คอลิด บินวะลีด แพ้สงคราม? : ครั้งหนึ่งท่านคอลิดเคยถูกกล่าวหาว่าหนีสงคราม

ท่านคอลิด บินวะลีด เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เจ้าของฉายา “ดาบของอัลลอฮฺที่ถูกชักออกมา” (سيف الله المسلول) ผู้สร้างความหวาดหวั่นให้กับศัตรู ผู้ไม่เคยแพ้การศึกใดทั้งก่อนหน้าอิสลามและหลังจากรับอิสลาม แต่รู้หรือไม่ว่าท่านคอลิดเองเคยถูกกล่าวหาว่าพ่ายแพ้ศึกและหนีสงคราม

ในสงครามมุอ์ตะฮฺ ระหว่างกองทัพมุสลิมเพียง 3,000 คน กับกองทัพโรมันไบแซนไทน์กว่า 200,000 นาย ฝ่ายมุสลิมมีแม่ทัพ 3 คน คือ ท่านซัยดฺ บินหาริษะฮฺ, ญะอฺฟัร บิน อบีฏอลิบ และอับดุลลอฮฺ บินเราะวาหะฮฺ ทั้ง 3 คนเสียชีวิตเป็นชะฮีดในสงครามครั้งนี้ ฝ่ายมุสลิมเสียชีวิตไปประมาณ 13 คน ส่วนทหารฝ่ายโรมันเสียชีวิตไปกว่า 3,000 คน

ท่านคอลิดในฐานะแม่ทัพคนที่ 4 สามารถนำทัพถอยออกมาจากสนามรบ พาทหารมุสลิมที่เหลือกลับมายังเมืองมะดีนะฮฺได้อย่างปลอดภัย แต่มุสลิมบางส่วนเข้าใจผิดคิดว่า กองทัพมุสลิมพ่ายแพ้ยับเยิน จึงได้หนีทัพกลับมา ข่าวนี้ทำให้ชาวมะดีนะฮฺบางส่วนพากันออกมารออยู่ที่หน้าประตูเข้าเมืองมะดีนะฮฺ ไม่ใช่เพื่อต้อนรับ แต่เพื่อขวางทหารกล้าเหล่านั้นไม่ให้กลับเข้ามา

พวกเขากล่าวว่า
‎يا فُرَّار، تفرونَ من الموت في سبيلِ الله !!
“ไอ้คนหนีทัพ พวกเจ้าวิ่งหนีจากการตายในหนทางของอัลลอฮฺกระนั้นหรือ ?!”

ในบางรายงานระบุว่า พวกผู้หญิงบางคนไม่ยอมเปิดประตูบ้านต้อนรับสามีของพวกเธอ พวกเธอพูดกับสามีและลูกชายจากหลังประตูว่า

‎لمَ لمْ تَموتوا مع أصحابِكم في أرضِ القِتال !؟
“ทำไมท่านไม่ยอมตาย (ชะฮีด) พร้อมกับสหายของพวกท่านในสนามรบเล่า?!”

ส่วนท่านคอลิด บินวะลีดนั้น เด็ก ๆ ที่ไม่รู้ประสีประสาได้มาหาท่าน แล้วขว้างทรายและก้อนหินเล็ก ๆ ใส่ท่าน แถมยังพูดอีกว่า “เจ้าคนหนีทัพ เจ้าจะไปไหน?!”

แล้วท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็ได้ทำให้ทั้งเมืองมะดีนะฮฺสงบลง ด้วยการอธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในสมรภูมิรบ ท่านเข้าใจดีว่าการเผชิญหน้ากับกองทัพขนาดใหญ่ของฝ่ายโรมันกว่า 200,000 นายนั้น หนักหนาและลำบากแค่ไหน ทหารทุกคนได้ต่อสู้อย่างดีที่สุดแล้วเพื่อปกป้องอิสลาม แล้วท่านก็พูดว่า

‎لَيسُوا بالفُرَّار ولَكِنَّهُم الكُرَّار إن شاء الله
“พวกเขาไม่ใช่คนที่หนีสงคราม แต่เป็นการถอยกำลังเพื่อยุทธวิธีทางการรบต่างหาก อินชาอัลลอฮฺ”

ตั้งแต่นั้นมา ท่านคอลิด บินวะลีด ก็ถูกเรียกขานว่าเป็น “ดาบของอัลลอฮฺที่ถูกชักออกมา” และการที่ท่านสามารถต้านทานกองทัพขนาดใหญ่ของจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ และนำทหารมุสลิมที่เหลือกลับมาได้อย่างปลอดภัยนั้น เป็นหลักฐานยืนยันความสามารถของท่านในการนำทัพได้อย่างชัดเจน


อ้างอิง :
1. อัลมัจญ์มูอฺ ชัรหฺ อัลมุหัซซับ โดย อัชชีรอซีย์ หน้าที่ 152
2. รูหฺ อัลมะอานีย์ โดย อัลอะลูซีย์ เล่มที่ 21 หน้าที่ 20
3. อัลกามิล ฟิตตารีค โดย อิบนุลอะษีร เล่มที่ 2 หน้าที่ 115


ที่มา : GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่

สมรภูมิที่ไม่น่าเป็นไปได้ : สงครามมุอ์ตะฮฺ

สงครามมุอ์ตะฮฺเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 8 (ตรงกับค.ศ.629) ที่บริเวณ “มุอ์ตะฮฺ” ในแผ่นดินชาม นี่คือ 1 ในสงครามที่หนักหน่วงที่สุดของประชาชาติอิสลามในยุคของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม มีรายงานบันทึกว่า ท่านคอลิด บินวะลีด ต่อสู้ในสงครามครั้งนี้จนกระทั่งดาบหักไปถึง 9 เล่ม

มันปะทุขึ้นเนื่องจากอัลหาริษ บินอุมัยรฺ ฑูตของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ถูกสังหารโดยชุเราะหฺบีล บินอัมรฺ ผู้นำแห่งฆ็อซซานซึ่งสวามิภักดิ์ต่อจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์ ท่านนบีโกรธมากและได้ออกคำสั่งจัดทัพขนาดใหญ่จำนวน 3,000 นายทันที ท่านนบีไม่เคยจัดทัพขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อนเลยนอกจากในสงครามค็อนดัก (หรือ อัลอะหฺซาบ) เท่านั้น

ท่านนบีได้แต่งตั้งให้ซัยดฺ บินหาริษะฮฺ เป็นแม่ทัพใหญ่ และสั่งเสียว่า “หากซัยดฺถูกฆ่า (แม่ทัพคน) ต่อไปคือญะอฺฟัร (บิน อบีฏอลิบ) และถัดจากนั้นคือ อับดุลลอฮฺ บินเราะวาหะฮฺ”

เมื่อกองทัพเดินทางถึง “มะอาน” พื้นที่หนึ่งในแผ่นดินชาม ม้าเร็วก็ได้นำข่าวมารายงานว่า เฮราคลิอุสได้นำกองทัพขนาด 100,000 นายเดินทางมาถึงแล้ว และยังได้รับการสมทบกำลังอีก 100,000 นายจากเผ่าอาหรับต่าง ๆ ที่สวามิภักดิ์ต่อจักรวรรดิโรมันด้วย รวมจำนวนกองทัพฝ่ายโรมันทั้งสิ้น 200,000 นาย ในขณะที่ฝ่ายมุสลิมมีเพียง 3,000 นายเท่านั้น (ต่างกันเกือบ 70 เท่า) ลองจินตนาการดูสิว่า เรามีจำนวนน้อยมากแค่ไหนเมื่อเทียบกับพวกเขา

แล้วกองทัพของทั้ง 2 ฝ่ายก็มาเจอกันที่บริเวณมุอ์ตะฮฺ กองทัพขนาดเล็กจำนวน 3,000 นาย ประจันหน้ากับกองทัพขนาดมหึมาจำนวน 200,000 นาย กองทัพที่เล็กมากนี้จะต่อสู้กับกองทหารขนาดใหญ่ของพันธมิตรโรมันได้อย่างไร หากไม่ใช่ด้วยความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ

ซัยดฺ บินหาริษะอฺ แม่ทัพใหญ่ฝ่ายอิสลามเริ่มจู่โจมเข้าใส่ศัตรูอย่างห้าวหาญ ท่านต่อสู้กระทั่งปลายหอกของศัตรูเข้าแทงบนร่างกายของท่านเหมือนห่าฝน และเสียชีวิตในหนทางของอัลลอฮฺ

ญะอฺฟัร บิน อบีฏอลิบ ขึ้นมาบัญชาการแทน ท่านเข้าโจมตีศัตรูอย่างไม่หยุดยั้ง ท่านต่อสู้กระทั่งมือขวาขาดสะบั้น ท่านใช้มือซ้ายถือธงรบเอาไว้ กระทั่งมือข้างนั้นก็ถูกตัดขาดไปด้วย ญะอฺฟัรพยายามใช้ไหล่ทั้ง 2 ข้างพยุงธงอิสลามเอาไว้ และสุดท้ายท่านก็ถูกฆ่าตาย ท่านนบีบอกว่า อัลลอฮฺจะทรงประทานปีก 2 ข้างให้กับญะอฺฟัรในสวรรค์ เป็นของขวัญให้กับมือทั้ง 2 ข้างที่สูญเสียไปในสงครามครั้งนี้

ท่านอิบนุอุมัรรายงานว่า มีรอยแผลจากการฟันและแทงกว่า 50 แผลอยู่บนหลังของญะอฺฟัร ในอีกรายงานหนึ่งระบุประมาณ 90 แผล

เมื่อญะอฺฟัรเสียชีวิต อับดุลลอฮฺ บินเราะวาหะฮฺ ก็ได้รับไม้ต่อชูธงอิสลามขึ้นโบกสะบัด ท่านควบม้าฝ่าเข้าไปในแถวรบของศัตรู กวัดแกว่งดาบ และต่อสู้ กระทั่งกลายเป็นชะฮีด สิ้นชีวิตตามสหาย 2 ท่านที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

ในช่วงเวลาที่กองทัพมุสลิมไร้แม่ทัพนำการรบนี้เอง ราชสีย์ก็ได้หยิบธงรบขึ้นโบกสะบัดอีกครั้ง เขาคือ คอลิด บินวะลีด ดาบของอัลลอฮฺที่ถูกชักออกมาจากฝัก แม่ทัพคนใหม่ของฝ่ายอิสลาม

