รัฐธรรมนูญอัลมะดีนะฮฺคือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เป็นลายลักษณ์ฉบับแรกในประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ที่นักประวัติศาสตร์และนักบูรพาคดีเชื่อว่า เป็นอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษยชาติและถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าแห่งความยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองอิสลาม
วัตถุประสงค์หลักของรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ วางรากฐานสำคัญสำหรับการดำเนินชีวิตที่สันติ สานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชนเผ่าต่างๆ ที่หลากหลายโดยเฉพาะชาวมุฮาญิรีน อันศ็อร ชาวยิวและชนต่างศาสนิกอื่นๆ กำหนดสิทธิและหน้าที่ของประชาชาชน ผู้นำและรัฐในการสร้างสังคมสันติภาพ ตลอดจนประกาศความเป็นรัฐเอกราชและความเป็นผู้นำสูงสุดของนบีมุฮัมมัด (ซ.ล.)
นักบูรพาคดีชาวโรมาเนียชื่อ Constant Jeor Jeo ได้กล่าวว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกอบด้วย 52 มาตรา ทุกมาตราเป็นความคิดที่สร้างสรรค์โดยนบีมุฮัมมัด ในจำนวนนี้มี 25 มาตราที่พูดถึงชาวมุสลิมเป็นการเฉพาะ และอีก 27 มาตราได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับชนต่างศาสนิกโดยเฉพาะยิวและชนต่างศาสนิกอื่นๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นโดยมีสาระสำคัญที่อนุญาตให้ชนต่างศาสนิกสามารถดำรงชีวิตกับสังคมมุสลิมอย่างอิสระ สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติทางศาสนาตามความเชื่อของแต่ละชุมชนอย่างเสรี แต่ละชุมชนไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนหรือก่อความไม่สงบแก่ชุมชนอื่น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นในปีแรกของการฮิจเราะฮฺหรือปี 623 ค.ศ. แต่ทุกครั้งที่เมืองอัลมะดีนะฮฺถูกคุกคามจากศัตรูพลเมืองอัลมะดีนะฮฺทุกคนต้องลุกขึ้นปกป้องจากภัยคุกคามนี้”
สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญอัลมะดีนะฮฺสรุปได้ดังนี้
1. ประชาชาติมุสลิมอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าการติดยึดในเรื่องเผ่าพันธุ์และสีผิว
“แท้จริงพวกเขาคือประชาชาติเดียวกันที่แตกต่างจากชาวพลเมืองอื่น”
นัยตามมาตรานี้ ทำให้ชาวมุสลิมถึงแม้จะมาจากเผ่าพันธุ์ วงศ์ตระกูล เชื้อชาติและภาษาที่ต่างกัน แต่พวกเขามีความผูกพันกับสายใยอันเดียวกัน นั่นคือ อิสลาม และด้วยมาตรานี้ นบีมุฮัมมัด ได้ทลายกำแพงความเป็นท้องถิ่นนิยม ภาคนิยม ภาษานิยมและชาตินิยมอย่างสิ้นซาก พร้อมสร้างชาติพันธุ์ใหม่คือชาติพันธุ์อิสลาม ทุกคนกลายเป็นประชาชาติเดียวกันคือประชาชาติอิสลาม
2. การสร้างหลักประกันสังคมร่วมกันระหว่างพลเมือง
“แท้จริงศรัทธาชนไม่สามารถปล่อยให้ปัญหาของมุสลิมถูกแก้ไขตามลำพัง แต่เขาต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน แก้ปัญหาด้วยคุณธรรมโดยเฉพาะเรื่องการไถ่ตัวมุสลิมจากการถูกจองจำ”
มาตรานี้ได้ส่งสัญญาณแก่มุสลิมทุกคนว่า พวกเขาคือพี่น้องกัน จำเป็นต้องเกื้อกูลอุดหนุนซึ่งกันและกัน พวกเขาคือเรือนร่างอันเดียวกัน อวัยวะส่วนไหนเจ็บปวด อวัยวะส่วนอื่นเจ็บปวดไปด้วย
3. การลงโทษผู้บิดพลิ้วสัญญา
“ศรัทธาชนต้องลุกขึ้นต่อต้านโดยพร้อมเพรียงกันต่อทุกพฤติกรรมที่ส่อถึงการทรยศหักหลัง การสร้างศัตรูหรือสร้างความปั่นป่วนในสังคมมุสลิม ทุกคนต้องร่วมมือกันต่อต้านกับบุคคลที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ถึงแม้จะเป็นลูกหลานใครก็ตาม”
