


เล่าเรื่อง “ปาเลสไตน์” ผ่านแผนที่ (1)
ตามที่ได้สัญญาเอาไว้ครับ ผมตั้งใจจะเขียนเล่าเรื่องราวปัญหาปาเลสไตน์โดยอธิบายผ่านแผนที่ ซึ่งสำนักข่าวอัลญะซีเราะฮ์ได้รวบรวมเอาไว้ในบทความที่ใช้ชื่อหัวเรื่องว่า Palestine and Israel: Mapping an Annexation

บทความที่ว่านี้พยายามฉายภาพพัฒนาการของดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลค่อย ๆ ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจนดินแดนปาเลสไตน์แทบจะไม่มีเหลือเป็นชิ้นเป็นอัน ล่าสุดคือความพยายามที่จะผนวกดินแดนบางส่วนของเวสต์แบงก์ โดยเฉพาะในหุบเขาจอร์แดน อันเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งนอกเหนือจากกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งอิสราเอลได้ผนวกและประกาศให้เป็นเมืองหลวงของประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
วันนี้ผมจึงขอเริ่มต้นอธิบายแผนที่อันแรกของบทความดังกล่าว (ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 27 แผนที่) อันเป็นแผนที่ปาเลสไตน์ก่อนปี 1917
ขอเล่าย้อนประวัติศาสตร์สั้น ๆ อย่างนี้ครับ เมื่อราว ๆ ค.ศ. 1915 มีการติดต่อกันทางจดหมายระหว่าง เซอร์ เฮนรี่ เมคมาฮอน (Sir Henry McMahon) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอียิปต์ กับ ชารีฟ ฮุสเซน (Sharif Hussein) ผู้ครองแคว้นฮิญาชและเป็นตัวแทนของชาวอาหรับทั้งผอง
เมคมาฮอนพยายามเกลี้ยกล่อมให้ชาวอาหรับสนับสนุนฝ่ายมหาอำนาจพันธมิตร สู้รบกับฝ่ายมหาอำนาจอักษะในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยสัญญาจะให้เอกราชแก่ชาวอาหรับในทุก ๆ ดินแดนหลังจากสงครามยุติลง รวมถึงปาเลสไตน์ด้วย ด้วยเหตุนี้ อังกฤษจึงได้ลงนามในข้อตกลงแองโกล-อาหรับในฤดูใบไม้ร่วงปี 1915
คำสัญญาดังกล่าวทำให้ ชารีฟ ฮุสเซน เข้าร่วมรบกับกองทัพฝ่ายพันธมิตร ขณะเดียวกัน ชาวอาหรับจากซีเรีย เลบานอน และปาเลสไตน์ ก็เข้าร่วมลุกฮือขึ้นก่อกบฎต่อต้านอาณาจักรออตโตมานที่ประกาศเข้าร่วมสงครามในนามฝ่ายอักษะ
ชาวอาหรับยินดีต้อนรับกองทัพอังกฤษที่เข้ามาในปาเลสไตน์ เปรียบทหารอังกฤษเหล่านั้นเป็นเสมือนผู้มาปลดปล่อยให้พวกเขามีอิสรภาพหลังจากต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของออตโตมานเติร์กมานานเกือบ 500 ปี
แต่แล้วชาวอาหรับก็ถูกหักหลัง เพราะไม่เพียงแต่อังกฤษจะไม่รักษาคำมั่นสัญญาเท่านั้น แต่ยังไปสนับสนุนองค์กรยิวไซออนิสต์ให้จัดตั้งรัฐยิวขึ้นในปาเลสไตน์ผ่านคำแถลงการณ์บัลโฟร์ (Balfour Declaration) ซึ่งมีชื่อเรียกตามนามของรัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษสมัยนั้น คือ เซอร์ อาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ (Sir Arthur James Balfour)
คำแถลงการณ์บัลโฟร์นี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอังกฤษในเดือนตุลาคม 1917 มาถึงวันนี้ก็เป็นเวลา 103 ปีแล้วครับ
ใจความของคำแถลงการณ์ตอนสำคัญมีความว่า
“รัฐบาลแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพิจารณาด้วยความเห็นชอบ ในการตั้งถิ่นฐานสำหรับพวกยิวขึ้นแห่งหนึ่งในประเทศปาเลสไตน์ และจะใช้ความพยายามจนสุดความสามารถที่จะอำนวยความสะดวกต่อการบรรลุถึงวัตถุประสงค์ข้อนี้ เป็นที่เข้าใจอย่างแจ้งชัดว่า จะไม่มีการปฏิบัติการใด ๆ อันเป็นผลร้ายต่อสิทธิพลเรือนและการนับถือศาสนา ของหมู่ชนที่มิใช่ชาวยิวในประเทศปาเลสไตน์ หรือสิทธิและสถานภาพทางการเมืองที่พวกยิวได้รับในประเทศอื่น”
จากคำประกาศดังกล่าวนี้อังกฤษได้ออกมาตรการต่าง ๆ ขึ้นมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ชาวยิวได้อพยพเข้ามาในแผ่นดินปาเลสไตน์แบบไม่จำกัดจำนวน
ในเวลานั้น ประชากรของประเทศปาเลสไตน์ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 700,000 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 หรือประมาณ 600,000 คนเป็นชาวอาหรับมุสลิม ส่วนชาวยิวซึ่งเป็นคนท้องถิ่นเดิมมีประชากรอยู่แต่ร้อยละ 6 เท่านั้น (ดูตามแผนที่และข้อมูลข้างใต้บทความนี้)
แต่หลังจากปี 1917 โครงสร้างประชากรในดินแดนปาเลสไตน์ก็เปลี่ยนไปอย่างมากครับ ดูจากแผนที่ข้างใต้นี้ปาเลสไตน์ยังอาศัยอยู่กันเต็มพื้นที่เห็นเป็นสีเขียวจนแทบไม่เห็นประชากรชาวยิวท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยกันอยู่ในพื้นที่สีฟ้า
แล้วค่อยมาว่ากันต่อก็แล้วกันครับ
เขียนโดย Srawoot Aree

ความเป็นมาของอายาโซเฟีย

ความเป็นมาของอายาโซเฟีย : จากมหาวิหารที่สำคัญที่สุดในคริสต์ออโตดอกซ์ของจักรวรรดิโรมันผู้ยึดครอง เป็นมัสยิดอิสลาม สู่พิพิธภัณฑ์ และเป็นมัสยิดอีกครั้งในวันนี้

ศาลปกครองสูงสุดของตุรกี หรือที่เรียกว่า “สภาแห่งรัฐ” ประกาศการฟื้นฟูอายาโซเฟีย หรือฮาเกียโซเฟีย Hagia Sophia จากพิพิธภัณฑ์ไปยังมัสยิด อันเป็นการกลับคำสั่ง 86 ปี ของคณะรัฐมนตรีภายใต้ประธานาธิบดีมุสตาฟา กามาล อาตาเติร์ก
มหาวิหารอายาโซเฟียถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.360 เพื่อเป็นศาสนสถานมหาวิหารที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในโลกของคริสตจักรออร์โธดอกซ์มาเกือบพันปี ตามคำสั่งของจักรพรรดิจัสติเนียนแห่งไบเซนไทน์โรมันตะวันออก เงาทะมึนแห่งอาณาจักรโรมันผู้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามายึดครองดินแดนแถบอาระเบีย และแอฟริกาเหนือในยุคนั้น
ในยุคไบเซนไตน์ นอกจากมหาวิหารอายาโซเฟียจะเป็นศาสนสถานสำคัญแล้ว ยังเป็นสถานประกอบรัฐพิธี เช่น การสถาปนากษัตริย์องค์ใหม่ เป็นต้น
การล่มสลายของกรุงคอนสแตนติโนเปิล แห่งไบเซนไตน์โรมันตะวันออก และการเข้าสู่อิสลามได้รับการบอกล่วงหน้าโดยท่านศาสดามูฮัมหมัด (สันติภาพจงมีแด่ท่าน ) กองทัพมุสลิมได้พยายามอย่างต่อเนื่องในทำตามคำพยากรณ์นี้โดยเริ่มจากยุคคอลีฟะฮ์สายสกุลอุมัยยะฮ์ Umayyad Dynasty ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 7
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อันวุ่นวาย อายาโซเฟียเคยถูกดัดแปลงเป็นวิหารโรมันคาทอลิคมาเกือบ 60 ปีในช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 4 ในปี ค.ศ. 1204
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิ้ลถูกควบคุมโดยสุลต่านมุฮัมมัดที่สอง หรือมุฮัมมัด ฟาติห์ แห่งออตโตมัน ในปี ค.ศ. 1453 มหาวิหารฮาเกียโซเฟียถูกดัดแปลงให้เป็นสุเหร่าใหญ่ในเมืองหลวงใหม่ของอาณาจักรออตโตมัน ที่เปลี่ยนชื่อเมืองจาก “กรุงคอนสแตนติโนเปิ้ล” สู่ “กรุงอิสตันบูล”
ผลพวงของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
หลังการล่มสลายของออตโตมัน ในปี ค.ศ.1923 กามาล อะตาเติร์ก ได้สถาปนาสาธารณรัฐตุรกี เป็นรัฐเซคคิวลาร์ และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความปรารถนาดีต่อโลกของชาวคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์ กามาล อะตาเติร์กได้เปลี่ยนสถานะมัสยิดอายาโซเฟียแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ ในปี ค.ศ.1934
อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตุรกีจะเป็นรัฐเซคคิวลาร์ แต่ก็ยังเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่มีการรณรงค์มาหลายสิบปีเพื่อฟื้นฟูอาคารโบราณแห่งนี้ให้เป็นมัสยิด

คำร้องเพื่อใช้อายาโซเฟียในการละหมาด ในปี 2016 ได้ถูกศาลปฏิเสธ แต่ปรากฏว่าในรอบนี้ ศาลสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประธานาธิบดีแอร์โดฆาน ผู้ซึ่งเมื่อปีที่แล้วได้กล่าวว่า “การเปลี่ยนมัสยิดเป็นพิพิธภัณฑ์เป็นความผิดใหญ่หลวง”
เขียนโดย Ghazali Benmad

