โรคระบาดข้ามชาติ (Pandemic) หรือโรคระบาดใหญ่ที่แพร่กระจายจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งได้เคยเกิดขึ้นมานานแล้วในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่ด้วยสภาวะกระแสครอบโลก (Globalization) ทำให้ปัจจุบันการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมอาณาบริเวณต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค และส่งผลกระทบอย่างลุ่มลึกรอบด้าน
นับตั้งแต่ปลายปี 2019 โลกต้องเผชิญกับการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งสร้างความโกลาหลวุ่นวายหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวิถีชีวิตของผู้คน นำมาสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือ การเปลี่ยนแปลงของโลกหลังยุคโควิด-19 (Post-Covid-19 World)
หลายคนเชื่อว่าโลกหลังจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปชนิดที่ไม่มีอะไรจะกลับมาเหมือนเดิมได้อีก แต่สำหรับ ริชาร์ด ฮาอ์ซ (Richard Haas) เขาเชื่อว่า “โรคระบาดข้ามชาติจะเป็นตัวเร่งความเร็วของประวัติศาสตร์มากกว่าที่จะทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนรูปโฉมประวัติศาสตร์” หมายความว่า โควิด-19 จะไม่ได้เปลี่ยนทิศทางความเป็นไปของประวัติศาสตร์มากเท่ากับการเร่งเวลาประวัติศาสตร์
เขาอธิบายต่อไปว่าโลกหลังการระบาดใหญ่คงไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างสุดขั้วไปจากสิ่งที่เคยดำรงอยู่ก่อนหน้า เพียงแต่ว่าทุกวิกฤตใหญ่ที่เกิดขึ้นในโลกมักเป็นตัวกระตุ่นให้สถานการณ์ที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าปรากฏเด่นชัดขึ้นมากกว่าที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
หากเชื่อตามคำอธิบายของ ฮาอ์ซ เราก็อาจพอสรุปได้ในระดับหนึ่งว่า โควิด-19 น่าจะเป็นตัวเร่งให้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นมาได้ระยะหนึ่งแล้วในตะวันออกกลางปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้นหรือมีความเข้มข้นมากขึ้น มากกว่าที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
กระแสการเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลางซึ่งได้ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้วมีอยู่มากมายหลายประการด้วยกันครับ แต่ในงานเขียนนี้ผมขออนุญาตนำเสนอแค่ 3 ประเด็นหลัก ๆ
สำหรับวันนี้ขอเริ่มจากประเด็นแรกก่อน เพราะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางมาได้พักใหญ่ ๆ แล้ว นั่นคือประเด็นว่าด้วยเรื่องอิทธิพลของสหรัฐฯที่เสื่อมคลายลงและการผงาดขึ้นของจีนและรัสเซีย
ย้อนกลับไปในยุคหลังสงครามเย็นใหม่ ๆ (ช่วงระหว่างปี 1990 ถึง 2000) ตอนนั้นสหรัฐฯได้ขยายฐานอำนาจของตนเข้าไปในตะวันออกกลาง มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรในภูมิภาคผ่านการทำสัญญาความร่วมมือทางการทหาร นำไปสู่การสร้างฐานทัพอเมริกาในหลายประเทศ อีกทั้งสหรัฐฯยังได้ฉันทามติจากประชาคมโลกดำเนินการโดดเดี่ยวชาติที่เป็นศัตรูกับตน จนสุดท้ายได้นำกองทัพเข้าไปรุกรานอิรัก (2003) และอัฟกานิสถาน (2001)
ทว่าความพยายามของสหรัฐฯในการสร้างอำนาจนำครอบงำตะวันออกกลางกลับเสื่อมคลายถดถอยลงตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาอันเกิดจากปัจจัยหลายอย่างผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของสหรัฐฯในสงครามอิรักปี 2003 วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 หรือแม้แต่การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 คนหลัง ทั้ง บารัค โอบามา และโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายคล้ายกัน (แม้จะแตกต่างกันในเชิงวิธีการ) ที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลางมากนัก จนกลายเป็นที่มาของการแสดงบทบาทกล้า ๆ กลัว ๆ ยังผลให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางลดน้อยถอยลงในระยะหลัง
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้นำสหรัฐฯต้องเว้นระยะห่างจากกิจการระหว่างประเทศ เพราะต้องหันมาสนใจกิจการภายใน ทั้งเรื่องระบบสาธารณสุข ปัญหาเศรษฐกิจ และการแสดงความรับผิดชอบตามกรอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้น สหรัฐฯยังล้มเหลวที่จะเป็นผู้นำในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ประกอบกับการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตัดสินใจถอนการสนับสนุนองค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization ก็ยิ่งทำให้อิทธิพลที่เป็น ‘อำนาจอ่อน’ ของสหรัฐฯ (ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในภูมิภาค) ถูกกร่อนเซาะทำลายลงไปอีก
