คำถาม
ที่มัสยิดหะรอม เคยมีอิมามนำละหมาดในคราวเดียวกัน 4 ท่าน ตามมัซฮับจริงหรือไม่ ขอรายละเอียดด้วยครับ
คำตอบ
1. ปรากฏการณ์อุตริกรรม(บิดอะฮ์)ในลักษณะนี้ เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 6 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช ซึ่งเป็นผลของการคลั่งไคล้ของกลุ่มสำนักคิด (มัซฮับฟิกฮ์) จนกระทั่งแต่ละสำนักมีมะกอมเฉพาะของตน มะกอมของสำนักคิดหะนะฟี อยู่ตรงข้ามกับมีซาบ (รางทอง) ทางทิศเหนือของอาคารกะอฺบะฮ์ มะกอมของสำนักคิดมาลิกีอยู่ฝั่งรุกุนยะมานี มะกอมสำนักคิดชาฟิอีย์อยู่หลังมะกอมอิบรอฮีม ส่วนมะกอมสำนักคิดหะนาบิละฮ์อยู่ระหว่างหินดำและรุกุนยะมานี
ส่วนการละหมาดของแต่ละเวลา ก็จะละหมาดเรียงตามลำดับอิมามโดยจะเริ่มจากชาวมัซฮับชาฟิอีก่อนเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นจะตามด้วยชาวมัซฮับหะนะฟี ชาวมัซฮับมาลิกี และชาวมัซฮับฮัมบาลีตามลำดับ
ยกเว้นละหมาดมัฆริบ เนื่องจากระยะเวลากระชั้นชิด พวกเขาจึงละหมาดพร้อมกันในเวลาเดียวกัน ทำให้เกิดความสับสนและเกิดความเข้าใจผิดของบรรดามะอฺมูม(ผู้ตาม)
สาเหตุที่ชาวมัซฮับชาฟิอีได้รับโอกาสให้ละหมาดก่อนและได้รับเลือกให้ตั้งมะกอมหลังมะกอมอิบรอฮีม เนื่องจากเคาะลีฟะฮ์อับบาสิยะฮ์ยุคนั้น ชื่นชอบและเลื่อมใสสำนักอิมามชาฟิอีเป็นการส่วนตัว
มีอุละมาอฺบันทึกเรื่องราวดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้เเก่
Ibnu Jubair ที่ได้บันทึกเหตุการณ์ช่วงประกอบพิธีฮัจญ์ในปี ฮ.ศ. 579 ว่า ที่มัสยิดหะรอมมีอิมามสุนหนี่ 4 ท่านรวมกับอิมามมัซฮับซัยดิยะฮ์เป็นอิมามคนที่ 5 ซึ่งผู้คนในมัซฮับต่างๆจะละหมาดเป็นเอกเทศตามอิมามในสังกัด อิมามสังกัดชาฟิอีที่อยู่หลังมะกอมอิบรอฮีมจะละหมาดก่อน เนื่องจากเคาะลีฟะฮ์อับบาสิยะฮ์ในยุคนั้น ชื่นชมและเลื่อมใสสำนักคิดนี้ และจะตามด้วยอิมามอื่นตามลำดับ ยกเว้นละหมาดมัฆริบ ซึ่งพวกเขาจะละหมาดในเวลาเดียวกันเนื่องจากเวลากระชั้นชิด ทำให้บรรดามะมูม (ผู้ตาม) เกิดความสับสนอลหม่าน บางครั้งมะมูมมาลิกีจะรุกูอฺตามอิมามของชาฟิอี หรือบางคนให้สลามที่ไม่ใช่ตามสลามของอิมามตนเองทำให้แต่ละคน ใจจดใจจ่อกับเสียงอิมามของตนเอง ซึ่งบางครั้งเกิดความผิดพลาดและสับสนเป็นอย่างมาก
(رحلة ابن جبير ص : ٧٠)
ปรากฏการณ์เช่นนี้ กลายเป็นจุดดำของประชาชาติมุสลิม แต่ได้มีการสานต่อยืดเยื้อยาวนานเกือบ 9 ศตวรรษ จนกระทั่งกษัตริย์อับดุลอาซิส อาลซะอูดสามารถรวบรวมเมืองหิญาซในปีฮ.ศ. 1343 พระองค์ได้ยกเลิกอุตริกรรมนี้และทำให้ละหมาดญะมาอะฮ์เป็นหนึ่งเดียวภายใต้อิมามคนเดียว
(تاريخ عمارة المسجد الحرام ص: ٢٨٣)
