○ บทความโดย บารออ์ นิซาร ไรยาน
อาจารย์ด้านหะดีษ สาขาอุศูลุดดีน มหาวิทยาลัยอิสลาม กาซ่า
“มีโรคระบาดครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ ผู้คนที่ผ่านไป พวกเขาเห็นแต่ตลาดที่ว่างเปล่า ถนนที่ว่างเปล่า และประตูที่ปิด และมัสยิดส่วนใหญ่ก็ว่างเปล่า” ด้วยคำพูดเหล่านี้ อิหม่ามอิบนุอัลเจาซีย์ (เสียชีวิต ค.ศ.1200 ) นักประวัติศาสตร์ อธิบายให้เห็นถึงการแพร่ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 449/ค.ศ.1057 และทำให้โลกในเวลานั้นและชีวิตของผู้คนเต็มไปด้วยความหวาดกลัว เหมือนกับภาพของโลกอันเนื่องการระบาดของโควิด 19 ในวันนี้
การแพร่ระบาดครั้งใหม่นี้ส่งผลกระทบต่อรายละเอียดของโลกของเรามากที่สุด โลกหยุดการทำงาน ชะลอการศึกษา เลื่อนการเดินทาง ล้มเลิกแผนการที่วางไว้ และทำให้พวกเขาที่อยู่บ้านเดียวกันต้องกระจัดกระจายในขณะที่กักตัวอยู่ในบ้าน
อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมไม่เห็นด้วยและไม่สับสนเกี่ยวกับสิ่งนี้ เหมือนกับความสับสนเกี่ยวกับปัญหารูปแบบการละหมาดของพวกเขา ทั้งละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ ที่พวกเขารวมตัวกันที่มัสยิดวันละ 5 ครั้ง
ในขณะที่รัฐบาลของประเทศอิสลามส่วนใหญ่เห็นด้วย – แม้ว่าจะมีความแตกต่างทางการเมือง – แต่ก็เห็นพ้องกันในการปิดสถานที่ชุมนุมทั้งหมดรวมถึงมัสยิดและศาสนสถาน โดยความเห็นชอบของสภาฟิกฮ์และสภาฟัตวาจำนวนมาก ท่ามกลางการคัดค้านของนักฟิกฮ์และนักเผยแผ่ศาสนาจำนวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ทุกคนเห็นด้วยกับการถือว่าการปิดมัสยิดเป็นเรื่องกระทบกระเทือนหัวใจของชาวมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพของกะอฺบะห์และลานเตาวาฟที่ปราศจากผู้คนมาทำพิธีเตาวาฟ พิธีละหมาด สุหยุดหรือรุกั๊วะ
ทั้งนี้ หนังสือนิติศาสตร์อิสลามและประวัติศาสตร์อิสลาม ได้ถ่ายทอดข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ที่ยืนยันการงดละหมาด ทั้งละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงการงดละหมาดในมัสยิดหะรอมมักกะฮ์และมาดีนะฮ์ ตลอดจนมัสยิดอักซอ
จุดประสงค์ของบทความนี้คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่โดดเด่นที่สุดและตรวจสอบสาเหตุที่สำคัญที่สุดโดยไม่เน้นรายละเอียดของการถกเถียงในประเด็นหลักนิติศาสตร์อิสลาม
○ การงดไปมัสยิดในส่วนของปัจเจกบุคคล
ในระดับปัจเจกบุคคลชาวมุสลิม หนังสือกฎหมายอิสลามมากมายกล่าวถึงรายละเอียดกรณีอนุโลมงดไปมัสยิดและการขาดการเข้าร่วมละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ หากกลัวว่าจะเป็นอันตรายต่อตัวเองหรือคนอื่น ๆ ไม่ว่าด้วยเหตุผลเกี่ยวกับโรคร้าย ความปลอดภัย ภัยธรรมชาติ หรือผลกระทบทางจิตใจ
หนังสือฟิกฮ์ในมัซฮับต่างๆ ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ในบรรดาบุคคลแรกสุดที่อธิบายเรื่องนี้ คือ อิหม่ามอัลชาฟีอีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.204/ค.ศ.819 ) ได้ขยายรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุผลต่างๆ ที่อนุโลมให้งดไปละหมาดวันศุกร์ได้ โดยหลักแล้วเป็นเหตุผลด้านสุขภาพอนามัย สิ่งที่ประหลาดที่สุดที่อิหม่ามพูดถึงคือ การงดไปละหมาดวันศุกร์เพราะกลัวอำนาจทางการเมือง
อิหม่ามอัลชาฟีอีย์กล่าวในหนังสือ “อัลอุมม์” ว่า
“إن كان خائفا إذا خرج إلى الجمعة أن يحبسه السلطان بغير حق كان له التخلف عن الجمعة”.
