เอกอัครราชทูตตุรกีคนใหม่ประจำกาตาร์

Dr. Mahmet Mustafa Goksu

เอกอัครราชทูตตุรกีคนใหม่ล่าสุดประจำกาตาร์ ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มขณะอายุ 11 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยอิสลามมะดีนะฮ์ ปี 1994  จบปริญญาโทและเอกจาก Sakarya University มหาวิทยาลัยทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกี เขาเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อศึกษาเพิ่มเติมด้านอิสลามศึกษาและธุรกิจ เคยโลดแล่นในแวดวงธุรกิจที่ประเทศเยอรมันและซาอุดิอาระเบีย เคยรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันการลงทุนในประเทศอ่าวอาหรับ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่สถานทูตตุรกีประจำซาอุดิอาระเบีย

รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตตุรกีประจำกรุงโดฮา เมื่อเดือนมิถุนายน 2020 และให้สัมภาษณ์แก่อัลจาซีร่าห์ เผยแพร่โดย aljazeera.net เมื่อวันที่ 25/11/2020 ซึ่งได้พูดถึงประเด็นสำคัญต่างๆที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้

            ⁃          การที่ท่านได้รับตำแหน่งนี้ในสถานการณ์เช่นนี้สื่อถึงอะไรบ้าง?

ผมมีประสบการณ์ในภูมิภาคนี้มาค่อนข้างนานพอสมควร ตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาและทำงานในภาคธุรกิจ ตลอดจนเคยรับผิดชอบด้านการลงทุนในประเทศอ่าวอาหรับ น่าจะเป็นคุณสมบัติที่เพียงพอที่ทำให้ท่านประธานาธิบดีไว้วางใจผม ให้รับตำแหน่งนี้

            ⁃          หลายคนมองว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีอันแน่นแฟ้นระหว่างตุรกีกับกาตาร์เป็นความสัมพันธ์ชั่วคราว

ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันยาวนานตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เรามีจุดร่วมทางการเมืองและวิสัยทัศน์ที่เหมือนกัน เราอยู่บนแถวเดียวกันเรื่องการผดุงสัจธรรมแล้วยุติธรรมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชาติ และเราได้ถูกทดสอบมากมายบนเส้นทางนี้ แต่เราสามารถผ่านพ้นอย่างสำเร็จลุล่วงด้วยดีมาโดยตลอด

โดยเฉพาะช่วงเกิดรัฐประหารล้มเหลวที่ตุรกีปี 2016 ซึ่งประเทศกาตาร์ได้แสดงจุดยืนอยู่เคียงข้างกับรัฐบาลตุรกีตั้งแต่วินาทีแรก และช่วงที่กาตาร์เผชิญวิกฤตรุนแรงที่ถูกปิดล้อมโดยชาติเพื่อนบ้านตุรกีเป็นประเทศแรกที่ปฏิเสธการปิดล้อมครั้งนี้ พร้อมยื่นมือคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

            ⁃          ตุรกีและกาตาร์มีการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง?

ปี 2014 ทั้งสองประเทศร่วมก่อตั้งสถาบันยุทธศาสตร์สูงสุดแห่งกาตาร์และตุรกีซึ่งได้มีการประชุมไปแล้ว 5 ครั้ง โดยครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นในวันที่ 26/11/2020 ที่อังการ่า และมีการประชุมย่อยอีก 28 ครั้ง ได้บรรลุข้อตกลงในด้านต่างๆ กว่า 50 ฉบับ  ในปี 2010 ทั้งสองประเทศมีการแลกเปลี่ยนทางการค้าจาก 340 ล้านดอลล่าร์ เป็น 2 พันล้านดอลล่าร์ ในปี 2019

            ⁃          บรรยากาศทางธุรกิจในกาตาร์สอดคล้องกับการลงทุนในตุรกีหรือไม่?

ปัจจุบันมีบริษัทกาตาร์ที่เข้าไปลงทุนในตุรกีจำนวนกว่า 179 บริษัทและมียอดลงทุนมากกว่า 22 พันล้านดอลล่าร์ ในขณะเดียวกันมีบริษัทตุรกีที่ลงทุนที่กาตาร์มากกว่า 500 บริษัท มียอดการลงทุนตั้งแต่ปี 2002 จำนวนกว่า 18 พันล้านดอลล่าร์ ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนถึงบรรยากาศทางธุรกิจ ของทั้งสองประเทศที่ลงตัวที่สุด

            ⁃          ตุรกีไม่เห็นด้วยกับประเทศอาหรับที่ฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างปกติกับอิสราเอล ในขณะเดียวกันตุรกีมีสถานทูตประจำเทลอาวีฟ

รัฐบาลแอร์โดอานบริหารประเทศหลังจากที่ตุรกีเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับอิสราเอลนานกว่า 8 ทศวรรษแล้ว แต่ยุคนี้เราขอยืนยันว่า เราไม่เคยลดบทบาทและหน้าที่ของเราที่มีต่อพี่น้องปาเลสไตน์ ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี-อิสราเอลไม่ได้หมายความว่า เราเพิกเฉยกับอธรรมที่เกิดขึ้นที่แผ่นดินปาเลสไตน์ ชาวปาเลสไตน์เป็นพยานในเรื่องนี้ดี ชาวตุรกีเคยสังเวยเลือดและชีวิตบนเรือมาร์มาร่า เพื่อช่วยเหลือพี่น้องปาเลสไตน์มาแล้ว เราต้อนรับกลุ่มฟาตะฮ์และฮามาส เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันที่อิสตันบูล จุดยืนของตุรกีสอดคล้องกับประเทศสมาชิกสันนิบาตอาหรับที่ไม่เห็นด้วยกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างปกติกับอิสราเอล เพราะเราเขื่อมั่นว่า สิทธิของชาวปาเลสไตน์จะต้องได้รับการปกป้องอย่างสมบูรณ์ และไม่มีใครมีสิทธิ์ผ่อนปรนในเรื่องนี้

            ⁃          ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับซาอุดิอาระเบียเป็นอย่างไรบ้าง?

รัฐบาลตุรกีมีเอกอัครราชทูตประจำที่กรุงริยาด ท่านเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์และเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะตอบในประเด็นนี้ แต่ผมขออนุญาตพูดในฐานะประชาชนและสมาชิกหนึ่งในสังคมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผมใช้ชีวิตในซาอุดิอาระเบียทั้งในฐานะนักศึกษาและผู้ทำงาน ผมได้ซึมซับธาตุแท้ของชาวซาอุดิอาระเบีย ที่ทำให้ผมมั่นใจว่า ทั้งสองประเทศจะสามารถผ่านพ้นวิกฤติปัญหาต่างๆที่ประสบร่วมกัน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้ เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นที่สืบเนื่องมาอย่างยาวนานความร่วมมือระหว่างสองประเทศจึงมีความจำเป็นต่อการพัฒนาของประชาชาติและเป็นสิ่งที่ประชาชาติมุสลิมทั่วโลกรอคอยด้วยความหวังดีเสมอมา

            ⁃          ตุรกีปัจจุบันแตกต่างกับตุรกีเมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างไรบ้าง?

