บทความ ประวัติศาสตร์

10 กุมภาพันธ์ รำลึกวันเสียชีวิตสุลต่านอับดุลหะมีดที่ 2 แห่งอาณาจักรออตโตมัน : ตอน สัมผัสชีวิตสายสกุลออตโตมันในปัจจุบัน

บทสัมภาษณ์จากวารสารอัลมุจตามะ المجتمع ของคูเวต ฉบับ 2139 ประจำเดือน มกราคม 2020

เจ้าชายฮารูน เหลนของสุลต่านอับดุลฮามิด กล่าวกับวารสารอัลมุจตามะ : เราพบกับความยากลำบากเป็นอย่างยิ่งในการขอสัญชาติตุรกี

เจ้าชายฮารูน บินอับดุลการีม หลานชายของสุลต่านอับดุลฮามิดที่ 2 กล่าวว่าสถานการณ์สายสกุลออตโตมันในปัจจุบันภายใต้รัฐบาลแอร์โดฆาน ดีกว่าเมื่อก่อน พร้อมขอยกย่องชมเชยความสนใจและความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ตุรกีของประธานาธิบดีแอร์โดฆาน

เจ้าชายฮารูน บินอับดุลการีม กล่าวในบทสนทนากับ “วารสารอัลมุจตามะ” ในการเดินทางเยือนคูเวตครั้งล่าสุดว่าสุลต่านมีทรัพย์สินในเมืองคอร์คุก อิรัก เมืองกอมิชลี และเดรซูร ทางตอนเหนือของซีเรีย เรื่องทรัพย์สินเป็นปัญหายุ่งยากมาก จากการที่ออตโตมันพ่ายแพ้สงคราม ดังนั้นทรัพย์สินเหล่านั้นจึงสูญเสียไปบนโต๊ะเจรจา

