ในทางทฤษฎี
ผู้รู้ชีอะฮ์สนับสนุนให้คนเอาวามแต่งงานมุตอะฮ์ (แต่งงานชั่วคราว)
แถมยังอ้างความประเสริฐและผลบุญอันมหาศาลของการแต่งงานชนิดนี้
แต่ในทางปฏิบัติ
เชื่อว่า ผู้รู้ชีอะฮ์คงไม่อยากให้เกิดขึ้นกับลูกเมียของตัวเอง
หากยกประเด็นนี้มา อาจมีเคืองจนเป็นเรื่องบานปลายก็ได้
ในหลักนิติศาสตร์อิสลามว่าด้วยการแต่งงาน
ก็มีเรื่องหนึ่ง ที่เป็นประเด็นเห็นต่างในหลักวิชาการ
คือการแต่งงานหนีวาลี (แต่งงานโดยฝายหญิงไม่จำเป็นขออนุญาตจากผู้ปกครอง) ซึ่งมีรายละเอียดและเงื่อนไขตามหลักวิชาการมากมาย ซึ่งจะไม่พูดถึง ณ ที่นี่
การแต่งงานชนิดพิเศษนี้ เป็นเรื่องที่ควบคู่กับสังคมมุสลิมภาคใต้มายาวนาน
และเป็นแหล่งที่หญิงชายจากประเทศเพื่อนบ้านมาฟอกตัวเองเป็นว่าเล่น จนกระทั่ง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในแต่ละครั้ง เป็นไปอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน เฉือดเฉือน หักเหลี่ยม ที่บางครั้งเกิดความวุ่นวายมาโดยตลอด
แม้กระทั่งหนุ่มสาว 3 จว. ภาคใต้บางคู่บางคน ที่ไปร่ำเรียนหรือทำงานในเมืองกรุง ก็มักใช้วิธีฟอกตัวเองในลักษณะนี้อยู่เป็นเนือง (คือหญิงแต่งงานโดยไม่ขออนุญาตจากผู้ปกครองก่อน) เพราะมีผู้รู้หรืออ้างว่ารู้ คอยจัดการ ชี้โพรงให้
ผู้ชายมักจะอ้างหลักการนี้ในการฟอกตัวเอง
โดยเฉพาะบาบอที่ทำพิธีแต่งงานลูกสาวคนอื่นโดยวิธีนี้
ถามว่า
หากเกิดขึ้นกับลูกสาวของตนเอง
จะรับได้หรือไม่
หลังจากคู่นี้แต่งงาน มีลูกมีหลานแล้ว
เขาจะประสานรอยร้าวในครอบครัวได้อย่างไร
ลูกสาวที่เคยทำให้พ่อต้องขายหน้า เสียใจ จะวางตนอย่างไร และจะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะสมานรอยแผลนี้
หลักชะรีอะฮ์ที่สร้างผลกระทบเชิงลบ ทั้งความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ร้อนฉ่า ปฐมเหตุของความโกรธเคืองและบาดหมาง สร้างความอับอายแก่ผู้เกี่ยวข้อง สัญญาณลูกอกตัญญู สร้างมลทินชีวิต ไม่น่าจะเป็นหลักปฏิบัติที่ฮาลาล และไม่น่าจะเป็นแนวปฏิบัติของผู้ที่มีความยำเกรง
หะดีษจากอับดุลลอฮ์บินอัมร์ กล่าวว่า
قال رسول الله صلى الله عليه وسلم قال رضا الله في رضا الوالد وسخط الله في سخط الوالد / رواه ابن حبان بسند صحيح
ความว่า : ความพึงพอใจของอัลลอฮ์(ที่มีต่อคนที่เป็นลูก) อยู่ที่ความพึงพอใจของบิดาของเขา และความโกรธเคืองของอัลลอฮ์(ที่มีต่อคนที่เป็นลูก) อยู่ที่ความโกรธเคืองของบิดาของเขา
เราจะอธิบายหะดีษนี้ให้แก่ลูกสาวที่แต่งงานหนีวาลีได้อย่างไร
หลักชะรีอะฮ์มีความถูกต้องเสมอ แต่ความเข้าใจและการประยุกต์ใช้ต่างหากที่อาจไม่คู่ควรกับเจตนารมณ์ที่แท้จริงในอิสลาม
หากชะรีอะฮ์อนุญาตและส่งเสริมการแต่งงานประเภทนี้ ถามว่า ตั้งแต่ยุคอิมามชาฟิอีย์ลงมา มีผู้รู้(อุละมาอฺ) ท่านใดบ้างที่เคยผ่านการแต่งงานประเภทนี้ พอมีประวัติเล่าขานกันบ้างไหม
พูดเรื่องนี้ทีไร
นึกถึงการแต่งงานมุตอะฮ์ของชีอะฮ์ทันทีครับ
คนนอกทำได้
แต่คนในมีเคือง
ปล.
ผู้เขียนไม่ได้มีปัญหากับหลักวิชาการว่าด้วยการแต่งงานโดยไม่มีวาลี ภายใต้เงื่อนไขและรายละเอียดมากมาย เนื่องจากมีช่องว่างและประเด็นศึกษามากมายในตำราฟิกฮ์ แต่ที่อดนึกไม่ได้คือ หัวใจของผู้เป็นพ่อแม่ ต่างหากครับ
เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