เทียบกันไม่ได้เลยครับ เมื่อ 20 ปีที่แล้วรัฐบาลจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาเพียง 8.7 พันล้านดอลล่าร์ แต่ปัจจุบันเป็น 131 พันล้านดอลล่าร์ ปัจจุบันตุรกีสร้างเมืองศูนย์กลางทางการแพทย์ 15 เเห่ง สร้างศูนย์เยาวชนจาก 9 แห่งเป็น 336 แห่งทั่วประเทศ สร้างศูนย์กีฬาจาก 1,575 แห่งเป็น 4,000 แห่ง ในปี 2013 ตุรกีสามารถจ่ายหนี้ IMF มูลค่า 22.5 พันล้านดอลล่าร์  เพิ่มมูลค่า GDP จาก 236 พันล้านดอลล่าร์เป็น 754 พันล้านดอลล่าร์ ในขณะที่รายได้ประชากรต่อหัวเพิ่มจาก 3,500 ดอลล่าร์ต่อปี เป็น 9,000 ดอลล่าร์ต่อปี ปัจจุบันตุรกีกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพผลิตอาวุธ รถยนต์และผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศมากมาย จากประเทศที่ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาภายในมากมาย แต่ปัจจุบันตุรกีก้าวขึ้นมีบทบาทในเวทีโลกอย่างเต็มภาคภูมิ

บทสัมภาษณ์ยังได้แตะประเด็นอื่นๆที่น่าสนใจในระดับภูมิภาคและนานาชาติ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอียิปต์ ตุรกีกับปัญหาซีเรียและอิรัก ตุรกีกับสหภาพยุโรป ตุรกีกับสหรัฐอเมริกา และตุรกีกับรัสเซีย ซึ่งบอกได้เลยว่า ชายคนนี้ไม่ธรรมดาและขอย้ำทิ้งท้ายว่าขอให้จำชื่อคนนี้ให้ดี

ไม่แน่ ในอนาคตอันใกล้ ตุรกีอาจมีประธานาธิบดีที่เคยศึกษาที่เมืองรอซูลุลลอฮ์ที่ท่องจำอัลกุรอานทั้งเล่มก็ได้

إن شاء الله


โดย Mazlan Muhammad

อ้างจาก

https://www.aljazeera.net/news/2020/11/25/%d8%ad%d8%a7%d9%81%d8%b8-%d9%84%d9%84%d9%82%d8%b1%d8%a2%d9%86-%d9%88%d8%aa%d8%ad%d8%af%d8%ab-%d8%b9%d9%86-%d8%a7%d9%84%d8%b3%d8%b9%d9%88%d8%af%d8%a8%d8%a9-%d9%88%d9%85%d8%b5%d8%b1

บุรุษผู้มีฐานะเทียบเท่าหนึ่งประชาชาติ

พี่น้องรู้จักบุคคลนี้ไหม
เคยได้ยินชื่อนี้กันบ้างหรือเปล่า

ท่านเป็นหมอนักพัฒนา
ผู้มีฉายาว่า เป็น
– บิดาแห่งชาวแอฟริกา
– หมอคนจน และ
– บุรุษผู้มีฐานะเทียบเท่าหนึ่งประชาชาติ

ท่านเป็นชาวคูเวต เกิดเมื่อปี คศ.1947
จบคณะแพทย์ศาสตร์ด้านระบบทางเดินอาหารที่อิรัก แล้วไปศึกษาต่อที่เมืองลิเวอร์พูล และแคนาดา
เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารประจำที่กรุงลอนดอนและคูเวต
เป็นเลขาธิการสภามุสลิมแอฟริกา ปี 1981 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อองค์การนี้เป็น มูลนิธิอัลเอาวน์ อัลมุบาชิร (ให้ความช่วยเหลือสายตรง) และได้รับเลือกเป็นประธานมูลนิธิตั้งแต่นั้นมา
เริ่มเผยแผ่อิสลามในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ปี 1981 จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 15 – 08 – 2013 ขณะที่มีอายุ 66 ปี

กว่า 30 ปี ที่อุทิศตนทำงานดะอฺวะฮฺในทวีปแอฟริกา ได้ผ่านมรสุมชีวิตมากมาย ถูกจำคุกที่อิรัก 2 ครั้งจนเกือบถูกประหารชีวิต พลัดหลงในทะเลทรายแอฟริกา ถูกช่มขู่เอาชีวิต ติดในดงงูคิงคอบร้าจนแทบเอาชีวิตไม่รอด ใช้ชีวิตในดินแดนหฤโหดและทุรกันดารแอฟริกา ช่วงบั้นปลายชีวิตถูกรุมเร้าด้วยโรคร้ายทั้งหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และกระดูกพรุน แต่ก็ยังบากบั่นทำงานเผยแผ่อิสลามอย่างไม่ย่อท้อ และร้องไห้ทุกครั้งเมื่อนึกถึงสภาพความเลวร้ายของพี่น้องร่วมโลกที่ประจักษ์ด้วยตาตนเองในทวีปแอฟริกา โดยเฉพาะเมื่อนึกถึงเสียงสะอื้นร่ำไห้ของลูกหลานชาวแอฟริกาที่เพิ่งเข้ารับอิสลาม พร้อมตั้งคำถามว่า โอ้ชาวอาหรับ ทำไมท่านเพิ่งมาถึงตอนนี้ ท่านต้องรับผิดชอบต่อพ่อแม่ของฉันที่เสียชีวิตในสภาพที่เป็นกาฟิรด้วย ท่านให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำตานองหน้าว่า คำถามนี้ยังก้องกังวาลอยู่ในโสตประสาทของท่านตลอดเวลา

