ผมเกิดที่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งชื่อไอกูบูหมู่ที่ 1 ตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอยู่ติดถนนจารุเสถียร ห่างจากเมืองนราธิวาสไปทางสุไหงปาดีประมาณ 40 กม. ในอดีตหมู่ที่ 1 ประกอบด้วย 3 หมู่บ้านคือตลิ่งสูง ไอกูบูและป่าหวาย
อาจเป็นเพราะไอกูบูตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างสองหมู่บ้าน ทำให้ทางการเลือกแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านที่มาจากหมู่บ้านไอกูบู โดยมีคุณตาเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก ปัจจุบันทั้ง 3 หมู่บ้าน ได้แยกส่วนบริหารต่างหากแล้ว
ไอกูบูมีประชากรมุสลิม 100 % แต่มีช่วงหนึ่งที่บริษัทโรงโม่หินจากสุไหงโกลก มาตั้งบริษัทระเบิดหิน ซึ่งห่างจากบ้านผมไม่ถึง 100 เมตร ผมจึงโชคดีที่ได้ยินเสียงระเบิดหินจากภูเขาหลังบ้านดังตูมตามวันละ 2 ครั้ง ทั้งเที่ยงและเย็นมาตั้งแต่เด็ก บางครั้งสะเก็ดหินได้ตกมาหน้าบ้านพอทำให้ตกใจเล่น ส่วนเสียงโม่หินจากโรงงานนั้น ก็ได้สร้างสีสันดังครึกโครมทั้งวัน หากวันไหนโรงงานหยุด จะรู้สึกเงียบเหงาชอบกล ราวกับว่าใช้ชีวิตบนโลกอีกใบ
ครอบครัวผมและเพื่อนบ้าน จึงได้รับมลพิษทางเสียง อากาศและสภาพจิตใจนานเกือบ 30 ปีจนกระทั่งบริษัทเลิกกิจการไป เพราะไม่มีหินให้ระเบิด
ตลอดระยะเวลาดังกล่าว มีชาวบ้านเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่เป็นลูกจ้างบริษัทนี้ คนงานส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธที่มาจากภาคใต้ตอนบนกว่า 10 ครอบครัว บางครอบครัวมาจากอีสาน
บ้านป่าหวายในอดีต มีชาวพุทธอาศัยเกือบ 100% ส่วนบ้านตลิ่งสูงเป็นหมู่บ้านพหุวัฒนธรรมโดยแท้จริง เพราะมีมุสลิมและพุทธอาศัยอยู่ในอัตราส่วน 80 : 20 ชาวพุทธที่เป็นคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้านนี้ จึงสามารถพูดภาษามลายูท้องถิ่นได้คล่องแคล่ว บางคนมีชื่ออิสลามที่ชาวบ้านตั้งให้ เช่น เจ๊ะดือราแม เจ๊ะเต๊ะ เป็นต้น
เจ๊ะดือราแม เป็นชาวตลิ่งสูงโดยกำเนิดจึงสามารถพูดมลายูได้ดี ส่วนเจ๊ะเต๊ะ มีบ้านเกิดที่ป่าหวาย พูดมลายูไม่ได้แต่ฟังมลายูรู้เรื่อง ทั้งสองคนเป็นเพื่อนสนิทของคุณพ่อที่พูดไทยไม่ได้ แต่ฟังคนแหลงใต้รู้เรื่อง
ผมยังจำได้ว่าทุกครั้งที่ 3 เกลอนี้เจอกันซึ่งส่วนใหญ่จะใช้แคร่หน้าบ้านเป็นที่นัดพบ ผมจะได้ยินเสียงภาษาสนทนาที่แปลกประหลาดมาก คนหนึ่งพูดมลายูท้องถิ่นในฐานะเจ้าภาพ อีกคนแหลงใต้เสียงดังฟังชัด และอีกคนพูดมลายูท้องถิ่นสำเนียงใต้
ยิ่งบางวันที่ สองเกลอต่างถิ่น นัดขี่จักรยานมาชวนคุยหน้าบ้านในสภาพที่ทั้งสองหน้าแดงก่ำพร้อมกลิ่นเหล้าฟุ้งกระจาย บรรยากาศก็จะเก๋ไก๋ไปอีกแบบ
ผมจึงมีโอกาสซึมซับบรรยากาศความผูกพันของสหายรักต่างศาสนิกตั้งแต่เยาว์วัย
ทั้ง 3 หมู่บ้านนี้มีโรงเรียนประถมที่สร้างขึ้น ณ ที่ดินที่อยู่ระหว่างหมู่บ้านไอกูบูกับหมู่บ้านตลิ่งสูง โดยที่ดินของโรงเรียนอยู่ในเขตหมู่บ้านตลิ่งสูงจึงตั้งชื่อว่าโรงเรียนบ้านตลิ่งสูง อยู่ใกล้บ้านประมาณ 800 ม.
