“มินฟิกฮ์เดาละฮ์ ฟิลอิสลาม – ศาสตร์ว่าด้วยรัฐในหลักการอิสลาม” ของชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์ [ตอนที่ 2 ]

  • อัตลักษณ์ของรัฐในอิสลาม

ศาสนาอิสลามผสมผสานศาสนาและรัฐเข้าด้วยกัน โดยไม่มีการแยกระหว่างทางโลกกับศาสนา  เช่นเดียวกับที่อิสลามพยายามสร้างบุคคลที่ดี ครอบครัวที่ดีและสังคมที่ดี อิสลามก็พยายามสร้างรัฐที่ดีด้วย

รัฐในศาสนาอิสลามไม่ใช่รูปแบบของรัฐที่โลกรู้จักมาก่อนหรือหลังอิสลาม แต่ค่อนข้างเป็นรัฐที่แตกต่างจากสิ่งอื่นใด โดยมีจุดมุ่งหมาย แนวทาง องค์ประกอบ และคุณลักษณะเฉพาะ

เพราะเป็นรัฐพลเรือนที่ปกครองโดยศาสนาอิสลาม และตั้งอยู่บนพื้นฐานของพันธะสัญญา(บัยอะฮ์) การปรึกษาหารือ(ชูรอ) และความยุติธรรม

เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกคัดเลือกมาจากผู้มีความสามารถด้านต่างๆ และมีความซื่อสัตย์  ไม่มีสถานะของนักบวชหรือศาสนา และไม่เป็นรัฐเซคคิวลาร์ที่ปฏิเสธและเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนา หรือถือว่าเป็นยาฝิ่นของประชาชาติ แยกศาสนาออกจากชีวิตและสังคมด้านต่างๆ และไม่ใช่รัฐที่ปฏิเสธผู้ไม่เชื่อในศาสนาอิสลามในดินแดนของอิสลาม แต่ยินดีต้อนรับพวกเขาตราบเท่าที่พวกเขายอมรับบทบัญญัติทางสังคมเหนือพวกเขา  ส่วนสิ่งที่เกี่ยวกับความเชื่อ ความศรัทธาและเงื่อนไขส่วนตัวของพวกเขา ต่างศาสนิกมีอิสระที่จะปฏิบัติตามสิ่งที่ศาสนาของพวกเขาบัญญัติ

รัฐในศาสนาอิสลามเป็นสถานที่นัดพบของศาสนาและทางโลก  การผสมผสานของวัตถุสสารกับจิตวิญญาณ ความสมานฉันท์ระหว่างอารยธรรมกับความมีคุณธรรม และการรวมเป็นหนึ่งของหมู่ภูมิบุตร ภายใต้ร่มธงของอัลกุรอานที่ควบคู่กับความรู้และปัญญาพร้อมกันไป และไม่ใช่แค่เครื่องมือรักษาความปลอดภัยที่ปกป้องจากการรุกรานภายในหรือการบุกรุกจากภายนอก

เป็นรัฐที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับคำสอน หลักการ และศีลธรรมของศาสนาอิสลาม และทำให้หลักการและศีลธรรมเหล่านั้นเป็นจริงที่จับต้องได้  และเป็นรัฐให้คำแนะนำสั่งสอน ไม่ใช่รัฐเน้นหารายได้ภาษี

รัฐในอิสลาม ไม่มีสถานะศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ปกครอง ที่ทำให้เขาอยู่เหนือความรับผิดชอบหรือการพิจารณาคดี  ผู้ปกครองเป็นเพียงตัวแทนของประชาชน  เป็นเพียงประชาชนคนหนึ่ง ที่มีถูกและผิด มีดีและชั่ว และถ้าเขาถูก ผู้คนต้องเชื่อฟังและร่วมมือช่วยเหลือ และถ้าทำผิดพลาด ประชาชนก็จะตรวจสอบสวนและปรับปรุงแก้ไข

รัฐในอิสลามไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการปกครองและการตัดสินใจของคนๆเดียว หรือครอบครัวใด หรือตระกูลใด  แต่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยในการเลือกของผู้ปกครอง ไม่มีใครเป็นผู้นำโดยขัดต่อเจตจำนงของประชาชน

รัฐในอิสลามปกป้องสิทธิของผู้อ่อนแอ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของผู้แข็งแกร่ง บังคับความมั่งคั่งของคนรวยให้คืนให้กับคนจนผ่านระบบซะกาต และแบ่งสรรปันส่วนให้ทุกคนที่มีความต้องการต่อปัจจัยยังชีพ 

เป็นรัฐของผู้ถูกกดขี่และผู้อ่อนแอที่ถูกเหยียบย่ำด้วยเท้าของเผด็จการ รัฐในอิสลามจะยืนเคียงข้างผู้อ่อนแอและต่อสู้เพื่อความรอดของพวกเขา

เป็นรัฐแห่งสิทธิและเสรีภาพ  ทั้งสิทธิในการมีชีวิต ความเป็นเจ้าของ ความเพียงพอในปัจจัยขั้นต่ำในการดำรงชีวิต

เป็นรัฐที่ปลอดภัยในศาสนา ชีวิต เกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทอง และวงศ์ตระกูล  โดยที่เสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพในความเชื่อและการสักการะเป็นของทุกคน

เป็นรัฐแห่งการยึดมั่นในกฎหมาย เสรีภาพในการพูด ความคิดเห็น และเสรีภาพในความรู้และความคิด 

ทั้งเปิดกว้างในสำนักหลักความเชื่ออะกีดะฮ์  กฎหมาย การตีความอัลกุรอาน และตะเซาวุฟ และอื่นๆ  แตกต่างกันในด้านสำนักความคิดแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เป็นรัฐของหลักการและศีลธรรมโดยไม่เบี่ยงเบนไปจากนี้


แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

“มินฟิกฮ์เดาละฮ์ ฟิลอิสลาม – ศาสตร์ว่าด้วยรัฐในหลักการอิสลาม” ของชัยค์ยูซุฟ กอรฎอวีย์ [ตอนที่ 1]

รัฐศาสตร์อิสลาม น่าจะเป็นประเด็นที่กำลังร้อนฉ่าในนาทีนี้  นักวิชาการอิสลามหลายๆท่านได้นำเสนอข้อมูลทางวิชาการที่แตกต่างกันไป ตามทัศนะของแต่ละท่าน

ชัยค์ยูซุฟ  กอรฎอวีย์ ปูชนียบุคคลทางวิชาการอิสลามที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากหลายๆชาติ อดีตประธานสหพันธ์อุลามาอ์นานาชาติและสภาฟัตวาแห่งยุโรป ได้เขียนตำรา  “มินฟิกฮ์เดาละฮ์ ฟิลอิสลาม – ศาสตร์ว่าด้วยรัฐในหลักการอิสลาม” เป็นหนึ่งในตำราเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ในอิสลาม ที่ผู้เขียนวิเคราะห์สังเคราะห์จากหลักการศาสนาอิสลาม ตามแนวทางของนักปฏิรูปสังคมมุสลิมยุคหลัง   โดยเฉพาะทัศนะที่ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี ให้น้ำหนัก  ในประเด็นประชาธิปไตย พรรคการเมือง  การเลือกตั้ง  รัฐสภา  สิทธิทางการเมืองของสตรีและต่างศาสนิก และอื่นๆ

● โดยมีสาระพอสังเขปดังนี้

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ด้วยการเกิดขึ้นของสำนักอิสลามสายกลาง และอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นในสังคมอิสลามตลอดจนความสามารถในการขยายในแนวนอนและแนวตั้งในส่วนต่าง ๆ ของสังคม การโจมตีของกลุ่มเซคคิวลาร์ต่อแนวคิดว่าด้วยรัฐในศาสนาอิสลาม เพิ่มขึ้นเพื่อขู่ขวัญผู้คนให้หวาดกลัวอิสลาม

ชนชั้นปกครองได้เริ่มเชื่อมโยงการปกครองของศาสนาอิสลามกับระบอบศาสนจักรในคริสตศาสนา  ว่าเป็นการปกครองปกครองในพระนามของพระเจ้า ถือว่าคำสั่งของผู้นำมาจากพระบัญชาของพระเจ้า ผู้ปกครองจะไม่ถูกปฏิเสธ แม้ว่าจะทำผิดพลาด  หรืออนุญาตสิ่งที่ต้องห้ามและห้ามในสิ่งที่ได้รับอนุญาต

หนังสือนี้ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจความคิด ความหมาย ลักษณะของรัฐ เพื่อทราบความจริงของศาสนาอิสลามและจิตวิญญาณของกฎเกณฑ์ทางศาสนา

● รัฐในศาสนาอิสลาม

● สถานะของรัฐในหลักการอิสลาม

นักล่าอาณานิคมในดินแดนมุสลิมสามารถปลูกฝังความเท็จว่าอิสลามเป็นศาสนา ไม่ใช่รัฐ และไม่เกี่ยวอะไรกับการปกครอง การเมือง และด้านต่างๆของชีวิต

ทั้งที่ความจริงก็คือศาสนาอิสลามคือ ศาสนาที่ครอบคลุม คัมภีร์ของอิสลามถูกประทานลงมาเพื่ออธิบายทุกอย่าง รวมไปถึงเวลา สถานที่ และมนุษย์ นี่ไม่ใช่นวัตกรรมจากสำนักอิสลามสายกลาง แต่เป็นสิ่งที่ตำราอิสลามต่างๆได้สรุปถึงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์และธรรมชาติถึงความครอบคลุมของศาสนาอิสลาม

การสถาปนารัฐอิสลามเป็นหน้าที่สำหรับมุสลิมที่มีความสามารถ มุสลิมจะทำบาปหากไม่ปฏิบัติ และจะไม่ได้รับความรอดจากบาปนี้ เว้นแต่ได้ปฏิเสธแม้ด้วยหัวใจเมื่อไม่สามารถ  ต่อความเบี่ยงเบนไปจากกฎหมายของอัลลอฮ์ และร่วมมือกับพี่น้องมุสลิมเพื่อสร้างชีวิตวิถีอิสลามที่ชี้นำโดยหลักการอิสลามที่ถูกต้อง

ท่านศาสนทูต-ขอพรและสันติสุขจากอัลลอฮ์จงมีแด่ท่าน- พยายามสร้างรัฐสำหรับศาสนาอิสลามและเป็นถิ่นฐานสำหรับการเรียกร้องสู่อิสลาม  ในดินแดนที่ไม่มีใครมีอำนาจนอกจากอิสลาม

นี่คือตั้งแต่วันแรกที่ท่านถูกแต่งตั้ง และตั้งแต่วันแรกที่ท่านโยกย้ายไปเรียกร้องเชิญชวนตามเผ่าต่างๆ กำลังมองหาใครสักคนที่จะช่วยท่านสร้างดินแดนของศาสนาอิสลาม จนกระทั่งอัลลอฮ์ได้ให้พบกับชาวอันซอร์ นครมะดีนะฮ์จึงกลายเป็นบ้านหลังแรกของศาสนาอิสลาม และเป็นฐานของรัฐอิสลามใหม่  ในประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิม พวกเขาไม่เคยรู้จักการแบ่งแยกระหว่างศาสนากับรัฐ  ยกเว้นเมื่อศตวรรษแห่งฆราวาสนิยม ที่กำลังมีอำนาจในยุคนี้ และนี่คือสิ่งที่ผู้ส่งสารของอัลลอฮ์ ได้บอกข่าวนี้ล่วงหน้าว่า

ألا إن رحى الإسلام دائرة، فدوروا مع الإسلام حيث دار، ألا إن القرآن والسلطان سيفترقان فلا تفارقوا الكتاب، ألا إنه سيكون عليكم أمراء يقضون لأنفسهم ما لا يقضون لكم، فإن عصيتموهم قتلوكم، وإن أطعتموهم أضلوكم، قالوا وماذا نصنع يا رسول الله، قال كما صنع أصحاب عيسى بن مريم، نُشروا بالمناشير، وحملوا على الخُشب، موت في طاعة الله خير من حياة في معصية الله

