○ บทความโดย บารออ์ นิซาร ไรยาน
อาจารย์ด้านหะดีษ สาขาอุศูลุดดีน มหาวิทยาลัยอิสลาม กาซ่า
● โศกนาฏกรรมแอมมาอุส
โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วง “ ภัยพิบัติแห่งเอมมาอูส” (หมู่บ้านในปาเลสไตน์ที่ตั้งอยู่ประมาณ 28 กม. ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจาฟฟาและถูกทำลายโดยชาวยิวในปี ค.ศ 1967) และระบาดไปทั่วแคว้นชาม ในปี ฮ.ศ.18/ค.ศ.639 ทำให้ซอฮาบะฮ์และตาบิอีนจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิต จนกระทั่งคอลีฟะฮ์อุมัร บินค๊อตตอบ (เสียชีวิต ฮ.ศ.23/ค.ศ.643 ) สาบานว่าจะไม่ลิ้มรสไขมัน นมหรือเนื้อสัตว์ จนกว่าผู้คนจะมีชีวิตรอด ดังที่อิบนุอะษีร (เสียชีวิต ฮ.ศ.630 /ค.ศ.1232 )นักประวัติศาสตร์ รายงานในหนังสือของเขา “อัลกามิล ฟิตตารีค” แต่เรื่องราวเกี่ยวกับรายละเอียดในชีวิตประจำวัน รวมถึงการละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ เป็นสิ่งที่หายากมาก แต่ผู้เขียนพบเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับจุดจบของโศกนาฏกรรมแอมมาอูสตามที่ปรากฏอยู่ในหนังสือยุคโบราณ
อิหม่ามอะหมัด บินหัมบัล (เสียชีวิต ฮ.ศ.241 / ค.ศ.855 ) ในหนังสือ “อัลมุสนัด” รายงานหะดีษจากชัรห์ บินเฮาชับ (เสียชีวิต ฮ.ศ. 112 / ค.ศ.730 ) ซึ่งเล่าจากพ่อเลี้ยงของเขาว่า “เขาได้เห็นกาฬโรคระบาดในแอมมาอูส ซึ่งมี อบูอุบัยดะฮ์ บินจัรรอห์ เป็นผู้ปกครอง เสียชีวิตเพราะโรคระบาดนี้ หลังจากคนผู้คนได้มอบอำนาจการนำแก่อัมร์ บินอาศ(เสียชีวิต ฮ.ศ.43 /663 ) เขาได้ยืนขึ้นแล้วกล่าวว่า “โอ้ท่านทั้งหลาย ความเจ็บปวดนี้เมื่อมันเกิดขึ้น ก็จะลุกลามเหมือนไฟ ดังนั้นพวกท่านจงแยกย้ายกันออกไปอาศัยอยู่ตามภูเขา” บางสำนวนกล่าวว่า “พวกท่านจงแยกย้ายหนีจากมัน ออกไปอาศัยอยู่ตามภูเขาและลุ่มน้ำโอเอสิส” อบูวาษิละฮ์ อัลฮุซะลีย์ กล่าวขึ้นว่า “คนโกหก ตอนที่ฉันเป็นสาวกผู้ศรัทธาต่อท่านศาสนทูต ท่านยังเลวกว่าลานี้ของฉัน” (เขาตำหนิที่อัมร์เข้ารับอิสลามล่าช้า ) อัมร์จึงกล่าวว่า “ฉันจะไม่ตอบโต้ท่าน ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ เราจะไม่อยู่ที่นี่” แล้วท่านก็ออกไป ผู้คนจึงพากันแยกย้ายกันไป จนกระทั่งอัลลอฮ์ได้ให้โรคระบาดดังกล่าวหายไปในที่สุด ผู้เล่ากล่าวต่อว่า เมื่อความทราบไปถึงท่านอุมัรเกี่ยวกับนโยบายของอัมร์ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ท่านอุมัรไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด “
ความจริงก็คือเรื่องเล่านี้ มีรายงานขัดแย้งกันว่า ผู้คนยอมรับความคิดเห็นดังกล่าวของอัมร์ บินอาศ หรือไม่ แต่การสิ้นสุดของภัยพิบัตินั้นเพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลมากกว่า และคำพูดที่ว่า “แยกย้ายกันไปอยู่ตามภูเขาสูง ตามเส้นทางในหลืบเขา หรือลุ่มน้ำโอเอสิส ” ปรากฏอยู่อย่างดาษดื่นด้วยสายรายงานที่แตกต่างกัน ทั้งในตำรา “ตะห์ซีบ อัลอาษาร์” ของ อัตตอบารีย์ และในตำรา “อัศศอเหียะห์” ของอิบนุคุซัยมะฮ์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.311/ค.ศ.923) และอิบนุหิบบาน (เสียชีวิต ฮ.ศ.354/ค.ศ. 965)
ดังนั้นตามความรู้ของเรา อัมร์ บินอาศ ถือเป็นคนแรกที่เรียกร้องให้มีการแยกกลุ่มเพื่อเผชิญหน้ากับโรคระบาด ไปอาศัยอยู่ตามยอดเขา และลุ่มน้ำโอเอสิส เพื่อป้องกันโรค ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะมีการละหมาดวันศุกร์ เพราะไม่มีหลักให้ปฏิบัตินอกจากในชุมชน หมู่บ้าน หรือในเมือง
ในแง่ของรายงานที่ขัดแย้งกันว่าผู้คนที่ใช้หรือปฏิเสธความเห็นของอัมร์ บินอาศ ผู้นำของพวกเขา เราไม่สามารถมั่นใจได้ว่าสาวกของท่านนบี และตาบิอีนผู้ที่อยู่กับพวกเขา ได้ละทิ้งละหมาดญามาอะฮ์และละหมาดวันศุกร์ อันเนื่องจากการเกิดโรคระบาด แต่เรามีหลักฐานการเรียกร้องให้งดตั้งแต่ยุคของพวกเขา
เหตุผลในการประท้วงความเห็นของอัมรจากอบูวาษิละฮ์ ซึ่งเป็นซอฮาบะฮ์ท่านหนึ่ง ไม่มีในรายงานอื่นๆนอกจากสายรายงานนี้ ในขณะที่สายรายงานอื่นๆระบุว่าผู้คัดค้านคือชุรอห์บีล บินหะซะนะฮ์ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เสียชีวิตจากโรคระบาดในแอมมาอุส ความเห็นต่างเนื่องมาจาก ความเข้าใจว่า – และพระเจ้าทรงทราบดีที่สุด – ข้อห้ามตามหะดีษนั้นคือ การหลบหนีจากโรคระบาดทุกกรณี ในขณะที่อัมร์เข้าใจว่า ข้อห้ามตามหะดีษนั้นคือ การหลบหนีจากโรคระบาดไปยังอีกเมืองหนึ่งเพราะเกรงว่าภัยพิบัติจะติดต่อไปยังเมืองนั้น และมิได้ห้ามมิให้หนีจากที่นั่นไปยังที่ที่ไม่มีใครอาศัย เช่น ยอดเขา แหล่งน้ำโอไอสิส หรือหลืบเขา
● โรคระบาดในมักกะฮ์
ตำราประวัติศาสตร์อิสลามกล่าวถึงการงดศาสนกิจที่มัสยิดต่างๆ หลายๆ ครั้งเนื่องจากโรคระบาด รวมถึงมัสยิดหะรอมมักกะห์เอง ก็ไม่ได้รอดพ้นจากเหตุการณ์นี้ ดังที่ฮาฟิซอิบนุหะญัร(ฮ.ศ.852/ค.ศ.1448 ) กล่าวไว้ในหนังสือ ‘إنباء الغُمْر بأبناء العمر โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ.827 / ค.ศ.1423 ว่า
“และต้นปีนี้ การแพร่ระบาดครั้งใหญ่เกิดขึ้นในนครมักกะห์ มีผู้เสียชีวิต 40 คนทุกวัน และจำนวนผู้เสียชีวิตในเดือนรอบีอุลเอาวัลเดือนเดียว มีมากถึง 1700 คน เล่ากันว่า อิหม่ามประจำมะกอมอิบรอฮีม ซึ่งถือมัซฮับชาฟิอีย์ มีผู้ร่วมละหมาดเพียง 2 คน และอิหม่ามมัซฮับอื่นๆ ที่เหลือ ไม่มีการละหมาดเพราะไม่มีผู้มาละหมาด
