ซินเจียง : หนึ่งในปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 6

Xinjiang ช่วงปลายสิงหาคม คือช่วงท้าย ๆ ของฤดูร้อนของที่นี่ หลังจากนี้อีกไม่กี่วัน ความหนาวเย็นและสีใบไม้ที่เปลี่ยนไปจะเริ่มมาทักทายผู้คนทั้งคนท้องถิ่นและบรรดาผู้มาเยือน

ก่อนการเดินทางมาที่นี่ เรื่องอุณหภูมิเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทีมเราให้ความสนใจ ข้อมูลจาก accuweather ช่วยไกด์เราระดับหนึ่งว่าถ้ามาที่นี่เราจะเจอสภาพอากาศเป็นอย่างไร แต่ปัญหาคือ บางเมืองที่จะไปไม่สามารถค้นหาค่าอุณหภูมิได้ อาจจะเป็นเพราะโปรแกรมคร่าว ๆ ที่บริษัทเขียน มีการระบุชื่อสถานที่เป็นภาษาจีนแต่ใช้ข้อความภาษาไทย การแปลงจากคำไทยเป็นอังกฤษแล้วไปสืบค้นจึงกระทำได้ค่อนข้างลำบาก เพราะสำเนียงจีนและคำในภาษาอังกฤษจะอ่านต่างกัน เช่น Kanas อ่านว่า คานาสือ, Karamay อ่านว่า เคอลามาอี้ , Turpan อ่านว่า ทูรุฟาน เป็นต้น accuweather จึงค้นหาได้เฉพาะบางเมือง หรือแค่เป็นข้อมูลทั้งมณฑลในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ใกล้ ๆ กับช่วงเวลาที่จะเดินทาง แลนด์ท้องถิ่น (บริษัทจัดทัวร์ท้องถิ่นที่คอยให้บริการลูกทัวร์) แจ้งข้อมูลค่าอุณหภูมิทุกเมือง ทำให้รับทราบว่า ที่ที่เราจะไป อุณหภูมิมีการแกว่งในช่วงที่กว้างมาก ตั้งแต่ 6 องศา จนอาจจะถึง 39 องศาในบางเมือง และอาจร้อนกว่านี้ได้อีกหากเราเข้าไปในบริเวณที่ได้ชื่อว่าร้อนที่สุดของประเทศจีน นั่นคือในบริเวณภูเขาเปลวเพลิง หรือ ฝอเยี่ยนซาน ที่วันนี้ปรอทวัดอุณหภูมิสูงถึง 60 องศา และที่นี่ไกด์ท้องถิ่นบอกว่า เคยมีอุณหภูมิสูงสุดในประวัติศาสตร์อยู่ที่ 83 องศาทีเดียว

วันนี้ทีมเรากำลังจะออกจากโซนหนาวไปสู่โซนร้อน ณ เมืองทูรูฟาน ดินแดนที่มีสภาพแล้งฝน แต่ผลไม้ประเภทองุ่น แตงโม และเมล่อนขึ้นชื่อว่าหวานอร่อยมาก ความร้อนคงทำให้ระดับน้ำตาลในผลไม้ถูกกักเก็บเข้มข้น เหมือนแตงโมเทพา ที่จะหวานอร่อยก็ต้องซื้อหน้าร้อนเช่นเดียวกัน

แต่ละที่แต่ละเมืองของซินเจียงช่างห่างไกลกันมาก จึงไม่แปลกที่เวลาในโปรแกรมบางส่วนถูกใช้ในการเดินทางจากเมืองหนึ่งถึงเมืองหนึ่งยาวนานมาก บวกกับในเขตนี้มีการจำกัดความเร็วบัสอย่างเข้มงวด ทั้งกล้องบันทึกภาพตามจุดต่าง ๆ และการที่จะต้องผ่านด่านแต่ละด่านไม่เร็วกว่าเวลาที่กำหนดเป็นมาตรฐาน

วันนี้ก็เช่นกัน แต่ก็ยังดีกว่าเมื่อวานที่เดินทางยาวนานกว่าวันนี้ สภาพภูมิประเทศจาก Kuytun ผ่าน Urumqi แล้วมา Turpan มีความสวยงามของเขาหินหัวโล้นเรียงรายซับซ้อนสูงต่ำ เหมือนที่นี่ไม่ใช่ประเทศจีนอย่างที่เคยเข้าใจ มันให้ความรู้สึกคล้ายเส้นทางจากเมกกะไปสู่ฏออีฟในประเทศซาอุดิอาระเบีย ยาวจรดไปถึงเมืองทูรุฟานที่สภาพภูเขายังคงเป็นภูเขาหินแต่เริ่มให้อารมณ์ความเป็นแกรนด์แคนยอนจากร่องรอยการกัดเซาะของสายลมแสงแดด และสีของภูเขาที่ดูร้อนฉานเป็นสีส้มแดง เราแวะใช้บริการห้องน้ำระหว่างทางเป็นระยะ รัฐบาลจีนคงทราบปัญหาห้องน้ำของชาติตัวเองดี จึงพยายามที่แก้ไขปัญหา แต่ความเคยชินของคนจีนกลับทำให้ปัญหากลายเป็นสิ่งปกติและเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน เราเห็นบ่อยเรื่องใช้ห้องน้ำแล้วไม่ราด อาจจะเพราะเขาไม่มีน้ำให้บริการในห้องทำภารกิจ พวกเราจึงต้องเตรียมน้ำใส่ขวดเข้าไปด้วยเสมอ ลำพังถ่ายเบาแล้วไม่ราด ก็ยังพอทำเนา แต่ถ้าเจอทิ้งร่องรอยจากการปลดปล่อยความอัดอั้นอันโสมมไว้เป็นอนุสรณ์ให้คนรอบหลังที่จะมาใช้บริการต่อ เป็นอะไรที่สุดจะรับไหวทีเดียว

บัสพาเรามาที่ภูเขาเปลวเพลิงตอนเกือบสี่โมงเย็น แต่ความร้อนที่สูงรอบ ๆ บริเวณทำให้พวกเราต้องรีบชมรีบถ่ายรูปแล้วออกจากบริเวณนี้ มิเช่นนั้น ไข่สองฟองที่สุภาพบุรุษสู้อุตส่าห์หิ้วมาติดตัวอาจสุกเกรียมกลางเนินเขานี้เป็นแน่

เราเริ่มเข้าใกล้สิ่งที่ใฝ่ฝันบางอย่างมากขึ้น เมื่อบัสนำพาเราแวะสวนองุ่นอันเลื่องชื่อและมีโอกาสประเดิมสัมผัสวิถีอูยกูร์เล็ก ๆ ชิมลางไปก่อน เราได้พบกับคุณตาสูงวัย อายุเกินศตวรรษกับหลานสาวนัยตาคมที่ไร่องุ่นนั้น คุณตารับสลามทักทายอย่างอารมณ์ดี แม้เราไม่สามารถสื่อสารภาษาได้เข้าใจ แต่สิ่งที่คุณตาเปล่งบทสรรเสริญท่านศาสดามูฮัมมัด (ซ.ล.) ทำให้เรารู้สึกขนลุกซู่ในจิตวิญญาณสุดท้ายที่คนรุ่นหนึ่งจะส่งต่อยังรุ่นถัดไป เพราะมันคือมรดกและร่องรอยแห่งตัวตนของชาวอูยกูร์ที่จะยังคงสืบสานและรักษามันไว้ท่ามกลางกระแสเชี่ยวกรากของการกลืนวัฒนธรรมและการกอบโกยทรัพยากรล้ำค่าทั้งน้ำมันใต้ดิน พลังงานกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม และความอุดมสมบูรณ์อื่นที่ที่นี่มีเพียบพร้อมไปสู่จีนแผ่นดินใหญ่