ระเบียบตะวันออกกลางในยุคโควิด-19 (จบ)
ปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในตะวันออกกลางหลังอาหรับสปริงคือสงครามกลางเมืองอันทำให้หลายประเทศในภูมิภาคตกอยู่ในสภาพรัฐอ่อนแอ ทั้งกรณีสงครามในซีเรีย ลิเบีย เยเมน และอิรัก
อีกทั้งในแต่ละสงครามกลางเมืองยังมีตัวแสดงจากทั้งภายในภูมิภาคและมหาอำนาจโลกเข้ามาแทรกแซงแสดงบทบาทอยู่อย่างต่อเนื่อง
พร้อม ๆ ไปกับสภาพที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงดังกล่าวก็ทำให้กลุ่มติดอาวุธประเภทต่าง ๆ ถือกำเนิดเกิดขึ้นมากมาย ทั้งกลุ่มติดอาวุธข้ามพรมแดนที่ยึดโยงกันทางชาติพันธุ์และสำนักคิดทางศาสนา กลุ่มกบฏต่อต้านรัฐ กลุ่มกองกำลังชนเผ่า องค์กรก่อการร้าย ทหารรับจ้าง และนักรบต่างชาติ
กลุ่มเหล่านี้ได้ท้าทายอำนาจรัฐในฐานะที่เป็นผู้ผูกขาดการใช้ความรุนแรงและผูกขาดการควบคุมพื้นที่ดินแดนของประเทศแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ในระยะหลังกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ก็สามารถใช้กำลังความรุนแรงและสามารถสถาปนาหน่วยการปกครองในดินแดนบางส่วนของประเทศได้เช่นกัน
วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ได้เกิดขึ้นซ้อนทับกับสภาพสงครามกลางเมืองและสงครามตัวแทนที่เกิดขึ้นในหลายประเทศของตะวันออกกลางดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ ประเทศไหนก็ตามที่สมรรถนะของรัฐไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาโรคระบาดได้ (เนื่องเพราะต้องเผชิญกับภาวะสงครามกลางเมืองมายาวนาน) หน้าที่ดังกล่าวก็จะถูกช่วงชิงไปโดยกลุ่มกองกำลังติดอาวุธประเภทต่าง ๆ ในการเข้าไปให้บริการสาธารณะแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในดินแดนที่อำนาจรัฐไม่สามารถเข้าไปถึง
ขณะเดียวกัน รัฐอ่อนแอที่ตกอยู่ในสภาพสงครามกลางเมืองเหล่านี้ก็เป็นดินแดนที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุดหากเกิดการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้เนื่องจากทั้ง ซีเรีย ลิเบีย เยเมน และอิรัก ล้วนเป็นประเทศที่โรงพยาบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสาธารณสุขตกเป็นเป้าการถล่มโจมตีจากกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ รวมถึงการโจมตีโดยมหาอำนาจภายนอกด้วย
สภาพการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับการแข่งขันอย่างเข้มข้นระหว่างตัวแสดงฝ่ายต่าง ๆ ทั้งชนชั้นนำทางการเมือง บรรดากลุ่มติดอาวุธ และมหาอำนาจภายนอก (ที่เข้ามาทำสงครามตัวแทนในพื้นที่ขัดแย้ง) เพื่อช่วงชิงอิทธิพลอำนาจและทรัพยากรในดินแดนประเทศต่าง ๆ
ด้วยเหตุนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ทุกกลุ่มฝ่ายในตะวันออกกลางหันมาร่วมมือสร้างสันติภาพระหว่างกัน ในทางตรงข้าม โควิด-19 อาจเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้ความขัดแย้งทวีความรุนแรงเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
เพราะนอกจากตัวแสดงฝ่ายต่าง ๆ จะช่วงชิงแก่งแย่งอิทธิพลอำนาจเหนือดินแดนและทรัพยากรระหว่างกันแล้ว เรายังอาจเห็นการแข่งขันกันเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขในยามที่ผู้คนจำนวนมากกำลังล้มป่วยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย
ทั้งนี้ การเข้าถึงและครอบครองอุปกรณ์ทางการแพทย์และการมีระบบสาธารณสุขที่ดีนับเป็นการเรียกคะแนนความนิยมและความเชื่อมั่นจากประชาชน อีกทั้งยังสามารถสร้างชื่อเสียงอันจะเป็นการเสริมภาพลักษณ์และสถาปนาความชอบธรรมให้กับฝ่ายตนได้
การที่รัฐบาลของรัฐอ่อนแอต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายรอบด้านและติดพันกับการทำศึกสงครามมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จึงทำให้การรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ลักษณะเช่นนี้เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวแสดงที่ต่ำกว่ารัฐหรือกลุ่มติดอาวุธได้แสดงบทบาทฉายภาพให้เห็นว่าตนเองสามารถทำงานได้ดีกว่ารัฐ
หากตัวแสดงเหล่านี้ทำได้จริงเรื่องนี้ก็จะกระทบกระเทือนอำนาจความชอบธรรมของรัฐเป็นอย่างยิ่ง แต่หากไม่สามารถจะรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างที่อ้าง กลุ่มเหล่านี้ก็จะขาดความชอบธรรม และสูญเสียอิทธิพลให้แก่ฝ่ายรัฐบาลในท้ายที่สุด
ด้วยเหตุนี้จึงมีรายงานออกมาระบุว่า ในบางประเทศของตะวันออกกลางมีกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มที่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานการแพทย์ในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมโรคระบาด ยกตัวอย่างเช่นในซีเรียนั้น กลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มมีการวางร่างแถลงการณ์ร่วมกันว่าจะไม่ขัดขวางหรือทำร้ายเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ปฏิบัติการณ์ยับยั้งโรคระบาดและจะไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อพลเรือนหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน
กลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มที่จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในบางพื้นที่ยึดครองของซีเรียยังออกแถลงการณ์สร้างความตระหนักเกี่ยวกับโรคระบาดให้กับประชาชนในพื้นที่ของตัวเอง และในทางตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรียก็มีการประกาศลดความแออัดของเรือนจำเพื่อลดความเสี่ยงของการระบาด เป็นต้น
กล่าวอย่างรวบรัดคือในสภาพที่เกิดสงครามกลางเมืองในหลายประเทศของตะวันออกกลางนั้น วิกฤตโควิด-19 อาจกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้รัฐและกลุ่มติดอาวุธเพิ่มการแข่งขันเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปกครองดินแดนต่าง ๆ ส่วนใครจะอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งความหนักหนาสาหัสของวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นในแต่ละดินแดน มาตรการในการรับมือ การเข้าถึงเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ตลอดรวมถึงประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุข
แต่ปัจจัยที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือแรงสนับสนุนจากตัวแสดงที่เป็นมหาอำนาจภายนอกที่เข้ามาทำสงครามตัวแทน (proxy war) ในพื้นที่ความขัดแย้งที่เป็นสงครามกลางเมืองในตะวันออกกลาง
แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่า ตัวแสดงที่เป็นมหาอำนาจโลกและตัวแสดงในภูมิภาค ซึ่งเข้ามาแทรกแซงแสดงบทบาทในสงครามกลางเมือง กำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและระบบสาธารณสุขภายในประเทศของตนเองอันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ขณะเดียวกัน โรคระบาดที่เกิดขึ้นยังส่งผลต่อตลาดพลังงานโลก ทำให้ราคาน้ำมันดำดิ่งลงไปเนื่องจากความต้องการในการใช้น้ำมันของตลาดโลกลดลงไปอย่างมาก ด้วยเหตุนี้มหาอำนาจฝ่ายต่าง ๆ ที่เข้าไปทำสงครามตัวแทนในตะวันออกกลางจึงต้องคำนึงถึงความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศตนเองเป็นหลักเสียก่อน และคงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศตนหลังวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไป
ด้วยเหตุนี้ การที่แต่ละตัวแสดงที่เป็นมหาอำนาจภายนอกจะดำเนินการสนับสนุนตัวแทนของตนในสมรภูมิสงครามกลางเมืองเหมือนอย่างเดิมคงเป็นไปได้ยาก
อันที่จริงก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้ตัดสินใจถอนกำลังทหารออกไปบางส่วนจากซีเรียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สหภาพยุโรปเองก็ไม่มีแผนการเชิงยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมในการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
ขณะเดียวกันแม้รัสเซียกับตุรกีดูจะยังแสดงบทบาทเด่นชัดในสมรภูมิความขัดแย้งในตะวันออกกลาง แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดในเรื่องสภาพเศรษฐกิจถดถอยที่จะตามมาหลังจากนี้ ก็คงส่งผลให้ทั้ง 2 ประเทศต้องลดการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางมากขึ้น
ส่วนอิหร่านและซาอุดิอาระเบียนั้นก็ถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิหร่านซึ่งเผชิญความยากลำบากไม่เฉพาะแต่โควิด-19 เท่านั้น แต่ยังถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และไม่สามารถขายน้ำมันได้เหมือนเดิม สภาพอย่างนี้อาจทำให้อิหร่านไม่สามารถให้การหนุนหลังกลุ่มฝ่ายตัวแทนของตนในประเทศต่าง ๆ ได้เหมือนในอดีต
ยิ่งกว่านั้น ประชาชนของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าไปแทรกแซงแสดงบทบาทในสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางคงจะออกมาเรียกร้องให้ผู้นำประเทศของตนหันมาให้ความใส่ใจกิจการภายในประเทศของตน
บางประเทศเหล่านี้กำลังจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่จะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ก็คงต้องกลับมานั่งทบทวนนโยบายการต่างประเทศของตนเสียใหม่ โดยเฉพาะนโยบายการใช้ปฏิบัติการทางทหารเข้าแทรกแซงสงครามกลางเมืองในประเทศอื่น ซึ่งอาจไม่ได้สร้างประโยชน์คุ้มค่าเหมือนในอดีตอีกต่อไปท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ความไร้เสถียรภาพของราคาน้ำมัน และปัญหาโรคระบาดข้ามชาติที่ยังไม่ทราบว่าจะจบลงเมื่อใด
หากสถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ก็อาจทำให้วิกฤตสงครามตัวแทนในตะวันออกกลางค่อย ๆ ลดความร้อนแรงลงไป อันจะส่งผลถึงสถานการณ์สงครามกลางเมืองที่จะเปลี่ยนไปในแต่ละประเทศ
เราก็ได้แต่หวังว่ามันจะเป็นไปในทิศทางนั้น
โดย Srawut Aree

ระเบียบตะวันออกกลางในยุคโควิด-19 (ตอน 2)
ความเดิมเมื่อตอนที่แล้วคือ โควิด-19 ไม่ได้เป็นตัวการทำให้ระเบียบภูมิภาคของตะวันออกกลางเปลี่ยนไปหรอกครับ แต่มันเป็นตัวเร่งให้ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเกิดเร็วขึ้น หรือมีความเข้มข้นมากขึ้น
บทความตอนที่แล้ว ผมพยายามอธิบายว่าบริบทการเปลี่ยนแปลงของตะวันออกกลางประการหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเชื่อมโยงกับการเมืองระดับโลก คือความเสื่อมคล้ายเสื่อมถอยของสหรัฐฯในฐานะมหาอำนาจหนึ่งเดียว
ขณะเดียวกันรัสเซียก็เข้าไปยึดกุมหัวหาดสร้างฐานที่มั่นของตนเองในตะวันออกกลาง อันเท่ากับเป็นการท้าทายบทบาทของสหรัฐฯโดยตรง แต่ที่สำคัญคือประเทศจีนกลับเป็นฝ่ายที่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจอย่างถ้วนทั่วในภูมิภาค
ทั้งหมดนี้คือภูมิทัศน์การเมืองใหม่ในตะวันออกกลาง เป็นสภาพการณ์ที่สหรัฐฯไม่ได้เป็นมหาอำนาจครอบงำแต่ฝ่ายเดียวเหมือนในยุคหลังสงครามเย็นอีกต่อไป แต่สหรัฐฯเป็นเพียงหนึ่งในบรรดามหาอำนาจโลกที่ดำรงอยู่ในตะวันออกกลางเท่านั้น เรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนขึ้นหลังเกิดวิกฤติโควิด-19
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญอันเป็นกระแสที่เกิดขึ้นมานานก่อนหน้านี้ในตะวันออกกลางคือการแข่งขันแย่งชิงการเป็นอำนาจนำระหว่างตัวแสดงต่าง ๆ ในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นซาอุดิอาระเบีย อิหร่าน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ พอเกิดโควิด-19 เราก็เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น
หากถามว่าอนุภูมิภาคไหนในตะวันออกกลางที่มีความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 มากที่สุด คำตอบที่น่าจะตรงกับความเป็นจริงมากที่สุดคือกลุ่มประเทศร่ำรวยน้ำมันในคาบสมุทรอาหรับ ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มประเทศเหล่านี้มีศักยภาพสูงด้านระบบสาธารณสุขและมีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคระบาดมากกว่าดินแดนส่วนอื่น ๆ ของตะวันออกกลาง
ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ในการป้องกันและควบคุมโรคเนื่องจากต้องจัดพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้คนจำนวนกว่า 2 ล้านคนในแต่ละปี นอกจากนั้น ซาอุดิอาระเบียยังได้จัดตั้งหน่วยงานควบคุมโรคระบาดแห่งชาติขึ้นหลังจากที่ประเทศต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสเมอส์ (MERS) ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2012
ด้วยเหตุนี้ ซาอุดิอาระเบียจึงมีความพร้อมและค่อนข้างตื่นตัวต่อการรับมือโรคระบาดโควิด-19 ก่อนใคร รวมถึงการเร่งขยายพื้นที่การตรวจเชื้อที่ขยายครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศอย่างรวดเร็ว
ขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ทั้งซาอุดิอาระเบีย และประเทศร่ำรวยน้ำมันอื่น ๆ ก็มีความพร้อมในเรื่องช่องทางการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพราะล้วนเป็นประเทศที่มีการจัดสรรโครงการสวัสดิการให้กับประชาชนเป็นอย่างดีมาตลอดต่อเนื่อง
อีกทั้งกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังถือว่าเรื่องสาธารณสุขเป็นปัญหาทางความมั่นคงของประเทศ และได้ประกาศให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยไม่ได้จำกัดสิทธิไว้ให้เฉพาะกลุ่มประชาชนที่เป็นพลเมืองของตนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ที่พักอาศัยอยู่ในประเทศและพวกแรงงานต่างชาติอีกด้วย
ซาอุดิอาระเบียค่อนข้างได้เปรียบในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส สามารถแสดงความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดข้ามชาติอันเท่ากับเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของตนเองในการเป็นผู้นำของภูมิภาค
แตกต่างจากอิหร่านที่ต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจและความมั่นคงอันเกิดจากมาตรการกดดันและคว่ำบาตจากสหรัฐฯ จนไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก
ขณะเดียวกัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งถือเป็นชาติพันธมิตรใกล้ชิดกับซาอุดิอาระเบีย ได้ใช้โอกาสนี้ดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อสร้างภาวะความเป็นผู้นำแห่งภูมิภาค โดยการปรับเปลี่ยนท่าทีที่เคยมีกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีเรียและอิหร่าน กล่าวคือมกุฎราชกุมารแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ติดต่อฟื้นความสัมพันธ์กับระบอบบาซาร์ อัล-อัสซาดแห่งซีเรีย พร้อมทั้งยืนยันที่จะให้การสนับสนุนซีเรียในการต่อสู่กับโรคระบาดโควิด-19
ยิ่งกว่านั้น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังได้ส่งเครื่องมือทางการแพทย์ไปช่วยอิหร่านในช่วงที่ประเทศกำลังเผชิญกับโรคระบาดอย่างหนักหนาสาหัสอีกด้วย
ส่วนตุรกีนั้นแม้จะเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในตะวันออกกลาง (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2020) แต่กลับเป็นประเทศที่พยายามส่งความช่วยเหลือไปให้ประเทศต่าง ๆ มากที่สุดเช่นกัน โดยทางรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีได้ออกมาเปิดเผยว่า มีประเทศต่าง ๆ ในโลกแสดงความจำนงขอความช่วยเหลือจากตุรกีกว่า 135 ประเทศ และตุรกีได้ส่งความช่วยเหลือพร้อมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปให้ประเทศต่าง ๆ แล้วจำนวน 81 ประเทศ
ลักษณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าแต่ละชาติใหญ่ ๆ ในตะวันออกกลางกำลังใช้วิกฤตจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการเสริมภาพลักษณ์และสร้างบารมีของแต่ละฝ่ายอันจะหนุนเสริมให้ตนเองอยู่ในสถานะอำนาจนำในภูมิภาคตะวันออกกลาง
อย่างไรก็ตาม หากมองระยะใกล้ ต้องยอมรับว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยน้ำมันในคาบสมุทรอาหรับมีความได้เปรียบเหนือกลุ่มประเทศอื่น ทั้งนี้ก็เนื่องจากมีความพร้อมและมีทรัพยากรมากกว่าในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
แต่ในระยะยาวก็คงต้องดูกันต่อไป แล้วค่อยมาว่ากันใหม่ครับ
แผนที่ข้างใต้นี้แสดงถึงแผ่นดินเกิดของศาสดาสำคัญ ๆ ท่านต่าง ๆ ในอดีตครับ




เขียนโดย Srawoot Aree
กลับไปอ่าน | ตอนที่ 1 https://www.theustaz.com/?p=3965

ระเบียบตะวันออกกลางในยุคโควิด-19 (ตอน 1)