  • วารสารอัลมุจตะมะ : ก่อนอื่นเรายินดีต้อนรับท่าน และเรามีความสุขมากกับบทสนทนานี้
  • เจ้าชายฮารูน : ขอให้อัลลอฮ์อวยพรให้คุณ และผมก็พอใจกับการพบกับพี่น้องที่ดีของผมในประเทศที่ดีนี้ และรู้สึกราวกับว่าอยู่ระหว่างครอบครัวและตระกูลของผม
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ผลทางจิตใจของการเป็นหลานชายของสุลต่านอับดุลฮามิดที่สอง มีอะไรบ้างครับ ?
  • เจ้าชายฮารูน : ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวที่มีรากเหง้าอันยาวนานนี้ และตั้งแต่วัยเด็ก ตอนที่เราอยู่ในช่วงวัยเด็ก เราได้รับการบอกว่า เธอต้องรู้ว่าเธอเป็นใคร และปู่ย่าตายายของเธอเป็นใคร เราถูกอบรมแบบนี้ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ รวมถึงบอกถึงผู้รักหรือผู้ที่เกลียดชังเราในตุรกี
  • วารสารอัลมุจตะมะ : รัฐบาลตุรกีปัจจุบันปฏิบัติต่อท่านอย่างไร ในฐานะลูกหลานของสุลต่านอับดุลฮามิด?
  • เจ้าชายฮารูน : เรามาที่ตุรกีในปี 1977 รัฐบาลในเวลานั้นไม่สนใจเรา ไม่รู้สึกถึงการมีอยู่ของเรา และไม่ได้ให้ความสนใจใด ๆ กับเรา และเรารู้สึกแปลกแยกและห่างเหิน และเรากลายเป็นคนแปลกหน้าในประเทศของเรา ด้วยความค่อยเป็นค่อยไปและความอดทน เราเริ่มเรียนรู้สังคมตุรกีและวิธีที่จะจัดการกับมัน เพื่อให้เราสามารถกู้คืนสิทธิของเราคืนมา ที่สำคัญที่สุดคือการคืนสัญชาติตุรกีที่เราถูกกีดกันอย่างหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และเราพบปัญหามากมายในขั้นตอนนี้ โดยคุณพ่อเป็นผู้เดินเรื่องเพื่อขอรับสัญชาติอย่างลำบากยากเย็น ตั้งแต่ปี ค.ศ.1977-1985 และเมื่อประธานาธิบดีตุรฆุต โอซาล ของตุรกี ในเวลานั้น รู้เรื่องเกี่ยวกับความทุกข์ทรมานของเราในการขอสัญชาติตุรกี ท่านก็ได้เข้าแทรกแซง และมอบสัญชาติให้เราภายในเวลาหนึ่งเดือนเท่านั้น
    สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันของเรา ภายใต้รัฐบาลของประธานาธิบดีรอญับ ตอยยิบ แอร์โดฆาน ดีกว่ามาก – เราขอสรรเสริญต่ออัลลอฮ์- สำหรับเรื่องนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประธานาธิบดีสนใจประวัติศาสตร์ตุรกี รู้สึกภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์โบราณนี้ และพยายามรักษาไว้ เราจึงรู้สึกเคารพเป็นอย่างสูงต่อท่าน อันเนื่องจากนโยบายที่ถูกต้องและให้ความยุติธรรมต่อสายสกุลออตโตมาน เพราะท่านมีนโยบายให้สัญชาติแก่บุคคลใดก็ตามในตระกูลออตโตมานที่ยังไม่ได้สัญชาติตุรกี ให้มีสิทธิที่จะได้รับในทันทีโดยไม่ต้องรอเวลา 6 เดือน ผู้ใดก็ตามที่เป็นสมาชิกในครอบครัวของออตโตมานที่อาศัยอยู่นอกประเทศตุรกี ให้ยื่นเรื่องต่อสถานทูตตุรกีในประเทศนั้นๆ เพื่อขอสัญชาติ และภายในไม่กี่วันก็ได้สัญชาติในทันที
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างระบอบการปกครองก่อนหน้านี้ที่ท่านอยู่ กับระบอบการปกครองแบบแอร์โดฆานหรือไม่?
  • เจ้าชายฮารูน : ใช่ มีความแตกต่างกันมาก ประธานาธิบดีแอร์โดฆานรักราชวงศ์ออตโตมาน และยกย่องประวัติศาสตร์ออตโตมันโบราณ ทั้งยังเป็นนักอ่านประวัติศาสตร์ที่ดี ดังนั้น เราจึงชื่นชมและเคารพต่อท่าน และเราตอบสนองต่อการเรียกร้องของท่านเกี่ยวกับวันครบรอบการเสียชีวิตของสุลต่านอับดุลฮามิด รวมถึงการรำลึกการก่อตั้งอาณาจักรออตโตมัน และโอกาสอื่นๆ แต่เราก็ตระหนักถึงสถานการณ์ดี เราเห็นใจและเข้าใจเหตุผล หากมีบางอย่างบกพร่อง