จุดสุดท้ายของทริปวันนี้คือเมืองโบราณแห่งทูรุฟาน  ก่อนตะวันจะลาลับขอบฟ้า เมื่อเวลาเกือบสามทุ่มเมืองโบราณแห่งนี้เป็นหนึ่งในมรดกโลกตามประกาศของ UNESCO ด้านในมีนิทรรศการอันแสดงถึงภูมิปัญญาของชาวทูรุฟาน  ท่ามกลางอากาศแห้งและร้อนที่สุดของจีน  แต่เหตุใดผักผลไม้จึงสามารถเพาะปลูกและให้ผลผลิตที่ดี  เป็นเพราะความสามารถของชาวชุมชนที่เรียนรู้กระบวนการขุดเจาะภูเขาหิมะอันไกลออกไป  แล้วมีสายน้ำไหลผ่านมาเลี้ยงคนในหมู่บ้านเบื้องล่าง  สามารถอยู่กับภูมิประเทศและภูมิอากาศอันร้อนแรงได้อย่างลงตัว  ที่นี่เองที่เราสามารถพบกับชาวอูยกูร์ ในอัตลักษณ์แบบอูยกูร์ที่หนาตากว่าหลายวันที่ผ่านมา

คืนนี้พักที่เมืองทูรุฟาน และจะเดินทางไปยัง Urumqi เมืองหลวงของซินเจียงแบบเจาะลึกวิถีอูยกูร์มากขึ้นในวันพรุ่งนี้

มากกว่าทิวทัศน์ที่งดงามอันเป็นสมบัติที่ไม่อาจประเมินค่าได้ของชาวซินเจียง อูยกูร์ ที่เราเฝ้าตามหาและต่อเติมความใฝ่ฝัน คือ #วิถีอูยกูร์ที่อาจหลงเหลือสุดท้าย ภายใต้ม่านไม้ไผ่แห่งจีนแผ่นดินใหญ่ผืนนี้

———————-
#หมายเหตุทริป : ระหว่างทางไปเมืองโบราณทูรุฟานเราได้พบกับวิถีชีวิตอูยกูร์พอเป็นกระษัย เห็นมัสยิด เห็นคนเฒ่าคนแก่สวมหมวกแบบอูยกูร์ กับสุภาพสตรีที่คลุมศีรษะในแบบที่รัฐบาลพอผ่อนปรน ทั้งผู้เป็นเจ้าของถิ่นและผู้มาเยือนทักทายสลามกันอย่างเป็นพี่น้องกันในอิสลาม

เขียนโดย ลาตีฟี

ซินเจียง : หนึ่งในปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 5

เหตุการณ์ในรัฐยะไข่ของพม่าตามหน้าสื่อโซเซียล (ช่วงเดินทาง สิงหาคม 2017 เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับเหตุการณ์รัฐยะไข่แพร่กระจายในโลกโซเซียลพอดี) บั่นทอนอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดที่จะร้อยเรียงเรื่องเล่าบันทึกการเดินทางประจำวันในค่ำคืนนี้

เราลงจากเนินเขา อุทยานคานาสือ เดินทางระยะไกลหลายชั่วโมง เพื่อมาตั้งหลัก ณ เมืองใหม่ นาม Kuytun หรืออีกชื่อคือ ตู๋ซานจื่อ ใกล้ที่หมายตามโปรแกรมท่องเที่ยวในวันรุ่งขึ้น

ทางผ่านการนั่งรถจากเหนือสุดซินเจียงลงมาเมืองใหม่ บัสนำเรากลับทางเดิมที่เราไปเมื่อสองวันก่อน แต่ตอนนั้น วิวรายทางก่อนถึงคานาสือถูกความมืดอาบไล้จนมองไม่เห็นความมหัศจรรย์ระหว่างเส้นทางสู่เทือกเขาสูง การเดินทางกลับในวันนี้จึงทำให้เราสัมผัสอิ่มเอิบกับทิวทัศน์สองข้างทางที่แสนงดงาม อลังการงานรังสรรค์ ภูเขาสูงชัน สลับที่ราบทุ่งหญ้า และกระโจมชาวพื้นเมือง กับฝูงปศุสัตว์ที่ถูกปล่อยเสรีให้แทะเล็มหญ้าท่ามกลางสภาพอากาศและภูมิประเทศอันน่าหลงใหล มันคงเป็นปศุสัตว์ที่มีความสุขที่สุดแห่งหนึ่งในโลกใบนี้ทีเดียวก็เป็นได้ ขุนเขาและที่ราบอันกว้างใหญ่ ถูกถนนหนึ่งสายทอดยาวตัดแบ่งออกเป็นสองฟาก ความเวิ้งว้างของอาณาบริเวณ ความเบาบางของผู้คนอาศัยและสัญจร ทำให้ถนนสายนี้ดูมีมนต์ขลัง อยากยืนนิ่งๆอยู่กลางถนนสายนั้นแล้วเพ่งมองจุดหมายปลายทางสุดถนนออกไปให้นานเท่านาน

ตามโปรแกรมของวันนี้ เราจะแวะเพียงจุดเดียวคือธารน้ำห้าสี ที่เป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านกลางทะเลทรายโกบีอันยิ่งใหญ่พร้อมทั้งโอบล้อมด้วยธรรมชาติ เมื่อยามดวงอาทิตย์สาดส่องลำธาร ธารน้ำแห่งนี้จะปรากฏเป็นสายรุ้งห้าสี แต่ออกจะเสียดายที่สภาพอากาศวันนี้ไม่ค่อยเป็นใจ แดดแรงที่เราต้องการกลับถูกหมู่เมฆและเม็ดฝนบาง ๆ ลดทอนความสวยงามลงไป แต่เราก็ยังคงได้เดินชมดินผสมหินหลากสีรอบ ๆ แนวลำธารนั้น แผ่นดินที่ถูกสายน้ำและสายลมกัดเซาะ จนทิ้งร่องรอยคล้ายแกรนด์แคนยอนหลายสีสวยงาม

วันนี้ทีมพร้อมใจกันสวมเสื้อทีมสีเขียว ที่ผ่านความร่วมมือทั้งออกแบบโลโก้ การโหวตแบบ การติดต่อร้าน และการไปรับเพื่อแจกจ่ายจากสมาชิกร่วมทริปก่อนกำหนดโปรแกรมราวๆ 1 เดือน เรียกความสนใจจากจีนเจ้าของประเทศได้ระดับหนึ่งทีเดียว

ใช้เวลาที่ธารน้ำห้าสีพอหอมปากหอมคอ จึงได้เวลาอาหารเที่ยงและการเดินทางต่ออีกหลายชั่วโมง

ค่ำแล้ว รถนำเรามาถึงเขตเมืองใหม่ Kuytun คำถามแรกที่ทีมถามไกด์คือ ทำไมดูมืด ๆ ไม่ค่อยมีผู้คนพลุกพล่าน ตึกรามบ้านช่องก็ดูใหม่ ๆ แต่พอเข้าไปในตัวเมืองที่ลึกขึ้น กลับเริ่มเห็นอาคารต่าง ๆ ประดับไฟดูทันสมัยงดงาม ไกด์บอกว่า ที่นี่คือเมืองใหม่ที่รัฐบาลจีนสร้างไว้ ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้คนที่ต้องสัญจรผ่านทาง

เมืองใหม่ ที่ดูใหม่ แสงสีทันสมัย แต่สิ่งที่มองไม่เห็นอย่างหนึ่งคือ ป้ายไฟ ป้ายร้านยามค่ำคืน อักษรอาหรับมันหายไปไหน เหตุใดจึงหลงเหลือแต่ภาษาจีนโดดเด่นมาแต่ไกล ทั้งที่เส้นทางผ่านก่อนหน้านี้เราจะเห็นอักษรภาษาอาหรับปรากฎคู่กับอักษรจีนแทบจะเป็นการทั่วไป

หรือว่านี่คือ วัฒนธรรมความเป็นหนึ่งเดียวที่จีนแผ่นดินใหญ่กำลังยัดเยียดสู่แผ่นดินตะวันตกสุดของประเทศ รองรับการเคลื่อนย้ายของประชากรจีนจากส่วนกลางเพื่อเจือจางความเป็นอูยกูร์ออกไป

คล้าย ๆ การยึดครองแผ่นดินอย่างไร้ความชอบธรรมแล้วสร้างนิคมที่อยู่อาศัยบนเศษซากความสูญเสีย พร้อมเคลื่อนย้ายชนชาติยิวจากนานาประเทศสู่ดินแดนปาเลสไตน์  และอาจมีความหมายคล้าย ๆ การทำลายอัตลักษณ์-ตัวตน-และการคงอยู่ของมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ในตอนนี้ 