อาศัยมาตรานี้ นบีมุฮัมมัด ได้สั่งประหารชีวิตยิวเผ่ากุร็อยเศาะฮฺกลุ่มหนึ่งหลังสงครามอัลอะหฺซาบ(สงครามพลพรรค) ซึ่งยิวกลุ่มนี้ได้เป็นไส้ศึกร่วมมือกับศัตรูในการโจมตีเมืองอัลมะดีนะฮฺ ถึงแม้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอัลมะดีนะฮฺก็ตาม
4. การให้เกียรติแก่ทุกคนที่มุสลิมประกันความปลอดภัย
“แท้จริงอัลลอฮฺจะประกันความปลอดภัยแก่ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แม้กระทั่งผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดก็ได้รับสิทธินี้อย่างเสมอภาค ศรัทธาชนจะต้องร่วมมือประกันความปลอดภัยซึ่งกันและกัน”
มุสลิมทุกคนสามารถประกันความปลอดภัยแก่ใครก็ได้ที่เขาต้องการไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม และทุกคนในสังคมต้องเคารพการประกันความปลอดภัยนี้ ถึงแม้ผู้ประกันจะมาจากประชาชนธรรมดาผู้ต่ำต้อยก็ตาม และแม้กระทั่งผู้ประกันจะเป็นผู้หญิงก็ตาม ดังหะดีษหนึ่งที่นบีมุฮัมมัด ได้กล่าวแก่อุมมุฮานิว่า
“แท้จริง ฉันจะประกันความปลอดภัย แก่ผู้ที่ท่านประกันความปลอดภัยแก่เขาโอ้ อุมมุฮานิ”
(อัลบุคอรีย์/6158 และมุสลิม/336)
5. การปกป้องประชาชนต่างศาสนิกและชนกลุ่มน้อย
“ผู้ใดก็ตามที่ตามเราจากชาวยิว พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือ พวกเขาจะไม่ถูกอธรรมและไม่มีใครสามารถคุกคามพวกเขาได้”
มาตรานี้เป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า ชนต่างศาสนิกจะไม่ถูกคุกคามจากรัฐหรือสังคมมุสลิม ตราบใดที่เขาปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี มุสลิมหรือรัฐอิสลามไม่สามารถเอาประเด็นศาสนาเพื่อทำร้ายหรือสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ ตราบใดที่เขาใช้ชีวิตในสังคมอย่างปกติสุข
6. หลักประกันความปลอดภัยในสังคมและประกันให้ค่าสินไหมทดแทน
“ผู้ใดที่ฆ่าผู้ศรัทธาโดยปราศจากเหตุผลที่เป็นที่อนุญาต เขาจะถูกตัดสินด้วยการประหารชีวิต ยกเว้นทายาทที่ถูกฆ่ายินยอมรับค่าสินไหมทดแทน ศรัทธาชนทั้งหลายต้องลุกขึ้นประณามฆาตกรรมนี้ ไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์กระทำการอื่นใด ยกเว้นลงโทษผู้กระทำผิดเท่านั้น”
มาตรานี้เป็นหลักสำคัญต่อกระบวนการสร้างสันติภาพที่สามารถลบล้างวัฒนธรรมแห่งการล้างแค้นที่บานปลายและไม่มีวันสิ้นสุดในสังคมญาฮีลียะฮฺในอดีต รัฐธรรมนูญยังได้ระบุว่า การลงโทษใดๆ สามารถกระทำได้แก่ผู้กระทำผิดเท่านั้น และบุคคลอื่นจะไม่ถูกลงโทษเนื่องจากการกระทำผิดของสหายของเขา
7. แหล่งคำตัดสินสุดท้ายคือชะรีอะฮฺอิสลาม
“หากมีข้อพิพาทใดๆ ในระหว่างท่าน จงหันกลับไปสู่การตัดสินของอัลลอฮฺ และมุฮัมมัด ”
มาตรานี้เป็นการประกาศว่า การตัดสินของอัลลอฮฺ และเราะซูล ถือเป็นที่สิ้นสุดและทุกคนต้องเชื่อฟังคำตัดสินนี้
8. เสรีภาพด้านการนับถือศาสนา
ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้ให้สิทธิเสรีภาพแก่กลุ่มชนต่างๆ ในการนับถือศาสนาและสามารถปฏิบัติคำสอนศาสนาตามความเชื่อของแต่ละคน ดังที่ได้ระบุในมาตราหนึ่งว่า
“ยิวบะนีเอาว์ฟ เป็นประชาชาติหนึ่งร่วมกับบรรดาผู้ศรัทธา ยิวมีศาสนาประจำของพวกเขา และมุสลิมีนก็มีศาสนาประจำของพวกเขาเช่นกัน”
9. การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อปกป้องรัฐถือเป็นหน้าที่ของทุกคน
“ชาวยิวมีหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านการเงินพร้อมๆ กับผู้ศรัทธาตราบใดที่พวกเขาร่วมทำสงครามพร้อมกับชาวมุสลิม”
เพราะอัลมะดีนะฮฺเป็นรัฐของคนทุกคน ดังนั้นพลเมืองอัลมะดีนะฮฺทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนและปกป้องรัฐจากภัยคุกคามอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
10. ทุกเผ่าพันธุ์ได้รับอิสรภาพในการจัดการเรื่องเงินและรายได้ของตน