“กงล้อแห่งอิสลามจะหมุนไป ไม่ว่าอิสลามจะหมุนไปทางไหนพวกท่านจงหมุนตาม  อัลกุรอานและอำนาจปกครองจะแยกจากกัน ดังนั้นอย่าแยกจากคัมภีร์  จะมีผู้ปกครองของพวกท่านที่ปกครองเพื่อพวกเขาเอง ไม่ใช่เพื่อพวกท่าน  และหากพวกท่านไม่เชื่อฟัง พวกเขาจะฆ่าพวกท่าน และหากพวกท่านเชื่อฟังพวกเขา พวกเขาก็จะพาท่านหลงทาง” พวกเขาก็กล่าวว่า “โอ้ ท่านร่อซูลุลลอฮ์ แล้วเราจะทำอย่างไร” ท่านตอบว่า “เช่นเดียวกับบรรดาสหายของพระเยซู บุตรมัรยัม ซึ่งถูกเลื่อยด้วยเลื่อย และถูกแขวนบนไม้แขวน  ความตายโดยเชื่อฟังอัลลอฮ์ ดีกว่าการมีชีวิตโดยไม่เชื่อฟังอัลลอฮ์”


แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

ไกส์ สะอีด รัฐประหารในตูนิเซีย และการวิเคราะห์สถานการณ์

การเลือกตั้ง ไกส์ สะอิด สู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐตูนิเซียนั้นเหนือความคาดหมายโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด ๆ และไม่มีความรู้เรื่องงานการเมืองมาก่อน  คุณสมบัติทั้งหมดของเขาคือเขาเป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัย และพูดภาษาอาหรับในแบบที่ไม่ปกติสำหรับผู้พูดและผู้ปฏิบัติงานการเมืองในโลกอาหรับ

ผู้ที่เลือกไม่นึกว่าสะอีดจะนำตูนิเซียมาสู่สิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แรงจูงใจหลักของชาวตูนิเซียคือการเปลี่ยนจากชนชั้นสูงทางการเมืองที่ปกครองแบบเดิมๆ ที่ชาวตูนิเซียเบื่อหน่าย มาเป็นโฉมหน้าใหม่ที่สามารถช่วยประเทศชาติจากความล้าหลังทางเศรษฐกิจ และการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างฝ่ายต่างๆ ในทุกรูปแบบและอุดมการณ์

ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง สะอีดไม่ลังเลเลยที่จะวิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นปกครอง และยังจุดชนวนความขัดแย้งด้วยการปฏิเสธกฎหมายว่าด้วยมรดกที่เท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง เขายังย้ำคำพูดของเขาว่า “ตุลาการอิสระดีกว่ารัฐธรรมนูญพันฉบับ” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเชื่อว่าประชาชนเองควรพัฒนาแผนและยุทธศาสตร์ทางปัญญาและเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนประเทศชาติหลังการปฏิวัติ โดยกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า อำนาจจะอยู่ในมือของประชาชน ผู้ตัดสินชะตากรรมและปกครองทางเลือกของตน”

โครงการของสะอีดได้กำหนดขึ้นเพื่อนำเสนอแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับสังคม และแนวความคิดนี้มีพื้นฐานมาจากท้องถิ่นสู่ระดับภูมิภาคและจากส่วนกลางเพื่อให้กฎหมายระดับชาติเป็นกฎหมายที่แสดงออกถึงเจตจำนงของประชาชน นอกจากนี้ สะอีดยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการต่อต้านการทุจริต

ทันทีที่มีอำนาจหลังชนะการเลือกตั้งในปี 2019 สะอีดต้องการพลิกโฉมวิถีทางการเมืองในแบบของตนเอง ที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางการเมืองในตูนิเซีย และปะทะกับพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคนะฮ์เฎาะฮ์ ซึ่งครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และไม่สงบจนกระทั่งหลังจากที่สะอีดเลือกนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งสะอีดได้เลือกฮิชาม  มาชีชีย์ ผู้พิพากษาอาวุโส  ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของตนในทำเนียบประธานาธิบดี

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในตูนิเซียไม่ได้มีเสถียรภาพ สะอีดปฏิเสธการแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยอ้างว่ามีบุคคลที่ทุจริตที่มาจากระบอบการปกครองก่อนหน้านี้ หลังจากนั้น สะอีดรู้สึกว่าถูกรัฐสภาและรัฐบาลมองข้าม และจบลง ด้วยการต่อต้านประชาธิปไตยในภาพรวม โดยเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา สะอีดได้บังคับนายกรัฐมนตรีที่เลือกมาเองให้ลาออก พร้อมระงับรัฐสภา 30 วัน และให้อำนาจสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรง อำนาจบริหารทั้งหมด  ทั้งฝ่ายประธานาธิบดีและฝ่ายรัฐบาล  ทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุม

ไกส์ สะอิด เชื่อว่าสิ่งที่ตนทำไม่ถือเป็นการทำรัฐประหารต่อต้านระบอบประชาธิปไตยหรือเป็นการละเมิดกฎหมาย และเห็นว่ากระทำการภายในขอบเขตที่มาตรา 80 ของรัฐธรรมนูญตูนิเซียกำหนด แต่ตีความด้วยวิธีของตนเองในการเป็นข้ออ้างการทำรัฐประหารเส้นทางประชาธิปไตย   ในขณะที่นักรัฐธรรมนูญและนักกฎหมายส่วนใหญ่ในตูนิเซีย ประณามการตีความและการกระทำของเขาดังกล่าว ในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว ผู้พิพากษา 45 คนได้ประณามอย่างรุนแรงต่อมาตรการที่ประธานาธิบดีประกาศเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่แล้ว โดยพิจารณาว่ามาตรการดังกล่าวผิดปกติและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน  รวมถึงการจำกัดเสรีภาพในการเคลื่อนไหวและการเดินทางของผู้พิพากษาเช่นเดียวกับพลเมืองคนอื่นๆ

ใครอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารของไกส์ สะอีด ต่อระบอบประชาธิปไตยของตูนิเซีย

ประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านระบอบประชาธิปไตยในตูนิเซียเป็นประสบการณ์เดียวที่รอดพ้นจากหายนะจากประสบการณ์ที่คล้ายกันซึ่งเริ่มต้นจาก “การปฏิวัติอาหรับสปริง” เมื่อกว่าสิบปีก่อน ขณะที่ประสบความสำเร็จในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์  รวมทั้งรัฐธรรมนูญที่ รับรองโดยฉันทามติและความยินยอมของสาธารณะ ตลอดจนประมุขแห่งรัฐซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และสภานิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของกระแสการเมืองและปัญญาชนส่วนใหญ่ในสังคมตูนิเซีย

ที่สำคัญที่สุด ระบอบประชาธิปไตยนี้สามารถ -แม้ว่าจะมีความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง- สร้างบรรยากาศของเสรีภาพสาธารณะและรับประกันสิทธิมนุษยชนที่ประเทศอาหรับและระบอบการปกครองอื่น ๆ ทั้งหมดต่างอิจฉา อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นปรากฎว่า ความพร้อมของกฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ของรูปแบบประชาธิปไตยในระบบการปกครองของตูนีเซียขณะนี้ไม่สามารถรับรองความแข็งแกร่งของรัฐที่ดำเนินการโดยระบบนี้ หรือประกันประสิทธิภาพที่จะทำให้ตูนิเซีย -โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการระบาดของโรคโคโรนาที่กำลังดำเนินอยู่ – สั่นสะเทือน ที่แสดงถึงการล่มสลายทางการเมือง สังคม และสุขภาพ ทำให้ประธานาธิบดีต้องใช้มาตรการพิเศษและการตัดสินใจที่เฉียบขาดตามความเห็นของตน

ข้อมูลชี้ว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารของประธานาธิบดี ไกส์  สะอีด ที่ต่อต้านรัฐธรรมนูญ เพราะอิมิเรตมุ่งมั่นที่จะยุติอาหรับสปริงซึ่งเริ่มขึ้นในตูนิเซียในปี 2011 และเป็นสิ่งที่อิมิเรตกระทำในอียิปต์ยุคประชาธิปไตย นี่คือสิ่งที่สะอีดอ้างถึงในคำกล่าวบางโอกาสว่า มีบางประเทศในภูมิภาคสนับสนุนทางการเงินและการทหาร

ล่าสุด อันวาร์ การ์กัช อดีตที่ปรึกษาทางการทูตของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ไปเยือนตูนีเซีย พร้อมกับคณะผู้แทนระดับสูง  เมื่อวันอาทิตย์ (8-8-2021) ซึ่งระบุว่า “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าใจและสนับสนุนการตัดสินใจทางประวัติศาสตร์ของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ และยังตระหนักถึงความสำคัญในการปกป้องตูนิเซียและตอบสนองต่อเจตจำนงของประชาชน”

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้พยายามมาระยะหนึ่งแล้วที่จะปิดล้อมและต่อสู้กับกระแสอิสลามในทุกส่วนของโลกอาหรับ และไม่ได้ละเว้นความพยายามใดๆ เลยนอกจากจะทำมัน  และใช้เงินหลายพันล้านเหรียญเพื่อบรรลุเป้าหมาย และยังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อขจัดอุดมการณ์อาหรับสปริงที่เริ่มต้นในตูนิเซียเช่นเดียวกัน

เป็นเรื่องแปลกที่ยูเออีเป็นหนึ่งในประเทศที่สานสัมพันธ์ปกติกับอิสราเอล ซึ่งประธานาธิบดีสะอีดในแถลงการณ์ “ใครก็ตามที่มีความสัมพันธ์กับคณะผู้แย่งชิงถือเป็นผู้ทรยศขั้นสูง” การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในแนวความคิดนี้จะเข้าใจได้อย่างไร และการสานสัมพันธ์กับอิสราเอลยังคงเป็นการทรยศสูงสุดสำหรับเขาหรือไม่ !

การเยือนไคโรของ ไกส์ ซาอีด ก่อนหน้านี้ เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการทำรัฐประหารเพื่อต่อต้านประสบการณ์ประชาธิปไตย ตราบใดที่กลุ่มอิสลามิสต์อยู่ข้างหน้าในฉากการเมือง และสิ่งนี้ได้รับการยืนยันจากการเยือนล่าสุดของ ซามิห์  ชุกรี รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์  และการเฉลิมฉลองของการเคลื่อนไหวเหล่านี้ในสื่ออียิปต์และเอมิเรตส์  โดยเห็นว่าการตัดสินใจของประธานาธิบดีตูนิเซียครั้งนี้ เป็นการลุกฮือเพื่ออิสรภาพครั้งใหม่และการสลัดพ้นจากกลุ่มอิควานมุสลิมีน”

เช่นเดียวกับการเยือนตูนีเซียของฟัยซอล ฟัรฮาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งซาอุดิอาระเบีย  และประกาศว่าราชอาณาจักรจะยืนหยัดตามมาตรการของไกส์  สะอีด  ยังไม่รวมถึงความเงียบของประชาคมระหว่างประเทศเกี่ยวกับมาตรการเหล่านี้ ไม่ได้มองว่าเป็นละเมิดประชาธิปไตย และปูทางให้ระบบเผด็จการและการกดขี่ โดยไม่ได้ประณามใดๆ  รวมถึงบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ที่ยกย่องและสนับสนุน

สถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหลังรัฐประหารนิ่มๆ

การเคลื่อนไหวประหลาดของสะอีด เกิดขึ้นหลังจากการประท้วงต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มนะฮ์เฎาะฮ์เพียงวันเดียว และหลังจากการติดเชื้อ ไวรัสโคโรน่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ตลอดจนความโกรธที่เพิ่มขึ้นต่อความไม่สมดุลทางการเมืองเรื้อรัง รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ สิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับตูนิเซียหลังจากการปฏิวัติในปี 2011 ที่จุดชนวนให้เกิด “การปฏิวัติอาหรับ” และล้มล้างการปกครองแบบเบ็ดเสร็จเพื่อสนับสนุนการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ล้มเหลวในการบรรลุความเจริญรุ่งเรือง

บางทีฉากทั่วไปในตูนิเซียจนถึงขณะนี้ สามารถคาดการณ์ได้ว่าอาจเกิดได้ 3 สถานการณ์ และผู้เขียนคิดว่า ประธานาธิบดีจะไม่ถอนการตัดสินใจ และวันและเดือนที่จะมาถึงจะเป็นพยานถึงการคาดการณ์นี้ :