#เพียงแต่วิธีการที่อาจต่างกัน

เขียนโดย ลาตีฟี

ซินเจียง : หนึ่งในปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 4

สวยทุกมุม สวยทุกทาง สวยที่สุด

คงเป็นชื่อบันทึกเดินทาง Xinjiang ของวันนี้ที่ดูเหมาะสมที่สุด ความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางเมื่อวานเพื่อมาพักเตรียมตัวชมความมหัศจรรย์ของ Kanas Lake (ทะเลสาบคานาสือ) และอุทยานแห่งชาติคานาสือ บนเทือกเขา Altay เหนือสุดของมณฑลซินเจียง ซึ่งถ้าเดินทางเหนือขึ้นไปอีกนิดจะจรดชายแดนคาซัคสถาน รัสเซีย และมองโกเลีย หายเป็นปลิดทิ้ง เมื่อรถบัสค่อย ๆ เคลื่อนออกจากโรงแรมที่พักมายังแนวเทือกเขาอัลไตอันยิ่งใหญ่

เฉพาะทะเลสาบด้านล่าง ก็อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลกว่า 4,500 ฟุต แล้ว ไม่นับรวมจุดสุดยอด (peak สุด) ของศาลาชมวิวบนยอดเขาสูง (fish observation tower, Kanas lake) ที่เราต้องนั่งบัสเล็กเลียบแนวโค้งบนเขาผ่านวิวทุ่งหญ้า ทิวสน ดอกไม้ป่า ลำธารน้ำสีเขียวเทอร์คอยซ์ (Turquoise) สุดใสสะอาด บ้านเรือนชั่วคราวของชนเผ่าเร่ร่อน “ฮาซาเค่อร์” (หรือชาวคาซัค)  และฝูงม้า ปศุสัตว์ แล้วเดินต่อขึ้นไปอีก 1,060 ขั้นบันได เพื่อรับชมภาพ bird eye views ด้านบนสุดของเขาที่บอกได้คำเดียวว่า 360 องศา ของวิว รวมตลอดทั้งบนสุดสู่วิวล่างสุด คือความงดงาม อิ่มตา อิ่มใจ ซึ่งถ้าจะบอกว่า #ทัวร์ห้าหมื่น #วิวห้าล้าน นี่ก็ยังคงน้อยไป ภาพประทับใจมันเกินจะบรรยายจริง ๆ มันเหมือนเอาบางส่วนของสวิตเซอร์แลนด์ บวกแคชเมียร์ ผสมฮัลสตัท ออสเตรีย และเจือลิคเก้นสไตน์ ประเทศเล็ก ๆ ติดสวิส รวมอยู่ในที่นี่ที่เดียวประมาณนั้น  สภาพอากาศที่เบาบางตามความสูงที่เราไต่สูงขึ้น ทำให้ต้องเดินจังหวะช้า ๆ ค่อย ๆ ให้ร่างกายปรับสภาพได้ สมาชิกหลายท่านขอเลี้ยวกลับโดยไม่ทันถึงจุดสุดยอด คงเป็นเพราะกำลังขากำลังเข่ามีปัญหาบ้าง จึงต้านทานไปถึงที่สุดไม่ไหว แต่ก็มั่นใจว่า ทุก ๆ ระดับที่ทุกคนสามารถไปถึง คือความสวยงามที่แตกต่างในแต่ละระดับจริง ๆ

คงเป็นเรื่องหนักใจทีเดียวว่า จะเอาภาพไหนมาลง เพื่อให้สามารถแทนคำบรรยายอันมากมายในมโนทัศน์ออกมาได้

วันนี้ทั้งวัน พวกเราใช้เวลาเจาะลึก ดื่มด่ำกับ Kanas lake จนถึงค่ำ มีโอกาสนั่งเรือล่องชมทะเลสาบ เปลี่ยนมุมมองจากบนยอดเขาสูงมองลงทะเลสาบ เป็นมองจากทะเลสาบสู่แนวเทือกเขาสูง

นับว่าโชคดีมาก ๆ ที่ได้มาทริปนี้ เพราะที่นี่ไม่ค่อยมีกรุ๊ปจากไทยมากนัก หรือแทบจะเรียกได้ว่า หายากมาก เจ้าหน้าที่ที่ดูแลที่นี่เป็นมุสลิมหลายท่าน ประเมินได้จากการทักทายในภาษาสากลหนึ่งเดียวของพวกเราที่อยู่ที่ไหนก็ใช้ประโยคเดียวกัน ชาวบ้านบางคนสวมหมวกกะปิเยาะห์แบบถัก สนใจวิ่งมาทักทายและกล่าวรับตอบสลาม อย่างอารมณ์ดี เจ้าหน้าที่บางคนสนใจขอแลกธนบัตรไทยกับเงินหยวน เพราะเขาไม่ค่อยได้เจอกรุ๊ปไทยมาที่นี่ จึงอยากเก็บมันไว้เป็นที่ระลึก

Kanas lake รัฐบาลจีนเปิดให้เข้าชมได้เพียง 3 เดือนเท่านั้น คือ กรกฎาคม สิงหาคม และไฮสุดที่ราวกลางกันยายนที่ใบไม้ทั้งเขาจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเหลืองงดงามดั่งเอาสีมาแต่งแต้มผืนป่าทีเดียว และแน่นอนราคาทัวร์กันยายนก็จะแพงขึ้นกว่าเดือนสิงหาคมอีกประมาณ 10,000.- บาท เช่นเดียวกัน ไกด์เล่าว่า ปีนี้มีคนจีนมาเที่ยวที่นี่มากกว่าเดิม เพราะแผ่นดินไหว 7 กว่าริกเตอร์ เมื่อสิงหาคม 2017 สร้างความเสียหายแก่สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อยอดนิยมของชาวจีนอีกแห่ง นั่นคือ จิ๋ว จ้าย โกว จนทางการต้องประกาศปิดไม่มีกำหนด ผู้คนจึงพร้อมใจกันแห่มาเที่ยวชมคานาสือแทน (สำหรับเดือนอื่น ๆ ที่นี่ปิดบริการเนื่องจากความหนาวเย็นของหิมะที่ติดลบกว่า 40 องศา ซึ่งจัดว่าหนาวเย็นเข้ากระดูกทีเดียวเชียว)

พวกเรามีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมวัฒนธรรมชนเผ่าอีกบางเผ่า ที่ต้อนรับด้วยการแสดงดนตรี ร้องเพลง และการระบำนกอินทรีย์  ซึ่งชนเผ่าทาจิกจะมีวิถีร้องรำทำเพลงและการเริงระบำที่สัมพันธ์กับนกอินทรีย์  มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับนกอินทรีย์มากมาย  ที่ก่อนมา เราก็พบรีวิวเรื่องที่มาของเรื่องเล่าระบำนกอินทรีย์มาบ้างแล้ว มาดูของจริง จึงรู้ว่า เป็นการระบำที่ต้องใช้กำลังกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมาก 

ท้าย ๆ ของทริป เราได้แวะจุดชมวิวอีกสามสี่จุด ซึ่งทุกจุดล้วนงดงาม กว่าที่เคยอ่านพบในรีวิวด้วยซ้ำ เพราะองค์ประกอบทั้งหมดของฉาก มันขับให้ภาพโดดเด่นมีความหมายสุดประทับใจ  โดยเฉพาะช่วงโค้งของสายน้ำที่หากมองบนถนนที่ตัดเลียบเขาสูง  จะเห็นช่วงหนึ่งที่ดูคล้ายจันทร์เสี้ยว  งดงาม

บทสรุปเดินทางของวันนี้ คงต้องยืนยันด้วยประโยคเดิมอีกครั้ง

#พันครั้งที่ได้ยิน #ไม่เท่ากับหนึ่งครั้งที่ตาเห็น

เขียนโดย ลาตีฟี

ซินเจียง : หนึ่งในปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 3

ซินเจียงไม่ได้มีเพียงอูยกูร์  แต่คือ แหล่งพลังงานอันมหาศาลที่แผ่นดินใหญ่จีนต้องครอบครอง

รถบัสขนาด 50 ที่นั่ง พาพวกเราออกจากโรงแรมที่พักเมืองเคอลามาอี้ (Karamay) มุ่งหน้าสู่จุดหมายเดินทางที่จัดว่าเป็นหนึ่งใน Highlights ของทริปนี้ นั่นคือ หมู่บ้านคานาสือ (Kanas, قاناس) เพื่อเจาะรายละเอียดของ Kanas Lake ที่มีตอนหนึ่งของลำน้ำมองคล้ายจันทร์เสี้ยว