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ก่อนที่ข่าวคราวจากสนามรบจะมาถึงเมืองมะดีนะฮฺ ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามรบให้กับผู้คนในเมืองมะดีนะฮฺ ท่านพูดพร้อมน้ำตาว่า “ซัยดฺได้ถือธงเอาไว้ แล้วเขาก็ถูกฆ่าตาย ญะอฺฟัรรับช่วงต่อและถูกฆ่าตายด้วยเช่นกัน จากนั้นก็เป็นอิบนุเราะวาหะฮฺและเขาก็ถูกฆ่าตายตามไปด้วย แล้วดาบเล่มหนึ่งในบรรดาดาบทั้งหลายของอัลลอฮฺ (หมายถึง ท่านคอลิด บินวะลีด) ก็ได้ชูธงขึ้น และอัลลอฮฺจะทรงประทานชัยชนะให้กับพวกเขา”

ความจริงแล้ว ต่อให้มีความกล้าหาญชาญชัยแค่ไหน ความเป็นไปได้ที่จะชนะแทบเป็น 0 หรือเป็นไปไม่ได้เลยด้วยซ้ำ กองกำลังเพียงหยิบมือเดียวจะเอาชนะกองทัพขนาดมหึมาที่ใหญ่กว่าเกือบ 70 เท่าได้อย่างไรกัน แต่ในตอนนี้เองที่ท่านคอลิด บินวะลีด ได้สำแดงความสามารถในการรบของท่านออกมาให้ทุกคนได้ประจักษ์

ท่านคอลิดใช้กลยุทธ์การเคลื่อนทัพอย่างชำนาญ ท่านสับเปลี่ยนทหารในแนวหน้าไปไว้ด้านหลัง และเคลื่อนพลจากแนวหลังมาไว้ด้านหน้า ท่านสั่งการให้ทหารปีกซ้ายและขวาสลับตำแหน่งกัน ท่านหลอกฝ่ายศัตรูจนหลงเชื่อว่าฝ่ายมุสลิมมีกองหนุนมาเสริมทัพ ทั้งที่จริงแล้วท่านเพียงแค่สลับตำแหน่งทหารในแนวต่าง ๆ เท่านั้น ทหารโรมันที่ได้เห็นใบหน้าใหม่ ๆ ของฝ่ายมุสลิมก็ตกใจ พวกเขาแทบไม่เชื่อสายตาของตัวเอง แล้วความหวาดกลัวก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นในใจของพวกเขา

ในขณะที่กำลังสู้รบกันนั้น ท่านคอลิดค่อย ๆ ถอยกองทัพมาทางด้านหลังโดยยังคงรักษารูปแบบของกองทัพเอาไว้ ปรากฏว่ากองทัพโรมันไบแซนไทน์ที่มีขนาดใหญ่กว่าไม่ยอมไล่ล่าตามมา พวกเขากลัวว่าจะเป็นกับดักของฝ่ายมุสลิม

ด้วยความช่วยเหลือของอัลลอฮฺ ผ่านความชาญฉลาดของคอลิด บินวะลีด ทหารมุสลิมหลายพันนายจึงปลอดภัยจากเงื้อมมือของกองทัพโรมันในสมรภูมิมุอ์ตะฮฺครั้งนี้มาได้ เมื่อพิจารณาข้อมูลอย่างละเอียด ปรากฏว่ากองทัพมุสลิมสูญเสียทหารไปเพียงไม่กี่คนเท่านั้น (ประมาณ 12 คน) ในขณะที่กองทัพโรมันเสียทหารไปเป็นจำนวนมาก (ประมาณ 3,000 กว่าคน) อัลลอฮุอักบัร!!


อ้างอิง :
1. อัรเราะฮีกุล มัคตูม โดย เชคเศาะฟียุรเราะหฺมาน อัลมุบาร็อกฟูรีย์


ที่มา : GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่

ความพยายาม ​7 ครั้ง ในการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล

อุมมะฮฺอิสลามได้พยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ศูนย์กลางอำนาจของจักรวรรดิโรมันไบแซนไทน์หลายครั้ง ทั้งนี้ก็เพื่อปลดปล่อยเมืองนี้จากการปฏิเสธศรัทธาและความอยุติธรรมทั้งหลาย นี่คือความพยายาม 7 ครั้งสำคัญในการพิชิตเมืองที่สำคัญนี้

1. ฮ.ศ.49 / ค.ศ.669
ท่านอิบนุญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์ ได้ระบุไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของท่านว่า ท่านมุอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน คือเคาะลีฟะฮฺอิสลามคนแรกที่ได้พยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล โดยแต่งตั้งให้ยะซีด บินมุอาวิยะฮฺ ลูกชายของท่าน เป็นผู้นำกองทัพ 300,000 นายพร้อมเรือ 300 ลำไปยังที่นั่น ความพยายามในครั้งนี้ยังไม่บรรลุผล และท่านอบูอัยยูบ อัลอันศอรีย์ เศาะหาบะฮฺอาวุโสคนหนึ่งก็ได้เสียชีวิตลงที่นั่นด้วย

2. ฮ.ศ.54-60 / ค.ศ.674-680
ความพยายามในครั้งนี้เกิดขึ้นในยุคการปกครองของเคาะลีฟะฮฺมอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน อีกเช่นกัน กองทัพอิสลามต่อสู้อย่างต่อเนื่องนาน 6 ปี ภายใต้การนำทัพของอับดุรเราะหฺมาน บินคอลิด (ลูกชายของท่านคอลิด บินอัลวะลีด) ต้องเข้าใจว่า กรุงคอนสแตนติโนเปิลนั้นคือศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรไบแซนไทน์ หากเมืองนี้ถูกพิชิต เมืองอื่นที่เหลือก็จะแตกกระจายไร้เสถียรภาพ มันจะเป็นประตูเปิดไปสู่การพิชิตเมืองอื่น ๆ อีกมากมายในแผ่นดินยุโรป แต่ความพยายามครั้งนี้ก็ยังไม่บรรลุอีกเช่นกัน

3. ฮ.ศ.98 / ค.ศ.718
เคาะลีฟะฮฺสุลัยมาน บินอับดุลมะลิก แห่งคิลาฟะฮฺอุมะวิยะฮฺ ได้แต่งตั้งให้น้องชายคือ มัสละมะฮฺ บินอับดุลมะลิก เป็นแม่ทัพบัญชาการทหารกว่า 200,000 นาย พร้อมเรืออีกประมาณ 5,000 ลำเข้าพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่ความพยายามในครั้งนี้ล้มเหลว อีกทั้งยังทำให้คิลาฟะฮฺอุมะวิยะฮฺเสียหายและอ่อนแอลงด้วย

Bernard lewis (นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ-อเมริกัน) กล่าวว่า “ความพ่ายแพ้ในครั้งนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อความเข้มแข็งของอาณาจักรอุมัยยะฮฺ งบประมาณที่ทุ่มลงไปเพื่อการพิชิตในครั้งนี้ทำให้การคลังของรัฐเกิดความปั่นปวน”

4. ฮ.ศ.165 / ค.ศ.781
ในสมัยคิลาฟะฮฺอับบาสียะฮฺ เคาะลีฟะฮฺอัลมะฮฺดีย์ได้ส่งลูกชายคือ ฮารูน อัรเราะชีด นำกองทัพ 96,000 นาย เข้าพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล แม้ว่าจะยังไม่สามารถพิชิตและปลดปล่อยคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ แต่ความพยายามในครั้งนี้ก็สร้างความเสียหายอย่างมากแก่อาณาจักรไบแซนไทน์ จักรพรรดินีไอรีนเสนอให้ทำสัญญาสงบศึก ซึ่งทำให้ไบแซนไทน์เป็นฝ่ายเสียเปรียบเอง

5. ฮ.ศ.796 / ค.ศ.1393
ในยุคของสุลต่านบะยาซิดที่ 1 แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ สุลต่านให้ความสำคัญกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลมาก ถึงกับสร้างกองทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก (ในช่วงเวลานั้น) แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าไปข้างในคอนสแตนติโนเปิลได้ สุลต่านบะยาซิดที่ 1 สามารถเอาชนะกองทัพคริสเตียนที่นิโคโปลิส (ปัจจุบันคือ ประเทศบัลแกเรีย) ได้ในปี ค.ศ.1396 แต่การพิชิตก็ต้องยุติลง เมื่อท่านพ่ายแพ้ให้กับตีมูร เลงค์ ในศึกอังการ่า ในปี ค.ศ.1402 และถูกกองทัพมองโกลจับตัวไป สุดท้ายสุลต่านก็เสียชีวิตลงในเดือนมีนาคมของปีต่อมา

6. ฮ.ศ.824-863 / ค.ศ.1421-1451
ภารกิจการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในครั้งนี้ริเริ่มโดยสุลต่านมุร็อดที่ 2 แห่งคิลาฟะฮฺอุษมานียะฮฺ นักประวัติศาสตร์เรียกความพยายามในครั้งนี้ว่าเป็น “การปิดล้อมกรุงคอนแสตนติโนเปิลเต็มรูปแบบ ครั้งที่ 1” แต่สุดท้ายสุลต่านมุร็อดที่ 2 ก็ต้องถอนกำลังออกมา เนื่องจากเกิดกบฏขึ้นที่อะนาโตเลีย นำโดย กุจุก มุศเฏาะฟา น้องชายของสุลต่านเอง

7. ฮ.ศ.857 / ค.ศ.1453
หลังจากความพยายามและการรอคอยที่ยาวนาน สุดท้ายหะดีษของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ก็เป็นจริง สุลต่านมุฮัมหมัด อัลฟาติหฺ ในฐานะผู้นำที่ดีที่สุดพร้อมกับกองทัพที่ดีที่สุดของท่าน ได้เข้าปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลนาน 54 วัน เริ่มตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 23 มีนาคม 1453 สุลต่านอัลฟาติหฺได้เคลื่อนทัพทั้งทางบกและน้ำ ขนปืนใหญ่ ทหารม้า และทหารราบ รวมกว่า 250,000 นาย ออกจากเมืองเอเดอเนไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิล กระทั่งสามารถพิชิตและปลดปล่อยคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จ ในวันที่ 29 เมษายน 1453

ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เคยถูกถามว่า “ 2 เมืองนี้เมืองใดจะถูกพิชิตก่อนเป็นอันดับแรก กรุงคอนสแตนติโนเปิลหรือกรุงโรม?” ท่านตอบว่า

‎مَدِيْنَةُهِرَقْلَ تُفْتَحٌ أَوَّلًا يَعْنِى القُسْطَنْطِيْنِيَّة
“เมืองของฮิรอกล์ (จักรพรรดิเฮราคลีอุสแห่งโรมันไบแซนไทน์) จะถูกพิชิตก่อนเป็นอันดับแรก คือกรุงคอนสแตนติโนเปิล” (บันทึกโดย อะหมัด, อัดดารีมีย์ และอัลฮากิม)

