สมรภูมิที่น่ากลัวที่สุดสำหรับมนุษย์ ไม่ใช่สมรภูมิที่ใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกัน แต่เป็นการรบกับอารมณ์ฝ่ายต่ำของเขาเองหรือที่รู้จักกันโดยมุสลิมทั่วไปว่า “ฮาวา นัฟซู” ประกอบไปด้วยความปรารถนา กิเลส ตัณหาต่างๆ การต่อสู้ครั้งนี้สำคัญใหญ่หลวง เพราะต้องเดิมพันกันด้วยสถานะชีวิตของคนๆนั้นเลยทีเดียว ดังนั้นจึงมีผู้เรียกสมรภูมิครั้งนี้ว่า “ญิฮาด อักบัร” หรือญิฮาดใหญ่
ญิฮาด อักบัร เป็นการต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นที่ซ่อนอยู่ภายในตัวมนุษย์เอง ด้วยลักษณะของศัตรูที่ซ่อนเร้นและอยู่ใกล้ชิดอย่างที่สุด เป็นผลให้การต่อสู้มักจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของมนุษย์
ความเข้าใจเบื้องต้นต่อกระบวนการต่อสู้กับ “ฮาวา นัฟซู” ในอิสลามก็คือ มันไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อตัดอารมณ์และความรู้สึกต่างๆให้หมดไป แต่ต้องการเข้าไปควมคุมมันไว้และสั่งการมันได้ จึงไม่แปลกที่กระบวนการต่อสู้ไม่ได้มุ่งไปที่ “การทำลาย” แต่มุ่งไปที่ “การสยบและควบคุม”
เครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะจัดการตัวตนภายในก็คือ “หัวใจ” เพราะหัวใจคือ “ศูนย์รวม” ในการกำหนดทิศทาง เจตนารมณ์ต่างๆ หัวใจในที่นี้ไม่ใช่หัวใจที่เรารู้จักกันทางกายภาพ แต่มันหมายถึงหน่วยหลักในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้น หัวใจจำเป็นต้องได้รับ “พลัง” ที่อัดฉีดเข้าไปภายใน นั่นคือพลังที่เราเรียกว่า “อีหม่าน” หรือ “ศรัทธา”
อีหม่านจึงนับว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างหัวใจให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้หัวใจเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมตัวตนภายในได้ อีหม่านที่มีอยู่เพียงในระดับความคิดนั้น ไม่สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวตนของคนๆหนึ่งได้ อีหม่านจะต้องซึมซับเข้าสู่หัวใจอย่างต่อเนื่อง เมื่อใดก็ตามที่อีหม่านไม่ผ่านเข้าไปสู่หัวใจก็จะเกิดภาวะ “อีหม่านอ่อน” ขึ้น หรือเราจะเรียกได้ว่าเป็นโรคอีหม่านอ่อนหรือ โรคหัวใจแข็งกระด้าง
ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((إنَّ اْلإِيْمَانَ لَيَخْلُقُ فِيْ جَوْفِ أَحَدِكُمْ كَمَا يَخْلُقُ الْثَوْبُ فَأَسْأَلُوْا اللهَ أَنْ يُجَدِّدَ اْلإِيْمَانَ فِيْ قُلُوْبِكُمْ))
แท้จริงอีหม่านในหัวใจของพวกท่านคนหนึ่งคนใดจะทรุดโทรม เช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่สวมใส่จนเสื่อมสภาพ ดังนั้น พวกท่านจงขอต่ออัลลอฮฺ เพื่อให้พระองค์ทำให้อีหม่านมีสภาพใหม่อยู่ในหัวใจของพวกท่าน [1]
((مَا مِنَ الْقُلُوْبِ قَلْبٌ إِلاَّ وَلَهُ سَحَابَةٌ كَسَحَابِةِ الْقَمَرِ ، بَيْنَا الْقَمَرُ مُضِيءٌ إِذْ عَلَتْهُ سَحَابَةٌ فَأَظْلَمَ ، إِذْ تَجَلَّتْ عَنْهُ فَأَضَا))