บุรุษผู้นี้ได้สร้างผลงานมากมาย ที่กล่าวกันว่าแม้กระทั่งรัฐบาลคูเวต ก็ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่า ผลงานส่วนหนึ่งของท่านได้แก่
– ทำให้ชาวแอฟริกากว่า 11 ล้านคนรับอิสลาม
– สร้างมัสยิดทั่วแอฟริกาประมาณ 5,700 แห่ง
– ดูแลเด็กกำพร้า 15,000 ชีวิต
– ขุดบ่อบาดาล 9,500 แห่ง
– สร้างโรงเรียน 860 โรง
– สร้างมหาวิทยาลัย 4 แห่ง
– สร้างศูนย์กิจการอิสลาม 204 แห่ง
– สร้างโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพ 124 แห่ง
– สร้างโรงเรียนอัลกุรอาน 840 แห่ง
– ให้ทุนการศึกษา 95,000 คน
– พิมพ์และเผยแพร่อัลกุรอานจำนวน 6 ล้านเล่ม
– จัดโครงการอิฟฏอร์เดือนเราะมะฎอน ครอบคลุม 40 ประเทศ มีมุสลิมเข้าร่วมแต่ละปี 2 ล้านคน
– ได้รับรางวัลระดับโลกอิสลามมากมายอาทิ รางวัลกษัตริย์ไฟศ็อลด้านบริการอิสลามและมุสลิมปี 1996 รางวัลสาธารณกุศลแห่งรัฐซาร์จ่าห์ปี 2010 รางวัลงานสาธารณกุศลจากมูลนิธิกาตาร์ปี 2010 ฯลฯ

ท่านมีชื่อว่า
Abdulrahman Al Sumait
عبد الرحمن السميط
พี่น้องครับ
เมื่อสตีฟ จ็อบส์ เสียชีวิต โลกทั้งใบคล้ายตกในอาการภวังค์ สื่อทั่วโลกกระพือข่าวนานเป็นเดือน กลายเป็น talk of the world สรรเสริญอัจฉริยบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำแห่งความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิตอล

แต่เมื่อบุคคลผู้อุทิศตนทำงานเพื่อความสูงส่งของอิสลามได้จากโลกนี้ไป ชาวโลกพร้อมใจกันไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีใครรับรู้คุณูปการของเขาถึงแม้ในแวดวงผู้คร่ำหวอดทำงานในวงการเผยแผ่อิสลามก็ตาม
ไม่มีเสียงชื่นชม แม้เพียงบทดุอา

ตราบใดที่ตายในสภาพกาฟิร
ถึงแม้จะทิ้งผลงานมากมายล้นฟ้าเต็มแผ่นดิน
ก็ไม่มีคุณค่าใดๆ ณ อัลลอฮ และพระองค์จะทำให้การงานเหล่านั้นเป็นผุยผงที่ปลิวว่อน

แต่สำหรับมุอฺมินแล้ว
อะมัลญาริยะฮฺที่เขาได้ทำไว้
คือกุศลทานอันไหลริน
ที่คอยสะสมเพิ่มพูนความดีงามของเขาอย่างไม่ขาดสาย
ความดีงามเล็กน้อยเท่าเมล็ดอินทผาลัม
อัลลอฮฺจะทำให้มันงอกเงยใหญ่โตเท่าภูเขาอุหุด

แล้วหากสร้างคุณูปการมากล้นทั่วทั้งทวีป
อัลลอฮฺจะเพิ่มพูนผลบุญมากมายแค่ไหน

บนโลกนี้ บุรุษผู้นี้อาจเป็นคนที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักและชื่นชมท่านมากนัก
แต่ในสวรรค์ ท่านคงอยู่เคียงข้างนบีมูฮัมมัด บรรดานบี ชาวศิดดีกีน ชาวชุฮะดาอฺและศอลิฮีน

ท่านใช้ชีวิตบนโลกนี้เพียง 65 ปีก็จริง
แต่ในความเป็นจริง ท่านมีชีวิตที่ยั่งยืนยาวนาน ซึ่งอัลลอฮฺเท่านั้นที่ทรงรอบรู้
ส่วนหนึ่งของคำพูดของท่าน

“ฉันจะโยนทิ้งไม้เท้านี้ที่ฉันใช้ในการเดินทางทันที หากมีใครสักคนประกันให้ฉันว่า ฉันจะได้เข้าสวรรค์แน่นอน ตราบใดที่ไม่มีใครมาประกันให้ฉันในเรื่องนี้ ฉันไม่มีวันทอดทิ้งงานนี้เป็นอันขาด จนกว่าชีวิตนี้จะหาไม่ แท้จริงการตรวจสอบของอัลลอฮฺช่างลำบากยากเย็นยิ่งนัก”

เรื่องนี้ขอเพียงแค่กระตุ้นต่อมให้เราสำนึกว่า
แล้วเราได้ฝากผลงานเพื่ออิสลามและสังคมมุสลิมไว้มากน้อยเพียงใด

اللهم كثر من امثاله

اللهم اغفر له وارحمه وعافه واعف عنه واجعل اعماله في ميزان حسناته يوم القيامة وادخله الجنة مع النبيين والصديقين والشهداء والصالحين وحسن اولئك رفيقا

กุตัยบะฮ์ บินมุสลิม อัลบาฮิลีย์ ผู้นำพาอิสลามไปยังชาวอุยกูร์

กุตัยบะฮ์ บินมุสลิม อัลบาฮิลีย์ นักหะดีษคนสำคัญและเป็นจอมทัพผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในประวัติศาสตร์อิสลาม ผู้นำอิสลามไปดินแดนไกลสุดของโลกตะวันออก

กุตัยบะฮ์ บินมุสลิม อัลบาฮิลีย์ (อายุ 48 ปี เกิดช่วง ฮ.ศ 48- ฮ.ศ.96 / ค.ศ.669 -ค.ศ.715) จอมทัพของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ผู้สยบจักรพรรดิจีนและนำอิสลามไปยังดินแดนตุรกีสถานตะวันออก (ซินเกียง)และนับเป็นแม่ทัพมุสลิมที่สามารถนำพาอิสลามไปพิชิตดินแดนจีนได้ลึกที่สุด

ในทางวิชาการ ได้รายงานหะดีษจากอิมรอน บินหุศ็อยน์ และอบูสะอีด อัลคุดรีย์

ในทางทหาร เป็นแม่ทัพใหญ่ของราชวงศ์อุมัยยะฮ์ ยุคคอลีฟะฮ์วะลีด บินอับดุลมาลิก ผู้กล้าหาญเด็ดเดี่ยว เจ้ากลยุทธ์ ผู้พิชิตเมืองคอวาริซม์ บุคอรอ สะมัรกันด์ ฟัรกอนะฮ์ และดินแดนของเติร์ก ปี ฮ.ศ. 95

แม้ว่าดินแดนเปอร์เซียจะเข้ารับอิสลามในยุคคอลีฟะฮ์รอชิดีน แต่ชนชาติเติร์กเผ่าต่างๆ ที่มีจำนวนมากกว่าชาวเปอร์เซียเข้ารับอิสลามในยุคของกุตัยบะฮ์

