นิยามอิสลาม คุณลักษณะอิสลาม 18 ประการ [ตอนที่ 1]


คำถาม: “ในยุคของเรา มีการเรียกร้องสู่ที่อิสลามแตกต่างกันไป เราอยากให้ท่านให้รายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับลักษณะของศาสนาอิสลามที่ท่านเรียกร้อง เพื่อไม่ให้เราสับสน”

คำตอบ โดยเชคยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์


1- อิสลามสื่อสารกับปัญญา และอาศัยปัญญาในการทำความเข้าใจศาสนาและสร้างสรรค์โลก

อิสลามเรียกร้องสู่วิทยาศาสตร์ อีกทั้งเรียกร้องให้มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และนำวิธีการที่ทันสมัยที่สุดมาใช้  และทำตามหลักวิทยาศาสตร์ในทุกด้าน

การคิดการคิดใคร่ครวญเป็นศาสนกิจประเภทหนึ่ง

การแสวงหาความรู้ทุกประการที่สังคมมีความจำเป็นถือเป็นพันธกรณีระดับฟัรดู

ความล้าหลังทางวิทยาศาสตร์ ถือเป็นความผิดและอาชญากรรมร่วมสมัย

2- อิสลามที่เรียกร้องสู่การอิจติฮาด-วิเคราะห์สังเคราะห์-และนวัตกรรม ต่อต้านการยึดติดและการลอกเลียนแบบ  อีกทั้งเชื่อมั่นในการก้าวให้ทันความก้าวหน้าและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง 

ชะรีอะฮ์ไม่มีปัญหากับสิ่งใหม่ ๆ และไม่อับจนหนทางในการแก้ไขปัญหาใด ๆ  แต่เป็นความบกพร่องทางความรู้หรือเจตจำนงความมุ่งมั่นของชาวมุสลิม 

ในสมัยของเรา การอิจติฮาดได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ เป็นสิ่งจำเป็นตามบทบัญญัติศาสนาและตามสภาพความเป็นจริงของสังคม  ผู้ที่มีคุณสมบัติและความรู้ความสามารถเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการอิจติฮาดแบบคัดเลือก หรือการอิจติฮาดเชิงสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลหรือองค์คณะ การอิจติฮาดบางส่วนหรือทั้งหมดทุกประเด็น

3- ศาสนาอิสลามมีอัตลักษณ์ในความเป็นทางสายกลางในทุกสิ่ง และบัญญัติให้ทางสายกลางเป็นหนึ่งในคุณลักษณะพื้นฐานของประชาชาติอิสลาม

อิสลามเป็นความสมดุลเชิงบวกในทุกด้าน ทั้งด้านความเชื่อและการปฏิบัติ ด้านวัตถุธรรมและนามธรรม ให้ความสมดุลระหว่างจิตวิญญาณและวัตถุธาตุ ระหว่างสติปัญญาและจิตใจ ระหว่างโลกนี้และโลกหน้า  ระหว่างสิทธิและหน้าที่   และอื่น ๆ  ตลอดจนสร้างสมดุลที่ยุติธรรมระหว่างปัจเจกและสังคม โดยมิให้ปัจเจกบุคคลได้รับสิทธิและเสรีภาพมากเกินไปจนกระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวมเหมือนสิ่งที่ทุนนิยมกระทำ แต่ก็ไม่ได้ให้อำนาจให้สังคมครอบงำและกดดันปัจเจกให้เหี่ยวเฉา ไร้แรงจูงใจและความทุ่มเท  ดังเช่นที่ลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิสังคมนิยมสุดโต่งกระทำ

4- อิสลามมีลักษณะเป็นสัจนิยม ( Realism ) มองโลกตามความเป็นจริง  ไม่ได้ลอยอยู่ในโลกของอุดมคตินิยม และไม่ปฏิบัติต่อมนุษย์เหมือนเป็นเทวดา แต่เป็นมนุษย์ที่มีผิดมีถูก ยอมรับในความอ่อนแอของมนุษย์

อิสลามจึงส่งเสริมความดีและยับยั้งความชั่ว กำหนดบทลงโทษ เปิดประตูแห่งการกลับใจ  ยอมรับเหตุผลข้อจำกัด  บัญญัติการลดโทษและข้อยกเว้นในกรณีต่างๆ เช่น กรณีไม่เจตนา  หลงลืม หรือถูกบังคับ

อนุญาตให้ใช้หลักความเป็นจริงที่ต่ำกว่า เมื่ออุดมคติอันสูงส่งเป็นไปไม่ได้

5- อิสลามให้เกียรติผู้หญิง และถือว่าผู้หญิงเป็นบุคคลที่มีความสามารถเต็มตามกฎหมาย มีสิทธิและหน้าที่แห่งตน  อิสลามปกป้องดูแลผู้หญิงในฐานะลูกสาว ภรรยา และมารดา อีกทั้งเป็นสมาชิกของครอบครัวและสังคม ตลอดจนให้มีส่วนร่วมในศาสนพิธี  การเรียนรู้และในการทำงาน

6- อิสลามเชื่อว่าครอบครัวเป็นพื้นฐานของสังคม และการแต่งงานนั้นเป็นพื้นฐานของครอบครัว ดังนั้น ศาสนาอิสลามจึงเรียกร้อง ส่งเสริมสาเหตุ และขจัดอุปสรรคทางเศรษฐกิจออกจากเส้นทางของการสร้างครอบครัว ผ่านการศึกษาและการบัญญัติกฎหมาย  ปฏิเสธประเพณีจอมปลอมที่ทำให้การแต่งงานมีอุปสรรคและล่าช้า เช่น สินสอดทองหมั้นที่มีมูลค่าสูง  ความฟุ่มเฟือยในเรื่องของชำร่วย ของขวัญ  งานเลี้ยงและงานแต่งงาน รวมถึงการจัดเครื่องเรือน เครื่องนุ่งห่มและเฟอร์นิเจอร์  เครื่องประดับ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

7- อิสลามให้ความสำคัญกับการศึกษาและการอบรมสั่งสอน  ยิ่งกว่ากฎหมาย   เพราะกฎหมายไม่ได้สร้างสังคม แต่สร้างโดยการศึกษาอย่างต่อเนื่อง การชี้นำที่ลึกซึ้ง

พื้นฐานของการฟื้นฟูศิลปวิทยาและการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างคือ คนที่มีความคิดและมโนธรรม  มีศรัทธาและศีลธรรม และคนดีจึงเป็นพื้นฐานของสังคมที่ดี

8- อิสลามสร้างสังคมบนสายสัมพันธ์ของภราดรภาพและความสามัคคีในหมู่สมาชิกสังคม  ไม่มีที่สำหรับความขัดแย้งทางเชื้อชาติ  ความขัดแย้งทางศาสนา ความขัดแย้งทางชนชั้น หรือความขัดแย้งทางนิกาย. ทุกคนเป็นพี่น้องกันโดยพันธนาการของการเป็นบ่าวของอัลลอฮ์  และการเป็นบุตรของอาดัม

“إن ربكم واحد، وإن أباكم واحد”

“พระเจ้าของพวกท่านองค์เดียวกัน บรรพบุรุษของท่านคนเดียวกัน”

ความเห็นต่างระหว่างมนุษย์เป็นความประสงค์และปรีชาญาณของอัลลอฮ์ผู้ทรงฤทธานุภาพ และในวันแห่งการฟื้นคืนชีพพระองค์จะตัดสินความเห็นต่างระหว่างพวกเขา

9- อิสลามไม่ยอมรับโหราศาสตร์ และไม่มีชนชั้นนักบวชที่ผูกขาดศาสนาและมโนธรรมและปิดประตูการสื่อสารกับอัลลอฮ์ยกเว้นผ่านทางพวกเขา 

ในศาสนาอิสลาม คนทุกคนเป็นนักการศาสนา และไม่จำเป็นต้องมีคนกลางระหว่างคนกับพระเจ้า เพราะทุกคนอยู่ใกล้พระเจ้ายิ่งกว่าเส้นเลือดที่ลำคอ

นักปราชญ์ด้านศาสนาเป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น และการอ้างอิงถึงก็เฉกเช่นเดียวกับการอ้างอิงทุกคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาของตน


เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น CNN

https://arabic.cnn.com/middleeast/2014/06/07/qardawi-islam

แปลสรุปโดย Ghazali Benmad

การเปลี่ยนแปลงสังคมเริ่มต้นจากการพัฒนาคน (ตอนที่ 2) : โรดแมปการปฏิรูปสังคม

การปฏิรูปสังคมขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนวิธีคิด เจตคติและวัฒนธรรม เท่านั้น

อัลลอฮ์กล่าวว่า

إِنَّ اللَّهَ لَا يُغَيِّرُ مَا بِقَوْمٍ حَتَّىٰ يُغَيِّرُوا مَا بِأَنفُسِهِمْ

“แท้จริงอัลลอฮฺจะมิเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพของพวกเขาเอง”

การเปลี่ยนแปลงคน หลักๆ แล้วมาจาก

1) การสร้างสวรรค์ในบ้าน การสร้างตัวตนและบุคลิกภาพของลูกๆในครอบครัว

2) การศึกษาจากครูผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเป็นเลิศด้านอุปนิสัย มีคุณธรรมที่ตกผลึกเป็นวิถีชีวิต

ทั้งสองประเด็นนี้ควรเป็นวาระแห่งประชาชาติอิสลามยุคนี้ ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยการ

– ศึกษาชีวิตส่วนตัวของท่านนบี ศอลฯ

– ศึกษาชีวิตส่วนตัวของซอฮาบะฮ์

– ศึกษาชีวิตส่วนตัวของอุลามาอ์ในอดีตและอุลามาอ์ร่วมสมัย

– และเสาะแสวงหาเพื่อศึกษาจากครูผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเป็นเลิศด้านอุปนิสัย มีคุณธรรมที่ตกผลึกเป็นวิถีชีวิต

ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี กล่าวว่า

“ข้าพเจ้ายังคงยืนยัน สิ่งที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนแปลงคน ส่วนการเปลี่ยนรัฐบาล จะเกิดขึ้นทันทีที่คนต้องการ”

สิ่งที่ยากที่สุดคือการปรับพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงเจตคติ นิสัยและวัฒนธรรมของปัจเจก

การปฏิรูปสังคมจึงต้องอาศัยเวลา และเภสัชกรสังคมผู้เชี่ยวชาญในการคิดสูตรเยียวยา

การปฏิรูปด้วยการจัดตั้งองค์กรใหม่ๆ การออกกฎหมายหรือการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบใหม่ๆ การโค่นล้ม  เปลี่ยนแปลงรัฐบาล 

จึงเป็นได้แค่เปลี่ยนผู้กัดกินสังคมคนใหม่ หาได้เข้ามาแก้ปัญหาใดๆ ไม่

องค์กร กฏหมาย ระเบียบของนานาประเทศ ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก แต่ที่มีประสิทธิภาพต่างกันก็เพราะเนื้อแท้ วัฒนธรรมของคนแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน


CR: ผศ.ดร. ฆอซาลี เบ็ญหมัด Ghazali Benmad

การเปลี่ยนแปลงสังคมเริ่มต้นจากการพัฒนาคน (ตอนที่ 1) : ความสำคัญ

คนทำงานแก้ปัญหาสังคมมุสลิมมากมายผิดหวังไม่ได้ดังใจ  อุปสรรคจิปาถะ

พยายามมาทุกรูปแบบ ทั้งพัฒนาความรู้การศึกษา ความเชื่อความศรัทธา วางระเบียบกฎเกณฑ์  การพัฒนาด้านประชาสัมพันธ์  ข้อมูลตัวเลข วัตถุเทคโนโลยี  บางครั้งถึงขั้นเปลี่ยนผู้นำตามระบบ  หรือด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร โค่นล้มเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศ  ฯลฯ

แต่ทำไมโลกมุสลิมและสังคมมุสลิมจึงยังคงอุดมไปด้วยปัญหา ทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ  การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ฯลฯ

วิถีชีวิตคนย้อนแย้งกับคัมภีร์ที่ท่องอยู่ทุกวี่วัน

จริงหรือไม่ที่รูปแบบต่างๆ เหล่านั้นคือกุญแจไขปัญหา ?

เหตุผลคำตอบจากนักวิชาการมากมาย และข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ทุกวี่วันบอกว่า “ไม่จริง”

ความเปลี่ยนแปลงระดับความคิดและเจตคติ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับลึกสุดและสูงสุด

  • ความคิดและเจตคติ เป็นสิ่งที่นบีอิบรอฮีมใช้วัดความเป็นคนดีที่ต้องการ ในขณะเลือกมารดาแห่งประชาชาติ ให้แก่นบีอิสมาแอล
  • ความคิดและเจตคติ เป็นสิ่งที่ท่านอุมัร ใช้วัดความเป็นคนดี ที่ต้องการ ในขณะเลือกคนมาเป็นสะไภ้ในตระกูลคอตต๊อบ

ปราชญ์ระดับกูรูปรมาจารย์ต่างเห็นตรงกัน  “กุญแจ” ไขปัญหาทั้งปวงอยู่ที่ “การพัฒนาคน”  การทำให้คำสอนอิสลามตกผลึกเป็นวิถีชีวิต เป็นลมหายใจ เป็นเลือดเนื้อ เป็นกุรอานเดินได้ เท่านั้น

● อิบนุอะตออิลละห์ อัสสะกันดะรีย์

กล่าวในตำรา “หิกัม-ยอดวิชา” ว่า

“จงฝังกลบตัวตนลงในดินแดนนิรนาม อันต้นไม้ที่ไร้รากหยั่งดินลึกย่อมไม่มีวันงอกงาม”

● อาลี อิซซัต เบโกวิช

ในหนังสือรวมบทความ ” عوائق النهضة الإسلامية  ตัวถ่วงความเจริญของสังคมมุสลิม”  ได้บทสรุปจากการอ่านและวิเคราะห์อัลกุรอานทั้งเล่มว่า

[ ข้าพเจ้าตระหนักแล้วว่า ปัญหาทั้งมวล ทั้งในด้านกฎหมาย สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ที่ครอบงำความคิดของข้าพเจ้าตั้งแต่ยังหนุ่มๆ ที่ทำให้ข้าพเจ้าสนับสนุนและยอมรับการปฏิรูปทั่วโลก สามารถแก้ไขได้ด้วยระบบการสร้างคนเท่านั้น  ระบบการสร้างคน เป็นหรือเกือบจะเป็นแกนหลักของทุกสิ่งทุกอย่าง ]

● ซัยยิด กุตบ์

กล่าวใน ตัฟซีร “ฟีซิลาล อัลกุรอาน-ใต้ร่มกุรอาน”ว่า

[ ความจริงแล้ว ทรราชก็แค่ปุถุชนคนหนึ่ง  ไม่มีฤทธิ์เดชอำนาจอะไรแต่อย่างใด เพียงแต่เพราะฝูงชนที่ไร้ศักดิ์ศรี ยื่นหลังให้ขี่ ยื่นคอให้จูง ยื่นศีรษะให้เหยียบย่ำ ]

● ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี

กล่าวในหนังสือ “โรดแมปเริ่มที่นี่” الطريق من هنا 

“รัฐบาลจะเก่งกาจสักเพียงใดก็ไม่อาจบรรลุเป้าหมาย นอกจากจะต้องพึ่งพิงภาคประชาชนที่มีเนื้อแท้ที่ดีเลิศและมีเจตนารมณ์อันสูงส่ง ประชาชนจึงเป็นรากฐานและที่พึ่งสุดท้าย เรามุสลิมพ่ายแพ้ในสมรภูมิมากมายที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจรัฐ สังคมที่ไม่มีความสามารถที่จะลบล้างประเพณีคร่ำครึในระดับสถาบันครอบครัว  จะไม่มีวันได้รับชัยชนะในสมรภูมิการเมือง ผู้ที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้านจริยธรรมจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้านอื่นได้อย่างไร”


CR: ผศ.ดร. ฆอซาลี เบ็ญหมัด Ghazali Benmad

รอมฎอนกับการช่วยเหลือผู้ประสบความทุกข์ยาก

ในสถานการณ์ที่โลกระส่ำระสายวันนี้   ครอบครัวมากมายทุกข์ยาก โดนภัยพิบัติ  เป็นโรคร้ายทำงานไม่ได้  ไม่มีแม้แต่ที่ซุกหัวนอน ไม่มีอาหาร ไม่มีค่าเล่าเรียนของลูกๆ และความเดือดร้อนนานา

ในการนี้ อิสลามได้บัญญัติและส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและประสบความทุกข์ยาก  ดังหลักการที่ปรากฏอยู่ในตำรามรดกทางวิชาการกฎหมายอิสลามมาตั้งแต่ในอดีตกาลพันปีก่อน

■ การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและประสบความทุกข์ยาก เป็นหน้าที่ในระดับฟัรดูกิฟายะฮ์

จ่ายซะกาตแล้วพ้นผิดหรือไม่ ?