ระหว่างทาง เราผ่านจุดแวะน่าสนใจคือ แพะเมืองผีแห่งเมืองเคอลามาอี้ (Ghost City, Wuerhe (Urho), Karamay) ทีมเราผ่านจุดสแกนเข้าประตูตามปกติ ระหว่างที่กำลังรวมพลจะเข้าไปชมด้านใน ฮิญาบสิบกว่าผืนจากมุสลีมะห์ในทีมทั้งหมดถูกจับตาเพ่งเล็งจากกลุ่มชายชุดดำ สองสามนาย ในมือถือโล่และกระบองขนาดยาว เสื้อด้านหลังสกรีนข้อความ POLICE เข้ามาพูดคุย และบอกผ่านล่ามว่า ถ้าใส่แบบนี้จะเข้าชมด้านในไม่ได้ เพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย ทำเอาทีมใจเสียพอสมควร เราสอบถามถึงทางผ่อนปรน ล่ามอธิบายว่า ให้ปิดผมแต่เปิดคอ ซึ่งทีมก็ยังงงๆกับคำตอบ แต่สุดท้าย ตำรวจขอตรวจเข้มโดยให้เปิดผ้าคลุมเพื่อดูว่ามีอะไรซุกซ่อนใต้ผืนผ้าคลุมศีรษะนั้นหรือไม่ เราร้องขอผ่านล่ามว่า จะให้ตรวจได้แต่ขอให้เจ้าหน้าที่สุภาพสตรีเป็นคนตรวจค้นและขอเป็นมุมมิดชิดเฉพาะสุภาพสตรีเท่านั้น ซึ่งทางตำรวจยินยอมโดยดี มุสลีมะห์ทุกคนผ่านการเปิดผ้าคลุมจนครบ เราจึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปรอรถนำเที่ยวในเขตอุทยานแพะเมืองผีได้

รถนำเที่ยวแวะจุดชมวิวน่าสนใจ 4 สถานี โดยรวมหากมองจากมุมการจัดการท่องเที่ยวถือว่าชาติจีนจัดการได้ค่อนข้างดี (ถ้าไม่นับรวมกับกรณีการตรวจค้นอันแสนวุ่นวาย)  แพะเมืองผีเมืองอู๋เฮ่อ เคอลามาอี้  อยู่ห่างจากเมืองเคอลามาอี้ประมาณ 100 กิโลเมตร  เป็นพื้นที่กึ่งทะเลทราย มีเนินเขาทรงแปลก ๆ มากมาย  ทั้งปราสาท  เต่า  นกอินทรีย์  ม้า  สิงโต  และอื่น ๆ  จากอิทธิพลการกัดเซาะของลมและน้ำ   เราได้มีโอกาสชมกระโจมและวิถีชีวิตในกระโจมของชาวท้องถิ่นที่ตั้งสาธิตในพื้นที่แห่งนี้  และบางท่านยังได้สัมผัสประสบการณ์การขี่อูฐ สัตว์พาหนะแห่งแพะเมืองผีอีกด้วย  หลังจากใช้เวลาพอสมควร  ทีมเราได้เวลาอาหารเที่ยง และเช่นเคยคือ เอาน้ำละหมาดเพื่อเตรียมละหมาดบนรถบัสเหมือนเช่นทุกวันที่ผ่านมา

เส้นทางจากเคอลามาอี้เพื่อไปสู่หมู่บ้านคานาสือ ใช้เวลาเดินทางอีก 6-7 ชั่วโมงทีเดียว ทั้งนี้เพราะบัสจะพาพวกเราผ่านเส้นทางในหุบเขาสูงแถบเทือกเขา Altay เหนือสุดของ Xinjiang ตลอดระยะทางจึงเป็นทิวทัศน์หน้าตาแปลกตา ตั้งแต่เนินเขาหิน เหมือนตะวันออกกลาง หุบเขาหิน สลับที่ราบ ผ่านทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ที่เวลานี้อาจไม่ใช่สีเขียวขจีดั่งที่เรารับรู้ เส้นทางบนเขาที่เลี้ยวลดคดเคี้ยว ทำเอาหวาดเสียวได้ในระดับหนึ่ง รถต้องปีนขึ้นเขา ลงที่ราบ และปีนขึ้นลงอีกสองสามครั้ง เราผ่านหมู่บ้านในที่ราบที่มีเทือกเขา Altay โอบล้อม สองถึงสามที่ราบ กว่าจะถึงโรงแรมในหุบเขา ณ หมู่บ้านคานาสือ

ทั้งที่ ที่นี่ 21.00 น. ยังคงเห็นแสงอาทิตย์อยู่ แต่ความมืดที่มาเยือนหลังจากนั้น กลบเลือนทิวทัศน์อันน่ามหัศจรรย์ของเทือกเขาสูงสลับทุ่งปศุสัตว์ ทิวสน ต้นหญ้า และกระโจมของชาวท้องถิ่นไปจนหมดสิ้น

อิ่มหนำจากอาหารมื้อค่ำที่ทานกลางดึก (ถ้าเทียบกับวิถีการกินแบบบ้านเรา) ตบท้ายด้วยเมลอนพันธุ์คานาสือที่แสนหอมหวานและกรอบอร่อย ทำให้มื้อเย็นมื้อนี้เป็นมื้อสุดประทับใจอีกมื้อหนึ่ง  เท่านั้นยังไม่พอ  บริเวณนอกอาคารห้องอาหาร  มีจำหน่ายแกะย่างเสียบไม้  ในราคาที่จับต้องได้  ซึ่งไม่พลาดที่ทีมจะออกไปจับจ่ายซื้อชิม กินกันอย่างเอร็ดอร่อย

อากาศยามนี้มีความหนาวที่สัมผัสได้ ทุกคนต้องสวมเสื้อกันหนาวอีกชั้นปกคลุมร่างกาย พรุ่งนี้เช้า ถ้าตามพยากรณ์เดิมที่ไกด์ท้องถิ่นส่งข้อมูลในใบเตรียมตัวคือ 6 องศา ก็ไม่รู้ว่าความรู้สึกตอนนั้นจะรู้สึกแค่ 6 หรือบวกลบแค่ไหน

ความอิ่มบวกกับความหนาวและความเหน็ดเหนื่อยในการเดินทาง ทำให้เราต้องรีบกลับห้องพักสูงสองชั้น อาคารทรงยุโรป (ประเมินจากสภาพภายนอกเท่าที่แสงจะพอให้มองเห็น)

เรามีไฟฟ้าใช้ เพื่อชาร์ตแบตเตอรี่อุปกรณ์ electronics ที่พกมา ขณะที่ชาวพื้นเมืองในกระโจมอาศัยหลบกายใต้ความมืดมิด ตัดขาดเรื่องราวจากโลกภายนอก เขาอาจไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าเหล่าผู้มาเยือนเช่นเราคือใครมาจากไหน

คืนนี้คงหลับอย่างเหน็ดเหนื่อย เพื่อรอพบสิ่งยิ่งใหญ่ของการรังสรรค์จากองค์ผู้อภิบาลในวันรุ่งขึ้น

#บันทึก ณ โรงแรมเล็ก ๆ ในหมู่บ้านกลางหุบเขา นาม “คานาสือ”

—————————————
เรามาที่นี่ สิ่งหนึ่งเพื่อตามหาอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของชาวซินเจียง อูยกูร์ แต่ต้องยอมรับว่า สามวันที่ผ่านมา เราแทบจะยังไม่เจอหรือเจอน้อยมาก

วัฒนธรรมอูยกูร์ถูกกลืนหายไป หรือเพราะความโหดร้ายของนโยบายกลืนวัฒนธรรมจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่ทำให้คุณค่าที่เราตามหา ยังหาไม่เจอ

ป.ล.  ความเดิมจากตอนที่ 2  ที่บอกว่า ระหว่างทาง  เจอแท่นขุดเจาะน้ำมันใต้ดินหลายสิบแท่น  พอมาถึงบริเวณแพะเมืองผี  ต้องเปลี่ยนจากหลายสิบแท่น  เป็นหลายร้อยพันแท่น  ไม่เพียงเท่านั้น  กังหันลมที่ติดตั้งมากมาย  เพื่อแปลงพลังงานลมเป็นพลังงานไฟฟ้าก็มีเต็มพื้นที่กว้างอีกด้วย  ที่นี่จึงเป็นแหล่งพลังงานมหาศาล นี่กระมังคือเหตุผลที่ทำให้อูยกูร์เป็นอย่างไรตามข่าวที่เรารับรู้มา