เป็นผู้ว่าการเมืองคอรอซาน 10 ปี

ใน 10 ปีนี้ สามารถพิชิตดินแดนได้กว้างใหญ่ไพศาล ทำให้ผู้คนมากมายเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม ไปจนกระทั่งถึงเมืองกัชการ์ ดินแดนตุรกีสถานตะวันออกหรือซินเกียงในปัจจุบัน

ขณะเดินทางไปพิชิตดินแดนจีน ได้ทราบข่าวว่า คอลีฟะห์วะลีด บินอับดุลมาลิก เสียชีวิต แต่ก็ยังคงเดินหน้าต่อไปจนกระทั่งพิชิตได้

ชาวเติร์กเผ่าต่างๆ ต่างประทับใจในบุคลิกภาพด้านการทหารของท่าน จึงเข้ารับอิสลามเป็นจำนวนมหาศาล กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า เป็นสะพานเชื่อมที่ทำให้ชาวเติร์กได้เห็นสัญลักษณ์ความดีงามที่แท้จริงรวมถึงความกล้าหาญและความเป็นลูกผู้ชาย ตลอดจนคุณธรรมอิสลามอันสูงส่งที่ปรากฏอยู่ในบุคลิกของท่าน

การที่ชนชาติเติร์กเข้ารับอิสลาม ถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ เพราะชนชาติเติร์กมีบทบาทสูงในการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ไปทั่วทวีปเอเชีย ทั้งชนชาติเติร์กเผ่าซัลจู๊ก เผ่าออตโตมัน เผ่าอุซเบก และมัมลู้ก บุคคลเหล่านี้มีผลงานรับใช้อิสลามอันยิ่งใหญ่ รวมถึงชนชาติเติร์กในดาเกสถาน เชชเนีย กอซันวี และกูรีย์ ผู้พิชิตอินเดีย ผลงานอันยิ่งใหญ่เหล่านี้เมล็ดพันธุ์เม็ดแรกมาจากกุตัยบะฮ์ บินมุสลิม อัลบาฮิลีย์

ความยิ่งใหญ่ที่ศัตรูทั่วทั้งเอเชียกลางทุกแว่นแคว้น ต่างพรั่นพรึงและไม่อาจรับมือได้ กลับต้องพ่ายแพ้กลเกมการชิงอำนาจในราชสำนักแห่งราชวงศ์อุมัยยะฮ์

คนดีที่โลกลืม กุตัยบะฮ์ บินมุสลิม อัลบาฮิลีย์ ถูกล้อมฆ่าโดยมุสลิมด้วยกัน แต่แนวคิดทางการเมืองต่างกัน

ครอบครัว ลูกเมียถูกล้อมฆ่าในบ้านวีรบุรุษอิสลามผู้ยิ่งใหญ่ ถูกตัดหัวส่งให้ผู้นำทางการเมืองที่แย่งชิงบัลลังก์อำนาจ ร่างของท่านถูกฝังทางภาคตะวันออกของประเทศอุซเบกิสถานในปัจจุบัน

ปิดฉากความยิ่งใหญ่ทั้งปวงในโลกนี้ หลังจากสามารถยาตราทัพอิสลามไปถึงดินแดนตุรกีสถานตะวันออก เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีแม่ทัพมุสลิมคนใดสามารถไปไกลกว่านั้นได้อีก ตราบถึงวันนี้

นี่คือสิ่งที่วีรบุรุษอิสลามผู้สร้างผลงานยิ่งใหญ่ได้รับการตอบแทนในวันนั้น

และการสาปแช่งจากชนรุ่นหลังที่ไม่รู้จักบุญคุณคน

วีรบุรุษอิสลามมากมายได้รับผลตอบแทนเฉกเช่นนี้

จากประชาชาติที่โง่งมงาย ไม่รู้ถูกผิด

จะทำฉันใดได้อีก

นอกจากร้องทุกข์ต่อองค์อภิบาล

ในวันที่ชาวอุยกูร์นับสิบล้านในดินแดนนี้ กำลังถูกกดขี่บังคับให้ละทิ้งศาสนาอิสลาม กลับคืนศาสนาเดิม โดยที่ไร้วีรบุรุษเฉกเช่นท่านกุตัยบะฮ์คอยปกป้องคุ้มครอง

เขียนโดย Ghazali Benmad

เราเป็นทั้งพี่น้อง สหายร่วมเดินทาง และเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน

ด้วยการเสนอของอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา (ขณะนั้น) ต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ในคราวประชุมครั้งที่ 37(2/2010) วันที่ 13/2/2011 โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายกสภามหาวิทยาลัย ได้มีมติอย่างเอกฉันท์มอบ ปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แก่ Y.A. Bhg. Tun Dr. Mahathir bin Mohammad ตำแหน่งอดีตนายกรัฐมนตรี ประเทศ มาเลเซีย (ในขณะนั้น) ด้วยเห็นว่า Y.A.Bhg. Tun Dr. Mahathir bin Mohammad (ในขณะนั้น) ได้สร้างคุณประโยชน์ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติอย่างอเนกอนันต์

ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสานสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างสองตำนานที่ยังมีชีวิตที่คนหนึ่งเคยเป็นเบอร์ 1 ของประเทศมาเลเซียกับอีกคนในฐานะนักวิชาการศาสนาตำแหน่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ในวัย 94 ปี ท่านกุมบังเหียนประเทศมาเลเซียอีกครั้งชนิดหักปากกาเซียนทั้งโลก Yang Amat Berhormat Tun Dr. Mahathir bin Mohammad ในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมสุดยอดกัวลาลัมเปอร์ ซัมมิต 2019 ระหว่าง 18-31 ธันวาคม 2562 จึงเรียนเชิญอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา เข้าร่วมประชุมร่วมกับนักวิชาการ 400 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลก พร้อมให้การต้อนรับอย่างสมเกียรติตลอดระยะเวลาของการประชุม

“ในฐานะเพื่อนบ้าน ถ้าหากเขาเชิญเราไปเยี่ยมบ้านเขา แล้วเราปฏิเสธ ถือเป็นการเสียมารยาทอย่างรุนแรง เพราะอิสลามสอนให้เราให้เกียรติกับเพื่อนบ้าน ถึงแม้จะเป็นชนศาสนิกก็ตาม” อธิการบดีหรืออบีของชาว มฟน. กล่าวเบื้องหลังของการเข้าร่วมประชุมเคแอลซัมมิตในครั้งนี้

“เราจะต้องเรียนรู้จากผู้นำคนนี้ให้มากที่สุด” สิ่งที่อบีย้ำอยู่เสมอ

Yang Amat Berhormat Tun Dr. Mahathir bin Mohammad คือผู้สร้างแรงบันดาลใจสถาปนาเมืองการบริหารจัดการยุคใหม่ครบวงจรที่ Putra Jaya ด้วยผลงานเป็นที่ประจักษ์ในนามรัฐบาล

