อุมมะฮฺอิสลามได้พยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ศูนย์กลางอำนาจของจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์หลายครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อปลดปล่อยเมืองนี้จากการปฏิเสธศรัทธาและความอยุติธรรมทั้งหลาย นี่คือความพยายาม 7 ครั้งสำคัญในการพิชิตเมืองที่สำคัญนี้
1. ฮ.ศ.49 / ค.ศ.669
ท่านอิบนุญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์ ได้ระบุไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของท่านว่า ท่านมุอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน คือเคาะลีฟะฮฺอิสลามคนแรกที่ได้พยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยแต่งตั้งให้ยะซีด บินมุอาวิยะฮฺ ลูกชายของท่าน เป็นผู้นำกองทัพ 300,000 นายพร้อมเรือ 300 ลำไปยังที่นั่น ความพยายามในครั้งนี้ยังไม่บรรลุผล และท่านอบูอัยยูบ อัลอันศอรีย์ เศาะหาบะฮฺอาวุโสคนหนึ่งก็ได้เสียชีวิตลงที่นั่นด้วย
2. ฮ.ศ.54-60 / ค.ศ.674-680
ความพยายามในครั้งนี้เกิดขึ้นในยุคการปกครองของเคาะลีฟะฮฺมอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน อีกเช่นกัน กองทัพอิสลามต่อสู้อย่างต่อเนื่องนาน 6 ปี ภายใต้การนำทัพของอับดุรเราะหฺมาน บินคอลิด (ลูกชายของท่านคอลิด บินอัลวะลีด) ต้องเข้าใจว่า กรุงคอนสแตนติโนเปิลนั้นคือศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรไบแซนไทน์ หากเมืองนี้ถูกพิชิต เมืองอื่นที่เหลือก็จะแตกกระจายไร้เสถียรภาพ มันจะเป็นประตูเปิดไปสู่การพิชิตเมืองอื่น ๆ อีกมากมายในแผ่นดินยุโรป แต่ความพยายามครั้งนี้ก็ยังไม่บรรลุอีกเช่นกัน
3. ฮ.ศ.98 / ค.ศ.718
เคาะลีฟะฮฺสุลัยมาน บินอับดุลมะลิก แห่งคิลาฟะฮฺอุมะวิยะฮฺ ได้แต่งตั้งให้น้องชายคือ มัสละมะฮฺ บินอับดุลมะลิก เป็นแม่ทัพบัญชาการทหารกว่า 200,000 นาย พร้อมเรืออีกประมาณ 5,000 ลำเข้าพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่ความพยายามในครั้งนี้ล้มเหลว อีกทั้งยังทำให้คิลาฟะฮฺอุมะวิยะฮฺเสียหายและอ่อนแอลงด้วย
Bernard lewis (นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ-อเมริกัน) กล่าวว่า “ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อความเข้มแข็งของอาณาจักรอุมัยยะฮฺ งบประมาณที่ทุ่มลงไปเพื่อการพิชิตในครั้งนี้ทำให้การคลังของรัฐเกิดความปั่นปวน”
4. ฮ.ศ.165 / ค.ศ.781
ในสมัยคิลาฟะฮฺอับบาสียะฮฺ เคาะลีฟะฮฺอัลมะฮฺดีย์ได้ส่งลูกชายคือ ฮารูน อัรเราะชีด นำกองทัพ 96,000 นาย เข้าพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล แม้ว่าจะยังไม่สามารถพิชิตและปลดปล่อยคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ แต่ความพยายามในครั้งนี้ก็สร้างความเสียหายอย่างมากแก่อาณาจักรไบแซนไทน์ จักรพรรดินีไอรีนเสนอให้ทำสัญญาสงบศึก ซึ่งทำให้ไบแซนไทน์เป็นฝ่ายเสียเปรียบเอง
5. ฮ.ศ.796 / ค.ศ.1393