ถึงอย่างนั้นก็ตาม คงเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าสุดท้ายแล้วสหรัฐฯจะถอนตัวออกไปจากตะวันออกกลางในเร็ววัน อันที่จริงแล้วอำนาจของสหรัฐฯก็คงยังดำรงอยู่ในภูมิภาค ฐานทัพของสหรัฐฯในอ่าวเปอร์เซียก็คงยังไม่หายไปไหน ขณะที่การค้าขายอาวุธของสหรัฐฯให้ลูกค้าในตะวันออกกลางก็คงยังดำเนินต่อไป และการต่อต้านหยุดยั้งอิหร่านก็คงยังเป็นภารกิจสำคัญลำดับต้น ๆ ของสหรัฐฯอยู่
เพียงแต่ว่าบทบาทและสถานะของสหรัฐฯในฐานะที่เป็นมหาอำนาจครอบงำแต่ฝ่ายเดียวในภูมิภาคอย่างที่เคยเป็นมาในยุคหลังสงครามเย็นคงจะปรับเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม และใครก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไปหลังการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ (2020) ก็คงจะให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรไปในกิจการภายในที่มีความสำคัญมากกว่าเรื่องกิจการต่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างแน่นอน ดังที่นาย Ben Rhodes ผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในยุคประธานาธิบดีโอบามา ได้กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ‘วันนี้โลกยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ได้จบสิ้นแล้ว’
คำถามคือแล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ? หนึ่งในฉากทัศน์ทีจะเกิดขึ้นคือความต่อเนื่องของแนวโน้มสถานการณ์ที่เคยดำรงอยู่ในช่วงทศวรรษก่อนหน้า นั่นคือการผงาดขึ้นมาของคู่แข่งสหรัฐฯในตะวันออกกลาง (ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรือจีน) ท่ามกลางภาวะถดถอยเสื่อมคลายของสหรัฐฯในภูมิภาค รัสเซียประสบความสำเร็จในการนำทัพเข้ามาแทรกแซงในสงครามกลางเมืองซีเรีย อีกทั้งยังหนุนหลังกองกำลังต่อต้านรัฐบาลลิเบีย และสรรค์สร้างสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับอิหร่าน อียิปต์ อิสราเอล และกลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซียที่ร่ำรวยน้ำมันทั้งหลาย
ขณะที่ประเทศจีนเองก็ได้ขยายบทบาทของตนในเชิงเศรษฐกิจและการทูตเข้าไปในตะวันออกกลาง เรียกประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคว่าเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของตน พร้อมทั้งดึงประเทศเหล่านี้เข้ามาร่วมในอภิมหาโครงการที่เรียกว่า ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative) เริ่มจากการเข้าไปดำเนินโครงการนำร่องในปากีสถานและจิบูติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ต้องยอมรับครับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการพึ่งพากันมากขึ้นในแทบทุกด้านระหว่างจีนกลับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งการเสริมสร้างสัมพันธ์ทางการเมือง การเพิ่มขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าขายอาวุธ และการสานสัมพันธ์ทางสังคม-วัฒนธรรม โดยเฉพาะการจัดตั้งสถาบันการศึกษาของจีนในภูมิภาคตะวันออกกลาง (เช่น โรงเรียนสอนภาษา มหาวิทยาลัยของจีน และสถาบันขงจื๊อ เป็นต้น)
หลักฐานที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายที่แนบแน่นขึ้นอาจดูได้จากตอนที่จีนเริ่มเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ใหม่ ๆ ในตอนนั้นปรากฏว่ากลุ่มประเทศตะวันออกกลางเกือบทั้งหมด รวมทั้งซาอุดิอาระเบีย ต่างยื้อแย่งแข่งกันเสนอความช่วยเหลือและแสดงมิตรไมตรีกับจีนอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากนั้นไม่นานนัก จีนก็ได้วางสถานะของตนเป็นโมเดลของการบริหารจัดการและการรับมือโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จ แม้หลายฝ่ายจะออกมาตั้งข้อสงสัยเรื่องการปิดบังข้อมูลของจีน แต่นั่นก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับว่าจีนได้สร้างเรื่องเล่าอธิบายประสบการณ์ความสำเร็จในการรับมือโคโรนาไวรัสด้วยมาตรการเด็ดขาดภายใต้คำสั่งของผู้นำอย่างสี จิ้นผิง
นอกจากนั้นสื่อจีนมักไม่ลืมที่จะเปรียบเทียบมาตรการจัดการโรคระบาดระหว่างจีนกับชาติยุโรปและสหรัฐฯ โดยซ่อนนัยยะทำนองว่าวิกฤตคราวนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าระบบการปกครองแบบตะวันตกนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับจีน เพราะอำนาจนิยมแบบจีนนี่แหละที่มีความพร้อมมากกว่าในการจัดการกับวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น
ประสิทธิภาพของจีนในการรับมือกับโควิด-19 ครั้งนี้ย่อมเป็นแรงจูงใจให้หลายรัฐในตะวันออกกลาง (ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐอำนาจนิยมอยู่แล้ว) ใช้อ้างเป็นโมเดลสำคัญที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางจะเดินตาม ไม่ใช่แนวทางประชาธิปไตยแบบยุโรปและสหรัฐฯที่ล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดข้ามชาติ จนแทบที่จะเอาตัวเองไม่รอด
เขียนโดย Srawoot Aree
อ่านต่อ | ตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3982