ซะกาตคือฟัรดูอีน ที่จำเป็นสำหรับผู้มีความสามารถ

แต่นอกจากจ่ายซะกาตแล้ว มุสลิมยังมีหน้าที่ฟัรดูกิฟายะฮ์ช่วยเหลือสังคม และผู้ตกทุกข์ได้ยาก

ฟัรดูกิฟายะฮ์  หมายถึง สิ่งที่เป็นหน้าที่ร่วมกันและจำเป็นต้องกระทำโดยไม่เจาะจงผู้กระทำ หากไม่มีการกระทำ ทุกคนก็จะมีความผิดร่วมกัน

อิหม่ามญาลาลุดดีน อัสสะยูตีย์ ( เกิด 3 ตุลาคม ค.ศ. 1445 เสียชีวิต 18 ตุลาคม ค.ศ. 1505 ที่กรุงไคโร อียิปต์)  ปราชญ์ชั้นแนวหน้าในมัซฮับชาฟิอีย์ อันเป็นแนวทางหลักของมุสลิมส่วนใหญ่ในประเทศไทย กล่าวไว้อย่างชัดเจน ในตำรา “อัลอัชบาห์ วันนะซออิร الأشباه والنظائر ” ว่า การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนและประสบความทุกข์ยาก เป็นหน้าที่ในระดับฟัรดูกิฟายะฮ์  สำหรับผู้มีความสามารถ โดยได้กล่าวว่า

“ومنها‏:‏ إغاثة المستغيثين في النائبات ويختص بأهل القدرة‏”

“ส่วนหนึ่งของฟัรดูกิฟายะฮ์ ได้แก่ การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ  และเป็นหน้าที่เฉพาะสำหรับผู้มีความสามารถเท่านั้น”

อันหมายความว่า ผู้ที่มีทรัพย์สิน นอกจากจะต้องจ่ายซะกาต ทรัพย์สินบางประเภท ร้อยละ 2.5 หรือ 5 หรือ 10 ต่อปี แล้ว ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากอีกด้วย แม้ว่าจะจ่ายซะกาตไปแล้ว ก็ยังไม่พ้นหน้าที่นี้ และไม่พ้นความผิดบาป

ในยุคที่ผู้คนเดือดร้อนกันทั่วโลกในยามนี้ หน้าที่ก็ยิ่งหนักหนาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

หน้าที่ช่วยเหลือผู้คนที่เดือดร้อนยามนี้ เป็นหน้าที่ระดับฟัรดู จึงจำเป็นต้องปฏิบัติก่อนภารกิจที่เป็นภารกิจระดับสุนัต/มุสตะหับ ไม่ว่าจะเป็นฮัจญ์หรืออุมเราะฮ์ก็ตาม มิพักต้องกล่าวถึงสิ่งที่เป็นมุบะห์ เช่น การท่องเที่ยวทัศนาจรหรือพักผ่อนหย่อนใจ

ใครจะไปรู้ ลึกๆแล้ว การที่อุมเราะฮ์หรือฮัจญ์ปีนี้ อาจมีอุปสรรคนานาเพราะพิษไวรัสโคโรน่า หลายคนอาจไปไม่ได้  

อาจเป็นเพราะผู้ประกอบพิธีฮัจญ์สุนัตหรืออุมเราะฮ์สุนัตเหล่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ในจุดนั้นก็ได้ เพราะสังคมมุสลิมข้างบ้านหรือสังคมมุสลิมทั่วโลกยังเดือดร้อนแสนสาหัส หากถูกมองข้ามไป จะเป็นความผิดมหันต์ ที่อัลลอฮ์ไม่ประสงค์ให้คนเหล่านั้นไปยังวิหารของพระองค์อีก

■ หลักการในอัลกุรอาน ซุนนะฮ์ และแนวปฏิบัติของซอฮาบะฮ์ จากตำราของอิบนุหัซม์ นักวิชาการสิทธิมนุษยชนเมื่อพันปีก่อน

อิหม่ามอิบนุหัซม์  ( 7 พ.ย. ค.ศ. 994 – 15 ส.ค. ค.ศ. 1064) นักวิชาการแห่งแอนดาลุส ยุคอิสลาม   ได้กล่าวในหนังสือ

 المحلى بالآثار »  كتاب الزكاة »  قسم الصدقة » مسألة على الأغنياء من أهل كل بلد أن يقوموا بفقرائهم

ใจความว่า :

❝ เป็นหน้าที่สำหรับคนร่ำรวยในที่ถิ่นแคว้น จะต้องช่วยเหลือคนยากจนในบริเวณนั้นๆ และรัฐจะต้องบัญญัติบังคับเช่นนั้น หากซะกาตไม่สามารถช่วยได้ แต่ไม่ใช่เอาจากทรัพย์คนมุสลิมทั่วไป

จะต้องให้อาหารที่จำเป็น และเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวและฤดูร้อน ต้องให้บ้านที่กันน้ำฝน ความร้อน แสงอาทิตย์และสายตาคน

หลักฐานกรณีดังกล่าวคือ

อัลลอฮ์กล่าวว่า

وَآتِ ذَا الْقُرْبَىٰ حَقَّهُ وَالْمِسْكِينَ وَابْنَ السَّبِيلِ

“และจงให้สิทธิแก่ญาติที่ใกล้ชิด ผู้ขัดสน และผู้เดินทาง”

وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا وَبِذِي الْقُرْبَىٰ وَالْيَتَامَىٰ وَالْمَسَاكِينِ وَالْجَارِ ذِي الْقُرْبَىٰ وَالْجَارِ الْجُنُبِ وَالصَّاحِبِ بِالْجَنبِ وَابْنِ السَّبِيلِ وَمَا مَلَكَتْ أَيْمَانُكُمْ

” และจงทำดีต่อบุพการีทั้งสอง  ต่อผู้เป็นญาติที่ใกล้ชิด  เด็กกำพร้า ผู้ขัดสน เพื่อนบ้านใกล้เคียงและเพื่อนที่ห่างไกล  เพื่อนผู้เคียงข้าง ผู้เดินทาง และผู้ที่มือขวาของพวกท่านครอบครอง”

อัลลอฮ์บัญญัติถึงสิทธิของคนจน  คนเดินทาง และทาส ตลอดจนสิทธิของญาติใกล้ชิด รวมถึงบัญญัติให้ทำดีต่อพ่อแม่ ญาติใกล้ชิด คนจน เพื่อนบ้าน และทาส การทำดีหมายถึงการกระทำดังกล่าว การไม่ช่วยถือว่าเป็นการทำไม่ดีโดยไม่มีข้อกังขาใดๆอีก

وقال تعالى : { ما سلككم في سقر قالوا لم نك من المصلين ولم نك نطعم المسكين } .

“อะไรที่นำพวกท่านเข้าสู่กองไฟที่เผาไหม้  พวกเขากล่าวว่า เรามิได้อยู่ในหมู่ผู้ทำละหมาด และเรามิได้ให้อาหารแก่บรรดาผู้ขัดสน”

ซึ่งอัลลอฮ์บัญญัติหน้าที่ละหมาดเคียงคู่หน้าที่ให้อาหารแก่คนยากจน

และท่านนบี ศอลฯ กล่าวว่า

من لا يرحم الناس لا يرحمه الله

“ผู้ใดไม่เมตตาต่อมนุษย์ อัลลอฮ์จะไม่เมตตาต่อเขา”

อับดุรรอฮ์มาน บินอบูบักร์ เล่าว่า “ชาวซุฟฟะฮ์ ( ผู้อาศัยชายคามัสยิดนบี ) เป็นคนจน ท่านศาสนทูต ศอลฯ จึงกล่าวว่า ผู้ใดมีอาหารสำหรับ 2 คน ก็จงพาคนที่ 3 ไป ผู้ใดมีอาหารสำหรับ  4 คน ก็จงพาคนที่ 5 ที่ 6 ไป”

المسلم أخو المسلم ، لا يظلمه ولا يسلمه

“มุสลิมเป็นพี่น้องของมุสลิม ไม่อนุญาตให้ละเมิดต่อเขา หรือปล่อยให้ถูกละเมิด”

การปล่อยให้อดอยาก ไร้อาภรณ์ ทั้งๆที่มีความสามารถที่จะให้อาหารเสื้อผ้าแก่เขาได้ ถือเป็นการปล่อยปละละเลยต่อเขา

อบูสะอีด อัลคุดรีย์เล่าว่า ท่านศาสนทูต ศอลฯ กล่าวว่า

   من كان معه فضل ظهر فليعد به على من لا ظهر له ، ومن كان له فضل من زاد فليعد به على من لا زاد له

“ผู้ใดมีที่ว่างบนพาหนะก็จงให้แก่ผู้ที่ไม่มีพาหนะ ผู้ใดมีเสบียงเหลือก็จงให้กับผู้ไม่มีเสบียง”

อบูสะอีด เล่าว่า  “แล้วท่านศาสนทูตก็ได้กล่าวถึงทรัพย์สินประเภทต่างๆ จนกระทั่งเราเห็นว่า เราไม่มีสิทธิใดๆ ในทรัพย์สินที่เหลือใช้”

นี้เป็นอิจมาอ์-ความเห็นเอกฉันท์-ของซอฮาบะฮ์ ดังที่อบูสะอีดได้กล่าว ( หมายถึง คำพูดที่อบูสะอีดกล่าวว่า “เราเห็นว่า” )

เรามีความเห็นตามหะดีษเหล่านั้น

และท่านนบี ศอลฯ ยังกล่าวว่า

    أطعموا الجائع وفكوا العاني

“และจงให้อาหารแก่คนหิวโหย และปลดปล่อยเชลย”

ตัวบทจากอัลกุรอานและหะดีษซอเหียะห์ในเรื่องนี้มีมากมายยิ่ง

ท่านอุมัร บินคอตตอบ กล่าวว่า “หากฉันรู้ตั้งแต่ต้นว่าจะเป็นเช่นนี้ แน่นอน ฉันจะยึดเอาทรัพย์สินที่เหลือใช้ของบรรดาเศรษฐีทั้งหลาย มาแจกจ่ายให้แก่ชาวมุฮาญีรีนผู้ยากจน”

ท่านอาลี บินอบูตอลิบ กล่าวว่า “อัลลอฮ์บัญญัติให้คนรวยช่วยคนจนในปริมาณที่เพียงพอต่อความจำเป็น หากคนจนไม่มีอาหาร หรือเสื้อผ้าอาภรณ์ ก็เนื่องจากคนรวยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่ศาสนากำหนด ซึ่งอัลลอฮ์จะสอบสวนและลงโทษคนรวยเหล่านั้นในวันฟื้นคืนชีพ”

อิบนุอุมัร กล่าวว่า “นอกจากซะกาตแล้ว ทรัพย์สินของท่านก็ยังคงมีพันธะหน้าที่”

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ท่านหะซัน บินอาลี หรืออิบนุอุมัร เมื่อมีผู้ขอทรัพย์สิน พวกเขาจะกล่าวกับผู้ขอว่า ” หากท่านขอเพราะจะจ่ายหนี้เลือด หรือหนี้สินที่ล้นพ้นตัว หรือความจนแสนเข็ญ เราจำเป็นต้องให้แก่ท่าน”

มีรายงานว่า อบูอุบัยดะฮ์ บินจัรรอห์ และซอฮาบะฮ์ 300 ท่าน เกิดเหตุทำให้เสบียงของพวกเขาสูญเสียไป อบูอุบัยดะฮ์จึงสั่งให้ทุกคนนำเสบียงมารวมกัน แล้วให้ทุกคนรับประทานเสมอเหมือนกัน

นี้เป็นอิจมาอ์ของซอฮาบะฮ์ ที่ไม่มีผู้เห็นต่างแม้แต่คนเดียว


โดย Ghazali Benmad

เข้าใจอิสลามง่าย ๆ [ตอนจบ]

หลักสิทธิมนุษยชนในอิสลาม

อัลกุรอาน คือ ธรรมนูญสำหรับมนุษยชาติ ประเด็นหลักที่บรรจุใน  อัลกุรอานทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกับมนุษย์ เช่น อัลกุรอานได้เรียกร้องมนุษย์ว่า يا أيها الناس (โอ้ มวลมนุษยชาติทั้งหลาย) โดยที่คำนี้จะถูกเรียกซ้ำในอัลกุรอาน ถึง 28 ครั้ง ในขณะที่คำว่า الناس (มนุษย์) ปรากฏในอัลกุรอานถึง 280 ครั้ง ส่วนคำว่า إنسان (คำเอกพจน์ของมนุษย์) ปรากฏในอัลกุรอาน 63 ครั้ง และคำว่า بني آدم(ลูกหลานอาดัม) ปรากฏใน           อัลกุรอานถึง 7 ครั้ง และเพื่อเป็นการยืนยันว่าอัลกุรอานได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับมนุษย์มากที่สุด จะสังเกตได้จากโองการแรกที่ถูกประทานแก่นบีมูฮัมมัดที่ได้กล่าวซ้ำคำว่า มนุษย์ ถึง 2 ครั้งทีเดียว ในขณะที่ซูเราะฮ์ลำดับสุดท้ายในอัลกุรอานคือซูเราะฮ์ الناس  (อันนาส)  ซึ่งหมายถึงมนุษย์เช่นเดียวกัน นอกจากนี้เนื้อหาโดยรวมในอัลกุรอานเป็นการเชิญชวนและเรียกร้องมนุษย์ให้รู้จักรากเหง้าและต้นกำเนิดอันแท้จริงของตน รับทราบคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย เชิญชวนมนุษย์ให้มีความเข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการอยู่บนโลกนี้ ชี้แนะให้รู้จักและยึดมั่นบนเส้นทางการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ พร้อมทั้งให้รำลึกถึงจุดหมายปลายทางของชีวิตสู่ความสุขอันนิรันดร์ เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าอัลกุรอานคือคัมภีร์แห่งมนุษชาติโดยแท้จริง

มนุษย์คือใคร เกิดขึ้นได้อย่างไร มาอยู่ในโลกนี้เพื่อเป้าหมายอันใดและอะไรจะเกิดขึ้นกับเขาหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว ? 

         มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งซึ่งมีเกียรติยิ่งกว่าสัตว์โลกอื่น ๆทั้งหลายที่อัลลอฮ์ทรงสร้างในรูปลักษณ์อันสมบูรณ์มาตั้งแต่เดิม (มิใช่อาศัยทฤษฎีวิวัฒนาการ) มีสรีระร่างกาย ใบหน้า หูตา จมูก และอวัยวะส่วนต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมและสวยงามยิ่ง

         มนุษย์คนแรกที่ถูกบังเกิดขึ้น หลังจากจักรวาลนี้ถูกสร้างขึ้นมาคืออาดัม ซึ่งในคัมภีร์อัลกุรอ่านระบุว่าท่านถูกสร้างมาจากดินเหนียว อาดัมได้ใช้ชีวิตครั้งแรกอยู่ในสวรรค์เพียงลำพัง ต่อมาอัลลอฮ์ก็สร้างมนุษย์คนที่สองเป็นเพศหญิงคือ “เฮาวาอ์” ซึ่งพระองค์ทรงสร้างนางมาจากกระดูกซี่โครงของอาดัมซึ่งเป็นอวัยวะที่มีลักษณะโค้งงอและอยู่ใกล้กับหัวใจที่สุดเพื่อเป็นคู่ครองของเขา ทั้งคู่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

อัลกุรอานระบุว่ามนุษย์ถูกสร้างและใช้ชีวิตอยู่บนโลกนี้ เพื่อรับการทดสอบจากพระเจ้าในบทบาทของบ่าวที่พึงแสดงการเชื่อฟังและเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงผู้เดียวตลอดการดำเนินชีวิต โดยไม่ทรยศและยึดสิ่งอื่นใดมาเป็นภาคีกับพระองค์

หลังจากที่มนุษย์เสียชีวิตไปแล้วแต่ละคนจะถูกนำกลับสู่พระเจ้าและฟื้นคืนชีพอีกครั้งในปรโลกเพื่อทำการพิพากษาและตอบแทนในผลงานความดี ความชั่วทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เคยกระทำไว้ขณะที่มีชีวิตอยู่ในโลก หากผู้ใดเชื่อฟังอัลลอฮ์และทำความดีใด ๆ ไว้แม้จะน้อยนิดเพียงธุลีดินเขาก็จะได้เห็นมันและได้รับการตอบแทนตามนั้น และหากผู้ใดทรยศต่ออัลลอฮ์และกระทำความชั่วใด ๆ ไว้แม้จะน้อยนิดเพียงธุลีดินเขาก็จะได้เห็นมันและได้รับการตอบแทนตามนั้นเช่นกัน คนดีจะได้พำนักอย่างมีความสุขในสวนสวรรค์ชั้นต่าง ๆ อันสถาพร ส่วนคนชั่วก็จะถูกลงโทษอย่างสาสมในนรกขุมต่าง ๆ ตามผลกรรมที่ก่อไว้…

อิสลามให้เกียรติและยกย่องมนุษย์โดยถือว่ามนุษย์คือผู้ถูกสร้างที่สมบูรณ์และเพียบพร้อมที่สุด มนุษย์จึงถูกแบกภาระให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของพระเจ้าในการจรรโลงและพัฒนาโลกนี้ให้ถูกต้องตามครรลองและสอดคล้องกับสัญชาตญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์ ขณะเดียวกันอัลลอฮ์ได้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ในการทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้อย่างสมบูรณ์ที่สุด

อัลลอฮ์ได้กำหนดบทบัญญัติให้มนุษย์ยึดปฏิบัติเป็นวิถีดำเนินชีวิต บทบัญญัติและคำสอนของอิสลามล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองปัจจัยสิทธิขั้นมูลฐานของมนุษย์ทั้ง 5 ประการ นั่นคือ การคุ้มครองศาสนา ชีวิต สติปัญญา สายตระกูลหรือศักดิ์ศรี และทรัพย์สิน

ดังนั้น สิทธิมนุษยชนในอิสลามจึงเป็นส่วนหนึ่งของหลักความเชื่อที่มีความเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ของมนุษย์กับพระเจ้า และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับเพื่อนร่วมโลก ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม โดยไม่มีการจำกัดด้านสัญชาติ เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม 

สิทธิมนุษยชนในอิสลาม คือพฤติกรรมที่เป็นข้อเท็จจริงที่คงอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์และพร้อมแสดงออกมาในภาคปฏิบัติ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการน้อมรับคำบัญชาของอัลลอฮ์ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจทางกฎหมายหรือข้อตกลงทางสังคมบังคับใช้

ในฮัจญ์อำลา นบีมูฮัมมัด พร้อมด้วยบรรดาเศาะฮาบะฮ์กว่า 100,000 คนได้พร้อมกันประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ทุ่งอะเราะฟะฮ์ ท่าน ได้กล่าวเทศนาธรรมอำลา เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของอิสลามที่ครอบคลุมหลักพื้นฐานของการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ ความรับผิดชอบในหน้าที่ การยอมรับสิทธิส่วนบุคคล การใช้ชีวิตในครอบครัว ฐานะของสตรีในอิสลามและบทบาทของนางต่อการสร้างครอบครัวเปี่ยมสุข หลักการยึดมั่นในอัลกุรอานและซุนนะฮ์โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาชีวิต เลือด ทรัพย์สินและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ดังปรากฏในส่วนหนึ่งของเทศนาธรรมความว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย แท้จริงเลือด ทรัพย์สมบัติและศักดิ์ศรีของท่านจะได้รับการปกป้องและห้ามมิให้เกิดการล่วงละเมิด จนกว่าท่านทั้งหลายจะกลับไปสู่พระเจ้าของท่าน เฉกเช่นกับการห้ามมิให้มีการล่วงละเมิดในวันนี้ เดือนนี้และสถานที่แห่งนี้”

หลักการปฏิสัมพันธ์กับคนต่างศาสนิกในอิสลาม

          อิสลามคือศาสนาแห่งความเมตตา ศาสนาแห่งสันติภาพ อิสลามได้สอนมารยาทต่าง ๆ ที่พึงปฏิบัติต่อตนเอง ครอบครัว ญาติมิตร และเพื่อนมนุษย์ทุกคน ทั้งที่เป็นมุสลิมและไม่ใช่มุสลิม

ในคัมภีร์อัลกุรอ่านมีคำสั่งใช้มากมายที่สั่งให้บรรดามุสลิมทำความดีแก่คนต่างศาสนิก อาทิคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

“อัลลอฮฺมิได้ทรงห้ามพวกเจ้าทำดีต่อชนต่างศาสนิกที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และไม่ได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนและถิ่นที่พำนัก และอัลลอฮฺสั่งให้พวกเจ้ามีความยุติธรรมต่อพวกเขา เพราะอัลลอฮฺทรงรักผู้มีความยุติธรรม”

หมายความว่า อัลลอฮฺไม่ได้ห้ามชาวมุสลิมทำความดีกับคนต่าง    ศาสนิกที่อาศัยอยู่ร่วมกับพวกเขา ตราบใดที่ชนต่างศาสนิกเหล่านั้นไม่ทำตัวเป็นศัตรูกับอิสลามและชาวมุสลิม ไม่ได้รุกรานหรือทำลายศาสนาอิสลามและไม่ได้ทำร้ายชาวมุสลิม  และอัลลอฮฺสั่งให้ชาวมสุลิมมีความยุติธรรมแก่ชนต่างศาสนิก โดยเฉพาะหากพวกเขาเหล่านั้นเป็นเครือญาติของพวกเขา

ท่านนบีมูฮัมมัดได้อาศัยร่วมกับชาวยิวที่เมืองมาดีนะห์ ท่านได้ปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยความอ่อนโยน และให้เกียรติ ไม่เคยบังคับพวกเขาให้เข้ารับอิสลาม หนึ่งในนั้นคือเด็กชายชาวยิวคนหนึ่งที่คอยรับใช้ท่านนบี ในบางกิจการ แต่ทว่าท่านนบีกลับให้สิทธิและเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพวกเขา ตราบใดที่พวกเขาอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม รัฐอิสลามก็จำเป็นต้องปกป้องชีวิต ทรัพย์สิน และเกียรติของทุกคนไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาใดก็ตาม ให้ความยุติธรรมแก่พวกเขาในคดีความต่าง ๆ ที่มีการพิพาทระหว่างพวกเขากับชาวมุสลิม 

คำสอนของอิสลามล้วนเป็นคำสอนที่วางอยู่บนพื้นฐานของการให้เกียรติต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมทุกสีผิว ทุกภาษา และทุกศาสนา ขณะเดียวกันอิสลามได้ห้ามด่าทอ ดูถูก และเหยียดหยามศาสนาผู้อื่น รวมถึงสิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขากราบไหว้บูชา และถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดโดยปราศจากความรู้ เพราะการกระทำดังกล่าวจะนำมาซึ่งการเป็นศัตรู และบั่นทอนความสงบสุข และความปรองดองของสังคม

หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งที่อิสลามได้กำหนดไว้สำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ คือ ความสงบสุข ความศานติ และความมั่นคง ในชีวิต ครอบครัว ทรัพย์สิน และสังคม ดังนั้น ความสัมพันธ์ของชาวมุสลิมกับต่างศาสนิก ไม่ว่าในระดับปัจเจกบุคคล ระดับสังคม หรือระดับประเทศล้วนวางอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์ในรูปของการทำความรู้จัก การมีไมตรีต่อกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การเผยแผ่ความดี ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในรูปของการเป็นศัตรู การต่อสู้ และทำลายล้างกัน

หากผู้ใดได้พิจารณาคำสอนอิสลามอย่างไตร่ตรอง ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าพื้นฐานแห่งคำสอนอิสลาม คือการเชิญชวนมวลมนุษยชาติสู่การสร้างความผาสุก และสันติภาพที่แท้จริงบนโลกนี้และโลกหน้า ในโลกนี้คือความสงบสันติและความมั่นคงในชีวิต และในโลกหน้าคือความผาสุกในสวนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่พำนักที่มีแต่ความสันติอันถาวร

อัลกุรอานได้เชิญชวนมนุษย์ทุกคนสู่การตอบรับอิสลาม อันเป็นหนทางสู่ความสำเร็จ และเป็นหนทางสู่การสร้างสันติภาพร่วมกันทั้งในโลกนี้และโลกหน้า แต่ด้วยประสงค์แห่งองค์อภิบาล เราพบว่ามีมนุษย์บางส่วนได้ปฏิเสธคำเชิญชวนนี้ และไม่ยอมรับหลักการร่วมมือเพื่อให้เกิดสันติภาพแห่งอิสลามที่ครอบคลุมทั้งสองโลก กระนั้นก็ตาม อิสลามก็ยังเชิญชวนผู้ที่ไม่ได้เลื่อมใสและยอมรับอิสลามสู่การทำความรู้จัก การสร้างมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนคุณประโยชน์แห่งความดีงาม และการช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกัน เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพ ความมั่นคงในชีวิต และความสงบสุขในสังคม

อิสลามได้วางเงื่อนไขของการให้ความช่วยเหลือว่า ต้องวางบนหลักของการทำดีด้วยความบริสุทธิ์ใจและการยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า ทั้งสองหลักนี้เป็นจุดรวมของความดีงามและสันติภาพสำหรับมวลมนุษย์ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า  ในขณะที่การช่วยเหลือกันในการกระทำความผิดและการละเมิดเป็นที่ต้องห้ามในอิสลาม เพราะทั้งสองประการคือมูลเหตุแห่งความชั่วร้ายและหายนะที่นำไปสู่การแตกแยก การจุดไฟแห่งการปะทะ และสงครามที่บ่อนทำลายสันติภาพและความสงบสุขของมนุษยชาติ

จากที่กล่าวมา จึงสรุปได้ว่า พื้นฐานเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างชาวมุสลิมกับต่างศาสนิก คือสันติภาพ  ส่วนสงครามและการต่อสู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภายหลัง เนื่องจากการรุกรานและละเมิดของผู้อื่นต่อพวกเขาและศาสนาของพวกเขา

ในประวัติศาสตร์อิสลาม ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัฐอิสลามมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ที่จะเลือกนับถือศาสนาใดก็ได้ ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์อิสลามอันยาวนานว่ามีการบังคับขู่เข็ญให้ชาวยิว ชาวคริสต์ หรือคนอื่น ๆ ให้หันมานับถืออิสลาม ข้อเท็จจริงนี้เป็นที่ยอมรับกัน แม้แต่ในหมู่ศาสนิกอื่น อาทิเช่น โธมัส อาร์โนลด์ นักบูรพาคดีชาวอังกฤษผู้หนึ่งที่ได้กล่าวว่า “เราไม่เคยได้ยินว่ามีความพยายามใด ๆ ที่เป็นแผนการเพื่อใช้บังคับผู้อื่นที่ไม่ใช่มุสลิมให้ยอมรับอิสลาม หรือว่ามีการบังคับข่มขู่โดยมีจุดหมายเพื่อกำจัดศาสนานั้น ๆ” 

สถานภาพของสตรีในอิสลาม

อัลลอฮฺทรงสร้างมนุษย์ทั้งชายและหญิงโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือให้ ทําหน้าที่เป็นบ่าวที่ดี ดังนั้นทั้งผู้ชายและผู้หญิงจำเป็นต้องเกื้อกูลและอุดหนุนระหว่างกันเพื่อทําหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ให้สมบูรณ์ที่สุด หากปราศจากหรือปฏิเสธเพศใดเพศหนึ่ง มนุษย์ก็จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะบ่าวของอัลลอฮฺได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ถ้าเราสังเกตถึงสภาพของสตรีในสังคมอาหรับยุคอนารยชนอันงมงายเราจะพบว่าสตรีจะถูกปฏิบัติอย่างไร้ซึ่งศีลธรรม สตรีถูกอธรรม ถูกเอารัดเอาเปรียบ บางสังคมถึงกับฝังบุตรสาวทั้งเป็นทันทีที่นางถูกคลอดออกมา เพียงเพราะกลัวว่าพวกนางจะสร้างความอับยศต่อวงศ์ตระกูล ในขณะที่บางสังคมปล่อยให้พวกเธอมีชีวิตอย่างต่ำต้อยไร้เกียรติไม่ต่างอะไรกับทาส

สตรีในยุคอนารยชนจะไม่มีสิทธิ์ได้รับการสืบทอดมรดกยิ่งกว่านั้น สังคมในสมัยนั้นยังกำหนดให้นางเป็นส่วนหนึ่งจากกองมรดกที่ได้รับการสืบทอดสู่ทายาทเจ้าของมรดกหลังจากที่เขาได้เสียชีวิตไปแล้ว