ไม่มีหัวใจดวงใด เว้นเสียแต่จะมีเมฆ(ที่จะมาบดบังมัน) เช่นเดียวกับเมฆ(ที่บดบัง)ดวงจันทร์ ขณะที่มันส่องแสงนั้น เมื่อมีเมฆมาบดบังมันๆก็จะมืดมิด เมื่อเมฆจากไป มันก็จะส่องสว่างอีกครา [2]
หลักการพื้นฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจประเด็นเกี่ยวกับอีหม่านอ่อนและกรอบความคิดในการบำบัดมันคือต้องรู้ว่าอีหม่าน(ความศรัทธา)ในทัศนะของอิสลามนั้นสามารถ “เพิ่ม” หรือ “ลด” ได้ สิ่งนี้เป็นหลักการมูลฐานในหลักยึดมั่นของ “อะหฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ” อันเป็นกระแสหลักของประชาชาติอิสลามส่วนใหญ่ที่ยอมรับกัน
อะหฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ นั้นถือว่าอีหม่านคือสิ่งที่กล่าวออกมาด้วยวาจา ยึดมั่นด้วยหัวใจ และมีการกระทำผ่านหลักปฏิบัติอิสลามต่างๆ อีหม่านสามารถ “เพิ่ม” ได้ด้วยการฏออะฮฺ(เชื่อฟังปฏิบัติตามหลักการอิสลาม)และ “ลด” ลงได้จากการฝ่าฝืน(หลักการอิสลาม) ดังมีหลักฐานที่แสดงไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ในอัล กุรอานไว้หลายที่ ดังตัวอย่างเช่น
((لِيَزْدَادُوا إِيمَانًا مَعَ إِيمَانِهِمْ))
เพื่อพวกเขาจะได้เพิ่มพูนการศรัทธาให้กับการศรัทธาของพวกเขา[3]
มีข้อคิดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้จากคำกล่าวของชาวสลัฟบางคนที่ว่า “ส่วนหนึ่งจากความเข้าใจในศาสนาของบ่าวคนหนึ่ง(ก็คือ) การให้ความสนใจต่ออีหม่านว่ามันลดไปได้อย่างไร? และส่วนหนึ่งจากความเข้าใจในศาสนาของบ่าวคนหนึ่ง (ก็คือ) การที่เขารู้ว่าตอนนี้มันเพิ่มหรือลด?ส่วนหนึ่งจากความเข้าใจของบ่าวคนหนึ่ง(ก็คือ) การรู้ถึงการล่อลวงของชัยฏอนเมื่อมันมายังเขา”
ต่อไปเราจะมาศึกษาอาการ สาเหตุ และนำไปสู่การบำบัดรักษาจนหายขาด อินชาอัลลอฮฺ
1. วิเคราะห์อาการอีหม่านอ่อน
อาการอีหม่านปรากฏทั้งภายในและภายนอก ปรากฏทั้งส่วนบุคคลและส่งผลร้ายต่อสังคม ผลกระทบของอีหม่านอ่อนสามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้าน(พร้อมตัวอย่าง) ดังต่อไปนี้
ด้านที่หนึ่ง : วิเคราะห์อาการจากพฤติกรรมทั่วไป
1. กระทำบาปและสิ่งต้องห้ามต่างๆ
2. ทำอิบาดะฮฺอย่างลวกๆ
3. เกียจคร้านในการทำความดีทั้งหลาย
4. มองไม่เห็นค่าของความดีเล็กๆน้อยๆ และไม่เห็นอันตรายของความผิดเล็กน้อย
5. เอาแต่พูด แต่ไม่ค่อยกระทำ
ด้านที่สอง : วิเคราะห์อาการจากความรู้สึกภายใน
6. ยึดความรู้สึกตนเป็นใหญ่
7. หัวใจแข็งกระด้าง
8. อ่านอัล กุรอานอย่างไร้ความรู้สึก
9. รำลึกถึงอัลลอฮฺ แต่รู้สึกเฉย ๆ
10. คับแค้นใจ อารมณ์แปรปรวน และซึมเศร้า
11. ไม่รู้สึกโกรธ เมื่อมีการละเมิดในสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม
12. กลัวทุกข์ภัยและปัญหาต่างๆที่ต้องประสบ
ด้านที่สาม: วิเคราะห์อาการจากความกระหายใคร่อยากต่าง ๆ