และท่านได้กล่าวไว้ในหะดีษอีกบทว่า

لَتُفْتَحَنَّ الْقُسْطَنْطِيْنِيَّةُ وَلَنِعْمَ الْأ مِيْرُ أَمِيرُهَاولَنِعْمَ الَجَيْشُ جَيْشُهَا
“แน่นอนคอนสแตนติโนเปิลจะถูกพิชิต และผู้นำที่ดีที่สุดคือผู้นำการพิชิตในครั้งนี้ และกองทัพที่ดีที่สุดก็คือกองทัพดังกล่าว” (บันทึกโดย อะหมัดและอัลฮากิม)


อ้างอิง :
1. ตารีค อัฏเฏาะบะรีย์ โดย อิบนุญะรีร อัฏเฏาะบะรีย์
2. อัยยามุนา ลา ตุนซา โดย ตะมีม บัดรฺ
3. The First Arab Siege of Constantinople โดย Marek Jankowiak
4. The Walls of Constantinople, AD 324-1453 โดย Stephen Trunbull
5. บทความเรื่อง “การพิชิตนครคอนสแตนติโนเปิ้ลจะเกิดขึ้นก่อนการพิชิตกรุงโรม” โดย อ.อาลี เสือสมิง


ที่มา.GenFa : ประวัติศาสตร์สร้างคนรุ่นใหม่

การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ปี ฮ.ศ. 857/ค.ศ. 1453

วิพากษ์หนังสือ
فتح القسطنطينية 857 هـ/1453م
(การพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ปี ฮ.ศ. 857/ค.ศ. 1453)
ผู้เขียน ดร.ฟัยศ็อล อับดุลลอฮฺ อัลกันดะรีย์
สำนักพิมพ์ มักตะบะฮฺ อัลฟะลาหฺ คูเวต

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่เขียนด้วยภาษาอาหรับ โดย ดร.ฟัยศ็อล อัลกันดะรีย์ อาจารย์ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคูเวต หน้าปกด้านบนประกอบด้วยภาพวาดส่วนหัวของสุลต่านมุหัมมัดที่สอง หรือมุหัมมัด อัลฟาติหฺตั้งอยู่ด้านขวาของพยางค์แรกของชื่อหนังสือที่ว่า “ฟัตหุ” ที่แปลว่า “การพิชิต” และตามด้วยพยางค์ที่สองที่ว่า “อัลกุสฏอนฏีนียะฮฺ” ที่แปลว่า “กรุงคอนสแตนติโนเปิล” ซึ่งเท่ากับเป็นการสื่อให้ผู้อ่านได้จินตนาการถึงเนื้อหาโดยรวมของหนังสือว่าสุลต่านมุหัมมัดที่สองคือผู้ที่พิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลอย่างแท้จริง ส่วนด้านล่างเป็นภาพมัสยิดอะยาโซเฟียซึ่งตั้งอยู่ในกรุงคอนสแตนติโนเปิลหรือกรุงอิสตันบูลในปัจจุบัน อันเป็นสัญลักษณ์สันติภาพ เพราะสุลต่านมุหัมมัดได้ใช้สถานที่แห่งนี้ประกาศสันติภาพแก่บรรดานักบวชคริสต์และชาวกรุงคอนสแตนติโนเปิลทุกคน ซึ่งนับว่าเป็นการบรรยายถึงสภาพของการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้อย่างรวบรัดและดีเยี่ยม เพียงลักษณะของปกนอกผู้อ่านก็สามารถจินตนาการและเข้าถึงเนื้อหาโดยรวมได้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือปกแข็ง มีขนาด 18×25 ซม. เนื้อหามีจำนวน 216 หน้า ประกอบด้วย 2 ภาคไม่รวมบทนำ
ผู้เขียนได้ชี้แจงถึงแนวทางการเขียนหนังสือเล่มนี้ว่า จะใช้วิธีนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับความพยายามพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลของชาวมุสลิมควบคู่กับการวิจารย์ต่อความพยายามแต่ละครั้ง นับตั้งแต่ความพยายามครั้งแรกที่เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 49 (ค.ศ. 699) จนกระทั่งความพยายามครั้งสุดท้ายที่สามารถพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในปี ฮ.ศ. 857 (ค.ศ. 1453)
เนื่อหาโดยสรุปของหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย บทนำ ซึ่งผู้เขียนได้บรรยายอย่างรวบรัดถึงประวัติความเป็นมาของกรุงคอนสแตนติโนเปิลว่าเดิมทีเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไบแซนไทน์หรือโรมันตะวันออก ก่อนที่จะถูกพิชิตลงและถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอิสตันบูลจนกระทั่งปัจจุบัน และสาธยายถึงความสำคัญด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่ลำบากยิ่งแก่การบุกโจมตี จนกลายเป็นที่หมายปองของบรรดามหาอำนาจและนักล่าอาณานิคม ถึงขนาดนาโปเลียนกล่าวย้ำว่า “คอนสแตนติโนเปิลเปรียบเสมือนกุญแจโลก ผู้ใดที่สามารถครอบครองมัน เขาก็จะสามารถครอบครองโลกทั้งผอง”

ภาคแรก ผู้เขียนได้แบ่งความพยายามในการพิชิตดังกล่าวออกเป็นสามช่วง คือ
ส่วนแรก เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของอาณาจักรอะมะวียะฮฺ ซึ่งได้มีการปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลจำนวนสองครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 49 (ค.ศ. 668) ภายใต้การนำทัพของยะซีด บิน มุอาวิยะฮฺ ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺมุอาวิยะฮฺ บิน อบีสุฟยาน ผู้เป็นบิดา มีเศาะหาบะฮฺหลายท่านที่ทำสงครามในครั้งนี้ อาทิ อับดุลลอฮฺ บิน อุมัร อับดุลลอฮฺ บิน อับบาส อับดุลลอฮฺ บิน ซุเบร หุเสน บิน อาลี และอบูอัยยูบ อัล-อันศอรีย์ ซึ่งต่อมาท่านได้เสียชีวิตลงที่นี่
การปิดล้อมดังกล่าวได้ยืดเยื้อกินเวลาถึงแปดปีเต็ม จนเป็นที่รู้จักกันในนามของสงครามแปดปี จนสุดท้ายกองทัพมุสลิมจำเป็นต้องถอยทัพกลับโดยปราศจากชัยชนะหลังจากที่ต้องสูญเสียกำลังพลร่วม 30,000 คน
ครั้งที่สองเกิดขึ้นในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺ สุลัยมาน บิน อับดุลมะลิกปี ฮ.ศ. 99 (ค.ศ. 717) ภายใต้การนำทัพของมัสละมะฮฺ บิน อับดุลมะลิก โดยได้กรีฑาทัพด้วยจำนวนพลมากกว่า 120,000 นาย แต่หลังจากที่กองทัพมุสลิมได้ปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลเกือบครบหนึ่งปี สุดท้ายกองทัพมุสลิมก็ต้องถอยทัพกลับโดยปราศจากชัยชนะ เนื่องจากการเสียชีวิตอย่างกระทันหันของเคาะลีฟะฮฺสุลัยมาน บิน อับดุลมะลิก และมีคำสั่งจากเคาะลีฟะฮฺคนใหม่ (อุมัร บิน อับดุลอะซีซ) ให้ถอนทัพกลับ หลังจากที่พบว่ากองทัพมุสลิมต้องประสบกับโรคระบาดและได้สูญเสียกำลังพลจำนวนมาก

ผู้เขียนได้สรุปถึงสาเหตุและปัญหาที่ทำให้กองทัพมุสลิมที่นำโดยมัสละมะฮฺต้องพ่ายแพ้และถอยทัพกลับโดยปราศจากชัยชนะว่า
1. กำแพงที่หนาแน่นและแข็งแกร่งที่ปิดล้อมทุกด้านของกรุงคอนสแตนติโนเปิลอยู่ ทำให้กองทัพมุสลิมไม่สามารถที่จะทลวงเข้าไปได้
2. สภาพที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของกรุงคอนสแตนติโนเปิลที่รายล้อมด้วยทะเลทั้งสามด้านทำให้ยากต่อการโจมตี
3. อิทธิพลทางทางด้านภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินการทางการทหาร โดยเฉพาะทางทะเล เนื่องจากเป็นช่วงที่มีลมแรงจนไม่สามารถบังคับเรือให้แล่นตามยุทธศาสตร์ที่ได้กำหนดไว้ ทั้งยังเป็นช่วงฤดูหนาวที่มีหิมะตกชุกจนกองทัพไม่สามารถรุกลั้มเข้าไปโจมตีเป้าหมายได้
4. กรุงคอนสแตนติโนเปิลได้รับการสนับสนุนทางทหารจากประเทศในแถบยุโรป เช่น บัลแกเรีย ทำให้กองทัพของมัสละมะฮฺต้องสังเวยไปจำนวน 22,000 นาย
5. การเสียชีวิตของเคาะลีฟะฮฺ สุลัยมาน บิน อับดุลมะลิก ทำให้กองทัพเสียขวัญและไม่มีกำลังใจที่จะทำสงครามอีกต่อไป

ส่วนที่สอง เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของอาณาจักรอับบาสิยะฮฺ ซึ่งได้มีการยกทัพไปตีกรุงคอนสแตนติโนเปิลถึงสองครั้งเช่นกัน
ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 165 (ค.ศ. 781) ในสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺ อัลมะฮฺดี ภายใต้การนำทัพของบุตรชายฮารูน อัรเราะชีด และการปิดล้อมสิ้นสุดด้วยการทำสนธิสัญญาสงบศึก โดยผู้ปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลยอมจ่ายเงินจำนวน 70,000 หรือ 90,000 ดีนารต่อปีเพื่อแลกกับสันติภาพ
ส่วนครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 190 (ค.ศ. 805) เป็นการยกทัพของฮารูน อัรเราะชีด ขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ และได้ทำการปิดล้อมเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม จนสุดท้ายผู้ปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิลยอมเจรจาและทำหนังสัญญาสงบศึกด้วยการจ่ายส่วยเป็นจำนวนเงิน 50,000 ดีนาร