“ถ้าเขากลัวว่าถ้าออกไปรัฐจะกักขังเขาโดยไม่ชอบธรรม เขามีสิทธิงดไปละหมาดวันศุกร์”
ที่น่ารักกว่านั้น หนึ่งในเหตุผลงดไปละหมาดวันศุกร์ กรณีลูกหนี้ที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้และกลัวว่าเจ้าหนี้จะคุกคามและกักขัง โดยอัลชาฟีอีย์ที่กล่าวว่าใน “อัลอุมม์” ว่า
وإن كان تغيّبه عن غريم لعُسرة وَسِعَه التخلّف عن الجمعة
“ลูกหนี้ที่ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ มีสิทธิงดไปละหมาดวันศุกร์”
ในทางกลับกัน นักกฎหมายอิสลามอนุญาตให้เจ้าหนี้งดเว้นละหมาดญามาอะฮ์ได้ ถ้าเขากลัวการหายตัวไปของลูกหนี้และเสียสิทธิของเขา เนื่องจากอิหม่ามบัดรุดดีน อัลอัยนีย์ ( เสียชีวิต ฮ.ศ. 855/ค.ศ.1451 ) ในหนังสือ “อุมดะตุลกอรี ฟีชัรห์ ศอเหียะห์ อัลบุคอรีย์” วิเคราะห์บทบัญญัติจากหะดีษบทหนึ่งว่า
جواز التخلف عن الجماعة خوف فوات الغريم
“อนุญาตให้เจ้าหนี้งดเว้นละหมาดญามาอะฮ์ได้ ถ้าเขากลัวการหายตัวไปของลูกหนี้”
ปราชญ์จำนวนไม่น้อยอนุญาตให้งดการเข้าร่วมละหมาดที่มัสยิด เพราะกลัวความวุ่นวายทางการเมืองหรืออื่นๆ ดังที่อิหม่ามซะฮะบีย์ (เสียชีวิต ฮ.ศ.748/ค.ศ.1347) รายงานใน “ซิยัรอะลามนุบะลาอ์” – จากมุตริบ บินอับดุลลอฮ์ อัชชุกัยรี (ฮ.ศ.95/ค.ศ.713 ) ว่า “เมื่อผู้คนเข่นฆ่ากัน ก็จงอยู่กับบ้าน ไม่ต้องไปละหมาดวันศุกร์หรือละหมาดญามาอะฮ์ร่วมกับผู้คนจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย”
บางที แนวปฏิบัติของอิหม่ามผู้ยิ่งใหญ่คนนี้ในการงดละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ กรณีกลัวว่าจะได้รับอันตรายร้ายแรง เป็นพื้นฐานในการงดละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ไว้สำหรับทุกกรณีที่สามารถนำมาซึ่งความเสียหายร้ายแรง มีรายงานว่า ท่านอิหม่ามมาลิกปฏิบัติแนวนี้ โดยในบั้นปลายชีวิต ท่านละหมาดที่บ้านและไม่ได้ไปละหมาดที่มัสยิดนาบาวี เป็นเวลาถึง 18 ปี ดังที่อัลกุรตูบี ( ฮ.ศ. 672 ) ที่กล่าวไว้ในหนังสือ “อัตตัซกิเราะฮ์”
ในทำนองเดียวกัน นักวิชาการบางคนกระทำในการประท้วงต่อต้านการบังคับใช้อำนาจของราชวงศ์อับบาสิด ในรัชสมัยของคอลีฟะฮ์อัลมะมูน ( ฮ.ศ.218/ค.ศ.833 ) ให้คนเชื่อว่า “อัลกุรอานเป็นมัคลูก” ดังที่อิบนุอัยบัก อัดดะวาดะรีย์ (เสียชีวิตหลัง ฮ.ศ. 736/ค.ศ.1335 )กล่าวในหนังสือ كنز الدرر وجامع الغرر ว่า ในปี ฮ.ศ.218/ค.ศ. 833 เกิดวิฤติใหญ่ และเกิดทัศนะว่า “อัลกุรอานเป็นมัคลูก-สิ่งที่อัลลอฮ์สร้างขึ้น” ผู้เห็นต่างถูกประหารชีวิต ทำให้อุลามาอ์และผู้นำศาสนาต่างพากันกักตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปละหมาดญามาอะฮ์ในมัสยิด และมีผู้ถูกฆ่าจำนวนมาก”
อย่างไรก็ตาม การที่บุคคลหนึ่งหรือคนจำนวนเล็กน้อยละทิ้งการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ แตกต่างจากการปิดมัสยิดที่ประชาชนทุกคนต้องละทิ้งการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ ด้วยเหตุนี้ แม้ว่านักฟิกฮ์ยุคก่อนๆ ไม่ได้วินิจถึงเรื่องนี้ แต่มันก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์อิสลาม ดังรายละเอียดที่จะกล่าวถึงต่อไป
เขียนโดย Ghazali Benmad
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3578
บทความต้นฉบับ https://bit.ly/2V6mJhF