13. รักในชื่อเสียงและความโด่งดัง ตัวอย่างเช่น
13.1 กระหายตำแหน่งผู้นำ แข่งขันกันแสวงหาอำนาจ
13.2 เผด็จการในวงสนทนา คือชอบพูดข้างเดียว ไม่ชอบฟังคนอื่นพูด
13.3 ชอบให้ผู้คนยกย่อง ไม่พอใจหากไม่ได้รับคำเยินยอ
14. ตระหนี่ถี่เหนียว และมีความโลภ
15. หมกมุ่นกับโลกนี้
16. ใช้ชีวิตอย่างสำราญ
ด้านที่สี่: วิเคราะห์อาการจากความสัมพันธ์ทางสังคม
17. ไม่สนใจในกิจการของมุสลิม
18. มีความสุขกับความทุกข์ของพี่น้อง
19. ชอบทะเลาะถกเถียงกัน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาที่ไม่สำคัญ
20. ชอบแบ่งเป็นฝักฝ่าย จนเกิดความแตกแยกระหว่างพี่น้องมุสลิม
21. ขาดสำนึกในการทำงานอิสลาม
เราสังเกตจากทั้ง 4 ด้าน จะพบว่าอีหม่านอ่อนไม่ได้เป็นเรื่อง “อ่อนๆ” แต่เป็นเรื่อง “หนักหนา” เพราะไม่ได้มีปัญหาพฤติกรรมส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังได้เข้าทำลายโครงสร้างพื้นฐานของสังคมอีกด้วย
2. สาเหตุหลัก
อีหม่านอ่อนมี “เหตุ” มาจากหลายด้าน ด้านหลัก ๆ ของมัน ประกอบไปด้วย
หนึ่ง – สัมผัส , สอง – ห่างไกล , สาม – หมกมุ่น ดังต่อไปนี้
หนึ่ง – สัมผัส
1. สัมผัสอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยบาป เช่น อยู่ในวงคอนเสริต์คาราบาว หรือนั่งดูมิวสิควิดีโอวง Girly Berry
สอง – ห่างไกล
1. ห่าง ไกลจากผู้คนแห่งอีหม่าน คือการไม่คบหากับคนดี ๆ
2. ห่างไกลจากการแสวงหาความรู้ เช่น ปี ๆ หนึ่งแทบจะไม่เคยฟังบรรยายธรรมเลย แม้แต่วันศุกร์ ก็ไปตอนเขากำลังจะละหมาดแล้ว
สาม – หมกมุ่น
1. หมกมุ่นอายุของชีวิต คือ คิดว่าตัวเองจะมีอายุอยู่ยืนนาน วางแผนจะหาแต่ความสุขในดุนยา ไม่คิดจะตายในเร็ว ๆ นี้
2. หมกมุ่นอยู่กับโลกนี้ เช่น ทรัพย์สิน การหาเงินทอง การแข่งขันกันเรื่องลูกหลาน
3. หมกมุ่นอยู่กับเพศตรงข้าม เช่น เรื่องการมีแฟน การหมดเวลาไปกับการสร้างเสน่ห์แก่เพศตรงข้าม
3. วิธีบำบัดขั้นพื้นฐาน
การบำบัดพื้นฐาน ต้องเข้าไปแก้ไข “เหตุ” หลัก ๆ ของมันทั้งสามด้าน ดังนั้นการบำบัดพื้นฐานก็ประกอบไปด้วย 3 ด้านเช่นกัน คือ
หนึ่ง – แยกทาง , สอง – ใกล้ชิด, สาม – รำลึก
แยกทาง 1. แยกทางกับสิ่งแวดล้อมที่บาป คือตัดขาดกับสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายต่าง ๆ กล่าวง่าย ๆ ต้อง “ฏอลาก”(หย่า) เอาแบบหย่า 3 เลยยิ่งดี
ใกล้ชิด
1. ใกล้ชิดกับผู้คนแห่งอีหม่าน คือหันมาคบหาสมาคมกับคนดี ๆ เข้าร่วมกลุ่มคนทำงานอิสลามด้วยยิ่งดีใหญ่
2. ใกล้ชิดกับความรู้อิสลาม เช่น หาที่เรียนอิสลามเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ตามที่องค์กรต่าง ๆจัดขึ้น
รำลึก
1. รำลึกถึงความตาย เช่น เยี่ยมผู้ป่วย เยี่ยมกุบูรฺ เป็นต้น
2. รำลึกถึงความต่ำต้อยของโลกนี้ คือการครุ่นคิดถึงชีวิตที่ไม่ยั่งยืนและไม่แน่นอนของโลกนี้
3. รำลึกถึงวันสิ้นโลก และชีวิตหลังความตาย(คำแนะนำ ศึกษาง่าย ๆ จากความหมายอัล-กุรอานในยูซอัมมา)