และส่วนที่สาม เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นในช่วงการปกครองของอาณาจักรอุษมานียะฮฺ ซึ่งได้มีการยกทัพเพื่อพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลถึงสี่ครั้งด้วยกัน
ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 798 (ค.ศ. 1396) ในสมัยการปกครองของสุลต่านบายะซีดที่หนึ่ง แต่กองทัพอุษมานียะฮฺปิดล้อมกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้ไม่นานก็ต้องถอยทัพกลับเพื่อไปเผชิญหน้ากับกองทัพครูเสดที่ยกทัพมาเพื่อช่วยเหลือกรุงคอนสแตนติโนเปิล
ครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 825 (ค.ศ. 1422) ในสมัยการปกครองของสุลต่านมุรอดที่สอง ชนวนของเหตุการณ์เกิดจากการที่กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลเขียนหนังสือถึงสุลต่านมุรอดขอร้องไม่ให้โจมตีกรุงคอนสแตนติโนเปิล แต่สุลต่านปฏิเสธ ดังนั้นกษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลจึงมุสตอฟาผู้เป็นอาของสุลต่าน และมอบกองทหารพร้อมอาวุธจำนวนหนึ่งเพื่อให้ช่วงชิงบัลลังก์มาจากสุลต่านในฐานะที่เขาเป็นผู้ที่กษัตริย์กรุงคอนสแตนติโนเปิลเสนอชื่อให้เป็นสุลต่านแทนมุรอด สุดท้ายสุลต่านมุรอดก็สามารถกำราบมุสตอฟาลงด้วยการกรีฑาทัพจำนวน 200,000 นาย
และครั้งที่สามเกิดขึ้นในสมัยการปกครองของสุลต่านมุหัมมัดที่สอง ซึ่งสามารถพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้สำเร็จในปี ฮ.ศ. 857 (ค.ศ. 1453) โดยผู้เขียนได้เน้นรายละเอียดของความพยายามในครั้งสุดท้ายนี้ที่นำทัพโดยสุลต่านมุหัมมัดที่สอง เพื่อให้ได้ประจักษ์ถึงสาเหตุที่นำไปสู่ความสำเร็จในการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิลในครั้งนี้ หลังจากชาวมุสลิมได้ล้มเหลวมาแล้วถึงเจ็ดครั้ง
ก่อนที่จะก้าวไปยังภาคที่สอง ผู้เขียนได้ตบท้ายภาคแรกด้วยภาคผนวกที่ประกอบด้วย 6 ภาคผนวก ทั้งหมดเป็นสารที่สุลต่านมุหัมมัด อัล-ฟาติหฺส่งไปยังเมืองต่างๆ เพื่อแจ้งข่าวดีเกี่ยวกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล และสารตอบกลับเพื่อแสดงความยินดีกับสุลต่านมุหัมมัดจากเจ้าเมืองต่างๆ อันประกอบด้วย เจ้าเมืองแห่งอียิปต์ เจ้าเมืองแห่งมักกะฮฺ และเจ้าเมืองแห่งอิหร่าน

ส่วนภาคที่สอง ผู้เขียนได้นำเสนอเนื้อหาที่แปลมาจากบันทึกประจำวันของแพทย์ผ่าตัดชาวอิตาลีท่านหนึ่งมีชื่อว่า นิโคโล บัรบะโร (Nicolo Barbaro) ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ในสมัยที่สุลต่านมุหัมมัดที่สองกำลังปิดล้อมและพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือยิ่ง ซึ่งได้จากผู้ที่เห็นเหตุการณ์และอยู่ในเหตุการณ์จริง และส่วนหนึ่งที่นับว่าเป็นข้อมูลสำคัญยิ่งของบันทึกบัรบาโรคือ รายชื่อต่างๆของผู้ที่ร่วมทำสงครามเพื่อปกป้องกรุงคอนสแตนติโนเปิล และรายชื่อของเรือ พร้อมกับกัปตันเรือ
จุดเด่นที่เพิ่มคุณค่าให้แก่หนังสือเล่มนี้ ประการหนึ่งคือ ทุกครั้งที่ผู้เขียนกล่าวถึงปีที่เกิดเหตุการณ์ ผู้เขียนมักจะระบุเสมอว่าตรงกับปีใดของคริสต์ศักราช เช่นเดียวกับรายชื่อของเมืองต่างๆ และบุคคลที่ถูกกล่าวถึงผู้เขียนจะกำกับด้วยภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ที่สำคัญ ผู้เขียนยังอธิบายคำศัพท์บางคำไว้ที่เชิงอรรถด้วย รวมถึงรายละเอียดโดยย่อของบุคคลสำคัญที่ถูกกล่าวถึง ว่ามีชื่อเต็มว่าอย่างไร เกิดเมื่อไหร่ เสียชีวิตปีใด และมีตำแหน่งอะไรเป็นต้น ซึ่งน้อยมากที่เราจะพบหนังสือประวัติศาสตร์อิสลามที่ได้รับการกำกับอย่างนี้

ส่วนจุดเด่นอีกประการหนึ่งที่ช่วยเพิ่มราศีและความขลังของหนังสือเล่มนี้คือ ผู้เขียนจะสอดแทรกคำอธิบายด้วยภาพประกอบต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ เช่นแผนผังที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และกำแพงเมืองของกรุงคอนสแตนติโนเปิล แผนผังยุทธวิธีการโจมตีและที่ตั้งของกองทหาร เป็นต้น ทำให้ผู้อ่านได้ประจักษ์ และเพิ่มความเข้าใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างดีเยี่ยม
และจุดเด่นที่ผู้วิพากษ์คิดว่าเป็นหน้าตาและมีความสำคัญที่สุดสำหรับงานเขียนประวัติศาสตร์คือการวิพากษ์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนทำได้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการวิพากษ์ด้านความน่าเชื่อถือของข้อมูลและแหล่งที่มา หรือการจรรโลงข้อมูลเข้าด้วยกันในกรณีที่พบการบันทึกที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นความขัดแย้งเกี่ยวกับจำนวนของกองทัพมุสลิมที่นำทัพโดยมัสละมะฮฺว่ามีจำนวนเท่าใด ซึ่งผู้เขียนกล่าวว่า “นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุว่ามีจำนวน 120,000 นาย ในขณะที่นักประวัติศาสตร์บางท่านระบุว่า มีจำนวนถึง 180,000 นาย” แล้วผู้เขียนกล่าวสรุปว่า “ตามที่มีบันทึกในแหล่งอ้างอิงภาษาอาหรับ (หมายถึงหนังสือประวัติศาสตร์อิสลาม) เราสามารถกล่าวได้ว่า จำนวนกองทัพมุสลิมมีมากกว่า 120,000 นาย” เป็นต้น

ในส่วนของแหล่งอ้างอิง ก็ต้องขอชมเชยผู้เขียนที่ได้ผสมผสานระหว่างแหล่งอ้างอิงที่มาจากหนังสือภาษาอาหรับที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์มุสลิมกับแหล่งอ้างอิงภาษาอื่นๆที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่มุสลิม ทั้งที่เป็นแหล่งอ้างอิงภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาสเปน ซึ่งส่วนหนึ่งได้ถูกแปลเป็นภาษาอาหรับแล้ว ทำให้เพิ่มคุณค่าและน้ำหนักความน่าเชื่อถือของข้อมูลมากยิ่งขึ้น

จุดเดียวที่ผู้วิพากษ์เห็นว่า เป็นจุดอ่อนของหนังสือเล่มนี้คือ การสร้างเชิงอรรถของผู้เขียน ซึ่งผู้เขียนเลือกทำเชิงอรรถในส่วนท้ายหลังจากที่จบภาคไปแล้ว ทำให้เกิดความยุ่งยากและรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมที่ผู้เขียนได้อธิบายไว้ที่เชิงอรรถ ซึ่งหนังสือทั่วไปมักจะเขียนเชิงอรรถไว้ด้านล่างของของแต่ละหน้าทันที ทำให้สะดวกต่อการติดตาม
ในการปิดท้ายของการวิพากษ์หนังสือเล่มนี้ ผู้วิพากษ์ขอกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าเล่มหนึ่งที่เรืองด้วยข้อมูลและแหล่งอ้างอิงที่หลากหลาย เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการพิชิตกรุงคอนสแตนติโนเปิล

วิพากษ์โดย Ibn Idris Al Yusof

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 5 ตอนจบ)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

******

● นีโออตโตมัน ออตโตมันใหม่ : ตุรกีจากรัฐกามาลิสต์ สู่การค้นหายุทธศาสตร์เชิงลึก

หลังจากหยุดข้องเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นระยะเวลายาวนาน อันเป็นผลมาจากนโยบายกามาลิสต์ ตุรกีได้ค่อยๆกลับมาเป็นนักแสดงหลักระดับภูมิภาคในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ยุคของนายกรัฐมนตรีตุรกุต โอซาล ระหว่าง 1983-1989 และมีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังจากที่พรรคยุติธรรมและพัฒนา -พรรคเอเค- เข้ามามีอำนาจ ช่วงต้นศตวรรษนี้

ในบริบทของสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากพรรค AK เข้ารับตำแหน่ง เราสามารถระบุการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น นโยบายต่างประเทศของตุรกีมีปัจจัยหลัก 4 ประการ 2 ประการเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ในทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 และอีก 2 ปัจจัย เกิดขึ้นในทศวรรษที่ 2 นี้

ปัจจัยที่ไม่มีข้อกังขาปัจจัยแรกคือ “วิสัยทัศน์นีโอออตโตมัน” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของผู้มีอำนาจตัดสินใจในด้านนโยบายต่างประเทศของตุรกีในยุคพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา
ที่มองว่า ตะวันออกกลางเป็น “ยุทธศาสตร์เชิงลึก” ตามคำพูดของอะหมัด ดาวูดอูฆโล อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ในหนังสือของเขาที่ใช้ชื่อเดียวกัน [23]

ปัจจัยที่สองคือ ความท้าทายของเคิร์ดที่ยังคงเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นเอกภาพทางภูมิศาสตร์ของตุรกี ตามหลักการก่อตั้งประเทศของกามาล อะตาเติร์ก แม้ว่าหลักการนี้จะขัดแย้งกับค่านิยมปรองดองของพรรคเอเคว่าด้วยหลักพหุเชื้อชาติของตุรกี สิ่งนี้บังคับให้นักการเมืองตุรกีปัจจุบันต้องสร้างความสมดุลระหว่างแนวโน้มและสัญชาตญาณกามาลิสต์กับนโยบายนีโอออตโตมัน [24]

2 ปัจจัยสุดท้ายตามลำดับคือ การแพร่หลายของอาหรับสปริงและการค้นพบปริมาณสำรองก๊าซจำนวนมหาศาลในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก

หลายปีที่ผ่านมา ในระหว่างการพบปะกับ mukhtars (ผู้ปกครองท้องถิ่น) แอร์โดฆานพูดถึงสนธิสัญญาโลซานที่ 2 ในปี 1923 ว่า เป็นบาดแผลลึกในความทรงจำของประวัติศาสตร์ตุรกี และลดแผนที่ทางภูมิศาสตร์ของตุรกี โดยบังคับให้ตุรกีสละสิทธิ 80% ของพื้นที่ทั้งหมด แอร์โดฆานกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“มีคนต้องการโน้มน้าวเราว่า สนธิสัญญาโลซานเป็นชัยชนะสำหรับตุรกีและชาวเติร์ก โดยที่พวกเขานำสนธิสัญญา Sèvres ปี 1920 มาขู่เข็ญเรา เพื่อให้เรายอมรับสนธิสัญญาโลซาน ปี 1923 พวกเขานำความตายมาขู่ให้เรายอมรับความพิการตลอดชีวิต”

จนถึงวันนี้ ตุรกียังไม่ลืมว่าสนธิสัญญาโลซานน์เป็นบทลงโทษในฐานะฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เฉกเช่นสนธิสัญญาแวร์ซายที่ใช้บังคับเยอรมนีหลังสงครามเดียวกัน และสัญญาดังกล่าวได้ทำลายเศรษฐกิจเยอรมันอย่างยับเยิน ตามคำเตือนของ จอร์จ กินซ์ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของอังกฤษ ในหนังสือ “ผลทางเศรษฐกิจต่อสันติภาพ”

ภายใต้แรงกดดันของความขัดแย้งเรื่องก๊าซเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก และข้อพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลระหว่างตุรกีไซปรัสและกรีซ และหลังจากข้อตกลงที่จะกำหนดเขตแดนทางทะเลระหว่างรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติลิเบียและตุรกี ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับสนธิสัญญาโลซาน และหลังจากการแทรกแซงทางทหารของตุรกีในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในซีเรีย อิรักและลิเบีย ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำถามเดียวกันกำลังถูกถาม ตุรกีกำลังดำเนินการในสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยหันหลังให้กับข้อ จำกัดที่กำหนดผ่านสนธิสัญญาโลซานหรือไม่ ?