หลังจากอิสลามได้รับการเผยแผ่ อิสลามก็มีบัญญัติยกเลิกการเอารัดเอาเปรียบต่อสตรีเพศในทุกมิติ พร้อมกับคืนสิทธิที่พวกนางควรจะได้รับอย่างครบถ้วน ทั้งยังกำหนดให้พวกนางได้รับผลตอบแทนและสิทธิต่าง ๆ อย่างยุติธรรมที่สุด ดังนั้นผู้ใดก็ตามที่ได้ประกอบคุณงามความดีไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิง หากเขาเป็นผู้ศรัทธา อัลลอฮฺก็จะประทานชีวิตที่ดีแก่เขา และจะประทานผลตอบแทนที่ดียิ่งจากการปฏิบัติของพวกเขา อัลลอฮฺจะไม่ทำให้การงานของคนใดสูญหาย  ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง

อิสลามไม่ได้มองว่าสตรีคือทรัพย์มรดก ดังที่เป็นประเพณีปฏิบัติของกลุ่มชนในยุคอนารยชน  ขณะเดียวกัน อิสลามได้ยกระดับพวกนางด้วยการมอบสิทธิ เสรีภาพและอิสรภาพ และได้กำหนดสัดส่วนสิทธิอันพึงได้รับจากมรดกแก่พวกนาง 

จะอย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอคติต่อศาสนาอิสลามได้กล่าวโทษให้ร้ายต่ออิสลามว่าอิสลามเป็นศาสนาที่เอารัดเอาเปรียบต่อเหล่าสตรี บังคับให้นางอยู่แต่ในบ้าน และกีดกันอิสรภาพของพวกนาง นำกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มาควบคุมพวกนาง เป็นต้น

ซึ่งความจริงแล้ว การที่เหล่าสตรีไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านและคอยทำหน้าที่เป็นศรีภรรยาที่ดี เป็นแม่บ้านแม่เรือน และคอยเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนบุตรนับเป็นภารกิจและหน้าอันมีเกียรติที่นางได้รับความไว้วางใจและมอบหมายให้ปฏิบัติ ในขณะที่ผู้ชายก็ต้องทำหน้าที่ออกจากบ้านไปหาปัจจัยเลี้ยงชีพมาจุนเจือครอบครัว ซึ่งเท่ากับเป็นประสานความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายชายผู้เป็นบิดากับฝ่ายหญิงผู้เป็นมารดาในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณธรรมออกสู่สังคมโลก

ดังนั้นการที่อิสลามกำหนดให้เพศชายเป็นผู้คอยดูแล ปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของสตรี และกำหนดให้นางทำหน้าที่ในฐานะแม่ศรีเรือนจึงไม่เข้าข่ายการกีดกันอิสรภาพของพวกนาง เพราะโดยธรรมชาติแล้วผู้ชายมีความเข้มแข็ง มีพละกำลัง และความกล้าหาญ และมีความเป็นผู้นำมากกว่าสตรี 

ในฐานะที่สตรีเป็นสมาชิกหนึ่งของสังคม นางจึงเป็นส่วนสําคัญยิ่งต่อการพัฒนาและรังสรรค์สังคมสันติสุขให้เกิดขึ้นบนโลกนี้ 

การที่อิสลามกำหนดให้สตรีพำนักอยู่ในบ้านและมอบหมายให้นางแบกรับภาระและทำหน้าที่หน้าที่เลี้ยงดู และอบรมสั่งสอนลูก ไม่ได้หมายความว่านางถูกลิดรอนสิทธิ อิสรภาพ และสกัดกั้นมิให้พวกนางออกทำหน้าที่นอกบ้านโดยปริยาย  และห้ามไม่ให้พวกนางมีบทบาทด้านประชาสังคม และมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกระแสความเปลี่ยนแปลง โลกปัจจุบันที่สังคมกําลังต้องการสตรีที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนกิจการด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสังคมสงเคราะห์และกิจกรรมบําเพ็ญประโยชน์ที่เหมาะสม ตราบใดที่พวกนางสามารถทำหน้าที่หลักของพวกนางได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง


โดยทีมวิชาการ

เข้าใจอิสลามง่าย ๆ [ตอนที่ 5]

ศาสนทูตมูฮัมมัดคือใคร

ท่านมีนามว่า นบีมูฮัมมัด บินอับดุลลอฮ์ มีเชื้อสายสืบไปถึงนบี    อิสมาอีล บุตรชายของนบีอิบรอฮีม ลูกหลานของนบีอิสมาอีล ไม่มีใครได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบี จนเวลาล่วงเลยกว่า 2,500 ปี ผิดกับนบีอิสห้าก ลูกชายอีกคนของนบีอิบรอฮีม ซึ่งลูกหลานของท่านในแต่ละรุ่น ได้รับการแต่งตั้งเป็นนบีและรอซูล หนึ่งในนี้คือนบีดาวูด นบีสุไลมาน นบีมูซาและนบีอีซา

ท่านรอซูลเกิดในวันจันทร์ เดือนรอบีอุ้ลเอาวัล (เดือนที่ 3 ตามปฏิทินอิสลาม) ปีช้าง ปีที่ท่านนบีเกิด เป็นปีที่เรียกว่า ปีช้าง เพราะว่าอับรอหะฮ์ ทหารเอกของประเทศเอธิโอเปีย ได้ยกกองทัพทหารอันเกรียงไกรเพื่อทำลายกะอฺบะห์ แต่ขณะที่เขาได้เข้าใกล้อัลกะอฺบะฮ์ อัลลอฮ์ได้ส่งนกที่เท้าของมันมีหินก้อนเล็ก ๆ ถล่มจนกระทั่งทหารล้มตายทั้งกองทัพ รวมทั้งอับรอหะฮ์   จอมอหังการ

         บิดาของท่านเสียชีวิต ขณะที่อามีนะฮ์ตั้งครรภ์ประมาณ 2-3 เดือน และเมื่อมูฮัมมัดมีอายุประมาณ 6 ขวบ มารดาของท่านได้เสียชีวิต ท่านจึงอยู่ในอุปการะของปู่ของท่านชื่ออับดุลมุฏฏอลิบเป็นเวลานาน 2 ปี จนกระทั่งปู่ของท่านเสียชีวิต ลุงของท่านชื่ออะบูฏอลิบ ให้อุปการะแทน 

ขณะที่ท่านนบีอายุ 20 ปี ท่านทำการค้าขาย จนเป็นที่รู้จักในเรื่องความสัจจริง ท่านหญิงคอดียะห์ได้ยินเรื่องดังกล่าว ดังนั้นนางจึงได้เสนอตัวต่อท่าน นบีที่จะให้ท่านนบีเข้ามาในการค้าขายของนาง ท่านรอซูลตกลง ทำให้นาง      คอดียะฮ์ประทับใจในบุคลิกของนบี จึงเสนอตัวรับนบีเป็นสามี ท่านแต่งงานกับนางคอดียะฮ์ขณะอายุ 25 ปี ในขณะที่นางคอดียะฮ์ซึ่งเป็นหญิงหม้ายมีอายุ 40 ปี จากการแต่งงานนี้ทั้งสองได้ให้กำเนิดลูกชาย 2 คน คือกอซิมและอับดุลลอฮ์ ลูกสาว 4 คนคือ ซัยนับ รุก็อยยะฮ์ อุมมิกัลซูมและฟาฏิมะฮ์ ส่วนลูกชายอีกคนชื่ออิบรอฮีม เกิดจากภรรยาชื่อ มารียะฮ์จากอิยิปต์

ท่านนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้รับวะฮ์ยู (วะฮียฺ) คือ การติดต่อสื่อสารจากอัลลอฮ์ โดยผ่านสื่อคือเทวทูตญิบรีล และยังไม่มีบัญชาให้ออกเผยแพร่ ซึ่งเริ่มต้นด้วยคำว่า อิกเราะอ์ ที่มีความหมายว่า “เจ้าจงอ่านเถิด”

หลังจากนั้น อัลลอฮ์ทรงมีบัญชาให้ท่านศาสดามูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม ประกาศอิสลามอย่างลับ ๆ ก่อน คือ ประกาศแก่ญาติผู้ใกล้ชิดและผู้หญิงคนแรกที่นับถือศาสนาอิสลาม คือ ท่านหญิงคอดีญะฮ์ ภรรยาของท่าน ส่วนชายหนุ่มคนแรกที่รับอิสลาม คือ ท่านอบูบักร์และเยาวชนคนแรกที่รับอิสลาม คือ ท่านอาลี ทาสคนแรก คือ ท่านเซด บุตรฮาริซะฮ์ และต่อมาได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ การประกาศอิสลามอย่างลับ ๆ ได้กระทำมาเป็นเวลา 3  ปี จนกระทั่งนบีได้รับคำสั่งจากอัลลอฮ์ให้ประกาศอิสลามอย่างเปิดเผย ทำให้ชาวมักกะฮ์ ซึ่งส่วนใหญ่บูชาเจว็ดและติดยึดกับประเพณีของปู่ย่าตายายได้ลุกขึ้นต่อต้านทุกรูปแบบ นบีจึงสั่งให้ชาวมุสลิมอพยพลี้ภัยไปยังอะบิสสิเนีย (เอธิโอเปีย) โดยเฉพาะหลังการเสียชีวิตของนางคอดีญะฮ์และอบูฏอลิบในปีที่ 10 ของการเป็นนบี ซึ่งทั้งสองเป็นผู้สนับสนุนและให้การคุ้มครองหลักของนบี ทำให้ชาวมุสลิมได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก มีบางราย โดนทรมานถึงเสียชีวิต นบีจึงวางแผนอพยพครั้งใหญ่ไปยังเมืองมะดีนะฮ์ เนื่องจากชาวมะดีนะฮ์จำนวนหนึ่งได้ให้คำสัตยาบันให้ความคุ้มครองท่าน เหมือนพวกเขาคุ้มครองสมาชิกในครอบครัว นบีจึงสั่งให้ชาวมุสลิมที่อยู่มักกะฮ์อพยพไปยังมะดีนะฮ์ โดยพวกเขาเสียสละยอมละทิ้งทุกอย่าง ทั้งทรัพย์สิน เงินทอง แม้กระทั่งคนรัก เพื่อไปปักหลักที่เมืองมะดีนะฮ์ โดยมีนบีและอบูบักร์เป็นคณะสุดท้ายที่ไปถึงเมือง    มะดีนะฮ์ ท่ามกลางการต้อนรับอย่างดีใจสุดชีวิตของชาวมุสลิมที่มะดีนะฮ์ 

ณ เมืองมะดีนะฮฺ นบีได้สร้างเมืองใหม่ด้วยการจัดระเบียบทั้งระบบการปกครอง การบริหารบ้านเมือง การฟื้นฟูและการเยียวยา การป้องกันประเทศ การพัฒนาสังคมในทุกมิติทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคมสงเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จนกลายเป็นสังคมต้นแบบของมนุษยชาติ โดยใช้คำสอนแห่งพระเจ้าแห่งสากลจักรวาล “และเรามิได้ส่งเจ้า โอ้มูฮัมมัดเป็นการอื่นใด เว้นแต่เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเมตตาแห่งสากลจักรวาล” (อัลอันบิยาอฺ / 107)

นบีมูฮัมมัดเสียชีวิตขณะอายุ 63 ปี หลังจากประกาศอิสลามที่มักกะฮ์ 13 ปี และที่มะดีนะฮ์ 10 ปี ท่านเสียชีวิตและถูกฝังที่บ้านของนางอาอิชะฮ์ติดกับมัสยิดนบี และต่อมาสหายคนสนิทของท่าน 2 คนคืออบูบักร์และอุมัร์ก็ถูกฝังศพ ณ บริเวณนี้เช่นกัน 

อัตชีวประวัติของนบีมูฮัมมัด ได้รับการบันทึกอย่างละเอียดที่สุดเหมือนจดหมายเหตุรายวัน โดยเฉพาะช่วงเวลา 13 ปีที่ท่านประกาศอิสลามที่มักกะฮ์ และ 10 ปีที่ท่านสร้างรัฐอิสลามที่มะดีนะฮ์ กล่าวได้ว่าทุกเหตุการณ์สำคัญ ทุกสถานที่และสภาพแวดล้อม ทุกอิริยาบถและกิจวัตรรายวัน แม้กระทั่งคำพูดของท่าน ได้รับการถ่ายทอดจากบรรดาเศาะฮาบะฮ์อย่างละเอียด มีระบบการบันทึกอย่างพิถีพิถันและรอบคอบ มีระบบการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวอย่างเข้มงวด จนสามารถสร้างเป็นองค์ความรู้เพื่อเป็นแบบอย่างแก่มนุษยชาติต่อไป

อัลกุรอานคืออะไร

อัลกุรอานเป็นคัมภีร์ที่มนุษย์จะต้องยึดถือเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต ตราบถึงวันอวสานของโลกนี้ เป็นคัมภีร์ฉบับสุดท้ายที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่นบีมูฮัมมัด เพื่อเป็นทางนำแก่มนุษยชาติ จึงเป็นคัมภีร์ที่สมบูรณ์ทั้งเนื้อหาสาระและรูปแบบการใช้ภาษา อัลกุรอานเป็นภาษาอาหรับ ซึ่งเป็นภาษาที่มีความไพเราะ ในการออกเสียง และภาษาที่ใช้ความหมายอันลึกซึ้ง ถ้อยคำ เท่าที่ถ่ายทอดมาจากท่านศาสดามูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อ 1,400 ปีกว่า ยังได้รับการรักษาไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแม้แต่อักษรเดียว

มุสลิมทั้งโลกจะอ่านอัลกุรอานในพิธีละหมาด ในวาระอันต้องการความดีและอ่านเพื่อนำความหมายมาปฏิบัติอัลกุรอานเป็นธรรมนูญสูงสุด ความประพฤติอันถูกต้องจะต้องสืบหรือปรับเข้าหาอัลกุรอาน กฎหมายอิสลามจะต้องยึดถืออัลกุรอานเป็นหลักในด้านนิติบัญญัติ จะออกกฎหมายอันแย้งต่อบัญญัติของอัลกุรอานไม่ได้อย่างเด็ดขาด

อัลกุรอานถูกประทานลงมาครั้งแรก ณ ถ้ำฮิรออ์ ที่นครมักกะฮ์ เมื่อ นบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีอายุ 40 ปี โองการที่ถูกประทานลงมานั้น จะทยอยกันลงมาตามแต่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์และมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับโองการดังกล่าว ระยะเวลาการประทานตามโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่โองการแรกจนถึงโองการสุดท้ายนานถึง 23 ปี เมื่อได้รับโองการแล้ว ท่านศาสดาก็จะนำมาประกาศแก่ผู้อื่น แล้วทุกคนก็จะท่องจำจนขึ้นใจ มีการทบทวนกันอยู่เสมอ และมีการบันทึกลงบนหนังสัตว์แห้งบ้าง บนกาบอินทผาลัมบ้าง บนแผ่นหินบ้าง ต่อมาในสมัยปกครองของท่านอบูบักร์ เคาะลีฟะฮ์ท่านแรก ท่านได้ดำริให้มีการจัดรวบรวมขึ้นเป็นเล่มจากส่วนที่กระจัดกระจายกันในบุคคลและสถานที่ต่าง ๆ จากนั้นในสมัยการปกครองของท่านอุสมาน บิน อัฟฟาน เคาะลีฟะห์ท่านที่ 3 ได้สั่งให้มีการรวบรวมและปรับปรุงในด้านการเขียน มีจำนวนถึง 6 เล่ม และส่งไปยังหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อให้อ่านเป็นสำนวนเดียวกัน และป้องกันการปลอมแปลงอันอาจจะเกิดขึ้นได้