ผู้ตายเพียงเดือนเดียวที่มากถึง 1700 คน น่าจะเป็นเหตุผลทำให้การละหมาดในมัสยิดหะรอมเกือบงดโดยสิ้นเชิง
และไม่กี่ศตวรรษก่อนหน้านั้น อิบนุอะซารีย์ อัลมะรอคิชีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.695/ ค.ศ.1295 ) กล่าวในหนังสือالبيان المُغرب في أخبار الأندلس والمغرب ‘แถลงการณ์โมร็อกโกในข่าวของดาลูเซียและโมร็อกโก’ บอกเราว่า มีโรคระบาดครั้งใหญ่ในตูนีเซียในปี ฮ.ศ. 395/ค.ศ.1004 ทำให้เกิดสินค้าราคาแพง ขาดอาหารยังชีพ .. และคนมากมายเสียชีวิต มีทั้งคนรวยและยากจน ดังนั้นคุณจะไม่เห็นพฤติกรรมใดๆ ยกเว้น การรักษาหรือเยี่ยมคนป่วยหรือจัดการศพ และบรรดามัสยิดในเมืองกัยรอวาน ล้วนไร้ผู้คน “
● โรคระบาดในแอนดาลูเซีย
ในแอนดาลูเซียก็มีเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้น อิหม่ามซะฮะบีย์พูดถึงในหนังสือ “ตารีคอิสลาม ‘ประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม” บันทึกเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ.448/ ค.ศ.1056 เขากล่าวว่า
“ในปีนี้เกิดความแห้งแล้งครั้งยิ่งใหญ่รวมถึงโรคระบาดในเมือง Seville มีคนตายจำนวนมาก มัสยิดถูกปิดตายไม่มีผู้ละหมาด”
และอิหม่ามซะฮะบีย์ กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ ในหนังสือ “ซิยัร อะลามนุบะลาอ์” บันทึกเหตุการณ์ในปี ฮ.ศ.448/ค.ศ.1056 ว่า
“ความแห้งแล้งครั้งยิ่งใหญ่ในแอนดาลูเซีย คอร์โดบาไม่เคยพบยุคแห่งความแห้งแล้งและโรคระบาดเหมือนในปีนี้ จนกระทั่งมัสยิดถูกปิดตาย ไม่มีผู้ละหมาด และปีนี้ถูกเรียกว่า “ปีแห่งความหิวโหย”
ในปีถัดไป ( ฮ.ศ. 449/ค.ศ.1057 ) อิบนุอัลเจาซีย์ ได้ให้รายละเอียดที่น่ากลัวเกี่ยวกับโรคระบาดครั้งใหญ่ที่แพร่กระจายและคร่าชีวิตคนอย่างรวดเร็ว โรคระบาดนี้แพร่กระจายไปในดินแดนที่ปัจจุบันเรียกว่า “เอเชียกลาง”คร่าชีวิตผู้คนประมาณสองล้านคน ต่อมาได้แพร่มายังด้านตะวันตกจนใกล้ถึงชายแดนอิรัก โดยอิบนุอัลเจาซีย์ กล่าวว่า “ในเดือนจุมาดัลอาคิเราะฮ์ ( ฮ.ศ. 449/ค.ศ.1057 ) จดหมายจากจากพ่อค้าเอเชียกลางระบุว่า มีการแพร่ระบาดของโรคครั้งใหญ่ในดินแดนเหล่านี้ ในภูมิภาคนี้วันหนึ่งมีคนตายหมื่นแปดพันศพ และจำนวนคนที่ตายจนกระทั่งเวลาเขียนหนังสือนี้ มีจำนวน 1,650,000 ราย “!!
เขียนโดย Ghazali Benmad
อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3576
บทความต้นฉบับ https://bit.ly/2V6mJhF