คำถามนี้ทำให้เกิดคำถามตามมา อะไรคือราคาที่ตุรกีและตะวันออกกลางจะต้องจ่าย ถ้าตุรกีทอดทิ้งสนธิสัญญาโลซานในวันครบรอบ 100 ปี ในปี 2024 ตามที่มีการเผยแพร่กันมาเป็นเวลาหลายปีในแวดวงสื่อและชาวตุรกี ตั้งแต่แอร์โดฆานประณามสนธิสัญญาดังกล่าวอย่างเปิดเผยในที่สาธารณะ ?

ทั้งนี้ การบอกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซายของเยอรมนีนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 การละทิ้งสนธิสัญญาโลซานของตุรกี จะเป็นการโหมโรงสู่สงครามระดับภูมิภาคในตะวันออกกลางหรือไม่ ? สงครามที่อาจขยายไปถึงมหาอำนาจต่างๆ ที่กำลังค้นหาส่วนแบ่งในเค้กทรัพยากรในเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกและภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งการถอนตัวออกอย่างค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อเนื่องของสหรัฐอเมริกาได้สร้างสุญญากาศทางอำนาจ ล่อตาล่อใจให้หลายๆฝ่ายทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เข้ามาค้นหาที่ทางของตนในภูมิภาคนี้

(จบตอนที่ 5 ตอนจบ )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127
อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 4)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า


ในบริบทนี้ ไม่เพียงแต่ข้อมูลทางภูมิศาสตร์เท่านั้นที่กำหนดนโยบายด้านภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจต่อภูมิภาค
นี้ แต่ยังรวมถึงความเชื่อมั่นอย่างสูงต่อความเป็นปึกแผ่นทางธรรมชาติที่รวบรวมชาวมุสลิมทั้งหมดจากจีน อินโดนีเซีย ตะวันออกไกล ถึงแอฟริกาตะวันตกให้เป็นหนึ่งเดียว

ฝ่ายนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะให้น้ำหนักกับ “หลักการทางการเมืองของศาสนาอิสลาม” มากกว่า ความเป็น “อาหรับ” “อิหร่าน” หรือ “ตุรกี”

ดังนั้น ลัทธิล่าอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศส จึงพยายามพัฒนาวิชาความรู้ของพวกเขาเกี่ยวกับภูมิภาคภายใต้กรอบนโยบาย”ทำอิสลามให้เป็นลูกไก่ในกำมือ” ในตะวันออกกลาง แอฟริกาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั่นคือ การใช้การกดขี่และการบิดเบือนปลอมแปลงอิสลามให้เป็นศาสนาที่มีหน้าที่แคบๆ ในการรับใช้รัฐชาติหรือชาติพันธุ์เท่านั้น [17]

หลังจากการถอนตัวของอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสจากภูมิภาคตะวันออกกลาง สภาพสูญญากาศทางอำนาจสร้างความกังวลให้แก่ฝ่ายการเมืองและยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากความกลัวต่อสหภาพโซเวียต และกังวลว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคจะตกเป็นเป้าหมายสำหรับความทะเยอทะยานของรัสเซียในการแสวงหาน้ำอุ่น ตามทัศนะของอเมริกาการที่อังกฤษสันนิบาตจัดตั้งอาหรับในช่วงกลางทศวรรษที่ 1940 ยังถือว่าไม่เพียงพอ และนั่นเป็นเหตุผลว่าในปี 1950 ทำไมอเมริกันจึงบีบให้ประเทศอาหรับเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศในระดับภูมิภาคที่จงรักภักดีต่อตะวันตก ดังที่เกิดขึ้นระหว่างการจัดตั้งสนธิสัญญาแบกแดด ในปี 1955 ประกอบด้วย อิรัก อิหร่าน ตุรกี ปากีสถาน และอังกฤษ [18]

ความกังวลของอเมริกันบ่งชี้อย่างชัดเจนถึงการไม่มีตัวตนทางการเมืองที่มั่นคงในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม คำพูดนี้ใช้ไม่ได้กับอิหร่านและตุรกี เนื่องจากมีความชัดเจนของตัวตนทางการเมืองในทั้งสองประเทศ แต่เป็นคำที่ใช้ได้กับโลกอาหรับที่ถึงแม้ว่าจะเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นกับประเทศตะวันตก แต่ก็ไร้ศักดิ์ศรีและการเคารพให้เกียรติ เฉกเช่นที่ตุรกีได้รับจากตะวันตก ในฐานะสมาชิกหลักในโครงสร้างทางทหารของนาโต้ [19]

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตุรกีและโลกอาหรับในระดับการเมืองและการทหาร เราพิจารณา 2 ประเด็นคือ

ประเด็นแรก ตุรกีได้ผ่านการทดสอบการแบ่งประเทศ ตุรกีประสบความสำเร็จในประวัติศาสตร์ หลังจากที่เติร์กทำให้สนธิสัญญา Sever ล้มเหลว ซึ่งแตกต่างจากโลกอาหรับ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นหลายประเทศผ่านสนธิสัญญา Sykes-Picot

ประการที่สองคือ สิ่งที่เกิดขึ้นในสงครามอิสรภาพตุรกีซึ่ง Mustafa Kemal และกองทัพตุรกี ได้ยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายพันธมิตร อันประกอบด้วยกองทัพฝรั่งเศส อังกฤษและกรีซ ในขณะที่กองทัพของประเทศอาหรับที่สำคัญที่สุดรวมกันในการเผชิญหน้ากับกลุ่มไซออนิสม์ ในช่วงสงครามปี 1948 และระหว่างสงครามหกวัน ในปี 1967 ที่อิสราเอลสามารถเอาชนะประเทศอาหรับทั้งสาม คือ อียิปต์ ซีเรียและจอร์แดนและครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศทั้ง 3 ได้

ความอ่อนแอทางการเมืองและการทหารที่ชัดเจน เห็นได้จากการที่โครงสร้างของภูมิภาคนี้ยังคงสูญหายไปอย่างสมบูรณ์และไม่สามารถจัดตั้งสังคมที่เชื่อมโยงกันเป็นผลสำเร็จและเป็นจริงจนถึงวันนี้ [20]

● ค้นหารัฐศูนย์กลางของโลกอิสลาม ตามความเห็นของผู้เขียน “การปะทะทางอารยธรรม”

ในหนังสือดัง “The Clash of Civilizations -การปะทะทางอารยธรรม : การสร้างระเบียบสากล” ซามูเอล เฮนติงตัน นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน นำเสนอวิสัยทัศน์ของอนาคตทางภูมิศาสตร์ของโลกว่า ปัจจัยทางวัฒนธรรมและอารยธรรมจะมีบทบาทสำคัญในรูปแบบกลุ่มประเทศนานาชาติใหม่ในศตวรรษที่ 21

เฮนติงตันเห็นว่า อารยธรรมที่สำคัญ วัฒนธรรมหรือศาสนาหลัก ล้วนมีรัฐหลัก เช่น จีนในอารยธรรม “ขงจื้อ” ที่ทอดยาวจาก ไต้หวัน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และเวียดนาม

รัสเซียในอารยธรรมออร์โธดอกซ์ ตลอดไปจนเบลารุส กรีซ ยูเครน บัลแกเรีย เซอร์เบีย และไซปรัส

“ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ – คาทอลิกตะวันตก” มีอเมริกาเป็นรัฐหลัก

ในขณะที่โลกอิสลามขาดรัฐที่เป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความขัดแย้งซึ่งอย่างที่ฮันติงตันกล่าวว่าเป็นความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและเกิดความขัดแย้งอย่างหนัก ตามทัศนะของเฮนติงตัน


เฮนติงตัน นำเสนอชาติแกนนำ 6 ชาติ ที่พอมีโอกาสเป็น “ชาติผู้นำโลกมุสลิม” ได้แก่ อียิปต์ เนื่องจากจำนวนประชากร และความเป็นศูนย์กลางในตะวันออกกลางและมีอัลอัซฮัร ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลกมุสลิม อินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดเพราะมีประชากรมากที่สุด รวมถึงซาอุดีอาระเบีย ปากีสถาน และอิหร่าน และตุรกี [21]

เฮนติงตันประเมินว่า อินโดนีเซียไม่เหมาะสมที่จะเป็นประเทศผู้นำตั้งอยู่ชายแดนโลกมุสลิมและห่างไกลจากศูนย์กลางในโลกอาหรับมากเกินไป ส่วนอียิปต์ไม่พร้อมด้านเศรษฐกิจ ส่วนซาอุดิอาระเบียก็เพราะประชากรน้อยเกินไป อิหร่านก็มีความต่างทางแนวคิดทางศาสนากับประชาคมมุสลมส่วนใหญ่ ปากีสถานมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติและการเมืองไม่มั่นคง

สำหรับตุรกี เฮนติงตันประเมินว่าไม่พร้อมเช่นกัน ด้วยเหตุผลที่ว่า ระบอบเซคคิวลาร์ของอะตาเติร์กมีความเข้มงวดมาก ไม่เปิดโอกาสให้ตุรกีแสดงบทบาทนำโลกมุสลิมได้ ตามข้อเท็จจริงในปี 1996 ที่เขียนหนังสือนี้

ถึงกระนั้น เมื่อเอ่ยถึงตุรกี เทียบกับชาติต่างๆที่กล่าวมา เฮนติงตันกล่าวว่า “ตุรกีเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์ ประชากร ความเจริญทางเศรษฐกิจ ความเป็นปึกแผ่นทางสังคม จารีตทางทหาร และศักยภาพ ที่พร้อมจะเป็นแกนนำโลกมุสลิม” [ 22 ]