โรคระบาดข้ามชาติ (Pandemic) หรือโรคระบาดใหญ่ที่แพร่กระจายจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งได้เคยเกิดขึ้นมานานแล้วในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ แต่ด้วยสภาวะกระแสครอบโลก (Globalization) ทำให้ปัจจุบันการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ครอบคลุมอาณาบริเวณต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค และส่งผลกระทบอย่างลุ่มลึกรอบด้าน
นับตั้งแต่ปลายปี 2019 โลกต้องเผชิญกับการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ซึ่งสร้างความโกลาหลวุ่นวายหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวิถีชีวิตของผู้คน นำมาสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือ การเปลี่ยนแปลงของโลกหลังยุคโควิด-19 (Post-Covid-19 World)
หลายคนเชื่อว่าโลกหลังจากนี้จะเปลี่ยนแปลงไปชนิดที่ไม่มีอะไรจะกลับมาเหมือนเดิมได้อีก แต่สำหรับ ริชาร์ด ฮาอ์ซ (Richard Haas) เขาเชื่อว่า “โรคระบาดข้ามชาติจะเป็นตัวเร่งความเร็วของประวัติศาสตร์มากกว่าที่จะทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนรูปโฉมประวัติศาสตร์” หมายความว่า โควิด-19 จะไม่ได้เปลี่ยนทิศทางความเป็นไปของประวัติศาสตร์มากเท่ากับการเร่งเวลาประวัติศาสตร์
เขาอธิบายต่อไปว่าโลกหลังการระบาดใหญ่คงไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างอย่างสุดขั้วไปจากสิ่งที่เคยดำรงอยู่ก่อนหน้า เพียงแต่ว่าทุกวิกฤตใหญ่ที่เกิดขึ้นในโลกมักเป็นตัวกระตุ่นให้สถานการณ์ที่ดำรงอยู่ก่อนหน้าปรากฏเด่นชัดขึ้นมากกว่าที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
หากเชื่อตามคำอธิบายของ ฮาอ์ซ เราก็อาจพอสรุปได้ในระดับหนึ่งว่า โควิด-19 น่าจะเป็นตัวเร่งให้กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นมาได้ระยะหนึ่งแล้วในตะวันออกกลางปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้นหรือมีความเข้มข้นมากขึ้น มากกว่าที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
กระแสการเปลี่ยนแปลงในตะวันออกกลางซึ่งได้ดำเนินมาระยะหนึ่งแล้วมีอยู่มากมายหลายประการด้วยกันครับ แต่ในงานเขียนนี้ผมขออนุญาตนำเสนอแค่ 3 ประเด็นหลัก ๆ
สำหรับวันนี้ขอเริ่มจากประเด็นแรกก่อน เพราะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางมาได้พักใหญ่ ๆ แล้ว นั่นคือประเด็นว่าด้วยเรื่องอิทธิพลของสหรัฐฯที่เสื่อมคลายลงและการผงาดขึ้นของจีนและรัสเซีย
ย้อนกลับไปในยุคหลังสงครามเย็นใหม่ ๆ (ช่วงระหว่างปี 1990 ถึง 2000) ตอนนั้นสหรัฐฯได้ขยายฐานอำนาจของตนเข้าไปในตะวันออกกลาง มีการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรในภูมิภาคผ่านการทำสัญญาความร่วมมือทางการทหาร นำไปสู่การสร้างฐานทัพอเมริกาในหลายประเทศ อีกทั้งสหรัฐฯยังได้ฉันทามติจากประชาคมโลกดำเนินการโดดเดี่ยวชาติที่เป็นศัตรูกับตน จนสุดท้ายได้นำกองทัพเข้าไปรุกรานอิรัก (2003) และอัฟกานิสถาน (2001)
ทว่าความพยายามของสหรัฐฯในการสร้างอำนาจนำครอบงำตะวันออกกลางกลับเสื่อมคลายถดถอยลงตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาอันเกิดจากปัจจัยหลายอย่างผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของสหรัฐฯในสงครามอิรักปี 2003 วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 หรือแม้แต่การขึ้นมาดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 คนหลัง ทั้ง บารัค โอบามา และโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายคล้ายกัน (แม้จะแตกต่างกันในเชิงวิธีการ) ที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภูมิภาคตะวันออกกลางมากนัก จนกลายเป็นที่มาของการแสดงบทบาทกล้า ๆ กลัว ๆ ยังผลให้อิทธิพลของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางลดน้อยถอยลงในระยะหลัง
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ผู้นำสหรัฐฯต้องเว้นระยะห่างจากกิจการระหว่างประเทศ เพราะต้องหันมาสนใจกิจการภายใน ทั้งเรื่องระบบสาธารณสุข ปัญหาเศรษฐกิจ และการแสดงความรับผิดชอบตามกรอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้น สหรัฐฯยังล้มเหลวที่จะเป็นผู้นำในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ประกอบกับการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ตัดสินใจถอนการสนับสนุนองค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization ก็ยิ่งทำให้อิทธิพลที่เป็น ‘อำนาจอ่อน’ ของสหรัฐฯ (ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่ในภูมิภาค) ถูกกร่อนเซาะทำลายลงไปอีก
ถึงอย่างนั้นก็ตาม คงเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าสุดท้ายแล้วสหรัฐฯจะถอนตัวออกไปจากตะวันออกกลางในเร็ววัน อันที่จริงแล้วอำนาจของสหรัฐฯก็คงยังดำรงอยู่ในภูมิภาค ฐานทัพของสหรัฐฯในอ่าวเปอร์เซียก็คงยังไม่หายไปไหน ขณะที่การค้าขายอาวุธของสหรัฐฯให้ลูกค้าในตะวันออกกลางก็คงยังดำเนินต่อไป และการต่อต้านหยุดยั้งอิหร่านก็คงยังเป็นภารกิจสำคัญลำดับต้น ๆ ของสหรัฐฯอยู่
เพียงแต่ว่าบทบาทและสถานะของสหรัฐฯในฐานะที่เป็นมหาอำนาจครอบงำแต่ฝ่ายเดียวในภูมิภาคอย่างที่เคยเป็นมาในยุคหลังสงครามเย็นคงจะปรับเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม และใครก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนต่อไปหลังการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนนี้ (2020) ก็คงจะให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรไปในกิจการภายในที่มีความสำคัญมากกว่าเรื่องกิจการต่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างแน่นอน ดังที่นาย Ben Rhodes ผู้ช่วยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติในยุคประธานาธิบดีโอบามา ได้กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ‘วันนี้โลกยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ได้จบสิ้นแล้ว’
คำถามคือแล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ? หนึ่งในฉากทัศน์ทีจะเกิดขึ้นคือความต่อเนื่องของแนวโน้มสถานการณ์ที่เคยดำรงอยู่ในช่วงทศวรรษก่อนหน้า นั่นคือการผงาดขึ้นมาของคู่แข่งสหรัฐฯในตะวันออกกลาง (ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรือจีน) ท่ามกลางภาวะถดถอยเสื่อมคลายของสหรัฐฯในภูมิภาค รัสเซียประสบความสำเร็จในการนำทัพเข้ามาแทรกแซงในสงครามกลางเมืองซีเรีย อีกทั้งยังหนุนหลังกองกำลังต่อต้านรัฐบาลลิเบีย และสรรค์สร้างสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากขึ้นกับอิหร่าน อียิปต์ อิสราเอล และกลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซียที่ร่ำรวยน้ำมันทั้งหลาย
ขณะที่ประเทศจีนเองก็ได้ขยายบทบาทของตนในเชิงเศรษฐกิจและการทูตเข้าไปในตะวันออกกลาง เรียกประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคว่าเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของตน พร้อมทั้งดึงประเทศเหล่านี้เข้ามาร่วมในอภิมหาโครงการที่เรียกว่า ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative) เริ่มจากการเข้าไปดำเนินโครงการนำร่องในปากีสถานและจิบูติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ต้องยอมรับครับว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราได้เห็นการพึ่งพากันมากขึ้นในแทบทุกด้านระหว่างจีนกลับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งการเสริมสร้างสัมพันธ์ทางการเมือง การเพิ่มขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าขายอาวุธ และการสานสัมพันธ์ทางสังคม-วัฒนธรรม โดยเฉพาะการจัดตั้งสถาบันการศึกษาของจีนในภูมิภาคตะวันออกกลาง (เช่น โรงเรียนสอนภาษา มหาวิทยาลัยของจีน และสถาบันขงจื๊อ เป็นต้น)
หลักฐานที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายที่แนบแน่นขึ้นอาจดูได้จากตอนที่จีนเริ่มเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ใหม่ ๆ ในตอนนั้นปรากฏว่ากลุ่มประเทศตะวันออกกลางเกือบทั้งหมด รวมทั้งซาอุดิอาระเบีย ต่างยื้อแย่งแข่งกันเสนอความช่วยเหลือและแสดงมิตรไมตรีกับจีนอย่างเห็นได้ชัด
หลังจากนั้นไม่นานนัก จีนก็ได้วางสถานะของตนเป็นโมเดลของการบริหารจัดการและการรับมือโควิด-19 ที่ประสบความสำเร็จ แม้หลายฝ่ายจะออกมาตั้งข้อสงสัยเรื่องการปิดบังข้อมูลของจีน แต่นั่นก็ไม่ได้สำคัญเท่ากับว่าจีนได้สร้างเรื่องเล่าอธิบายประสบการณ์ความสำเร็จในการรับมือโคโรนาไวรัสด้วยมาตรการเด็ดขาดภายใต้คำสั่งของผู้นำอย่างสี จิ้นผิง
นอกจากนั้นสื่อจีนมักไม่ลืมที่จะเปรียบเทียบมาตรการจัดการโรคระบาดระหว่างจีนกับชาติยุโรปและสหรัฐฯ โดยซ่อนนัยยะทำนองว่าวิกฤตคราวนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าระบบการปกครองแบบตะวันตกนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับจีน เพราะอำนาจนิยมแบบจีนนี่แหละที่มีความพร้อมมากกว่าในการจัดการกับวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้น
ประสิทธิภาพของจีนในการรับมือกับโควิด-19 ครั้งนี้ย่อมเป็นแรงจูงใจให้หลายรัฐในตะวันออกกลาง (ซึ่งมีลักษณะเป็นรัฐอำนาจนิยมอยู่แล้ว) ใช้อ้างเป็นโมเดลสำคัญที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางจะเดินตาม ไม่ใช่แนวทางประชาธิปไตยแบบยุโรปและสหรัฐฯที่ล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดข้ามชาติ จนแทบที่จะเอาตัวเองไม่รอด
เขียนโดย Srawoot Aree
อ่านต่อ | ตอนที่ 2 https://www.theustaz.com/?p=3982