สถานการณ์แรก: อาจเป็นการค้นหาทางออกตามรัฐธรรมนูญ และการลงประชามติเกี่ยวกับการตัดสินใจของประธานาธิบดี หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาก่อนกำหนด และเป็นเรื่องที่ความขัดแย้งก็ยังคงหมุนเวียนอยู่ต่อไป การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้หมายถึงการหวนคืนสู่จุดศูนย์และการดำรงอยู่ของวิกฤตทางการเมือง ทั้งด้านพลังทางการเมืองและพรรคการเมืองในทุกรูปแบบ ตลอดจนภาคประชาสังคม สถานการณ์นี้ถือว่าอันตรายน้อยที่สุด

สถานการณ์ที่สอง: ยืดเวลาวิกฤต กำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน และขัดขวางชีวิตทางการเมืองและพลเรือนระหว่างที่ซาอิดเป็นประธานาธิบดีตูนิเซีย ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับกองกำลังต่อต้านการปฏิวัติ  แต่สถานการณ์นี้จะก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองและสังคมในตูนิเซีย

สถานการณ์ที่สาม: การทำรัฐประหารโดยสมบูรณ์และชัดเจน เช่น แบบจำลองอียิปต์ การกดขี่เสรีภาพ และการปิดปาก ซึ่งถือเป็นการก่อรัฐประหารทางเศรษฐกิจและการเมือง และต้องใช้เงินทุนระยะยาว และฉันคิดว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ โดยเฉพาะ ด้วยการสนับสนุนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดิอาระเบียในการต่อต้านการปฏิวัติ ดังนั้นจึงต้องใช้ความโหดร้ายและการปราบปรามอย่างมาก และสิ่งนี้นำไปสู่ความโกลาหล เนื่องจากภาคประชาสังคมของตูนิเซียสามารถคัดค้านสถานการณ์นี้ได้ ข้าพเจ้าไม่ได้ตัดเรื่องนี้ออกไปเป็นการส่วนตัว เมื่อพิจารณาถึงสภาพการแก้แค้นที่ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติชอบที่จะขจัดสิ่งที่เหลืออยู่ของการปฏิวัติอาหรับ

ชาวตูนิเซียจะมีความคิดเห็นที่ต่างออกไปและขัดขวางสถานการณ์เหล่านี้ทั้งหมดหรือไม่ โดยที่จะเป็นผู้มีอำนาจตัวจริงและมีความสามารถที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเองไว้ได้หรือไม่ และฝ่ายการเมืองและพรรคการเมืองจะมองข้ามความแตกต่างที่เพิ่มมากขึ้นทุกวี่วัน และจะรวมตัวกันเพื่อเผชิญกับรัฐประหารครั้งนี้และกำหนดวาระร่วมกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ ประชาธิปไตย หรือฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติที่สนับสนุนสะอีดจะมีชัยในที่สุด !

ฉันหวังว่า ชาวตูนิเซียจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนสถานการณ์ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองมากที่สุด และทำให้เจ้าชายแห่งการปฏิวัติที่ต่อต้านการปฏิวัติผิดหวัง  อย่างที่เกิดขึ้นในตุรกี เมื่อชาวตุรกีลุกขึ้นเผชิญหน้ากับรัฐประหารในเดือนกรกฎาคม 15 ต.ค. 2016 และเสียสละเพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยของตนเองโดยไม่พึ่งพิงจากภายนอก และเชื่อว่าเสรีภาพไม่ใช่ของบริจาค แต่ต้องแย่งชิงมา

โดยสรุป ฉันขอพูดว่า: การปกครองแบบเผด็จการคือการกำหนดเจตจำนงของคนบางคนและเครือข่ายของเขา ทำลายเจตจำนงของปวงชน ทำลายจิตวิญญาณของประชาชน ทำลายความเป็นไปได้ของความก้าวหน้าของพวกเขา กำจัดเจตจำนงของประชาชน ยกเลิกเหตุผลสำหรับการดำรงอยู่ของพวกเขา ลิดรอนทรัพย์สิน  เกียรติ สติปัญญา ปิดปาก ริบเสรีภาพ และเคียงคู่มากับการทุจริตที่จะทำลายบ้านเมืองให้พังพินาศย่อยยับ

บทความโดย: ดร.จามาล นัศศอร์ กรรมการสหพันธ์อุลามาอ์อิสลามนานาชาติ


แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

อ่านต้นฉบับ

https://bit.ly/3jMZXGM

ปรัชญาฮัจญ์

ฮัจญ์ คือ การรวมตัวของมนุษยชาติที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่สามารถรวบรวมประชาคมโลกที่ก้าวพ้นพรมแดนแห่งชาติพันธุ์ ภาษาและวัฒนธรรม มุสลิมทุกคนต้องประกอบพิธีฮัจญ์แม้ครั้งเดียวในชีวิต หากมีความสามารถ ฮัจญ์คือเทศกาลประจำปีระดับนานาชาติที่เชิญชวนและเรียกร้องมนุษยชาติให้หวนรำลึกและฟื้นฟูบรรยากาศแห่งอีมาน การตักวา การยึดมั่นในคำสอน การฝึกฝนความเป็นน้ำหนึ่งเดียว รับทราบ ศึกษาและร่วมแก้ไขวิกฤติปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนสร้างความเชื่อผมั่นในศักยภาพและศักดิ์ศรีของอิสลามและมุสลิม

            มุสลิมทุกคนจึงใฝ่ฝันที่จะประกอบพิธีฮัจญ์และมีใจที่ผูกพันกับบัยตุลลอฮฺทุกอณูชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับฮัจญ์มับรูรฺ ที่ไม่มีผลตอบแทนใดๆ ที่คู่ควรเว้นแต่สรวงสวรรค์ของอัลลอฮฺเท่านั้น

ฮัจญ์มับรูรฺจึงแฝงด้วยปรัชญาอันมากมาย ส่วนหนึ่งสรุปได้ดังนี้

1. ฮัจญ์คือสัญลักษณ์ความเป็นเอกภาพ

            เอกภาพด้านการศรัทธา ซึ่งผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องมีจิตใจที่บริสุทธิ์เพียงเพื่ออัลลอฮฺและมุ่งมั่นสืบสาน จริยวัตรของนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) เท่านั้น

            เอกภาพด้านการปฏิบัติ ซึ่งผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและเงื่อนไขต่างๆ ของฮัจญ์ด้วยรูปแบบที่เหมือนกัน ในช่วงเวลาอันเดียวกัน ณ สถานที่แห่งเดียวกัน ลักษณะการแต่งกายที่เหมือนกัน ภายใต้การนำแห่งต้นแบบของผู้นำคนเดียวกันคือนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) โดยผ่านการอรรถาธิบายของนักวิชาการมุสลิมที่ได้รับการยอมรับ

2. ฮัจญ์คือภาพสะท้อนแห่งสาสน์สากลของอิสลาม

                การก่อร่างสร้างประภาคารแห่งอิสลามได้เริ่มต้นด้วยบรรยากาศแห่งสากล ดังจะเห็นได้จากบรรดา  เศาะหาบะฮฺรุ่นแรกที่เป็นเสาหลักแห่งการเผยแผ่อิสลามซึ่งประกอบด้วยอะบูบักร์ที่มาจากตระกูลกุเรชอาหรับ      ศุฮัยบฺจากกรุงโรม บิลาลทาสผู้เสียสละจากอะบิสสิเนีย ซัลมานผู้ดั้นด้นแสวงหาสัจธรรมจากเปอร์เซีย ตลอดจนชาวอาหรับที่คลั่งไคล้และยึดมั่นในเผ่าพันธุ์วงศ์ตระกูล อิสลามสามารถผนวกรวมผู้คนเหล่านั้นให้อยู่ภายใต้ร่มเงาแห่งอิสลาม และเลื่อมใสศรัทธาคำสอนของนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ที่กล่าวไว้ความว่า “ท่านทั้งหลาย จงเป็นบ่าวของอัลลอฮฺฉันท์พี่น้องกันเถิด”(บุคอรีและมุสลิม)

            คลื่นมหาชนที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศที่กำลังเฏาะวาฟรอบๆ บัยตุลลอฮฺ ทำให้เรานึกถึงดาวเคราะห์ต่างๆ ในระบบสุริยจักรวาลซึ่งล้วนเป็นบริวารที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ในขณะที่ดวงอาทิตย์ก็เป็นเพียงดาวเคราะห์เพียงดวงหนึ่งในระบบแกแล็กซี่อันกว้างไพศาลที่ต้องโคจรตามระบบที่ถูกกำหนดไว้ เช่นเดียวกันกับมนุษย์บนโลกนี้ ที่ต้องโคจรตามระบบบัยตุลลอฮฺ ไม่ว่าขณะเฏาะวาฟหรือขณะดำรงละหมาดที่มุสลิมทั่วโลกต่างผินหน้าไปยังบัยตุลลอฮฺเป็นประจำอย่างน้อย 5 ครั้งต่อวัน ในขณะที่บัยตุลลอฮฺก็เป็นเพียงสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงถึงความนอบน้อมและศิโรราบภายใต้อำนาจของอัลลอฮฺผู้บริหารสากลจักรวาล

3. ฮัจญ์คือการปฏิเสธความเหลื่อมล้ำและวรรณะของมนุษย์

อิสลามปฏิเสธระบบที่วางมนุษย์บนขั้นบันไดของชนชั้นวรรณะ อิสลามสอนว่าทุกคนไม่มีสิทธิวางก้ามแสดงตนเหนือคนอื่นเนื่องจากความแตกต่างด้านชาติพันธุ์หรือสีผิว ไม่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างยาจกกับมหาเศรษฐี ชนผิวขาวกับชนผิวดำ นายหรือบ่าวไพร่ เจ้าหน้าที่หรือประชาราษฎร์ ทุกคนจะอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกันหมด เมื่อผู้ประกอบพิธีฮัจญ์เริ่มตั้งใจอิหฺรอมที่มีก็อต ( Miqat หมายถึง จุดพรมแดนที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องตั้งใจและปฏิบัติตามเงื่อนไขของฮัจญ์) โดยการห่มกายด้วยผ้าขาวสองผืน ซึ่งเปรียบเสมือนแม่น้ำลำคลองจำนวนล้านๆ สายที่ไหลบรรจบเข้าสู่มหาสมุทรซึ่งกลายเป็นน้ำทะเลที่มีลักษณะเดียวกันหมด ฉันใดฉันนั้น ผู้คนที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศเป็นจำนวนล้านๆ คน ก็จะกลายเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันเมื่อเข้ามาบรรจบ ณ มีก็อต(Miqat) เพื่อหลอมรวมเข้าสู่มหาสมุทรแห่งกระบวนการฮัจญ์อย่างพร้อมเพรียงกัน

ทุกคนไม่มีสิทธิแอบอ้างความเป็นอภิสิทธิชน เว้นแต่ด้วยการตักวา(การยำเกรงต่อพระเจ้า)เท่านั้น

4. ฮัจญ์คือโอกาสให้มุสลิมหวนรำลึกประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของอิสลาม

ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จะได้ประจักษ์ด้วยสายตาถึงแหล่งกำเนิดของอาทิตย์อุทัยแห่งทางนำและรัศมีอิสลามที่ได้เจิดจรัสทั่วสากล ซึ่งจุดประกายโดยนบีมูฮัมมัด(ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) ได้สัมผัสร่องรอยการเสียสละของบรรดาเศาะหาบะฮฺ(เหล่าสาวก) ตลอดจนหวนรำลึกการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของสามพ่อแม่ลูก(นบีอิบรอฮีม นบีอิสมาอีลและฮาญัร)ซึ่งกลายเป็นต้นตำรับของการประกอบพิธีฮัจญ์ที่มีการสืบสานมาโดยอนุชนรุ่นหลังเป็นเวลานับพันๆ ปี และจะยังคงอยู่จวบจนสิ้นฟ้าแผ่นดิน บรรดาฮุจญาจสามารถอ่านตำราเล่มใหญ่นี้ด้วยการพินิจพิเคราะห์จากสถานที่จริง เพื่อนำเป็นบทเรียน เติมเต็มกำลังใจและข้อเตือนสติตลอดไป