การบำบัดทั้งสามด้านนี้เป็นการ “แยกทาง” กับพื้นที่ที่ทำให้ติดเชื้ออีหม่านอ่อน แล้วนำตัวเองไป “ใกล้ชิด” หรืออยู่อาศัยในเขตปลอดเชื้อ และจัดระบอบความคิดใหม่ ด้วยการ “รำลึก” สิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยขจัดเชื้อที่หลงเหลืออยู่ พร้อม ๆ กับนำไปสู่การบำบัดที่ยั่งยืนต่อไป
4. วิธีบำบัดรักษาระยะยาว
การบำบัดรักษาระยะยาว คือการเสริมสร้างอีหม่านให้แข็งแกร่ง จำเป็นต้องอาศัย “กระบวนการ” ที่เอาจริงเอาจัง ในที่นี่ขอแนะนำการการฝึกอบรมที่เข้มข้นใน 3 เรื่องต่อไปนี้
4.1 ให้หัวใจเข้าหาอัล-กุรอาน
ท่านอิบนุ กอยยิม ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับนำหัวใจกลับสู่อัล-กุรอานเอาไว้ว่า
“มีพื้นฐาน 2 ข้อ(ในการรักษาอาการอีหม่านอ่อน)ที่ขาดเสียมิได้ หนึ่งก็คือให้ท่านเคลื่อนหัวใจของท่านจากที่พำนักในโลกนี้ และให้มันไปสถิตอยู่ในที่พำนักแห่งโลกหน้า หลังจากนั้นให้นำหัวใจของท่านทั้งหมดจดจ่ออยู่กับความหมายอัล กุรอานและความกระจ่างในนั้น เพ่งพินิจและสร้างความเข้าใจในความมุ่งหมายของมัน ว่ามันถูกประทานมาเพื่อเป้าหมายอันใด นำตัวท่านเข้าไปมีส่วนร่วมในทุก ๆ อายะฮฺ แล้วกำหนดมันให้เป็นยาเพื่อบำบัดหัวใจของท่าน เมื่ออายะฮฺนี้ได้ถูกนำไปเป็นยาบำบัดหัวใจของท่านแล้ว หัวใจของท่านก็จะปราศจากโรคร้าย ด้วยการอนุมัติจากอัลลอฮฺ “
การบำบัดของอัล-กุรอานนั้น ต้องนำหัวใจไปอยู่กับความหมายที่ลึกซึ้งของมัน ท่านนบีเคยใคร่ครวญความหมายในอัล กุรอาน โดยท่านได้อ่านมันซ้ำแล้วซ้ำอีกขณะที่กำลังยืนขึ้นละหมาดในยามค่ำคืน(ละหมาดกิยามุล ลัยลฺ)
ท่านอบูบักรเป็นผู้ชายที่นุ่มนวล มีจิตใจที่อ่อนโยน เมื่อท่านนำผู้คนละหมาด และอ่านดำรัสของอัลลอฮฺจากอัล กุรอาน ท่านไม่สามารถควบคุมตัวเองจากการร้องไห้ได้
แน่นอนที่สุด บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีนั้น อ่านอัล กุรอาน เพ่งพิจารณาเนื้อหาในนั้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวพวกเขา …
อัล กุรอานนั้น เป็นยาบำบัดที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง ดังที่อัลลอฮฺได้ยืนยันไว้ว่า
((وَنُنَزِّلُ مِنَ الْقُرْآنِ مَا هُوَ شِفَاءٌ وَرَحْمَةٌ لِلْمُؤْمِنِينَ))
และเราได้ให้ส่วนหนึ่งจากอัล กุรอานลงมาซึ่งเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา[4]
4.2 ให้หัวใจผูกพันกับอัลลอฮฺ
ท่าน อิบนุ กอยยิม ได้กล่าวว่า “ในหัวใจที่แข็งกระด้าง ไม่สามารถทำให้อ่อนโยนได้อีก เว้นแต่ด้วยการซิกรฺ ฉะนั้น บ่าวคนหนึ่งที่ต้องการเยียวยาอาการหัวใจแข็งกระด้างก็ให้ใช้การซิกรฺเถิด
