บทความ บทความวิชาการ

ระเบียบตะวันออกกลางในยุคโควิด-19 (ตอน 2)

ความเดิมเมื่อตอนที่แล้วคือ โควิด-19 ไม่ได้เป็นตัวการทำให้ระเบียบภูมิภาคของตะวันออกกลางเปลี่ยนไปหรอกครับ แต่มันเป็นตัวเร่งให้ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเกิดเร็วขึ้น หรือมีความเข้มข้นมากขึ้น

บทความตอนที่แล้ว ผมพยายามอธิบายว่าบริบทการเปลี่ยนแปลงของตะวันออกกลางประการหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเชื่อมโยงกับการเมืองระดับโลก คือความเสื่อมคล้ายเสื่อมถอยของสหรัฐฯในฐานะมหาอำนาจหนึ่งเดียว

ขณะเดียวกันรัสเซียก็เข้าไปยึดกุมหัวหาดสร้างฐานที่มั่นของตนเองในตะวันออกกลาง อันเท่ากับเป็นการท้าทายบทบาทของสหรัฐฯโดยตรง แต่ที่สำคัญคือประเทศจีนกลับเป็นฝ่ายที่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนทั่วในภูมิภาค

ทั้งหมดนี้คือภูมิทัศน์การเมืองใหม่ในตะวันออกกลาง เป็นสภาพการณ์ที่สหรัฐฯไม่ได้เป็นมหาอำนาจครอบงำแต่ฝ่ายเดียวเหมือนในยุคหลังสงครามเย็นอีกต่อไป แต่สหรัฐฯเป็นเพียงหนึ่งในบรรดามหาอำนาจโลกที่ดำรงอยู่ในตะวันออกกลางเท่านั้น เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนขึ้นหลังเกิดวิกฤติโควิด-19

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญอันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นมานานก่อนหน้านี้ในตะวันออกกลางคือการแข่งขันแย่งชิงการเป็นอำนาจนำระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ พอเกิดโควิด-19 เราก็เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

หากถามว่าอนุภูมิภาคไหนในตะวันออกกลางที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 มากที่สุด คำตอบที่น่าจะตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดคือกลุ่มประเทศร่ำรวยน้ำมันในคาบสมุทรอาหรับ ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีศักยภาพสูงด้านระบบสาธารณสุขและมีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดมากกว่าดินแดนส่วนอื่น ๆ ของตะวันออกกลาง

ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ในการป้องกันและควบคุมโรคเนื่องจากต้องจัดพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้คนจำนวนกว่า 2 ล้านคนในแต่ละปี นอกจากนั้น ซาอุดิอาระเบียยังได้จัดตั้งหน่วยงานควบคุมโรคระบาดแห่งชาติขึ้นหลังจากที่ประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสเมอส์ (MERS) ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2012

ด้วยเหตุนี้ ซาอุดิอาระเบียจึงมีความพร้อมและค่อนข้างตื่นตัวต่อการรับมือโรคระบาดโควิด-19 ก่อนใคร รวมถึงการเร่งขยายพื้นที่การตรวจเชื้อที่ขยายครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ทั้งซาอุดิอาระเบีย และประเทศร่ำรวยน้ำมันอื่น ๆ ก็มีความพร้อมในเรื่องช่องทางการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะล้วนเป็นประเทศที่มีการจัดสรรโครงการสวัสดิการให้กับประชาชนเป็นอย่างดีมาตลอดต่อเนื่อง

อีกทั้งกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังถือว่าเรื่องสาธารณสุขเป็นปัญหาทางความมั่นคงของประเทศ และได้ประกาศให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่ได้จำกัดสิทธิไว้ให้เฉพาะกลุ่มประชาชนที่เป็นพลเมืองของตนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่พักอาศัยอยู่ในประเทศและพวกแรงงานต่างชาติอีกด้วย

ซาอุดิอาระเบียค่อนข้างได้เปรียบในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส สามารถแสดงความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดข้ามชาติอันเท่ากับเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของตนเองในการเป็นผู้นำของภูมิภาค

แตกต่างจากอิหร่านที่ต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจและความมั่นคงอันเกิดจากมาตรการกดดันและคว่ำบาตจากสหรัฐฯ จนไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก

ขณะเดียวกัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งถือเป็นชาติพันธมิตรใกล้ชิดกับซาอุดิอาระเบีย ได้ใช้โอกาสนี้ดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อสร้างภาวะความเป็นผู้นำแห่งภูมิภาค โดยการปรับเปลี่ยนท่าทีที่เคยมีกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีเรียและอิหร่าน กล่าวคือมกุฎราชกุมารแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ติดต่อฟื้นความสัมพันธ์กับระบอบบาซาร์ อัล-อัสซาดแห่งซีเรีย พร้อมทั้งยืนยันที่จะให้การสนับสนุนซีเรียในการต่อสู่กับโรคระบาดโควิด-19

ยิ่งกว่านั้น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังได้ส่งเครื่องมือทางการแพทย์ไปช่วยอิหร่านในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับโรคระบาดอย่างหนักหนาสาหัสอีกด้วย

ส่วนตุรกีนั้นแม้จะเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในตะวันออกกลาง (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2020) แต่กลับเป็นประเทศที่พยายามส่งความช่วยเหลือไปให้ประเทศต่าง ๆ มากที่สุดเช่นกัน โดยทางรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีได้ออกมาเปิดเผยว่า มีประเทศต่าง ๆ ในโลกแสดงความจำนงขอความช่วยเหลือจากตุรกีกว่า 135 ประเทศ และตุรกีได้ส่งความช่วยเหลือพร้อมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปให้ประเทศต่าง ๆ แล้วจำนวน 81 ประเทศ

ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าแต่ละชาติใหญ่ ๆ ในตะวันออกกลางกำลังใช้วิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการเสริมภาพลักษณ์และสร้างบารมีของแต่ละฝ่ายอันจะหนุนเสริมให้ตนเองอยู่ในสถานะอำนาจนำในภูมิภาคตะวันออกกลาง

อย่างไรก็ตาม หากมองระยะใกล้ ต้องยอมรับว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยน้ำมันในคาบสมุทรอาหรับมีความได้เปรียบเหนือกลุ่มประเทศอื่น ทั้งนี้ก็เนื่องจากมีความพร้อมและมีทรัพยากรมากกว่าในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19

แต่ในระยะยาวก็คงต้องดูกันต่อไป แล้วค่อยมาว่ากันใหม่ครับ

แผนที่ข้างใต้นี้แสดงถึงแผ่นดินเกิดของศาสดาสำคัญ ๆ ท่านต่าง ๆ ในอดีตครับ


เขียนโดย Srawoot Aree


กลับไปอ่าน | ตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3965