เขียนโดย ลาตีฟี

ซินเจียง : หนึ่งปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 2

จากเมือง urumqi เมืองหลวงของมณฑลซินเจียง เรามุ่งหน้าต่อไปยังเป้าหมายเมือง Karamay (เคอลามาอี้, قاراماي) เมืองตอนเหนือของ urumqi ใกล้เทือกเขา Altay  ตลอดระยะทาง 300 กว่ากิโลเมตร

เราพบกับถนน 4 เลนสภาพดีมาก ถนนเรียบ ผ่านด่านตรวจบ้าง แต่ไม่ถี่เท่าสามจังหวัดภาคใต้ (ตำรวจที่นี่ดูเอาเรื่องเหมือนกันครับ ที่ด่านตรวจ อารมณ์คล้ายบ้านเราใส่ชุดพร้อมปฏิบัติการพิเศษ ในเมืองเคอลามาอี้ จะเห็นตำรวจเดินลาดตระเวนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน เดินเรียงแถวเหมือนเป็นหุ่นยนต์ คนหน้ามีโล่ในมือ สองคนหลังถือไม้ตะบองยาว)  ในเขตปกครองตนเองซินเจียง  แถวลาดตระเวนตำรวจ 3 นายเดินเรียงทำนองนี้  พบเห็นได้ค่อนข้างบ่อย  หากพบบุคคลผิดสังเกต  เช่นกรณีกรุ๊ปทัวร์ของเรา  ที่มีสตรีมุสลิมะห์สวมฮิญาบหลายผืน  ก็จะสอบถามข้อมูล มาสัมภาษณ์ผ่านไกด์ท้องถิ่นบ้าง  สองข้างทางสู่เมืองเคอลามาอี้คือทุ่งเกษตรกรรมหลากชนิด ทั้งข้าวโพด แตงโม ถั่ว และอื่น ๆ คณะของเราผ่านภูมิประเทศคล้ายยุโรป และบางส่วนเป็นทรายแห้งแล้ง มีต้นไม้แห้ง ๆ คล้ายแถวตะวันออกกลาง

สิ่งที่น่าสังเกตทำให้พอเป็นคำตอบได้ราง ๆ ว่าทำไมจีนแผ่นดินใหญ่จึงหวงแหนและกำหนดนโยบายเข้มงวดกับเขตปกครองตนเอง Xinjiang อาทิ นโยบาย Go West คือ แท่นขุดเจาะน้ำมันใต้ดินหลายสิบแท่นที่เห็นตามรายทาง มันคือแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มหาศาลในดินแดนแห่งนี้นี่เอง

เคอลาอี้มีสถานะเหมือนเป็นจังหวัดหนึ่งทางตอนเหนือของเขตปกครองตนเองซินเจียง  ชื่อเคอลามาอี้มาจากสำเนียงภาษาอูยกูร์ ที่แปลว่า “Black oil” “น้ำมันดำ” ซึ่งหมายถึง ที่ตรงนี้คือ แหล่งน้ำมันใต้ดินลึก ลึกลงไปกว่า 5,000 เมตร  ภายหลังการค้นพบแหล่งน้ำมันครั้งแรกราวปี 1955 อุตสาหกรรมขุดเจาะและผลิตน้ำมันจากแหล่งน้ำมันใต้ดินในเมืองนี้จึงขยายตัวต่อมา  จนทำให้เคอลามาอี้กลายเป็นจังหวัดที่มี GDP per capita (ผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อประชากร) สูงที่สุดจังหวัดหนึ่งในแผ่นดินจีนในปี 2008  (ข้อมูล Wikipedia)

แต่ที่น่าเศร้าใจคือ  จากแผ่นดินของชาวอูยกูร์แต่เดิม  ผลสำรวจสำมะโนประชากร ปี 2010 พบว่าประชากรที่อาศัยในจังหวัดนี้ 80% เป็นจีนเชื้อสายฮั่น (จีนแผ่นดินใหญ่)  ขณะที่ชาวอูยกูร์ประชากรเหลือเพียง 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น  เราจึงไม่รู้ว่าอูยกูร์ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่ซ่อนตัวอยู่ในดินแดนนี้ยังคงแสดงอัตลักษณ์ของตนเองได้เพียงใด  ที่แน่ ๆ คือ ร้านอาหารที่ป้ายเขียนว่า “ฮาลาล” มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แทบทุกร้าน

และแน่นอน เมื่อเดินทางมาถึงโรงแรมที่พัก พวกเราจึงต้องผ่านด่านสแกนสัมภาระอีกครั้ง 

มาเมืองจีนต้องทำใจสองอย่าง

  1. คนจีนชอบพูดเสียงดัง และมักตะโกนข้ามหัวเป็นเรื่องปกติ
  2. ห้องน้ำ เกือบเหมือนกันทุกที่ มีทั้งศิลปกรรมตกค้าง และ aroma induce vomiting ต้องกลั้นหายใจแล้วมุ่งหน้าทำภารกิจให้เสร็จอย่างรวดเร็ว

———————————

  • นโยบาย Go West : Go West Policy หรือนโยบายมุ่งสู่ตะวันตก แปลแบบที่เราเข้าใจคือ กลืนอูยกูร์ นั่นเอง ส่งความเจริญ ส่งคมนาคม ส่งทหาร และดูดกลับทรัพยากรสู่แผ่นดินใหญ่ กดขี่ประชาชน กักขังอิสรภาพและอัตลักษณ์ชาวอูยกูร์

เขียนโดย ลาตีฟี

ซินเจียง : หนึ่งปลายทางที่ชวนหลงใหล ตอนที่ 1

Xinjiang : The Destiny of My Passion ซินเจียง : หนึ่งปลายทางแห่งความหลงใหล

24 Aug – 1 Sep 2017
HDY – BKK – Kunming – Urumqi (Xinjiang) – Karamay – Kanas lake (Altay) – Turpan – Nan Shan grassland – Tian Shan_Tian Chi

การเดินทางอันยาวนาน ผ่านการตรวจเข้มในหลายขั้นตอนทั้งจากสนามบินจุด transfer จนถึงสนามบินปลายทางเป็นการบินที่น่าเกรงขามระดับหนึ่ง เพราะกฎคือกฎ ถ่ายภาพบนเครื่องบินไม่ได้ มือถือจะเซ็ตเป็นไฟลท์โหมดไม่ได้ แอร์พูดย้ำด้วยเสียงดังฟังชัดและพูดช้า ๆ ว่า “Prohibit flight mode” (ห้ามใช้โหมดเครื่องบิน) คุณต้อง switch off (ปิด) โมบายโฟนสถานเดียว นั่งเครื่องสักพัก เริ่มรู้สึกมีชายแปลกหน้าที่นั่งมาหน้าสุด เริ่มเดินไปเดินมา จากหน้ามาหลัง และหลังไปหน้า ทำซ้ำเว้นระยะใกล้เคียงกัน เริ่มรู้สึกแปลกใจ เอะใจ ที่ชายร่างบึกบึนคอยตรวจตราไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ จากหัวมาหางเครื่อง สอดส่องสายตาอย่างละเอียดถี่ยิบ มีกล้องติดตามตัว ทำเอาเราต้องนั่งอย่างเกร็ง ๆ ตลอดห้าชั่วโมงจากคุณหมิงมาอูรุมูฉี และนี่คือการเริ่มต้นเดินทางในแผ่นดินตะวันตกเฉียงเหนือสุดของประเทศจีน ด้วยการมี air marshal นั่งประจำการอย่างที่ไม่เคยพบเห็นกับสายการบินใดมาก่อน อย่างว่า เพราะที่นี่คือพื้นที่เปราะบางในแผ่นดินใหญ่จีน

อาหารที่ request คือ vegetarian (มังสวิรัติ) และเป็น vegetable (ผัก) ล้วน ๆ ทั้งที่เผลอเห็นมีกล่องปิดอาหารอื่น ๆ ว่า Muslim Meal ขณะที่สจ๊วตเดินลากรถเข็นอาหารมาแจก (ตอนประสานอาจมีความคลาดเคลื่อน) แต่โดยรวม Shangdung airline ร่างกระทัดรัดแต่ทักษะการบินฝ่าสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ขึ้นและลงนิ่มระดับอุ่นใจ

ถึงแล้ว Urumqi International Airport กับอากาศยามเที่ยงกำลังดี 24 องศา คงจะรอการค้นหาจุดหมายปลายทางในฝันในอีก 7 วันหลังจากนี้ แต่ตอนนี้ กินข้าวเที่ยงก่อน โอ๊ะโอ๋!!! เข้าร้านอาหารยังมีเครื่องสแกนกระเป๋าอีกต่างหาก แวะเข้าห้องน้ำระหว่างทางก็มิวายโดนสแกนอีก สแกนหนักจนคนที่นี่น่าจะชินเป็นปกติ ขณะที่เราที่คิดว่ามีประสบการณ์คล้าย ๆ กันแบบนี้เหมือนจะปกติ ยังรู้สึกว่านี่มันเกินกว่าปกติที่เราเคยเจอด้วยซ้ำ สุดยอด !!!