ลัทธิบาบี และบาไฮ
ลัทธิบาบี และบาไฮ (อัล-บาบิยะฮฺ และอัล-บะฮาอิยะฮฺ)
นิยาม
อัล-บาบิยะฮฺ และอัล-บะฮาอิยะฮฺ คือลัทธิที่แยกตัวจากสำนักคิดชีอะฮฺสายอัช-ชัยคียะฮฺ เมื่อปี ฮ.ศ.1260 / ค.ศ.1844 ภายใต้การอุปถัมภ์ค้ำชูของจักรวรรดินิยมโซเวียต องค์กรยิวสากลและจักรวรรดินิยมอังกฤษ โดยมีเป้าหมายหลักคือทำลายหลักการศรัทธาของอิสลาม สร้างความแตกแยกในหมู่มุสลิม และเพื่อให้ชาวมุสลิมหันเหจากปัญหาหลัก
การก่อกำเนิดแนวคิดนี้
ลัทธินี้ก่อตั้งโดย อัล-มิรซา อะลีย์ มุหัมหมัด ริฎอ อัช-ชีรอซีย์ (มีชีวิตระหว่างปี ฮ.ศ.1235-1266/ ค.ศ.1819-1850) มีฉายานามว่า อัล-บาบ (ชาวบาไฮในประเทศไทยเรียกว่า พระบ็อบ)
เมื่อตอนอายุ 6 ขวบอัล-มิรซา อะลีย์ มุหัมหมัด ริฎอ อัช-ชีรอซีย์ ได้ศึกษาความรู้ครั้งแรกจากนักเผยแพร่นิกายชีอะฮฺท่านหนึ่ง ต่อมาเขาได้หยุดเรียนและหันไปประกอบอาชีพค้าขาย
เมื่ออายุ 17 เขาได้กลับมาศึกษาหาความรู้อีกครั้งโดยสนใจในตำราเกี่ยวกับวิชาตะเศาวุฟ และการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ ตามแนวทางของพวกอัล-บาฏินียะฮฺที่นิยมการทรมานร่างกาย
ในปี ฮ.ศ. 1259 เขาได้เดินทางไปยังกรุงแบกแดดและได้เริ่มศึกษาหาความรู้จากผู้นำชีอะฮฺ สายอัช-ชัยคียะฮฺ ซึ่งมีนามว่า กาซิม อัร-ร็อชตีย์ เขาได้ศึกษาแนวคิดและทัศนะต่างๆ ของลัทธินี้อย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งเขาได้รู้จักกับสายลับชาวรัสเซียคนหนึ่ง ชื่อว่า คินาซด์ ฆุรกีย์ เขาคนนี้ได้อ้างตนว่าเป็นมุสลิมโดยใช้ชื่อว่า อีซา อัน-นักรอนีย์ เขาผู้นี้ได้เริ่มสร้างกระแสว่า อัล-มิรซา มุหัมหมัด อัช-ชีรอซีย์ คือ อิหม่ามอัล-มะฮฺดีย์ ที่โลกรอคอย และเป็นอัล-บาบ (ประตูสู่การรู้จักสัจธรรมเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า) ซึ่งจะปรากฎตัวหลังการเสียชีวิตของอัร-ร็อชตีย์
ทั้ง นี้เนื่องจากเขามองว่าอัช-ชีรอซีย์เป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะอุปโลกน์เพื่อ ให้แผนการของพวกเขาบรรลุผลในการสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวมุสลิม
ในคืนวันพฤหัสบดีที่ 5 ญุมาดัลเอาวัล ฮ.ศ.1260 ตรงกับ 23 มีนาคม 1844 เขาได้ประกาศตนว่าเขาคือ อัล-บาบ ตามความเชื่อของชีอะฮฺ สายอัช-ชัยคียะฮฺ หลังการเสียชีวิตของอัร-ร็อชตีย์ เมื่อปี ฮ.ศ. 1259 เขาอ้างตนว่าเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ เสมือนกับท่านนบีมูซา นบีอีซา และนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม (แท้จริงแล้วบรรดาศาสนทูตของพระองค์มีเกียรติอันสูงส่งไม่สามารถนำมาเปรียบกับเขาได้เลย)
จากคำกล่าวอ้างดังกล่าวทำให้ศิษย์ของอัร-ร็อชตีย์หลงเชื่อ และผู้คนทั่วไปพากันหลงเชื่อด้วย เขาจึงเลือกบุคคลจำนวน 18 คน เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่แนวคิดของเขา โดยให้ฉายานามบุคคลเหล่านั้นว่า อัล-หุรูฟ อัล-หัยย์ (อักษรที่มีชีวิต) แต่เมื่อปี ฮ.ศ. 1261 พวกเขาได้ถูกทางการจับกุมตัว และในที่สุดพวกเขายอมประกาศเตาบัต (กลับตัว) บนมินบัรฺมัสยิดอัล-วะกีล หลังจากที่พวกเขาได้สร้างความเสื่อมเสียบนหน้าแผ่นดิน เข่นฆ่าชาวมุสลิมมากมาย ตลอดจนกล่าวหาว่าชาวมุสลิมกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา
ในปี ฮ.ศ.1266 อัล-มิรซา อะลีย์ มุหัมหมัด ริฎอ อัช-ชีรอซีย์(อัล-บาบ หรือพระบ็อบ) ได้อ้างว่า พระผู้เป็นเจ้าได้สถิตย์ในร่างของตน (หุลูล อิลาฮิยะฮฺ) แต่หลังจากปราชญ์มุสลิมได้โต้เถียงกับเขาถึงประเด็นนี้เขาได้แสดงท่าทีว่ายอมรับและกลับตัว แต่ปราชญ์มุสลิมไม่ได้หลงกลเนื่องจากรู้ว่าเขาผู้นี้เป็นคนขี้ขลาดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับความจริง ดังนั้นปราชญ์มุสลิมได้ตัดสินให้ประหารชีวิตเขาและสหายของเขา อัซ-ซะนูซีย์ ส่วนผู้บันทึกคำสอนของเขาที่ชื่อว่า หุสัยน์ อัล-ยัซดีย์ ได้เตาบัต (กลับตัว)จากลัทธิอัล-บาบิยะฮฺก่อนที่จะถูกประหารทำให้เขาได้อิสรภาพไม่ต้องโทษ เมื่อวันที่ 27 ชะอฺบาน 1266 ตรงกับวันที่ 8 กรกฎาคม 1850
บุคคลสำคัญของอัล-บะฮาอิยะฮฺ
1. กุรเราะฮฺ อัล-อัยนฺ ซึ่งมีชื่อจริงว่า อุมมุ สัลมา ถือกำเนิด ณ เมืองก็อซวีน เมื่อปี ฮ.ศ. 1231 ได้ศึกษาหาความรู้จากมุลลา มุหัมหมัด ศอลิหฺ อัล-ก็อซวีนีย์ หนึ่งในปราชญ์ชีอะฮฺ ต่อมาได้สนใจศึกษาแนวทางชีอะฮฺ สายอัช-ชัยคียะฮฺ ผ่านลุงของนางเอง คือ มุลลา อะลีย์ อัช-ชัยคีย์ นางได้รับอิทธิพลทางความคิดจากชีอะฮฺกลุ่มนี้ ต่อมานางได้เดินทางมาศึกษาจาก กาซิม อัร-ร็อชตีย์ พร้อมอัล-บาบ ณ เมืองกัรบะลาอ์ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศอิรัก) จนมีคนเข้าใจว่านางคือผู้ออกแบบแนวความคิดต่างๆ ให้แก่อัล-บาบ เนื่องจากนางเป็นนักพูดที่ชาญฉลาด มีวาทะโวหารที่ปราดเปรื่อง อีกทั้งเป็นผู้ที่มีความเลอโฉมงดงาม แต่นางก็ถือว่าเป็นหญิงแพศยา สามีของนางได้ขอหย่าและปฏิเสธการเป็นบิดาของลูกที่อยู่ในครรภ์ของนาง นางได้รับฉายานามว่า “เราะซีน ตาญจ์” เจ้าของบทกวีภาษาเปอร์เซีย
ในเดือนเราะญับ ปี ฮ.ศ. 1264 นางได้ประชุมหารือกับแกนนำลัทธิอัล-บาบิยะฮฺ ณ เมืองบะดัชต์ (Conference of Badasht) นางเป็นผู้ที่กล่าวสุนทรพจน์ และสร้างความฮึกเหิมแก่มวลสมาชิกอัล-บาบิยะฮฺเพื่อออกมาประท้วงการจับกุมอัล-บาบ และได้ประกาศจุดยืนว่าอัล-บาบิยะฮฺได้เป็นอิสระจากศาสนาอิสลามแล้ว
นางเป็นผู้หนึ่งที่เข้าร่วมวางแผนลอบสังหารกษัตริย์ ชาฮ์ นาศีรุดดีน อัล-กอญารีย์ (Nasser al-Din Shah Qajar – กษัตริย์ผู้ปกครองประเทศอิหร่าน ระหว่างปี ค.ศ.1848-1896) ต่อมานางได้ถูกจับกุมและถูกตัดสินให้เผาเป็นๆ แต่ทว่านางได้เสียชีวิตก่อนจะถูกประหารในต้นเดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ. 1268 ตรงกับ ค.ศ. 1852
2. อัล-มิรซา ยะหฺยา อะลีย์ มีศักดิ์เป็นน้องชายของอัล-บาบ มี ฉายานามว่า ศุบฮฺ อะซัล อัล-บาบได้สั่งเสียให้เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำแทนเขาหลังเสียชีวิต เรียกขานผู้ตามของเขาว่า อัล-อะซัลลิยีน แต่น้องชายของเขา อัล-มิรซา หุซัยนฺ อัล-บะฮาอ์ ต้องการชิงตำแหน่งผู้นำลัทธินี้เช่นกัน และต่างคนพยายามที่จะลอบสังหารกัน ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างอัล-บาบิยะฮฺกับพวกชีอะฮฺ ทำให้พวกเขาต้องถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองอัดเราะนะฮฺ (Edirne) ประเทศตุรกี เมือปี ฮ.ศ.1863 อันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวยิว และด้วยเหตุที่พลพรรคของศุบฮฺ อะซัล และพลพรรคของบะฮาอุลลอฮฺเกิดความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง สุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมานได้เนรเทศ บะฮาอุลลอฮฺพร้อมมวลชนของเขาไปอยู่ที่เมืองอักกา ส่วน ศุบฮฺ อะซัลและมวลชนของเขาถูกเนรเทศไปยังเกาะไซปรัส จนเขาได้เสียชีวิตที่นั้น เมื่อวันที่ 29เมษายน 1912 ด้วยวัย 82 ปี โดยได้ทิ้งตำราที่เขาแต่งคือ อัล-อัลวาหฺ และ ตำราอัล-มุสตัยกิซ และได้สั่งเสียให้บุตรชายของเขาที่หันไปนับถือศาสนาคริสต์สืบทอดตำแหน่งผู้นำกลุ่มต่อไป จึงทำให้สมุนของศุบฮฺ อะซัลส่วนใหญ่ไม่พอใจและได้ออกห่าง
3. อัล-มิรซา หุสัยนฺ อะลีย์ ซึ่งมีฉายานามว่า บะฮาอุลลอฮฺ ถือกำเนิดเมื่อปี ค.ศ.1817 ได้ชิงตำแหน่งผู้นำลัทธิอัล-บาบิยะฮฺจากพี่ชายของเขาหลังจากการเสียชีวิตของอัล-บาบ(พระบ็อบ) เขาได้ประกาศตนต่อหน้าสานุศิษย์ของเขาที่กรุงแบกแดด ว่าเขาคือ อัล-มุซ็อฮฮิรฺ อัล-กามิล ผู้ซึ่งอัล-บาบได้พยากรณ์ว่าเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ และพระผู้เป็นเจ้าได้สถิตย์ในร่างของเขาเพื่อสานต่อภารกิจการเผยแพร่ลัทธิอัล-บาบิยะฮฺต่อไป การเผยแพร่ของเขาถือว่าเป็นการเผยแพร่ในบันไดขั้นที่สองในหลักความเชื่อศาสนาบาบี (ผู้ที่เลื่อมใสในคำสอนของเขาเรียกว่า บะฮาอิยูน หรือพวกบาไฮ) เขาพยายามที่จะลอบสังหารศุบฮฺ อะซัล ซึ่งเป็นพี่ชายของเขาเอง เขามีความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับชาวยิวที่อยู่ในตำบลอัดเราะนะฮฺ (Edirne) เมืองสาโลนิกา (Salonika) ประเทศตุรกี อันเป็นแผ่นดินที่ชาวบาไฮ เรียกว่าแผ่นดินแห่งความลับ เขาได้ส่งมือสังหารจากเมืองนั้นไปยังเมืองอักกาและได้ทำการสังหารพลพรรคของพี่ชายของเขาศุบฮฺ อะซัล ล้มตายหลายราย
ในปี ค.ศ.1892 บะฮาอุลลอฮฺได้ถูกสังหารด้วยน้ำมือของสมุนพี่ชายของเขาเองและร่างของเขาถูกฝังที่ สวนอัล-บะฮฺญะฮฺ เมืองอักกา (ประเทศปาเลสไตน์) เขามีผู้ทำหน้าที่เขียนคัมภีร์ให้เขา เช่นคัมภีร์อัล-บะยาน(Kitab al-Bayan) และคัมภีร์อัล-อีกอน (Kitab al-Iqan) คัมภีร์ของเขามีเนื้อหาเรียกร้องให้ชนชาติยิวมารวมตัวกันตั้งถิ่นฐาน ณ ดินแดนปาเลสไตน์
4. อับบาส อะฟันดีย์ มีฉายานามว่า อับดุลบะฮาอ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1844 ซึ่งเป็นวันเดียวกันที่อัล-บาบ ได้ประกาศลัทธิใหม่นี้ บิดาของเขา (บะฮาอุลลอฮฺ) ได้สั่งเสียให้เขาสืบทอดตำแหน่งผู้นำ เขาเป็นผู้ที่มีบุคลิกที่จริงจังมาก จนกระทั่งนักประวัติศาสตร์กล่าวว่าหากไม่มีอับบาส ศาสนาบาไฮคงไม่สามารถดำรงอยู่ได้จนทุกวันนี้ ชาวบาไฮเชื่อว่าเขาเป็นผู้ที่บริสุทธิ์จากมวลบาป (มะอฺศูม) เขาได้เพิ่มเติมคุณลักษณะบิดาของเขาบะฮาอุลลอฮฺให้คล้ายกับพระผู้เป็นเจ้า คือสามารถที่จะบันดาลสรรพสิ่งขึ้นมาได้
