บทความ ประวัติศาสตร์

2 พี่น้องบาร์บาร็อสซ่า : แม่ทัพเรือใหญ่แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ (ตอนที่ 2)

เมื่ออะรูจญ์ได้ขึ้นเป็นผู้ปกครองแอลจีเรีย คิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺก็มองเห็นโอกาสในการขยายฐานอำนาจในแอฟริกาเหนือ จึงได้เสนอการสนับสนุนทางการเงินและการเมืองแก่ 2 พี่น้องบาร์บาร็อสซ่า ด้วยการสนับสนุนนี้ 2 พี่น้องบาร์บาร็อสซ่าจึงมีความมั่นคงมากขึ้นในภูมิภาคนี้

ต่อมา คิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺก็ได้เสนอตำแหน่งผู้ปกครองแอลจีเรียอย่างเป็นทางการให้แก่อะรูจญ์ และตำแหน่งหัวหน้ากองเรือแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกให้แก่ค็อยรุดดีน ทั้ง 2 รับข้อเสนอ กองเรื่องบาร์บาร็อสซ่าจึงได้ชักธงสัญลักษณ์อุษมานียะฮฺขึ้นโบกสะบัด เป็นธงสีเขียวเขียนข้อความว่า

نَصْرٌ مِّنَ اللَّـهِ وَفَتْحٌ قَرِيبٌ وَبَشِّرِ الْمُؤْمِنِينَ يَا مُحَمَّد
“ความช่วยเหลือมาจากอัลลอฮฺ และการพิชิตใกล้เข้ามาแล้ว และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาเถิด โอ้มุฮัมหมัด”

และยังมีการเขียนชื่อคุละฟาอ์อัรรอชิดีนทั้ง 4 ท่าน มีรูปดาบซุลฟิกอร หัว 2 แฉก และรูปดาว 6 เหลี่ยม ดาราแห่งเดวิดด้วย

ในปี ค.ศ.1518 สเปนและพันธมิตรได้ยกทัพกลับมา หวังจะยึดแอลจีเรียคืนมาจาก 2 พี่น้องบาร์บาร็อสซ่า สเปนปลุกปั่นผู้นำ (อะมีร) เมืองติลิมซานให้ต่อต้านอะรูจญ์ จนเกิดการต่อสู้ที่หนักหน่วง กระทั่งอะรูจญ์ถูกจับตัวไปและไม่นานเขาก็เสียชีวิตลง สเปนชนะสงครามและยึดแอลจีเรียคืนไปได้

คิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺจึงได้แต่งตั้งให้ค็อยรุดดีนเป็น “เบย์เลอเบย์” (หมายถึง ผู้นำ, แม่ทัพ หรือผู้แทนในพื้นที่) ตำแหน่งผู้ปกครองแอลจีเรียจึงถูกส่งต่อให้กับ “ค็อยรุดดีน บาร์บาร็อสซ่า” ในตอนนี้ฉายาบาร์บาร็อสซ่าเป็นของเขาแต่เพียงผู้เดียวแล้ว เขาได้รับการสนับสนุนจากสุลต่านอุษมานียะฮฺในการต่อสู้กับสเปน และสามารถยึดแอลจีเรียกลับคืนมาได้ แอลจีเรียจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ อีกทั้งยังเป็นฐานบัญชาการหลักในภูมิภาคทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันตกด้วย

เมื่อสุลต่านซาลิมที่ 2 เสียชีวิตลงในปี ค.ศ.1520 ลูกชายที่ชื่อ “สุลัยมาน” ก็ได้ขึ้นครองตำแหน่งสุลต่านคนต่อไป โลกตะวันตกเรียกสุลต่านสุลัยมานว่า “สุลัยมานผู้เกรียงไกร” (The Magnificent) ส่วนในโลกอิสลามเอง ประชาชนให้ฉายาเขาว่า “สุลัยมานผู้ตรากฏหมาย (ที่ยุติธรรม)” (سُلَيْمَان القَانُوْنِي) และเพื่อเป็นการตอบแทนคุณ ค็อยรุดดีนได้ให้คำสัตย์ต่อสุลต่านสุลัยมานว่า กองเรือของเขาพร้อมจะรับใช้คิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺอย่างเต็มที่