เฮนติงตันตั้งคำถามว่า “อะไรจะเกิดขึ้น หากตุรกีหวนมานิยามตนเองใหม่ สักวันหนึ่งตุรกีเป็นไปได้ที่ตุรกีพร้อมที่จะทิ้งบทบาทที่ไร้อนาคตและอัปยศอดสู จากการพยายามร้องขอเข้าเป็นสมาชิกสมาคมตะวันตก และเริ่มบทบาทในประวัติศาสตร์ของตน ที่มีอิทธิพลมากกว่า มีศักดิ์ศรีมากกว่า ในฐานะแกนนำอิสลามและแกนนำในการต่อต้านตะวันตก

เฮนติงตันวางเงื่อนไขหลัก 2 ประการ ที่จะทำให้ตุรกีทำเช่นนั้นได้ ประการแรกคือการยกเลิกมรดกของอะตาเติร์กอย่างเบ็ดเสร็จดังที่รัสเซียทิ้งมรดกของเลนิน และประการที่สองคือการหาผู้นำระดับเดียวกับอะตาเติร์ก ที่รวมศาสนาและความชอบธรรมทางการเมือง เพื่อสร้างตุรกีเป็นประเทศศูนย์กลางของโลกมุสลิม

(จบตอนที่ 4 )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 3)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

ในบริบทนี้ สาธารณรัฐตุรกีจึงเกิดขึ้นในดินแดนที่เหลืออยู่ของจักรวรรดิออตโตมันหลังจากพ่ายแพ้ในสงคราม ในฐานะรัฐชาติที่มีมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่ ภายหลังจากการแลกเปลี่ยนประชากรและบังคับอพยพชนกลุ่มน้อยที่ไม่ใช่มุสลิมออกไป อัตลักษณ์ภายนอกของรัฐตุรกีในฐานะรัฐอิสลามนั้นแตกต่างอย่างมากกับอัตลักษณ์ภายในใหม่ ที่มุสตาฟา กามาล อะตาเติร์กต้องการให้ละทิ้งอัตลักษณ์ของอิสลาม ละทิ้งระบอบคอลีฟะฮ์ และบทบาทของศาสนาในชีวิตสาธารณะ ตลอดจนละทิ้งความขัดแย้งกับกองกำลังของระบอบอาณานิคม ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันในปี 1924 และเนรเทศสุลต่านออตโตมันและครอบครัวออกจากจากดินแดนตุรกี ทำให้เกิดสถานการณ์ระหว่างประเทศใหม่ในตะวันออกกลางและสูญญากาศสำหรับความถูกต้องชอบธรรม อันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีทางเลือกบนซากปรักหักพังของออตโตมัน ดังที่ Ahmet Davutoglu ได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขา [14]

ในบริบทนี้ มีการกล่าวถึง “ความเป็นไปไม่ได้” ในหลายโอกาส เริ่มต้นด้วยการกล่าวของ George Qurm เกี่ยวกับ “โครงสร้างที่เป็นไปไม่ได้” ทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลอดจนคำกล่าวของวาอิล หัลลาค ศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาที่ American Columbia University, เกี่ยวกับ “รัฐที่เป็นไปไม่ได้” อันหมายความว่า รัฐอิสลามที่มีอำนาจในภูมิภาคนี้ในประวัติศาสตร์ ได้กลายเป็นแนวคิดทางการเมืองที่เป็นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นผลมาจากความย้อนแย้งกับธรรมชาติของความทันสมัยทางการเมือง ทางกฎหมายและทางสังคมในปัจจุบัน จนเกิดวิกฤติทางศีลธรรม ที่ไม่สอดคล้องกับความคาดหวัง ด้วยเหตุนี้มีข้อมูลมากมายยืนยันถึงความเป็นไม่ได้ในระดับต่างๆ มีการกล่าวถึงสถานการณ์ที่เป็นไปไม่ได้ทุกครั้งเมื่อมีการนำเสนอแนวทางที่สอดคล้องกับหลักความเชื่อของสังคม เพื่อที่จะเปลี่ยนความเป็นจริงทางการเมืองที่เป็นเรื่องยากและสลับซับซ้อน ที่เกิดขึ้นเนื่องจากสนธิสัญญาโลซานในภูมิภาคนี้ ผ่านการขับเคลื่อนไปสู่การเป็น “เวสต์ฟาเลีย” ในตะวันออกกลาง

● จุดอ่อนของโลก : สูญญากาศอำนาจในตะวันออกกลาง

หลังจากลงนามในสนธิสัญญาโลซานที่ 2 แล้ว ตุรกีใหม่ได้ใช้ยุทธศาสตร์การป้องกันโดยอาศัยแนวคิดเรื่องความมั่นคงชายแดนสำหรับรัฐชาติที่มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่แคบๆ และมีความพยายามที่จะเป็นส่วนหนึ่งของค่ายตะวันตกที่เจริญแล้ว ไม่ใช่ผู้ที่จะมาแทนที่หรือมาคัดค้าน ในบริบทนี้สาธารณรัฐตุรกีได้เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ ภายใต้ร่มเงาด้านความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ที่ต้องการรับมือภัยคุกคามจากสหภาพโซเวียต ดังนั้นตุรกีจึงได้ผันตัวเองออกจากพื้นที่สำคัญดั้งเดิม และสูญเสียอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ในกลุ่มประชาคมมุสลิมที่กว้างไกล จากนั้นก็สูญเสียทางการเงินและภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจของตุรกีก็เพิ่มขึ้นเมื่อช่วงทศวรรษที่ 7 เนื่องจากความเหินห่างและถูกกีดกันจากการอาศัยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกับเพื่อนบ้านที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอาหรับ [15]

การแยกระหว่างตุรกีและโลกอาหรับ ได้ก่อให้เกิดภาวะวิกฤติในการกำหนดเอกลักษณ์ทางการเมืองของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ของโลกนับสิบล้านคน

หลังจากการแยกตัวระหว่างโลกตุรกี-ที่ทอดยาวมาจากตุรกิสถานในจีน ผ่านทางเหนือของอนุทวีปอินเดียในภาคตะวันออกตลอดเอเชียกลางจนถึงอนาโตเลีย บอลข่าน และคอเคซัส- กับโลกอาหรับ ทำให้การจำกัดความภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีพรมแดนชัดเจน และการอธิยายอัตลักษณ์ทางมานุษยวิทยา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและการเมือง ทำได้ยาก เพราะมีหมอกที่หนาจัด เว้นแต่จะต้องกลับคืนสู่การอฑิบายคำจำกัดความของคำว่า “โลกอิสลาม”จึงจะสามารถเข้าใจได้ถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นในภูมิภาค ที่เอกสารของนักล่าเมืองขึ้นชาวยุโรปเรียกว่า”ตะวันออกใกล้” หรือ”ตะวันออกกลาง” ตามคำนิยามทางภูมิรัฐศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาในยุคของการบริหารของบุชผู้ลูก

การแยกจากกันระหว่างโลกตุรกีและโลกอาหรับนี้ ได้สร้างวิกฤตในการอธิบายเอกลักษณ์ทางการเมืองของผู้คนหลายสิบล้านคนในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่ของโลก ที่การยอมรับแนวคิดของรัฐชาติจะกีดกันพวกเขามิให้แสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ถูกกดทับในอดีตโดยลัทธิล่าอาณานิคม และระบอบเผด็จการที่มีอำนาจมากที่สุดในภูมิภาคนี้ในปัจจุบัน

ศาสนาอิสลามที่นี่เป็นกุญแจสำคัญในการทำความเข้าใจความเป็นจริงของภูมิภาคนี้ของโลก ซึ่งศาสนาในภูมิภาคนี้มีสมรรถภาพสูงยิ่งในโลกในการก่อตัวของสังคมวิทยาทางการเมือง ในลักษณะที่ศาสนามีความโดดเด่นในด้านการมีอิทธิพลเหนือองค์ประกอบอื่น ๆ

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมภูมิศาสตร์และอารยธรรมของภูมิภาคนี้ในอดีต จึงมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับศาสนา นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสผู้ยิ่งใหญ่ Fernan Broadwell ในหนังสือ “กฎแห่งอารยธรรม” ยอมรับคำว่า “อิสลาม” และ “โลกอิสลาม” ตลอดจนการถือว่าศาสนาเป็นพื้นฐานในการอ้างอิงถึงเอกลักษณ์ของสังคมในภูมิภาคนี้ ซึ่งแตกต่างจากการแบ่งภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์ที่เขาเคยใช้ในการอธิบายสังคมอื่น ๆ [16]

( จบตอน 3 )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 2)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

เดวิด ฟรอมกิ้น David Fromkin กล่าวว่า ยุโรปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ตระหนักถึงการมีอยู่และความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ในไม่ช้าผู้นำพันธมิตรก็ได้เริ่มวางแผนที่จะรวมประเทศในตะวันออกกลางเข้ากับประเทศของตน และได้ตระหนักว่าอำนาจของศาสนาอิสลามในภูมิภาคนั้นเป็นลักษณะสำคัญของการเมืองในตะวันออกกลาง พวกเขาจึงสร้างคู่แข่งด้านความภักดี (เชื้อชาติ) เพื่อมาทดแทนสถานภาพดังกล่าวของศาสนาอิสลาม

อย่างไรก็ตามจาก เดวิด ฟรอมกิ้น เห็นว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนาอิสลามของนักการเมืองยุโรปเหล่านี้มีน้อยอย่างยิ่ง เนื่องจากลักษณะเฉพาะของภูมิภาค – หลังจากล่มสลายของออตโตมันอันเป็นแหล่งที่มาของความชอบธรรมทางศาสนาในประวัติศาสตร์ – คือ ไม่มีความรู้สึกถึงความชอบธรรม ไม่มีความศรัทธาหนึ่งเดียวที่นักการเมืองทุกคนมีส่วนร่วม และไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจนของเกมส์ทางการเมือง [8]

เหตุผลหลักที่ศาสนาอิสลามมีจุดเด่นในบริบทนี้ ในฐานะปัจจัยสำคัญร่วมกันของอัตลักษณ์ผู้คนและภูมิภาค ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญตะวันตกในกิจการของโลกอิสลาม ได้แก่ อิทธิพลของศาสนาอิสลามต่ออำนาจรัฐและปัจเจกบุคคล และความสัมพันธ์ชนิดพิเศษในศาสนาอิสลาม ระหว่างศาสนากับการเมือง ความศรัทธาและอำนาจ ชนิดที่ไม่มีในศาสนาอื่นนอกศาสนาอิสลาม ดังที่เบอร์นาร์ด เลวิส นักบูรพาคดีคนดัง ได้กล่าวไว้ ว่าชาวมุสลิมยังคงมีความตระหนักอย่างลึกซึ้งและยั่งยืน เกี่ยวกับแนวคิดความเป็นประชาคมมุสลิม (ที่เหนือกว่าเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์) แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จในมิติทางการเมือง ดังที่ Claude Kahn นักบูรพาคดีชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ [9]