ในยุคของสุลต่านบะยาซิดที่ 1 แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ สุลต่านให้ความสำคัญกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลมาก ถึงกับสร้างกองทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ในช่วงเวลานั้น) แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าไปข้างในคอนสแตนติโนเปิลได้ สุลต่านบะยาซิดที่ 1 สามารถเอาชนะกองทัพคริสเตียนที่นิโคโปลิส (ปัจจุบันคือ ประเทศบัลแกเรีย) ได้ในปี ค.ศ.1396 แต่การพิชิตก็ต้องยุติลง เมื่อท่านพ่ายแพ้ให้กับตีมูร เลงค์ ในศึกอังการ่า ในปี ค.ศ.1402 และถูกกองทัพมองโกลจับตัวไป สุดท้ายสุลต่านก็เสียชีวิตลงในเดือนมีนาคมของปีต่อมา
6. ฮ.ศ.824-863 / ค.ศ.1421-1451
ภารกิจการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในครั้งนี้ริเริ่มโดยสุลต่านมุร็อดที่ 2 แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ นักประวัติศาสตร์เรียกความพยายามในครั้งนี้ว่าเป็น “การปิดล้อมกรุงคอนแสตนติโนเปิลเต็มรูปแบบ ครั้งที่ 1” แต่สุดท้ายสุลต่านมุร็อดที่ 2 ก็ต้องถอนกำลังออกมา เนื่องจากเกิดกบฏขึ้นที่อะนาโตเลีย นำโดย กุจุก มุศเฏาะฟา น้องชายของสุลต่านเอง
7. ฮ.ศ.857 / ค.ศ.1453
หลังจากความพยายามและการรอคอยที่ยาวนาน สุดท้ายหะดีษของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็เป็นจริง สุลต่านมุฮัมหมัด อัลฟาติหฺ ในฐานะผู้นำที่ดีที่สุดพร้อมกับกองทัพที่ดีที่สุดของท่าน ได้เข้าปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลนาน 54 วัน เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 23 มีนาคม 1453 สุลต่านอัลฟาติหฺได้เคลื่อนทัพทั้งทางบกและน้ำ ขนปืนใหญ่ ทหารม้า และทหารราบ รวมกว่า 250,000 นาย ออกจากเมืองเอเดอเนไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล กระทั่งสามารถพิชิตและปลดปล่อยคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ ในวันที่ 29 เมษายน 1453
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยถูกถามว่า “ 2 เมืองนี้เมืองใดจะถูกพิชิตก่อนเป็นอันดับแรก กรุงคอนสแตนติโนเปิลหรือกรุงโรม?” ท่านตอบว่า
مَدِيْنَةُهِرَقْلَ تُفْتَحٌ أَوَّلًا يَعْنِى القُسْطَنْطِيْنِيَّة
“เมืองของฮิรอกล์ (จักรพรรดิเฮราคลีอุสแห่งโรมันไบแซนไทน์) จะถูกพิชิตก่อนเป็นอันดับแรก คือกรุงคอนสแตนติโนเปิล” (บันทึกโดย อะหมัด, อัดดารีมีย์ และอัลฮากิม)
และท่านได้กล่าวไว้ในหะดีษอีกบทว่า
لَتُفْتَحَنَّ الْقُسْطَنْطِيْنِيَّةُ وَلَنِعْمَ الْأ مِيْرُ أَمِيرُهَاولَنِعْمَ الَجَيْشُ جَيْشُهَا
“แน่นอนคอนสแตนติโนเปิลจะถูกพิชิต และผู้นำที่ดีที่สุดคือผู้นำการพิชิตในครั้งนี้ และกองทัพที่ดีที่สุดก็คือกองทัพดังกล่าว” (บันทึกโดย อะหมัดและอัลฮากิม)
อ้างอิง :
1. ตารีค อัฏเฏาะบะรีย์ โดย อิบนุญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์
2. อัยยามุนา ลา ตุนซา โดย ตะมีม บัดรฺ
3. The First Arab Siege of Constantinople โดย Marek Jankowiak
4. The Walls of Constantinople, AD 324-1453 โดย Stephen Trunbull
5. บทความเรื่อง “การพิชิตนครคอนสแตนติโนเปิ้ลจะเกิดขึ้นก่อนการพิชิตกรุงโรม” โดย อ.อาลี เสือสมิง
ที่มา.GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่