2. อุละมาอฺทั้งอดีตและปัจจุบันต่างคัดค้านปรากฏการณ์นี้ เพราะทำให้แถวของประชาชาติมีความแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ เสมือนมีความเชื่อศรัทธาที่ต่างกันราวคนละศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานที่เกิดเหตุเป็นสถานที่อันประเสริฐและเป็นที่รักยิ่ง ณ อัลลอฮ์ เป็นศูนย์รวมของประชาชาติมุสลิมและสัญลักษณ์แห่งการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน แต่กลับเป็นสถานที่ที่สะท้อนถึงความแตกแยกทางความคิดอย่างรุนแรง จนไม่สามารถหันหน้าเข้าหากัน แม้กระทั่งช่วงทำอิบาดะฮ์ที่ประเสริฐสุด ณ สถานที่อันประเสริฐสุดก็ตาม
Sheikh Abu Ibrahim AL-Ghassani กล่าวว่า การที่ละหมาดญะมาอะฮ์ต้องกระจัดกระจายตามอิมามในแต่ละมัซฮับ ทำให้บางครั้งมีอิมามที่กำลังสุญูด อีกคนกำลังรุกูอฺ อีกคนกล่าว سمع الله لمن حمده ซึ่งไม่มีผู้ใดในหมู่ผู้รู้ที่เล่าปรากฏการณ์นี้ไม่ว่าจากผู้มีความรู้ที่ถูกต้องหรือบิดเบือน ไม่ว่าในช่วงเดินทางหรืออยู่ประจำที่บ้าน ไม่ว่าในสภาวะคับขันช่วงสงครามหรือในภาวะปกติ ไม่มีผู้รู้คนไหนที่บันทึกเหตุการณ์นี้ เพื่อนำเป็นแบบอย่างที่ดี แต่ทุกคนจะกล่าวถึงเพื่อแสดงการคัดค้านและสะท้อนถึงมุมมืดในประวัติศาสตร์อิสลามต่างหาก
(مواهب الجليل ١١٠-١٠٩ ج٢)
แท้จริง การมีมะกอมอิมามหลายมะกอมในมัสยิดเดียวกัน เนื่องจากมีความเห็นต่างทางสำนักคิด ถือเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตและบรรดาอุละมาอฺได้คัดค้านในเรื่องนี้อย่างแข็งขัน พวกเขาได้เขียนตำรามากมายที่ปฏิเสธปรากฏการณ์นี้
(الشوكاني في البدر الطالع ٢/٢٧)
أبو الطبيب شمس الحق العظيم آبادي في كتابه التعليق المغني على سنن الدار قطني (٤/٢٢٦)
กล่าวว่า
ส่วนหนึ่งของอุตริกรรมในศาสนาคือการละหมาดญะมาอะฮ์หลายครั้งตามอิมามหลายคน ดังที่ได้ปฏิบัติกันในขณะนี้ที่มัสยิดหะรอม พวกเขาได้กำหนดว่า นี่คือสถานที่เฉพาะของกลุ่มชาฟิอี นี่เป็นที่ละหมาดของหะนะฟี นี่เป็นของมาลิกีและนี่เป็นของหัมบาลี การกระทำเช่นนี้ถือเป็นการสร้างความแตกแยกของญะมาอะฮ์ ดังที่อิมามเชากานี رحمه الله ได้กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่อันตรายและเลวร้ายที่สุดสำหรับอิสลามในเวลานี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่มัสยิดหะรอม ที่แต่ละกลุ่มมัซฮับได้ละหมาดตามอิมามของตนเองเสมือนว่าพวกเขาเป็นคนต่างศาสนาและมีชะรีอะฮ์คนละแบบทีเดียว
إنا لله وإنا إليه راجعون
3. ถึงแม้อุละมาอฺจะคัดค้านอย่างหนักในเรื่องนี้ แต่ปรากฏการณ์ที่เป็นภาพลบนี้ ได้ยืดเยื้อยาวนานที่มัสยิดหะรอมเกือบ 9 ศตวรรษ จนกระทั่งกลายเป็นความเคยชินและเป็นสิ่งปกติ ซึ่งทำให้มุสลิมโดยส่วนใหญ่มองว่าเป็นสิ่งที่ได้รับอนุมัติและอิสลามให้การสนับสนุน ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่มีหลักฐานทางศาสนาใดๆมารองรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีอุละมาอฺมากมายที่ได้คัดค้าน แต่เสียงของพวกเขาในบางครั้งไม่มีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ระหว่างความเท็จและความถูกต้อง น้ำหมึกของอุละมาอฺในบางครั้งจึงไม่มีพลังพอที่จะลบล้างแนวคิดที่เป็นกระแสทางการเมืองได้นอกจากพลังทางการเมืองเช่นเดียวกัน