ผมเรียนระดับประถม ป.1 ถึง ป.4 ที่โรงเรียนแห่งนี้ สมัยนั้นมีครูวิบูลย์ บุญรอด เป็นครูใหญ่ (ชาวบ้านเรียกติดปากว่าครูแดง มีภรรยาเป็นครูเช่นกัน ชาวบ้านเรียกว่าครูแมะแย) ทั้งสองพูดภาษามลายูได้คล่องแคล่ว และค่อนข้างสนิทสนมกับคุณพ่อเช่นกัน
ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.4 ทุกครั้งที่เปิดเรียนวันแรก คุณพ่อจะต้องลางานประจำคือกรีดยาง เพราะต้องจูงผมไปห้องเรียนแต่เช้าและคุยกับครูประจำชั้นว่า ขอเลือกที่นั่งให้ลูกชายนั่งข้างหน้าสุดและขอให้มีเพื่อนที่เป็นเด็กพุทธนั่งข้างๆ ด้วย ผมจึงนั่งติดกับเด็กชายสมนึก ลินิน (เพื่อนๆเรียกไอ้หมึก) จากบ้านตลิ่งสูง จนกระทั่งจบป. 4 จำได้ว่าตลอดการเรียน เราผลัดกันได้ที่ 1 ที่ 2 ของห้องมาโดยตลอด
ครั้งหนึ่ง ช่วงเรียน ป.4 ผมได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนนักเรียนแข่งขันประจำอำเภออ่านบทร้อยกรองทำนองเสนาะ เรื่องรามเกียรติ์ โดยสามารถเอาชนะไอ้หมีกได้ ทั้งๆที่ในโรงเรียนมีครูที่มีนามสกุลลินินกันหลายคน
ท่อนที่ว่า บัดนั้น พระยาพิเภกยักษี เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี …….ทั้งท่อน ผมจึงสามารถท่องขึ้นใจจนกระทั่งปัจจุบัน
ผมจึงมีโอกาสพูดคุยและสนทนาโดยใช้ภาษาไทยมากกว่าเพื่อนๆในห้อง ซึ่งถือเป็นผลพวงของยุทธศาสตร์อันเเยบยลของคุณพ่อนั่นเอง
ในอดีต ขณะที่สังคมยังไม่รู้จักคำว่าพหุวัฒนธรรม สังคมสมานฉันท์และเอื้อ อาทร แต่วิถีชีวิตของเราได้กลมกล่อมจนซึมซับความหมายเหล่านั้นให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตโดยไม่รู้ตัว
แต่ทุกอย่างได้ผันแปรไปตามกาลเวลา คำว่าสังคมพหุวัฒนธรรมนำสันติสุข เป็นเพียงวาทกรรมที่ถูกกล่าวถึงในเวทีสัมมนาที่เมืองกรุงหรือที่รีสอร์ทตามชายหาดเท่านั้น
เราอาจทะเลาะ จนถึงขั้นชกต่อยกันบ้างตามประสาเด็กๆในวัยเรียน แต่พรุ่งนี้ เราก็กอดคอเล่นเป่ายางเส้นกันเช่นปกติ เหมือนไม่เคยมีเรื่องบาดหมางเกิดขึ้นมาก่อน
เมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชัง ได้รับการบ่มเพาะอย่างกว้างขวาง ที่นับวัน ยิ่งแตกกิ่งก้านขยายผลอย่างน่ากลัว
จากเพื่อนบ้านเรือนเคียงที่ใช้ชีวิตอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยและยิ้มแย้มถามไถ่ระหว่างกัน บัดนี้อุดมด้วยความหวาดระแวงและลอบทำร้าย จนกระทั่ง ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่า บางฝ่ายกำลังจงใจจุดไฟด้วยการสร้างข่าวลือ ข่าวเท็จ ปลุกปั่น ปั้นน้ำเป็นตัวด้วยความอคติและอวิชา บาดแผลที่ไหลรินอย่างยาวนานอยู่แล้ว กลับถูกซ้ำเติมอย่างไร้จรรยาบรรณที่สุด
ถึงกระนั้นก็ตาม ผมจะไม่มีวันลืมบรรยากาศเก่าๆอันสวยงามที่เคยสัมผัสในวัยเด็ก และหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า สักวันมันจะหวนกลับมาอีกครั้ง
ยกเว้นเสียงระเบิดของโรงโม่หินหลังบ้าน
พร้อมนี้ ใคร่เชิญชวนพี่น้องร่วมรับฟังอนาชีด Airkubu : Desaku tercinta ที่อธิบายถึงการเติบโตของเยาวชนไอกูบู ท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของธรรมชาติ การถ้อยทีถ้อยอาศัยและความสามัคคีของชาวบ้าน จนเกิดชุมชนสันติสุขและเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