5. ฮัจญ์ คือ กระบวนการพัฒนาจิตวิญญาณและขัดเกลาจิตใจ

ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ได้รับโอกาสพัฒนาและขัดเกลาจิตใจให้สูงส่ง ตัดขาดจากความโกลาหลของโลก    ดุนยา พวกเขาสวมใส่ผ้า 2 ผืนที่ไม่มีการเย็บถักปักรอย ไม่สามารถแม้กระทั่งใส่น้ำหอม หรือร่วมหลับนอนกับภรรยาของตนเอง ผู้ที่กำลังประกอบพิธีฮัจญ์นั้น พวกเขากำลังสลัดทิ้งการใช้ชีวิตอย่างปกติ สู่การเป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่สำรวม หัวใจที่ยำเกรง ลิ้นที่หมั่นเปล่งเสียงตัลบียะฮฺ ดุอา ซิกิร อ่านอัลกุรอาน เพื่อป่าวประกาศถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ มีจิตใจที่สำรวมและสำนึกในความผิดพลาดของตนเอง

บรรยากาศของผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ที่กำลังสะอีย์ระหว่างเขาเศาะฟาและเขามัรวะฮฺจำนวน 7 รอบนั้น เป็นการเสี้ยมสอนให้มุสลิมตระหนักว่า ในโลกแห่งความป็นจริง หากมุสลิมเดินบนเส้นทางอันเที่ยงตรงควบคู่กับการยึดมั่นธงนำที่ถูกต้องแล้ว มุสลิมจะก้าวสู่หลักชัยและไม่มีวันหลงทางเป็นอันขาด

เส้นทางอันเที่ยงตรงสำหรับมนุษยชาติคืออิสลาม ในขณะที่ธงนำที่ได้รับการประกันความถูกต้องคือ  อัลกุรอานและสุนนะฮฺ ที่ผ่านการอรรถาธิบายจากบรรดานักวิชาการมุสลิมที่ได้รับการยอมรับ

6. ฮัจญ์ คือ การสัญจรสู่ถนนแห่งอาคิเราะฮฺ

ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องออกจากบ้านเกิดเมืองนอนซึ่งจำต้องห่างเหินกับครอบครัว พี่น้องผองเพื่อนและบ้านเกิด เปรียบเสมือนผู้ที่พรากจากโลกดุนยา ซึ่งต้องสูญสิ้นทุกอย่างแม้แต่คนรัก ในขณะที่การอาบน้ำ หรือการอาบน้ำละหมาดและการหุ้มกายด้วยผ้า 2 ผืน ก็เปรียบเสมือนการห่อหุ้มศพของผู้เสียชีวิตที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องดำเนินการให้แก่ตนเองก่อนที่จะให้คนอื่นดำเนินการแทนในลักษณะเช่นนี้เมื่อสิ้นชีวิตไป

 การวุกุฟที่อะเราะฟะฮฺที่ควบคู่กับการรำลึกและดุอาต่อเอกอัลลอฮฺ ก็เสมือนสภาพของมนุษย์ที่ถูกฟื้นคืนชีพในวันกียามะฮฺที่ทุกคนกลับไปหาสู่อัลลอฮฺโดยอาศัยเสบียงแห่งตักวาและอีมานเท่านั้น มุสลิมได้รับการฝึกฝนให้ยอมรับสภาพของการกลับหาสู่อัลลอฮฺในขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่ ก่อนที่เขาจะกลับสู่อัลลอฮฺอย่างแท้จริงเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว

ช่างเป็นบรรยากาศที่มีความหมายอันลึกซึ้งที่สามารถเตือนสติแก่ผู้มีปัญญาทั้งหลาย

7. ฮัจญ์คือเวทีภาคปฏิบัติจรรยามารยาทอันสูงส่ง

ตลอดระยะเวลาของการทำฮัจญ์ ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องฝึกฝนให้อยู่ในระเบียบวินัย รู้จักควบคุมอารมณ์ เชื่อฟังผู้นำผู้ทรงคุณธรรม บากบั่นต่อสู้กับความยากลำบากและความเหนื่อยล้าด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ทักทายผู้คนด้วยสลาม ให้อาหาร ใช้วาจาที่สุภาพอ่อนโยน การมีมารยาทอันสูงส่ง และยับยั้งอารมณ์ตนเองมิให้พลาดพลั้งกระทำสิ่งต้องห้ามและสิ่งอบายมุขต่างๆโดยเฉพาะการร่วมหลับนอนกับภรรยาและสิ่งที่กระตุ้นอารมณ์ทางเพศการกระทำอบายมุข และการทะเลาะเบาะแว้ง ตลอดจนหมั่นกระทำความดีทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของฮัจญ์มับรูรฺ เพื่อนำไปปฏิบัติเป็นวิถีชีวิตยามกลับสู่มาตุภูมิต่อไป

8.  ฮัจญ์คือการประยุกต์ใช้สาสน์แห่งสันติภาพ

ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์คือผู้ใฝ่สันติ เขาไม่สามารถสร้างความเดือดร้อนใดๆไม่ว่าต่อตนเอง ผู้อื่นสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เหล่าสิงสาราสัตว์แม้กระทั่งกิ่งก้านหรือใบไม้เล็กๆ ก็ตาม ช่วงเวลาการทำฮัจญ์คือช่วงเวลาแห่งสันติ ในขณะที่มักกะฮฺคือดินแดนและอาณาบริเวณที่สันติสุข ดังนั้นผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จึงซึมซาบบรรยากาศของสันติภาพทั้งเงื่อนไขแห่งเวลาและสถานที่ เพื่อฝึกฝนให้มุสลิมสร้างความคุ้นเคยในภาคปฏิบัติสู่การประยุกต์ใช้วิถีแห่งสันติในชีวิตจริงต่อไป

สิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของปรัชญาฮัจญ์มับรูรฺ ที่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องศึกษาเรียนรู้และให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง รู้จักประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อกลับสู่มาตุภูมิ หาไม่แล้วฮัจญ์ก็เป็นเพียงทัศนาจรราคาแพงที่มีการเก็บออมและลงทุนทั้งชีวิต แต่ไม่สามารถเกิดดอกออกผลในชีวิตจริง สังคมมุสลิมก็ตกในวังวนแห่งการบูชาพิธีกรรมและเทศกาลที่ไม่มีผลต่อระบวนการพัฒนาเลย วัลลอฮฺ อะอฺลัม.


โดย Mazlan Muhammad

สารร้อนจากตุรกีเรียกร้องและสั่งสอนชัยค์อัซฮัรและมุฟตีอียิปต์

ศาสตราจารย์มุฮัมมัด กูร์มาซ อดีตหัวหน้าฝ่ายศาสนาของตุรกี ปัจจุบันดำรงหัวหน้าสถาบันความคิดอิสลาม ได้ส่งสารด่วนถึงชัยค์อะหมัด  ตอยยิบ ชัยค์อัซฮัรและเชากี  อัลลาม มุฟตีอียิปต์

สารดังกล่าวปรากฏในวิดีโอที่เผยแพร่โดยกูรมาซ  เมื่อวันเสาร์ 27/6/2021  ซึ่งเน้นย้ำถึง “ความจำเป็นในการกดดันต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจในอียิปต์เพื่อให้เปลี่ยนใจในการพิพากษาประหารชีวิตนักวิชาการและปัญญาชน 12 คน หลังจากการพิจารณาคดีและการจำคุกเป็นเวลานาน เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในอียิปต์ตั้งแต่ปี 2013”

กูร์มาซเตือนว่า “การดำเนินการประหารชีวิตนี้จะเป็นอันตรายต่อมวลประชาชาติอิสลาม ทั้งในด้านการเมืองและศาสนา เพิ่มความบาดหมางกันและขยายขอบเขตการละเมิดระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของอียิปต์”

ศ.กูร์มาซ เน้นว่า “ใครก็ตามที่ออกฟัตวาและลงนามในคำพิพากษานี้จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ว่าเป็นมุฟตีเลือดและปืน”

กูร์มาซกล่าวว่า “การตัดสินประหารชีวิตนักวิชาการและนักคิดเหล่านี้เนื่องจากแรงกดดันทางการเมืองนั้น  ขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับหลักการของอิสลามที่เรียกร้องให้เคารพความศักดิ์สิทธิ์ของเลือดและชีวิตของชาวมุสลิม เคารพในความคิดและเสรีภาพ และเรียกร้องความเป็นธรรมและความยุติธรรม  แม้ในเหตุการณ์การแข่งขันทางการเมือง”

ศ.กูร์มาซแสดงถึงการยอมรับต่อเงื่อนไขทางการเมืองที่อียิปต์กำลังเผชิญอยู่ โดยถือว่าเป็นความพยายามในการยุติความขัดแย้งภายในทุกประเด็นที่พยายามบ่อนทำลายความมั่นคงของสังคมอียิปต์และติดหล่มความไม่สงบ”

กูร์มาซเรียกร้องมุฟตีของอียิปต์ ซึ่งเป็นผู้ลงนามรับรองการประหารชีวิต ให้ตรวจสอบคำพิพากษาดังกล่าว และพยายามใช้บทบาทอำนาจที่มีเพื่อปกป้องรักษาชีวิตของชาวมุสลิม โดยเน้นว่า “ประชาชาติอิสลามจะไม่มีวัน ลืมความเมตตากรุณาของทุกคนที่ยืนหยัดเพื่อสัจจธรรม และหยุดยั้งการสร้างความเดือดร้อนต่อชาวมุสลิม และพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาความเป็นเอกภาพและความสามัคคีของมุสลิม”

กูร์มาซเตือนให้รำลึกถึงบทบาทของดินแดนอียิปต์อันมีเกียรติในยุครุ่งอรุณแห่งอิสลามในฐานะที่เป็นแหล่งกำเนิดนักวิชาการและที่พักพิงสำหรับนักศึกษาหาความรู้”

นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า “ไม่มีใครปฏิเสธสถานะของอัลอัซฮาร์โดยเฉพาะและอียิปต์ในประเทศอิสลาม ยกเว้นผู้เนรคุณ” โดยเน้นว่า “ศักดิ์ศรีอันยิ่งใหญ่นี้ทำให้อียิปต์มีความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ และได้กลายเป็นบทบาทต้นแบบสำหรับโลกอิสลาม และเป็นที่ยอมรับในด้านวิทยาการ ความยุติธรรม ความเคร่งครัดในศาสนา  จริยธรรม อารยธรรม และความทันสมัย”

เขากล่าวเสริมว่า “จากทั้งหมดที่กล่าวมา เรารู้สึกตกใจกับข่าวการพิพากษาประหารชีวิตนักวิชาการและนักคิดชาวอียิปต์ 12 คน หลังจากการพิจารณาคดีและจำคุกเป็นเวลานาน”

กูร์มาซกล่าวต่อชัยค์อัซฮัรและมุฟตีอียิปต์ ว่า “ตามหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม มุฟตีเป็นผู้สืบทอดพระศาสดาในการปฏิบัติหน้าที่วินิจฉัยบทบัญญัติศาสนา และมุฟตีเป็นผู้ลงนามในนามของอัลลอฮ์ ไม่ใช่ผู้ลงนามในนามการเมือง รัฐบาล และผู้มีอำนาจ ผู้ใดฟัตวาตามความรู้สึกหรือการคาดเดา  ถือเป็นการอ้างเท็จต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์โดยปราศจากความรู้ และรับบาปของผู้ที่ขอคำฟัตวา”

กูร์มาซปิดท้ายคำแถลงโดยอายะฮ์อัลกุรอานที่ว่า

 “وَلَا تَقُولُوا لِمَا تَصِفُ أَلْسِنَتُكُمُ الْكَذِبَ هَٰذَا حَلَالٌ وَهَٰذَا حَرَامٌ لِّتَفْتَرُوا عَلَى اللَّهِ الْكَذِبَ ۚ إِنَّ الَّذِينَ يَفْتَرُونَ عَلَى اللَّهِ الْكَذِبَ لَا يُفْلِحُونَ”.