ไกด์บอกละหมาดข้างทางไม่ได้ ผิดกฎหมาย คงต้องละหมาดบนรถ ขึ้นรถต้องคาดเข็มขัดนิรภัย มิเช่นนั้นมีปัญหากับตำรวจ ห้ามถ่ายรูปตำรวจ มิเช่นนั้น จะอดเที่ยวและโดนยึดกล้อง เป็นคำบอกเล่าเชิงชี้แจงจากไกด์สาวท้องถิ่น ที่ทำเอาเราและทีมเริ่มตั้งคำถามว่า จะเจออะไรกันอีกใน 7 วันข้างหน้า

*air marshal บางประเทศเรียก Sky Marshal คือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยบนอากาศยานให้รอดพ้นจากผู้ก่อการร้ายและผู้ไม่หวังดี แต่ผู้ที่จะทำหน้าที่นี้ได้ ต้องได้รับการฝึกฝนทักษะอย่างเข้มข้น

เขียนโดย ลาตีฟี

ย้อนรอยประวัติศาสตร์อุษมานียะฮ์ ตอนที่ 3

ปามุกกาเล่ แปลว่าปราสาทปุยฝ้ายตั้งอยู่ในจังหวัดดีเดนิซลี ประเทศตุรกีห่างจากนครอิสตันบูลไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 576 กิโลเมตร

เป็นเนินสีขาวของหินปูนสูง 160 เมตร ยาวเกือบ 3 กม. เป็นน้ำตกหินปูนสีขาวที่เกิดจากธารน้ำใต้ดิน เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในตุรกี

ในบริเวณนี้ยังมีเมืองโบราณฮีราโพลีส ( Hierapolis) ที่สร้างขึ้นราว 190 ปีก่อนคริสตกาล เมืองนี้เคยเจริญรุ่งเรืองสุดขีด ก่อนที่จะล่มสลายในศตวรรษที่ 7

ยูเนสโกประกาศให้ ปามุกกาเล่และเมืองโบราณฮีราโพลีส เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในปี ค.ศ.1986

ความสวยงามที่มีแอ่งน้ำร้อนธรรมชาติสีขาวโพลนอย่างเป็นลำดับชั้น ทำให้เพิ่มความสวยงามของทัศนียภาพชนิดลืมไม่ลงจริงๆ

เรามาถึงที่นี่ราวบ่าย 3 ในวันอันสดใส จึงมีโอกาสใช้เวลาเก็บความทรงจำที่นี่นานกว่า 2 ชม.

เราตัดสินใจค้างแรมที่นี่ ซึ่งกว่าจะได้โรงแรม ก็ต้องวนรถถามหาห้องว่างหลายที่เหมือนกัน สาเหตุเพราะไม่มีการจองโรงแรมล่วงหน้าเหมือนที่บูร์ซ่าและอิซมีร์

อัลฮัมดุลิลลาฮ์ พร้อมๆกับความยากลำบาก จะมีความง่ายดายเป็นเงาเสมอ สุดท้ายเราได้โรงแรมที่สุดสบาย อยู่รวมกันได้ ถึง 6 คน ตั้งอยู่ในชุมชนมุสลิมปามุกกาเล่ ห่างจากเนินเขาปามุกกาเล่ประมาณ 5 กม.

เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย สตรีใส่ผ้าคลุม 100 % ทั้งหมู่บ้าน มีโรงแรมที่รับบริการเฉพาะลูกค้าที่พาครอบครัวเท่านั้น ไม่อนุญาตชายโสดเข้าพักได้ อันแสดงถึงความยึดมั่นในธรรมเนียมประเพณีและคำสอนของอิสลามอย่างเคร่งครัด

เราเข้าพักช่วงค่ำพอดี ถึงแม้มัสยิดอยู่ใกล้เพียง 200 ม. แต่เราพลาดละหมาดที่มัสยิดอย่างน่าเสียดายเนื่องจากฝนตกหนัก

รุ่งขึ้น เราไม่พลาดละหมาดศุบฮิที่มัสยิดชุมชนนี้ ประทับใจกับระเบียบการจัดแถวและการละหมาดของคนที่นี่ หลังอะซานเสร็จ ผู้คนจะทยอยเข้ามัสยิดจนเกือบเต็มมัสยิด ด้วยท่าทางสงบเสงี่ยมและเคร่งขรึมมาก ไม่มีการทักทายหรือพูดจาเสมือนแต่ละคนไม่เคยรู้จักมาก่อน มันเป็นบรรยากาศอันเงียบสงัดในมัสยิดแห่งหนึ่ง ถึงแม้มีผู้คนเป็นร้อยๆคน มีหลายคนที่อ่านอัลกุรอานและกล่าวซิกิร์ แต่บรรยากาศก็ยังคงเงียบสงัดเช่นเดิม

ก่อนละหมาดประมาณ 10 นาที มีชายใส่สูทนั่งบนเก้าอี้แถวหน้า พร้อมบรรยาย ผู้เขียนไม่เข้าใจภาษาตุรกี แต่จากอัลกุรอานและหะดีษที่ท่านยกมาประกอบบรรยาย คาดเดาว่าเป็นเรื่องสร้างแรงบันดาลใจที่ต้องเขื่อมั่นในความช่วยเหลือของอัลลอฮ์ อย่ารู้สึกท้อ ตราบใดที่เราช่วยเหลืออัลลอฮ์ด้วยการเชื่อฟังพระองค์ แน่นอนพระองค์ย่อมช่วยเหลือเรา ท่านยังยกหะดีษที่กล่าวถึงผู้นำและกองกำลังที่พิชิตกรุงคอนสเตติโนเปิลอีกด้วย ด้วยพลังน้ำเสียงอันดุดันและมีพลัง ทำให้ผู้เขียนรู้สึกมีแรงบันดาลใจอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนโดยเฉพาะในช่วงนั้น เป็นช่วงที่ทหารตุรกีกำลังปฏิบัติการตามแผนต้นน้ำสันติภาพทางตอนเหนือของตุรกีพอดี

หลังจากนั้นท่านใส่ชุดผ้าคลุมและหมวกอิหม่ามนำละหมาดต่อไป

หลังละหมาด ผู้คนยังสงบเสงี่ยมอยู่ในแถวจนกว่าอิมามจะดุอาเสร็จ พลันเสร็จดุอา ผู้คนลุกขึ้นทักทายมิตรสหายอย่างสนิทสนมในฐานะเพื่อนบ้านเรือนเคียง บางคนเดินคู่ๆออกจากมัสยิดอย่างเป็นกันเอง

เป็นบรรยากาศที่ผู้เขียนไม่เคยพบเจอมาก่อนในชีวิต แม้กระทั่งในนครอิสตันบูล

เราเดินออกจากมัสยิดพร้อมรับอรุณยามเช้าอันสดใส ที่มีเทือกเขาสูงตระหง่านอยู่ตรงหน้า ผู้คนเดินพลุกพล่าน เนื่องจากมัสยิดอยู่ ณ ศูนย์กลางชุมชน เดินไปนิดหน่อย ก็มีตลาดสดยามเช้า มีสินค้าหลากหลาย โดยเฉพาะผลไม้สดๆอย่างองุ่น ทับทิม มะกอก มะเดื่อ น้ำผึ้ง ที่มีชาวบ้านขนกับรถม้ามาขายริมถนนทีเดียว นอกจากนี้สินค้าประเภทเสื้อผ้า ของใช้จิปาถะก็ถูกวางขายตลอดทาง