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ชีวิตของท่านเป็นอย่างไรบ้างครับ เมื่อตอนที่ท่านอยู่นอกประเทศตุรกี ?
  • เจ้าชายฮารูน : คุณพ่อถือสัญชาติซีเรียและเลบานอน ท่านทำงานเป็นพนักงานเล็กๆ ในกระทรวงการสวัสดิการของเลบานอน ชีวิตของพวกเราค่อนข้างลำบาก ส่วนคุณปู่และคุณทวดของผม ท่านอับดุลการิม อาฟันดี และท่านซาลิม อาฟันดี พ่อของท่าน มีชีวิตที่เรียบง่ายอย่างยิ่ง ท่านทั้งสองยอมขายเหรียญตรา และเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อนำเงินมาใช้ ปัจจุบันเรายังคงได้รับความยากลำบากเหล่านี้ขณะที่เราอาศัยอยู่ในประเทศตุรกีของเรา เราทำงานด้วยแรงของเรา เราทำงานอย่างหนักเพื่อให้เราสามารถมีชีวิตที่เหมาะสมสำหรับเรา และลูก ๆ ของเรา รัฐบาลตุรกีไม่ได้ให้เงินใดๆ แก่เรา และเราเองก็ไม่ได้ร้องขอให้รัฐบาลอุ้มชูเอา เพียงแค่นี้เราก็ยังรู้สึกขอบคุณต่ออัลลอฮ์ เรารู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นพลเมืองของประเทศที่มีสถานะอันยิ่งใหญ่ของเรา ภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์สายสกุลอันมีเกียรติของเรา และการได้ทำงานสุจริตในประเทศของเรา
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านมีทรัพย์สินในตุรกีหรือไม่ครับ ?
  • เจ้าชายฮารูน : ใช่ เรามีทรัพย์สินในตุรกี และจนถึงตอนนี้เรายังไม่ได้อ้างสิทธิ์ สิ่งที่เราขอจากรัฐบาลได้แก่ การระบุทายาทของสุลต่านอับดุลฮามิด – ขอให้อัลลอฮ์ทรงเมตตาท่าน – และในอนาคตเราจะเดินเรื่องขอคืนที่ดินของเราที่ถูกยึดครองโดยตระกูลใหญ่บางตระกูลในตุรกี
  • วารสารอัลมุจตะมะ : สุลต่านอับดุลมาจิด อาศัยอยู่ในซาอุดิอาระเบียและถูกฝังในอัลบะเกียะ ตระกูลสุลต่านอับดุลฮามิดเป็นอย่างไรบ้าง ? มีการพบปะกันบ้างไหม?
  • เจ้าชายฮารูน : สายสกุลของสุลต่านอับดุลฮามิด กระจัดกระจายอยู่ในหลายส่วนของโลก วันเวลาได้ทำร้ายต่อพวกเขา ชีวิตของพวกเขาได้เปลี่ยนไป และสภาพของพวกเขาเปลี่ยนไป บางคนอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร บางส่วนอยู่ในเยอรมนี และขอบคุณต่ออัลลอฮ์ ที่ปู่ของผมเลือกที่จะอยู่ในเลบานอน ดินแดนอิสลาม ภายใต้บรรยากาศอิสลาม
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านตอบโต้การใส่ร้ายป้ายสีต่อสุลต่านอับดุลฮามิดและอาณาจักรคอลีฟะฮ์ออตโตมันหรือไม่?
  • เจ้าชายฮารูน : อิลฮาน สุลตอน ลูกสาวของผม ได้เขียนหนังสือ 3 เล่ม และกีฮาน พี่ชายของผม เขียนหนังสือ 2 เล่มเพื่อตอบโต้ต่อการใส่ร้ายป้ายสี ในวงการสื่อ เราเป็นที่รู้จักกันดี เราได้ดำเนินคดีต่อศาลฟ้องร้องผู้ที่ดูหมิ่นสุลต่านอับดุลหะมีด ลูกสาวของผมชนะมาแล้ว 4 คดี
  • วารสารอัลมุจตะมะ : แล้วเรื่อง “ซีรี่ส์สุลต่านอับดุลฮามิด”?
  • เจ้าชายฮารูน : ผมเป็นที่ปรึกษาในการทำซีรีย์นี้ และเราใส่ข้อมูลเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริงในช่วงเวลานั้นมากกว่า 60% ของซีรี่ส์ ส่วนเหตุการณ์ที่เหลือของซีรีส์ มาจากจินตนาการของการละคร
  • วารสารอัลมุจตะมะ : สุลต่านอับดุลฮามิด มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อชาวยิวเป็นอย่างมาก ดังนั้น ตอนนี้ท่านมองสถานการณ์ของชาวยิวอย่างไรในปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง?
  • เจ้าชายฮารูน : จุดยืนเหล่านี้ของท่านสุลต่าน เริ่มขึ้นในปลายศตวรรษที่สิบเก้าต่อมา หลังจากปี 1917 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และออตโตมันต้องออกจากปาเลสไตน์และประเทศอาหรับอื่นๆ ผู้นำอาหรับหรือผู้นำอิสลามก็ไม่สามารถรักษาปาเลสไตน์เอาไว้ได้เหมือนกับที่ออตโตมันรักษาไว้เป็นเวลานานหลายศตวรรษ จุดยืนของแอร์โดฆานกับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาก็เป็นจุดยืนที่น่ายกย่องที่ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกไว้อย่างภาคภูมิใจในตัวผู้นำมุสลิมท่านนี้ และแน่นอนว่าเราจะไม่เปรียบเทียบท่านกับสุลต่านอับดุลฮามิด ในการเผชิญหน้ากับกลุ่มไซออนิสต์ที่นำโดยเฮอร์เซิล และการปฏิเสธที่จะให้ปาเลสไตน์แก่พวกเขา
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านได้ทำสารคดีเกี่ยวกับสุลต่านอับดุลฮามิดหรือไม่ ?
  • เจ้าชายฮารูน : ผมได้ทำสารคดีในเรื่องนี้ 2 ตอน ระยะเวลาของแต่ละตอน 22 นาที และผมได้ลงใน YouTube สารคดีนี้พูดถึงชีวิตของสุลต่านอับดุลฮามิด ผมสัมภาษณ์อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่สุดในประวัติศาสตร์ของตุรกี 14 ท่าน และการสัมภาษณ์ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านมีทรัพย์สินในปาเลสไตน์หรือไม่ครับ ?
  • เจ้าชายฮารูน : สำหรับเรื่องทรัพย์สิน มันเป็นหัวข้อที่ยืดยาว และเป็นประเด็นทางการเมือง และการเจาะลึกเข้าไปในประเด็นนี้จะสร้างปัญหาใหญ่ให้แก่เรา ความจริง ดินแดนรอบ ๆ เยรูซาเล็มเป็นสมบัติของสุลต่านอับดุลฮามิด และท่านสุลต่านยังมีทรัพย์สินอยู่ในเมืองเคอร์คุกในอิรัก และกอมิชลี และเดรซูร์ ในภาคเหนือของซีเรีย สุลต่านรู้ว่าดินแดนนี้มีน้ำมันและก๊าซ และท่านซื้อโดยไม่แน่ใจว่ามันมีน้ำมันหรือก๊าซหรือไม่ แต่ความรู้สึกเป็นแรงบันดาลใจให้ซื้อมัน และเรามีเอกสารยืนยันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเหล่านั้น และท่านสุลต่านยังมีทรัพย์สินในฉนวนกาซาอีกด้วย
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านสามารถเรียกร้องทรัพย์สินเหล่านั้นคืนมาได้หรือไม่ครับ ?
  • เจ้าชายฮารูน : เราไม่สามารถเรียกร้องได้ แม้แต่ศาลระหว่างประเทศก็ยังไม่สามารถตัดสินได้ เพราะว่า -ด้วยความเสียใจอย่าง- ในช่วงเวลาที่ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี จักรวรรดิออตโตมันก็พ่ายแพ้ในการสู้รบทางทหาร และทำให้ต้องสูญเสียไปบนโต๊ะเจรจา ในขณะที่การดำเนินคดีในศาลระหว่างประเทศ ต้องใช้สำนักงานทนายความใหญ่ๆ จึงจะดำเนินคดีได้
  • วารสารอัลมุจตะมะ : ท่านได้รับการต้อนรับจากชาวคูเวตอย่างไรบ้างครับ ?
  • เจ้าชายฮารูน : จริง ๆนะครับ ผมรู้สึกประหลาดใจกับการต้อนรับที่ดี และมันก็เป็นความประหลาดใจที่มีเกียรติสำหรับผม ! ผมเห็นความรักอันยิ่งใหญ่ในหัวใจคนมากมาย และผมยังคงจดจำช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความรักและความเสน่หาที่เราได้รับ และผมขอแสดงความเคารพต่อประชาชนชาวคูเวตผู้ยิ่งใหญ่เหล่านี้ และในอดีตระหว่างผมและกษัตริย์จาบีร – ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาท่าน- มีการติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงการบุกของอิรัก ผมส่งจดหมายไปให้แก่พระองค์ บอกว่า ผมเป็นหลานชายของสุลต่านอับดุลฮามิด และบอกว่า ผมเสียใจที่พระองค์ต้องออกจากคูเวต พระองค์ได้ตอบจดหมายของผมด้วยดี และผมยังคงเก็บไว้จนถึงตอนนี้

เขียนโดย Ghazali Benmad

อ่านต้นฉบับ
http://mugtama.com/reports/item/97442-2020-01-06-06-19-00.html?fbclid=IwAR2WZJRl_3xiallr530mr9HcMxTSB4hoFtOmzr3jKDHOObILcWUdiQcMKaU