ในขณะที่ รศ. ดร. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา คือผู้สร้างแรงบันดาลใจสำคัญสร้างมะดีนะตุสสลาม ภายใต้โครงการปัตตานี จายา ซึ่งกำลังดำเนินโครงการไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคง บางโครงการก็ได้สำเร็จลุล่วงอย่างสมบูรณ์แล้ว ที่สำคัญคือเป็นโครงการวากัฟที่อาสาโดยเอกชนเป็นหลัก

ความเหมือนที่ต่างกันระหว่างทั้งสองท่านคือ การแข่งขันทำความดีในฐานะผู้บุกเบิก และความมุ่งมั่นที่จะเห็นสังคมเจริญไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง โดยอาศัยทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะพลังเยาวชนมาเป็นตัวขับเคลื่อนสู่สังคมสันติอย่างแท้จริงตลอดไป

เพียงแต่คนหนึ่ง มีความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ในขณะที่อีกคน เป็นเพียงปุถุชนที่ระดมสรรพกำลังความรู้และความสามารถทางวิชาการ นำเสนอความดีงามให้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไป

“เราจะต้องเรียนรู้จากผู้นำคนนี้ให้มากที่สุด”

ขออัลลอฮ์ตอบแทนท่านทั้งสองด้วยความดีงาม

เขียนโดย : ผศ.มัสลัน มาหะมะ

เวลาพักผ่อนของนักสู้ผู้ทรหด ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี

“วันหนึ่ง ช่วงที่กำลังทำงานอยู่ที่มัสยิดอะตาบะฮ์ในกรุงไคโร และที่สำนักงานใหญ่ของกลุ่มอิควานมุสลิมีน ที่หิลมียะฮ์ ข้าพเจ้าได้รับโทรเลขฉบับหนึ่งขอให้กลับบ้านด่วน

ข้าพเจ้าทราบดีว่าบิดาป่วย แต่ก็ไม่คิดว่าจะป่วยหนัก

เมื่อข้าพเจ้าถึงไปยังหมู่บ้าน ก็รู้สึกสงสัย จากใบหน้าของหลายๆ คน

ร้านของเราที่เห็นได้จากระยะไกล
น้องชายยืนอยู่ที่หน้าประตู ข้าพเจ้าก็ตระหนักได้ว่าบิดาไม่สบาย จึงรีบตรงดิ่งไปที่บ้านในทันที

ถึงที่บ้าน ข้าพเจ้าเห็นคุณแม่กำลังร้องไห้ ในขณะที่บิดานอนอยู่บนเตียงใกล้ๆ กับนาง

ข้าพเจ้าจับมือบิดา แล้วบรรจงจูบด้วยความรัก

พอเห็นหน้าข้าพเจ้า บิดาก็แสดงออกถึงความดีอกดีใจ

ข้าพเจ้าเห็นขวดยาวางอยู่ข้างๆ ก็รู้ว่า หมอมาแล้วและเขียนใบสั่งยาให้ แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้อาการของบิดาดีขึ้นก็ตาม

ข้าพเจ้าไปตามหมอมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะอาการของบิดาทรุดลงอีก เมื่อหมอมาถึงก็ไม่ได้พยายามปิดบังอะไรอีก ข้าพเจ้าจึงทราบว่าบิดาเป็นโรคทางเดินปัสสาวะหลายโรค จนถึงขั้นไม่อาจจะรักษาเยียวยาได้อีก รวมทั้งเป็นโรคนิ่วรุนแรงจนไม่อาจปัสสาวะได้ อีกทั้งร่างกายก็ไม่พร้อมที่จะผ่าตัด

เราได้ผลัดเปลี่ยนกันดูแลบิดา
ในขณะที่คุณแม่ได้แต่พยายามรบเร้าให้เราไปหาหมอ เพื่อรักษาอาการบิดาที่ทรุดลงอย่างต่อเนื่อง แต่คุณหมอปฏิเสธไม่ยอมมา เพราะเขาหมดหวังที่จะรักษา

หลังเที่ยงวัน ข้าพเจ้าก็นอนหลับยาว เนื่องจากเมื่อคืนไม่ได้นอนหลับ และเฝ้าบิดาทั้งคืน

ข้าพเจ้าไปนั่งข้างๆบิดา และละหมาดอยู่ใกล้ๆ

หลังจากละหมาดอีชา
ข้าพเจ้าได้เฝ้าสังเกต
คืนนี้ช่างเป็นคืนที่เงียบสงบยิ่งนัก
ทุกคนในบ้านล้วนหลับสนิทอันเนื่องจากความเหน็ดเหนื่อย

คงเหลือเพียงข้าพเจ้าคนเดียวที่ยังตื่นอยู่
บิดากล่าวเบาๆ กับข้าพเจ้าว่า “พ่อกำลังจะตายแล้วนะ”

ข้าพเจ้าพูดอะไรไม่ออก ได้แต่นิ่งเงียบ

ตะเกียงน้ำมันที่ถูกวางไว้ที่ข้างผนังบ้าน ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเห็นเปลวตะเกียงกำลังสั่นไหววูบ
ข้าพเจ้าพูดกับตัวเอง “หรือยมทูตได้เข้ามาแล้วกระพือปีก จนกระทั่งเปลวตะเกียงสั่นวูบ”

ข้าพเจ้าเงี่ยหูฟัง ได้ยินบิดากำลังขอดุอาให้แก่ข้าพเจ้า ก่อนที่็จะเงียบหายไป อย่างถาวร

ในตอนเช้า ผู้ชายหลายคนได้หามศพของบิดา ข้าพเจ้าเห็นคุณแม่จับเกาะอยู่กับเท้าของบิดาผู้จากไป นางจูบแล้วฝังใบหน้าลงในฝ่าเท้าของท่าน เหมือนกับคนใกล้สิ้นสติ

กว่าจะเอาศพบิดาให้พ้นไปจากการเกาะเกี่ยวของนาง ช่างแสนยากลำบาก

ข้าพเจ้าก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อยากจะร้องไห้ออกมาดังๆ อย่างที่สุด แต่ข้าพเจ้าทำไม่ได้ ข้าพเจ้าจะต้องอดทน

ถึงวันนี้ ข้าพเจ้ากลายเป็นผู้อาวุโสที่สุดในครอบครัว หากข้าพเจ้าล้มครืน พวกเขาย่อมล้มตาม

ข้าพเจ้าจะต้องทำตัวให้เหมือนกับพ่อ ที่ต้องฝืนแสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุม ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดนอกจากความเชื่อมั่นในความเมตตาของอัลเลาะห์เท่านั้น