มีคนบอกว่า หากจะรู้จักสภาพที่แท้จริงของชุมชนใด ให้ไปเที่ยวเล่นที่ตลาดสด วันนี้เราจึงมีโอกาสสัมผัสกับปามุกกาเล่อย่างแท้จริง

เดินกลับโรงแรม เห็นจักรยาน 3-4 คันจอดอยู่ พนักงานโรงแรมบอกว่า เชิญปั่นตามสบาย จึงมีโอกาสปั่นจักรยานชมบรรยากาศในชุมชนปามุกกาเล่ยามเช้า เพิ่มอรรถรสชีวิตอีกแบบหนึ่ง

เราเช็คเอาท์จากโรงแรมราว 10 โมงเช้า ต้องเดินทางใช้เวลานั่งบนรถเกือบ 6 ชม. สู่อิสตันบูล บรรยากาศระหว่างทางสวยสดงดงาม ประกอบกับถนน 6 เลนที่รัฐบาลตุรกีเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ทำให้เราได้รับความเพลิดเพลินตลอดทาง พร้อมกับการถอดบทเรียน

เรามุ่งหน้าสู่มหานครสองทวีป เพื่อปฏิบัติภารกิจสำคัญ และเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้เกิดทริปนี้

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

บางปู เป็นมากกว่าชุมชน

ชุมชนบางปู ต. บางปู อ. ยะหริ่ง จ. ปัตตานี เป็นชุมชนที่มีความโดดเด่นที่น่าค้นหาและศึกษาอย่างยิ่ง

ติดถนนสี่เลนออกจากเมืองปัตตานีไปตามเส้นทางนราธิวาสแค่ 10 กม. ก็จะถึงชุมชนนี้

มีมัสยิดอัตตะอาวุน สีขาวโดมสีฟ้า สวยตระหง่านถูกสร้างขึ้นที่ขั้นระหว่างถนนสี่เลนกับถนนในหมู่บ้าน อันเป็นเส้นทางหลักของผู้ใช้ถนนทั่วไปในอดีต

ด้วยสภาพของหมู่บ้านติดทะเล อุดมด้วยป่าโกงกางอันอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งอยู่ใกล้กับชุมชนเมือง ทำให้ชุมชนที่นี่มีความตื่นตัวทั้งด้านการประกอบอาชีพและการพัฒนาชุมชน ที่ลงตัวและครบวงจรที่สุดแห่งหนึ่งในชุมชน 3 จังหวัดชายแดนใต้

เพียงคุณสละเวลาแค่วันเดียวในวันพิเศษของคุณ เพื่อเรียนรู้และเข้าถึงชุมชนที่นี่ ขอการันตีว่า คุณจะประทับใจมนต์เสน่ห์ของบางปูตราบนานเท่านาน

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ย้อนรอยประวัติศาสตร์อุษมานียะฮ์ ตอนที่ 2

จังหวัดอิซมีร์ มนต์เสน่ห์แห่งเมดิเตอร์เรเนียน อีกฉายาหนึ่งคือไข่มุกแห่งทะเลเอเจียน เมืองในอดีตยุคกรีกโรมันโบราณ ที่เต็มไปด้วยร่องรอยทางประวัติศาสตร์ยุคเก่ามากมาย

(ผู้อ่านสามารถทำความรู้จักกับจังหวัดนี้ได้ที่เว็บไซต์ต่างๆ มากมาย ซึ่งผู้เขียนไม่พูดถึงรายละเอียดส่วนนี้)

มาตุรกี 3-4 ครั้ง แต่ไม่เคยย่างกรายเข้าเมืองนี้สักที เที่ยวนี้เลยตั้งใจเยี่ยมชมเป็นพิเศษ ระยะทางอิสตันบูล – อิซมีร์ เกือบ 500 กม. แต่ด้วยถนนทางด่วนที่เพิ่งเปิดใหม่สดๆร้อนๆ ทำให้เราใช้เวลานั่งบนรถเสมือนอยู่บนเครื่องบินประมาณ 5 ชม. ซึ่งก่อนหน้านี้อาจใช้เวลานานถึง 8 ชม. กว่า

ข้อมูลที่น่าสนใจคือ เมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 รองจากอิสตันบูลและอังการ่านี้ นอกจากเป็นฐานที่มั่นที่สำคัญของพรรค CHP ชนิดที่พรรค AK ไม่เคยชนะในการเลือกตั้งในทุกระดับแม้แต่เก้าอี้เดียวแล้ว ยังเป็นแหล่งกำเนิดของบิดาทางสังคมอย่างฟัตหุลลอฮ์ กุเลน นักการศาสนาสายศูฟีย์อันลือชื่ออีกด้วย

เราพักที่นี่ 2 คืนกับ 1 วัน ที่น่าแปลกคือไม่เคยได้ยินเสียงอะซาน ยกเว้นจากแดนไกลมากๆ ส่วนสภาพสังคมทั่วไปคือเสมือนเราอยู่ในยุโรปทุกกระเบียดนิ้ว จะหาสตรีที่ใส่หิญาบสักคนเป็นเรื่องที่ยากมาก

คิดอยู่ในใจว่า ผลงานของนักดาอีย์ข้ามโลกอย่างกุเลน มีมากน้อยแค่ไหน ทำไมเขาเติบโตในดงเซคิวล่าร์แบบเข้มข้นถึงระดับนี้ เคยทราบว่าเขาเคยบรรยายศาสนาตามผับบาร์ทั่วอิซมีร์ ถามว่าพอมีสานุศิษย์ที่สามารถต่อยอดด้านนี้บ้างไหม ทำไมพรรค AK จึงไม่สามารถเจาะฐานเสียงอันแน่นปึ๊กของพรรคเซคิวล่าร์อย่าง CHP ในทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ไม่ว่าในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ หรือเหล่าสานุศิษย์ของกุเลน หาใช่ใครอื่นนอกจากเป็นฐานเสียงของ CHP เท่านั้น

CHP คือพรรคทายาทของเคมาล อะตาร์เตอร์ ผู้สถาปนาตัวเองเป็นบิดาแห่งชาวตุรกี สภาพของจังหวัดอิซมีร์และแนวคิดของชาวอิซมีร์เป็นยังไง คือกระจกส่องตัวตนที่แท้จริงของเคมาล อะตาร์เตอร์กที่ชัดเจนที่สุด

อิซมีร์เมืองที่น่าค้นหา พอๆกับผู้คนที่ค้นหาร่องรอยทางประวัติศาสตร์ยุคเซลจุกหรืออาณาจักรโบราณเอฟเฟซุสทีเดียว

2 คืนกับ 1 วัน เป็นเพียงองศาแรกที่ผมเพิ่งค้นพบจากวงกลมทั้งวงของอิซมีร์ครับ

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://shorturl.at/eDOQU

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

ย้อนรอยประวัติศาสตร์อุษมานียะฮ์ ตอนที่ 1

บูร์ซ่าคือจังหวัดหนึ่งของตุรกีอยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอนาโตเลียอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลมาร์มารา อดีตคือเมืองหลวงยุคแรกสมัยอุษมานียะฮ์ตั้งแต่ปีค.ศ. 1326 -1365 สุลตานหลายพระองค์ ถูกฝังศพที่นี่ รวมทั้งอุษมาน ฆอซีย์ ผู้สถาปนาอาณาจักรอุษมานียะฮ์

เป็นเมืองอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดในตุรกี ได้รับฉายาเป็นเมืองเขียวเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของต้นไม้และพืชเกษตรกรรมอันเขียวขจี

เรานั่งเรือข้ามฟากจากอิสตันบูลเพื่อเดินทางไปยังเมืองบูร์ซ่า ระหว่างอยู่บนเรือ สามารถชมวิวแผ่นดินสองทวีปบนดาดฟ้า พร้อมตื่นตาตื่นใจกับการให้อาหารนกนางนวลระยะประชิดที่บินไปบินมา ทำให้เวลาที่อยู่บนเรือกว่า 30 นาทีรู้สึกผ่านไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะบรรยากาศยามดวงอาทิตย์ใกล้ตก ซึ่งเป็นวินาทีที่มีความสวยงามประทับใจไม่รู้ลืม