“และอย่าพูดในสิ่งที่ลิ้นของท่านโกหกว่าสิ่งนี้หะลาลและสิ่งนั้นฮาราม เพื่อการอ้างเท็จต่ออัลลอฮ์  ผู้ที่อ้างเท็จต่ออัลลอฮ์จะไม่ประสบความสำเร็จ”

ทั้งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน 2021 ศาลอุทธรณ์ของอียิปต์ อันเป็นศาลสูงสุดในระบบศาลยุติธรรมของอียิปต์ ได้พิพากษายืนให้ประหารชีวิตบุคคล 12 คน ขณะที่ปรับเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต (25 ปี) กับผู้ต้องหาอีก 32 คน

คำตัดสินเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากการพิจารณาคดีของจำเลย 739 คนในคดีที่มีส่วนร่วมในการต่อต้านรัฐประหารที่จัตุรัสรอบีอะฮ์ อัล-อดาวิยะฮ์ ในกรุงไคโร ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2013 ในคดีที่เรียกว่า “คดีสลายการชุมนุมที่รอบีอะฮ์” ซึ่งผู้สนับสนุนประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มุร์ซีแห่งอียิปต์ได้เข้าร่วมประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายหลายพันคน

ฟิลิป ลูเทอร์ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและสนับสนุนโครงการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวดังกล่าว โดยกล่าวว่า “โทษประหารชีวิตที่รุนแรงเหล่านี้ถูกพิพากษาปี 2018 หลังจากการไต่สวนคดีหมู่อย่างไร้ความเป็นธรรมอย่างร้ายแรง ถือเป็นความอัปยศที่ทำลายชื่อเสียงของศาลสูงสุดของอียิปต์” พร้อมกับเรียกร้องรัฐบาลอียิปต์ให้ออกคำสั่งอย่างเป็นทางการให้หยุดการดำเนินการตามคำพิพากษา และพิจารณาคดีใหม่อีกครั้งต่อผู้ประท้วงที่เคยถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานก่ออาชญากรรมรุนแรง ในการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมและเป็นกลางโดยไม่ใช้โทษประหารชีวิต”

ในส่วนของ Human Rights Watch International ในวันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน 2026 ได้เรียกร้องให้ทางการอียิปต์ลดโทษประหารชีวิตนักโทษ 12 คน รวมทั้งผู้นำของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม ในคดีที่สื่อเรียกว่า “คดีสลายการชุมนุมที่รอบีอะฮ์” ที่โดดเด่นได้แก่ มุฮัมมัด บัลตาจี อับดุรรอหมาน อัลบัรร์ และอุซามะฮ์  ยาซีน อดีตรัฐมนตรีในยุคมุรซี

ในคำแถลงของโจ สตอร์ก รองผู้อำนวยการฝ่ายตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ของ  Human Rights Watch International เรียกร้องให้ประธานาธิบดีซิซีของอียิปต์หยุดโทษประหารชีวิตทันที

ในบริบทเดียวกัน นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนจากอียิปต์และทั่วโลก และองค์กรระหว่างประเทศ ทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ รัฐบาลอียิปต์ยุติการประหารชีวิตนักการเมืองอียิปต์จำนวนหนึ่งตามคำพิพากษาที่เพิ่งออกมาเมื่อเร็วๆ นี้”

ผู้ลงนามในจดหมายแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่นับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2013 ทางการอียิปต์ได้เปลี่ยนกลไกการพิจารณาคดีให้เป็นระบบการปราบปรามแบบบูรณาการ ซึ่งได้ออกคำพิพากษาโทษประหารชีวิตฝ่ายตรงข้ามจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และได้ดำเนินการประหารชีวิตฝ่ายตรงข้ามไปหลายสิบคน

ผู้ลงนามเน้นว่า “โทษประหารชีวิตเหล่านี้แสดงถึงการละเมิดพันธสัญญาระหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน เนื่องจากคำพิพากษาเหล่านี้ส่วนใหญ่ออกมาหลังจากการพิจารณาคดีที่ขาดมาตรฐานความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่สุดก่อน ที่ศาลพิเศษที่ทางการอียิปต์จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินคดีฝ่ายตรงข้ามหรือนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมทั้งหมด”

พวกเขาย้ำว่า “การปฏิบัติของรัฐบาลซีซี ละเมิดสนธิสัญญาทั้งหมดที่เขาทำกับสหภาพยุโรปภายใต้ปฏิญญาความร่วมมืออียิปต์-ยุโรป ที่ซีซีได้ยืนยันการเคารพสิทธิมนุษยชนและข้อตกลงที่เกี่ยวข้อง”

พวกเขาเน้นว่า “ระบอบการปกครองของอียิปต์จะไม่ออกคำสั่งประหารชีวิตต่อไปโดยปราศจากความเงียบของยุโรป ที่ยังเพิ่มความร่วมมือกับระบอบซิซีและการเยือนของผู้นำยุโรปไปยังอียิปต์ การต้อนรับซีซีในปารีสปี 2020 และ 2021 และมอบรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดให้”

ผู้ลงนามในจดหมายฉบับนี้ ได้แก่ Mohamed Mahsoub Darwish อดีตรัฐมนตรีและศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของอียิปต์ Ayman Nour หัวหน้าพรรค Ghad Al-Tawra, Bahey El-Din Hassan นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวอียิปต์ และ Mohamed El-Feki หัวหน้าของฟอรัมรัฐสภาอียิปต์เพื่อเสรีภาพ

ในบรรดาองค์กรที่ลงนามในจดหมายนั้น ได้แก่ French Rally for the Defense of Democracy in Egypt, the Association for Justice and Rights Without Borders, the Women’s Association for Human Rights, Egyptians Abroad for Democracy in Japan, and the Egyptian community in South Africa.

และองค์กรและสมาคมอิสลาม 31 แห่งได้ถือว่า “การสนับสนุนการตัดสินประหารชีวิตนี้เป็นลางร้าย และการดำเนินการตามนั้นจะเป็นความโง่เขลาและอาชญากรรมครั้งใหญ่ที่จะเปิดประตูกว้างสำหรับผลที่เลวร้าย”

คำพูดนี้ปรากฏขึ้นในแถลงการณ์ร่วมที่ออกโดยองค์กรและสมาคมเหล่านี้ ซึ่งพวกเขาแสดงความโกรธและประณามคำพิพากษาที่ออกโดยตุลาการของอียิปต์ ต่อนักวิชาการ 12 คนและผู้นำของขบวนการอิสลาม รวมถึงโทษจำคุกตลอดชีวิตต่อคนอื่น ๆ  องค์กรเหล่านั้นเรียกร้องให้เพิกถอนคำพิพากษาที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ในทันที” โดยเตือนว่าการดำรงอยู่ต่อไปของคำพิพากษาเหล่านั้นอาจระเบิดสถานการณ์และส่งผลให้เกิดการกระทำที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้

ในบรรดาสมาคมและองค์กรอิสลามที่โดดเด่นที่สุดที่ลงนามในแถลงการณ์ ได้แก่ International Union of Muslim Scholars, Association of Ahl al-Sunnah Scholars, Council of Palestinian Scholars, the Libyan Dar al-Ifta, the Council of Yemeni Scholars, สหพันธ์นักวิชาการและสถาบันอิสลามในตุรกี และสมาคมสหภาพอิสลามในเลบานอน


อ่านเพิ่มเติม

โดย Ghazali Benmad

ฟัตวาของโอไอซีว่าด้วยโคโรน่า [ตอนที่ 1]

องค์กรโอไอซี Organisation of Islamic Cooperation-OIC    เป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลกรองจากสหประชาชาติ มีสมาชิก 57 ประเทศ มีสถาบันฟิกฮ์ International Fiqh Academy ที่ประชุมที่ใหญ่ที่สุดในโลกของนักฟิกฮ์มุสลิมระดับตัวแทนของรัฐสมาชิก  จัดสัมมนาพิเศษเพื่อหารือเกี่ยวกับพัฒนาการของโคโรนาจากมุมมองทางศาสนา เมื่อ 16 เมษายน 2020 โดยมีสมาชิกคณะกรรมการฟัตวาและแพทย์เข้าร่วม 30 คน ในการประชุมแบบ“ออนไลน์”  โดยมีนักวิชาการผู้หญิงและแพทย์มีส่วนร่วม

ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับฟัตวาและแนวทางนิติศาสตร์อิสลามประมาณ 23 ข้อ เกี่ยวกับการระบาดใหญ่ของโคโรนา ในบรรดาฟัตวาที่โดดเด่นที่สุดเหล่านี้คือการอนุมัติให้ถอดอุปกรณ์ช่วยหายใจเมื่อจำเป็นออกจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัส และอนุญาตให้แพทย์ละหมาดรวม รวมถึงการอนุญาตสัญญาการแต่งงาน “ออนไลน์” นอกเหนือจากการห้ามใช้กลไก “ภูมิคุ้มกันหมู่” ในการรักษา

ต่อไปนี้ เป็นบทสรุปฟัตวาที่สภาฟิกห์ International Fiqh Academy ตามคำแถลงที่ออกโดยสภาและองค์การความร่วมมืออิสลาม

1. คำจำกัดความของโรค

โรคโคโรนาไวรัส  2019 หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “โควิด-19” คือ การติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ และองค์การอนามัยโลกประกาศอย่างเป็นทางการว่าโรคระบาดนี้เป็นโรคระบาดใหญ่ทั่วโลกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 ระดับการติดเชื้อมีตั้งแต่การเป็นพาหะไวรัสแต่ไม่มีอาการ  ไปจนถึงขั้นรุนแรง อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 2 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ แต่จะแตกต่างกันไปตามประเทศและความรุนแรงของอาการ ไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนี้ได้ มาตรการควบคุมการติดเชื้อยังคงเป็นตัวหลักในการป้องกัน เช่น การล้างมือและการระงับอาการไอ การเว้นระยะห่างทางกายภาพของผู้ดูแลผู้ป่วย นอกเหนือจากสิ่งที่เรียกว่า social distancing ระหว่างผู้คน

 2. เป็นที่ทราบกันดีว่าหลักการอิสลามมีลักษณะเด่นหลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือ การบรรเทาความยากลำบาก  การเปิดกว้าง การอำนวยความสะดวก การห่างไกลความลำบาก และการบังคับเพียงน้อย 

และหากพบว่ามีความยากลำบากและความจำเป็นแล้ว อัลลอฮ์ผู้ทรงฤทธานุภาพได้อนุญาตให้ทำสิ่งต้องห้าม และละทิ้งสิ่งที่จำเป็นต้องทำไปจนกระทั่งความจำเป็นดังกล่าวสิ้นสุดลง และนั่นคือความเมตตา ความเมตตากรุณาและความเอื้ออาทรจากอัลลอฮ์ที่มีต่อบ่าวของพระองค์

 3. ดังนั้นคนจึงมีความจำเป็นในการปกป้องชีวิตและสุขภาพ  มุสลิมต้องป้องกันตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บให้มากที่สุด และหลักการอิสลามมีหน้าที่ในการช่วยชีวิตจากการถูกทำลาย และทำให้การมีชีวิตรอดเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน โดยการป้องกันโรคและความเจ็บป่วยก่อนที่จะเกิดขึ้นและโดยการรักษาหลังจากที่เกิดขึ้น ท่านศาสดามูฮัมหมัด ศอลฯ กล่าวว่า

“عباد الله، تداووا، فإنَّ الله تعالى لم يضع داءً إلا وضع له الدواء إلا داء واحداً: الهرَمُ”،

“บ่าวของอัลลออ์ จงแสวงหายา เพราะอัลลอฮ์ผู้ทรงฤทธานุภาพไม่ได้สร้างโรคโดยไม่ได้ให้มียารักษา ยกเว้นโรคเดียว : ชราภาพ”

รวมถึงไม่อนุญาตให้สิ้นหวังในความช่วยเหลือของอัลลอฮ์หรือสิ้นหวังในความเมตตาของพระองค์ หากทว่าความหวังในการรักษาโรคให้หายควรคงอยู่  ดังนั้น ศาสนาอิสลามจึงปฏิเสธสิ่งที่เรียกว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่” ที่เรียกร้องให้ปล่อยให้โรคแพร่กระจายก่อน ซึ่งจะทำลายผู้ที่สมควรเสียชีวิต ทั้งผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะถือเป็นความล้มเหลวในการปฏิบัติต่อสิ่งจำเป็นตามหลักการรักษาโรค

4. รัฐบาลอาจกำหนดข้อจำกัดเกี่ยวกับเสรีภาพส่วนบุคคลในลักษณะที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการป้องกันการเข้าและออกจากเมือง เคอร์ฟิว กักกันพื้นที่ใกล้เคียง หรือการห้ามเดินทาง และอื่นๆ ที่จะช่วยยับยั้งไวรัส และป้องกันการแพร่ระบาด เพราะเป็นไปตามหลัก “การกระทำของผู้นำประเทศต้องรับผิดชอบต่อสังคม” เป็นไปตามกฎชารีอะฮ์ที่ระบุว่า

