บทความโดย ดร.คอลิด หานาฟีย์
– ประธานคณะกรรมการฟัตวา เยอรมัน
– ประธานสภาอิหม่ามและนักวิชาการในประเทศเยอรมัน
– รองเลขาธิการสภายุโรปเพื่อการฟัตวาและการวิจัย (ECFR)
– สมาชิกสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS)
*****
ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อและการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเนื่องจากไวรัสโคโรนา องค์กรฟัตวาทั่วโลก รวมถึงนักวิชาการอิสระจากทั่วโลก ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัสและความสะดวกในการติดเชื้อ ฟัตวาที่โดดเด่นที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนี้คือการฟัตวาปิดมัสยิดเพื่อปกป้องผู้คนจากไวรัสโคโรนา ซึ่งผู้คนมีความเห็นแตกต่างกันสุดกู่ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจและมีบางส่วนคัดค้าน โดยอ้างฟัตวาของนักวิชาการมุสลิมที่มีชื่อเสียงและนักสอนศาสนาบางคน บางคนหันไปใช้รูปแบบประหลาดๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการฟัตวาปิดมัสยิดและป้องกันการแพร่เชื้อ เช่น การแยกผู้ละหมาดในมัสยิดเพื่อให้อยู่ห่างๆกันระยะหนึ่งเมตร หรือการละหมาดหลายๆญามาอะฮ์ในมัสยิดเดียวกันในวันศุกร์ ภาพเหล่านี้และภาพอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจความเป็นจริงของไวรัส และวิธีการติดต่อ รวมถึงการขาดเจตนารมณ์นิติศาสตร์และความหมายของการละหมาดวันศุกร์และละหมาดญามาอะฮ์ สิ่งที่ต้องการชี้แจงในบทความนี้คือการสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤติความเข้าใจบทบัญญัติอิสลามร่วมสมัยซึ่งเป็นที่ประจักษ์ดังนี้
1. นักกฎหมายอิสลามเป็นผู้ตามการบัญชาของผู้มีอำนาจทางการเมือง
เป็นที่สังเกตว่าผู้ฟัตวาส่วนใหญ่ที่แนะนำให้งดการชุมนุมและการรวมกลุ่ม มักตัดสินใจตามการตัดสินใจของผู้มีอำนาจทางการเมืองและฝ่ายสาธารณสุขในประเทศ และด้วยเหตุนี้นักฟัตวาจึงจำกัดและขัดขวางการชุมนุมและการรวมกลุ่มโดยอาศัยคำสั่งจากผู้ปกครองในประเทศ ไม่ใช่การฟัตวาที่กำหนดนโยบายทางการเมือง ซึ่งหมายความว่าบทบาทของนักกฎหมายอิสลามนั้น จำกัดอยู่ในขอบเขตการตัดสินใจของผู้ปกครอง และการหาข้ออ้างทางกฎหมายให้แก่พวกเขา ข้าพเจ้าไม่ได้เรียกร้องให้มีการปะทะหรือแย้งกันระหว่างนักกฎหมายกับผู้มีอำนาจ แต่ต้องการปลดปล่อยให้นักกฎหมายมีอิสระในการวินิจฉัย และเพื่อค้นหาผู้มีความรู้ความสามารถในการพิจารณาและพิทักษ์ผลประโยชน์ที่แท้จริง ที่ผู้มีอำนาจต้องทำตาม ไม่ใช่ตรงกันข้าม นอกจากนั้นปฏิกิริยาของประชาชนซึ่งบางครั้งปฏิเสธที่จะปิดมัสยิดก็สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของนักกฎหมายและนักสอนศาสนาในการสร้างแนวคิดและสภาพแวดล้อมที่ยอมรับการตีความใหม่ ที่ทำให้การพิทักษ์ชีวิตเป็นแกนพื้นฐาน ทั้งนี้ เป็นไปไม่ได้ที่อิสลามทำให้มนุษยชาติเสี่ยงชีวิตเพื่อพิธีกรรมทางศาสนาที่มีรูปแบบหลากหลายและทดแทนกันได้
2. การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับอนาคตศึกษาและการคาดการณ์
คุณสมบัติของนิติศาสตร์อิสลามคือ ความโดดเด่นของเหตุผลและการไม่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่แปลกที่กรณีปิดมัสยิดเพราะไวรัสโคโรนาเหตุการณ์กลับตรงกันข้าม ผู้คนมากมายเข้าใจนิติศาสตร์อิสลามผ่านอารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช้หลักเกณฑ์นิติบัญญัติทางหลักกฎหมายอิสลาม
อิหม่ามซุฟยาน อัลเซารีย์ กล่าวว่า : “เมื่อบททดสอบสิ้นสุดลงทุกคนเข้าใจคำตอบ แต่เมื่อเริ่มมาถึงจะไม่มีผู้ใดเข้าใจยกเว้นผู้รู้เท่านั้น”