อัลกุรอาน ถือเป็นหนังสือที่มีคนอ่านและศึกษาเป็นประจำอย่างต่อเนื่องมากที่สุดในโลก สอดคล้องกับชื่อ อัลกุรอาน ซึ่งมีความหมายว่า สิ่งถูกอ่านเป็นประจำมากที่สุด อัลกุรอานยังท้าทายมนุษย์และอมนุษย์ หากยังมีความสงสัยหรือคลางแคลงใจว่า มันมาจากพระเจ้าแห่งสากลจักรวาลหรือไม่ ก็ให้แต่งเนื้อหาที่มีคุณภาพเหมือนกับอัลกุรอาน ทั้งด้านภาษา เนื้อหา และอื่น ๆ ซึ่งยังไม่มีใครรับคำท้านี้ อัลกุรอานถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่มีใครทำได้เสมอเหมือน และจะยังคงอยู่ในสภาพนี้จวบจนโลกอวสาน

อัลกุรอานไม่ใช่เป็นตำราทางประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์ที่สำคัญของมนุษย์จะถูกบันทึกในนั้น อัลกุรอานไม่ใช่หนังสือเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง การบริหาร ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน จริยศาสตร์ หรือโลกอันเร้นลับ แต่ทุกศาสตร์ดังกล่าว ได้รับการพูดถึงในอัลกุรอานอย่างชัดเจนและถูกต้องที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น อัลกุรอานเปรียบเสมือนสายเชือกของอัลลอฮ์ ที่ต้องการให้มนุษย์ถือมั่นกับสายเชือกเส้นนี้ จนกว่าจะนำพาเขาสู่สวรรค์ของพระองค์

ซุนนะฮ์คืออะไร

ซุนนะฮ์แปลว่า แนวทาง ในที่นี้หมายถึง แนวทางของท่านนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม อันหมายถึง แนวทางของอัลลอฮฺ ดังนั้น คำว่า “อัซซุนนะฮฺ” จึงหมายถึงศาสนาอิสลาม มิใช่นิกายหรือกลุ่มชน หรือแนวทางอันประหลาด หรือทฤษฎีส่วนตัว หรือทรรศนะของนักปราชญ์ใด ๆ ทั้งสิ้น

ซุนนะฮฺจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่อนุรักษ์หลักการของอิสลามให้คงอยู่ เหมือนดั้งเดิม โดยไม่ยอมให้อุตริกรรม ประเพณี วัฒนธรรม แนวคิด หรือการปฏิรูปในรูปแบบใดก็ตาม มาทำลายความสมบูรณ์ของคำสั่งสอนที่มีอยู่ในศาสนาอิสลาม ดังนั้นมุสลิมต้องยึดมั่นในแนวทางซุนนะฮฺ จะไม่ยอมกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถือว่าเป็นศาสนกิจ เว้นแต่ต้องมีบทบัญญัติระบุไว้ในอัลกุรอาน หรือบทฮะดีษที่ถูกต้องจากท่านนบีมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ดังนั้น ซุนนะฮ์จึงเป็นแนวทางของนบีมูฮัมมัดอันเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด โดยมีเป้าหมายให้มนุษย์นำไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างหลักประกันการใช้ชีวิตที่ประสบผลสำเร็จทั้งบนโลกนี้และชีวิตหลังความตาย 

เนื่องจากอิสลามคือวิถีชีวิตที่ออกแบบโดยอัลลอฮ์ ผู้ทรงบริหารสากลจักรวาล ดังนั้นพระองค์ได้ส่งนบีมูฮัมมัด ให้เป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ มุสลิมทุกคนต้องยึดมั่นกับต้นแบบนี้ โดยแยกเป็นสองส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ ส่วนแรกคือ ต้นแบบการดำเนินชีวิตบนโลก โดยนบี  มูฮัมมัดได้วางหลักการโดยรวม ที่เกี่ยวข้องหลักการใช้ชีวิตส่วนตัว ครอบครัว สังคม การศึกษา เศรษฐกิจ การบริหารและการจัดการ และด้านอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตที่ประสบผลสำเร็จ และมอบหมายให้มนุษย์รู้จักประยุกต์ใช้และพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยใช้สติปัญญาและพลังศรัทธาในการขับเคลื่อนและสร้างสรรค์ได้อย่างอิสระ ตราบใดที่ไม่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม เช่นการพัฒนาคุณภาพชีวิต การผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ทางเทคโนโลยี เป็นต้น ส่วนที่สองได้แก่ ต้นแบบที่เกี่ยวกับพิธีกรรมทางศาสนา เช่นการละหมาด การถือศีลอด การกำหนดบาปบุญและความประเสริฐของวัน เวลา โอกาสและสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งนบีได้ปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่างอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว มุสลิมไม่มีสิทธิ์สร้างอุตริกรรม เพิ่มเติมหรือตัดตอนในเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ในฐานะไหนก็ตาม ผู้ใดที่อุตริกรรมในเรื่องนี้ เขาจะถูกปฏิเสธโดยปริยายและสิ่งอุตริกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะโดยสิ้นเชิง


โดยทีมวิชาการ

เข้าใจอิสลามง่าย ๆ [ตอนที่ 4]

3. หลักคุณธรรม (อิ๊ห์ซาน)

หมายความถึง ความดีต่าง ๆ ที่ต้องประพฤติอยู่เสมอ อันได้แก่หน้าที่และมารยาทที่ต้องแสดงออก และคุณสมบัติที่ดีทางจิตใจ เช่นหน้าที่ของบุคคลต่อพระเจ้า ต้องระลึกอยู่เสมอว่า ตัวเองอยู่ต่อหน้าพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงมองเห็นอยู่ตลอดเวลา จึงต้องทำแต่ความดี มีมารยาท และ    ละเว้นการกระทำที่ผิดต่อบทบัญญัติของพระองค์

หน้าที่ของผู้รู้ ครูและผู้รู้โดยทั่วไปจะต้องสำนึกอยู่เสมอว่าความรู้ที่ตนได้มานั้นเป็นไปโดยความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า พระองค์ทรงประทานให้ ดังนั้นจึงต้องเผยแพร่ต่อให้ผู้อื่นได้รับความรู้นั้นโดยไม่มุ่งหวังอามิสสินจ้าง  ใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่แนะนำความรู้ไปสร้างสมอำนาจบารมีหรือนำความรู้ไปแข่งขันกับใคร หรือทับถมผู้รู้อื่น ๆ หรือหาประโยชน์อันมิชอบ

หน้าที่ของผู้ไม่รู้ผู้ไม่รู้จะต้องศึกษาเพื่อจะได้มีความรู้ ความรู้มิได้จำกัดแต่เฉพาะความรู้ทางด้านสามัญหรือศาสนาด้านใดด้านหนึ่ง มุสลิมจะต้องเรียนรู้ทั้งสองด้าน จนสามารถนำความรู้ ความสามารถไปประพฤติทางด้านศาสนาอย่างดีและนำความรู้สามัญหรือวิชาชีพไปประกอบสัมมาอาชีพต่อไป และผู้เรียนรู้ทุกคนจะต้องให้ความเคารพต่อผู้สอนมีความนอบน้อมถ่อมตน พูดจาสุภาพ อ่อนโยน และคอยอุปถัมภ์และดูแลช่วยเหลือผู้สอนของตนอยู่เสมอ

หน้าที่ของพ่อแม่ เมื่อพ่อแม่มีลูกก็ต้องเลี้ยงดูลูกอย่างดีให้การดูแล ให้ความสุข ให้การศึกษา คอยอบรมบ่มนิสัยให้เป็นคนดี มีมารยาทไม่ปล่อยปละละเลยต่อลูกจนขาดความอบอุ่นทางจิตใจ เตลิดออกไปหาความสนุกสนานนอกครอบครัว พ่อแม่ต้องสร้างสถาบันครอบครัวให้เป็นความหวังของลูก เป็นสวรรค์ของลูก อย่าทำให้เป็นนรกสำหรับลูก

หน้าที่ของสามี-ภรรยา จะต้องมีหน้าที่พึงปฏิบัติต่อกันกล่าวคือ สามีต้องรับผิดชอบในด้านการปกครองครอบครัวและการหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว และสามีจะต้องเป็นที่พึ่งของครอบครัว มีความประพฤติที่ดีงามต่อคนในครอบครัว เป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่คนในครอบครัวโดยสม่ำเสมอ ไม่ทิ้งครอบครัวออกไปหาความสุขนอกบ้าน และต้องตักเตือนและสอนภริยาและคนในครอบครัว

หน้าที่ของภริยา ภริยามีหน้าที่ช่วยเหลือสามีในด้านต่าง ๆ คอยสอดส่องดูแลเป็นกำลังใจให้สามีให้ความสุขแก่สามีและต้องต้อนรับแขกของสามีด้วยมารยาท ด้วยอัชฌาสัยไมตรี ด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส และด้วยความจริงใจ ไม่นินทาสามีลับหลัง ไม่บ่นหรือก้าวร้าวสามีหากสามีทำผิดก็เตือนด้วยความหวังดีและครองสติไม่โมโห ให้เกียรติสามีและอยู่ในโอวาทของสามี

หน้าที่ของลูก ลูกทุกคนมีหน้าที่ต้องระลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพ่อแม่ ต้องมีความกตัญญูกตเวทิคุณต่อท่านทั้งสอง ต้องคิดอุปการะท่านทั้งสอง ไม่ปล่อยให้ท่านทั้งสองต้องเดียวดาย อยู่กับความเหงา และต้องปรนนิบัติท่านทั้งสองเป็นอย่างดีที่สุด

หน้าที่ของเพื่อน คนทุกคนมีเพื่อน ไม่ว่าเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมโรงเรียน เพื่อนร่วมหมู่บ้าน ตลอดจนเพื่อนร่วมโลก ทุกคนต้องหวังดีต่อกัน มีความประพฤติที่ดีต่อกัน ไม่ดูถูก ไม่เกลียด ไม่อาฆาตแค้น ไม่ทับถมหรือทำลายใคร ต่างคิดที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

หน้าที่ของผู้นำ ผู้นำทางสังคมในตำแหน่งต่าง ๆ ที่ถูกแต่งตั้งหรือเลือกตั้งก็ตาม จะต้องปฏิบัติตนต่อผู้ตามด้วยความเมตตา และด้วยความนอบน้อม ไม่ถือตัว พูดจาสุภาพอ่อนโยน เมื่อจะใช้อำนาจก็ใช้ด้วยความยุติธรรม มีความกล้าหาญ และกล้าตัดสินใจ ไม่ลังเล ไม่อ่อนแอ ไม่ขลาดกลัวต้องประพฤติดี พร้อมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประชาชน ต้องเสียสละทุกสิ่งเพื่อประชาชน

หน้าที่ของประชาชน ประชาชนในฐานะผู้ตามจะต้องเคารพผู้นำ กฎต่าง ๆ ที่ออกมาโดยชอบธรรม ประชาชนต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด ผู้ตามจะคิดกระด้างกระเดื่องไม่ได้แต่ก็กล้าหาญที่จะเตือนผู้นำด้วยความสุภาพ และอ่อนโยนเมื่อผู้นำทำผิดหรือออกกฎหมายโดยไม่ชอบธรรม ให้ความร่วมมือในกิจกรรมที่ดีรักษาและปกป้องเกียรติยศของผู้นำที่มีคุณธรรม ไม่ละเมิดต่อสิทธิ์ของผู้นำและสิทธิของประชาชนด้วยกัน

หากอิสลามเป็นดั่งต้นไม้ หลักศรัทธาคือส่วนรากที่มีหน้าที่หล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ คอยยึดเกี่ยวให้ลำต้นมั่นคงแข็งแรงติดกับผืนดิน พร้อมรักษาความสมดุลให้ลำต้นสูงตระหง่านต่อไป ในขณะที่ลำต้นและกิ่งก้านคือหลักศาสนปฏิบัติที่เป็นสัญญาณว่ารากมีความอุดมสมบูรณ์มากน้อยเพียงใด คอยทำหน้าที่ลำเลียงอาหารและน้ำไปยังส่วนต่าง ๆ ให้เจริญเติบโตและสมบูรณ์ ส่วนหลักอิห์ซาน คือใบและดอกผล

ที่นอกจากสร้างความร่มรื่นและความสวยงามแก่ผู้พักพิงและเชยชมแล้ว ผู้คนยังสามารถบริโภคเป็นอาหารดำรงชีวิตต่อไป ต้นไม้ต้นนี้จะออกดอกออกผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อความผาสุขของปวงประชาอย่างแท้จริง


โดยทีมวิชาการ

เข้าใจอิสลามง่าย ๆ [ตอนที่ 3]

2 . หลักการปฏิบัติศาสนกิจ (อัรกานุลอิสลาม)

หลักปฏิบัติศาสนกิจ หมายถึง หลักศาสนกิจที่อิสลามได้บัญญัติ เป็นพื้นฐานแรกสำหรับมุสลิมทุกคนที่จะต้องนำมาปฏิบัติเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดของอิสลาม ซึ่งเราเรียกว่า “อัรกานุลอิสลาม” ประกอบด้วยหลัก 5 ประการ คือ

2.1 การปฏิญาณตน (ชะฮาดะฮฺ)

ผู้ประสงค์จะเข้าสู่อิสลาม มีประตูทางเข้าเพียงประตูเดียว คือจะต้องกล่าวคำปฏิญาณตน อย่างเปิดเผยและชัดเจน พร้อมทั้งเลื่อมใสศรัทธาตามที่ตนปฏิญาณและจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอย่างจริงใจ การเป็นมุสลิม มิใช่เพียงการกล่าวคำปฏิญาณเท่านั้น หากจะต้องประกอบด้วย ความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแท้จริงด้วย องค์ประกอบแห่งการปฏิญาณจะต้องมีพร้อมทั้ง 3 ประการ คือ 

1) กล่าวปฏิญาณด้วยวาจา 

2) เลื่อมใสด้วยจิตใจและ 

3) ปฏิบัติด้วยร่างกาย

คำปฏิญาณของอิสลาม มิใช่การสบถสาบานให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา มิใช่คำสวดภาวนา หากเป็นประโยคที่กล่าวแสดงถึงความศรัทธามั่นในพระเจ้า และในศาสนทูตมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม โดยกล่าวว่า “ข้าพเจ้าปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การเคารพภักดี  นอกจากอัลลอฮ์ และข้าพเจ้าปฏิญาณว่า มูฮัมมัดเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์