“تصرف الإمام على الرعية منوط بالمصلحة”

“การปฏิบัติของผู้นำต่อประชาชนเป็นไปตามอรรถประโยชน์”

5. ความสะอาดในศาสนาอิสลามเป็นศาสนกิจและการทำดีต่ออัลลอฮ์ประการหนึ่ง  ดังหลักฐานในเรื่องนี้ที่มีมากมาย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลทั่วไปและข้อควรระวังเฉพาะสำหรับโรคระบาดนี้ อันได้แก่ การล้างมือด้วยสบู่และน้ำ การสวมใส่ หน้ากากอนามัย ถุงมือ และการปฏิบัติตามคำสั่งด้านสุขภาพที่ออกโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นหน้าที่ตามกฎหมายในการป้องกันไวรัส และอนุญาตให้ใช้เครื่องฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อที่มือและพื้นผิว ที่จับ ฯลฯ ได้ เนื่องจาก “แอลกอฮอล์ดังกล่าวไม่ใช่นะจิส-สิ่งสกปรก-ตามหลักการอิสลาม”

 6. การคัดแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสถือเป็นการปฏิบัติที่จำเป็นตามหลักการอิสลาม ดังที่ทราบกันทั่วไป และสำหรับบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นพาหะของไวรัสหรือแสดงอาการของโรคในระหว่างกักตัวอยู่บ้าน ต้องปฏิบัติตามที่เรียกว่า social distancing  ต่อครอบครัวและคนทั่วไปผู้ที่มาติดต่อสัมพันธ์กับเขา รวมทั้งไม่อนุญาตให้ผู้มีอาการ บิดบังอาการของโรคต่อหน่วยงานทางการแพทย์ที่มีอำนาจ ตลอดจนผู้ที่ติดต่อกับเขา  นอกจากนี้ยังจำเป็นสำหรับทุกคนที่รู้จักผู้ติดเชื้อที่ไม่ระมัดระวังเกี่ยวกับโรค ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ด้านสุขภาพ เพราะสิ่งนี้นำไปสู่การแพร่กระจายของโรคนี้และการขยายตัวของภัยอันตราย

7. แพทย์และผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า การชุมนุมทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงเหตุผลและหลีกเลี่ยงการชุมนุมในทุกรูปแบบ

อัลลอฮ์กล่าวว่า

يا أيها الذين آمَنُوا خُذوا حِذْرَكُم

“ท่านผู้ศรัทธาทั้งหลายพึงระวังตัว” (อันนิสา : 71)

และรวมถึงการอนุญาตให้ปิดมัสยิดไม่ให้ละหมาดวันศุกร์ การละหมาดจามาอะฮ์ ละหมาดตะรอวิฮ์ การละหมาดอีด  ระงับการประกอบพิธีฮัจญ์และอุมเราะห์ การระงับกิจการ การหยุดงาน  การขนส่ง เคอร์ฟิว ปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย การใช้การศึกษาทางไกล และการปิดสถานที่ชุมนุมต่างๆ รวมถึงการปิดรูปแบบอื่น ๆ

8. เมื่อมัสยิด ที่ประชุมและกลุ่มต่างๆแล้ว  จำเป็นต้องรักษาการอะซาน เพราะเป็นหนึ่งในพิธีกรรมของศาสนาอิสลาม และมุอัซซินกล่าวในการเรียกร้องให้ละหมาด:

“صلوا في رحالكم أو في بيوتكم”

“ละหมาดในที่พักหรือในบ้านของพวกท่าน”

ตามหะดีษที่ท่านอิบนุอุมาร์และอิบนุอับบาส รายงานจากท่านศาสดามูฮัมหมัด ศอลฯ และอนุญาตให้ชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ละหมาดจามาอะฮ์ได้ หากพวกเขาต้องการ โดยไม่เชิญเพื่อนบ้าน

 9. เมื่อมัสยิดปิดทำการ ผู้คนจะละหมาดซุห์รี่ที่บ้าน แทนการละหมาดวันศุกร์ ไม่อนุญาตให้ละหมาดวันศุกร์ที่บ้าน เพราะการละหมาดวันศุกร์ที่บ้านไม่สามารถทดแทนการละหมาดวันศุกร์ที่มัสยิดได้ นอกจากนี้ หน่วยงานผู้มีอำนาจอาจจัดให้มีการกล่าวคุตบะฮ์และละหมาดวันศุกร์ในมัสยิด  ตามเงื่อนไขสุขภาพเชิงป้องกันและเงื่อนไขทางหลักฟิกฮ์  และมีการเผยแพร่ทางโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต และวิทยุ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากสิ่งนั้น แต่ไม่อนุญาตให้ปฏิบัติละหมาดวันศุกร์ที่บ้านตามอิหม่ามที่มัสยิด เนื่องจากมีระยะห่างระหว่างพวกเขา

 10. อนุญาตให้คนทำงานในสาขาสุขภาพและความมั่นคงและอื่นๆที่คล้ายกัน ในสภาวะการระบาดใหญ่นี้ ใช้ข้อผ่อนปรนด้วยการใช้วิธีการละหมาดรวม ทั้งรวมล่วงหน้าหรือรวมร่นไปภายหลัง โดยการเปรียบเทียบกับการเดินทาง  ด้วยเหตุผลความยากลำบากและความจำเป็น หรือการรวมในเชิงกายภาพ ตามทัศนะของฝ่ายที่เห็นว่าไม่อนุญาตการละหมาดรวม


 อ่านต้นฉบับ

https://www.oic-oci.org/topic/?t_id=23343&t_ref=13985&lan=ar

โดย Ghazali Benmad

อัลลอฮฺจะเมินเฉยและละเลยกับการกระทำอันต่ำตมเช่นนี้หรือ

رواه ابن ماجه من حديث البراء مرفوعاً : لزوال الدنيا أهون عند الله من قتل مؤمن بغير حق. والنسائي من حديث عبد الله بن عمرو رفعه مثله لكن قال: من قتل رجل مسلم

ดูเพิ่มเติม :

‏https://www.islamweb.net/…/%D8%B1%D8%AA%D8%A8%D8%A9-%D8…

ความหมาย

“แน่แท้ การสูญหายโลกนี้ทั้งใบ ณ อัลลอฮ์แล้ว ยังมีฐานะด้อยยิ่งกว่าการสังหารผู้ศรัทธาคนเดียวโดยไม่ชอบธรรม”

บางรายงานระบุว่า “ยิ่งกว่าการสังหารชายมุสลิม”

บางรายงานเริ่มต้นด้วย “ แน่แท้การถล่มกะอฺบะฮ์ ทีละชิ้น ทีละก้อน…”

หะดีษเหล่านี้ เพื่อยืนยันถึงคุณค่าของชีวิตผู้ศรัทธา ณ อัลลอฮ์ ที่สูงส่งยิ่งกว่าสิ่งใดในโลกนี้ แม้กระทั่งกะอฺบะฮ์ก็ตาม  จนกระทั่งสิ่งเหล่านี้แทบไม่มีราคาใดๆเลย เมื่อเทียบกับชีวิตของผู้ศรัทธาเพียงคนเดียว

ก่อนหน้านี้ ทั่วโลกชื่นชมรัฐบาลอิยิปต์ที่เป็นสื่อกลางยุติสงคราม 11 วันที่กาซ่า และส่งกองกำลังช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ให้แก่พี่น้อง จนมีข่าวว่าอิยิปต์เตรียมทุ่มงบหลายร้อยล้านดอลล่าร์เพื่อบูรณะซ่อมแซมความสูญเสียจากสงครามครั้งนี้

แต่ช่วงนี้กลับมีข่าวว่า ศาลอิยิปต์ตัดสินประหารชิวิตแกนนำประท้วงอิยิปต์ 12 คน โดยมีผลบังคับใช้ทันทีเมื่อนายซีซีย์ลงนามรับรองคำคัดสินนี้

ทั่วโลกและเสรีชนต่างเฝ้ารอการตัดสินสุดท้ายครั้งนี้อย่างเต้นระทึก

แต่สำหรับผู้ศรัทธา หะดีษข้างต้นจะระทึกยิ่งกว่า

ต่อให้นายซีซีย์ร่วมพัฒนา สร้างความเจริญให้แก่โลกนี้ทั้งใบ หรือสร้างมัสยิดทั่วทวีปและแว่นแคว้น แต่เขาไปตั้งใจสังหารชีวิตมุสลิมโดยอธรรมเพียงคนเดียว ความดีงามของเขาไม่มีค่าใดๆ ณ อัลลอฮ์ เหยื่ออธรรมของเขา จะกอดแน่นตัวเขาในขณะเลือดสาดพร้อมร้องเรียนต่อหน้าอัลลอฮ์ว่า ข้าแต่พระองค์ ถามเขาด้วยว่า เขาสังหารฉัน เพราะเหตุผลอันใด

แล้วหากเหยื่อสังหารของเขาคือผู้ศรัทธา ดาอีย์ผู้เขิญชวนผู้คนสู่ความสวยงามของอิสลาม บุคคลผู้ที่ริมฝีปากของเขาพร่ำซิกิร์และอ่านพจนารถของอัลลอฮ์ ใบหน้าที่ถูกชโลมด้วยน้ำละหมาดอยู่เป็นนิจ หน้าผากที่ก้มสุญูดต่ออัลลอฮ์ และหัวใจที่น้อมรำลึกถึงพระองค์เป็นสรณะ

ถามว่า พระองค์จะเมินเฉยและละเลยกับการกระทำอันต่ำตมเช่นนี้หรือ


โดย Mazlan Muhammad

เล่าเรื่อง “ปาเลสไตน์” ผ่านแผนที่ [ ตอนที่ 4 ]

ความเดิมจากตอนที่แล้วคือผมได้เล่าเรื่อง ‘แผนที่’ ถึงช่วงที่มีชาวยิวอพยพลั่งไหลเข้ามาในดินแดนปาเลสไตน์มากมายจนกลายเป็นปัญหา แต่องค์การสหประชาชาติก็เลือกที่จะแก้ปัญหาโดยวิธีแบ่งแยกดินแดนปาเลสไตน์ผ่านการลงมติในที่ประชุม

ก่อนที่มติอันนี้จะถูกนำไปปฏิบัติใช้ ก็เกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกเสียก่อน อันเป็นสงครามที่ชาวปาเลสไตน์ถูกขับไล่ออกไปจากบ้านเกิดของตนเองเป็นจำนวนมาก

ความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับอิสราเอลครั้งแรกปะทุขึ้นทันทีหลังจากที่มีการประกาศจัดตั้งรัฐยิวขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 กองทัพทหารของทรานซ์จอร์แดน อียิปต์และซีเรีย โดยมีพลรบจำนวนหนึ่งของเลบานอนและอิรักเข้าเสริม ได้เข้าไปยังดินแดนปาเลสไตน์ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 15 พฤษภาคม

ความจริงการปะทะกันได้เริ่มขึ้นก่อนหน้าตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 1947 แล้ว แต่ทันทีหลังจากที่สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติได้ผ่านมติ “แผนแบ่งแยกดินแดน” (Partition Plan) ในปาเลสไตน์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1947 การปะทะต่อสู้ในลักษณะสงครามกลางเมืองระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวยิวจึงเริ่มขึ้น

ฝ่ายปาเลสไตน์นั้นปฏิเสธแผนแบ่งแยกดินแดนและการจัดตั้งรัฐยิวขึ้น แต่สำหรับฝ่ายยิว หากแผนของสหประชาชาติได้รับการยอมรับก็มีความเชื่อกันว่าจะเป็นประโยชน์ต่ออิสราเอลที่อาจขยายการยึดครองทั้งหมดหรือบางส่วนของรัฐอาหรับในภายภาคหน้า

การต่อสู้ในระยะแรกปรากฏว่าชาวปาเลสไตน์เป็นฝ่ายได้เปรียบและได้รับการเสริมกำลังจากกองทัพอาหรับเพื่อนบ้าน พวกเขาสามารถปิดกั้นการติดต่อสื่อสาร โอบล้อมที่ตั้งถิ่นฐานชาวยิว ตลอดจนปิดกั้นทางเข้า-ออกของเมืองใหญ่ๆ ซึ่งรวมถึงกรุงเยรูซาเล็มเอาไว้ได้