อับบาส อะฟันดีย์ ได้เดินทางเยือนประเทศสวิสเซอร์แลนด์ พร้อมได้เขาร่วมประชุมสมัชชาไซออนนิสต์ ณ เมืองบาเซิล (Basle) ในปี ค.ศ.1911 เขาได้พยายามที่จากแหกมติชนชาติอาหรับโดยหันไปสนับสนุนยิวไซออนิสต์ เขาให้การต้อนรับนายพลอัลเลนบี้(General Edmund Allenby-แม่ทัพของอังกฤษที่มายึดครองปาเลสไตน์และซีเรียเมื่อปี ค.ศ.1917) ครั้งที่เดินทางมาที่ปาเลสไตน์ จนรัฐบาลอังกฤษชื่นชมบทบาทของเขาด้วยการยกฐานะเป็นเซอร์ (Sir – เป็นตำแหน่งที่แต่งตั้งให้กับสามัญชนผู้มีความดีความชอบให้กับแผ่นดินมากซึ่งในอดีตก็จะเป็นอัศวินนักรบ) พร้อมทั้งประดับเครื่องอิสริยาภรณ์และสายสะพายอื่นๆ มากมาย เขาได้เดินทางเยือนหลายประเทศ เช่น อังกฤษ อเมริกา เยอรมัน เบลเยียม ฮังการี อะเล็กซานเดรีย (อียิปต์)เพื่อทำการเผยแพร่ลัทธิของเขา จนกระทั่งเขาได้ก่อตั้งศูนย์ศาสนาบาไฮที่ใหญ่โต ณ เมืองชิคาโก ต่อมาเขาเดินทางไปยังเมืองฮัยฟา (ปาเลสไตน์) เมื่อปี 1913 ต่อมาเขาเดินทางไปยังกรุงไคโรและเสียชีวิตที่นั้นเมื่อปี ฮ.ศ.1340 /ค.ศ.1921 หลังจากที่เขาได้ถ่ายถอดความรู้จากบิดาของเขาพร้อมทั้งได้เพิ่มเติมคำสอนจาก คัมภีร์ไบเบิลพันธะสัญญาเก่าเพื่อเป็นการยืนยันในคำสอนของเขาให้มีน้ำหนัก
5. เชากีย์ อะฟันดีย์ เป็นหลานของอับดุลบะฮาอ์ ปู่ของเขาได้จากโลกนี้ไปในขณะที่เขามีอายุ 24 ปี ในปี 1921 / ฮ.ศ.1340 เขาได้ดำเนินตามรอยทางปู่ของเขาในการบริหารองค์กรบาไฮ เพื่อก่อตั้งสภายุติธรรมสากล เขาได้เสียชีวิตที่กรุงลอนดอนจากหัวใจวาย และร่างของเขาถูกฝังที่นั้น แผ่นดินที่รัฐบาลมอบรางวัลมากมายแก่กลุ่มชาวบาไฮ
ในปี ค.ศ.1963 แกนนำบาไฮ 9 คน ได้ดำเนินการตามภารกิจของอัล-บะฮาอิยะฮฺด้วยการก่อตั้งสภายุติธรรมสากล (The Universal House of Justice) โดยมีคณะกรรมการบริหารจำนวน 9 คน ประกอบด้วย ชาวอเมริกา 4 คน ชาวอังกฤษ 2 คน และชาวอิหร่าน 3 คน และเคยมีผู้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาแห่งนี้เป็นชาวยิวฟรีเมสัน สัญชาติอเมริกา
แนวคิดและความเชื่อของอัล-บะฮาอิยะฮฺ
– ชาวบาไฮเชื่อว่า อัลบาบ (พระบ็อบ) เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทุกอย่างด้วยคำประกาศิตของเขา เขาถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดขึ้นของทุกๆ สิ่ง
– พวกเขาเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตย์ในตัวตนของมนุษย์ เชื่อในหลักอัล-อิตติหาด(ความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน) เชื่อในหลักเวียนว่ายตายเกิด เชื่อว่าวัตถุทุกอย่างคงอยู่อย่างถาวร และเชื่อว่าผลบุญ และบทลงโทษนั้นเกิดขึ้นกับดวงวิญญาณเท่านั้น และสิ่งดังกล่าวเป็นความเชื่อเชิงมายาคติ
– พวกเขาบูชาเลข 19 ซึ่งทำให้พวกเขากำหนดเดือนในรอบปีมี 19 เดือน และกำหนดวันในรอบเดือนมีเพียง 19 วัน ในการนี้มีผู้ทำตามแนวคิดนี้คือ อัล-ฮะรออ์ มีชื่อเต็มว่า มุหัมหมัด เราะชาด เคาะลีฟะฮฺ ซึ่งเขาเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของเลข 19 เขาพยามยามที่จะเชื่อมโยงว่าอัลกุรอานมีโครงสร้างมาจากเลข 19 แต่ทว่าไม่มีใครให้ความสนใจกับคำพูดของเขาเลย
– พวกเขาเชื่อว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ขงจื้อ โซโรแอสเตอร์ และบุคคลสำคัญอย่างนักปราชญ์ของอินเดีย จีน และเปอร์เซีย เป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ
– พวกเขามีทัศนะเห็นพ้องกับชาวยิวและคริสเตียนว่า นบีอีซา อะลัยฮิสสลาม ถูกตรึงบนไม้กางเขน
– พวกเขาตีความอัลกุรอานเชิงความรู้ลึกลับเพื่อให้สอดคล้องกับลัทธิของพวกเขา
– พวกเขาปฏิเสธในมุอฺญิซาต (ความมหัศจรรย์ที่อัลลอฮฺประทาน) ของบรรดาศาสนทูต พวกเขาปฏิเสธการมีอยู่จริงของบรรดามลาอิกะฮฺ ญิน พร้อมทั้งปฏิเสธว่าสวรรค์และนรกมีอยู่จริง
– พวกเขาห้ามสตรีคลุมหิญาบ พวกเขาอนุญาตให้แต่งงานมุตอะฮฺได้ เรียกร้องความเสมอภาคระหว่างหญิงชายและความเสมอภาคในทรัพย์สินเงินทอง
– พวกเขากล่าวว่าศาสนาที่อัล-บาบนำมานั้นได้ยกเลิกบทบัญญัติต่างๆ ที่นบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เผยแพร่ไว้
– พวกเขาตีความว่าวันกิยามะฮฺนั้นคือวันที่บะฮาอุลลอฮฺได้ปรากฏตัว ส่วนทิศกิบละฮฺของพวกเขาในเวลาละหมาดคือ สถานที่เรียกว่า สวนอัล-บะฮฺญะฮฺ เมืองอักกา ประเทศปาเลสไตน์ แทนที่บัยตุลลอฮฺ ณ มัสยิดอัลหะรอม
– พวกเขาจะละหมาดวันละ 3 เวลา มีจำนวนร็อกอะฮฺ 9 ร็อกอะฮฺ และจะอาบน้ำละหมาดด้วยน้ำดอกกุหลาบ แต่หากไม่มีน้ำดังกล่าวพวกเขาจะกล่าวบิสมิละฮฺด้วยสำนวนดังนี้จำนวน 5 ครั้ง “บิสมิลละฮิลอัฏฮัรฺ อัลอัฏฮัรฺ- بسم الله الأطهر الأطهر “
– ไม่มีการละหมาดแบบญะมาอะฮฺในหมู่พวกเขานอกจากการละหมาดศพ ซึ่งมีจำนวนตักบีรฺ 6 ครั้ง และทุกตักบีรฺพวกเขาจะกล่าวว่า “อัลลอฮุ อับฮา- الله أبهى “
– พวกเขาจะถือศีลอดในเดือนที่ 19 ตามปฏิทินบาไฮ พวกเขาจะอดอาหารเริ่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนดวงอาทิตย์ตกดิน เป็นระยะเวลา 19 วัน จากนั้นพวกเขาจะเฉลิมฉลองวันอีด อัน-นัยรูซ (วันปีใหม่ชาวบาไฮ) ในวันที่ 21 ของเดือนมีนาคม ชาวบาไฮทุกคนที่มีอายุระหว่าง 15-70 ปีต้องถือศีลอด
– พวกเขาห้ามการทำอัล-ญิฮาด หรือจับอาวุธต่อสู้กับอริราชศัตรู ซึ่งกฎดังกล่าวสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของจักรวรรดินิยมในการอุปโลกน์ลัทธินี้ขึ้นมา
– พวกเขาปฏิเสธว่านบีมุหัมหมัด คือ นบีหรือศาสนทูตองค์สุดท้าย พวกเขาอ้างว่าวะหฺยู (วิวรณ์) จากอัลลอฮฺนั้นถูกประทานลงมาอยู่ตลอดเวลา พวกเขาเลยแต่งตำรับตำรามากมายที่มีเนื้อหาแย้งกับอัลกุรอานแต่ทว่าตำราของ เขาเหล่านั้นเต็มไปด้วยข้อบกพร่องไม่ว่าจะเป็นด้านภาษาหรือสำนวน
– พวกเขาได้ยกเลิกการไปประกอบพิธีหัจญ์ ณ เมืองมักกะฮฺ อัล-มุกัรเราะมะฮฺ แต่พวกเขาจะไปประกอบพิธีหัจญ์ ณ สถูปฝังศพของบะฮาอุลลอฮฺ ที่ สวนอัล-บะฮฺญะฮฺ เมืองอักกา ประเทศปาเลสไตน์แทน
รากเหง้าทางความคิดและความเชื่อของพวกบาไฮ
ความคิดและความเชื่อของพวกเขาได้ผสมผสานระหว่างแนวคิดต่างๆต่อไปนี้
– อัร-รอฟิเฎาะฮฺ อัล-อิมามิยะฮฺ (ชีอะฮฺ อิหม่าม 12 )
– ชีอะฮฺ อัช-ชัยคียะฮฺ (สาวกของชัยคฺอะหฺมัด อัล-อะหฺสาอีย์)
– อัล-มาสูนียะฮฺ (องค์กรฟรีเมสันสากล)
– ยิวไซออนิสต์สากล
การแพร่กระจายและแหล่งที่มีอิทธิพลของศาสนาบาไฮ
ชาวบาไฮส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในประเทศอิหร่าน บางส่วนอาศัยอยู่ในอิรัก ซีเรีย เลบานอน และปาเลสไตน์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของพวกเขา เช่นเดียวกันนั้นพวกเขาเคยมีศูนย์ศาสนาบาไฮในอียิปต์แต่ศูนย์ดังกล่าวถูกปิดตัวลงตามคำสั่งของรัฐบาล หมายเลขที่ 263 เมื่อปี ค.ศ. 1960 นอกจากนี้พวกเขายังมีศูนย์ ณ เมืองต่างๆ เช่นที่ แอดดิส อบาบา เอธิโอเปีย กรุงกัมปาลา ประเทศยูกันดา กรุงลูซากา ประเทศแซมเบีย ซึ่ง ณ เมืองนี้พวกเขาได้จัดประชุมสามัญประจำปี ระหว่างวันที่ 23 พฤษภาคม – 13 มิถุนายน ค.ศ. 1989 พวกเขามีศูนย์ที่เมืองโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กรุงเวียนนา เมืองแฟรงก์เฟิร์ต(เยอรมัน) กรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ที่เมืองชิคาโก (รัฐอิลลินอยส์-สหรัฐอเมริกา) พวกเขามีโบสถ์ที่ใหญ่โต ซึ่งพวกเขาเรียกว่า มุชริกุลอัซการฺ ณ สถานที่แห่งนั้นพวกเขาได้ผลิตวารสารออกมา ชื่อว่า นัจมฺ อัล-ฆ็อรฺบ (ดาวตะวันตก) เช่นเดียวกับที่เมืองวิลเมตต์ ศูนย์กลางบาไฮในอเมริกา ในเมืองนิวยอร์กพวกเขามีคาราวานตะวันออกและตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่เคลื่อนไหวบนหลักการของบาไฮ พวกเขามีหนังสือคู่มือกองคาราวาน และเพื่อนความรู้ พวกเขามีแหล่งชุมนุมใหญ่ในเมืองฮิวสตัน (รัฐเทกซัส) ลอสแอนเจลิส (รัฐแคลิฟอร์เนีย) บรุกลิน และนิวยอร์ก โดยประมาณว่าพวกบาไฮในสหรัฐอเมริกามีจำนวน 2 ล้านคน ซึ่งเป็นสมาชิกใน 600 กว่าองค์กร เป็นเรื่องที่ประหลาดอย่างยิ่งที่พวกบาไฮมีตัวแทนประจำองค์การสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก มีตัวแทนสหประชาชาติที่เจนีวา และมีตัวแทนจากกลุ่มประเทศแอฟริกาที่กรุงไนโรบี นอกจากนี้พวกเขามีฐานะเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสังคมและเศรษฐกิจแห่งสหประชาชาติ (Ecosco) พวกเขามีสมาชิกทำงานในองค์การสิ่งแวดล้อมโลกแห่งสหประชาติ (Unep) ในกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ -Unicef) และในสำนักงานสารสนเทศแห่งสหประชาชาติ (U.N. Office of Public Information) เช่น ดุซซีย์ บูส เป็นตัวแทนขององค์การบาไฮสากลประจำองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ส่วนรุสตุม ค็อยรูฟ เป็นสมาชิกมูลนิธิสากลเพื่อความมั่นคงของมนุษยชาติ
บทสรุป
อัล-บาบิยะฮฺ (ศาสนาบาบี) และอัล-บะฮาอิยะฮฺ (ศาสนาบาไฮ) คือกลุ่มที่หลงทางซึ่งได้หลุดพ้นจากศาสนาอิสลาม เนื่องจากพวกเขาปฏิเสธว่านบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เป็นศาสนทูตองค์สุดท้าย อีกทั้งพวกเขายังอ้างว่าวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้าทรงสถิตย์อยู่ในร่างของอัลบาบ (พระบ็อบ) หรือในร่างของอัล-บะฮาอ์ พวกเขายังปฏิเสธการลงโทษของอัลลอฮฺในวันปรโลก พวกเขาจงรักภักดีต่อชาวยิวตลอดเวลาและพยายามจะให้ชาวมุสลิมเปลี่ยนศาสนา และพวกเขาประกาศอย่างชัดเจนว่าคัมภีร์อัล-บะยานของพวกเขาได้ยกเลิกคำสอนในคัมภีร์อัลกุรอาน
ได้มีคำฟัตวา (ข้อชี้ขาดทางศาสนา)ที่มาจากหลายสำนักทางวิชาการศาสนา เช่นศูนย์ศาสนบัญญัติอิสลาม เมืองมักกะฮฺ สำนักฟัตวาแห่งประเทศอียิปต์ ระบุว่า ลัทธิอัลบะฮาอิยะฮฺ และอัลบาบิยะฮฺ ได้หลุดพ้นจากศาสนาอิสลาม และถือว่าเป็นศัตรูต่อศาสนาอิสลาม ผู้ที่เลื่อมใสในแนวคิดของพวกเขาถือว่าเป็นกาฟิรฺ (ผู้ปฏิเสธศรัทธา) อย่างชัดแจ้งโดยไม่มีข้ออ้างใดๆ อีก (อ้างจากหนังสือพิมพ์อัลมะดีนะฮฺ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 2 เดือนซุลเกาะอฺดะฮฺ ฮ.ศ.1399 ตรงกับวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1979)
Ref : saaid.net
จากหนังสือ อัล-เมาสูอะฮฺ อัล-มุยัสสะเราะฮฺ ฟี อัล-อัดยาน วะ อัล-มะษาฮิบ โดยสภายุวมุสลิมโลก
ถอดความโดย Salamah Panphum

