การลุกฮือของประชาชนในลิเบียจากปรากฏการณ์อาหรับสปริงที่ตามมาด้วยการแทรกแซงทางทหารของกองกำลังนาโต้ ได้ทำให้ระบอบกัดดาฟีที่ดำรงอยู่มายาวนานกว่า 4 ทศวรรษต้องจบสิ้นลง
แต่ผลที่ตามมาประการหนึ่งหลังจากนั้นคือการถือกำเนิดเกิดขึ้นมากมายของกลุ่มติดอาวุธที่มีอุดมการณ์เป้าหมายแตกต่างหลากหลาย ส่วนใหญ่สังกัดกลุ่มชนเผ่าและวงศ์ตระกูลต่างๆ
นับรวม ๆ กันแล้วกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 100 ถึง 300 กลุ่ม โดยมีสมาชิกที่เข้าร่วมกับกลุ่มต่าง ๆ มากถึง 125,000 คน
ยิ่งเวลาผ่านไป จำนวนกลุ่มติดอาวุธก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลปี 2014 ปรากฏว่ามีกลุ่มติดอาวุธในลิเบียอยู่ไม่ต่ำกว่า 1,600 กลุ่ม ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ทั้งที่เป็นกลุ่มนิยมแนวทางศาสนาและเป็นกลุ่มที่ไม่นิยมแนวทางศาสนา
แต่กลุ่มติดอาวุธสำคัญ ๆ นั้นเคลื่อนไหวอยู่ในจังหวัดซินตาน มิสราต้า เบงกาซี และตริโปลี
นับตั้งแต่ปี 2012 กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ (ที่บางครั้งก็ผนวกรวมหลายกลุ่มเข้าเป็นพันธมิตรกัน) ได้เข้าไปมีบทบาททางการเมืองโดยการสังกัดอยู่กับพรรคการเมืองสำคัญฝ่ายต่าง ๆ การเข้าร่วมสังกัดพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะใช้ความสัมพันธ์ทางสายตระกูล ชนเผ่า ความรู้สึกภูมิภาคนิยม อุดมการณ์ศาสนา และอุดมการณ์การเมืองเป็นเครื่องมือยึดโยงระหว่างกัน
ถึงอย่างนั้นกลุ่มติดอาวุธส่วนใหญ่หลังยุคกัดดาฟีก็ได้หลอมรวมเป็นพันธมิตรที่เข้าไปสังกัดกองทัพลิเบีย 2 หน่วยงานคือ กองกำลังป้องกันลิเบีย (Libya Shield Force) และกรรมาธิการความมั่นคงสูงสุด (Supreme Security Committee)
ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ถูกสถาปนาขึ้นเป็นหน่วยงานความมั่นคงในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยที่หน่วยงานแรกสังกัดอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม ขณะที่หน่วยงานหลังอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย
แม้จะสังกัดกระทรวง แต่กองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ก็มีอำนาจที่เป็นอิสระและเคลื่อนไหวตามเป้าหมายของตนเองเป็นหลัก บางกลุ่มมีเป้าหมายทางอุดมการณ์ บางกลุ่มเคลื่อนไหวให้ตนเองมีอำนาจทางการเมือง บางกลุ่มมีเป้าหมายระดับท้องถิ่น และบางกลุ่มก็มีเป้าหมายก่ออาชญากรรม
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่กองทัพลิเบียอ่อนแอไร้เอกภาพจึงทำให้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มีอำนาจมากขึ้น อันเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในลิเบียเลวร้ายลง
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้กลุ่มติดอาวุธแตกแยกออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนสภาแห่งชาติลิเบีย (General National Congress: GNC) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองตริโปลี โดยที่สมาชิกส่วนใหญ่ของสภานี้นิยมแนวทางอิสลาม (ตอนหลังพัฒนาไปเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก)
ขณะที่อีกฝ่ายสนับสนุนสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในเมืองตับลู๊ก (Tobluk) โดยสมาชิกส่วนใหญ่ของสภานี้นิยมแนวทางเซคิวล่าร์ (พัฒนาไปเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในภายหลัง)
สถานการณ์ความรุนแรงยิ่งเลวร้ายลงเมื่อแต่ละฝ่ายพยายามขอความช่วยเหลือจากตัวแสดงที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐอื่น ๆ ทั้งที่เป็นตัวแสดงในภูมิภาคตะวันออกกลางและนอกภูมิภาค เกิดเป็นสงครามตัวแทนในลิเบียที่ยากจะแก้ไขได้
ส่วนใครเป็นใครในสงครามตัวแทนนี้ ค่อยมาอธิบายขยายความกันอีกทีครับ
เครดิตภาพจาก https://www.aljazeera.com/news/2020/01/eyes-berlin-world-powers-set-libya-talks-200118052038464.html
เขียนโดย Srawut Aree