บทความ ฟัตวา

ฟัตวาสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ ว่าด้วยการยืนเข้าแถวห่างๆ ในละหมาดช่วง COVID-19

● ฟัตวาสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS – International Union for Muslim Scholars) ว่าด้วยการยืนเข้าแถวห่างๆ ในละหมาดอันเนื่องจากไวรัสโคโรน่า

بسم الله الرحمن الرحيم

ฟัตวาเลขที่ 15
วันที่ 15 รอมฎอน 1441 / 08 พฤษภาคม 2020

ข้อชี้ขาดเกี่ยวกับการยืนเข้าแถวห่างๆ ในละหมาดอันเนื่องจากโคโรน่า

الحمد لله، والصلاة والسلام على رسول الله،

การละหมาดญามาอะฮ์เป็นเครื่องหมายของอิสลาม เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่มีเป้าหมายชัดเจน เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงความประเสริฐและการเจริญรอยตามท่านนบี ศอลฯ มีหลักการ เงื่อนไข และแนวปฏิบัติที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายและการเป็นเครื่องหมายอิสลามได้อย่างงดงามสมบูรณ์ที่สุด ตามที่ท่านนบี ศอลฯ ได้สอนและได้ปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างถึงการตามอิหม่าม ด้วยการเข้าแถวแนบชิด เท้าชิดและหัวใจที่สมัครสมานไม่ห่างเหินกัน

หากเกิดข้อบกพร่องในลักษณะดังกล่าว อันเนื่องจากเหตุผลต่างๆ เช่น มีฝากั้น หรือการกลัวโรคระบาด มีหลักการดังนี้

1. ยืนยันว่าศูนย์ฟิกฮ์และศูนย์ฟัตวาต่างๆ เห็นพ้องกันว่า อนุญาตให้งดเว้นการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อโคโรน่า เนื่องจากบทบัญญัติอิสลามวางอยู่บนหลักสะดวก ไม่สร้างภาระ ไม่เป็นภัยต่อบุคคลและสังคม ตามหลักฐานในฟัตวาก่อน

2. การประเมินถึงภัยอันตรายอันจะเกิดเนื่องจากการชุมนุมในสถานที่ใดๆ เป็นอำนาจของฝ่ายสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

มุสลิมมีหน้าที่ปฏิบัติตามมาตรการของฝ่ายสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องดังกล่าวโดยเคร่งครัด

การปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวถือเป็นสิ่งวาญิบ เพราะการละเมิดฝ่าฝืนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ซึ่งอัลลอฮ์ห้ามการฆ่าตัวเอง โดยกล่าวว่า

وَلَا تَقْتُلُوا أَنْفُسَكُمْ إِنَّ اللَّهَ كَانَ بِكُمْ رَحِيمًا : النساء:29

และพวกท่านอย่าได้ฆ่าตัวเอง แท้จริงอัลลอฮเมตตาต่อพวกท่าน [ อันนิสาอ์ : 29 ]

3. การเข้าแถวละหมาดโดยแนบชิดเป็นหลักการอิสลามที่ท่านนบี ศอลฯ กำหนด ดังหะดีษจำนวนมาก

ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า ข้อกำหนดเรื่องวิธีการเข้าแถวละหมาดเป็นสุนัต ไม่ใช่วาญิบ และเห็นพ้องกันว่า การปฏิบัติไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดเรื่องการเข้าแถว ไม่ว่าโดยเจตนาหรือไม่เจตนา ก็ไม่ทำให้เสียละหมาด

4. การละหมาดโดยการยืนเข้าแถวห่างๆ ถือว่าเป็นการละหมาดที่ใช้ได้

รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อ ตามอายุ และสุขภาพของผู้ละหมาด ตลอดจนมาตรการฆ่าเชื้อก่อนเข้ามัสยิด หรือการฆ่าเชื้อทำความสะอาดสถานที่

ดังนั้น ไม่มีความผิดใดๆ จากการละหมาดที่ยืนห่างๆกัน ตามระยะที่ประกันความปลอดภัยได้

เพราะว่านักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่า การยืนห่างๆ ในละหมาดจะเป็นความผิดในระดับมักรูฮก็ต่อเมื่ออยู่สภาวะปกติเท่านั้น แต่ในกรณีจำเป็นสุดวิสัย ความผิดดังกล่าวก็ตกไป ตามหลักที่ว่าความผิดในระดับมักรูฮ์ตกไปเมื่ออยู่สภาวะไม่ปกติแม้เพียงเล็กน้อย

การฝ่าฝืนมาตรการด้านสาธารณสุขที่ห้ามชุมนุมเพื่อการละหมาดดังกล่าว ด้วยการไม่ปฏิบัติตาม ไม่ให้ความร่วมมือ ถือเป็นการกระทำที่เป็นบาป ผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดและต้องรับผิดชอบโดยสมบูรณ์ต่อความเสียหายอันเกิดขึ้นเนื่องจากการฝ่าฝืนมาตรการเหล่านั้น เพราะศูนย์ฟิกฮ์และศูนย์ฟัตวาต่างๆ ถือว่าเป็นการทำบาปจากการทำให้ตนเองและสังคมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคร้าย

والله أعلم ، وصلى الله على سيدنا محمد وآله وسلم .

والحمد لله رب العالمين.

คณะกรรมการฟิกฮ์และฟัตวา สหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ

ศ.ดร.นูรุดดีน อัลคอดิมีย์ ประธานคณะกรรมการ
ดร.ฟัฎล์ มุร๊อด กรรมการและผู้ร่างคำฟัตวา
ศ.ดร.อะหมัด จาบุลลอฮ์ กรรมการ
ชัยค์ ดร.ซุลตอน อัลฮาชิมีย์ กรรมการ
ชัยค์ ดร.อะหมัด กาฟี กรรมการ
ชัยค์วานีส อัลมับรูก กรรมการ
ชัยค์ซาลิม อัลชัยคีย์ กรรมการ
ศ.ดร.ซอและห์ ซังกีย์ กรรมการ
ชัยค์ ดร.มุฮัมมัด รอยิส กรรมการ
ศ.ดร.อาลี ฆ๊อรเราะฮ์ดาฆีย์ เลขาธิการสหพันธ์
ศ.ดร.อะหมัด รัยซูนีย์ ประธานสหพันธ์

■ อ่านฟัตวาต้นฉบับ
http://www.iumsonline.org/ar/ContentDetails.aspx?ID=11517

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad