สงครามโลกครั้งที่ 3 ที่ใช้เวลาเพียง 6 วันระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน ระหว่าง วันที่ 3-9 มกราคม 2020 ได้สิ้นสุดแล้ว ท่ามกลางอกสั่นขวัญหายของชาวโลก แต่สิ่งที่ต้องลุ้นระทึกหลังจากนี้คือ เกมส์ธุรกิจการเมืองและศาสนาระหว่าง 2 ชาติ ที่ประกาศเป็นศัตรูร่วมกว่า 40 ปี จะเกิดผลไปในทิศทางใดบ้าง ใครได้ใครเสียหรือทั้งคู่มีได้กับได้
อิหร่านคงต้องเร่งคว้าสถานการณ์นี้ เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อรองรับแผนการอันยิ่งใหญ่ที่ได้กำหนดมาตั้งแต่การปฏิวัติโคมัยนี ปี 1979 ส่วนหนึ่งสรุปได้ดังนี้
1.ดับกระแสความไม่พึงพอใจของชาวอิหร่านที่มีต่อรัฐบาล
ก่อนเหตุการณ์สังหารนายพลสุไลมานี ชาวอิหร่านนับหมื่นคน ออกมาชุมนุมประท้วงรัฐบาลเนื่องจากประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในการบริหารราชการ จนกระทั่งลุกลามไปในอิรักและเลบานอน ซึ่งประชาชนทั้งสองประเทศนี้ได้แสดงปฏิกิริยาไม่ต้องการอยู่ในอำนาจของเตหะรานต่อไป
การชุมนุมไว้อาลัยต่อการสูญเสียของบุคคลสำคัญลำดับที่ 2 ของประเทศ ถือเป็นการร่วมสัตยาบันและแสดงการสวามิภักดิ์ครั้งใหม่ของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ทำให้รัฐบาลโรฮานีมีฐานสนับสนุนจากประชาชนอีกครั้ง ถึงแม้จะเป็นการซื้อเวลาและเป็นเพียงฐานน้ำแข็งก็ตาม
2.ความสำเร็จทางภูมิยุทธศาสตร์ (Geostrategy) ของอิหร่าน
หลังเกิดเหตุการณ์สังหารครั้งนี้ อิหร่านสามารถดึงทั้งรัสเซียและจีนเป็นพันธมิตรอย่างแนบแน่น โดยทั้งสองประเทศมหาอำนาจนี้ ต่างออกโรงประณามการปฎิบัติการของสหรัฐฯที่สังหารสุไลมานีอย่างเย้ยฟ้าท้าดิน อีกทั้งกลุ่มประเทศอียูและประชาคมโลก ต่างส่งสารแสดงความเสียใจแก่อิหร่านต่อการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้
ความสำเร็จทางภูมิยุทธศาสตร์ครั้งนี้ถือเป็นผลตอบแทนอันสุดคุ้มของอิหร่านที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่การปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี ค.ศ.1979
3.การประกาศอำนาจอันเบ็ดเสร็จของอิหร่านเหนือแผ่นดินอิรัก
นับตั้งแต่บัดนี้ อิรักกลายเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของอิหร่านโดยบริบูรณ์ หลังจากรัฐบาลกลางอิรักซึ่งเป็นหุ่นเชิดของรัฐบาลอิหร่าน ได้เรียกร้องให้กองกำลังต่างชาติเคลื่อนย้ายออกจากอิรักโดยเร็ว ซึ่งกองทัพเยอรมันได้ตอบรับการเรียกร้องโดยทันที ในขณะที่สหรัฐฯได้วางเงื่อนไขให้จ่ายค่าเสียหายและค่าเคลื่อนย้ายฐานทัพด้วยโดยฝ่ายที่ต้องควักกระเป๋าเสียค่าใช้จ่ายครั้งนี้ หนีไม่พ้นอิรักและประเทศอ่าว ที่สหรัฐฯถือว่าช่วยเป็นยามรักษาความปลอดภัยในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด
นอกจากอิรักแล้ว อิหร่านยังส่งสัญญาณว่าทั้งซีเรีย เลบานอนและเยเมนก็อยู่ภายใต้การดูแลของตนเช่นกัน
ผลกำไรมหาศาลเช่นนี้ อิหร่านได้มาอย่างสะดวกโยธินโดยไม่ต้องลงทุนอะไรเลยหรือ
4.การประกาศครอบครองทางภูมิศาสตร์ของอาณาจักรเปอร์เซียในอดีต
การที่อิหร่านสามารถยึดครองดินแดนบริเวณคาบสมุทรอาหรับและประเทศอ่าวทั้ง 3 ด้าน ถือเป็นการประกาศยึดครองอาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ที่เคยเป็นเขตอิทธิพลของอาณาจักรเปอร์เซียในอดีต ทำให้เราต้องนึกถึงอาณาจักรศอฟาวีย์ ที่สถาปนาประเทศบนซากศพและกองเลือดของประชาชาติอิสลามในอดีตนั่นเอง
5.ไฟเขียวให้อิหร่านเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมได้อย่างไร้ข้อจำกัด