การละหมาดตารอเวียะห์ตามการถ่ายทอดสด ข้อบ่งชี้และแนวโน้ม ( ตอนที่ 1)
บทความโดย ดร.คอลิด หานาฟีย์
– ประธานคณะกรรมการฟัตวา เยอรมัน
– ประธานสภาอิหม่ามและนักวิชาการในประเทศเยอรมัน
– รองเลขาธิการสภายุโรปเพื่อการฟัตวาและการวิจัย (ECFR)
– สมาชิกสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ (IUMS)
เผยแพร่เมื่อ 25 เมษายน 2563
การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 บังคับให้นักฟิกฮ์และนักอิจติฮาด-วินิจฉัย- ต้องทำการศึกษาวิจัย วิเคราะห์และวินิจฉัยต่อกรณีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ในบางกรณีก็เห็นพ้องกัน แต่บางกรณีก็เห็นต่างกัน และสิ่งที่พวกเขาพ้องกันมีมากกว่าที่เห็นต่าง ประเด็นสำคัญที่สุดที่เห็นต่างกัน ได้แก่ประเด็นการละหมาดตารอเวียะห์ตามการถ่ายทอดสด แม้ว่าบรรดาศูนย์ฟิกฮ์ทั้งหมด เท่าที่ทราบ ล้วนฟัตวาห้ามการกระทำดังกล่าว แต่ก็มีนักฟิกฮ์และนักอิจติฮาดที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งฟัตวาว่า อนุญาต ซึ่งไม่มีใครกังขาในความเคร่งครัดศาสนา ความรู้และความหวังดีต่อศาสนาของพวกเขาเหล่านั้น ตลอดจนความปรารถนาดีของพวกเขาที่ต้องการให้ผู้คนผูกพันอยู่กับละหมาดญามาอะฮ์และมัสยิด
บรรดานักอิจติฮาดล้วนได้รับผลบุญ เราจึงไม่ควรอึดอัดกับความเห็นที่แตกต่างออกไป และควรที่จะสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมการอิจติฮาด ไม่ว่าผลของการอิจญ์ติฮาดจะออกมาประหลาดพิศดารแค่ไหนก็ตาม ตราบใดที่ตั้งอยู่บนฐานทางวิชาการที่ถูกต้อง และหากจำเป็นเราก็มีหน้าที่วิพากษ์ โต้แย้งด้วยความเป็นกลางตามหลักวิชาการ
นี่คือกระบวนการอิจญ์ติฮาดที่นำมาซึ่งความรู้ใหม่ที่พึงประสงค์ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
วัตถุประสงค์ของบทความนี้มิใช่เพื่อสนับสนุน ยกย่องหรือโจมตีทัศนะใดๆ เพียงต้องการชี้ให้เห็นถึงดัชนีและแนวโน้มที่เป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์วินิจฉัยกรณีใหม่ที่เกิดขึ้นเท่านั้น
●● ประการแรก : ข้อบ่งชี้
● 1. วิธีการให้เหตุผลที่สับสนและการขัดกันของหลักฐาน
สิ่งแรกที่สังเกตเห็นคือ บรรดานักฟิกฮ์ฝ่ายที่เห็นว่าอนุญาตให้ละหมาดตามอิหม่ามผ่านสื่อถ่ายทอดสด คือความไม่ชัดเจนและขัดกันของการให้เหตุผล
เช่น การรวมกันระหว่างการอ้างหลักการ “อะไรที่ไม่มีคำสั่งห้ามถือว่าอนุญาต ” (อิบาหะฮ์อัศลียะฮ์) และหลักกรณีสุดวิสัย(ฎอรูเราะฮ์) ซึ่ง 2 หลักการนี้ไม่สามารถรวมกันได้
ทั้งนี้ ฝ่ายที่เห็นว่าการละหมาดตามอิหม่ามผ่านสื่อถ่ายทอดสดเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ได้อ้างอิงความเห็นจากตำรามัซฮับมาลิกที่อนุญาตให้ตามอิหม่ามที่ห่างออกไปเป็นระยะไกลอันเป็นกรณีปกติในมัซฮับมาลิก ไม่ใช่กรณีสุดวิสัยเช่นในสถานการณ์โควิด-19 การจำกัดให้ใช้เฉพาะในสถานการณ์สุดวิสัยจึงเป็นการปรับใช้และการให้เหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับกรณี
นอกจากนั้น การอ้างว่าสุดวิสัยก็ไม่ถูกต้อง เพราะมีวิธีการอื่นทดแทนได้ นั่นคือการละหมาดที่บ้าน
หากการละหมาดตารอเวียะห์ตามอิหม่ามผ่านการถ่ายทอดสด สามารถกระทำได้ ทำไมไม่อนุญาตในกรณีละหมาดวันศุกร์ ทั้งๆที่จำเป็นมากกว่า เพราะเป็นวาญิบ ในขณะที่ละหมาดตารอเวียะห์เป็นอิบาดะฮ์ภาคนาฟิล (ส่งเสริมตามความสมัครใจ)
การขัดกันของการให้เหตุผลอีกประการหนึ่ง ได้แก่ การอนุญาตให้ตามอิหม่ามผ่านการถ่ายทอดสดในการละหมาดภาคนาฟิล แต่ห้ามปฏิบัติในการละหมาดภาคฟัรฎูผ่านการถ่ายทอดสด ทั้งๆที่หลักฐานที่อ้างถึงไม่ได้แยกระหว่างละหมาดทั้งสองประเภทดังกล่าว
ซึ่งบรรดาปราชญ์ไม่ได้แยกแยะเงื่อนไขการตามอิหม่ามในการละหมาดทั้งสองประเภท หะดีษกำหนดวิธีการตามอิหม่ามก็ไม่ได้แยกแยะ
ความต่างระหว่างละหมาดทั้งสองประเภท ล้วนเป็นกรณีที่ตัวบททางศาสนาระบุไว้เท่านั้น เช่น หะดีษอนุญาตละหมาดภาคนาฟิลบนพาหนะ
การขัดกันของหลักฐานประการที่ 3 คือ มีบางท่านกำหนดว่า ให้ตามได้เฉพาะอิหม่ามประจำหมู่บ้าน อันเป็นการกำหนดที่ปราศจากหลักฐานอ้างอิง เพราะเหตุผลที่ฝ่ายนี้อ้างคือ “การได้ยินและการเห็นที่ชัดเจน” ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่จำกัดเฉพาะการตามอิหม่ามในหมู่บ้านเท่านั้น เพราะเหตุผลดังกล่าวยังสามารถตามอิหม่ามมัสยิดหะรอมที่แม้เวลาจะคลาดเคลื่อนกันก็ได้ เพราะหลักฐานที่อ้างไม่มีระบุถึงเรื่องของเวลาแต่ประการใด
● 2. นักวิชาการด้านฟิกฮ์ทำให้การฝ่าฝืนหลักการจัดลำดับความสำคัญในหมู่ประชาชาติอิสลามยิ่งหยั่งลึกมากขึ้น
นักวิชาการและนักเผยแผ่ศาสนา มักพูดถึงวิกฤติของศาสตร์ว่าด้วยการขาดการจัดลำดับความสำคัญ และถือเป็นเหตุผลข้อหนึ่งของการถดถอยทางอารยธรรมในสังคมมุสลิม
จากปรากฏการณ์ปัญหาที่กำลังพูดถึง นักวิชาการและนักฟิกฮ์กลับทำให้ปัญหานี้บานปลายมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ โดยหลักการพื้นฐานแล้ว การละหมาดตารอเวียะห์ให้กระทำที่บ้าน ความสนใจที่มากเกินไปจากนักวิชาการในการพยายามที่จะคิดค้นรูปแบบใหม่เชิงอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการละหมาดในรูปแบบญามาอะฮ์ในมัสยิด จะเป็นการส่งเสริมมโนทัศน์ผิดๆของสังคมเกี่ยวกับละหมาดภาคนาฟิลที่ควรกระทำที่บ้านมากกว่า รวมถึงจารีตการให้ความสำคัญกับละหมาดนาฟิล เช่น ละหมาดตารอเวียะห์หรือละหมาดอีด มากกว่าละหมาดภาคฟัรดู
ในสถานการณ์เช่นนี้ น่าจะถือเป็นโอกาสเหมาะอย่างยิ่งที่จะให้สังคมเคยชินกับการละหมาดภาคนาฟิลที่บ้านตามหลักการเดิม
● 3.ค่านิยมการอิจติฮาด (วินิจฉัย) ส่วนบุคคล เหนือกว่าค่านิยมการอิจติฮาดแบบองค์คณะและสถาบัน
การอิจติฮาดแบบองค์คณะที่ตั้งอยู่บนการปรึกษาหารือและการโต้แย้งเป็นแนวทางฟัตวาในยุคซอฮาบะฮ์และตาบิอีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังแนวปฏิบัติของท่านอบูบักร เมื่อมีกรณีเกิดขึ้น ท่านก็จะพิจารณาจากอัลกุรอาน หากไม่มีก็จะพิจารณาจากซุนนะฮ์ หากไม่มีก็จะถามผู้คนว่ามีใครทราบไหมว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ (ขอความสันติและความจำเริญจงประสบแด่ท่าน) เคยตัดสินว่าอย่างไร หากมีคนบอก ก็จะตัดสินตามนั้น หากไม่มีก็จะปรึกษาหารือกับบรรดาผู้นำซอฮาบะฮ์ หากพวกเขามีความเห็นเช่นไรก็จะตัดสินตามนั้น
ซึ่งนอกจากท่านอบูบักรแล้ว ท่านอุมัรและบรรดาซอฮาบะฮ์อาวุโสก็ใช้แนวทางดังกล่าวเช่นกัน
การฟัตวาแบบองค์คณะตามรูปแบบของซอฮาบะฮ์เหล่านั้น จึงเป็นแนวทางที่นักวิชาการร่วมสมัยเห็นพ้องกัน และมีการเรียกร้องให้ประยุกต์ใช้ในสถาบันฟัตวาร่วมสมัย สถาบันฟัตวาที่ใช้การฟัตวาแบบองค์คณะจึงเกิดขึ้นมากมายทั้งในโลกตะวันออกและโลกตะวันตก
ไม่แปลกเลย ที่ความซับซ้อนและเชื่อมโยงของกรณีใหม่ๆในปัจจุบันจะเหมาะสมกับการวินิจฉัยแบบองค์คณะมากกว่าการวินิจฉัยคนเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น โลกปัจจุบันไม่ยอมรับระบบการทำงานแบบข้ามาคนเดียวในการศึกษาวิจัย แต่มักจะใช้ระบบการทำงานเป็นทีม
ซึ่งจากจุดนี้จะเห็นว่า บรรดาสถาบันด้านฟิกฮ์ ไม่รีรอที่จะออกมาแถลงปฏิเสธการละหมาดตามอิหม่ามผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์ เช่น สภายุโรปเพื่อการวิจัยและฟัตวา ,ศูนย์ฟิกฮ์นานาชาติขององค์กรโอไอซี , สภานักฟิกฮ์แห่งอเมริกา, สภากิบารอุลามาอ์ ซาอุดิอาระเบีย ,สภาอิสลามสูงสุด ตุรกี, สภาวิจัยอิสลาม -มัจมะ บุหูษอิสลามียะฮ์- อียิปต์ และสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ
แต่ถึงกระนั้น ก็มีนักฟิกฮ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งบางท่านเป็นสมาชิกสภาต่างๆดังกล่าว ออกมาแสดงทัศนะแตกต่างจากทัศนะขององค์กรเหล่านั้น
ข้าพเจ้าเห็นว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงวัฒนธรรมการนิยมวินิจฉัยคนเดียวมากกว่าการวินิจฉัยแบบองค์คณะ ซึ่งจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นในหลักอิจมาอ์ที่ปรากฏอยู่ในตำราวิชาการอิสลามในอดีตว่าเป็นจริงหรือไม่
● 4. ทำให้สังคมสับสนแทนที่จะให้ทางออก
นักฟิกฮ์และมุฟตียุคหลังๆ เน้นการชี้แนะให้ผู้ขอคำฟัตวาพ้นจากความลังเลสับสน วิธีการฟัตวาจะไม่ฟัตวาโดยการนำหลายๆทัศนะมาชี้แจงที่อาจมีการให้น้ำหนักแก่ทัศนะใดๆ แล้วปล่อยให้ผู้ขอคำฟัตวาตัดสินใจเลือกเอง แต่จะใช้วิธีฟัตวาเฉพาะทัศนะที่มุฟตีเลือกแล้ว พร้อมระบุหลักฐานที่มา อันเป็นแนวทางที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับยุคของเราที่ไม่นิยมการอ่านที่ยืดยาวและข้อมูลไม่มากพอ
แต่ในกรณีละหมาดตามอิหม่ามผ่านการถ่ายทอดสด ผู้ให้คำฟัตวากลับทำให้สังคมยิ่งสับสน
มีบางท่านฟัตวาว่า ให้ละหมาดตามอิหม่ามผ่านสื่อออนไลน์ได้ แต่จงต้องเป็นอิหม่ามที่อยู่ใกล้ๆ เช่นในหมู่บ้านเท่านั้น
แต่ก็มีบางท่านออกมาฟัตวาว่า ตามอิหม่ามที่อยู่ไกลๆ แค่ไหนก็ได้
การฟัตวาที่สร้างความขัดแย้งกันเช่นนี้ ล้วนสร้างรอยราคีให้แก่ความบริสุทธิ์แห่งเดือนรอมฎอน ทำให้สังคมเกิดความแตกแยก ดังเช่นความขัดแย้งทุกๆปีในช่วงเดือนรอมฎอน ในเรื่องวิธีการกำหนดวันเริ่มต้นรอมฎอน
ทั้งนี้ จารีตเกี่ยวกับการฟัตวาในสังคมบรรพชนยุคสะลัฟ อุลามาอ์หลบเลี่ยงที่จะให้คำฟัตวา แต่โบ้ยให้ไปถามผู้อื่น
แต่ในยุคสะลัฟรุ่นหลัง ต่างแย่งชิงกันออกมาให้คำฟัตวา และไม่เพียงพอกับฟัตวาของผู้อื่น
สมมติว่าสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในยุคซอฮาบะฮ์ และบรรดาอิหม่ามทั้งสี่ แน่นอนที่สุดปฏิกิริยาของพวกเขาต่อสถานการณ์นี้คือการนิ่งเงียบและเพียงพอกับคำฟัตวาที่มีผู้ฟัตวาไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำฟัตวาแบบองค์คณะ มิใช่ความเห็นส่วนตัวของใครๆ
ในสังคมบรรพชนยุคสะลัฟ ประเพณี “ฉันไม่ทราบ” แพร่หลายไปทั่วสังคมผู้รู้นักวิชาการ ทั้งที่ความจริงไม่ใช่ไม่มีความรู้ แต่เป็นเพราะความถ่อมตนและความกลัวต่ออัลลอฮ์ที่จะต้องรับผิดชอบต่อผลของฟัตวา
แต่ในวันนี้ ค่านิยม ประเพณีแตกต่างออกไป ทุกคนต่างออกมาบอกว่า “ฉันรู้” ต่างไม่ยอมรับที่จะถูกมองว่า “ไม่มีความรู้”
ลองพิจารณาสถานการณ์นี้ยุคสะลัฟและสมมติว่ามีเหตุการณ์คำถามประเด็นนี้ในวันนั้น
อับดุรเราะห์มาน บินอะบีไลลา กล่าวว่า “ฉันทันเจอกับชาวอันศอรซึ่งเป็นซอฮาบะฮ์ของท่านศาสนทูต (ขอความสันติและความจำเริญจงประสบแด่ท่าน) จำนวน 120 ท่าน ไม่มีผู้ใดบอกหะดีษหนึ่ง ยกเว้นอยากให้ผู้อื่นบอกแทน ไม่มีผู้ใดให้คำฟัตวาเมื่อถูกถาม เว้นแต่อยากให้ผู้อื่นให้คำฟัตวาแทน”
อัลบัยฮะกีย์รายงานว่า อบูคอลดะฮ์ กล่าวกับรอบิอะฮ์ ว่า “โอ้รอบิอะฮ์ ฉันเห็นท่านให้คำฟัตวาแก่ผู้คน เมื่อมีคนมาถามท่าน สิ่งที่ท่านพึงตระหนัก มิใช่การทำให้เขาหายจากข้อกรณีที่สงสัย แต่พึงตระหนักว่าจะทำอย่างไรให้ท่านหลุดพ้น ไม่ต้องรับผิดชอบต่อคำถามนั้นๆ”
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ ข้าพเจ้ารู้จักอุลามาอ์ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการและหลักการทางฟิกฮ์อย่างถ่องแท้จำนวนมากที่ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้โดยสิ้นเชิง พวกเขาเพียงพอกับคำฟัตวาที่ออกมาแล้ว หากคนเหล่านี้ออกมาพูด แน่นอนจะมีแต่เสียงชื่นชม พวกเขามีความคิดสร้างสรรค์ มีหลักการและคำอธิบายที่ชัดเจนแจ่มแจ้งและลึกล้ำอย่างที่สุด
ในหมู่นักวิชาการเหล่านั้น ข้าพเจ้าเห็นการประยุกต์ใช้จรรยาบรรณบรรพชนชาวสะลัฟที่ระมัดระวังและรู้ซึ้งถึงสถานภาพอันสูงส่งของการฟัตวาและการพูดในนามอัลลอฮ์
(จบตอนที่ 1 )
แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