أَشْهَدُ أَلاَّ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا رَسُوْلُ اللهِ

ผู้ที่ประสงค์จะเข้ารับอิสลาม จึงต้องเริ่มด้วยจิตใจที่มีศรัทธา จากนั้นจึงกล่าวประโยคปฏิญาณดังกล่าว ซึ่งทุกคนกล่าวได้ เพราะไม่ใช่เป็นประโยคต้องห้ามแต่อย่างใด การสอนประโยคปฏิญาณ จึงไม่จำเป็นต้องเลือกเอาบุคคลที่มีความรู้ศาสนาสูงหรือผู้มีตำแหน่งทางสังคมมากล่าวนำ ทุกคนสามารถกล่าวนำประโยคปฏิญาณได้ หรือผู้ที่สมัครใจรับอิสลาม ก็สามารถกล่าวประโยคนี้ตามลำพังได้เช่นเดียวกัน หากเขาศรัทธา

2.2 การละหมาด

การละหมาด เป็นการเข้าเฝ้าและการแสดงความเคารพนมัสการต่ออัลลอฮ์ตะอาลา ประกอบด้วย จิตใจ วาจา และร่างกายพร้อมกัน มุสลิมจำเป็นต้องปฏิบัติละหมาดวันละ 5 ครั้ง คือ ละหมาดซุฮ์ริในช่วงบ่าย ละหมาดอัศริในช่วงเย็น ละหมาดมัฆริบ ในช่วงตะวันลับขอบฟ้า ละหมาด   อิชาอ์ในช่วงหัวค่ำ และละหมาดศุบฮิในช่วงแสงอรุณขึ้น ผู้ทำละหมาดโดยสม่ำเสมอ จะก่อประโยชน์แก่ตัวเขาเองอย่างอเนกอนันต์ ทำให้จิตใจของเขาสะอาดบริสุทธิ์ ขจัดความหมองหม่นทางอารมณ์ ทำลายความตึงเครียด ทำให้เป็นคนที่เคร่งครัดในระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา มีความซื่อสัตย์สุจริต อดทนและจิตใจสำรวมระลึกอยู่กับพระเจ้าตลอดเวลา เมื่อจิตใจสำรวมอยู่กับพระเจ้า และระลึกถึงแต่พระองค์ก็ไม่มีโอกาสที่จะคิดทำความชั่วต่าง ๆ คิดแต่จะปฏิบัติตามคำบัญชาและบทบัญญัติของพระองค์ ไม่กล้าทำความผิด และฝืนบทบัญญัติของพระองค์

ก่อนละหมาด มุสลิมต้องอาบน้ำละหมาด และทำความสะอาดทั้งร่างกายและสถานที่  อิสลามส่งเสริมอย่างหนักแน่นให้ผู้ชายละหมาด 5 เวลาที่มัสยิดโดยพร้อมเพรียงกันร่วมกับอิมามนำละหมาด ซึ่งนอกจากได้รับผลบุญอันมากมายและลบล้างบาปแล้ว ยังเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในสังคมอย่างทั่วถึง สามารถถามไถ่สารทุกข์สุกดิบระหว่างเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด นอกจากการละหมาดในมัสยิดแล้ว มุสลิมยังสามารถละหมาดที่บ้านได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ละหมาดหลังเที่ยงคืนเป็นต้น เพื่อสอนว่า มุสลิมมีโอกาสเข้าเฝ้าอัลลอฮ์ในทุกที่ ทุกเวลาและทุกโอกาส ตราบที่เขาต้องการ มุสลิมจึงเป็นทั้งผู้ครองตน ผู้ครองธรรม และผู้ครองเรือนในคนเดียวกัน 

มุสลิมถือว่าการละหมาดและกิจกรรมการภักดีอื่น ๆ เช่นการถือศีลอด และการทำฮัจย์ เป็นต้น เป็นโอกาสสำหรับการเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า ไม่ใช่ภาระงานที่จำเป็นต้องสะสางให้แล้วเสร็จไปวัน ๆ ดังนั้นทุกครั้งที่ถึงเวลาละหมาดมุสลิมจะเตรียมตัวเข้าเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าด้วยความกระตือรือร้น และจิตใจที่ถวิลหา 

2.3 การจ่ายซะกาต

ซะกาต คือ ทรัพย์จำนวนหนึ่งที่ได้กำหนดไว้เป็นอัตราส่วนจากจำนวนทรัพย์ที่เจ้าของทรัพย์ได้มาจนครบพิกัดที่ศาสนาได้บัญญัติไว้และนำทรัพย์จำนวนนั้นจ่ายออกไปแก่ผู้มีสิทธิ

คำว่า “ซะกาต” แปลว่า การงอกเงย เพิ่มพูน และการขัดเกลา ให้สะอาดเนื่องเพราะเมื่อเจ้าของทรัพย์ได้จ่ายซะกาตออกไป เท่ากับเป็นการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดปราศจากกิเลสนานาประการ โดยเฉพาะความตระหนี่ความใจแคบ ซึ่งเป็นกิเลสใหญ่ชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุสำคัญให้สังคมอยู่กันอย่างเห็นแก่ตัว ไม่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แน่นอนสังคมที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ไม่นานวิกฤติการณ์ก็จะต้องเกิดแก่สังคมนั้น การแก่งแย่งฉกชิง กดขี่ ขูดรีด ทำลายกัน และอาชญากรรมต่าง ๆ จะต้องอุบัติขึ้น การจ่ายซะกาตจะทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า คนยากจนมีโอกาสได้รับการช่วยเหลือ การสังคมสงเคราะห์จะกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง สถาบันทางสังคมได้รับการพัฒนา รวมทั้งผู้ยากไร้ที่หมดทุนในการประกอบอาชีพ หรือไม่มีทุนศึกษาต่อ ก็มีโอกาสที่จะใช้ซะกาตเจือจุนสร้างชีวิตใหม่แก่ผู้ขาดแคลนและผู้ยากไร้เหล่านั้น ระบบซะกาต เป็นสวัสดิการภาคประชาสังคม หากนำมาจัดดำเนินการอย่างเต็มระบบแล้วจะมีผลในทางพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษา ด้านการเมืองและด้านสังคม ตลอดจนด้านอื่น ๆ ที่ขาดแคลนทุนโดยตรง

ซะกาตมี 2 ประเภทได้แก่

  1. ซะกาตตนหรือซะกาตอาหาร ในภาษาอาหรับเรียกว่า ซะกาต     ฟิตเราะห์ ซึ่งเป็นบริจาคทานภาคบังคับให้มุสลิมทุกคนไม่ว่าชายหรือหญิง เด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ ยากดีมีจน โดยใช้อาหารหลักของท้องถิ่นบริจาคตามพิกัดที่ถูกกำหนด สำหรับประเทศไทยซึ่งรับประทานข้าว ให้บริจาคข้าวสาร จำนวน 2.75 ลิตร หรือ 4 ทะนาน หรือบริจาคเงินโดยคิดตามราคาข้าวสารในท้องถิ่นนั้น โดยผู้ที่ต้องจ่ายซะกาต คือ มุสลิมทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน เพื่อนำไปมอบแก่มุสลิมที่มีความเหมาะสมที่จะรับซะกาตต่อไป โดยที่ทุกคนต้องจ่ายเท่ากัน ซะกาตประเภทนี้จะสิ้นสุดเวลา เมื่ออิมามนำละหมาดกล่าวตักบีรละหมาดอิดิลฟิตร์
  2. ซะกาตทรัพย์สิน  เป็นซะกาตที่มีการกำหนดเวลาและมีเงื่อนไขของจำนวน เป็นทานบังคับเฉพาะมุสลิมที่มีทรัพย์สินถึงจำนวนที่กำหนด ถ้ามีต่ำกว่า ไม่ต้องจ่ายซะกาต ทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาต มีดังต่อไปนี้
    1.  โลหะ เงินและทองคำ เงินสด เงินในบัญชี หุ้น สินค้า หากมีมูลค่าเท่ากับราคาทองคำหนัก 85 กรัม หรือประมาณ 5.66 บาท  เมื่อครบรอบปีต้องจ่ายซะกาต 2.5% จากทรัพย์สินเหล่านี้
    1. ผลผลิตจากการเกษตร ต้องจ่ายซะกาตของธัญพืชและผลไม้ทันทีเมื่อครบตามพิกัด
    1. ปศุสัตว์ ได้แก่ อูฐ วัว แพะหรือแกะ การจ่ายซะกาตของสัตว์เหล่านี้ มีกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขว่า ต้องเป็นสัตว์ที่ถูกเลี้ยงให้หากินเองตามที่สาธารณะเป็นส่วนใหญ่
    1. ขุมทรัพย์ที่พบได้ในแผ่นดิน ได้แก่สินแร่และทรัพย์ที่ถูกฝังดินไว้

การจ่ายซะกาตทั้ง 4 ชนิดนี้ มีรายละเอียดและข้อกำหนดที่มีการพูดถึงในตำราทางวิชาการ ซึ่งมุสลิมทุกคนต้องศึกษา เพื่อสามารถนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อไป

ผู้มีสิทธิ์รับซะกาต มีบัญญัติไว้ในอัลกุรอาน บทที่ 9 โองการที่ 60 ซึ่งมีจำนวน 8 ประเภท ดังนี้

1. คนยากจน หมายถึง คนที่ยากไร้ ไม่มีทรัพย์สมบัติ ไม่มีค่าใช้จ่ายประจำวันและไม่มีอาชีพทำ ให้จ่ายซะกาตให้เพียงพอที่พวกเขาจะได้นำไปเป็นทุนดำเนินอาชีพต่อไป

2. คนขัดสน หมายถึง บุคคลที่มีอาชีพทำ แต่รายได้ไม่พอเพียงกับรายจ่าย ให้บริจาคซะกาตเพื่อช่วยเพิ่มทุนอาชีพ หรือเสริมในส่วนที่ขาด

3. ผู้ที่ควรให้ขวัญและกำลังใจ หมายถึง บุคคลที่นับถือศาสนาอื่นและเข้ามารับอิสลามหรือมีแนวโน้มว่าจะรับอิสลาม ให้จ่ายซะกาตแก่เขา แม้เขาจะมีฐานะดีก็ตาม เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เขา

4. เจ้าหน้าที่จัดการเกี่ยวกับซะกาต หมายถึง เจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐ หรือ องค์การที่มีอำนาจจัดตั้งโดยไม่มีค่าตอบแทนในการจัดเก็บ รวบรวมและจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิ์ ให้จ่ายซะกาตเป็นค่าตอบแทนแก่เขา และหากเขามีค่าตอบแทนจากรัฐหรือองค์การแล้ว เขาไม่มีสิทธิ์ที่จะรับซะกาตเป็นค่าตอบแทนซ้ำซ้อนอีก

5. ทาสที่จะไถ่ตัวเอง หมายถึง ทาสที่ต้องการค่าไถ่ตัวจากนาย เพื่อเป็นเสรีชน โดยนายทาสได้อนุญาตให้หาค่าไถ่ตัว ให้รับซะกาตได้เฉพาะเท่าจำนวนที่จะนำไปไถ่ตัวเท่านั้น

6. ผู้มีหนี้สิน หมายถึง บุคคลที่เป็นหนี้ในทางที่ไม่ผิดต่อบทบัญญัติศาสนา เช่น เป็นหนี้เพราะความจำเป็นเฉาะหน้า เป็นหนี้เพราะช่วยเหลือผู้อื่น เป็นหนี้เพราะไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมกรณีพิพาท เป็นต้น ให้รับซะกาตตามจำนวนหนี้สินที่เขามีอยู่เท่านั้น

7. ผู้พลัดถิ่น หมายถึง ผู้เดินทางที่ขาดปัจจัยการเดินทาง ให้เขารับซะกาตได้เฉพาะที่จะจ่ายในการเดินทางเท่านั้น

8. ในทางของอัลลอฮฺ หมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลที่สละชีวิตของตนเองในทางของอัลลอฮฺ เพื่อปกป้องอธิปไตยของศาสนา และเชิดชูศาสนาให้สูงส่ง ให้เขารับซะกาตเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานของเขา

2.4 การถือศีลอด

การถือศีลอดหรือการถือบวช ภาษาอาหรับใช้คำว่า “อัศเซาม์” หรือ “อัศศิยาม” ความหมายเดิมหมายถึง การงดเว้น การระงับ การหักห้ามตัวเอง ในนิยามศาสนบัญญัติหมายถึง “การงดเว้นสิ่งที่จะทำให้การถือศีลอดเป็นโมฆะ ตามศาสนบัญญัติ โดยเริ่มตั้งแต่เวลาแสงอรุณขึ้นจวบถึงตะวันตกดิน”

การถือศีลอดที่บังคับให้กระทำนั้นมีเฉพาะในเดือนรอมฎอน (เดือนที่ 9 ตามปฏิทินอิสลาม) เท่านั้น ส่วนในวาระอื่น ๆ ไม่ได้บังคับแต่ประการใด นอกจากจะมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นมาบังคับ เช่น การบนบานไว้ว่าจะถือศีลอดอันมิใช่ในเดือนรอมฎอน อย่างนี้ถือว่าการถือศีลอดตามที่บนบานไว้นั้นถูกบังคับให้กระทำ เป็นต้น

ผลจากการถือศีลอด นำไปสู่คุณธรรมนานาประการ เช่นแสดงให้ประจักษ์ชัดถึงความเสมอภาคทางสังคม สามารถควบคุมจิตใจของตนเองได้ มีความอดทน อดกลั้น มีคุณธรรม มีความสำรวมตนเองและยำเกรงพระเจ้า ไม่ประพฤติผิดในขณะถือศีลอด มีจิตเมตตาสงสาร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น มีความสำนึกในเมตตาแห่งพระผู้เป็นเจ้า มีระเบียบวินัยและฝึกให้ตรงต่อเวลาเพราะการถือศีลอดมีเงื่อนไขให้ทุกคนปฏิบัติอยู่ในกรอบแห่งความประพฤติอันดีงามมากมาย จะรับประทานก็ต้องตรงต่อเวลาจะพูดจาหรือจะเคลื่อนไหวก็ต้องระมัดระวังกลัวกุศลแห่งการถือศีลอดจะบกพร่องไป

การถือศีลอดถือเป็นการภักดีแบบลับ ที่ไม่มีใครรู้เห็นนอกจากตัวเองและพระเจ้าเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่ถือศีลอด คือผู้ที่ดำรงไว้ซึ่งความยำเกรงต่ออัลลอฮ์อันแท้จริง เขาจะไดรับผลบุญอันมหาศาลที่อัลลอฮ์ได้เตรียมไว้ สำหรับผู้ยำเกรง

2.5 การประกอบพิธีฮัจย์

การประกอบพิธีฮัจย์ครั้งหนึ่งในชีวิตของมุสลิมที่มีความสามารถพร้อมทั้งทางร่างกายและทางการเงินที่จะเดินทางไปทำพิธีที่บัยตุ้ลลอฮ์ได้ พิธีฮัจย์เป็นศาสนกิจที่สรุปไว้ซึ่งอุดมการณ์ทางสังคมอย่างครบบริบูรณ์