เราค้างคืนที่นี่หนึ่งคืน มีโอกาสพบปะกับนักศึกษาไทยหลายคนที่เรียนในเมืองบูร์ซ่า

รุ่งขึ้น สถานที่แห่งแรกที่เราไปเยี่ยมชมคือหมู่บ้าน Cumalikizik ห่างจากเมืองบูร์ซาไปทางตะวันตก ประมาณ 15 กม. ทำให้เรามีโอกาสสัมผัสกลิ่นไอยุคอุษมานียะฮ์ในอดีต เพราะเป็นหมู่บ้านโบราณที่ยังคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมและรูปแบบอันดั้งเดิม สั่งสมคุณค่าทางประวัติศาสตร์กว่า 700 ปีตั้งแต่สมัยอุษมาน ฆอซีย์ ผู้สถาปนาอาณาจักรอุษมานียะฮ์

ทรงบ้านแต่ละหลังถูกสร้างชิดกันเป็นแถวระเบียบ ที่ถูกตัดด้วยถนนเข้าหมู่บ้านที่กว้างประมาณ 4 เมตร ส่วนใหญ่เป็นบ้าน 2-3 ชั้น ชั้นล่างเป็นเสมือนกำแพง สร้างด้วยหินแข็งแรง ไม่มีหน้าต่าง เป็นห้องที่ใช้อาศัยช่วงฤดูหนาวรวมทั้งเป็นกำแพงป้องกันภัยจากการบุกของคนร้ายหรือศัตรูภายในตัว ส่วนชั้นสองเป็นไม้สำหรับใช้เป็นที่อยู่ช่วงฤดูร้อน สภาพหมู่บ้านจะสดสวยงดงามแค่ไหน เชิญดูภาพประกอบด้านล่างครับ

หลังจากนั้น เรามีโอกาสเยี่ยมชม Yesil Cami ( Green Mosque)หรือมัสยิดเขียว สาเหตุที่ชื่อนี้ เนื่องจากลวดลายบนกระเบื้องเซรามิกที่ตกแต่งด้านในตัวอาคารเป็นสีเขียว นอกจากมัสยิดแล้วยังมีโรงเรียนสอนเด็กเล็ก อาคารห้องน้ำสาธารณะ ห้องครัวและมะก็อมสุลตาน ที่เน้นสีเขียวตามสัญลักษณ์ประจำมัสยิด

ที่เซอไพรส์สุดๆ เมื่อเข้าไปในมัสยิดแห่งนี้ ได้มีผู้ชายคนหนึ่งที่แนะนำตัวเองเป็นอดีตคนอาซานและอิมามมัสยิดนี้ ชวนพวกเราไปยังอีกห้องหนึ่งในมัสยิดพร้อมอธิบายด้วยภาษาอาหรับสำเนียงตุรกี เขายังสาธิตการอาซานของแต่ละเวลาละหมาดซึ่งมีท่วงทำนองที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะด้วยเสียงอันก้องกังวาล อันแสดงถึงความเอาใจใส่และความพิถีพิถันของชาวเติร์กต่อการอาซานและการละหมาดเป็นอย่างยิ่ง

เรามีโอกาสเยี่ยมชมมัสยิดอุลูญามี (Ulu Cami) สร้างโดยสุลตานบายาซิดที่ 1 ระหว่างปีค.ศ. 1396 -1399 เอกลักษณ์อันโดดเด่นของมัสยิดแห่งนี้คือมีโดมทั้งหมด 20 ลูก ซึ่งเป็นไปตามคำบนบานของสุลตาน ที่ได้บนบานเนื่องจากครั้งหนึ่ง กองทัพฮังการีได้บุกรุกเข้ามายังดินแดนอุษมานียะฮ์พระองค์ซึ่งเป็นจอมทัพได้บนบานหลังละหมาดว่า หากมีชัยชนะในสงครามครั้งนี้ พระองค์จะสร้างมัสยิดจำนวน 20 หลัง เพื่อชุโกร์แด่อัลลอฮ์

ผลสงครามครั้งนี้ พระองค์ได้รับชัยชนะ จึงตัดสินใจสร้างมัสยิดจำนวน 20 หลังตามที่ได้บนบาน แต่เนื่องจากงบประมาณไม่มากนัก พระองค์จึงดำริสร้างมัสยิดเล็กๆจำนวน 20 หลัง มุฟตีสมัยนั้น จึงให้ข้อเสนอว่า หากรวบรวมงบประมาณที่จะใช้สร้างมัสยิดเล็กๆ 20 หลัง มาสร้างมัสยิดใหญ่เพียงแห่งเดียวจะมีความเหมาะสมมากกว่า พระองค์ทรงเห็นด้วย จึงสร้างมัสยิดนี้ โดยออกแบบสร้างโดมจำนวน 20 ลูก เพื่อแทนมัสยิด 20 หลัง

ภายในมัสยิด มีบริเวณหนึ่ง ถูกสร้างเป็นแอ่งเก็บน้ำเพื่ออาบนำ้ละหมาด มีรั้วกั้นอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมเซลจุก

ในมัสยิดแห่งนี้ ยังมีมุมเก็บผ้าคลุมกะอฺบะฮ์ หลังจากสุลตานสะลีมที่ 1 แห่งอาณาจักรอุษมานียะฮ์สามารถผนวกรวมอิยิปต์และหิญาซได้ในปี 1516 ซึ่งหลังจากนั้นเพียงปีเดียว คือ ค.ศ. 1517 กษัตริย์มะมาลิกแห่งอิยิปต์ได้ถวายผ้าคลุมกะอฺบะฮ์แก่สุลตานสะลีมที่ 1 ซึ่งพระองค์ได้เก็บไว้ที่มัสยิดแห่งนี้ ทั้งนี้เพื่อประกาศว่า นับตั้งแต่นั้นมา พระองค์คือคอลีฟะฮ์มุสลิมีน อย่างเป็นทางการ

ผ้าคลุมกะอฺบะฮ์ผืนนี้ ถือเป็นผ้าคลุมกะอฺบะฮ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด เนื่องจากมีอายุกว่า 500 ปีจึงมีบางส่วนชำรุดและฉีกขาด รัฐบาลตุรกีได้ซ่อมแซมอย่างปราณีตและเก็บรักษาในมัสยิดแห่งนี้ในเรือนกระจกที่มีอุณหภูมิคงที่ที่สามารถรักษาผ้าคลุมกะอฺบะฮ์ผืนนี้ตราบนานเท่านาน

รอบๆบริเวณมัสยิด มีบาซาร์ตามสถาปัตยกรรมอุษมานียะฮ์ ที่เป็นแหล่งช้อปปิ้งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะเสื้อผ้าไหม พรม สะญะดะฮ์ เครื่องเงิน เครื่องตกแต่งบ้านและของชำร่วยมากมายสวยงาม ผู้เขียนขอแนะนำว่า หากจะช้อป ก็ให้ละลายทรัพย์ที่นี่ เพราะราคาจะถูกกว่าในอิสตันบูล 4-5 เท่าทีเดียว แถมได้สินค้าประเภทแฮนด์เมดได้อย่างสมราคาอีกด้วย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจจะจับจ่ายที่ Grand Bazar ที่อิสตันบูล ขอบอกเลยว่าต้องคิดหลายตลบ และต้องกล้าพอที่จะต่อรองราคาชนิดถล่มทลายทีเดียว

เวลาที่เหลือเราใช้เวลาเที่ยวชมสถานที่ต่างๆเพื่อเก็บความทรงจำดีๆที่บูร์ซ่า ก่อนที่ออกเดินทางต่อไปยังเมืองอิซมีร์ มนต์เสน่ห์แห่งทะเลเอเจียน อาณาจักรโบราณแห่งเอฟเฟซุสต่อไป

เขียนโดย ผศ.มัสลัน มาหะมะ

อ่านเพิ่มเติม
https://www.turkpress.co/node/15006

https://ar.m.wikipedia.org/wiki/%D8%A8%D9%88%D8%B1%D8%B5%D8%A9_(%D9%85%D8%AF%D9%8A%D9%86%D8%A9)

https://ar.m.wikipedia.org/wiki/%D8%A7%D9%84%D8%AC%D8%A7%D9%85%D8%B9_%D8%A7%D9%84%D8%A3%D8%AE%D8%B6%D8%B1_(%D8%A8%D9%88%D8%B1%D8%B5%D8%A9)

https://www.turkpress.co/node/36778