“ชาวยิวมีหน้าที่แบ่งปันปัจจัยยังชีพในกลุ่มพวกเขา และชาวมุสลิมมีหน้าที่แบ่งปันปัจจัยยังชีพในกลุ่มพวกเขาเช่นกัน”
ในเมื่อแต่ละกลุ่มชนมีหน้าที่ใช้จ่ายเพื่อปกป้องและรักษาความมั่นคงของรัฐ ดังนั้นแต่ละกลุ่มชนในสังคมต่างมีหน้าที่แบ่งปันปัจจัยยังชีพของตนโดยที่รัฐหรือกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ ไม่มีสิทธิ์ไปก้าวก่ายและครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเพียงผู้เดียว
11. การปกป้องรัฐอัลมะดีนะฮฺจากภัยคุกคามเป็นสิ่งวาญิบสำหรับทุกคน
“ในระหว่างพวกเขา ต้องให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการต่อต้านผู้รุกรานพลเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
มาตรการนี้ถือเป็นการมอบหมายหน้าที่ให้แก่ทุกคนที่เป็นพลเมืองอัลมะดีนะฮฺในการปกป้องจากภัยคุกคามทั้งภายในและภายนอกที่สั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล
12. การให้คำตักเตือน การทำความดีระหว่างมุสลิมด้วยกันและชนต่างศาสนิก ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติร่วมกัน
“ในระหว่างพวกเขาต้องดำรงไว้ซึ่งการตักเตือนและการทำความดี ไม่ใช่กระทำบาปทั้งหลาย”
สถานะดั้งเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างพลเมือง ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม คือ การให้คำตักเตือน เสนอแนะสิ่งดี ประกอบคุณงามความดีให้แก่กัน ไม่ใช่สร้างความบาดหมางระหว่างกัน
13. พลเมืองทุกคนสามารถทำสัญญากับฝ่ายใดก็ได้ตราบใดที่ไม่กระทบกับความมั่นคงของชาติ
มาตรานี้เป็นการส่งเสริมให้พลเมืองทุกคนแข่งขันทำความดี สรรค์สร้างสิ่งประโยชน์และพัฒนาสังคมอย่างเต็มความสามารถ และเพื่อให้สามารถดำเนินไปอย่างสำเร็จสูงสุด รัฐจึงให้โอกาสแก่ทุกฝ่ายทำสัญญาสร้างความร่วมมือทำคุณประโยชน์ ตราบใดที่ไม่กระทบกับความมั่นคงของชาติ
14. วาญิบให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกอธรรม
“แท้จริงการยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกอธรรมเป็นสิ่งวาญิบ”
ดังนั้นทุกคนต้องลุกขึ้นต่อสู้กับความอยุติธรรมและต้องปลดปล่อยอธรรมให้หมดไปจากสังคมมุสลิม ไม่ว่าผู้ถูกอธรรมจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตาม
15. การประกันความปลอดภัยแก่พลเมืองทุกคน เป็นหน้าที่สำคัญของรัฐ
รัฐจะต้องประกันความปลอดภัยแก่ประชาชน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางศาสนาและเผ่าพันธุ์
นี่คือสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับอัลมะดีนะฮฺที่สามารถสร้างสังคมปรองดองที่แท้จริง ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเสรีและเกิดสันติสุขที่แท้จริง เพราะความหายนะและความปั่นป่วนในสังคม เกิดขึ้นเนื่องจากมนุษย์พยายามใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตราบใดที่ไม่สามารถยับยั้งสกัดกั้นการบีบบังคับและการยกย่องบูชามนุษย์ด้วยกัน ตลอดจนปฏิเสธการนับถือพระเจ้าอันจอมปลอม และตราบใดที่ไม่สามารถปลดปล่อยมนุษย์ให้มีความอิสระในการเลือกทางเดินชีวิตและความต้องการอันแท้จริงของตนเองแล้ว มนุษย์จะต้องประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวาย
ด้วยเหตุนี้ ภารกิจสำคัญของนบีมุฮัมมัด และผู้ที่เจริญรอยตามท่าน คือ ปลดปล่อยมนุษย์ให้หลุดพ้นจากพันธนาการการเคารพบูชามนุษย์ด้วยกัน สู่การเคารพบูชาอัลลอฮฺ ผู้ทรงเอกะ ปล่อยอิสรภาพมวลมนุษย์จากห่วงโซ่อันคับแคบของโลกดุนยาสู่ความไพศาลของดุนยาและอาคิเราะฮฺ ทำให้มนุษยชาติหลุดพ้นจากกรงเล็บแห่งความอธรรมทางศาสนาสู่ความยุติธรรมของอัลอิสลาม
ส่วนหนึ่งในคุตบะฮ์ อีดิ้ลอัฏฮา 1433
โดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