ในบริบทนี้ อังเดร มิเกล André Miquel หนึ่งในบุคคลที่โดดเด่นที่สุดในการศึกษาอาหรับและอิสลาม นักประวัติศาสตร์และนักบูรพาคดีชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่แบ่งแยกไม่ได้ และไม่สามารถแยกความเป็นคำสอนทางศาสนา ออกจากการใช้ชีวิตในสังคม เนื่องจากในสายตาของชาวมุสลิมไม่มีการแบ่งแยกระหว่างชีวิตประจำวันกับจิตวิญญาณ มิเคลเชื่อว่าปัจจัยทางวัสดุและประวัติศาสตร์ ดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อศาสนาอิสลามน้อยกว่าและตื้นกว่า เมื่อเทียบกับสังคมอื่น และศาสนาอิสลามในระดับวัฒนธรรม เป็นป้อมปราการที่มีอานุภาพอย่างมากในการเผชิญกับการคุกคามจากวัฒนธรรมต่างประเทศ และจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐานของสังคม ภายใต้รัฐระบบของสังคม สถานที่และเวลาที่แตกต่าง ศาสนาอิสลามได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถที่ยอดเยี่ยมในการชี้ชัดถึงหลักการที่มีความเสถียร อันทำให้สามารถกำหนดอัตลักษณ์ให้เป็นที่รู้จักได้เสมอ [10]

● สนธิสัญญาโลซานน์นำไปสู่การสร้างวิกฤตการณ์เรื้อรังในความชอบธรรมของรัฐใหม่ การสังหารหมู่ และการบังคับให้ย้ายถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาคริสต์

สนธิสัญญาโลซานก็เหมือนสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียในศตวรรษที่ 17 ที่จัดทำขึ้นเพื่อกำหนดภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ในตะวันออกกลาง ตลอดจนกำหนดขอบเขตของความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับอาณาจักรในตุรกีและในโลกอาหรับ ที่ได้รับอิทธิพลจากรัฐคอลีฟะฮ์ที่สิ้นลมหายใจสุดท้ายในตะวันออกกลาง ยิ่งไปกว่านั้นรัฐคอลีฟะฮ์ยังเป็นผู้เล่นหลักของความขัดแย้งในตะวันออกกลางปัจจุบัน และเป็นเป้าหมายของการต่อต้านในแต่ละปีเป็นเวลาหลายทศวรรษ ในถนนของกรุงไคโร ชนบทของอเลปโป ดามัสกัส ตรอกซอกซอยเบรุต และริมฝั่งแม่น้ำไทกริส ยูเฟรติสและแม่น้ำจอร์แดน ที่สายตาของตะวันตกไม่ได้คาดคิดไปไกลถึงอนาคตที่เต็มไปด้วยปัญหาเพื่อวางมาตรการแก้ไข [11]

ตรงกันข้ามกับรัฐชาติฆราวาส ที่ตั้งขึ้นตามสนธิสัญญา “เวสต์ฟาเลียน” ซึ่งไม่ได้มีความหลากหลายของอัตลักษณ์ของพลเมือง โดยที่สนธิสัญญาดังกล่าวได้จัดระเบียบอำนาจปกครอง และความสัมพันธ์ทางสังคมในยุโรป เสนอทางออกสุดท้ายที่เป็นไปได้จริงในการรับมือกับปัญหาสงครามศาสนาและนิกาย ระหว่างนิกายโปรเตสแตนต์และคาทอลิกที่คุกคามอนาคตของสังคมคริสเตียน

สนธิสัญญาโลซานซึ่งถูกบังคับใช้ในดินแดนของจักรวรรดิออตโตมันอันมีหลากหลายเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ – เป็นตัวแทนของโครงสร้างทางการเมืองที่มีเสถียรภาพมาก เมื่อเทียบกับสังคมยุโรปที่ร้าวฉานเพราะสงครามทางศาสนา – อันจะสร้างวิกฤตเรื้อรังในด้านความชอบธรรม การสังหารหมู่ การบังคับย้ายถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อยชาวคริสเตียนในการแลกเปลี่ยนประชากรจำนวนมาก ทำให้เกิดเป็นความวิตกกังวลโดยรวมทั่วไป ตลอดจนการต่อสู้อย่างถาวรเพื่อหาอัตลักษณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มีความหลากหลายในทางเชื้อชาติและศาสนา ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ คนๆหนึ่งจะรู้สึกว่าอยู่ในดินแดนของตัวเอง ในเวลาเกียวกันเขาเป็นทั้งยิวและอาหรับ เพียงเพราะเขาพูดภาษาอาหรับ หรือเป็นทั้งคริสเตียนและออตโตมัน ในเวลาเดียวกัน เพราะเขาทั้งพูดภาษาอาหรับ กรีกหรือตุรกี [12]

● ผลลัพธ์หลักของข้อตกลงโลซานน์คือการแบ่งจักรวรรดิออตโตมันออกเป็น 2 ส่วนหลัก ตามภาษาหลัก : ภูมิภาคตุรกีทางเหนือและภูมิภาคอาหรับทางใต้

ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตุรกี ที่ขบวนการชาตินิยมที่แข็งแกร่งได้ก่อตัวขึ้น และได้หันมาร่วมเชิดชูมุสตาฟาเคมาล อาตาเติร์ก

ภูมิภาคอาหรับที่อ่อนแอ ถูกแบ่งออกเป็นรัฐและเขตปกครองตนเอง ตามที่อังกฤษ ฝรั่งเศสและตัวแทนท้องถิ่นของพวกเขาเสนอ

ด้วยวิธีนี้ อาณาจักรออตโตมันที่มีอิทธิพลควบคุมโครงสร้างทางการเมืองของตะวันออกกลางเกือบสี่ร้อยปี จึงได้หายไปจากแผนที่โลกดังที่ แมรี่ วิลสัน นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันกล่าวไว้ [13]

( จบตอน 2 )

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ https://midan.aljazeera.net/…/2020/2/20/مئة-عام-من-التيه-ال…

100 ปี สนธิสัญญาโลซาน (ตอนที่ 1)

● เฉลียง ประวัติศาสตร์ : สนธิสัญญาโลซาน ข้อตกลงที่ก่อให้เกิดประเทศในตะวันออกกลางนั้นใกล้จะล่มสลายหรือไม่ ?

○ โดย อัลจาซีร่า

วิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นโดยไม่หยุดยั้ง ความขัดแย้งทางความเชื่อและทางชาติพันธุ์ สงครามตัวแทนที่บีบบังคับให้คนย้ายถิ่นฐานเป็นจำนวนมากมายมหาศาล และการพลัดถิ่นของผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยหลายสิบล้านคน พื้นที่บ่อเกิดการแบ่งแยกดินแดนและการก่อจลาจลในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ขนาดใหญ่เท่ากับประเทศเช่นอังกฤษ ที่เกิดขึ้นในซีเรียตะวันออกเฉียงเหนือและอิรักตะวันตก

รถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์ระเบิด การระเบิดพลีชีพ ที่ทำให้คนตายหลักสิบและหลักร้อยทุก ๆ สัปดาห์ และบางครั้งทุกวัน

การเดินขบวนประท้วง การวางเพลิงก่อความไม่สงบและการเผายางที่มีควันดำเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมท้องฟ้าของกรุงแบกแดดและเบรุต

นี่คือความเป็นจริงของภูมิภาคนี้ หลังจาก 100 ปีของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งตามมาด้วยการเจรจาและการตั้งถิ่นฐาน ที่นำไปสู่สนธิสัญญาโลซานน์ ครั้งที่ 2 ในปี 1923 ซึ่งรวมถึงข้อตกลง เซค-ปีโกต์ (Sykes-Picot) ระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษ ในการกำหนดพรมแดนทางการเมืองของตะวันออกกลางสมัยใหม่ที่เรารู้ในวันนี้

วันนี้ใกล้ครบรอบ 100 ปี ของสนธิสัญญาโลซาน ครั้งที่ 2 ซึ่งได้ทำลายจักรวรรดิออตโตมัน ในวันนี้องค์ประกอบของภูมิภาคตะวันออกกลางได้พังพินาศ ตะวันออกกลางได้กลับคืนสู่สภาพคล้ายกับช่วงสนธิสัญญาโลซานน์ ในขณะที่ตุรกีได้กลับคืนสู่ภูมิภาคต่างๆ ที่ต้องถอนตัวออกไปภายหลังการลงนามในสนธิสัญญาโลซาน พร้อมด้วยกองกำลังทหารในสนามรบ ผ่านทางการปฏิบัติการทางทหารหรือข้อตกลงว่าด้วยการใช้กำลังทหาร ดังที่กระทำในลิเบียเมื่อเร็ว ๆ นี้ตามข้อตกลงกับรัฐบาลสมานฉันท์แห่งชาติในตริโปลี ที่นำโดยฟายิซ สัรรอจ

และก่อนหน้านั้นในซีเรียผ่านปฏิบัติการ “โล่ห์ยูเฟรติส” ในปี 2560 และ “กิ่งมะกอก” ในปี 2561 และ “ต้นน้ำสันติภาพ” ในปี 2562 ตามด้วยปฏิบัติการทางทหารในอิดลิบปัจจุบัน ตลอดจนปฏิบัติการก่อนหน้านี้ในปี 2015 ในพื้นที่บะชีเกาะฮ์ทางเหนือของโมซุล ในอิรัก

ความขัดแย้ง สงครามกลางเมืองและระดับภูมิภาค การลุกฮือและการปฏิวัติ อันนำการแทรกแซงต่างๆ ในระดับประเทศและระดับภูมิภาค สะท้อนถึงความเปราะบางและความตึงเครียดของโครงสร้างในตะวันออกกลาง และแสดงให้เห็นถึงสูญญากาศเรื้อรังในเรื่องอำนาจ และการไม่มีตัวตนทางการเมืองที่แข็งแกร่งที่สามารถปกป้องโครงสร้างจากการหลุดกร่อน

บทความนี้จะพิจารณาภูมิหลังของสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นรากฐานของปัญหาส่วนใหญ่ของตะวันออกกลางร่วมสมัย บางทีเราอาจเข้าใจภูมิหลังเกี่ยวกับการแทรกแซงทางทหารของตุรกีในภูมิภาคนี้อีกครั้งในประเทศอาหรับหลายๆ ประเทศ หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันเมื่อ 95 ปีก่อน