อีหม่านอ่อน : โรคระบาดอันดับหนึ่ง
สมรภูมิที่น่ากลัวที่สุดสำหรับมนุษย์ ไม่ใช่สมรภูมิที่ใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกัน แต่เป็นการรบกับอารมณ์ฝ่ายต่ำของเขาเองหรือที่รู้จักกันโดยมุสลิมทั่วไปว่า “ฮาวา นัฟซู” ประกอบไปด้วยความปรารถนา กิเลส ตัณหาต่างๆ การต่อสู้ครั้งนี้สำคัญใหญ่หลวง เพราะต้องเดิมพันกันด้วยสถานะชีวิตของคนๆนั้นเลยทีเดียว ดังนั้นจึงมีผู้เรียกสมรภูมิครั้งนี้ว่า “ญิฮาด อักบัร” หรือญิฮาดใหญ่
ญิฮาด อักบัร เป็นการต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นที่ซ่อนอยู่ภายในตัวมนุษย์เอง ด้วยลักษณะของศัตรูที่ซ่อนเร้นและอยู่ใกล้ชิดอย่างที่สุด เป็นผลให้การต่อสู้มักจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของมนุษย์
ความเข้าใจเบื้องต้นต่อกระบวนการต่อสู้กับ “ฮาวา นัฟซู” ในอิสลามก็คือ มันไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อตัดอารมณ์และความรู้สึกต่างๆให้หมดไป แต่ต้องการเข้าไปควมคุมมันไว้และสั่งการมันได้ จึงไม่แปลกที่กระบวนการต่อสู้ไม่ได้มุ่งไปที่ “การทำลาย” แต่มุ่งไปที่ “การสยบและควบคุม”
เครื่องมือที่สำคัญที่สุดที่จะจัดการตัวตนภายในก็คือ “หัวใจ” เพราะหัวใจคือ “ศูนย์รวม” ในการกำหนดทิศทาง เจตนารมณ์ต่างๆ หัวใจในที่นี้ไม่ใช่หัวใจที่เรารู้จักกันทางกายภาพ แต่มันหมายถึงหน่วยหลักในการตัดสินใจ เพราะฉะนั้น หัวใจจำเป็นต้องได้รับ “พลัง” ที่อัดฉีดเข้าไปภายใน นั่นคือพลังที่เราเรียกว่า “อีหม่าน” หรือ “ศรัทธา”
อีหม่านจึงนับว่ามีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างหัวใจให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้หัวใจเข้ามาทำหน้าที่ควบคุมตัวตนภายในได้ อีหม่านที่มีอยู่เพียงในระดับความคิดนั้น ไม่สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวตนของคนๆหนึ่งได้ อีหม่านจะต้องซึมซับเข้าสู่หัวใจอย่างต่อเนื่อง เมื่อใดก็ตามที่อีหม่านไม่ผ่านเข้าไปสู่หัวใจก็จะเกิดภาวะ “อีหม่านอ่อน” ขึ้น หรือเราจะเรียกได้ว่าเป็นโรคอีหม่านอ่อนหรือ โรคหัวใจแข็งกระด้าง
ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((إنَّ اْلإِيْمَانَ لَيَخْلُقُ فِيْ جَوْفِ أَحَدِكُمْ كَمَا يَخْلُقُ الْثَوْبُ فَأَسْأَلُوْا اللهَ أَنْ يُجَدِّدَ اْلإِيْمَانَ فِيْ قُلُوْبِكُمْ))
แท้จริงอีหม่านในหัวใจของพวกท่านคนหนึ่งคนใดจะทรุดโทรม เช่นเดียวกับเสื้อผ้าที่สวมใส่จนเสื่อมสภาพ ดังนั้น พวกท่านจงขอต่ออัลลอฮฺ เพื่อให้พระองค์ทำให้อีหม่านมีสภาพใหม่อยู่ในหัวใจของพวกท่าน [1]
((مَا مِنَ الْقُلُوْبِ قَلْبٌ إِلاَّ وَلَهُ سَحَابَةٌ كَسَحَابِةِ الْقَمَرِ ، بَيْنَا الْقَمَرُ مُضِيءٌ إِذْ عَلَتْهُ سَحَابَةٌ فَأَظْلَمَ ، إِذْ تَجَلَّتْ عَنْهُ فَأَضَا))
ไม่มีหัวใจดวงใด เว้นเสียแต่จะมีเมฆ(ที่จะมาบดบังมัน) เช่นเดียวกับเมฆ(ที่บดบัง)ดวงจันทร์ ขณะที่มันส่องแสงนั้น เมื่อมีเมฆมาบดบังมันๆก็จะมืดมิด เมื่อเมฆจากไป มันก็จะส่องสว่างอีกครา [2]
หลักการพื้นฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจประเด็นเกี่ยวกับอีหม่านอ่อนและกรอบความคิดในการบำบัดมันคือต้องรู้ว่าอีหม่าน(ความศรัทธา)ในทัศนะของอิสลามนั้นสามารถ “เพิ่ม” หรือ “ลด” ได้ สิ่งนี้เป็นหลักการมูลฐานในหลักยึดมั่นของ “อะหฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ” อันเป็นกระแสหลักของประชาชาติอิสลามส่วนใหญ่ที่ยอมรับกัน
อะหฺลุซ ซุนนะฮฺ วัล ญะมาอะฮฺ นั้นถือว่าอีหม่านคือสิ่งที่กล่าวออกมาด้วยวาจา ยึดมั่นด้วยหัวใจ และมีการกระทำผ่านหลักปฏิบัติอิสลามต่างๆ อีหม่านสามารถ “เพิ่ม” ได้ด้วยการฏออะฮฺ(เชื่อฟังปฏิบัติตามหลักการอิสลาม)และ “ลด” ลงได้จากการฝ่าฝืน(หลักการอิสลาม) ดังมีหลักฐานที่แสดงไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ในอัล กุรอานไว้หลายที่ ดังตัวอย่างเช่น
((لِيَزْدَادُوا إِيمَانًا مَعَ إِيمَانِهِمْ))
เพื่อพวกเขาจะได้เพิ่มพูนการศรัทธาให้กับการศรัทธาของพวกเขา[3]
มีข้อคิดที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนี้จากคำกล่าวของชาวสลัฟบางคนที่ว่า “ส่วนหนึ่งจากความเข้าใจในศาสนาของบ่าวคนหนึ่ง(ก็คือ) การให้ความสนใจต่ออีหม่านว่ามันลดไปได้อย่างไร? และส่วนหนึ่งจากความเข้าใจในศาสนาของบ่าวคนหนึ่ง (ก็คือ) การที่เขารู้ว่าตอนนี้มันเพิ่มหรือลด?ส่วนหนึ่งจากความเข้าใจของบ่าวคนหนึ่ง(ก็คือ) การรู้ถึงการล่อลวงของชัยฏอนเมื่อมันมายังเขา”
ต่อไปเราจะมาศึกษาอาการ สาเหตุ และนำไปสู่การบำบัดรักษาจนหายขาด อินชาอัลลอฮฺ
1. วิเคราะห์อาการอีหม่านอ่อน
อาการอีหม่านปรากฏทั้งภายในและภายนอก ปรากฏทั้งส่วนบุคคลและส่งผลร้ายต่อสังคม ผลกระทบของอีหม่านอ่อนสามารถแบ่งออกเป็น 4 ด้าน(พร้อมตัวอย่าง) ดังต่อไปนี้
ด้านที่หนึ่ง : วิเคราะห์อาการจากพฤติกรรมทั่วไป
1. กระทำบาปและสิ่งต้องห้ามต่างๆ
2. ทำอิบาดะฮฺอย่างลวกๆ
3. เกียจคร้านในการทำความดีทั้งหลาย
4. มองไม่เห็นค่าของความดีเล็กๆน้อยๆ และไม่เห็นอันตรายของความผิดเล็กน้อย
5. เอาแต่พูด แต่ไม่ค่อยกระทำ
ด้านที่สอง : วิเคราะห์อาการจากความรู้สึกภายใน
6. ยึดความรู้สึกตนเป็นใหญ่
7. หัวใจแข็งกระด้าง
8. อ่านอัล กุรอานอย่างไร้ความรู้สึก
9. รำลึกถึงอัลลอฮฺ แต่รู้สึกเฉย ๆ
10. คับแค้นใจ อารมณ์แปรปรวน และซึมเศร้า
11. ไม่รู้สึกโกรธ เมื่อมีการละเมิดในสิ่งที่อัลลอฮฺห้าม
12. กลัวทุกข์ภัยและปัญหาต่างๆที่ต้องประสบ
ด้านที่สาม: วิเคราะห์อาการจากความกระหายใคร่อยากต่าง ๆ
13. รักในชื่อเสียงและความโด่งดัง ตัวอย่างเช่น
13.1 กระหายตำแหน่งผู้นำ แข่งขันกันแสวงหาอำนาจ
13.2 เผด็จการในวงสนทนา คือชอบพูดข้างเดียว ไม่ชอบฟังคนอื่นพูด
13.3 ชอบให้ผู้คนยกย่อง ไม่พอใจหากไม่ได้รับคำเยินยอ
14. ตระหนี่ถี่เหนียว และมีความโลภ
15. หมกมุ่นกับโลกนี้
16. ใช้ชีวิตอย่างสำราญ
ด้านที่สี่: วิเคราะห์อาการจากความสัมพันธ์ทางสังคม
17. ไม่สนใจในกิจการของมุสลิม
18. มีความสุขกับความทุกข์ของพี่น้อง
19. ชอบทะเลาะถกเถียงกัน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาที่ไม่สำคัญ
20. ชอบแบ่งเป็นฝักฝ่าย จนเกิดความแตกแยกระหว่างพี่น้องมุสลิม
21. ขาดสำนึกในการทำงานอิสลาม
เราสังเกตจากทั้ง 4 ด้าน จะพบว่าอีหม่านอ่อนไม่ได้เป็นเรื่อง “อ่อนๆ” แต่เป็นเรื่อง “หนักหนา” เพราะไม่ได้มีปัญหาพฤติกรรมส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังได้เข้าทำลายโครงสร้างพื้นฐานของสังคมอีกด้วย
2. สาเหตุหลัก
อีหม่านอ่อนมี “เหตุ” มาจากหลายด้าน ด้านหลัก ๆ ของมัน ประกอบไปด้วย
หนึ่ง – สัมผัส , สอง – ห่างไกล , สาม – หมกมุ่น ดังต่อไปนี้
หนึ่ง – สัมผัส
1. สัมผัสอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยบาป เช่น อยู่ในวงคอนเสริต์คาราบาว หรือนั่งดูมิวสิควิดีโอวง Girly Berry
สอง – ห่างไกล
1. ห่าง ไกลจากผู้คนแห่งอีหม่าน คือการไม่คบหากับคนดี ๆ
2. ห่างไกลจากการแสวงหาความรู้ เช่น ปี ๆ หนึ่งแทบจะไม่เคยฟังบรรยายธรรมเลย แม้แต่วันศุกร์ ก็ไปตอนเขากำลังจะละหมาดแล้ว
สาม – หมกมุ่น
1. หมกมุ่นอายุของชีวิต คือ คิดว่าตัวเองจะมีอายุอยู่ยืนนาน วางแผนจะหาแต่ความสุขในดุนยา ไม่คิดจะตายในเร็ว ๆ นี้
2. หมกมุ่นอยู่กับโลกนี้ เช่น ทรัพย์สิน การหาเงินทอง การแข่งขันกันเรื่องลูกหลาน
3. หมกมุ่นอยู่กับเพศตรงข้าม เช่น เรื่องการมีแฟน การหมดเวลาไปกับการสร้างเสน่ห์แก่เพศตรงข้าม
3. วิธีบำบัดขั้นพื้นฐาน
การบำบัดพื้นฐาน ต้องเข้าไปแก้ไข “เหตุ” หลัก ๆ ของมันทั้งสามด้าน ดังนั้นการบำบัดพื้นฐานก็ประกอบไปด้วย 3 ด้านเช่นกัน คือ
หนึ่ง – แยกทาง , สอง – ใกล้ชิด, สาม – รำลึก
แยกทาง 1. แยกทางกับสิ่งแวดล้อมที่บาป คือตัดขาดกับสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายต่าง ๆ กล่าวง่าย ๆ ต้อง “ฏอลาก”(หย่า) เอาแบบหย่า 3 เลยยิ่งดี
ใกล้ชิด
1. ใกล้ชิดกับผู้คนแห่งอีหม่าน คือหันมาคบหาสมาคมกับคนดี ๆ เข้าร่วมกลุ่มคนทำงานอิสลามด้วยยิ่งดีใหญ่
2. ใกล้ชิดกับความรู้อิสลาม เช่น หาที่เรียนอิสลามเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ตามที่องค์กรต่าง ๆจัดขึ้น
รำลึก
1. รำลึกถึงความตาย เช่น เยี่ยมผู้ป่วย เยี่ยมกุบูรฺ เป็นต้น
2. รำลึกถึงความต่ำต้อยของโลกนี้ คือการครุ่นคิดถึงชีวิตที่ไม่ยั่งยืนและไม่แน่นอนของโลกนี้
3. รำลึกถึงวันสิ้นโลก และชีวิตหลังความตาย(คำแนะนำ ศึกษาง่าย ๆ จากความหมายอัล-กุรอานในยูซอัมมา)
การบำบัดทั้งสามด้านนี้เป็นการ “แยกทาง” กับพื้นที่ที่ทำให้ติดเชื้ออีหม่านอ่อน แล้วนำตัวเองไป “ใกล้ชิด” หรืออยู่อาศัยในเขตปลอดเชื้อ และจัดระบอบความคิดใหม่ ด้วยการ “รำลึก” สิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยขจัดเชื้อที่หลงเหลืออยู่ พร้อม ๆ กับนำไปสู่การบำบัดที่ยั่งยืนต่อไป
4. วิธีบำบัดรักษาระยะยาว
การบำบัดรักษาระยะยาว คือการเสริมสร้างอีหม่านให้แข็งแกร่ง จำเป็นต้องอาศัย “กระบวนการ” ที่เอาจริงเอาจัง ในที่นี่ขอแนะนำการการฝึกอบรมที่เข้มข้นใน 3 เรื่องต่อไปนี้
4.1 ให้หัวใจเข้าหาอัล-กุรอาน
ท่านอิบนุ กอยยิม ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับนำหัวใจกลับสู่อัล-กุรอานเอาไว้ว่า
“มีพื้นฐาน 2 ข้อ(ในการรักษาอาการอีหม่านอ่อน)ที่ขาดเสียมิได้ หนึ่งก็คือให้ท่านเคลื่อนหัวใจของท่านจากที่พำนักในโลกนี้ และให้มันไปสถิตอยู่ในที่พำนักแห่งโลกหน้า หลังจากนั้นให้นำหัวใจของท่านทั้งหมดจดจ่ออยู่กับความหมายอัล กุรอานและความกระจ่างในนั้น เพ่งพินิจและสร้างความเข้าใจในความมุ่งหมายของมัน ว่ามันถูกประทานมาเพื่อเป้าหมายอันใด นำตัวท่านเข้าไปมีส่วนร่วมในทุก ๆ อายะฮฺ แล้วกำหนดมันให้เป็นยาเพื่อบำบัดหัวใจของท่าน เมื่ออายะฮฺนี้ได้ถูกนำไปเป็นยาบำบัดหัวใจของท่านแล้ว หัวใจของท่านก็จะปราศจากโรคร้าย ด้วยการอนุมัติจากอัลลอฮฺ “
การบำบัดของอัล-กุรอานนั้น ต้องนำหัวใจไปอยู่กับความหมายที่ลึกซึ้งของมัน ท่านนบีเคยใคร่ครวญความหมายในอัล กุรอาน โดยท่านได้อ่านมันซ้ำแล้วซ้ำอีกขณะที่กำลังยืนขึ้นละหมาดในยามค่ำคืน(ละหมาดกิยามุล ลัยลฺ)
ท่านอบูบักรเป็นผู้ชายที่นุ่มนวล มีจิตใจที่อ่อนโยน เมื่อท่านนำผู้คนละหมาด และอ่านดำรัสของอัลลอฮฺจากอัล กุรอาน ท่านไม่สามารถควบคุมตัวเองจากการร้องไห้ได้
แน่นอนที่สุด บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีนั้น อ่านอัล กุรอาน เพ่งพิจารณาเนื้อหาในนั้น และเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวพวกเขา …
อัล กุรอานนั้น เป็นยาบำบัดที่ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง ดังที่อัลลอฮฺได้ยืนยันไว้ว่า
((وَنُنَزِّلُ مِنَ الْقُرْآنِ مَا هُوَ شِفَاءٌ وَرَحْمَةٌ لِلْمُؤْمِنِينَ))
และเราได้ให้ส่วนหนึ่งจากอัล กุรอานลงมาซึ่งเป็นการบำบัดและความเมตตาแก่บรรดาผู้ศรัทธา[4]
4.2 ให้หัวใจผูกพันกับอัลลอฮฺ
ท่าน อิบนุ กอยยิม ได้กล่าวว่า “ในหัวใจที่แข็งกระด้าง ไม่สามารถทำให้อ่อนโยนได้อีก เว้นแต่ด้วยการซิกรฺ ฉะนั้น บ่าวคนหนึ่งที่ต้องการเยียวยาอาการหัวใจแข็งกระด้างก็ให้ใช้การซิกรฺเถิด
ชายคนหนึ่งได้กล่าวกับท่านฮะซัน อัล บัศรียฺว่า ‘โอ้ อบูสะอีด ฉันมาร้องทุกข์กับท่านเรื่องหัวใจที่แข็งกระด้างของฉัน’ ท่านตอบว่า ‘จงทำให้มันอ่อนด้วยการซิกรฺเถิด’ เพราะว่าหัวใจที่ยิ่งเพิกเฉยเท่าไร ก็ยิ่งแข็งกระด้างมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อมีการซิกรฺ หัวใจดวงนั้นก็อ่อนโยน เสมือนกับการเทตะกั่วลงไปในไฟ ไม่มีสิ่งใดอีกแล้วที่ทำให้หัวใจอ่อนโยนเท่ากับการซิกรฺ และการซิกรฺนั้นเป็นการบำบัดและเป็นยารักษาหัวใจ การเพิกเฉยต่อมันเป็นโรค ยาและการรักษามันก็คือการซิกรฺ
ท่านมะฮูลได้กล่าวว่า ‘ซิกรฺ – การรำลึกถึงอัลลอฮฺ – นั้นเป็นการเยียวยา ส่วนการรำลึกถึงผู้คนนั้นเป็นโรค'” (อ้างจากอัล วาบิล อัศ เศาะยิบ และเราะฟิอฺ อัล กะลิม อัฏ ฏอยยิบ 142)
ชาวสลัฟบางคนได้กล่าวว่า “เมื่อซิกรฺสามารถเข้าไปฝังรากอยู่ในหัวใจแล้ว ถ้าชัยฏอนเข้ามาเมื่อใดเขาก็สามารถเอาชนะมันได้ ดังที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถทำให้ชัยฏอนที่เข้าใกล้เขาพ่ายแพ้ไป จากนั้นบรรดาชัยฏอนทั้งหลายต่างก็มารวมตัวกันรอบๆรอบตัวชัยฏอนตนนั้น พวกมันกล่าวว่า ‘เกิดอะไรขึ้นกับเขา?’ มีเสียงกล่าวขึ้นมาว่า ‘มันได้รับอันตรายจากมนุษย์!'” (คัดจากมะดาริจญฺ อัส ซาลิกีน 2/424)
ซิกรฺมีคุณประโยชน์มากมาย ดังปรากฏทั้งในอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺ รวมทั้งคำแนะนำมากมายของเหล่าอุละมาอ์ชั้นนำของโลกมุสลิม กล่าวได้ว่า ไม่มีคนใดที่ต้องการความสุขแห่งชีวิต ไม่มีใครต้องการหัวใจที่นิ่งสงบ โดยปราศจากการซิกรฺได้
อัลลอฮฺได้ยืนยันถึง หัวใจที่ “มุฏมะอินนะฮฺ”(สุขสงบ) ก็ด้วยการ “ซิกรฺ” เท่านั้น
((أَلاَ بِذِكْرِ اللَّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ))
พึงทราบเถิด! ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺเท่านั้นทำให้จิตใจสงบ [5]
4.3 เติมเต็มเวลาด้วยความดี
พฤติกรรมของผู้ที่มีอีหม่านที่สมบูรณ์นั้น คือการบูรณาการชีวิตทั้งหมดสู่ระบอบอิสลาม ดังนั้น ผู้ที่มีอีหม่านจึงนำความดีจากคำสอนอิสลามเติมเต็มลงสู่เวลาอย่างไม่มีช่องว่าง
การเติมเต็มดังกล่าวจึงต้องมีหลักการและศิลปะ ซึ่งอิสลามได้วางเรื่องนี้ไว้ 6 ประการ
1) เร่งรีบ – การทำความดี ไม่ควร “ตั้งท่า”มาก[6] และไม่ควรผัดวันประกันพรุ่ง ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
((التُّؤَدَةُ فِي كُلِّ شَيْءٍ إِلَّا فِي عَمَلِ الْآخِرَةِ))
การไม่ผลีผลามอยู่ในทุกสิ่ง ยกเว้นในการงานเกี่ยวกับวันอาคิเราะฮฺ(ให้รีบเร่งในการทำความดี)[7]
2) เกาะติด – ทำต่อเนื่อง แม้ว่าจะน้อยก็ตาม
มีรายงานว่า
(( سُئِلَ النَّبِيُّ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَيُّ الْأَعْمَالِ أَحَبُّ إِلَى اللَّهِ قَالَ أَدْوَمُهَا وَإِنْ قَلَّ))
เมื่อท่านนบีฯ ถูกถามว่า “การงานใดที่อัลลอฮฺรักมากที่สุด?” ท่านตอบว่า “สิ่งที่กระทำอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะน้อยก็ตาม”[8]
3) ทุ่มเท – ทำอย่างสุดกำลังกาย กำลังใจ อัลลอฮฺได้ตรัสไว้เกี่ยวกับการทุ่มเทของบรรดาวะลียฺ(บ่าวที่พระองค์รัก)ในการกระทำอิบาดะฮฺไว้หลายๆที่ เช่น
(( كَانُوا قَلِيلًا مِنَ اللَّيْلِ مَا يَهْجَعُونَ وَبِالْأَسْحَارِ هُمْ يَسْتَغْفِرُونَ))
พวกเขาเคยหลับนอนแต่เพียงส่วนน้อยของเวลากลางคืน และในยามรุ่งสางพวกเขาขออภัยโทษ(ต่อพระองค์)[9]
4) ผ่อนคลาย – ต้องเรียนรู้ศิลปะการผ่อนกำลังจะทำให้รู้สึกดีและไม่อ่อนล้า
ท่านนบีฯ กล่าวว่า
(( إِنَّ الدِّينَ يُسْرٌ وَلَنْ يُشَادَّ الدِّينَ أَحَدٌ إِلَّا غَلَبَهُ فَسَدِّدُوا وَقَارِبُوا))
แท้จริง ศาสนานั้นง่ายดาย จะไม่มีใครสามารถปฏิบัติศาสนกิจอย่างหนักหน่วงได้โดยไม่ลดหย่อน เว้นแต่ศาสนาจะชนะเขา(เขาไม่สามารถจะทำได้) ดังนั้นจงแสวงหาแนวทางที่ถูกต้อง และจงอยู่ในทางสายกลาง[10]
5) ชดเชย – หากพลาดไป ต้องหาทางชดเชย เพื่อไม่ให้เสียนิสัย
ท่านนบีฯ ได้กล่าวว่า
(( مَنْ نَامَ عَنْ حِزْبِهِ أَوْ عَنْ شَيْءٍ مِنْهُ فَقَرَأَهُ فِيمَا بَيْنَ صَلَاةِ الْفَجْرِ وَصَلَاةِ الظُّهْرِ كُتِبَ لَهُ كَأَنَّمَا قَرَأَهُ مِنْ اللَّيْلِ))
ใครก็ตามที่นอนหลับไป โดยลืมบางส่วนของอัล กุรอานที่เคยอ่านตอนกลางคืนหรือส่วนหนึ่งจากอัล กุรอาน ต่อจากนั้นเขาได้อ่านมันระหว่างละหมาดฟัจญฺ(ศุบฮฺ) และละหมาดซุฮรฺ ก็จะถูกบันทึกให้แก่เขา เสมือนกับที่เขาได้อ่านมันในยามค่ำคืน[11]
6) หวังการตอบรับ – จิตมุ่งตรงสู่อัลลอฮฺ, ไม่โอหัง, หวั่นเกรงว่าอัลลอฮฺจะไม่รับ
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ กล่าวว่า
(( سَأَلْتُ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ عَنْ هَذِهِ الْآيَةِ وَالَّذِينَ يُؤْتُونَ مَا آتَوْا وَقُلُوبُهُمْ وَجِلَةٌ قَالَتْ عَائِشَةُ أَهُمْ الَّذِينَ يَشْرَبُونَ الْخَمْرَ وَيَسْرِقُونَ قَالَ لاَ يَا بِنْتَ الصِّدِّيقِ وَلَكِنَّهُمْ الَّذِينَ يَصُومُونَ وَيُصَلُّونَ وَيَتَصَدَّقُونَ وَهُمْ يَخَافُونَ أَنْ لَا يُقْبَلَ مِنْهُمْ أُولَئِكَ الَّذِينَ يُسَارِعُونَ فِي الْخَيْرَاتِ))
ฉันได้ถามท่านเราะซูลุลลอฮฺเกี่ยวกับอายะฮฺที่ว่า และบรรดาผู้ที่บริจาคสิ่งที่พวกเขาได้มาโดยที่จิตใจของเขาเปี่ยมได้ด้วยความหวั่นเกรง(อัล กุรอาน23:60) โดยถามว่า ‘พวกเขาคือผู้ที่ดื่มสุราและลักขโมยหรือ?’ ท่านเราะซูลตอบว่า ‘ไม่ โอ้บุตรสาวของ อัศ ศิดดีกฺ แต่ว่าพวกเขาถือศีลอด ละหมาด และบริจาคทาน แต่ว่าพวกเขากลัวว่าการงานพวกเขาจะไม่ถูกรับ ชนเหล่านั้นคือผู้ที่รีบเร่งในการประกอบความดีทั้งหลาย(อัล กุรอาน23:61)[12]
หวังว่า คำแนะนำที่กล่าวมาทั้งหมดพอจะเป็นแนวทางให้พวกเรานำไปสู่การบำบัดรักษาโรค “อีหม่านอ่อน” ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป อินชาอัลลอฮฺ
ที่มา : https://message2muslim.blogspot.com/2010/05/blog-post_6714.html