ดังนั้น นักกฎหมายอิสลามคือผู้ที่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แล้ววินิจฉัยบทบัญญัติตามหลักนิติวิธีก่อนที่มันจะเกิดขึ้นจริง และไม่ต้องรอให้เกิดขึ้นเสียก่อนแล้วค่อยวินิจฉัยเหมือนคนทั่วๆไป
กรณีโคโรนา นักกฎหมายอิสลามก็เหมือนคนทั่วไป พวกเขาไม่ได้ฟัตวาให้หยุดการชุมนุมทางศาสนา นอกจากหลังจากที่ไวรัสได้แพร่กระจาย และเข้าใกล้เขตอันตรายแล้ว ดังนั้นบทบาทของฟัตวาจึงถูกจำกัดอยู่ในวงที่เล็กและมีอิทธิพลน้อยกว่ากรณีที่พวกเขาสามารถคาดการณ์เท่าทันการวินิจฉัยทางการแพทย์ และศึกษาผลกระทบของไวรัสในประเทศอื่นๆ
นักกฎหมายอิสลามจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของจารีตในสังคมที่อ่อนแอและล้าหลังในเรื่องอนาคตศาสตร์ จึงอาศัยอยู่กับปัจจุบันด้วยวัฒนธรรมของอดีตที่ผ่านมา และน้อยนักที่จะมองถึงการคาดการณ์ในอนาคต
3. การขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับไวรัส
ในการสนทนากับนักกฎหมายอิสลามจำนวนมาก ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพวกเขาบางคนไม่เชื่อนอกจากสิ่งที่มีตัวตนสัมผัสได้ ต้องการเห็นไวรัสด้วยตาจึงจะเชื่อ หรือต้องแลกชีวิตของคนใกล้ชิดจึงจะเชื่อในอันตรายของไวรัสนี้ พวกเขาเชื่อว่าเป็นเพียงแผนร้ายที่ต้องไม่เชื่อ อย่าว่าแต่ต้องหยุดพิธีกรรมทางศาสนา คนเหล่านี้ต้องการละหมาดวันศุกร์ด้วยคนจำนวนน้อยหรือตามรูปแบบดังกล่าวตอนต้นของบทความ ที่ไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงทางการแพทย์ขั้นต่ำเกี่ยวกับไวรัส ตลอดจนภัยอันตรายที่ยิ่งใหญ่ของไวรัสชนิดนี้ รวมถึงความเร็วของการแพร่กระจาย และบุคคลที่ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการใด ๆก็ได้ และไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ พวกเขาไม่ทราบว่าผู้หญิงเพียงคนเดียวได้แพร่กระจายไวรัสชนิดนี้ในเกาหลีเนื่องจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาในโบสถ์แห่งหนึ่ง รวมถึงความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของผู้ละหมาดในมัสยิดที่มักเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ซึ่งมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อและแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและเสียชีวิตมากที่สุด ตลอดจนประเพณีของชาวมุสลิมในมัสยิดที่มักจับมือกัน กอดและสุหยูดในที่ที่มีผู้อื่นสุหยูดแล้ว อันจะทำให้ไวรัสติดต่อได้ง่ายอย่างยิ่ง
4. ความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาทางกฎหมายอิสลาม
สำหรับเรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าจำเป็นต้องทบทวนระบบการศึกษาทางกฎหมายอิสลามเพื่อให้มีการแบ่งความเชี่ยวชาญและเราควรมีนิติเวชอิสลาม นิติเศรษฐกิจอิสลาม … ฯลฯ นิติเวชอิสลามมีการศึกษาทางการแพทย์ มีเครื่องมือในการวิจัยและสามารถประเมินข้อมูลที่อ่านได้
ทั้งนี้ เพราะว่าปัญหาทางการแพทย์และเศรษฐกิจนิติศาสตร์ร่วมสมัยที่เกิดขึ้น บางครั้งมาจากความผิดพลาดในการนำตัวบทกฎหมายมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงที่ถูกนำเสนออย่างไม่ถูกต้อง
ยุคนี้หมดยุคนักสารานุกรมซึ่งเป็นที่รู้ลึกทุกด้าน เพราะโลกปัจจุบันมีความซับซ้อน เปลี่ยนแปลงและเชื่อมโยงกัน ระบบของความคิดทางนิติศาสตร์อิสลามจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย
อ่านบทความต้นฉบับ
https://blogs.aljazeera.net/…/%D8%A5%D8%BA%D9%84%D8%A7%D9%8…
เขียนโดย Ghazali Benmad
อ่านตอนที่ 2 : https://www.theustaz.com/?p=3286