สายใยผูกพันของสมาชิกในครอบครัวช่างยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้ากล่าวกับคุณแม่และพี่น้องทุกคน ในขณะที่กำลังจะเดินทางไปยังกรุงไคโรเพื่อเริ่มต้นทำงานอีกครั้งหนึ่งว่า ให้ถือว่าบิดายังไม่ตาย พี่จะดูแลทุกคนด้วยกรุณาธิคุณของอัลเลาะห์ จนกว่าน้องชายทุกคนจะสำเร็จการศึกษา และน้องสาวทุกคนได้แต่งงานออกเรือนไป

อัลเลาะห์ได้เมตตาแก่ข้าพเจ้า ทำให้ทุกคำพูดของข้าพเจ้าสัมฤทธิ์ผลทุกคำโดยไม่ผิดเพี้ยน”

ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี
ในหนังสือ ประวัติชีวิต
«قصة حياة/مذكرات الشيخ محمد الغزالي»

#ประวัติชีวิตชัยค์มุฮัมมัด_ฆอซาลี

เขียนโดย ‎Ghazali Benmad

งานเลี้ยงวันแต่งงาน ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี

หลังจากข้าพเจ้าได้ทำงานราชการ ก็ได้แต่งงาน

ซึ่งท่านหัวหน้าหะซัน อัลบันนา ได้เข้ามาเป็นธุระแก้ปัญหาที่ค่อนข้างยากลำบากในตอนแรก เพราะพ่อของหญิงที่ข้าพเจ้าเลือก ต้องการหาสามีให้ลูกสาวที่รวยกว่าข้าพเจ้า แม้เขาจะเป็นคนบ้านเดียวกับเรา แต่ก็เป็นข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมประจำกรุงไคโร เขารู้ดีว่าเงินเดือนของข้าพเจ้า เพียง 6 ปอนด์ และข้าพเจ้ามอบให้แก่บิดาเสียครึ่งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ท่านหัวหน้าหะซัน บันนา ได้ทำให้พ่อของหญิงสาวคนนั้นมั่นใจว่า ข้าพเจ้าดีกว่าผู้อื่น และบอกว่าอนาคตเป็นเรื่องของอัลเลาะห์ และจะต้องดีอย่างแน่นอน

ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้สมรสกับนาง

หลังจากนั้นท่านหะซัน บันนาก็ได้พบข้าพเจ้า และถามว่า “เรื่องราวกับว่าที่พ่อตาของท่านไปถึงไหนแล้ว”

ข้าพเจ้าตอบว่า “สมรสเรียบร้อยแล้วครับ”

ท่านก็ว่า “ทำไมไม่บอกกันบ้าง ได้เรือก็ลืมแพ ได้ดีแล้วก็ลืมกันเลยนะ”

ท่านหัวหน้ากล่าวยิ้มๆ

ข้าพเจ้าตอบว่า “เราไม่ได้จัดงานเลี้ยงใดๆเลยครับ เพียงเลี้ยงน้ำหวานให้แก่เพื่อนๆไม่กี่คน แล้วพ่อตาก็ขยับขยายห้องให้กับข้าพเจ้ากับลูกสาวของเขาให้พออยู่กันได้นิดหน่อยครับ”

ว่าแล้วท่านหัวหน้าหะซัน บันนา จึงขอดุอาอ์ให้ข้าพเจ้าได้รับความเจริญจากอัลลอฮ์

ข้าพเจ้าอยู่กินฉันท์สามีภรรยากับคู่ชีวิตของข้าพเจ้าร่วม 30 ปี อย่างคู่สมรสที่มีความสุขที่สุดในโลกคู่หนึ่ง

ข้าพเจ้าตอบแทนที่นางยอมรับในความอัตคัดขัดสนของข้าพเจ้า ด้วยการให้ได้อาศัยในบ้านหลังใหญ่ในภายหลัง ให้นางได้ลิ้มรสความหรูหรา ได้เหยียบย่ำไปบนผ้าไหมกำมะหยี่และกองเงินกองทอง

นางมีบุตรให้ข้าพเจ้า 9 คน ฝากไว้กับอัลลอฮ์เสีย 2 คน คงเหลือเพียง 7 คน แล้วนางก็ได้พรากจากข้าพเจ้าไปก่อนโดยไม่รอ

ข้าพเจ้าร่ำไห้จากส่วนลึกแห่งหัวใจ

ขอให้อัลลอฮ์เมตตาต่อนาง และให้นางได้พำนักอยู่ในสวนสวรรค์อันกว้างใหญ่ของพระองค์”

ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี
ในหนังสือ ประวัติชีวิต
«قصة حياة/مذكرات الشيخ محمد الغزالي»

#ประวัติชีวิตชัยค์มุฮัมมัด_ฆอซาลี

เขียนโดย Ghazali Benmad

ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี รักษาโรคด้วยการบริจาค

ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี เล่าไว้ในหนังสือบันทึกชีวประวัติ قصة الحياة ของท่านว่า

ขณะที่เรียนระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนศาสนาของสถาบันอัลอัซฮัร กรุงอเล็กซานเดรีย มีโทรเลขฉบับหนึ่งมาจากบ้านเกิด ขอให้รีบกลับบ้านด่วน

ข้าพเจ้าทราบทันทีว่าจะต้องมีเรื่องร้ายเกิดขึ้นกับครอบครัว ข้าพเจ้าจึงออกเดินทางด้วยจิตใจที่ว้าวุ่น

ข้าพเจ้ายิ่งเกิดความไม่สบายใจเมื่อเห็นจากระยะไกลว่าร้านบิดาของข้าพเจ้านั้นปิดอยู่

สองเท้าก้าวไปอย่างไร้ความรู้สึก ถึงบ้านก็เห็นบิดาร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดจากนิ่วในไตอันเป็นโรคประจำตัวของท่าน โดยที่ลูกๆ นั่งอยู่รายล้อม ไม่รู้จะทำอย่างไร แพทย์ได้ให้ยาระงับประสาทบางตัว แต่ความปวดของบิดาก็ยิ่งทวีมากขึ้น โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ญาติๆ บอกว่าคงจำเป็นต้องผ่าตัดเอานิ่วออก

ข้าพเจ้าเดินไปเปิดร้านทำหน้าที่ในร้านแทนบิดา ข้าพเจ้ารู้เรื่องการทำงานในร้านเป็นอย่างดี เพราะในช่วงปิดเทอมได้ช่วยบิดาทำงานอยู่เสมอ

วันเวลาผ่านไปหลายวัน เราครุ่นคิดพิจารณาว่าจะทำอย่างไรดี

ในการรักษานั้น ค่ารักษาพยาบาลเกินกำลังความสามารถ ถึงกระนั้น แม้ว่าจะมีเงินค่ารักษา แต่การผ่าตัดในยุคนั้นไม่สามารถประกันความปลอดภัยได้ ลุงของข้าพเจ้าเสียชีวิตเนื่องจากการผ่าตัดในลักษณะนี้แหละ แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี

ข้าพเจ้าครุ่นคิดจนเบลอ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวข้าพเจ้าค่อยๆ เล็กลง ข้าพเจ้าจนปัญญาไม่รู้จะทำอย่างไร มีที่เดียวที่ข้าพเจ้าจะพึ่งพิง อัลลอฮ์เท่านั้นจริงๆ

ข้าพเจ้าคุยกับผู้คนเหมือนอยู่ในภวังค์

ขณะนั้น มีชายคนหนึ่งมาขอซื้ออาหารบางอย่าง ข้าพเจ้ามอบของให้ไป เขากล่าวอย่างรู้สึกผิดว่า ตอนนี้ผมไม่มีเงินเลย และสาบานต่ออัลลอฮ์ว่าพูดความจริง และว่า พรุ่งนี้จะนำเงินค่าอาหารมาให้

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเขามีความจำเป็นจริงๆ จึงบอกไปว่า เอาของไปเถอะ ฉันให้

แล้วชายคนนั้นก็เดินจากไป เหมือนไม่เชื่อในสิ่งที่ตัวเองได้ยิน

พอเขาออกไปแล้ว ข้าพเจ้าก็ไปนั่งอยู่ที่มุมหนึ่งของร้าน พลางขอดุอาอ์ “โอ้องค์อภิบาลของข้า ศาสดาของพระองค์ได้กล่าวว่า “จงรักษาผู้ป่วยของพวกท่านด้วยการบริจาค” โปรดรักษาบิดาของข้าพเจ้าด้วยการบริจาคอันนี้เถิด”

ข้าพเจ้านั่งลงบนพื้นร้านแล้วร้องไห้ หลังจากนั้นราวๆ ชั่วโมง ก็ได้ยินเสียงเรียกมาจากบ้านซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก ข้าพเจ้ารีบกลับไปในทันที ทั้งๆ ที่มีความทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง

ถึงบ้าน ข้าพเจ้าตกใจที่เห็นบิดายืนอยู่ข้างประตู กล่าวว่า “ก้อนนิ่วหลุดออกมาแล้ว มันมีขนาดใหญ่กว่าเมล็ดถั่วขาวเสียอีก พ่อไม่รู้ว่ามันออกมาได้อย่างไร พ่อหายปวดแล้วละ”

และแล้ว เช้าวันต่อมาข้าพเจ้าก็กลับมายังมหาวิทยาลัย มาเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ตามปกติ”

#ประวัติชีวิตชัยค์มุฮัมมัด_ฆอซาลี

#คมคิดชัยมุฮัมมัด_ฆอซาลี

เขียนโดย ‎Ghazali Benmad

ความทรงจำในวัยเด็ก ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี

ในวัยเด็ก ชีวิตข้าพเจ้าไม่มีอะไรน่าสนใจเลย ถ้าจะมีก็เพียงนิสัยรักการอ่านเป็นพิเศษแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

ข้าพเจ้าอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยไม่มุ่งเน้นวิชาใดเป็นการเฉพาะ ข้าพเจ้าอ่านแม้ในยามเดิน และอ่านแม้ในยามกิน

การอ่านมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้เรียกร้องสู่ศาสนาของอัลลอฮ์ และยังเป็นผนังทองแดงที่ทรงคุณค่าสำหรับนักฟิกฮ์และนักดะวะฮ์ทุกคน

การอ่านน้อยและความไม่รู้เรื่องราวรอบตัวที่เกิดขึ้น เป็นความผิดมหันต์สำหรับผู้พูดเกี่ยวกับศาสนา มาตรแม้นว่าจะเป็นคนดีก็ตามแต่

การอ่านความรู้ทั่วไปถือเป็นสิ่งเดียวที่สามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสังคม สถานการณ์และเรื่องราวต่างๆได้

นอกจากนั้น การอ่านยังสร้างมาตรวัดที่ถูกต้องสำหรับความคิดต่างๆ

หลายต่อหลายครั้งที่นักฟิกฮ์และนักดะวะฮ์บกพร่องอันเนื่องมาจากความด้อยข้อมูลในด้านความรู้ทั่วไป

การขาดความรู้ทั่วไปของนักวิชาการศาสนาอันตรายยิ่งกว่าการขาดเลือดของผู้ป่วยอาการโคม่า

ผู้เรียกร้องสู่ศาสนาของอัลลอฮ์ต้องอ่านทุกอย่าง

จะต้องอ่านตำราว่าด้วยศรัทธา
จะต้องอ่านตำราว่าด้วยการปฏิเสธศรัทธา
จะต้องอ่านหนังสือสุนนะฮ์และหนังสือปรัชญา

โดยสรุปแล้ว ดาอีย์ต้องอ่านวิชาการด้านต่างๆ ที่ทำให้ความคิดของคนแตกต่างกัน เพื่อทำความรู้จักกับสังคม ตลอดจนสิ่งต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อสังคม

แนวคิดที่ข้าพเจ้าคิดว่าตนเองเป็นผู้นำหรืออาจเป็นผู้กรุยทาง ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากทุกแนวความคิดและมัซฮับทางฟิกฮ์ในหน้าประวัติศาสตร์อิสลามอย่างเต็มประสิทธิภาพ และการใช้ประโยชน์จากข้อค้นพบทางการศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยา สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ตลอดจนการบูรณาการศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้ทั้งหมด กับความความเข้าใจที่ถูกต้องต่ออัลกุรอานและสุนนะฮ์

ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อบทบัญญัติทางศาสนาอิสลาม หรือข้อบัญญัติที่ถูกต้องที่ควรค่าต่อการเชื่อมั่นยึดถือ จะเกิดขึ้นไม่ได้ นอกจากด้วยความรู้ที่กว้างขวาง มีพื้นฐานทางวิชาการทั้งที่เป็นความรู้ในอดีตและความรู้ร่วมสมัยอย่างเท่าทันและทัดเทียม

บางที อัลลอฮ์อาจบันดาลให้บรรพชนของเรามีสามัญสำนึกที่บริสุทธิ์และความเป็นอัจฉริยภาพที่สูงส่ง จนทำให้พวกเขาสามารถเข้าใจและตีความได้ถูกต้องเหมาะเจาะ

สำหรับพวกเราในยุคนี้ คงไม่อาจไปถึงระดับของพวกเขาได้ เว้นแต่ด้วยการร่ำเรียนอย่างหนัก เสมือนคนสายตาสั้น ที่จะต้องอาศัยแว่นตาเพื่อให้สามารถมองเห็นสิ่งที่จะอ่าน หรือใช้กล้องส่องทางไกลเพื่อให้สามารถเห็นสิ่งที่อยู่ห่างออกไปจนไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าได้

ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี
ในหนังสือประวัติชีวิต قصة حياة

#ประวัติชีวิตชัยค์มุฮัมมัด_ฆอซาลี

เขียนโดย Ghazali Benmad

นักสู้ผู้ทรหดได้เวลาพักผ่อน ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี

ประวัติชีวิตชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี ตอน…นักสู้ผู้ทรหดได้เวลาพักผ่อน

“วันหนึ่ง ขณะที่กำลังทำงานอยู่ที่มัสยิดอะตาบะฮ์ในกรุงไคโร และที่สำนักงานใหญ่ของกลุ่มอิควานที่หิลมียะฮ์ ข้าพเจ้าได้รับโทรเลขฉบับหนึ่งขอให้กลับบ้านด่วน
ข้าพเจ้าทราบดีว่าบิดาป่วย แต่ก็ไม่คิดว่าจะป่วยหนัก

เมื่อข้าพเจ้าถึงไปยังหมู่บ้าน ด้วยความรู้สึกสงสัย จึงสังเกตดูใบหน้าของทุกคนเพื่อหาคำตอบ

ข้าพเจ้าเห็นร้านของเราแต่ไกล
เห็นน้องชายยืนอยู่ที่หน้าประตู ก็รู้ดีว่าบิดาไม่สบาย จึงรีบตรงดิ่งไปที่บ้านในทันที

ที่บ้าน ข้าพเจ้าเห็นคุณแม่กำลังร้องไห้ ในขณะที่บิดานอนอยู่บนเตียงใกล้ๆ กับนาง

ข้าพเจ้าจับมือบิดาแล้วบรรจงจูบด้วยความรัก

พอเห็นหน้าข้าพเจ้า บิดาก็แสดงออกถึงความดีอกดีใจ

ข้าพเจ้าเห็นขวดยาวางอยู่ข้างๆ ก็รู้ว่า หมอมาแล้วและเขียนใบสั่งยาให้ แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้อาการของบิดาดีขึ้นก็ตาม

ข้าพเจ้าไปตามหมอมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะอาการของบิดาทรุดลงอีก เมื่อหมอมาถึงก็ไม่ได้พยายามปิดบังอะไรอีก ข้าพเจ้าจึงทราบว่าบิดาเป็นโรคทางเดินปัสสาวะหลายโรค จนถึงขั้นไม่อาจจะรักษาเยียวยาได้อีก รวมทั้งเป็นโรคนิ่วจนไม่อาจปัสสาวะได้ อีกทั้งร่างกายก็ไม่พร้อมที่จะผ่าตัดได้

เราได้ผลัดเปลี่ยนกันดูแลบิดา
ในขณะที่คุณแม่ได้แต่พยายามรบเร้าให้เราไปหาหมอ เพื่อรักษาอาการบิดาที่ทรุดลงอย่างต่อเนื่อง แต่คุณหมอปฏิเสธไม่ยอมมา เพราะเขาหมดหวังที่จะรักษา

หลังจากเที่ยงวัน ข้าพเจ้านอนหลับยาว เนื่องจากเมื่อคืนไม่ได้นอนหลับ และเฝ้าบิดาทั้งคืน

ข้าพเจ้าไปนั่งข้างๆบิดา และละหมาดอยู่ใกล้ๆ

หลังจากละหมาดอีชา
ข้าพเจ้าได้เฝ้าสังเกต
คืนนี้เป็นคืนที่เงียบสงบ
ทุกคนในบ้านล้วนนอนหลับสนิทเนื่องจากความเหน็ดเหนื่อย

คงเหลือเพียงข้าพเจ้าคนเดียวที่ยังตื่นอยู่

บิดากล่าวเบาๆ กับข้าพเจ้าว่า “พ่อกำลังจะตายแล้วนะ”

ข้าพเจ้าพูดอะไรไม่ออก ได้แต่นิ่งเงียบ

ตะเกียงน้ำมันถูกวางไว้ที่ข้างผนังบ้าน ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเปลวตะเกียงกำลังสั่นไหว
ข้าพเจ้าพูดกับตัวเอง “ยมทูตได้เข้ามาแล้วกระพือปีก จนกระทั่งเปลวตะเกียงสั่นไหว”

ข้าพเจ้าเงี่ยหูฟัง ได้ยินบิดากำลังขอดุอาให้แก่ข้าพเจ้า ก่อนที่็จะเงียบหายไป อย่างถาวร

ในตอนเช้า ผู้ชายหลายคนได้หามศพของบิดา ข้าพเจ้าเห็นคุณแม่จับเกาะอยู่กับเท้าของบิดาผู้จากไป นางจูบแล้วฝังใบหน้าลงในฝ่าเท้าของท่าน เหมือนกับคนใกล้สิ้นสติ

กว่าจะเอาศพบิดาให้พ้นไปจากการเกาะเกี่ยวของนาง ช่างแสนยากลำบาก

ข้าพเจ้าก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อยากจะร้องไห้ออกมาดังๆ อย่างที่สุด แต่ข้าพเจ้าทำไม่ได้ ข้าพเจ้าจะต้องอดทน

วันนี้ ข้าพเจ้ากลายเป็นผู้อาวุโสที่สุดในครอบครัว หากข้าพเจ้าล้มครืน พวกเขาย่อมล้มตาม

ข้าพเจ้าจะต้องทำตัวให้เหมือนกับพ่อ ที่ต้องฝืนแสดงให้เห็นว่า ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุม ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดนอกจากความหวังในความมตตาของอัลเลาะห์เท่านั้น

สายใยผูกพันของสมาชิกในครอบครัวช่างยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้ากล่าวกับคุณแม่และพี่น้องทุกคน ในขณะที่กำลังจะเดินทางไปยังกรุงไคโรเพื่อเริ่มต้นทำงานอีกครั้งหนึ่งว่า บิดายังไม่ตาย พี่จะดูแลทุกคนด้วยกรุณาธิคุณของอัลเลาะห์ จนกว่าน้องชายทุกคนจะสำเร็จการศึกษา และน้องสาวทุกคนได้แต่งงานออกเรือนไป

อัลเลาะห์ได้เมตตาแก่ข้าพเจ้า ทำให้ทุกคำพูดของข้าพเจ้าสัมฤทธิ์ผลทุกคำ ตัวอักษร”

ชัยค์มุฮัมมัด ฆอซาลี
ในหนังสือ ประวัติชีวิต
«قصة حياة/مذكرات الشيخ محمد الغزالي»

«قصة حياة/مذكرات الشيخ محمد الغزالي»

เขียนโดย Ghazali Benmad