บทความ บทความวิชาการ

เล่าเรื่อง “ปาเลสไตน์” ผ่านแผนที่ (1)

ตามที่ได้สัญญาเอาไว้ครับ ผมตั้งใจจะเขียนเล่าเรื่องราวปัญหาปาเลสไตน์โดยอธิบายผ่านแผนที่ ซึ่งสำนักข่าวอัลญะซีเราะฮ์ได้รวบรวมเอาไว้ในบทความที่ใช้ชื่อหัวเรื่องว่า Palestine and Israel: Mapping an Annexation

บทความที่ว่านี้พยายามฉายภาพพัฒนาการของดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลค่อย ๆ ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจนดินแดนปาเลสไตน์แทบจะไม่มีเหลือเป็นชิ้นเป็นอัน ล่าสุดคือความพยายามที่จะผนวกดินแดนบางส่วนของเวสต์แบงก์ โดยเฉพาะในหุบเขาจอร์แดน อันเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนอกเหนือจากกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งอิสราเอลได้ผนวกและประกาศให้เป็นเมืองหลวงของประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วันนี้ผมจึงขอเริ่มต้นอธิบายแผนที่อันแรกของบทความดังกล่าว (ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 27 แผนที่) อันเป็นแผนที่ปาเลสไตน์ก่อนปี 1917

ขอเล่าย้อนประวัติศาสตร์สั้น ๆ อย่างนี้ครับ เมื่อราว ๆ ค.ศ. 1915 มีการติดต่อกันทางจดหมายระหว่าง เซอร์ เฮนรี่ เมคมาฮอน (Sir Henry McMahon) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอียิปต์ กับ ชารีฟ ฮุสเซน (Sharif Hussein) ผู้ครองแคว้นฮิญาชและเป็นตัวแทนของชาวอาหรับทั้งผอง

เมคมาฮอนพยายามเกลี้ยกล่อมให้ชาวอาหรับสนับสนุนฝ่ายมหาอำนาจพันธมิตร สู้รบกับฝ่ายมหาอำนาจอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยสัญญาจะให้เอกราชแก่ชาวอาหรับในทุก ๆ ดินแดนหลังจากสงครามยุติลง รวมถึงปาเลสไตน์ด้วย ด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงได้ลงนามในข้อตกลงแองโกล-อาหรับในฤดูใบไม้ร่วงปี 1915

คำสัญญาดังกล่าวทำให้ ชารีฟ ฮุสเซน เข้าร่วมรบกับกองทัพฝ่ายพันธมิตร ขณะเดียวกัน ชาวอาหรับจากซีเรีย เลบานอน และปาเลสไตน์ ก็เข้าร่วมลุกฮือขึ้นก่อกบฎต่อต้านอาณาจักรออตโตมานที่ประกาศเข้าร่วมสงครามในนามฝ่ายอักษะ

ชาวอาหรับยินดีต้อนรับกองทัพอังกฤษที่เข้ามาในปาเลสไตน์ เปรียบทหารอังกฤษเหล่านั้นเป็นเสมือนผู้มาปลดปล่อยให้พวกเขามีอิสรภาพหลังจากต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของออตโตมานเติร์กมานานเกือบ 500 ปี

แต่แล้วชาวอาหรับก็ถูกหักหลัง เพราะไม่เพียงแต่อังกฤษจะไม่รักษาคำมั่นสัญญาเท่านั้น แต่ยังไปสนับสนุนองค์กรยิวไซออนิสต์ให้จัดตั้งรัฐยิวขึ้นในปาเลสไตน์ผ่านคำแถลงการณ์บัลโฟร์ (Balfour Declaration) ซึ่งมีชื่อเรียกตามนามของรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษสมัยนั้น คือ เซอร์ อาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ (Sir Arthur James Balfour)

คำแถลงการณ์บัลโฟร์นี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอังกฤษในเดือนตุลาคม 1917 มาถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 103 ปีแล้วครับ

ใจความของคำแถลงการณ์ตอนสำคัญมีความว่า

“รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิจารณาด้วยความเห็นชอบ ในการตั้งถิ่นฐานสำหรับพวกยิวขึ้นแห่งหนึ่งในประเทศปาเลสไตน์ และจะใช้ความพยายามจนสุดความสามารถที่จะอำนวยความสะดวกต่อการบรรลุถึงวัตถุประสงค์ข้อนี้ เป็นที่เข้าใจอย่างแจ้งชัดว่า จะไม่มีการปฏิบัติการใด ๆ อันเป็นผลร้ายต่อสิทธิพลเรือนและการนับถือศาสนา ของหมู่ชนที่มิใช่ชาวยิวในประเทศปาเลสไตน์ หรือสิทธิและสถานภาพทางการเมืองที่พวกยิวได้รับในประเทศอื่น”

จากคำประกาศดังกล่าวนี้อังกฤษได้ออกมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวยิวได้อพยพเข้ามาในแผ่นดินปาเลสไตน์แบบไม่จำกัดจำนวน

ในเวลานั้น ประชากรของประเทศปาเลสไตน์ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 700,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 หรือประมาณ 600,000 คนเป็นชาวอาหรับมุสลิม ส่วนชาวยิวซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเดิมมีประชากรอยู่แต่ร้อยละ 6 เท่านั้น (ดูตามแผนที่และข้อมูลข้างใต้บทความนี้)

แต่หลังจากปี 1917 โครงสร้างประชากรในดินแดนปาเลสไตน์ก็เปลี่ยนไปอย่างมากครับ ดูจากแผนที่ข้างใต้นี้ปาเลสไตน์ยังอาศัยอยู่กันเต็มพื้นที่เห็นเป็นสีเขียวจนแทบไม่เห็นประชากรชาวยิวท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยกันอยู่ในพื้นที่สีฟ้า

แล้วค่อยมาว่ากันต่อก็แล้วกันครับ


เขียนโดย Srawoot Aree