● จาก สนธิสัญญา“ Sever” ถึงสนธิสัญญาโลซาน

การสร้างรัฐชาติในตะวันออกกลางเกิดขึ้นหลังจาก มุศตอฟา กามาลอะตาเติร์ก ปฏิเสธสนธิสัญญา Sefer ซึ่งจัดทำโดยประเทศที่ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และบังคับใช้กับตุรกี หลังจากชนเชื้อชาติที่ไม่ใช่ตุรกีส่วนใหญ่ เช่น ชาวเคิร์ดได้รับเอกราช

อะตาเติร์กได้ต่อสู้อย่างดุเดือดกับกรีซและประเทศพันธมิตร จบลงด้วยการลงนามในข้อตกลงใหม่ที่ โรงแรม “Beaurivage Place” ในโลซาน ในภาคใต้ของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 1923 ระหว่างตุรกี อังกฤษและฝรั่งเศส แยกออกจากสนธิสัญญาโลซานครั้งแรก หรือข้อตกลง Oshi” ระหว่างอิตาลีและจักรวรรดิออตโตมัน เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1912

สนธิสัญญาโลซานน์ 2 เป็นใบมรณภาพอย่างเป็นทางการของจักรวรรดิออตโตมันในระดับกฎหมายระหว่างประเทศ และใบแจ้งเกิดของสาธารณรัฐตุรกีร่วมสมัย ในปี พ. ศ. 2466 ก่อนที่จะมีการประกาศยกเลิกการปกครองของคอลีฟะฮ์ในปี 2467

สนธิสัญญาโลซาน มี 143 ข้อ เกี่ยวข้องกับสถานภาพใหม่ของตุรกีในกฎหมายระหว่างประเทศ และจัดการความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรที่ชนะในสงคราม ภูมิรัฐศาสตร์ของตุรกีสมัยใหม่ พรมแดนกับกรีซและบัลแกเรีย การสละสิทธิ์ของตุรกีในเรื่องสิทธิทางการเมือง สิทธิทางการเงิน และสิทธิในอธิปไตยในซีเรีย อิรัก อียิปต์ ซูดาน ลิเบียและไซปรัส นอกเหนือจากการจัดระบบควบคุมการใช้ช่องแคบตุรกีในยามสงครามและสันติภาพ

● สนธิสัญญาโลซานมีบทบาททางประวัติศาสตร์แบบเดียวกับบทบาทของสนธิสัญญา “เวสต์ฟาเลีย” ในปี 1648 [1]

หนึ่งในผลทางกฎหมายและการเมืองที่โดดเด่นที่สุดของสนธิสัญญาโลซานคือการเกิดขึ้นของแนวคิดของรัฐชาติ บนพื้นฐานของแนวคิด “รัฐ-ประชาชน”

สนธิสัญญาโลซานน์ได้กำหนดพรมแดนภูมิรัฐศาสตร์สำหรับทั่วทั้งตะวันออกกลางในช่วงทศวรรษหลังการลงนามในสนธิสัญญานั้น [1]

ในบริบทนี้ตุรกีถือเป็นประเทศเดียวในตะวันออกกลางที่ได้ประโยชน์จากสนธิสัญญาดังกล่าว หลังจากรอดพ้นจากชะตากรรมการแบ่งแยกเขตแดนของกองกำลังที่กระทำโดยมหาอำนาจผ่านสนธิสัญญา Sevres ซึ่งตุรกียังคงเป็นประเทศเอกราชที่แท้จริงเพียงประเทศเดียวในหมู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “รัฐอิสระ” ในขณะที่ความเป็นจริงแล้วยังคงเป็นเมืองขึ้น [2]

สนธิสัญญาโลซานน์กำหนดชะตากรรมของผู้อยู่อาศัยในภูมิภาคนี้ ตามหลัก 2 สองประการ คือหลักกำหนดเขตแดนทางการเมืองของชาติ และหลักการของสัญชาติซึ่งเชื่อมโยงกับ “อัตลักษณ์” ของรัฐใหม่ที่สนธิสัญญาสร้างขึ้น หรือเป็นผลมาจากสัญญานี้

ในบริบทนี้ เลบานอนและซีเรียจึงอยู่ภายใต้อาณัติของฝรั่งเศส ปาเลสไตน์และภาคตะวันออกของจอร์แดน ภายใต้อาณัติของอังกฤษ และราชอาณาจักรฮาชิไมซ์แห่งแคว้นหิญาซ ซึ่งปฏิเสธที่จะลงนามในสนธิสัญญาถูกโค่นไป หลังจากอังกฤษอนุญาตให้อับดุลอาซิซ อัลซาอุด ยึดครองดินแดนหิญาซ [3]

● โครงสร้างที่เป็นไปไม่ได้ของตะวันออกกลาง : โลกอาหรับหรืออิสลาม?

ในหนังสือสำคัญเกี่ยวกับการก่อตัวของแผนที่การเมืองของตะวันออกกลางสมัยใหม่ “Peace Beyond Peace” นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชาวอเมริกัน David Fromkin กล่าวว่า การยึดครองของอังกฤษทุกหนทุกแห่งในโลกได้ทำลายโครงสร้างทางการเมืองของชนพื้นเมืองและแทนที่ด้วยโครงสร้างใหม่ ตามรูปแบบของยุโรป ตามกฎหมายของยุโรป ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์หรือทะเลทรายแอฟริกา ซึ่งไม่ได้แบ่งตามเผ่าชนอีกต่อไป แต่จะแบ่งออกเป็นประเทศต่างๆ ตามลักษณะการปกครองในยุโรป อย่างไรก็ตามDavid Fromkin หยุดอยู่ที่ส่วนหนึ่งของโลก เพราะสงสัยว่าการยึดครองของยุโรปทำให้เกิดผลที่ลึกและยั่งยืนเหมือนในที่อื่น ๆ หรือไม่? [4]

Fromkin กล่าวว่า ตะวันออกกลางได้เป็นดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้เพราะประเทศในยุโรปได้ก่อร่างขึ้นใหม่ หลังจากการปกครองของชาวออตโตมันในตะวันออกกลางที่พูดภาษาอาหรับ และทำลายโครงสร้างเดิมอย่างไม่อาจแก้ไขได้อีก และยุโรป หรือสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส ยังได้กำหนดพรมแดนและแต่งตั้งผู้ปกครอง แบบที่พบได้ทั่วโลกในยุคอาณานิคม [5] ตามทัศนะของ Fromkin ในระหว่างช่วงเวลาระหว่าง 2457-2465 ได้มีการกำหนดข้อตกลงหลังสงคราม เพื่อยุติความขัดแย้งในตะวันออกกลางในหมู่ผู้มีอำนาจในยุโรป แต่มันกลับส่งผลให้เกิดปัญหาตะวันออกกลาง ในหัวใจของตะวันออกกลางเอง

สิ่งที่แตกต่างของ “ปัญหาตะวันออก” ตามสิ่งที่ชาวยุโรปเรียกกันในช่วงก่อนการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน หรือปัญหาตะวันออกกลางที่เรารู้ในทุกวันนี้คือ มันแตกต่างจากความแตกต่างแบบดั้งเดิมที่เราพบในสถานที่อื่น ๆ ของโลก ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ปกครองและเขตแดน

แต่ ณ ที่นี้ ยังมีข้อเรียกร้องที่ยกมาจนถึงทุกวันนี้ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิดำรงอยู่ของประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเชื้อชาติยังคงแสวงหาสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตนเอง ดังนั้นตะวันออกกลางจึงยังคงเป็นภูมิภาคที่ร้อนแรงที่สุดในโลกเนื่องจากสงครามบ่อยครั้งเพื่อการดำรงอยู่และสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตนเอง . [6]

เบื้องหลังปัญหาทั้งหมดที่ตะวันออกกลางร่วมสมัยกำลังประสบอยู่ เช่น ปัญหาอนาคตทางการเมืองของชาวเคิร์ด หรือชะตากรรมทางการเมืองของชาวปาเลสไตน์ยังคงเป็นคำถามที่ยังคงแสวงหาคำตอบ : ระบบการเมืองสมัยใหม่ในปัจจุบันนี้ที่ยุโรปโยกย้ายไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง จากประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์หลังสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย จะสามารถดำรงอยู่ในตะวันออกกลางที่แตกต่างจากยุโรป รวมถึงลักษณะของการแบ่งดินแดนออกเป็นรัฐฆราวาสตามสัญชาติของคนในชาติ ซึ่งตรงกันข้ามของฐานรากต่างๆของจักรวรรดิออตโตมันที่กว้างไกลกินเนื้อที่ 3 ทวีป ที่ตั้งอยู่บนแนวคิดชุมชนพหุเชื้อชาติ [7]

อ่านตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3001
อ่านตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3073
อ่านตอนที่ 3 https://www.theustaz.com/?p=3116
อ่านตอนที่ 4 https://www.theustaz.com/?p=3124
อ่านตอนที่ 5 https://www.theustaz.com/?p=3127

อ่านต้นฉบับ
https://midan.aljazeera.net/intellect/history/2020/2/20/%d9%85%d8%a6%d8%a9-%d8%b9%d8%a7%d9%85-%d9%85%d9%86-%d8%a7%d9%84%d8%aa%d9%8a%d9%87-%d8%a7%d9%84%d8%b3%d9%8a%d8%a7%d8%b3%d9%8a?fbclid=iwar2cfyinwmstoyva1o2rl1t5qbblamx41afvlcrxhmomourfiasw09mzldo

สหรัฐอเมริกา_อารยธรรมแห่งอาชญากรโลก (ตอนที่ 7)

“สวนสัตว์มนุษย์” (Human Zoo) มีชื่อเรียกอย่างสวยหรูว่า “นิทรรศการชาติพันธุ์” ไม่มีหลักฐานแน่ชัดนักว่าเริ่มต้นแห่งใดเป็นที่แรก แต่ก็เริ่มมีขึ้นในประเทศแถบตะวันตกนับตั้งแต่ยุคการค้นพบทวีปอเมริกาของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เป็นต้นมา (ราว ค.ศ.1500s) อันเป็นจุดเริ่มต้นของการล่องเรือสำรวจและล่าอาณานิคม ก่อนจะกลายเป็นที่นิยมจัดแสดง “มนุษย์” กันอย่างครึกครื้น ในช่วงปี ค.ศ.1870s-1930s ส่วนใหญ่พบในประเทศแถบตะวันตกทั้งหลาย อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ รวมทั้งอเมริกา โดยนำชนพื้นเมืองทั้งผิวเหลืองและผิวสี จากพื้นที่หรือประเทศที่ตัวเองรุกรานยึดครองไว้ได้ ทั้งชาวแอฟริกา บรรดานิโกร ชนพื้นเมืองเอเชีย อาทิ ชาวเกาะชวา ชาวเกาะนิวกินี ฯลฯ ตลอดจนชนพื้นเมืองของอเมริกา มาแสดงโชว์ 

อ้างอิง : https://hilight.kapook.com/view/124501