ค็อยรุดดีน บาร์บาร็อสซ่า เป็นผู้นำที่มีทักษะสูง เขาฉลาด กล้าหาญ และรอบรู้หลายภาษา กองเรือของเขาได้ทำการต่อสู้กับสเปนอย่างต่อเนื่อง พวกเขาขัดขวางกองเรือสเปนที่บรรทุกทองคำมาจากแผ่นดินอเมริกา และเข้าโจมตีชายฝั่งทะเลในสเปน อีตาลี และฝรั่งเศษด้วย

ในปี ค.ศ.1522 ค็อยรุดดีนได้ส่ง “กูรโตกลู” (Kurtoğlu) ทหารคนสนิทคนหนึ่งของเขาพร้อมกองเรือจำนวนหนึ่ง เข้าพิชิตเกาะโรดส์ ป้อมปราการของอัศวินเซนต์จอห์นคือ “คณะอัศวินบริบาล” หรือ “อิศวินฮอสพิทัลเลอร์” (Knights Hospitaller) ที่หลงเหลือมาจากสงครามครูเสด ซึ่งมักจะสร้างปัญหาให้กับคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺอยู่เสมอ พวกเขาคอยโจมตีเรืออุษมานียะฮฺที่ปฏิบัติการอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นประจำ การพิชิตในครั้งนี้ถือเป็นการขจัดเสี้ยนหนามที่รบกวนปฏิบัติการต่าง ๆ ของคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺออกไป

ส่วนในปี ค.ศ.1529 ค็อยรุดดีน บาร์บาร็อสซ่า ก็ได้ช่วยเหลือมุสลิมชาวมัวร์กว่า 70,000 คน หนีออกมาจากแผ่นดินอันดาลุส (สเปน) ไว้ได้สำเร็จ ในนั้นมีชาวยิวรวมอยู่ด้วย และตั้งแต่ปี ค.ศ.1530 เขาได้ล่องเรือต่อสู้กับกองเรือคริสเตียน พิชิตเกาะปาลมาส และเมืองต่าง ๆในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และในปี ค.ศ.1534 กองเรือของเขาก็ได้แล่นตรงไปที่แม่น้ำไทเบอร์ สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วกรุงโรม

คิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺอยู่ในช่วงที่รุ่งเรืองที่สุด สุลต่านสุลัยมานผู้เกรียงไกรนำกองทัพเข้าพิชิตหลายเมืองในยุโรปทางภาคพื้นดิน ส่วนค็อยรุดดีนนำกองเรือเข้าพิชิตน่านน้ำต่าง ๆ ทางภาคพื้นทะเล สุลต่านสุลัยมานประทับใจและยกย่องค็อยรุดดีนเป็นอย่างมาก

กระทั่งในปี ค.ศ.1533 ค็อยรุดดีน บาร์บาร็อสซ่า ลูกชายช่างทำเครื่องปั้นดินเผา ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับกองเรือคริสเตียนในฐานะโจรสลัด ที่ตอนนี้กลายมาเป็นผู้นำกองเรือที่เข้มแข็งและยิ่งใหญ่ ก็ได้รับเกียรติจากสุลต่านสุลัยมาน ถูกแต่งตั้งให้เป็น “กาปูดัน ปาชา” แม่ทัพเรือสูงสุดของคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ มหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกในเวลานั้น

ความแข็งแกร่งของกองเรือบาร์บาร็อสซ่า ไม่เพียงสร้างปัญหาให้แก่สเปนและโปรตุเกสเท่านั้น แต่ยังเป็นภัยคุกคามครั้งใหญ่สำหรับชาติยุโรปทั้งหมดด้วย

ติดตามตอนต่อไป ตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=4236


อ้างอิง :
1. خيرالدين بربروس ดู https://ar.wikipedia.org/…/%D8%AE%D9%8A%D8%B1_%D8%A7%D9%84%…
2. عروج بربروس ดู https://ar.wikipedia.org/…/%D8%B9%D8%B1%D9%88%D8%AC_%D8%A8%…
3. “From Pirate to Admiral: The Tale of Barbarossa” เขียนโดย John P. Rafferty ดู https://www.britannica.com/…/from-pirate-to-admiral-the-tal…
4. “Admiral Hayreddin Barbarossa” เขียนโดย Kallie Szczepanski ดู https://www.thoughtco.com/admiral-hayreddin-barbarossa-1957…
5. “Hayreddin Barbarossa: Causing a Ruckus as the Notorious Pirate Redbeard” เขียนโดย Ḏḥwty ดู http://www.ancient-origins.net/…/hayreddin-barbarossa-causi…


อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=4083
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=4232
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=4236

ที่มา : GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่