บทความ บทความวิชาการ

ความเป็นมาของอายาโซเฟีย

ความเป็นมาของอายาโซเฟีย : จากมหาวิหารที่สำคัญที่สุดในคริสต์ออโตดอกซ์ของจักรวรรดิโรมันผู้ยึดครอง เป็นมัสยิดอิสลาม สู่พิพิธภัณฑ์ และเป็นมัสยิดอีกครั้งในวันนี้

ศาลปกครองสูงสุดของตุรกี หรือที่เรียกว่า “สภาแห่งรัฐ” ประกาศการฟื้นฟูอายาโซเฟีย หรือฮาเกียโซเฟีย Hagia Sophia จากพิพิธภัณฑ์ไปยังมัสยิด อันเป็นการกลับคำสั่ง 86 ปี ของคณะรัฐมนตรีภายใต้ประธานาธิบดีมุสตาฟา กามาล อาตาเติร์ก

มหาวิหารอายาโซเฟียถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.360 เพื่อเป็นศาสนสถานมหาวิหารที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในโลกของคริสตจักรออร์โธดอกซ์มาเกือบพันปี ตามคำสั่งของจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งไบเซนไทน์โรมันตะวันออก เงาทะมึนแห่งอาณาจักรโรมันผู้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายึดครองดินแดนแถบอาระเบีย และแอฟริกาเหนือในยุคนั้น

ในยุคไบเซนไตน์ นอกจากมหาวิหารอายาโซเฟียจะเป็นศาสนสถานสำคัญแล้ว ยังเป็นสถานประกอบรัฐพิธี เช่น การสถาปนากษัตริย์องค์ใหม่ เป็นต้น

การล่มสลายของกรุงคอนสแตนติโนเปิล แห่งไบเซนไตน์โรมันตะวันออก และการเข้าสู่อิสลามได้รับการบอกล่วงหน้าโดยท่านศาสดามูฮัมหมัด (สันติภาพจงมีแด่ท่าน ) กองทัพมุสลิมได้พยายามอย่างต่อเนื่องในทำตามคำพยากรณ์นี้โดยเริ่มจากยุคคอลีฟะฮ์สายสกุลอุมัยยะฮ์ Umayyad Dynasty ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 7

ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันวุ่นวาย อายาโซเฟียเคยถูกดัดแปลงเป็นวิหารโรมันคาทอลิคมาเกือบ 60 ปีในช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ในปี ค.ศ. 1204

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลถูกควบคุมโดยสุลต่านมุฮัมมัดที่สอง หรือมุฮัมมัด ฟาติห์ แห่งออตโตมัน ในปี ค.ศ. 1453 มหาวิหารฮาเกียโซเฟียถูกดัดแปลงให้เป็นสุเหร่าใหญ่ในเมืองหลวงใหม่ของอาณาจักรออตโตมัน ที่เปลี่ยนชื่อเมืองจาก “กรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล” สู่ “กรุงอิสตันบูล”

ผลพวงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

หลังการล่มสลายของออตโตมัน ในปี ค.ศ.1923 กามาล อะตาเติร์ก ได้สถาปนาสาธารณรัฐตุรกี เป็นรัฐเซคคิวลาร์ และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความปรารถนาดีต่อโลกของชาวคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ กามาล อะตาเติร์กได้เปลี่ยนสถานะมัสยิดอายาโซเฟียแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ ในปี ค.ศ.1934

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตุรกีจะเป็นรัฐเซคคิวลาร์ แต่ก็ยังเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มีการรณรงค์มาหลายสิบปีเพื่อฟื้นฟูอาคารโบราณแห่งนี้ให้เป็นมัสยิด

คำร้องเพื่อใช้อายาโซเฟียในการละหมาด ในปี 2016 ได้ถูกศาลปฏิเสธ แต่ปรากฏว่าในรอบนี้ ศาลสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีแอร์โดฆาน ผู้ซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้กล่าวว่า “การเปลี่ยนมัสยิดเป็นพิพิธภัณฑ์เป็นความผิดใหญ่หลวง”


เขียนโดย Ghazali Benmad