บทความ บทความวิชาการ

เมื่อมัสยิดถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันโควิด19 จะละหมาดวันศุกร์ที่บ้านแทนได้หรือไม่?

#เมื่อมัสยิดถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันโควิด19
#เราจะละหมาดวันศุกร์ที่บ้านแทนได้หรือไม่?

คนจำนวนมากตั้งคำถามว่าพวกเขาควรจะจัดครอบครัวและเพื่อนบ้านของพวกเขาบางคนร่วมกันละหมาดวันศุกร์แบบเล็ก ๆ ในบ้านของพวกเขาอันเนื่องจากการปิดลงของมัสยิด บางคนถามอีกว่าพวกเขาสามารถฟังไลฟ์สดคุฏบะฮ์ (เทศนาธรรม) จากมัสยิด แล้วละหมาดวันศุกร์ตามจากบ้านของตัวเองได้หรือไม่?

ฟัตวา (คำวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาศาสนา) ที่ผู้มีอำนาจและผู้มีความรู้ให้นั่นคือ ทั้งสองแบบนั้นไม่เป็นที่อนุญาตอย่างแน่นอน และครอบครัวหรือปัจเจกบุคคลที่อยู่บ้านจะต้องละหมาดซุฮ์รี 4 เราะกะอะฮ์แทนละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) ตามเหตุผลดังต่อไปนี้:

1. โดยทั่วไปแล้วการละหมาดวันศุกร์จะปฏิบัติกันที่มัสยิดกลางของชุมชน (หรือที่เรียกว่ามัสญิด อัล-ญามิอฺ) เฉพาะในชุมชนที่ไม่มีมัสญิดเท่านั้นที่สามารถกระทำได้อันเนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องไปละหมาดในพื้นที่อื่น ๆ ถ้ามัสยิดปิดด้วยเหตุผลซึ่งชอบธรรมตามหลักการ เราไม่อนุญาตให้ทำการละหมาดวันศุกร์วงย่อย ๆ นับร้อยทดแทนกันได้

2. เป้าหมายของการละหมาดวันศุกร์คือการรวมตัวคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ตามความเหมาะสม นั่นคือเหตุผลที่เรียกว่า ‘ญุมอะฮ์’ (วันศุกร์) จากภาษาอาหรับที่หมายถึง ‘การชุมนุม’ (ญัมอฺ) ซึ่งเรื่องนี้ลำพังเพียงแค่ครอบครัวเดียวก็ไม่สามารถกระทำให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของญุมอะฮ์ได้

3. บรรดาผู้รู้เห็นพ้องกันว่าผู้คนที่ได้รับการยกเว้นจากละหมาดวันศุกร์ (เช่น คนป่วย คนเดินทาง หรือคนที่ถูกระงับด้วยเหตุผลจำเป็นบางประการ) ว่าจะต้องทำการละหมาดซุฮ์รีแทน แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนการละหมาดวันศุกร์ปกติมาเป็นการละหมาดวันศุกร์วงเล็ก ๆ ตามสถานะและสถานที่ของพวกเขา

4. สำหรับกรณีของโควิด-19 วัตถุประสงค์ของข้อวินิจฉัยมิให้มีการรวมตัวละหมาดวันศุกร์นั้นก็เพื่อที่จะลดจำนวนการรวมตัวของมวลชนลง ซึ่งจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หากผู้คนเริ่มเชิญชวนให้มีการจัดละหมาดวันศุกร์เล็ก ๆ ในบ้านของพวกเขาเองโดยมีเพื่อนบ้านทยอยกันมาร่วม เหตุผลโดยรวมของการหยุดชั่วคราวครั้งนี้ก็เพื่อที่ต้องการจัดระยะห่างทางสังคม ด้วยเหตุนี้หลายครอบครัวจึงสามารถละหมาดซุฮ์รีร่วมกันเป็นญะมาอะฮ์แทนได้ เนื่องจากพวกเขาอาศัยร่วมกันอยู่แล้ว หากแต่การเชิญชวนครอบครัวอื่นมาร่วมละหมาดวันศุกร์นั่นมิอาจตอบสนองตามวัตถุประสงค์ของข้อวินิจฉัยนี้แต่อย่างใด

5. สำหรับการติดตามคุฏบะฮ์ (เทศนาธรรม) แบบไลฟ์สด ข้าพเจ้าได้แนะนำให้ผู้คนฟังคุฏบะฮ์หรือการบรรยายในช่วงเวลาใดก็ได้ตามที่ตนสะดวก … มันย่อมเป็นการดีเสมอที่จะคอยตักเตือนตนเองด้วยคำแนะนำทางจิตวิญญาณผ่านการฟังคุฏบะฮ์หรือการบรรยายศาสนาต่าง ๆ ซึ่งการฟังคุฏบะฮ์แบบออนไลน์นั้นมิได้ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการรวมตัวกันแต่อย่างใด ขณะที่การละหมาดนั้นเราไม่สามารถกระทำการละหมาดทางไกลได้ หากเรายืนอยู่ห่างจากอิหม่าม (ผู้นำละหมาด) เป็นระยะหลายกิโลเมตร … ด้วยกับความรู้ทั้งหมดที่ข้าพเจ้ามีถือว่าไม่มีทรรศนะที่ขัดแย้ง (คิลาฟ) กันในประเด็นนี้

สุดท้ายนี้ เราทุกคนล้วนโหยหาการละหมาดวันศุกร์ด้วยหัวใจที่โศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง แต่ดังที่ทราบกันดีจากข้อมูลที่ได้รับจากหะดีษของท่านนบีว่า เราจะยังคงได้รับผลบุญของการงานใดก็ตามที่เป็นการงานที่ดีแม้ว่าเราจะถูกยับยั้งไม่ให้กระทำด้วยเหตุผลใดก็ตาม ฉะนั้นเราจะต้องให้กำลังใจตนเองด้วยกับความจริงที่ว่า ผู้ที่ร่วมละหมาดวันศุกร์เป็นประจำและมุ่งหวังที่จะกระทำมันอย่างต่อเนื่อง พวกเขาจะได้รับผลบุญของการละหมาดแม้จะมีอุปสรรคมาขวางกั้นมิให้พวกเขาสามารถรวมตัวกันละหมาดวันศุกร์ก็ตาม

อัลลอฮฺเท่านั้นทรงรู้ดียิ่ง

| ชัยค์ ยาสิร กอฎีย์

Reference: http://tiny.cc/bknwlz

Cr.Book Station