ชายคนหนึ่งได้กล่าวกับท่านฮะซัน อัล บัศรียฺว่า ‘โอ้ อบูสะอีด ฉันมาร้องทุกข์กับท่านเรื่องหัวใจที่แข็งกระด้างของฉัน’ ท่านตอบว่า ‘จงทำให้มันอ่อนด้วยการซิกรฺเถิด’ เพราะว่าหัวใจที่ยิ่งเพิกเฉยเท่าไร ก็ยิ่งแข็งกระด้างมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อมีการซิกรฺ หัวใจดวงนั้นก็อ่อนโยน เสมือนกับการเทตะกั่วลงไปในไฟ ไม่มีสิ่งใดอีกแล้วที่ทำให้หัวใจอ่อนโยนเท่ากับการซิกรฺ และการซิกรฺนั้นเป็นการบำบัดและเป็นยารักษาหัวใจ การเพิกเฉยต่อมันเป็นโรค ยาและการรักษามันก็คือการซิกรฺ
ท่านมะฮูลได้กล่าวว่า ‘ซิกรฺ – การรำลึกถึงอัลลอฮฺ – นั้นเป็นการเยียวยา ส่วนการรำลึกถึงผู้คนนั้นเป็นโรค'” (อ้างจากอัล วาบิล อัศ เศาะยิบ และเราะฟิอฺ อัล กะลิม อัฏ ฏอยยิบ 142)
ชาวสลัฟบางคนได้กล่าวว่า “เมื่อซิกรฺสามารถเข้าไปฝังรากอยู่ในหัวใจแล้ว ถ้าชัยฏอนเข้ามาเมื่อใดเขาก็สามารถเอาชนะมันได้ ดังที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถทำให้ชัยฏอนที่เข้าใกล้เขาพ่ายแพ้ไป จากนั้นบรรดาชัยฏอนทั้งหลายต่างก็มารวมตัวกันรอบๆรอบตัวชัยฏอนตนนั้น พวกมันกล่าวว่า ‘เกิดอะไรขึ้นกับเขา?’ มีเสียงกล่าวขึ้นมาว่า ‘มันได้รับอันตรายจากมนุษย์!'” (คัดจากมะดาริจญฺ อัส ซาลิกีน 2/424)
ซิกรฺมีคุณประโยชน์มากมาย ดังปรากฏทั้งในอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ รวมทั้งคำแนะนำมากมายของเหล่าอุละมาอ์ชั้นนำของโลกมุสลิม กล่าวได้ว่า ไม่มีคนใดที่ต้องการความสุขแห่งชีวิต ไม่มีใครต้องการหัวใจที่นิ่งสงบ โดยปราศจากการซิกรฺได้
อัลลอฮฺได้ยืนยันถึง หัวใจที่ “มุฏมะอินนะฮฺ”(สุขสงบ) ก็ด้วยการ “ซิกรฺ” เท่านั้น
((أَلاَ بِذِكْرِ اللَّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ))
พึงทราบเถิด! ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺเท่านั้นทำให้จิตใจสงบ [5]
4.3 เติมเต็มเวลาด้วยความดี
พฤติกรรมของผู้ที่มีอีหม่านที่สมบูรณ์นั้น คือการบูรณาการชีวิตทั้งหมดสู่ระบอบอิสลาม ดังนั้น ผู้ที่มีอีหม่านจึงนำความดีจากคำสอนอิสลามเติมเต็มลงสู่เวลาอย่างไม่มีช่องว่าง
การเติมเต็มดังกล่าวจึงต้องมีหลักการและศิลปะ ซึ่งอิสลามได้วางเรื่องนี้ไว้ 6 ประการ
1) เร่งรีบ – การทำความดี ไม่ควร “ตั้งท่า”มาก[6] และไม่ควรผัดวันประกันพรุ่ง ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((التُّؤَدَةُ فِي كُلِّ شَيْءٍ إِلَّا فِي عَمَلِ الْآخِرَةِ))
การไม่ผลีผลามอยู่ในทุกสิ่ง ยกเว้นในการงานเกี่ยวกับวันอาคิเราะฮฺ(ให้รีบเร่งในการทำความดี)[7]
2) เกาะติด – ทำต่อเนื่อง แม้ว่าจะน้อยก็ตาม
มีรายงานว่า
(( سُئِلَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَيُّ الْأَعْمَالِ أَحَبُّ إِلَى اللَّهِ قَالَ أَدْوَمُهَا وَإِنْ قَلَّ))
เมื่อท่านนบีฯ ถูกถามว่า “การงานใดที่อัลลอฮฺรักมากที่สุด?” ท่านตอบว่า “สิ่งที่กระทำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะน้อยก็ตาม”[8]
3) ทุ่มเท – ทำอย่างสุดกำลังกาย กำลังใจ อัลลอฮฺได้ตรัสไว้เกี่ยวกับการทุ่มเทของบรรดาวะลียฺ(บ่าวที่พระองค์รัก)ในการกระทำอิบาดะฮฺไว้หลายๆที่ เช่น