อิหร่านและ 6 ชาติมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน ได้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในปี 2558 ที่จำกัดการครอบครองแร่ยูเรเนียมและการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ แต่หลังเหตุการณ์สังหารสุไลมานี อิหร่านประกาศแถลงการณ์จะเดินหน้าเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมอย่างเต็มพิกัด โดยไม่มีข้อจำกัด แต่จะยังคงร่วมมือกับสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ต่อไป โดยสำนักงานดังกล่าวเป็นหน่วยงานด้านนิวเคลียร์ขององค์การสหประชาชาติ (UN)
การประกาศของอิหร่านครั้งนี้ ถือเป็นการละเมิดสนธิสัญญาของอิหร่านที่ได้บรรลุข้อตกลงจากหน่วยงานสากลอย่างสหประชาขาติ ทั้งๆที่อิรักยุคซัดดัมต้องแลกด้วยความพินาศย่อยยับทั่วประเทศทีเดียว มิหนำซ้ำ หลังสหรัฐฯปูพรมถล่มอิรักด้วยข้ออ้างว่าอิรักสะสมระเบิดนิวเคลียร์ แต่กลับไม่พบวัตถุอันตรายดังกล่าวแม้แต่เงา
ไม่มีลาภอันประเสริฐที่ยิ่งใหญ่ที่อิหร่านพึงได้รับมากกว่านี้อีกแล้ว
6.อิหร่านได้รับไฟเขียวให้ตอบโต้สหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯยื่นมือพร้อมสร้างสันติภาพ
หลังจากที่อิหร่านได้ส่งสัญญาณให้รัฐบาลอิรักว่า จะตอบโต้สหรัฐฯอย่างหนักหน่วง เพื่อตอบโต้กรณีสังหารนายพลสุไลมาน เป็นผลทำให้อิหร่านยิงขีปนาวุธพิสัยไกลระยะทาง 500 กม. ถล่มฐานทัพสหรัฐฯ 2 แห่งในเวลาเดียวกัน โดยไร้การสกัดกั้นใดๆจากสหรัฐฯ แถมประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯได้แถลงในวันรุ่งขึ้นว่า สหรัฐฯจะไม่ตอบโต้อิหร่านแต่อย่างใด พร้อมยินดีจับมือกับอิหร่านสร้างสันติภาพในภูมิภาคนี้ต่อไป ทำให้อิหร่านสามารถยึดอกสร้างตำนานความยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยมีใครผู้ใดลอกเลียนแบบได้ และประวัติศาสตร์นี้จะถูกเล่าขานนานนับศตวรรษทีเดียว
7.โลกยอมรับและมอบอำนาจด้วยพานทองแก่อิหร่านให้ดูแลอ่าวอาหรับ
หลังจากนี้ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศอ่าวและประเทศอาหรับต้องยอมรับอำนาจที่แท้จริงในภูมิภาค อิหร่านที่สามารถทำสงครามกับ 4 ประเทศอาหรับในเวลาเดียวกัน (อิรัก ซีเรีย เลบานอน และเยเมน) ตลอดจนสามารถกำราบมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯให้ยุติการตอบโต้ รวมทั้งบีบบังคับสหรัฐฯมิให้สกัดกั้นการโจมตีพลังน้ำมันของบริษัทอารามโก้ของซาอุดิอาระเบียทำให้โลกต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า มหาอำนาจยุคใหม่บริเวณอ่าวอาหรับคือใครกันแน่ และชื่ออ่าวอาหรับจะถูกเปลี่ยนถาวรเป็นอ่าวเปอร์เซียเพราะเหตุใด
8.สมการที่ลงตัวระหว่างพ่อค้าอสังหาริมทรัพย์กับนักธุรกิจค้าศาสนาและประชาชาติอิสลาม
ระหว่างมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจสีเทา ซึ่งทั่วโลกหวั่นวิตกกับนโยบายต่างประเทศอันบ้าคลั่งของเขา บุคคลผู้นี้ได้ทำให้โลกอิสลามได้รับรู้ธาตุแท้ของชาติตะวันตกที่มีต่อโลกอิสลามโดยไม่จำเป็นต้องถอดรหัสลับใดๆ กับนักธุรกิจด้านศาสนาภายใต้เสื้อคลุมสีดำ ที่หากคำพูดและคำข่มขู่ของพวกเขากลายเป็นเปลวไฟ เชื่อว่าบัดนี้ ทั้งสหรัฐฯและอิสราเอลคงมอดไหม้แหลกลาญเป็นจุณแน่นอน
ในช่วงแรก ทั้งสหรัฐฯและอิหร่านมักจะคำรามใส่กันอย่างดุดันเสมอ แต่จะลงเอยที่โต๊ะเจรจาตลอด เพียงแต่การตกลงจะไม่เกิดบนโต๊ะเจรจาหรือในห้องประชุมเหมือนธรรมเนียมปฏิบัติของชาวโลกทั่วไป แต่จะเกิดขึ้นจากถ้อยแถลงของผู้นำทั้งสองฝ่ายท่ามกลางความสูญเสียของโลกมุสลิมและประชาชาติอิสลาม ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯได้ทวิตในข้อความส่วนตัวว่า “ชาวอิหร่านไม่เคยทำสงคราม แต่พวกเขาไม่เคยแพ้ในสนามเจรจาต่อรองเสมอ”
เราสามารถรู้เป้าหมายของพ่อค้าอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ยากเย็นมากนักแต่จะรู้เบื้องลึกเป้าหมายของนักธุรกิจศาสนาของชนกลุ่มนี้ เราจำเป็นต้องกางแผนที่อาณาจักรเปอร์เซียยุคก่อน 1500 ปีทีเดียว เพื่อจะได้รู้ว่ายุทธศาสตร์ที่แท้จริงของพวกเขาคืออะไร
โดยทีมข่าวต่างประเทศ