เมื่อมัสยิดถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันโควิด19 จะละหมาดวันศุกร์ที่บ้านแทนได้หรือไม่?
#เมื่อมัสยิดถูกสั่งปิดเพื่อป้องกันโควิด19
#เราจะละหมาดวันศุกร์ที่บ้านแทนได้หรือไม่?
คนจำนวนมากตั้งคำถามว่าพวกเขาควรจะจัดครอบครัวและเพื่อนบ้านของพวกเขาบางคนร่วมกันละหมาดวันศุกร์แบบเล็ก ๆ ในบ้านของพวกเขาอันเนื่องจากการปิดลงของมัสยิด บางคนถามอีกว่าพวกเขาสามารถฟังไลฟ์สดคุฏบะฮ์ (เทศนาธรรม) จากมัสยิด แล้วละหมาดวันศุกร์ตามจากบ้านของตัวเองได้หรือไม่?
ฟัตวา (คำวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาศาสนา) ที่ผู้มีอำนาจและผู้มีความรู้ให้นั่นคือ ทั้งสองแบบนั้นไม่เป็นที่อนุญาตอย่างแน่นอน และครอบครัวหรือปัจเจกบุคคลที่อยู่บ้านจะต้องละหมาดซุฮ์รี 4 เราะกะอะฮ์แทนละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) ตามเหตุผลดังต่อไปนี้:
1. โดยทั่วไปแล้วการละหมาดวันศุกร์จะปฏิบัติกันที่มัสยิดกลางของชุมชน (หรือที่เรียกว่ามัสญิด อัล-ญามิอฺ) เฉพาะในชุมชนที่ไม่มีมัสญิดเท่านั้นที่สามารถกระทำได้อันเนื่องจากความจำเป็นที่จะต้องไปละหมาดในพื้นที่อื่น ๆ ถ้ามัสยิดปิดด้วยเหตุผลซึ่งชอบธรรมตามหลักการ เราไม่อนุญาตให้ทำการละหมาดวันศุกร์วงย่อย ๆ นับร้อยทดแทนกันได้
2. เป้าหมายของการละหมาดวันศุกร์คือการรวมตัวคนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ตามความเหมาะสม นั่นคือเหตุผลที่เรียกว่า ‘ญุมอะฮ์’ (วันศุกร์) จากภาษาอาหรับที่หมายถึง ‘การชุมนุม’ (ญัมอฺ) ซึ่งเรื่องนี้ลำพังเพียงแค่ครอบครัวเดียวก็ไม่สามารถกระทำให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของญุมอะฮ์ได้
3. บรรดาผู้รู้เห็นพ้องกันว่าผู้คนที่ได้รับการยกเว้นจากละหมาดวันศุกร์ (เช่น คนป่วย คนเดินทาง หรือคนที่ถูกระงับด้วยเหตุผลจำเป็นบางประการ) ว่าจะต้องทำการละหมาดซุฮ์รีแทน แต่กระนั้นพวกเขาก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนการละหมาดวันศุกร์ปกติมาเป็นการละหมาดวันศุกร์วงเล็ก ๆ ตามสถานะและสถานที่ของพวกเขา
4. สำหรับกรณีของโควิด-19 วัตถุประสงค์ของข้อวินิจฉัยมิให้มีการรวมตัวละหมาดวันศุกร์นั้นก็เพื่อที่จะลดจำนวนการรวมตัวของมวลชนลง ซึ่งจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์หากผู้คนเริ่มเชิญชวนให้มีการจัดละหมาดวันศุกร์เล็ก ๆ ในบ้านของพวกเขาเองโดยมีเพื่อนบ้านทยอยกันมาร่วม เหตุผลโดยรวมของการหยุดชั่วคราวครั้งนี้ก็เพื่อที่ต้องการจัดระยะห่างทางสังคม ด้วยเหตุนี้หลายครอบครัวจึงสามารถละหมาดซุฮ์รีร่วมกันเป็นญะมาอะฮ์แทนได้ เนื่องจากพวกเขาอาศัยร่วมกันอยู่แล้ว หากแต่การเชิญชวนครอบครัวอื่นมาร่วมละหมาดวันศุกร์นั่นมิอาจตอบสนองตามวัตถุประสงค์ของข้อวินิจฉัยนี้แต่อย่างใด
5. สำหรับการติดตามคุฏบะฮ์ (เทศนาธรรม) แบบไลฟ์สด ข้าพเจ้าได้แนะนำให้ผู้คนฟังคุฏบะฮ์หรือการบรรยายในช่วงเวลาใดก็ได้ตามที่ตนสะดวก … มันย่อมเป็นการดีเสมอที่จะคอยตักเตือนตนเองด้วยคำแนะนำทางจิตวิญญาณผ่านการฟังคุฏบะฮ์หรือการบรรยายศาสนาต่าง ๆ ซึ่งการฟังคุฏบะฮ์แบบออนไลน์นั้นมิได้ทำให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการรวมตัวกันแต่อย่างใด ขณะที่การละหมาดนั้นเราไม่สามารถกระทำการละหมาดทางไกลได้ หากเรายืนอยู่ห่างจากอิหม่าม (ผู้นำละหมาด) เป็นระยะหลายกิโลเมตร … ด้วยกับความรู้ทั้งหมดที่ข้าพเจ้ามีถือว่าไม่มีทรรศนะที่ขัดแย้ง (คิลาฟ) กันในประเด็นนี้
สุดท้ายนี้ เราทุกคนล้วนโหยหาการละหมาดวันศุกร์ด้วยหัวใจที่โศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง แต่ดังที่ทราบกันดีจากข้อมูลที่ได้รับจากหะดีษของท่านนบีว่า เราจะยังคงได้รับผลบุญของการงานใดก็ตามที่เป็นการงานที่ดีแม้ว่าเราจะถูกยับยั้งไม่ให้กระทำด้วยเหตุผลใดก็ตาม ฉะนั้นเราจะต้องให้กำลังใจตนเองด้วยกับความจริงที่ว่า ผู้ที่ร่วมละหมาดวันศุกร์เป็นประจำและมุ่งหวังที่จะกระทำมันอย่างต่อเนื่อง พวกเขาจะได้รับผลบุญของการละหมาดแม้จะมีอุปสรรคมาขวางกั้นมิให้พวกเขาสามารถรวมตัวกันละหมาดวันศุกร์ก็ตาม
อัลลอฮฺเท่านั้นทรงรู้ดียิ่ง
| ชัยค์ ยาสิร กอฎีย์
Reference: http://tiny.cc/bknwlz
Cr.Book Station