ปรากฏการณ์นี้สอนให้เรารู้ว่า กระแสคนหมู่มากที่มีการปฏิบัติอย่างยาวนานนับศตวรรษ ก็ไม่ใช่เป็นเครื่องการันตีว่าสิ่งนั้น มีความชอบธรรมเสมอไป เพราะความจริงคือสิ่งที่ชะรีอะฮ์ยอมรับ ถึงแม้ผู้คนทั้งโลกจะปฏิเสธ และความชั่วร้ายคือสิ่งที่ชะรีอะฮ์ปฏิเสธ ถึงแม้ผู้คนทั้งโลกจะยอมรับก็ตาม
ศ็อนอานีย์ رحمه الله ได้กล่าวว่า
“การนิ่งเงียบของผู้รู้หรือโลกทั้งใบต่อปรากฏการณ์แห่งความชั่วร้ายหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่า สิ่งนั้นถูกต้องเสมอไปดังกรณีปรากฏการณ์ที่มัสยิดหะรอม อันเป็นพื้นที่ประเสริฐสุดด้วยมติเอกฉันท์ของบรรดาอุละมาอฺ แต่มีชนชั้นปกครองที่บิดเบือนในบางยุคสมัย ได้อุตริแนวคิดกำหนดมะกอมอิมามทั้ง 4 ในเวลาละหมาด ซึ่งก่อให้เกิดความแตกแยกและความเลวร้ายอันใหญ่หลวงที่ไม่มีใครสามารถประเมินได้นอกจากอัลลอฮ์ ทำให้พวกเขามีอคติลุ่มลึกบ่มเพาะความขัดแย้งเสมือนนับถือคนละศาสนา เป็นอุตริกรรมที่ทำให้อิบลีส กระหยิ่มยิ้มด้วยความพึงพอใจ และทำให้ชัยฏอนหัวเราะเยาะใส่ชาวมุสลิมซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนรับรู้โดยทั่ว บรรดาอุละมาอฺผู้ประสบพบเห็น ต่างก็รู้ดี แต่การนิ่งเงียบของพวกเขา สามารถเป็นหลักฐานว่าพวกเขาเห็นดีกับพฤติกรรมเช่นนี้หรือไม่ และเป็นการการันตีว่าสิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งที่อิสลามอนุมัติหรือไม่
(تطهير الاعتقاد ص: ٧٨)
สรุป
ในฐานะอนุชนรุ่นหลัง เราไม่มีหน้าที่ไปแก้ไขประวัติศาสตร์ และไม่ใช่ภารกิจที่จะไปตำหนิหรือด่าทอชนรุ่นก่อน เวลาของพวกเขาได้ผ่านพ้นไปแล้ว พวกเขาได้สร้างผลงานพร้อมๆกับความผิดพลาด ที่อัลลอฮ์เท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสินอย่างยุติธรรม หน้าที่ของเราคือนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นบทเรียนสอนใจ ระมัดระวังอย่าไปภูมิใจกับมุมมืดในประวัติศาสตร์ อย่าไปเหยียบย่ำซ้ำเติมรอยเดิมที่ผิดพลาด พร้อมขอดูอาให้อัลลอฮ์อภัยโทษแด่เหล่าบรรพชนที่รับอิสลามก่อนหน้าเรา แค่นี้ก็ถือว่าเราได้สร้างคุณประโยชน์แก่ประชาชาติอิสลามและโลกมุสลิมอย่างอเนกอนันต์แล้ว
وَالَّذِينَ جَاءُوا مِن بَعْدِهِمْ يَقُولُونَ رَبَّنَا اغْفِرْ لَنَا وَلِإِخْوَانِنَا الَّذِينَ سَبَقُونَا بِالْإِيمَانِ وَلَا تَجْعَلْ فِي قُلُوبِنَا غِلًّا لِّلَّذِينَ آمَنُوا رَبَّنَا إِنَّكَ رَءُوفٌ رَّحِيمٌ (سورة الحشر /١٠)
ดูเพิ่มเติม
https://islamqa.info/ar/answers/245983/لماذا-كان-في-الحرم-المكي-لكل-مذهب-امام-يصلي-باهل-مذهبه