แต่สถานการณ์เริ่มพลิกผันในช่วงปลายเดือนมีนาคม 1948 เมื่อเชคโกสโลวาเกียได้เข้าช่วยเหลือกองกำลังชาวยิว ทำให้กองทัพอิสราเอลเริ่มเป็นฝ่ายรุก

นับจากนั้นการฆ่าหมู่ (massacres) จึงเริ่มขึ้น และที่ฉาวโฉ่มากที่สุดคือ เหตุการณ์ในหมู่บ้าน ดีร ยาซีน (Dir Yassin) เมื่อวันที่ 9 เมษายน 1948 อันเป็นเหตุการณ์ที่นายทหารยิวของเมนาชิม เบกินส์ (Menachem Begin) สังหารชาวบ้านปาเลสไตน์ 250 คน ยังผลให้ความหวาดกลัวแพร่กระจายไปทั่วประชาคมปาเลสไตน์ทั้งหมด

กองทัพอาหรับได้เข้ามาแทรกแซงสงครามกลางเมืองเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม แต่ก็ล้มเหลวที่จะเปลี่ยนแนวโน้มของสงครามที่อิสราเอลกำลังได้เปรียบ ถึงแม้การต่อสู้จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แต่บางครั้งก็สงบลงจากการทำข้อตกลงหยุดยิง

อย่างไรก็ตาม นับจากเดือนกรกฎาคม 1949 เป็นต้นมา อิสราเอลกลับเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด มีการจัดตั้ง “กองกำลังป้องกันอิสราเอล” หรือ “Israeli Defence Force” (IDF) ขึ้น กองกำลังชาวยิวมีผู้บัญชาการที่เชี่ยวชาญจำนวนมาก มีการเกณฑ์กำลังพลได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม ได้รับการช่วยเหลือด้านอาวุธจากการลำเลียงขนส่งทางอากาศ (airlift) จากเชคโกสโลวาเกียจากฐานกำลังที่เมืองซาเทค (Zatec)

ความช่วยเหลือจากเชคโกสโลวาเกีย หมายความว่า สหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นมหาอำนาจที่เห็นชอบกับ “แผนแบ่งดินแดน” และยอมรับอิสราเอลในฐานะรัฐใหม่ในวันที่ 17 พฤษภาคม 1948 มีส่วนช่วยอย่างมากต่อชัยชนะของอิสราเอลในสงครามครั้งแรกนี้

อย่าลืมว่าในช่วงนั้นสหภาพโซเวียตสนใจเพียงเรื่องเดียวคือ การขจัดอิทธิพลของอังกฤษให้หมดไปจากตะวันออกกลางทั้งหมด

แผนการของสหภาพโซเวียตนับว่าบรรลุผล ความอับอายจากการพ่ายแพ้ทำให้โลกอาหรับเกิดความปั่นป่วนอย่างลุ่มลึก และอังกฤษก็ต้องจ่ายราคาค่าวิกฤตที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว เพราะมติมหาชนอาหรับเชื่อว่าอังกฤษเป็นต้นเหตุที่ผลักดันให้เกิดสงคราม

กระแสต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษแพร่กระจายไปทั่ว นุกราชิ ปาห์ชา (Nokrashi Pasha) หนึ่งในผู้นำอียิปต์ที่นิยมอังกฤษถูกลอบสังหารในเดือนธันวาคม 1948 กลุ่มชาตินิยมวักฟ์ (Wafd) ของอียิปต์ กลับมาสู่เวทีการเมืองอีกครั้งในปี ค.ศ. 1950 และต่อมาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 1952 กลุ่มนายทหารอิสระ (Free Officers) จึงได้ยึดอำนาจโค่นล้มราชวงศ์กษัตริย์ลงในอียิปต์

ในอิรักเกิดความวุ่นวายที่เพิ่มขึ้น มีการทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่าในซีเรีย แม้แต่ทรานซ์จอร์แดน ซึ่งได้รับความสำเร็จในการผนวกเวสต์แบงก์เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรจอร์แดน ก็ยังเกิดปัญหาขึ้นจากการที่กษัตริย์ อับดุลลอฮ์ โอรสของชารีฟ ฮุสเซนและเป็นปู่ของกษัตริย์อับดุลลอฮ์องค์ปัจจุบัน ก็ถูกลอบสังหารในปี ค.ศ. 1951 ที่มัสยิดอัล-อักศอ ณ กรุงเยรูซาเล็ม

เหตุการณ์ทั้งหมดยังผลให้อิทธิพลของอังกฤษค่อยๆ หมดไป

แม้อังกฤษได้รับความเสียหายจากผลลัพธ์ของสงคราม แต่เหยื่อที่แท้จริงก็คือ ชาวปาเลสไตน์ ข้อตกลงหยุดยิงที่ลงนามระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับคู่อริต่างๆ ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ถึง 20 กรกฎาคม 1949 ยังผลให้ดินแดนอิสราเอลขยายครอบคลุมร้อยละ 78 ของดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมด

ส่วนของดินแดนปาเลสไตน์จากเดิมที่สหประชาชาติเคยแบ่งเขตดินแดนให้ กล่าวคือ จากเดิมที่อิสราเอลได้แค่ 14,000 ตารางกิโลเมตรก็กลายเป็น 21,000 ตารางกิโลเมตร โดยส่วนที่ได้เพิ่มมาคือ ดินแดนกาลิลีตะวันตก (Western Galilee) ส่วนที่เป็นดินแดนของกรุงเยรูซาเล็มสมัยใหม่ และเมืองเนเกฟ (Negev) ตลอดรวมถึงท่าเรืออิลัต (Eilat) บนทะเลแดง (Red Sea)

นอกจากนั้น อิสราเอลและทรานซ์จอร์แดนยังได้แบ่งสรรดินแดนเวสต์แบงก์ระหว่างกัน ส่วนดินแดนกาซ่านั้นตกอยู่ภายใต้การอารักขาของอียิปต์ แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 750,000 คน ต้องถูกขับออกจากบ้านเรือนของตนเอง

งานเขียนของนักประวัติศาสตร์อิสราเอลสมัยใหม่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การอพยพเคลื่อนย้ายเป็นผลมาจากนโยบายการขับไล่ประชากรชาวปาเลสไตน์ นโยบายนี้ดำเนินเรื่อยไปหลังสงคราม โดยการทำลายหมู่บ้านอาหรับหรือการตั้งนิคมขึ้นใหม่เพื่อรองรับยิวอพยพในถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์หรือโดยวิธีแบ่งที่ดินของชาวปาเลสไตน์ให้แก่ประชาคมชาวยิว โดยที่กฎหมายว่าด้วยเรื่อง “ทรัพย์สินที่ถูกละทิ้ง” (abandoned property) ของอิสราเอลได้ทำให้วิธีการนั้นมีความชอบธรรม

ในกรณีของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์นั้นสหประชาชาติ (ในเดือนเมษายน 1950) ได้บันทึกไว้ว่ามีเกือบ 1 ล้านคนที่อยู่ในจอร์แดน กาซ่า เลบานอนและซีเรีย

ในเดือนธันวาคม 1948 สหประชาชาติได้ผ่านมติ “สิทธิในการกลับคืนถิ่น” ของชาวปาเลสไตน์อพยพ แต่ผู้นำอิสราเอล นายเดวิด เบนกูเรียน (David Ben Gurian) กลับปฏิเสธพร้อมทั้งประกาศเมื่อวันที่16 มิถุนายน 1948 ว่า “เราจะต้องป้องกันไม่ให้พวกเขาได้กลับคืนถิ่นในทุกวิถีทาง”

เมื่อเหตุการณ์เป็นไปในลักษณะที่อิสราเอลสามารถขยายดินแดนออกไป รัฐอาหรับเพื่อนบ้านทั้งหลายตกอยู่ในภาวะปั่นป่วน และชาวปาเลสไตน์ถ้าไม่ถูกยึดครองก็ถูกขับไล่ออกไปจากดินแดน ทำให้สงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอลครั้งแรกกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ตามมาภายหลัง

จากตรงนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมที่ทำให้ตะวันออกกลางกลายเป็นดินแดนที่เกิดการนองเลือดนับจากนั้นเป็นต้นมา


โดย Srawut Aree

เล่าเรื่อง “ปาเลสไตน์” ผ่านแผนที่ [ ตอนที่ 3 ]

ได้ข่าวมาว่าวันนี้ทั้ง Google Map และ Apple Map ได้ลบคำว่า “ปาเลสไตน์” ออกจากแผนที่ แล้วใช้คำว่า “อิสราเอล” เข้ามาแทนที่ ผมเลยลองเสิร์ชเข้าไปในทั้ง 2 เสิร์ชเอนจิน ปรากฏว่าไม่มีคำว่าปาเลสไตน์จริง ๆ มีแต่คำว่าอิสราเอล

แต่ก็ไม่แน่ใจว่าก่อนหน้านี้จะมีคำว่าปาเลสไตน์อยู่หรือไม่ เพราะไม่เคยเข้าไปเสิร์ชดูมาก่อน ถึงอย่างนั้น ผมก็ค่อนข้างแน่ใจอย่างหนึ่งว่าความพยายามในการลบแผนที่ปาเลสไตน์ออกไปจากการรับรู้ของประชาคมโลกมันเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ การเล่าเรื่องปาเลสไตน์ผ่านแผนที่ที่ผมกำลังทำอยู่นี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ให้คนที่ถูกกดขี่ได้รับความยุติธรรม หรืออย่างน้อยก็เป็นการรณรงค์ให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้และเข้าใจในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น

แผนที่อันที่ 3 นี้ขอเล่าถึงแผนการแยกแผ่นดินปาเลสไตน์ขององค์การสหประชาชาติในปี 1947 ครับ

อย่างที่ผมได้เล่าไปแล้ว หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาวยิวเริ่มเคลื่อนย้ายจากยุโรปเข้ามาอาศัยอยู่ในปาเลสไตน์จำนวนมาก ตามสถิติที่ทางการอังกฤษเองได้บันทึกเอาไว้ มีการไหลทะลักเข้ามาของชาวยิวอพยพระว่างปี 1920 ถึง 1946 มากถึง 376,415 คน (ดูข้อมูลจาก Stanford BJPA หน้า 185 ได้ครับ) จนทำให้ชาวอาหรับปาเลสไตน์ไม่พอใจ

ความขุ่นเคืองที่เกิดขึ้นท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การปะทะต่อสู้กันเป็นระลอกๆ และนับวันยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น เมื่อไม่สามารถจะควบคุมสถานการณ์ได้ อังกฤษจึงนำประเด็นปัญหานี้มอบให้แก่สถาบันระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ขณะนั้นคือ องค์การสหประชาชาติ

ในการณ์นี้สมัชชาใหญ่ของสหประชาชาติจึงได้ส่งคณะกรรมการพิเศษ (United Nations Special Commission on Palestine: UNSCOP) เข้าไปในปาเลสไตน์เพื่อศึกษาและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

รายงานของ UNSCOP ได้ออกมาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 1947 โดยได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา 2 ทาง ทางแรกเป็นแผนของคณะกรรมการส่วนใหญ่ที่ให้แบ่งปาเลสไตน์ออกเป็น 2 รัฐ คือ รัฐยิวและรัฐอาหรับโดยมีสหภาพเศรษฐกิจ (economic Union) ร่วมกัน

ทางที่สองคือ การจัดตั้งสหพันธรัฐขึ้นในปาเลสไตน์

นอกจากนั้น รายงานยังเสนอให้กรุงเยรูซาเล็มเป็น “เขตระหว่างประเทศ” (international zone) ซึ่งจะอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของสหประชาชาติโดยตรง เพราะเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ของทั้งชาวยิว คริสเตียน และมุสลิม

ชาวอาหรับนั้นปฏิเสธแผนแบ่งแยกประเทศ แต่แผนนี้กลับได้รับความเห็นชอบและได้ออกเป็นมติของสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1947

อังกฤษได้ยกเลิกระบบอาณัติที่ใช้กับดินแดนปาเลสไตน์ในปี ค.ศ. 1948 หลังจากนั้นรัฐอิสราเอลจึงถูกประกาศจัดตั้งอย่างเป็นทางการโดยคณะปกครองชาวยิวในปาเลสไตน์เมื่อวันที่

14 พฤษภาคม 1948 ซึ่งเป็นการประกาศที่ได้รับการคัดค้านอย่างหนักทั้งจากอาหรับและชาติต่าง ๆ จำนวนมากในเอเชียและแอฟริกา