(( كَانُوا قَلِيلًا مِنَ اللَّيْلِ مَا يَهْجَعُونَ وَبِالْأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ))
พวกเขาเคยหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน และในยามรุ่งสางพวกเขาขออภัยโทษ(ต่อพระองค์)[9]
4) ผ่อนคลาย – ต้องเรียนรู้ศิลปะการผ่อนกำลังจะทำให้รู้สึกดีและไม่อ่อนล้า
ท่านนบีฯ กล่าวว่า
(( إِنَّ الدِّينَ يُسْرٌ وَلَنْ يُشَادَّ الدِّينَ أَحَدٌ إِلَّا غَلَبَهُ فَسَدِّدُوا وَقَارِبُوا))
แท้จริง ศาสนานั้นง่ายดาย จะไม่มีใครสามารถปฏิบัติศาสนกิจอย่างหนักหน่วงได้โดยไม่ลดหย่อน เว้นแต่ศาสนาจะชนะเขา(เขาไม่สามารถจะทำได้) ดังนั้นจงแสวงหาแนวทางที่ถูกต้อง และจงอยู่ในทางสายกลาง[10]
5) ชดเชย – หากพลาดไป ต้องหาทางชดเชย เพื่อไม่ให้เสียนิสัย
ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
(( مَنْ نَامَ عَنْ حِزْبِهِ أَوْ عَنْ شَيْءٍ مِنْهُ فَقَرَأَهُ فِيمَا بَيْنَ صَلَاةِ الْفَجْرِ وَصَلَاةِ الظُّهْرِ كُتِبَ لَهُ كَأَنَّمَا قَرَأَهُ مِنْ اللَّيْلِ))
ใครก็ตามที่นอนหลับไป โดยลืมบางส่วนของอัล กุรอานที่เคยอ่านตอนกลางคืนหรือส่วนหนึ่งจากอัล กุรอาน ต่อจากนั้นเขาได้อ่านมันระหว่างละหมาดฟัจญฺ(ศุบฮฺ) และละหมาดซุฮรฺ ก็จะถูกบันทึกให้แก่เขา เสมือนกับที่เขาได้อ่านมันในยามค่ำคืน[11]
6) หวังการตอบรับ – จิตมุ่งตรงสู่อัลลอฮฺ, ไม่โอหัง, หวั่นเกรงว่าอัลลอฮฺจะไม่รับ
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ กล่าวว่า
(( سَأَلْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ هَذِهِ الْآيَةِ وَالَّذِينَ يُؤْتُونَ مَا آتَوْا وَقُلُوبُهُمْ وَجِلَةٌ قَالَتْ عَائِشَةُ أَهُمْ الَّذِينَ يَشْرَبُونَ الْخَمْرَ وَيَسْرِقُونَ قَالَ لاَ يَا بِنْتَ الصِّدِّيقِ وَلَكِنَّهُمْ الَّذِينَ يَصُومُونَ وَيُصَلُّونَ وَيَتَصَدَّقُونَ وَهُمْ يَخَافُونَ أَنْ لَا يُقْبَلَ مِنْهُمْ أُولَئِكَ الَّذِينَ يُسَارِعُونَ فِي الْخَيْرَاتِ))
ฉันได้ถามท่านเราะซูลุลลอฮฺเกี่ยวกับอายะฮฺที่ว่า และบรรดาผู้ที่บริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มาโดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมได้ด้วยความหวั่นเกรง(อัล กุรอาน23:60) โดยถามว่า ‘พวกเขาคือผู้ที่ดื่มสุราและลักขโมยหรือ?’ ท่านเราะซูลตอบว่า ‘ไม่ โอ้บุตรสาวของ อัศ ศิดดีกฺ แต่ว่าพวกเขาถือศีลอด ละหมาด และบริจาคทาน แต่ว่าพวกเขากลัวว่าการงานพวกเขาจะไม่ถูกรับ ชนเหล่านั้นคือผู้ที่รีบเร่งในการประกอบความดีทั้งหลาย(อัล กุรอาน23:61)[12]
หวังว่า คำแนะนำที่กล่าวมาทั้งหมดพอจะเป็นแนวทางให้พวกเรานำไปสู่การบำบัดรักษาโรค “อีหม่านอ่อน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป อินชาอัลลอฮฺ
ที่มา : https://message2muslim.blogspot.com/2010/05/blog-post_6714.html