บทความ บทความวิชาการ

ขุดโคตรรอฟิเฎาะฮฺ ตอนที่ 2

นักประวัติศาสตร์บางคนมีทัศนะว่า ชีอะฮฺ เริ่มต้นหลังจากฆาตกรรมท่านฮุเซ็น บินอะลี เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ซึ่งเป็นทัศนะที่มีความเป็นไปได้สูงมาก หลังจากที่ท่านฮุเซ็นได้ออกจากมะดีนะฮฺสู่อีรัคตามคำเชิญชวนของกลุ่มที่สนับสนุนท่าน แต่เมื่อถึงที่เมืองกัรบาลา พวกเขาได้กลับลอยแพท่านหุเซ็นให้เผชิญหน้ากับกองกำลังฝ่ายตรงกันข้ามอย่างโดดเดี่ยว เป็นผลทำให้ท่านฮุเซ็นถูกฆ่าอย่างทารุณ บรรดาผู้สนับสนุนท่านจึงมีจุดยืนต่อต้านราชวงศ์อุมะวียะฮฺ และมีมติออกจากการสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์นี้ ในช่วงนี้เกิดสงครามบ่อยครั้ง ทำให้สูญเสียชีวิตของแต่ละฝ่ายมากมาย มีการกล่าวถึงคำว่า ชีอะฮฺ กันอย่างแพร่หลาย และกลุ่มนี้มีความผูกพันกับท่านฮุเซ็นมากกว่าท่านอะลีด้วยซ้ำ ดังที่เราเห็นในปัจจุบันที่พวกเขาจัดพิธีกรรมรำลึกการเสียชีวิตของท่านฮุเซ็นอย่างเอิกเกริกใหญ่โตพร้อมบทรำพึงรำพันมากมายตลอดจนร้องห่มร้องไห้ ทุบตี ทรมานตัวเองเสมือนคนบ้าคลั่ง ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยจัดพิธีกรรมเช่นนี้ เพื่อรำลึกถึงการเสียชีวิตของท่านอะลีเลย แม้กระทั่งท่านหะซัน บินอะลีที่อาจกล่าวได้ว่าแทบหลุดวงจรที่ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงในแวดวงชีอะฮฺยุคนี้เลย
การตัดสินใจของท่านฮุเซ็นสู่เมืองอีรัค นับเป็นประเด็นใหญ่ที่เราควรพูดถึงเป็นอย่างยิ่งครับ

ตามอะกีดะฮฺของชาวรอฟีเฎาะฮฺมีความเชื่อว่าบรรดาอิมามเป็นมะอฺศูม การตัดสินใจของอิมามไม่เคยผิดพลาดและพวกเขาสามารถหยั่งรู้ฟ้าดินจนสามารถรับรู้วันตายของตัวเองด้วยซ้ำ
การตัดสินใจของท่านฮุเซ็นสู่เมืองอีรัคมีสาเหตุมาจาก 2 กรณีเท่านั้น คือ
1. เนื่องจากการตัดสินใจอันเด็ดเดี่ยวของท่าน
2. เนื่องจากเป็นคำวิวรณ์(วะฮฺยู) ที่เป็นคำสั่งจากอัลลอฮฺ

หากเป็นกรณีแรกการตัดสินใจของท่านเป็นการตัดสินใจที่มะอฺศูม(ตามความเชื่อของลัทธิรอฟิเฎาะฮฺ) แล้วเราจะไปเสียอกเสียใจกับผลของการตัดสินใจที่ถูกต้องของอิมามไปทำไม ท่านอิมามสามารถทำนายอนาคตมิใช่หรือ แล้วด้วยเหตุผลประการใดที่อิมามยังเข้าไปในอีรัคด้วยความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกแล้วว่าจะลงเอยด้วยรูปแบบใด
หากเป็นกรณีที่สอง ทุกอย่างก็จบ เพราะมุสลิมไม่มีสิทธิ์แสดงปฏิกิริยาใดๆ ต่อคำสั่งของอัลลอฮฺนอกจากยอมจำนนและยอมรับด้วยความบริสุทธิ์ใจเท่านั้น เขาไม่สามารถตีโพยตีพายหรือแสดงอาการไม่พอใจต่อคำตัดสินของอัลลอฮฺโดยเด็ดขาด หาไม่แล้ว เขาจะถูกผนวกรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชนที่ไม่ศรัทธาต่อเกาะฏอและกอดัรของอัลลอฮฺเลยทีเดียว มุสลิมทุกคนถูกสั่งใช้ให้ค้นหาวิธีการใดๆก็ได้ที่ถูกต้องเพื่อประกันความปลอดภัยของตนเอง หากเกิดสิ่งดี เขาควรชุโกร์ และหากเกิดสิ่งที่ไม่ดี เขาควรศอบัรและมอบหมายแด่อัลลอฮฺสุบฮานะฮูวะตะอาลา ไม่ควรรำพึงรำพันเสียใจร่ำไห้กับสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วนานนับพันๆปี ที่แม้แต่คนไม่เชื่อในพระเจ้าก็ยังไม่ทำเยี่ยงนี้

สรุปแล้ว กลุ่มชนที่แปรพักต์ออกจากการสวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์อุมะวียะฮฺคือกลุ่มชนที่มีความคิดเห็นที่ขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น พวกเขายังยึดมั่นในหลักการอะกีดะฮฺและหลักชะรีอะฮฺเฉกเช่นชาวสุนนะฮฺทุกประการ แม้กระทั่งบรรดาอิมามยุคแรกๆ ที่ชาวชีอะฮฺยกย่องว่าเป็นทายาทที่สืบทอดจากท่านอะลีก็ไม่่่ใช่ใครอื่น นอกจากเป็นกลุ่มชนยุคเศาะฮาบะฮ์และยุคตาบิอีนที่ยึดมั่นกับหลักพื้นฐานของชาวสุนนะฮฺทุกประการ

หลังจากกการชะฮีดของท่านฮุเซ็น เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายกลับสู่ภาวะปกติในระดับหนึ่ง ในช่วงนี้ลูกชายของท่านคือ อะลีซัยนุลอะบีดีน บิน ฮุเซ็นมีความโดดเด่นมาก ท่านเป็นคนอาลิมที่ใช้ชีวิตอย่างสมถะ ไม่เคยปรากฏร่องรอยที่บ่งบอกว่าท่านมีทัศนะขัดแย้งกับบรรดาเศาะฮาบะฮฺและตาบิอีนในประเด็นอะกีดะฮฺและชะรีอะฮฺเลย
ท่านอาลีซัยนุลอาบิดีนมีบุตรชาย 2 คนที่เป็นคนอาลิมและตักวา คนหนึ่งชื่อมุฮัมมัด อัลบากิร และอีกคนชื่อ ซัยด์ ท่านทั้งสองมีทัศนะเดียวกันกับบรรดาเศาะฮาบะฮฺและตาบิอีน มีเพียงประเด็นเดียวที่ ซัยด์ มีทัศนะว่าท่านอะลี บิน อะบีฏอลิบเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมได้รับตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮฺมากกว่าท่านอะบูบักร์ อุมัรและอุษมาน แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าซัยด์ มีหลักอะกีดะฮฺที่ต่างกับบรรดาเศาะฮาบะฮฺ ท่านได้ยอมรับการเป็นเคาะลีฟะฮฺของเศาะฮาบะฮฺทั้ง 3 ท่าน แต่เห็นว่าท่านอะลีมีความเหมาะสมกว่าเท่านั้น เพราะท่านเชื่อว่า ในบางกรณี อนุญาตให้แต่งตั้งผู้นำที่มีความประเสริฐน้อยกว่าถึงแม้จะมีผู้นำที่มีคุณสมบัติที่ประเสริฐกว่าก็ตาม ส่วนในประเด็นอื่นๆ ท่านซัยด์มีความเห็นพ้องกันกับเศาะฮาบะฮฺและตาบิอีนทุกประการ
ซัยด์ บิน อะลีซัยนุลอาบีดีน ได้ตัดสินใจไม่สวามิภักดิ์ต่อราชวงศ์อุมาวียะฮฺตามรอยปู่ของท่าน (ฮุเซ็น) เช่นเดียวกัน จนกระทั่งท่านถูกฆาตกรรมเสียชีวิตในปี 122 ฮ.ศ. บรรดาสานุศิษย์ของท่านได้ริเริ่มก่อตั้งสำนักแนวคิดตามแนวคิดของท่านที่รู้จักในนาม สำนักคิดซัยดียะฮฺ ซึ่งเป็นสำนักคิดที่ใกล้เคียงกับชาวสุนนะฮฺมากที่สุด เว้นแต่ประเด็นเดียวเท่านั้นคือพวกเขาเชื่อว่าท่านอะลี บินอะบีฏอลิบ มีความประเสริฐและเหมาะสมกว่าเคาะลีฟะฮฺทั้ง 3 สำนักคิดซัยดียะฮฺมีอยู่แพร่หลายในประเทศเยเมนปัจจุบัน

ช่วงที่ท่านซัยด์ บินอะลีมีชีวิตอยู่ มีบรรดาสานุศิษย์กลุ่มหนึ่งได้ถามท่านเกี่ยวกับอะบูบักร์และอุมัร ท่านจึงได้กล่าวพรทั้งสองด้วยคำดุอาที่ดี แต่สานุศิษย์กลุ่มนี้ได้ปฏิเสธแนวคิดของท่านและได้ปฏิเสธที่จะกล่าวพรต่ออะบูบักร์และอุมัร กลุ่มนี้จึงถูกเรียกภายหลังว่า รอฟิเฎาะฮฺ หมายถึง กลุ่มชนที่ปฏิเสธ หมายถึง ปฏิเสธแนวคิดของท่านซัยด์ และในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธการเป็นผู้นำของท่านอะบูบักร์และอุมัร กลุ่มนี้ได้แผ่อิทธิพลอย่างกว้างขวางและเป็นต้นตำรับของลัทธิอิมาม 12 ซึ่งเป็นลัทธิที่ครองอำนาจในอิหร่าน เลบานอน และแผ่ขยายอย่างกว้างขวางในประเทศอาหรับและโลกมุสลิมในปัจจุบัน นับแต่นั้นเป็นต้นมา พวกเขาจึงสิ้นสภาพของการเป็นชีอะฮฺอะลีทุกประการ แต่ชื่อที่มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับแนวคิดและอะกีดะฮฺของพวกเขาคือ รอฟิเฎาะฮฺ หมายถึง ผู้ปฏิเสธแนวคิดของท่านซัยด์ และปฏิเสธการเป็นผู้นำของท่านอะบูบักร์และอุมัรนั้นเอง

มีต่อภาค 3


โดย ทีมงานวิชาการ