิมจะนะ
6. เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้นำศาสนา ครูและนักเรียนร่วมออกแบบตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล(ทั้งต้นนำ้ กลางและปลายนำ้)เพื่อพัฒนาจะนะสู่ชุมชนมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอันจะสร้างความชอบธรรมทั้งกระบวนการและกฎหมายซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น ช่วงระยะๆ ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 ก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการต้องเปิดให้มีส่วนร่วมที่น่าเชื่อถืออย่างรอบด้าน
ขั้นตอนที่ 2 การร่วมกำหนดเป้าหมายโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและความจำเป็นของรัฐ
ขั้นตอนที่ 3 กระบวนการลดผลกระทบโครงการและการเยียวยาอย่างมีส่วนร่วม
ขั้นตอนที่ 4 กระบวนการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างมีส่วนร่วม
ปัญหาการประท้วงที่นำไปสู่ความขัดแย้ง ต่อโครงการลักษณะนี้ซึ่งจะกระทบเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา วิถีวัฒนธรรมและสิทธิชุมชนจนบานปลายสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือถ้าได้รับการอนุมัติหรือไม่อนุมัติอย่างไร สังคมในพื้นที่และภายนอกจะยอมรับได้ในกติกานี้ไม่ว่าฝ่ายค้านหรือหนุนปัญหาการไม่ยอมกันคงมีแต่อาจจะน้อย การประท้วงหน้าทำเนียบก็คงจะลด หรือถ้ามีประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นโล่ให้รัฐเพราะผ่านกระบวนการที่โปร่งใส เป็นธรรม และมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน
บาบอฮุสณี บินหะยีคอเนาะ ผู้บริหารโรงเรียนศาสนบำรุงและที่ปรึกษาสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาจังหวัดสงขลา ให้ทัศนะว่า “โครงจะนะเมืองอุตสาหกรรม ในการต่อเพื่อสัจจธรรมนั้น ไม่ว่าจะคว้าชัยหรือเเพ้พ่ายทุกอย่างก้าวคือความรับผิดชอบ ทุกดีตัดสินใจคือตำนานให้รุ่นหลังได้เล่าขาน ว่า เราได้เตือนและชี้แนะตามวิถีของเรา และปกป้องสิ่งที่ควรปกป้อง มิได้เป็นเครื่องมือของผู้ใด ไม่มีเรื่องการเมืองแม้เราจะเคลื่อนช่วงนักเรียน นักศึกษา (นร.นศ.)ส่วนกลางเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อควำ่รัฐบาล วันนี้เรามาเยอะก็จริงแต่มาแค่ยื่นหนังสือ และถ่ายภาพเชิงสัญญลักษณ์ประกาศให้สังคมภายนอกได้รู้ได้ประจักษ์”
อย่างไรก็แล้วแต่ปัญหาจะที่ชายแดนภาคใต้หรือส่วนกลางที่กำลังเร้าร้อน และเปลี่ยนผ่านจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่มันไม่สามารถปราศจากกระบวนการประชาธิปไตยว่าด้วยสงครามความคิดกับการจัดการความขัดแย้งโดยเปิดพื้นที่ปลอดภัยทางการเมืองไทย” (Political Space in Thailand ) ซึ่งอาจต้องในวาระต่อไป
ชมคลิป/ภาพที่นี่