การที่มุสลิมจากทั่วทุกมุมโลกเดินทางออกไปจากถิ่นที่อยู่อาศัยของตนไปสู่พิธีฮัจย์เป็นประจำติดต่อกันมาถึง 1,400 กว่าปี นับเป็นกิจกรรมที่มีความมหัศจรรย์และมีพลังอันแกร่งกล้าทางศรัทธายิ่งนัก สำนึกของผู้เดินทางไปสู่พิธีฮัจย์เป็นสำนึกเดียวกัน จากวิญญาณจิตที่ผนึกเป็นดวงเดียวกัน แม้จะมาจากถิ่นฐานอันแตกต่างกัน มีภาษาผิดแผกกันมีสีผิวไม่เหมือนกัน มีฐานะต่างกัน มีตำแหน่งทางสังคมไม่เท่ากัน แต่เมื่อทุกคนเดินทางมาสู่ศาสนกิจข้อนี้สิ่งเหล่านั้นถูกสลัดทิ้งไปโดยสิ้นเชิง ทุกคนซึ่งมีจำนวนมหาศาล แต่ก็ร่วมกิจกรรมเดียวกันโดยไม่รังเกียจเดียดฉันท์ ไม่มีความโกรธเกลียดซึ่งกันและกัน คนเป็นจำนวนล้านไปรวมกันอยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ไม่มีเรื่องขัดแย้งกัน ทุกคนมีใบหน้าอันยิ้มแย้ม ทักทายซึ่งกันและกัน ช่วยเหลือกันอย่างไม่ถือเขาถือเรา ผิดพลาดล่วงเกินกันบ้างก็พร้อมที่จะให้อภัยแก่กันและกัน

ฮัจย์ถือเป็นสมัชชาระดับสากล ที่รวบรวมผู้คนทุกหมู่เหล่าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ถือเป็นหนึ่งในการออกแบบของผู้อภิบาลแห่งสากลจักรวาล ที่ต้องการให้มนุษยชาติประยุกต์ใช้หลักสันติภาพและหลักภราดรภาพ ที่เริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักอันเป็นสะพานสร้างความร่วมมือระดับโลก เพื่อสร้างสังคมที่มีความสมานฉันท์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สันติภาพและสันติสุขตลอดไป


โดยทีมวิชาการ

เข้าใจอิสลามง่าย ๆ [ตอนที่ 2]

โครงสร้างอิสลาม

โครงสร้างอิสลามประกอบด้วยหลัก 3 ประการ ได้แก่ หลักศรัทธา    (อัรกาน อัลอีมาน) หลักศาสนปฏิบัติ (อัรกาน อัลอิสลาม) และหลักคุณธรรม (อัลอิห์ซาน) ซึ่งมีรายละเอียดโดยย่อดังนี้

1. หลักศรัทธา (อัรกานุลอีมาน) มี 6 ประการ ดังต่อไปนี้

1.1 ศรัทธาในอัลลอฮ์  

มุสลิมต้องศรัทธาว่า อัลลอฮ์คือพระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น และต้องยึดมั่นในพระองค์อย่างแน่นแฟ้น ไม่เคลือบแคลงสงสัยหรือลังเล พระองค์ทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะอันสมบูรณ์ที่สุด มุสลิมยึดมั่นว่าพระองค์ทรงบันดาลและเนรมิตทุกสิ่งสรรพ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาเองโดยลำพังอำนาจของสิ่งนั้น แท้จริงแล้วพระองค์ทรงไว้ ซึ่งเดชานุภาพ ทรงไว้ซึ่งอำนาจอันสูงสุด ทรงเอกสิทธิ์ในการปกครองและการบริหาร ทรงเป็นที่พึ่งของทุกสิ่งสรรพ ทรงกำหนดการดำเนินชีวิตของมนุษย์และสัตว์รวมทั้งสรรพสิ่งทั้งมวล พระองค์ทรงพระปรีชา ทรงปกาศิต ทรงนิรันดร์ ทรงดำรงโดยพระองค์เองโดยไม่อาศัยปัจจัยอื่น ทรงแตกต่างไปจากทุก ๆ สิ่ง พระองค์ทรงเร้นลับ พระองค์ไม่ให้กำเนิด พระองค์มิถูกกำเนิด พระองค์มิใช่สสารวัตถุ มิใช่พลังงาน พระองค์ทรงมีอยู่อย่างแน่นอน ทรงพ้นไปจากญาณวิสัยของมนุษย์ที่จะพึงสัมผัส สื่อสัมผัสที่มนุษย์มีอยู่นั้น ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะสัมผัสพระองค์ ทรงเฝ้าติดตาม ตรวจสอบ ให้ความเมตตาและให้การตอบแทนอย่างยุติธรรม พระองค์ทรงมองเห็นทุก ๆ สิ่งแต่ไม่มีใครสามารถมองเห็นพระองค์ถึงกระนั้นก็ตาม ด้วยการใช้สติปัญญาใคร่ครวญ จะสามารถพิสูจน์ได้ว่าพระองค์ทรงมีอยู่จริง

นอกจากพระองค์เป็นผู้สร้างทุกสรรพสิ่งแล้ว พระองค์ยังทรงบริหารจัดการมันด้วย ซึ่งสิ่งถูกสร้างทั้งบนโลกและชั้นฟ้า ต่างน้อมรับในเดชานุภาพของพระองค์ นอกจากนี้ พระองค์ได้สร้างญิน[1] และมนุษย์เพื่อทำหน้าที่ให้ความเคารพภักดีต่อพระองค์เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ พระองค์กำหนดให้อิสลามเป็นวิถีชีวิตแก่ญินและมนุษย์ เพื่อสร้างหลักประกันให้พวกเขาพบพานกับความสุขทั้งบนโลกนี้และโลกหลังความตาย

1.2 ศรัทธาในมะลาอิกะฮ์

มุสลิมเชื่อว่าพระองค์อัลลอฮ์ทรงบันดาลมะลาอิกะฮ์จากรัศมีเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้รับใช้ของพระองค์ รับบัญชาจากพระองค์และปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์อย่างเคารพภักดีที่สุด มะลาอิกะฮ์เป็นบริวารของอัลลอฮ์ที่ไม่สามารถมองเห็นตัวตน ไม่มีเพศ ไม่กินไม่นอน ไม่มีคู่ครอง ไม่มีบุตร สามารถจำแลงร่างได้ทุกอย่าง เป็นอีกโลกหนึ่งอันแตกต่างไปจากมนุษย์ มนุษย์ไม่สามารถมองเห็นในสภาพเดิมของเขาได้ นอกจากจะแปลงร่างเป็นคนหรืออย่างอื่น ไม่มีใครสามารถรู้จำนวนอันแน่นอนของมะลาอิกะฮ์ นอกจากพระองค์อัลลอฮ์เท่านั้น พระองค์ทรงสร้างมะลาอิกะฮ์เป็นจำนวนมาก เพื่อรับใช้พระองค์ตามหน้าที่อันแตกต่างกัน และเพื่อแสดงอำนาจอันไร้จำกัดของพระองค์

เมื่อมนุษย์เชื่อว่ามีมะลาอิกะฮ์เป็นจำนวนมากทำหน้าที่ตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า ส่วนหนึ่งคอยสอดส่อง เฝ้าติดตามและรายงานความเคลื่อนไหวของมนุษย์ เขาจึงสามารถควบคุมจิตใจและความประพฤติของเขาไว้ด้วยสังวรตนเป็นอย่างยิ่ง คนที่คิดว่าจะทำความชั่วก็เกิดความกลัวที่จะทำเพราะทราบดีว่า ความชั่วนั้นมีมะลาอิกะฮ์คอยบันทึก เพื่อเสนอต่อพระผู้เป็นเจ้าอยู่ตลอดเวลา เขาจะมีกำลังใจทำแต่ความดี เพราะความดีที่เขาทำไม่มีทางสูญหายไปไหน เนื่องจากมีมะลาอิกะฮ์คอยบันทึกไว้ในทุกการเคลื่อนไหวและทุกเวลา และไม่มีการกระทำใดที่สามารถซุกซ่อนหรือคลาดจากสายตาของบรรดามะลาอิกะฮ์ได้

1.3 ศรัทธาในคัมภีร์

มุสลิมต้องศรัทธาว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานคัมภีร์อันเป็นโองการของพระองค์แก่บรรดามนุษยชาติผ่านศาสนทูต ในแต่ละยุคแต่ละสมัย โองการของพระองค์เป็นบทบัญญัติที่มนุษย์จะต้องนำมาปฏิบัติเป็นธรรมนูญสูงสุดที่ใครจะฝ่าฝืนไม่ได้ในยุคที่ผ่านมา มีศาสนทูตได้รับพระคัมภีร์มาประกาศแก่มนุษย์ในยุคของท่านเหล่านั้นอยู่เป็นจำนวนมาก ตราบถึงยุคสุดท้ายคือ ยุคปัจจุบันอันเป็นยุคของท่านศาสดามูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

คัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้าที่ทรงประทานผ่านศาสนทูตมาสู่มนุษยชาติในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น มีลักษณะที่สนับสนุนซึ่งกันและกันหรือเสริมให้สมบูรณ์ขึ้น จำนวนคัมภีร์ที่พระองค์ทรงประทานมา มีจำนวน 104 เล่ม ที่สำคัญมีดังนี้

1.3.1 เตารอฮ์ หรือโตราห์ในยุคของท่านศาสนทูตมูซา

1.3.2 ซะบูร ในยุคของท่านศาสนทูตดาวูด

1.3.3 อินญีล หรือไบเบิ้ล ในยุคของท่านศาสนทูตอีซา

1.3.4 อัลกุรอาน ในยุคสุดท้ายคือยุคปัจจุบันทรงประทานผ่านท่าน    ศาสนทูตมูฮัมมัด (ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน) 

1.4 ศรัทธาต่อศาสนทูต

ศาสนทูตผู้ที่อัลลอฮ์ทรงเลือกให้เป็นผู้ประกาศอิสลาม มีคัมภีร์และหลักศาสนปฏิบัติเฉพาะในยุคของตนเรียกว่า “รอซูล” ส่วนผู้ที่อัลลอฮ์ทรงเลือกให้เป็นผู้ประกาศอิสลาม แต่ไม่มีคัมภีร์และยังยึดหลักศาสนปฏิบัติเดิม ก็จะเรียกว่า “นบี”

ผู้เป็นศาสนทูต เป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติแบบมนุษย์ธรรมดาทั่วไป มิใช่เป็นผู้วิเศษหรือมะลาอิกะฮ์ ศาสนทูตจึงดำเนินชีวิตเหมือนสามัญชนคือ กิน นอน ขับถ่าย มีต้นตระกูลและแต่งงานมีลูกหลานสืบสกุล แต่ศาสนทูตมีคุณลักษณะอันสมบูรณ์เหนือกว่ามนุษย์ทั่วไป อันเป็นคุณลักษณะทางด้านความประพฤติและคุณธรรมอันสูงส่ง 4 ประการ คือ

1.4.1 ความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ไว้วางใจของบุคคลทั่วไปไม่คดโกง ไม่ตระบัดสัตย์

1.4.2 มีสัจจะ พูดจริงทำจริง ไม่โกหก ไม่หลอกลวงใคร

1.4.3 มีสติปัญญาเป็นอัจฉริยะ

1.4.4 ทำหน้าที่เผยแพร่โองการจากพระผู้เป็นเจ้าแก่ประชาชนทั่วไป โดยไม่ปิดบัง และด้วยความตั้งใจสูง มีมานะอดทน เพียรพยายาม ไม่ย่อท้อต่อการขัดขวางของผู้ใดทั้งสิ้น

            นอกจากนี้ศาสนทูตสามารถสื่อสารกับอัลลอฮ์ทั้งโดยตรงหรือผ่าน      มะลาอิกัตญิบรีล ซึ่งเรียกว่า วะห์ยู ได้รับการปกป้องมิให้กระทำผิดบาปหรือ มะอฺศูม พร้อมได้รับการสนับสนุนด้วยสิ่งมหัศจรรย์ที่มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถเลียนแบบได้ เพื่อยืนยันว่าบรรดาศาสนทูตได้รับการแต่งตั้งจากอัลลอฮ์โดย      สัจจริง ซึ่งเรียกว่า มุอฺญิซัต

การที่พระผู้เป็นเจ้าทรงคัดเลือกศาสนทูตขึ้นมาจากมนุษย์ธรรมดา ก็เพื่อให้ศาสนทูตเป็นตัวอย่างแก่ประชาชนทั่วไปนำไปประพฤติปฏิบัติตาม หาก ศาสนทูตเป็นผู้วิเศษหรือเป็นมะลาอิกะฮ์ ซึ่งดำเนินชีวิตไปอีกแบบหนึ่ง ประชาชนก็ไม่สามารถจะหาตัวอย่างการดำเนินชีวิตที่ใกล้เคียงกับตนเอง แล้วคำสอนของ ศาสนทูตก็จะไร้ผล หรือเป็นนิยายในพงศาวดารเท่านั้น

ศาสนทูตที่มีปรากฏชื่อในอัลกุรอานมีจำนวน 25 ท่าน คืออาดัม อิดรีส นูห์ ฮู๊ด ศอลิฮ์ อิบรอฮีม ลูฎ อิสหาก ยะอกู๊ป ยูซุฟ มูซา ฮารูน อิลยาส ยูนุส ชุอัยบ์ ดาวูด สุลัยมาน อัลยะซะอ์ ซุลกิฟล์ ซะกะรียา อัยยู๊บ ยะห์ยา อิสมาอีล   อีซา และมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

มุสลิมไม่เลือกศรัทธาระหว่างบรรดาศาสนทูตเหล่านี้ จะไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง เพราะทุกท่าน ประหนึ่งเป็นพี่น้องหรือญาติธรรมที่รับภารกิจมาจากพระเจ้าองค์เดียวกัน มีหน้าที่เหมือนกัน คือเชิญชวนผู้คนให้เคารพภักดีอัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียว และห่างไกลจากการสิ่งกราบไหว้บูชาทั้งหลายเว้นแต่อัลลอฮ์

1.5 ศรัทธาในวันโลกหน้า

คำว่า “โลกหน้า” ถูกระบุในคัมภีร์อัลกุรอ่านด้วยชื่อเรียกที่หลากหลาย เช่น วันแห่งการฟื้นคืนชีพ, วันแห่งการพิพากษา และวันแห่งการตอบแทน เป็นต้น

การศรัทธาต่อการมีอยู่จริงของชีวิตในโลกหน้า ถือเป็นข้อหนึ่งที่สำคัญยิ่งของหลักการศรัทธา 6 ประการของอิสลาม คือศรัทธาอย่างแน่วแน่ว่าพระเจ้าผู้ทรงฤทธานุภาพจะทรงให้มนุษย์ฟื้นคืนชีพอีกครั้งหลังตายจากโลกนี้ไปแล้ว เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนบนโลกนี้ และเพื่อรับผลตอบแทนในการกระทำของตนได้ก่อไว้ โดยคนดีทั้งหลายจะได้รางวัลโดยได้พำนึกอยู่ในสวรรค์และคนชั่วจะถูกลงโทษในนรกสถาน อันเป็นการตัดสินที่ยุติธรรมยิ่งแล้วของพระเจ้า  