อย่างไรก็ตาม ประเทศมหาอำนาจ 2 ชาติทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตกลับให้การยอมรับรัฐอิสราเอลที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุนี้ การกำเนิดของรัฐอิสราเอลจึงนำไปสู่ความตึงเครียดภายในภูมิภาคตลอดมานับจากนั้น

อย่างที่ผมเรียนรับใช้ไป ในเวลานั้นประชากรของประเทศปาเลสไตน์ทั้งหมดมีอยู่ประมาณ 700,000 คน

ในจำนวนนี้ร้อยละ 90 หรือประมาณ 600,000 คนเป็นชาวอาหรับมุสลิม ซึ่งครอบครองดินแดนมากกว่าร้อยละ 90

ที่เหลืออีกร้อยละ 6 เป็นที่อยู่อาศัยของชาวยิว ซึ่งมีประชากรอยู่ไม่ถึง 70,000 คน

พอมาถึงปี ค.ศ. 1948 ที่รัฐยิวถูกสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ปรากฏว่าประชากรยิวเพิ่มขึ้นถึง 600,000 คน ซึ่งนับเป็น 1 ใน 3 ของประชากรในดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมด หรือมีการเพิ่มขึ้นของประชากรยิวถึงร้อยละ 725 เลยทีเดียว

สัดส่วนของการครอบครองที่ดินก็เปลี่ยนไปมาก

อันนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อชุมชนปาเลสไตน์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายขององค์กรยิวไซออนิสต์ที่ปฏิเสธการจ้างงานชาวปาเลสไตน์

อย่างไรก็ดี แม้ถึงปี 1947 ประชากรชาวยิวจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดในปาเลสไตน์ แต่แผนการแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ของสหประชาชาติก็ยังมอบดินแดนส่วนใหญ่ร้อยละ 55 ให้เป็นรัฐยิว ที่เหลืออีกร้อยละ 45 เป็นของชาวปาเลสไตน์ที่เป็นเจ้าของเดิม

แผนแบ่งแยกดินแดนนี้ยังไม่ทันถูกนำไปปฏิบัติใช้หรอกครับ เพราะมันเกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลเสียก่อน


โดย Srawut Aree

เล่าเรื่อง “ปาเลสไตน์” ผ่านแผนที่ [ ตอนที่ 2 ]

หากดูตามเนื้อหาภาษาอังกฤษที่ปรากฏในแผนที่ข้างใต้บทความนี้ เพื่อน ๆ ก็คงเห็นเหมือนผมว่ามันมี 2 เรื่องสำคัญที่เราควรต้องทำความเข้าใจ เรื่องแรกคือคำว่า British Mandate หรือ “ดินแดนใต้อาณัติของอังกฤษ” ซึ่งในที่นี้ก็คือ ‘ปาเลสไตน์’ อีกเรื่องก็คือคำว่า “Jewish Immigration from Europe” หรือชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรป

ขออธิบายเรื่อง “ดินแดนใต้อาณัติของอังกฤษ” ก่อนครับ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำข้อตกลงและสัญญาเกี่ยวกับอาณาเขตดินแดนภายในอาณาจักรออตโตมันกับหลายฝ่าย ถึงแม้ว่าทุกข้อตกลงจะมีจุดร่วมคือการแบ่งแยกดินแดนภายในของอาณาจักรออตโตมันเดิม ทว่าแต่ละชาติต่างไม่ลงรอยกันในเรื่องรูปแบบการปกครองของพื้นที่ดังกล่าว

ดังจะเห็นได้จากกรณีการตัดสินเรื่องดินแดนปาเลสไตน์ว่าจะให้ฝ่ายใดครอบครอง สนธิสัญญาที่ลงนามโดย เซอร์เฮนรี่ แม็กมาฮอน (Sir. Henry McMahon) ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษที่ทำกับชารีฟ ฮุสเซน เจ้าผู้ครองดินแดนฮิยาซ ระบุว่า อังกฤษจะให้เอกราชแก่ชาวอาหรับในดินแดนหลายส่วนซึ่งรวมถึงปาเลสไตน์ หากชาวอาหรับช่วยอังกฤษทำสงครามรบกับเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 1

ในขณะเดียวกันเมื่อปี ค.ศ.1917 ลอร์ด อาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ (Lord Arthur James Balfour) รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษในสมัยนั้น ก็เป็นผู้ลงนามใน “คำประกาศบัลโฟร์” มอบดินแดนปาเลสไตน์ให้เป็นที่พักพิงถาวรของชาวยิว

แต่ในข้อตกลงไซคส์ – พิโกต์ (Sykes – Picot Agreement) อังกฤษและฝรั่งเศสตกลงกันว่าจะให้ดินแดนปาเลสไตน์เป็น “ดินแดนสากล” (international zone)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ก่อนที่จะเกิดการจัดตั้งรัฐอิสราเอล เขตเวสต์แบงก์และฉนวนกาซ่าในปัจจุบัน ดินแดนปาเลสไตน์ได้เป็นประเด็นที่ชาติมหาอำนาจถกเถียงกันในเรื่องของกรรมสิทธิ์ครอบครองดินแดน โดยที่เสียงส่วนใหญ่ของชาวอาหรับไม่เคยได้รับรู้เรื่องราวความเป็นไปดังกล่าว

ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสต้องการรักษาอำนาจอิทธิพลทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วยการรักษาดินแดนอาณานิคมของตน สหรัฐอเมริกาที่เริ่มเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1917 กลับสนับสนุนให้ดินแดนอาณานิคมมีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (self-determination) ตามหลักการ 14 ข้อของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วูดโรล์ วิลสัน

แนวคิดที่ขัดแย้งกันของชาติมหาอำนาจได้คลี่คลายลงหลังการประชุมสันติภาพที่ปารีส (Paris Peace Conference) ในปี ค.ศ. 1919 ซึ่งรัฐบาลต่าง ๆ ตกลงกันบริหารอาณาบริเวณเหล่านี้ในนามของสันนิบาตชาติ เรียกว่า “ดินแดนใต้อาณัติ” (mandate) ซึ่งได้รับการรับรองจากมาตรา 22 (Article 22) ของกติกาสันนิบาตชาติ (The Covenant of the League of Nations) โดยมีคณะกรรมการจัดการดินแดนใต้อาณัติเป็นผู้ดูแล

ต่อมาได้มีการทำสนธิสัญญาแซฟร์ (Treaty of Sèvres) ขึ้น โดยกำหนดให้อังกฤษได้รับมอบดินแดนปาเลสไตน์และเมโสโปเตเมียให้ไปอยู่ใต้อาณัติ ส่วนฝรั่งเศสได้รับมอบดินแดนซีเรีย (ซึ่งรวมเลบานอนด้วย) มาอยู่ภายใต้อาณัติของตนตามมาตรา 22 ของกติกาสันนิบาตชาติและมติในที่ประชุมซาน รีโม (San Remo Conference) ของปี ค.ศ. 1920

อันที่จริงแล้ว ดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติก็คือข้อตกลงระหว่างประเทศในการบริหารดินแดนหนึ่งในฐานะตัวแทนของสันนิบาตชาติก่อนที่ดินแดนเหล่านั้นจะมีความพร้อมในการเป็นรัฐเอกราช ดังนั้นอังกฤษจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะยกดินแดนปาเลสไตน์ (ซึ่งอยู่ในอาณัติของอังกฤษขณะนั้น) ไปให้ใคร

หน้าที่อังกฤษตามมาตรา 22 ของสันนิบาตชาติคือการส่งมอบดินแดนปาเลสไตน์ให้กับเจ้าของดินแดนเมื่อเขาพร้อมที่จะจัดตั้งรัฐชาติสมัยใหม่ ดังนั้น การที่อังกฤษยกดินแดนปาเลสไตน์ให้ชาวยิวผ่านคำประกาศบัลโพร์จึงเป็นเรื่องผิดกฏหมายมาตั้งแต่ต้น

เรื่องที่ 2 คือ “Jewish Immigration from Europe” หรือชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรป

อย่างที่ได้เรียนรับใช้ไปก่อนหน้านี้ ปาเลสไตน์ไม่ใช่ดินแดนที่ว่างเปล่า แต่เป็นดินแดนที่มีชาวอาหรับปาเลสไตน์อาศัยอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก พวกเขามีพื้นที่ทำเกษตรกรรม มีตลาดร้านค้า มีเมือง มีหมู่บ้าน มีถนนหนทาง มีการค้าขายและการติดต่อปฏิสัมพันธ์กับผู้คนในส่วนอื่น ๆ ของโลก

ตามสถิติที่มีการศึกษาไว้ ในปี 1878 ชาวปาเลสไตน์มีจำนวนประชากรมากถึง 462,465 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 96.8 คือชาวอาหรับที่เป็นมุสลิมและคริสเตียน มีชาวยิวอาศัยอยู่เพียงร้อยละ 3.2 เท่านั้น

แต่ระหว่างปี ค.ศ. 1882-1914 ชาวยิวจากยุโรปจำนวน 65,000 คนเริ่มอพยพเข้ามา ชาวยิวเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และต่อมาอังกฤษได้ออกคำประกาศบัลฟอร์ซึ่งให้สัญญาจะจัดตั้งดินแดนของชาวยิวขึ้นในปาเลสไตน์

มาตรการดังกล่าวนี้ขัดแย้งกับคำสัญญาก่อนหน้านั้นของอังกฤษที่ทำขึ้นในปี ค.ศ. 1915 ซึ่งอังกฤษสัญญาว่าจะมอบสิทธิในการปกครองตนเองให้ชาวอาหรับที่อยู่ในภูมิภาคนั้นทั้งหมดหากอาหรับให้ความร่วมมือกับอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่ 1

ในปี 1922 ประชากรอาหรับมุสลิมและคริสเตียนมีจำนวน 757,182 หรือคิดเป็นร้อยละ 87.6 ของประชากรทั้งหมด ส่วนชาวยิวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 11 ในช่วงทศวรรษที่ 1920 ชาวปาเลสไตน์เริ่มเห็นว่าแผ่นดินของพวกเขาถูกฉกชิงไปโดยชาวยุโรป การปะทะกันครั้งแรกระหว่างชาวปาเลสไตน์และชาวยิวจึงเริ่มต้นขึ้นและยังเป็นเช่นนั้นเรื่อยมา

ระหว่างปี ค.ศ. 1920-1931 ชาวยิวจำนวน 108,825 คนได้อพยพเข้ามาในดินแดนปาเลสไตน์ จนกระทั่งช่วงต้นของทศวรรษ 1930 จำนวนประชากรยิวในปาเลสไตน์ยังอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 17 (จำนวนประชากรทั้งหมดในปาเลสไตน์ในปี 1930 อยู่ที่ 1,035,154 คน คิดเป็นชาวอาหรับมุสลิมและคริสเตียนจำนวนร้อยละ 81.6 และชาวยิวจำนวนร้อยละ 16.9)

แต่การขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์ในเยอรมันได้ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป

ในเวลาเพียง 5 ปี ระหว่างปี 1932-1936 ชาวยิวจำนวน 174,000 คนได้หลั่งไหลกันเข้ามาในปาเลสไตน์ ทำให้จำนวนชาวยิวเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ระหว่างปี ค.ศ. 1937-1945 ชาวยิวอพยพเข้ามาอีก 119,800 คน ในขณะที่ชาวโลกพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความน่าสะพรึงกลัวของการฆ่าล้างชาวยิวของนาซีเยอรมัน ความพยายามที่จะทำให้ปาเลสไตน์กลายเป็นดินแดนของชาวยิวก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ในปี 1947 ก่อนที่รัฐอิสราเอลจะถูกสถาปนาขึ้น โครงสร้างประชากรในดินแดนปาเลสไตน์ได้เปลี่ยนไปมาก จากแต่ก่อนตอนปี 1918 ชาวยิวมีจำนวนเพียงแค่ร้อยละ 6 ของประชากรทั้งหมด แต่ถัดมาอีกเพียงแค่ 29 ปี หรือในปี 1947 ประชากรชาวยิวได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 33 (ดูแผนที่ข้างใต้)

นี่แหละครับผลจากการที่ดินแดนปาเลสไตน์ตกเป็นดินแดนใต้อาณัติของอังกฤษอยู่นานหลายปี

ติดตามตอนต่อไป


โดย Srawut Aree