มุสลิมต้องศรัทธาว่า โลกนี้พระผู้เป็นเจ้าได้สร้างขึ้นเป็นการชั่วคราว เพื่อใช้เป็นสนามทดสอบและเป็นแหล่งเพาะปลูก เพื่อรับผลในโลกหน้าอันจีรังและนิรันดร์ต่อไป ดังนั้นโลกที่เราอาศัยอยู่ในปัจจุบันนี้ จึงต้องมีวาระดับสลาย ไม่วันใดก็วันหนึ่ง แต่ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าวันดับสลายของโลกจะเกิดขึ้นเมื่อใด ชีวิตมนุษย์ก็มีอายุขัยที่แน่นอน  ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า เมื่อถึงเวลาก็ต้องจากไป ละทิ้งทุกอย่างทั้งเงินทอง ลาภยศ ลูกน้องบริวาร เหลือแต่คุณงามความดีหรือความชั่วร้ายที่เขาได้ปฏิบัติ ซึ่งการกระทำของเขา จะไม่สูญเปล่า อัลลอฮ์จะทรงตอบแทนอย่างเหมาะสมและยุติธรรมที่สุด

เมื่อมนุษย์เชื่อว่า โลกนี้มีวาระดับสลาย และจะมีโลกหน้าสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยอันแท้จริง และเป็นนิจนิรันดร์ มนุษย์ก็จะอยู่ในโลกนี้ด้วยความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่มีความโลภ ไม่มีความเห็นแก่ตัวพร้อมกับสะสมแต่ความดีงาม แม้ว่าการทำดีนั้น จะไม่ได้รับผลตอบแทน ในช่วงที่มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ แต่ก็มั่นใจได้ว่าต้องได้รับอย่างแน่นอนและชัดเจนในโลกหน้า ผู้ทำความดีจึงไม่ท้อแท้ที่จะทำความดี มีกำลังใจอันสูงส่งที่จะทำความดีและ ไม่คิดที่จะละเลยต่อการทำความดีจนตลอดชีวิต เพราะอัลลอฮ์ได้ยืนยันว่า ผู้ใดที่กระทำความดีงามหรือความชั่วร้ายแม้เท่าธุลีผง เขาจะได้เห็นมันและจะได้รับการตอบแทนอันคู่ควรและยุติธรรม

มุสลิมศรัทธาว่า ความสุขสบายบนโลกนี้ แม้จะมากมายเพียงใด ก็มีอัตราเพียง 1% จากความสุขสบายที่อัลลอฮ์เตรียมไว้ในสวรรค์อีก 99% เช่นเดียวกันกับความยากลำบากบนโลกนี้ ที่แม้แต่จะทุกข์ร้อนเพียงใด ก็มีอัตราเพียง 1% จากความทรมานที่พระองค์เตรียมไว้ในขุมนรกอีก 99%  

การศรัทธามั่นต่อการมีอยู่จริงของชีวิตในโลกหน้าจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการชี้นำชีวิตมนุษย์ผู้ศรัทธาอย่างอัศจรรย์ยิ่งในแง่มุมต่างๆ เช่น ทำให้มนุษย์มีระเบียบวินัย และมีความมุ่งมั่นอย่างสม่ำเสมอในการเชื่อฟังต่อพระเจ้าและสร้างสมความดีงาม ตลอดทั้งระวังตนและออกห่างจากความเห็นแก่ตัว การฉ้อโกง และการคิดชั่วทำชั่วต่าง ๆ ทั้งหลาย เป็นต้น เป็นสิ่งเตือนสติสำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างประมาท หมกมุ่นอยู่กับเรื่องราวทางโลกและลุ่มหลงในมายากิเลสแทนที่การแข่งขันในการทำความดีและการใช้ชีวิตที่ใกล้ชิดกับพระเจ้า ทำให้ตระหนักรู้ถึงสัจจะของชีวิตอันแสนสั้นนี้ และชีวิตแห่งความเป็นจริงในโลกหน้าที่ถาวรตลอดกาล ซึ่งบุคคลใดเชื่อในวันสุดท้ายแล้วแน่นอนเขาก็จะมั่นใจอย่างแน่วแน่ว่าความสุขทุกอย่างในโลกนี้ย่อมเทียบกับความบรมสุขในปรโลกไม่ได้เลยแต่น้อย หรือแม้นหากได้รับความทุกข์ทรมานใด ๆ บนหนทางของความถูกต้องในวันนี้ก็ย่อมไม่เท่ากับความทุกข์ทรมานจากการลงโทษที่อาจได้รับในวันนั้น

1.6 ศรัทธาในกฎแห่งสภาวการณ์

สภาวการณ์ทั้งหลายถูกกำหนดมาเป็นกฎอย่างตายตัวและแน่นอน ซึ่งต้องดำเนินไปตามที่กำหนดนั้น เช่น แดดเผา ไอน้ำขึ้นไปรวมตัวกันอยู่บนอากาศ เป็นก้อนเมฆ เมื่อลมพัดก็กระจายตกลงมาเป็นฝน ฝนตกลงมาบนพื้นดิน ทำให้อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้และพืชนานาชนิดงอกงามขึ้นมา มนุษย์และสัตว์ได้รับประโยชน์จากพืชพันธุ์เหล่านั้น ล้วนเป็นกฎกำหนดสภาวะซึ่งพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดไว้ 

การดำเนินชีวิตของมนุษย์ก็เช่นเดียวกัน ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นระบบที่แน่นอน ไม่มีใครสามารถฝืนกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ ทุกคนจะต้องดำเนินไปตามกฎสภาวการณ์จากมนุษย์คนแรกจนถึงคนสุดท้าย มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีทุกข์ มีสุข มีดี มีจน การสลับหมุนเวียนสภาวการณ์เหล่านี้ในชีวิตของมนุษย์นั้น มุสลิมศรัทธาว่าเป็นไปโดยกำหนดของพระองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา ทั้งสิ้น หาใช่เป็นไปโดยอำนาจของมนุษย์เองไม่ และมิใช่อำนาจของผู้วิเศษ ฟ้าดิน ดวงดาว ไสยศาสตร์ หรือโดยอำนาจอื่นใดก็ตาม อิสลามจึงไม่มีสัตว์นำโชคหรือสัตว์พาซวย ความโชคดีหรือโชคร้าย ไม่เกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ หรือรูปร่างหน้าตา แต่ทั้งหมดเป็นไปโดยอำนาจอันสมบูรณ์สุดของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น มนุษย์ทุกคนต้องขอพรให้ได้รับสิ่งดี ๆ และให้คลาดแคล้วจากเภทภัยต่าง ๆ จากอัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น การที่มุสลิมเชื่อศรัทธาในกฎข้อนี้ มิได้หมายความว่า เขาต้องเป็นคนงอมืองอเท้า รอโชควาสนา โดยไม่ใช้ความพยายามใด ๆ เนื่องจากไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ในอดีตกาลและไม่มีความสามารถทำนายอนาคต

ดังนั้นเขาต้องใช้ความพยายามทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เขาจะไม่ย่อท้อ ผิดหวังหรือตีโพยตีพาย เมื่อประสบกับความยากลำบาก และไม่เหิมเกริมลำพองตนเมื่อได้รับความสุขสบาย เพราะทุกอย่างล้วนเป็นการกำหนดของพระองค์ทั้งสิ้น


[1] เป็นสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติชนิดหนึ่ง อาศัยอยู่บนโลกมนุษย์ แต่อยู่อีกมิติหนึ่ง มีสังคมเหมือนกับมนุษย์ มีการดำเนินชีวิต มีเกิด มีตาย มีปัญญา มีศรัทธา มีปฏิเสธ มีความสามารถเหนือมนุษย์ สามารถทำในสิ่งที่หลากหลายมากกว่า อัลลอฮ์สร้างมันจากไฟไร้ควัน มีภารกิจให้เคารพภักดีต่ออัลลอฮ์เฉกเช่นมนุษย์ทุกประการ


โดยทีมวิชาการ

เข้าใจอิสลามง่าย ๆ [ตอนที่ 1]

ความหมายของอิสลาม

อิสลามเป็นประมวลคำสอนชุดสุดท้ายที่ถูกประทานลงมาจากฟากฟ้า อันประกอบด้วยคำสอนสำคัญต่าง ๆ เช่นหลักการศรัทธา หลักการปฏิบัติ หลักการใช้ชีวิต  ตลอดจนการพิพากษาและการตอบแทนหลังความตาย ซึ่งอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปรานี มอบให้เป็นวิถีชีวิตแก่มวลมนุษยชาติ ทุกชาติพันธุ์ ภาษาและพื้นที่ 

อิสลามแปลว่าการยอมจำนน การนอบน้อม และการเชื่อฟัง ผู้ที่นับถือและศรัทธาชุดคำสอนนี้เรียกว่ามุสลิม ซึ่งหมายถึงผู้ที่นอบน้อมและยอมจำนนต่อข้อบัญญัติของอัลลอฮ์ด้วยความพอใจและสมัครใจ ปฏิบัติตามคำบัญชาใช้และหลีกห่างจากคำสั่งห้ามของพระองค์ พร้อมทั้งยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมอันสูงส่งแห่งอิสลามโดยเชื่อมั่นศรัทธาในหลักศรัทธา 6 ประการและปฏิบัติศาสนกิจตามหลักการอิสลาม 5ประการ

อิสลาม เป็นศาสนาที่ถูกกําหนดจากพระเจ้าผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง ซึ่งมีพระนามว่า อัลลอฮ์ ดังนั้นอิสลามจึงเริ่มต้นตั้งแต่มนุษย์คนแรกในโลกนี้คือ อาดัม ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้น โดยผนวกรวมระหว่างธาตุดินที่กลายเป็นสรีระร่างกาย และธาตุแห่งวิญญาณ ที่ไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ในส่วนนี้ได้ เว้นแต่พระองค์ หลังจากนั้นพระองค์สร้างคู่ชีวิตของเขา คือ เฮาวาอ์ จากกระดูกซี่โครงด้านซ้ายของเขา เพื่อให้สัญญาณว่าทั้งคู่คือส่วนที่ต้องเกื้อหนุน เติมเต็มซึ่งกันและกัน พระองค์ไม่สร้างนางจากศีรษะเพื่อให้บูชาเทิดทูน ไม่สร้างนางจากเท้าเพื่อย่ำยีกดขี่ แต่มาจากซี่โครงที่อยู่เคียงข้างหัวใจ เพื่อทำหน้าที่คอยปกป้องและเยียวยาหัวใจ และจากมนุษย์คู่แรกนี้ ก็ได้เกิดเผ่าพันธุ์มนุษย์ กระทั่งแพร่หลายกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปนับแต่นั้นมา จวบจนโลกอวสาน

อัลลอฮ์ได้ทรงเลือกสรรแต่งตั้งศาสนทูตของพระองค์ในทุกยุคทุกสมัย ตั้งแต่นบีอาดัมในฐานะมนุษย์คนแรก เพื่อทําหน้าที่สั่งสอนและชี้นำมนุษย์ให้รู้จักพระเจ้าที่แท้จริง ศรัทธาต่ออัลลอฮ์เพียงพระองค์เดียว ห่างไกลการเคารพบูชาหรือสิ่งสักการะทั้งหลาย และปฏิบัติตามข้อบัญญัติของพระองค์ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ของบรรดาศาสนทูตตามยุคสมัย จนกระทั่งถึงยุคของศาสทูตมูฮัมมัด ซึ่งท่านได้เผยแพร่ข้อบัญญัติจากอัลลอฮ์ คือ อิสลาม  ดังนั้นผู้คนทั้งหลายจึงมักเข้าใจว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ เมื่อ 1,400 กว่าปีที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่เป็นคำสอนที่ต่อเนื่องและควบคู่กับมนุษย์คนแรกด้วยซ้ำ ถึงแม้จะมีหลักปฏิบัติที่อาจต่างกันตามยุคสมัย แต่มีเนื้อแท้และแกนสารความเชื่อคือหนึ่งเดียว ไม่เคยเปลี่ยนแปลงนั่นคือ การเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์และห่างไกลจากการเคารพบูชาสิ่งอื่นใดนอกจากพระองค์

เนื่องจากไม่มีผู้ใดทรงรอบรู้เกี่ยวกับชีวิตและไม่มีผู้ใดประกาศว่าตนเองเป็นผู้สร้างชีวิต นอกจากอัลลอฮ์พระผู้ทรงสร้างชีวิต ดังนั้น ด้วยความเมตตาของพระองค์ จึงมอบวิถีชีวิตนี้ให้มนุษย์ยึดเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง พระองค์ไม่ทรงสร้างมนุษย์ แล้วปล่อยให้มนุษย์โดดเดี่ยว ค้นหาลองผิดลองถูก เพื่อกำหนดวิถีชีวิตบนโลกนี้เองตามลำพัง เพราะทฤษฎีชีวิตที่คิดค้นโดยมนุษย์ ไม่สามารถตอบโจทย์ให้แก่มนุษย์ด้วยกันเอง มนุษย์เป็นเพียงสาเหตุที่ทำให้ชีวิตเกิดขึ้นผ่านการปฏิสนธิเท่านั้น แต่มนุษย์ไม่ใช่เจ้าของชีวิตที่แท้จริง นอกจากนี้มนุษย์ยังมีข้อจำกัดทางความรู้เรื่องราวของมนุษย์อีกด้วย จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะกำหนดวิถีชีวิตให้มนุษย์ทั้งโลกนำไปปฏิบัติได้ 

อิสลามเป็นคําสอนที่อัลลอฮ์ได้กําหนดเป็นวิถีการดำเนินชีวิตแก่มวลมนุษยชาติในโลกนี้ ไม่ใช่คําสอนที่ถูกกําหนดมาเพื่อเฉพาะกลุ่มชนชาวอาหรับเท่านั้น เพียงแต่ว่าศาสนทูตมูฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เป็นชาวอาหรับ จึงเริ่มเผยแพร่จากถิ่นที่อยู่ของท่านและได้ขยายออกสู่ดินแดนต่าง ๆ ของโลก บนหลักการว่า “ไม่มีการบังคับในศาสนา” และการบังคับให้รับนับถืออิสลาม ไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตาม จะถือเป็นการกระทำที่โมฆะทันที เพราะอิสลามเชื่อว่าการบังคับ ไม่มีผลใด ๆ ต่อการศรัทธาทางจิตใจ แม้นว่าต้องใช้กองกำลังบังคับขู่เข็ญมากมายสักปานใดก็ตาม 

ด้วยเหตุที่อิสลามเป็นศาสนาแห่งมนุษยชาติ อิสลามจึงประกอบด้วยคำสอนที่ผสมผสานระหว่างความมั่นคงที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงและความยืดหยุ่นซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยและสถานที่ มีความสมบูรณ์และครอบคลุมในทุกมิติของชีวิต มีดุลยภาพและความเป็นสายกลาง มีความชัดเจนและจับต้องได้ มีความสมดุลระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีการวางน้ำหนักที่เท่าเทียมกันระหว่างการใช้ชีวิตบนภพโลกกับภพหลังความตายอย่างมีนัยสำคัญ


โดย ทีมวิชาการ